Gestalt 101 — Fool the eyes

สันติ ลอรัชวี

นิทานเซนเรื่องหนึ่งสอนว่า…
แรกเริ่ม…
มองแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ
มองภูเขาก็เป็นภูเขา
ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างเลย
แต่ต่อมา… จะมองเห็นว่า
แม่น้ำไม่ได้เป็นแม่น้ำ ภูเขาไม่เป็นภูเขา
แม่น้ำก็เป็นเพียงธาตุ ภูเขาก็เป็นธาตุ
แต่เมื่อผ่านชีวิตมากขึ้น…
กลับมามองเห็นแม่น้ำนั้นก็เป็นแม่น้ำ
ภูเขาก็เป็นภูเขาดังเดิม

Heraclitus นักปรัชญากรีกโบราณยังกล่าวไว้ว่า
ไม่มีใครที่ก้าวลงแม่น้ำสายเดิมได้เป็นครั้งที่สอง
เหตุเพราะแม่น้ำนั้นไม่ใช่สายเดิม คนๆ นั้น ก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป
ไม่ว่าแม่น้ำหรือบุคคลก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เมื่อเรายืนอยู่ชั้นบนของอาคารสูงแล้วมองออกไป…
เห็นตึกรามบ้านช่อง ต้นไม้ และท้องฟ้า
ในทางทฤษฎีอาจกล่าวได้ว่าเราเห็นค่าความสว่างของแสงและความต่างของสี
แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเห็นค่าอะไรทั้งนั้น
เราเห็นมันเป็นรูปทรงรูปร่างที่ทำให้เราเข้าใจว่ามันคืออะไร
หรือบ้างครั้งเราก็มองเห็นภาพรวมๆ นั้นเป็นฉากของเมือง
อาจมีตึกบางตึกที่ทำให้เราบอกได้ว่านี่คือกรุงเทพฯ ที่เรารู้จัก

เวลาที่เราฟังเพลง…
เราก็ไม่ได้ใส่ใจแยกแยะหรือรับรู้ว่ากำลังได้ยินเสียงแต่ละโน้ต
กำลังเรียงตัวกันสลับกันไปมาบ้าง ดังขึ้นพร้อมกันบ้าง ยกเสียงสูงขึ้นลงต่ำอย่างไร
แต่เราได้ยินเป็นท่วงทำนองดนตรี ไพเราะหรือไม่คงขึ้นอยู่กับคุณ

ที่กล่าวมา… มันน่าสนใจอย่างไร

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19
นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย Christian von Ehrenfels
เคยตั้งถามน่าสนใจว่า “เรารับรู้ทำนองดนตรีได้อย่างไร?”
“อะไรที่อยู่ในความคิดของเราขณะกำลังได้ยินท่วงทำนอง?”
เมโลดี้คือลำดับของโทนเสียง เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่างกัน
หูของเรารวบรวมการสั่นสะเทือนเหล่านี้แปลงเป็นกระแสไฟฟ้าและส่งต่อไปยังสมองของเรา
โน้ตเหล่านี้ได้รับการตัดเย็บในรูปแบบเฉพาะของความสัมพันธ์ระหว่างโน้ต จังหวะ และความสอดประสาน ท่วงทำนองนั้นถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของเรา เป็นทำนองที่เราสามารถจำได้ในอนาคต

Ehrenfels เริ่มศึกษาจากงานของนักวิทยาศาสตร์ Ernst Mach ที่ชื่อ “Contributions to analysis sensation” ซึ่ง Mach เสนอว่าเวลาเราเห็นเส้นตรงสามเส้นที่เชื่อมต่อกัน
นอกเหนือไปจากความรู้สึกพื้นฐานของที่เห็นเป็นเส้นสามเส้นแล้ว
เรายังรู้สึกถึง “รูปร่าง – รูปแบบ (shape-form)” ไปในขณะเดียวกันด้วย (เช่นรูปทรงสามเหลี่ยม)
เขาขยายความคิดนี้ไปในด้านรูปแบบที่เกี่ยวกับเวลา (time-forms) เช่นกัน
และเสนอว่าการที่เรารับรู้ทำนอง อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้นเมื่อเราได้ยินโน้ตแต่ละตัว เราก็ตระหนักถึงเสียงทั้งหมดที่ได้ยินด้วย

แต่ Ehrenfels พบข้อขัดแย้งที่สำคัญว่า
เราสามารถ “รับรู้” สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันตรงหน้าเท่านั้น
ในขณะที่เราไม่เห็นภาพที่เกิดขึ้นแล้ว
เราไม่สามารถได้ยินเสียงที่ได้เล่นไปแล้ว
เมโลดี้จึงต้องการเวลาในการเปิดเผยลำดับของมัน
เพื่อให้เมโลดี้ชุดหนึ่งเมคเซนซ์สำหรับเรา

เราจำต้องพึ่งพาความทรงจำของเราอย่างน้อยสองสามโน้ตครั้งที่ได้ยินก่อนหน้า
ไม่เช่นนั้น ทุกเพลงที่จบลงในระดับเสียงเดียวกัน จะได้ยินเหมือนกัน
เมื่อคุณจำเพลงได้ คุณจะจดจำรูปแบบโดยรวมของมัน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกที่แม่นยำ
การรับรู้ของเราจึงต้องมีอย่างอื่นมาช่วย
Ehrenfels เสนอว่า สิ่งนี้คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างโน้ต” ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนโดดเด่น
เป็นทั้งความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (spatial) อันได้แก่
— ช่วงว่างระหว่างโน้ต (Interval)
— ความสัมพันธ์ชั่วขณะ (temporal) ได้แก่ จังหวะ (rhythm)
— ความสัมพันธ์เชิงสอดประสาน (harmonic) ได้แก่ โทนเสียง (timbre)
หรืออาจมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนไปได้มากกว่านั้น
สำหรับ Ehrenfels เป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามว่าทำไม
เรายังคงจดจำท่วงทำนองได้ แม้จะได้ยินเพลงนี้ในคีย์อื่น
นั่นคือเราจะเก็บข้อมูลเชิงความสัมพันธ์มากกว่าที่จะระบุโน้ตตัวนั้นๆ

Ehrenfels เสนอว่า ท่วงทำนองรวม คือ บางสิ่งที่มากไปกว่าผลรวมของส่วนดนตรีแต่ละส่วนในเพลง
เขาอธิบายถึงเวลามีเมโลดี้หนึ่งชุดถูกเล่น กับแค่เล่นโน้ตทีละตัว ไปยังกลุ่มคนที่แตกต่างกัน

เขาตั้งคำถามว่า… มีความแตกต่างในการทำความเข้าใจต่อทำนองเพลง
ระหว่างกลุ่มที่ได้ยินหนึ่งแค่เพียงทีละโน้ต
กับกลุ่มคนที่ได้ยินทำนองทั้งหมดหรือไม่?
จากคำตอบจะเห็นได้ชัดว่าคนที่ได้ฟังทำนองทั้งหมดจะต้องได้รับสิ่งอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
นอกเหนือจากส่วนของดนตรี สิ่งที่พวกเขารู้สึกไม่เพียงแค่โน้ตแต่ละตัวที่ถูกเล่นออกมา
แต่ยังรวมถึงสิ่งแฝงที่ได้รับด้วย

Ehrenfels เรียกสิ่งนี้ว่า Gestaltqualitäten ของเมโลดี้ หรือ “Gestalt quality”
Gestalt เป็นคำภาษาเยอรมัน คำนี้ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดของความเป็นทั้งหมด (whole), การเชื่อมโยงกัน (coherence), ความสมบูรณ์ (completeness) รวมถึง ชุดของความสัมพันธ์, การกำหนดค่าเฉพาะ, รูปแบบ, รูปร่าง, …

เขาจึงเป็นเสมือนผู้บอกใบ้ถึงคุณสมบัติของ gestalt ไว้ว่ามันอาจเป็นสิ่งที่ก่อร่างสร้างการรับรู้ทุกชนิด
นี่คือคุณสมบัติพิเศษสำหรับทำนองที่ไม่ได้เกิดจากการรวมเสียง
และยิ่งไปกว่านั้น… ถ้าเรารับรู้จดจำทำนองในแบบไม่ได้เป็นข้อมูลดิบ
แต่เป็นชุดของความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกัน

วันหยุดในฤดูใบไม้ร่วงปี 2453
นักจิตวิทยา Max Wertheimer เดินทางโดยรถไฟผ่านทางใต้ของเยอรมนี
ระหว่างทางที่รถไฟถูกขวางให้หยุดโดยป้ายข้ามทางรถไฟ
ลำดับของแสงไฟบนป้าย“ ขยับ” ส่องสว่างทีละจุดตามแนวเส้นที่ชัดเจน
คล้ายกับแสงไฟรอบๆ ป้ายโรงละคร
เขาถามตัวเองว่า… ทำไมเราถึงเห็นความเคลื่อนไหวเมื่อหลอดไฟแต่ละดวงหยุดนิ่ง
ไฟแต่ละดวงจะสว่างทีละครั้งในลำดับที่แน่นอน
มันเป็นภาพลวงตาหรือไม่? เราถูกหลอกหรือไม่
หรือเรารับรู้การเคลื่อนไหวโดยตรงเลยกันแน่

Wertheimer ศึกษาการเคลื่อนไหวในฐานะสิ่งที่รับรู้ได้
เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของต่างๆ
และการสืบค้นของเขาก็เป็นเวลาที่ประจวบเหมาะเหลือเกิน ณ ตอนนั้น
ขณะนั้นภาพเคลื่อนไหว หรือ ภาพยนตร์ เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประกอบกับการรับรู้ภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในสมอง, การรวมกันของสารตกค้างจากการมองเห็น, ข้อผิดพลาดทางกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตา, การตัดสินที่ลวงตาหรือมันเป็นเพียงแค่การรับรู้ที่ผิดปกติ

อริสโตเติลได้รับเครดิตในการอธิบายปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกว่า
หลังจากจ้องมองไปสักพักที่น้ำตกที่กำลังไหลลง
หากเราลองปรับสายตาไปจ้องมองก้อนหินบนชายฝั่งแทน
หินจากนั้นก็ปรากฏขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ที่จะเลื่อนขึ้น

Wertheimer แสดงการสาธิตโดยใช้ภาพลายเส้นที่ขดเป็นเกลียว (spiral)
เมื่อกราฟิกที่คงที่นี้ถูกตั้งค่าในการเคลื่อนไหวให้หมุนวน
จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างของการเคลื่อนไหวภายใน เส้นขดดูแน่นตึงขึ้น
ดูเหมือนว่ามันจะเล็กลงเรื่อย ๆ
ขนาดและรูปร่างของเกลียวไม่เปลี่ยนแปลง
ความรู้สึกเคลื่อนไหวการหดเกร็งนี้เป็นปรากฏการณ์บริสุทธิ์
  
หากลองทำให้เส้นมีความหนาไม่เท่ากัน โดยให้ปลายเส้นด้านนอกบางลงจนเรียวแหลม
เส้นจะปรากฏการณ์เคลื่อนที่จากด้านนอกของรูปไปยังด้านใน
ถึงแม้ว่าเกลียวหมุนเพียงในวงกลม
เอฟเฟกต์ที่เด่นชัดนี้ ชี้ให้เห็นว่ามันสำคัญกว่าการเคลื่อนไหวที่แท้จริง (การหมุน)
จนดูเหมือนว่าเป็นจังหวะหมุนวนลงท่อระบายน้ำ

และเมื่อเกลียวหยุดหมุน
และการหดตัวของการเคลื่อนไหวจะหยุดชะงักลง

Whole เป็นอะไรที่ไปมากกว่าผลรวมของ parts หรือไม่?
เรารับรู้โลกที่ถูกจัดการให้เป็นภาพรวม ไม่ได้รับรู้เป็นส่วนย่อยๆ
ภาพรวมจึงเป็นเหมือนการรับรู้ขั้นพื้นฐานของเรา ดังนั้น
พวกมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกหรือประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกพื้นฐาน
ดังนั้น Whole จึงไม่ได้สำคัญหรือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าผมส่วนของส่วนต่างๆ
เพียงแต่มันเรียบง่ายและแยกตัวเองออกจากผลรวมนั้น

แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีเกสตัลท์
การรับรู้ของมนุษย์มีคุณสมบัติหลักหลายประการที่ก่อให้เกิดกฏการรับรู้ของ Gestalt
สามารถจำแนกแนวคิดพื้นฐานการรับรู้ได้ 4 ประการ ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราสามารถรับรู้หรือตีความภาพที่เห็นได้หลายแบบ มนุษย์จึงมีการจัดระเบียบการรับรู้ของตนเองให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขีดจำกัดและประสบการณ์เดิม แนวคิดเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อการศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ ได้แก่

การรับรู้ถึงการปรากฏ EMERGENCE
The whole is identified before the parts (องค์รวมจะถูกรับรู้ก่อนหน่วยย่อย)
การปรากฏ (emergence) แปลโดยความหมายทั่วไป คือ กระบวนการปรากฎออกมาให้เห็น
(หลังจากสภาวะที่ยังไม่ได้เปิดเผย) หรือกระบวนการของการกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเด่นชัด

Emergence จึงเป็นการหยั่งรู้ภาพรวมที่ปรากฏขึ้นในความคิดทันที
เกิดจากการเทียบเคียงเค้าร่างเข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่
สำหรับบางคนหรือบางกรณีอาจต้องอาศัยการสังเกตหน่วยย่อยที่ปรากฏในภาพ
แล้วค่อยตีความโดยการเปรียบเทียบกับรูปทรงหรือรูปแบบที่ตนเองมีประสบการณ์
เพื่ออนุมานภาพรวมหนึ่งๆ ให้ปรากฏขึ้นมา

ขณะที่เรามองวัตถุหนึ่งๆ
เรามักจะมองหาเส้นรอบนอก (outline) หรือรูปร่างของวัตถุนั้น
จากนั้นเราจึงจับคู่รูปร่างนี้กับรูปทรงและวัตถุที่เรารับรู้อยู่เดิมแล้ว
ทันทีที่ W ปรากฏตัวขึ้นผ่านการจับคู่กับรูปแบบ เราก็จะเริ่มระบุ Ps ที่ประกอบรวมขึ้นเป็น W หนึ่งๆ ขึ้นมาได้

เมื่อเรากำลังออกแบบ/ประพันธ์ จึงควรระลึกไว้เสมอว่าผู้คนจะรับรู้องค์ประกอบต่างๆ
จากรูปแบบทั่วๆ ไปที่คุ้นเคยก่อน สิ่งที่เข้าได้ง่ายใจง่ายจึงสามารถสื่อสารได้เร็วกว่าสิ่งที่มีรายละเอียดและยากต่อการจำแนก-จดจำรูปร่าง (contour)

การรับรู้ถึงความเป็นรูปธรรม REIFICATION
OUR MIND FILLS IN THE GAPS (จิตใจของเราจะเติมความลงในช่องว่าง)
เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนถึงคำว่า Reificationใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 – 19 ตุลาคม 2560 โดยอ้างถึงบทนำหนังสือ Siam Mapped ของ ธงชัย วินิจจะกูล เกี่ยวกับรากคิดของการบอกว่าคตินามธรรมอย่าง “ความเป็นไทย” เปรียบเสมือน thing หรือสิ่งของเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ทัพพี ฝาชี ฯลฯ อันเป็นวัตถุธรรม ก็คือแนวคิด reification (คำนาม) จากคำกริยาว่า reify อันแปลว่า “To regard or treat (an abstraction) as if it had concrete or material existence.” (American Heritage Dictionary) กล่าวคือ “การถือหรือปฏิบัติต่อ (นามธรรม – โดยเฉพาะที่สัมพันธ์แนบเนื่องกับมนุษย์) ราวกับมันดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมหรือวัตถุธรรม” หรือนัยหนึ่ง reification ก็คือ thingification หรือการถือปฏิบัติต่อนามธรรมเสมือนมันเป็นวัตถุสิ่งของหรือ thing นั่นเอง

Reification จึงเป็นลักษณะของการรับรู้ต่อวัตถุในแง่ข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial information) มากกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง ในขณะที่เราพยายามจับคู่สิ่งที่เราเห็นกับรูปแบบคุ้นเคยที่เราจดจำ แม้จะไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามักจะเติมบางอย่างลงในช่องว่างของสิ่งที่เราคิดว่าเราควรเห็นเสมอ

Reification จึงเป็นการรับรู้ที่แปรเปลี่ยนจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอยู่ในภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม
โดยถูกโน้มน้าวจากส่วนประกอบในภาพที่มีอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเป็นเบาะแส
จนกระตุ้นให้เราสร้างรูปธรรมขึ้นในความคิดได้

Reification จึงสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องนำเสนอรูปร่างที่สมบูรณ์เพื่อให้ผู้ชม/ผู้ฟังเห็นทั้งหมด
และเราสามารถแยกส่วนของรูปร่างนั้นๆ ออกได้
ตราบที่เราจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้เพียงพอต่อการจับคู่ทางความคิด (สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่รู้จัก)

การรับรู้หลายนัย MULTI-STABILITY
(ความคิดจะพยายามหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน)
คือแนวโน้มของการรับรู้ที่ไม่ชัดเจน เกิดการตีความที่โยกย้ายไปมาระหว่างทางเลือกที่มากกว่าหนึ่ง
วัตถุบางอย่างสามารถรับรู้ได้มากกว่าหนึ่งวิธี หากดูภาพตัวอย่างในส่วน figure/ground
จะพบว่าเป็นสิ่งที่คุณเคยเห็นมาก่อน เราสามารถมองเห็นใบหน้า 2 หน้า หรือเป็นแจกันก็ได้

แต่คุณจะไม่เห็นทั้งคู่ในการมองครั้งเดียว แต่จะกลับไปกลับมาระหว่างทางเลือกทั้งสอง
จะสังเกตได้ว่าคุณจะมีแนวโน้มที่จะรับรู้ภาพหนึ่งชัดกว่าอีกภาพ บางคนเห็นแจกัน บางคนเห็นใบหน้าก่อน

กล่าวได้ว่า Multi-stability คือการรับรู้ภาพที่เห็นได้หลากหลายรูปแบบ
แต่เราอาจไม่สามารถประมวลรูปแบบที่ได้จากภาพพร้อมๆ กัน
โดยจะสามารถตีความได้ทีละรูปแบบเท่านั้น

ในการออกแบบ หากคุณต้องการเปลี่ยนการรับรู้ของใครบางคน อย่าพยายามเปลี่ยนทุกอย่างทันที
แต่ให้ค้นหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาเห็นทางเลือกอื่นๆ จากนั้นพยายามเสริมความแข็งแรงให้กับมุมมองทางเลือกนั้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มุมมองหลักเบาหรือชัดเจนน้อยลง การรับรู้ก็จะสามารถเปลี่ยนขั้วได้

การรับรู้ที่ไม่แปรปรวน INVARIANCE
(เรารับรู้ถึงความคล้ายและความต่างได้เป็นอย่างดี)
Invariance เป็นคุณสมบัติการรับรู้ต่อรูปร่างของสิ่งๆ หนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนไป
แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงของทัศนียภาพการมองเห็นก็ตาม
ทั้งในแง่ทิศทางหรือการย่อขยาย เช่น การหมุนตัว (rotation) ขนาด (scale)
การย้ายตำแหน่ง (relocation)
หรือ การเปลี่ยนมุมมองทางการมอง (sight deformation) เป็นต้น
เนื่องจากเรามักพบวัตถุจากมุมมองที่แตกต่างกัน
เราจึงพัฒนาความสามารถในการจดจำวัตถุเหล่านั้นแม้จะมีลักษณะรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันก็ตาม

เกสตัลท์กับการออกแบบ
หากกล่าวถึงหลักการเกี่ยวกับการออกแบบ มันมักเริ่มต้นด้วยหลักการเกสตัลท์
เพราะหลักการออกแบบที่ตามมานั้น จะเกี่ยวโยงกับทฤษฎีเกสตัลท์ทางใดทางหนึ่ง
และนี่คือคำแนะนำผ่านทฤษฎีและคำจำกัดพื้นฐานของหลักการเกสตัลท์

คํา􏰂ว่า เก􏰁สตัลท์ (Gestalt) ในรากภา􏰀ษาเยอรมัน 􏰄หมายถึง รูปแบบ (form) หรือ รูปทรง (shape) อันมีผลต่อความคิดและการรับรู้ของมนุษย์
“ทั้งหมดเป็นมากกว่าผลรวมของชิ้นส่วนต่างๆ” (The whole is other than the sum of the parts. – Kurt Koffka) ข้อความสั้นๆ ข้างต้นเป็นเหมือนการสรุปใจความของเกสตัลท์
เมื่อมนุษย์มองเห็นกลุ่มของสิ่งต่างๆ เรามักจะรับรู้ภาพรวมก่อนที่จะเห็นวัตถุแต่ละชิ้น
เราจะเห็น W (whole) มากกว่าผลรวมของ Ps (parts) แม้ว่าชิ้นส่วนจะแยกจากกันโดยสิ้นเชิง
เราก็จะจัดกลุ่มจนมองเห็นทั้งหมดได้เสมอ

Gestalt กลายมาเป็นศูนย์กลางของการออกแบบในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา (และน่าจะยังคงเป็นต่อไป)
เมื่อการออกแบบคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างภาพ (visual forms) ที่แตกต่างกันอย่างตั้งใจ
การสังเคราะห์สิ่งที่ต้องคิดถึงผลที่ตามมาจากการบรรจุและนำพาความหมายของกราฟิก
จึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม

เราอาจคุ้นเคยกับภาพสองนัยของแจกันที่มีสองใบหน้า
มันถูกอธิบายครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาชาวเดนมาร์ก Edgar Rubin ในปี 1915
ที่ช่วยเปิดเผยว่าสมองของเราแยกแยะรูปร่าง (figure) และพื้นหลัง (ground) ออกจากกันอย่างชัดเจน
รูปแบบ positive ของแจกันยึดโยงอยู่กับพื้นที่ negative ของเงาดำที่เป็นใบหน้ามนุษย์สองคน
เมื่อมองภาพจะปรากฏเป็นแจกันเป็นอันดับแรก
แต่เมื่อความสนใจถูกเลื่อนไปที่ช่องว่าง ภาพใบหน้าคนทั้งสองด้านก็จะปรากฏขึ้น

ความสัมพันธ์ของ figure และ ground กลายเป็นความคลุมเครือและมีรูปแบบพลิกกลับไปกลับมา
ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติในการรับรู้ของเราเอง
การพลิกแจกันกลับเป็นใบหน้าถูกทำโดยการจัดวางอย่างพิถีพิถัน (การออกแบบ)
จนเป็นรูปแบบกราฟิกที่แม่นยำ ทั้งการกำกับช่องว่าง ความสมดุล รูปร่าง
เส้นสายของทั้ง positive–negative ได้รับการจัดการให้เกิดความเสมอภาคต่อการมองเห็นต่อความเป็นไปได้ทั้งสองนี้ จนกลายเป็นคุณสมบัติและทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการออกแบบกราฟิก

เก􏰁สตัลท์ จึงเป็นหลักการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อนักออกแบบกราฟิก ไม่ว่านิยาม บทบาท และขอบเขตของการออกแบบกราฟิกจะปรับเปลี่ยนหรือขยับขยายไปตามยุคสมัยอย่างไรก็ตาม

Fikra Graphic Design Biennial 01 — De-centering English

Text by Santi Lawrachawee

Fikra Graphic Design Biennial 01
Conference, Nov 10
2 – 2:50pm

De-centering English

HUDA ABIFARÈS, SANTI LAWRACHAWEE, AND ASAD PERVAIZ
FIRST FLOOR, DEPT. OF MAPPING MARGINS

We would need to move to a space of gesture and performance if we would want to imagine a de-colonial, critical graphic design. We would have to allow expression to erupt into poetry and storytelling as a way to contest normative forms of design. When different languages are involved, world-making becomes plural. For De-centering English, three designers come together to make sense of how the visual might be interpreted without relying on the structures that uphold linguistics. What multiplicity of forms emerge from such conversations? How do we map this diversity of overlapping margins?

ศูนย์กลางอยู่ทุกหนแห่ง

บทความว่าด้วยการสำรวจตัวพิมพ์ไทยฉบับย่อ
โดย สันติ ลอรัชวี

หากย้อนกลับไปสำรวจแบบตัวพิมพ์ไทย ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ 
จะพบว่ากว่าหนึ่งร้อยปีที่การพิมพ์ในประเทศไทยได้ขาดช่วงไป
จนกระทั่งถึงช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕)
กระบวนการพิมพ์จึงได้กลับสู่เมืองไทย
ทำให้รูปแบบตัวอักษรไทยเกิดความก้าวหน้าขึ้นอีกครั้ง Continue reading “ศูนย์กลางอยู่ทุกหนแห่ง”

บันทึกการบรรยาย สัญศาสตร์การออกแบบ

โดย สันติ ลอรัชวี
ศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ผ่านโปรแกรม Zoom.us 

สวัสดีครับ นักศึกษาและทุกท่านที่สนใจเข้ารับฟังบรรยายในครั้งนี้
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Design Semiotics
ภายใต้หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอขอบคุณหลักสูตรฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับที่ให้โอกาสกับผมในการสอนวิชานี้มาอย่างต่อเนื่อง

ทำไมนักออกแบบถึงสนใจสัญศาสตร์?
ผมมารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นผู้สอนวิชาสัญศาสตร์กับการออกแบบมาร่วม 10 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามผมยอมรับกับตัวเองมาหลายปีแล้วว่า
ตนเองเป็นเพียงนักออกแบบที่สนใจศึกษาสัญศาสตร์
และพยายามนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานออกแบบของตนเอง
แนวทางการสอนของผมจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียนเกี่ยวกับ
แนวคิดด้านสัญศาสตร์ที่เชื่อมโยงอยู่ในกระบวนการออกแบบและการนำเสนอผลงาน
รวมถึงการวิเคราะห์ หรือ ที่ผมมักเรียกว่า “การอ่านออก-เขียนภาพ (visual literacy)”
ต่องานออกแบบให้ละเอียดละออยิ่งขึ้น Continue reading “บันทึกการบรรยาย สัญศาสตร์การออกแบบ”

อ่านออก เขียนภาพ

โดย สันติ ลอรัชวี
(เอกสารประกอบเวิร์คช็อป Visual Literacy
จัดโดย PRACTICAL Design Studio, 7 ต.ค. 2560)

การอ่านภาพ (Visual Literacy)  อธิบายได้ว่าคือความสามารถในการเข้าใจและใช้ภาพ
รวมทั้งความสามารถในการคิด ในการเรียน และแสดงออกของตัวเองต่อภาพที่มองเห็น
ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ภาพ” เป็นสิ่งหนึ่งช่วยให้การสื่อสารสมบูรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อาจสรุปได้ว่าการอ่านภาพคือความสามารถทางด้านการมองเห็นของมนุษย์
และใช้ความสามารถนั้นในการจำแนกและแปลความหมาย
สิ่งที่มองเห็นเพื่อการติดต่อสื่อสารได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และมีสุนทรียภาพ

คำว่า Visual Literacy สามารถแยกแปลความหมายของคำนี้ได้คือ
“Visual” หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวกับจักษุประสาทหรือสิ่งที่ตามองเห็น
ซึ่งอาจเรียกรวมว่า “ภาพ” ก็ได้
“Literacy” หมายถึงความสามารถในการอ่านเขียนหรือการเรียนรู้

“การอ่านออกเขียนภาพ” จึงเป็นรูปแบบของการคิดที่สำคัญ
ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารเชิงภาพให้กับนักออกแบบ
การสื่อและรับสารทางสายตานั้นมีความผูกพันกับมนุษย์ก่อนจะมีภาษาพูดและเขียนด้วยซํ้า
ภาพเขียนในผนังถํ้า การสังเกตสีของผลไม้ พัฒนามาเป็นสัญลักษณ์สากลมากมายที่เราใช้กันในปัจจุบัน หากแต่มนุษย์เริ่มคิดผ่านอิทธิพลของ ภาษาหลังจากที่อารยธรรมด้านภาษาของเราวิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นภาษา (Linguistics) จึงเป็นระบบการสื่อสารที่มี อิทธิพลต่อมนุษย์ เราทั้งใช้มันในการคิด การรับรู้ และการแสดงออก ผ่านเงื่อนไขการเรียนรู้และการใช้งานในชีวิตประจำวัน จึงอาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารเชิงภาพจึงผูกติดอยู่กับการรับรู้ทางภาษาอย่างเหนียวแน่น Continue reading “อ่านออก เขียนภาพ”

ความท้าทายของการออกแบบ

เรียบเรียงจาก Series Foreward, Design Thinking, Design Theory Series ของ MIT Press
โดย สันติ ลอรัชวี

หนังสือชุด Design Thinking, Design Theory Series ของ MIT Press ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เสนอแนวคิดและทฤษฎีการออกแบบที่ควรค่าแก่การอ่านหลายต่อหลายเล่ม ส่วนที่น่าสนใจคือบทบรรณาธิการชุดหนังสือ ( Series Foreward) ที่เขียนโดยสองบรรณาธิการ ได้แก่ เคน ฟรีดแมน และ อีริค สโทลเทอร์แมน ที่กล่าวถึงความเป็นมาของการออกแบบจนมาถึงความท้าทายที่นักออกแบบทุกสาขากำลังเผชิญร่วมกัน 10 ประการ อันเป็นประเด็นที่ชวนให้นักออกแบบมาคิดต่อถึงบทบาทหน้าที่ คุณค่า และนิยายามของสิ่งที่เรากำลังเรียกมันเป็นอาชีพ หากสิ่งที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนนั่นคือ “การออกแบบ” Continue reading “ความท้าทายของการออกแบบ”

Design is attitude

img_0628
Image: http://www.tm-research-archive.ch

Helmut Schmid เกิดในปี 1942 ณ ประเทศออสเตรียในฐานะพลเมืองเยอรมัน เขาศึกษาในสวิสเซอร์แลนด์ที่โรงเรียนออกแบบบาเซิลภายใต้การสอนของ Emil Ruder, Kurt Hauert และ Robert Buchler

เขาทำงานในเบอร์ลินตะวันตกและสตอกโฮล์ม (Grafisk Revy) ต่อมาที่มอนทรีออล (Ernst Roch Design) และแวนคูเวอร์ หลังจากนั้นเขาทำงานที่โอซาก้าให้ NIA (Taiho Pharmaceutical และ Sanyo) และในปี 1973-76 มาทำที่ ARE ในดัสเซลดอร์ฟเขาออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาลเยอรมนีและนายกรัฐมนตรี Willy Brandt และ Helmut Schmidt ออกแบบสัญลักษณ์การรณรงค์เลือกตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1976 และได้จัดแสดงนิทรรศการการออกแบบตัวอักษรเชิงการเมืองของเขา (politypographien) ที่ Print Gallery ในอัมสเตอร์ดัม จากนั้นหันมาเป็นนักออกแบบอิสระในโอซาก้าตั้งแต่ปี 1981 ได้รับเชิญเป็นสมาชิกของ AGI (Alliance Graphique Internationale) ตั้งแต่ปี 1988

เขาเป็นนักออกแบบและบรรณาธิการให้กับนิตยสาร idea (Seibundo Shinkosha, Tokyo 1980) ในฉบับ Typography Today และฉบับพิเศษของ Swiss TM (1973) เคยบรรยายในหัวข้อ Typography, seen and read ในซีอาน ประเทศจีน และมีผลงานออกแบบหนังสือ ได้แก่ the japan typography annual 1985, Takeo Desk Diary และ Hats for Jizo (Robundo, Tokyo 1988) และผลงานอื่นๆ อีกมาก ผลงานออกแบบของเขามีเอกลักษณ์ของการผสมผสานวิถีประเพณีของญี่ปุ่นกับความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก ยกตัวอย่างผลงานออกแบบชุดตัวอักษร katakana eru ของเขาที่เราจะเห็นมันบนบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่นแทบทุกชิ้น

หากแต่ผู้เขียนรู้จัก Helmut Schmid ผ่านหนังสือเพียงเล่มเดียวของเขา “gestaltung ist haltung” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า design is attitude แค่ชื่อหนังสือก็พาให้คิดไปได้เรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางในสายออกแบบเลยทีเดียว เขียนโดย Victor Malsy, Philipp Teufel และ Fjodor Gejko หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมเอกสารงานออกแบบของ schmid ตั้งแต่ปี 1961 จนถึงปีที่หนังสือออก (2007) ในเล่มรวบรวมทั้งพื้นฐานทางความคิดทางการออกแบบ กราฟิก ตัวอักษร ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ การอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างพิถีพิถันจึงสร้างบทสนทนาของตนเองขึ้นมาได้ สำหรับผู้เขียนนี่เป็นหนังสือด้านออกแบบอีกเล่ม (ในจำนวนไม่เกิน 10 เล่ม) ที่หยิบมาพลิกอ่านเวลามีคำถามในการงานของตนเอง

Wim Crouwel นักออกแบบกราฟิกระดับมาสเตอร์กล่าวถึง Schmid ไว้ว่า
“ผลงานไทโปกราฟีของเขามีจังหวะและท่วงทำนอง
มันถูกสร้างสรรค์ด้วยตา หากคล้ายดั่งโน้ตดนตรี”

วันที่ 2 กค. 2561
เนื่องด้วยการจากไปของนักออกแบบที่นับถืออีกท่านหนึ่ง
ผู้เขียนจึงขอบันทึกเพื่อระลึกถึงแนวคิดและความรู้ที่ได้ศึกษา
จากมาสเตอร์อีกท่านที่ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว

ด้วยความเคารพอย่างสูง
สันติ ลอรัชวี

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่
http://www.tm-research-archive.ch/interviews/helmut-schmid%E2%80%8A/

Designed by Empathy

(เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร art4d พ.ศ. 2560)

จากชุดบทความ The Evolution of Design Thinking ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกันยายน 2558 ที่โปรยหัวว่าความคิดเชิงออกแบบจะกลายเป็นศูนย์กลางของการวางกลยุทธ์ การสร้างนวัตกรรม และการจัดการทางวัฒนธรรมนั้น สร้างคำถามต่อผู้เขียนว่านักออกแบบจะมีบทบาทอย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่ว่านี้ อีกทั้งยังนึกสงสัยว่าในอนาคต “Designer” จะถูกจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตของเพียงการสร้างสรรค์เชิงกายภาพหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ต่อการเกิดขึ้นของคำเรียกผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการคิดเชิงออกแบบว่า “Design Thinker” รวมถึงการโต้แย้งกันที่เกิดขึ้นอย่างคำว่า “Design Thinking is Bullshit” จากนักออกแบบคนสำคัญ

อย่างไรก็ดี ลินดา ไนแมน ผู้ก่อตั้ง Creativity at Work ก็ยังให้คำจำกัดความที่ทำให้นักออกแบบอย่างผู้เขียนเชื่อว่านักออกแบบมีส่วนสำคัญต่อการคิดเชิงออกแบบ จากบทความในเว็บไซต์เธออธิบายว่า “การคิดเชิงออกแบบคือกระบวนวิธีที่เหล่านักออกแบบใช้ในการแก้ปัญหาและการแสวงหาวิธีหรือทางออกที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยแกนหลักไม่ใช่การเพ่งความสำคัญไปที่ปัญหา แต่เป็นทางออกในการแก้ปัญหา และการปฏิบัติที่จะนำไปสู่สิ่งที่คาดหวังมากกว่า การคิดเชิงออกแบบนี้ดำเนินไปด้วยการใช้ตรรกะ จินตนาการ ญาณทัศนะ และการให้เหตุผลที่เป็นระบบ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้และการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งจะเกิดผลดีกับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ในมุมมองของผู้เขียน คำจำกัดความนี้ให้เครดิตกับเหล่านักออกแบบไม่น้อย เนื่องจากมันได้สะท้อนว่ากระบวนวิธีที่นักออกแบบใช้ในการทำงานอยู่แล้วนั้นมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่?

คำถามที่ยากจะตอบเหล่านี้ชวนให้คิดถึงความเกี่ยวโยงของสถานะนักออกแบบกับกระแสความคิดเชิงออกแบบที่กำลังถูกนำเสนอกันอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา คงจะดีหากเริ่มที่ประโยคสะดุดหูของ จอห์น เฮสเก็ต (John Heskett) จากหนังสือ Design: A Very Short Introduction ที่เขียนว่า “Design is to Design to Produce a Design” เขากล่าวถึงนิยามของการออกแบบด้วยโวหารที่ชวนขบคิดโดยการใช้คำว่า “Design” สามคำที่มีความหมายที่ต่างกันในประโยคเดียว จะเห็นได้ว่า Design ที่นักออกแบบคนหนึ่งทำอาจเป็นเพียงคำใดคำหนึ่งในประโยคนี้ หรืออาจเป็นทั้งหมดสำหรับใครอีกคนเช่นกัน

ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงการออกแบบในฐานะผลลัพธ์หรือกระบวนการต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นกายภาพวัตถุ เช่น เราจะนึกถึงว่า แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ออกแบบอาคารบ้านเรือน / ชารล์ อีมส์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ / พอล แรนด์ ออกแบบโลโก้ เป็นต้น ผลงานออกแบบทั้งหลายอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จในความเป็นกายภาพวัตถุ และเป็นเหตุที่ผู้คนส่วนมากจะยึดโยงการออกแบบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทิม บราวน์ CEO ของบริษัท IDEO เขียนไว้ในบทความของเขาได้ชัดเจนว่าแรกเริ่มลูกค้ามักขอให้นักออกแบบสร้างสรรค์รูปร่างหน้าตาของสิ่งต่างๆ (Hardware) ต่อมาก็เริ่มให้สร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกของสิ่งที่ผู้บริโภคต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (Software) มาถึงปัจจุบันนักออกแบบก็เริ่มมีส่วนต่อการสร้างกลยุทธ์ให้กับองค์กรหรือสินค้า รวมถึงการมีส่วนต่อการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้คนอีกด้วย เขาสรุปว่าดีไซน์ในปัจจุบันคือการประยุกต์สิ่งต่างๆ ในฐานะระบบ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งหมดทำงานได้ดียิ่งขึ้น และนี่เป็นเส้นทางของการออกแบบที่ซับซ้อนและแยบยลยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา ซึ่งบราวน์หมายถึง “Design Thinking” นั่นเอง ในขณะที่เขาเรียกผลงานออกแบบที่เป็นกายภาพวัตถุว่า “Design Artifact”

มีนักคิดหลายคนที่เคยเสนอความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking ไว้แบบตรงบ้างอ้อมบ้าง เช่น สตีป จ๊อบส์เคยบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกแบบเพียงแค่ว่ามันหน้าตาอย่างไร ผู้คนคิดว่ามันเป็นเปลือกนอกแล้วบอกนักออกแบบว่า ช่วยทำให้มันดูดีหน่อย! ผมไม่คิดว่าดีไซน์เป็นเช่นนั้น มันไม่ใช่แค่ว่ามันมีดูและรู้สึกเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่มันทำงานอย่างไรต่างหาก” ในขณะที่ในหนังสือ Designerly Ways of Knowing ไนเจล ครอส เขียนยกให้การออกแบบเป็นหนึ่งในสามของศักยภาพเชิงสติปัญญาของมนุษย์เลยทีเดียว โดยอธิบายว่ามิติพื้นฐานทางการคิดทั้งสาม ได้แก่ ดีไซน์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ จะร่วมกันสร้างความสามารถทางการคิดอื่นๆ ของมนุษย์ได้อย่างไม่สิ้นสุด วิทยาศาตร์จะสำรวจความคล้ายคลึงของสิ่งทั้งหลายที่แตกต่างกัน ส่วนศิลปะจะสำรวจในทำนองกลับกัน ในขณะที่ดีไซน์จะสร้างองค์รวมที่ใช้งานได้ (Feasible Wholes) จากชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ (Infeasible Parts) ดังนั้นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีของพื้นฐานทั้งสามอย่างนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ทักษะการคิดอื่นๆ ได้ดีเช่นกัน

คำว่า “ใช้ได้ (Feasible)” ข้างต้นสามารถเชื่อมโยงไปสู่คำว่า “จุดมุ่งหมาย (Purpose)” ได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะใช้ในความหมายใด การวางแผน ตัวแผน การทำให้บรรลุ ล้วนแล้วแต่ต้องสัมพันธ์อยู่กับจุดมุ่งหมายหนึ่งๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่า “จุดมุ่งหมาย” คือหัวใจสำคัญของการออกแบบที่ทำให้แตกต่างออกจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟ แต่เราออกแบบมัน” (Nelson & Stolterman) ที่แสดงถึงเจตจำนงค์การคิดค้นวิธีการสร้างไฟเมื่อมีความต้องการหรือมีเป้าประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้การสร้างไฟเมื่อต้องการใช้งานแตกต่างจากการพบไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กิจกรรมการออกแบบนั้นถูกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 35,000 ปี จนมาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มกำกับชื่อเรียกของบทบาทหน้าที่ทางอาชีพของตนเอง จนเกิดกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “นักออกแบบ” ซึ่งในปัจจุบันวิชาชีพนักออกแบบถูกแบ่งให้แตกแขนงออกไปมากมาย ตามบริบทของทักษะและลักษณะงานที่ต่างกันออกไป โดยที่เว็บไซต์ designclassification.com ได้จัดประเภทของการออกแบบไว้ถึง 93 หมวดหมู่ ในการจัดลำดับและประเภทของการออกแบบในช่วงปี พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2559

กิจกรรมออกแบบนับเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อันเกิดขึ้นจากการสังเกต คิดค้น แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาจากสิ่งเดิม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตต่อตนเองและสภาพแวดล้อม การใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมถึงการตอบสนองด้านสุนทรียะ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ การออกแบบยังเป็นความสามารถในการจินตนาการสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มันเกี่ยวโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา เป็นศักยภาพที่สำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่ต้องการเป็นนักออกแบบเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนั้นๆ ด้วย ดังนั้นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อมนุษย์ล้วนเกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งนั้นจะเกิดจากธรรมชาติ การออกแบบมีศักยภาพในการสร้างความรู้ด้วยการบูรณาการความคิด (Thought/Thinking) กับการกระทำ (Action/Doing) หรือเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฎิบัติ บางคุณสมบัติของการออกแบบก็พบได้ในวิทยาศาสตร์ บางส่วนก็พบได้ในศิลปะเช่นกัน

หากพิจารณาคำจำกัดความเกี่ยวกับ Design Thinking ที่ว่าคือการสร้างนวัตกรรมด้วยการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered) แล้ว กล่าวได้ว่าในกระบวนการคิดเชิงออกแบบจำเป็นต้องมีความเอาใจใส่ (Empathy) ต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ยิ่งงานออกแบบมีผู้คนที่เกี่ยวข้องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความซับซ้อนและต้องการความเอาใจใส่มากเท่านั้น การออกแบบที่ปราศจากการเข้าใจว่าผู้อื่นเห็น รู้สึก และมีประสบการณ์อย่างไรต่อมัน ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้จุดหมาย

ดังนั้นการพยายามหาความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking อาจเป็นเรื่องปราศจากสาระ เช่นเดียวกับการจะเรียก Designer เป็น Design Thinker ซึ่งก็จะทำให้เกิดช่องว่างและการโต้เถียงกันต่อไปว่าอะไรดีกว่าอะไร หากมองในแง่บวกก็จะพบว่าบทบาทและศักยภาพของการออกแบบกำลังขยายตัวออกไปกว่าที่มันเคยเป็น หรือไม่ก็กว้างกว่าที่เราเคยรับรู้และเข้าใจ โดยมีเข็มทิศที่เรียกว่า “ความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น (Empathy)”

ในขณะที่โลกมองหรือเรียกร้องว่า…ดีไซน์นั้นมีขอบเขตและศักยภาพมากกว่าโลกดีไซน์เนอร์ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ จึงต้องกลับมาทบทวนว่า…เรามีทัศนคติต่อเป้าหมายในการออกแบบอย่างไร? ในการออกแบบเราเอาใจใส่ต่อเรื่องอะไรบ้าง ละเลยเรื่องอะไรบ้าง?มันคงไม่มีการออกแบบใดมีเพียงเป้าหมายเดียวโดดโดด แต่เราหาทางออกบรรลุเป้าหมายที่รวมความต้องการที่หลากหลายอยู่ได้อย่างไร มันดูเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น แต่เพราะมันยาก มันจึงสำคัญที่ต้องทำให้ออกมาง่าย นั่นคือดีไซน์

สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่นักออกแบบควร “เอาใจใส่”

สันติ ลอรัชวี

ปฐมบทสู่หน้าว่างของการพิมพ์ไทย

A
คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ณห้องกระจกพระราชวังแวร์ชายวันที่ 1 กันยายน พ.. 2229

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกเหนือจากเรื่องราวแสนโรแมนติกของออกขุนศรีวิศาลวาจาและแม่การะเกด จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ยังมีหลักฐานอ้างอิงได้อีกว่า ในยุคนั้นการพิมพ์ในประเทศไทยกำลังสร้างปฐมบทขึ้น จากการเดินทางของคณะมิชชันนารีคาทอลิกจากฝรั่งเศสเข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ได้แต่ง แปล และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา เป็นภาษาไทยจำนวน ๒๖ เล่ม หนังสือไวยกรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม จากหนังสือ “หนึ่งรอยตัวเรียง” เขียนว่าการเข้ามาสอนศาสนาและวิชาการต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีตำราเรียนประกอบของสังฆราชลาโน อาจเป็นแรงจูงใจให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้พระโหราธิบดี จัดทำหนังสือ “จินดามณี” อันมีเนื้อหาว่าด้วยระเบียบของภาษาอักรวิธีเบื้องต้น และวิธีแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนแก่เข้าขุนมูลนายและสำนักเรียนในวัด ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกและสืบทอดต่อกันมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ น่าเสียดายที่หนังสือจินดามณีที่เขียนจากสมุดข่อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์คัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้จารวันเวลาที่เขียนเอาไว้ จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเล่มใดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคสมัยนี้ สังฆราชลาโนยังสร้างศาลาเรียนขึ้น ในพื้นที่พระราชทานที่ตำบลเกาะพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ตามบันทึกของ ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ว่า ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่าที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย. นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโนถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก…”

การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก จึงน่าจะเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงปิแอร์ ลังคลูอาส์ (Pierre Langrois) มีความคิดจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อพิมพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและแรงงานราคาถูก มีจดหมายไปทางฝรั่งเศสส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาเพื่อจะได้พิมพ์คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย ฟ. ฮีแลร์ อ้างจดหมายเหตุของบาทหลวงลังคลูอาส์ที่มีไปยังมิชชันนารีที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ว่า ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยแผ่พระศาสนาคฤศตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้วขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด, มิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆหนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา, เมืองคูอาและเมืองมะเกานั้น แม้จดหมายฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่า เครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาตามที่ขอหรือไม่ แต่ก็พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มิชชันนารีคริสตังมีความคิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนาซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ อันลงนามกันที่เมืองลพบุรี มีใจความสรุปโดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารี ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาและวิชาต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือประกอบการศึกษา

ในรัชสมัยนั้น พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า ๔๐ คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งนั้นคณะราชทูตได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส ที่โรงพิมพ์หลวงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยมีบันทึกไว้ว่าราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของมงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้ชมตั้งแต่การเรียงตัวพิมพ์ ได้ดูแท่นพิมพ์และกระบวนการพิมพ์ รวมถึงพระวิสูตรสุนทรได้ทดลองพิมพ์ด้วยตนเอง ได้รู้ถึงวิธีผสมหมึก วิธีทำกระดาษ วิธีการพิมพ์ วิธีพับกระดาษ การรวมเล่มและใส่ปกจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังได้ชมแม่ตัวหนังสือหลายชนิดหลายภาษา เป็นต้นว่า แม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่ง และภาษาอาหรับ จนราชทูตเห็นความเป็นไปได้ของการทำตัวหนังสือภาษาไทยในการเยี่ยมชมครั้งนั้น

ในยุคสมัยดังกล่าว เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้าในการออกแบบตัวอักษรในยุคบาโรก (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๒๙๓) คือการเป็นองค์อุปถัมป์อย่างเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีความสนใจทางการพิมพ์อย่างมาก รับสั่งให้มีการระดมบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวพิมพ์ใหม่ๆขึ้น เน้นการเขียนแบบตามหลักคณิตศาสตร์ ใช้ระบบกริดมากกว่าแนวทางอักษรประดิษฐ์ ตัวพิมพ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า โรมาง ดู รัว (Romain du Roi) ที่หมายถึงตัวอักษรโรมันของกษัตริย์ โดยเป็นการออกแบบตัวหนังสือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีการแบ่งตารางจตุรัสออกเป็น ๖๔ ส่วน และแบ่งจตุรัสแต่ละส่วนออกเป็นอีก ๓๖ หน่วยย่อย ทำให้เกิดเป็นจตุรัสเล็กๆ ทั้งหมด ๒,๐๓๔ หน่วย จนมีการจำแนกโรมาง ดู รัว เป็นตัวพิมพ์แบบ Transitional Roman อันเป็นจุดที่ตัดขาดจากลักษณะอักษรประดิษฐ์ การใช้ปลายมุมเป็นเล็บโค้งๆ และการใช้เส้นที่มีน้ำหนักเท่ากันตลอด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนมือจากนักประดิษฐ์ตัวอักษรมาสู่มือวิศวกร ที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในการพิมพ์

ทางการค้นคว้าจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมพอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ จากบทความ “ลายสือไทย ๗๐๐ ปี” โดยศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล เขียนถึงการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่าหากมีการพิมพ์ก็คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน มาเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย ไม่ได้มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทยแต่อย่างใด แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าจะเกิดการพิมพ์หนังสือในสมัยนั้น แต่เครื่องพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปหมด ไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ชนรุ่นหลัง เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง เช่น ถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งเป็นรัชสมัยต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ และอีกครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีโรงพิมพ์เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอธยา ไม่มีทั้งบันทึก หรือแม้แต่หลักฐานหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น รวมถึงเมื่อพระยาโกษาปานไปดูกิจการการพิมพ์ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้แสดงความสนใจดั่งไม่เคยรู้เห็นเรื่องการพิมพ์มาก่อน จนกระทั่งกลับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระนารยณ์ฯ ก็เสด็จสวรรคตในอีก ๘ เดือนต่อมา อันเป็นการตัดขาดจากการรับเทคโนโลยีจากประเทศยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง อันเนื่องจากรัชสมัยของพระเพทราชาไม่ทรงสนับสนุนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดังที่หนังสือ “สยามพิมพการ” ได้ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่ายังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ได้วิเคราะห์กันไว้

ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ตาม การเดินทางของวิทยาการการพิมพ์จากฝรั่งเศสสู่กรุงศรีอยุธยานี้ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อก้าวย่างแรกๆ ของการพิมพ์ไทย รวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่กระแสธารการพิมพ์ได้ขาดช่วงไปจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นวิทยาการการพิมพ์ในยุโรปกลับรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาแท่นพิมพ์ กระดาษ หมึกพิมพ์ แบบตัวอักษรและลายประดับ ธุรกิจหนังสือ และสำนักพิมพ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปภายใต้บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

จึงเป็นเหมือนศตวรรษที่ขาดช่วง เป็นหน้าว่างในหนังสือแห่งประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

————————————————————————————————————

สันติวิธี ที่ ๑

หนังสือรวมบทความ โดย สันติ ลอรัชวี
จัดพิมพ์ โดย คัดสรรดีมาก
บรรณาธิการและออกแบบปก – อนุทิน วงศ์สรรคกร
กองบรรณาธิการ – กรดา ศรีทองเกิด
รูปเล่มและศิลปกรรม – ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม
ภาพหนังสือโดย คัดสรรดีมาก

คำนำผู้เขียน
Give me your story, I’ll give you mine.

ครั้งหนึ่งคุณพิชญา ศุภวานิช ชักชวนให้ผมร่วมแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการที่เธอเป็นภัณฑรักษ์ นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า สถานพักตากอากาศ (Resort) ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่พยายามจะขยายความหมายของการพัก ท่ามกลางบรรยากาศรอบตัวเราที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในที่พักอาศัยที่ไม่ใช่แค่ก้อนสถาปัตยกรรม แต่เป็นสถานที่ที่ถูกค้นพบคุณค่าอันแท้จริงของการใช้ชีวิตอยู่ เธอถามถึงรีสอร์ตแบบของผม ซึ่งท้ายที่สุดคำตอบของผมก็ปรากฏอยู่ในสูจิบัตรนิทรรศการว่า “รีสอร์ตสำหรับผมในบางครั้ง ไม่ได้สัมพันธ์กับสถานที่ หลักแหล่ง หรือเวลา หากแต่เชื่อมโยงกับการที่เราได้ถ่ายเทอะไรบางสิ่งในความคิด ความรู้สึกของเราไปกักเก็บไว้ยังอีกพื้นที่หนึ่ง มันมีความย้อนแย้งในการตัดสินใจว่า… เราอยากจะจดจำสิ่งเหล่านั้น หรือจริงๆ แล้วเราอยากจะลืมมัน มันคงมีอะไรที่คล้ายคลึงกับการจดบันทึกประจำวัน หากแต่คำว่า ‘บันทึก’ ก็คงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ตรงนัก ผมจำลองบรรยากาศส่วนตัวนี้ผ่านเล่มหนังสือที่มีความหนาราว ๙๐ ซม. เจาะรูตรงกลางเล่มทะลุตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ติดตั้งฝังเข้าไปที่ผนังในระดับปากที่ผู้ชมสามารถบอกเล่าอะไรบางอย่างกับมัน และหวังว่ามันคงจะหนาและลึกพอที่จะแบ่งปันพื้นที่ว่างสำหรับผู้ชมที่อยากจะฝากบางสิ่งไว้” ผลงานชิ้นนี้ติดตั้งพร้อมกับบทสนทนาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง In the mood for love ของ หว่อง คาร์ ไว ที่โจวมู่หวันคุยกับอาปิงว่า “ในอดีต..หากมีความลับที่ไม่ต้องการบอกใคร ใครบางคนมักจะไปที่ภูเขาเพื่อหาต้นไม้สักต้นที่มีรู แล้วกระซิบความลับเหล่านั้นเข้าไป จากนั้นก็ปิดรูนั้นด้วยดินโคลนเพื่อปล่อยให้ความลับคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์”

หนังสือที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เป็นการรวบรวมบันทึกความคิดส่วนตัวจากช่วงเวลาสิบกว่าปี (แน่นอนที่สุดว่ามันไม่ได้เป็นความลับ) หลายเรื่องบางมุมมองก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สันติบางคนก็ดูเป็นสันติอีกคนที่ไม่คุ้นเคย สันติบางคนก็ดูน่าขัน ส่วนบางคนก็ทำให้นึกทึ่งในเรี่ยวแรง และบางทีก็นึกถึงและอยากพบเจอสันติคนเดิมๆ อีกครั้งเพื่อนั่งสนทนากัน ส่วนสันติคนปัจจุบันนี้อยากขอบคุณสันติทุกคนที่ทำให้บันทึกนี้มีความหนาพอรวมเข้าเป็นเล่ม ส่วนตัวแล้วหนังสือเล่มนี้บรรจุความทรงจำของผมมากมายที่อยู่นอกอาณาเขตของตัวหนังสือ ยังมีเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำ และบุคคลที่แวดล้อมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมรู้สึกเกรงใจผู้อ่าน และได้แต่หวังว่าบางส่วนจากข้อเขียนเหล่านี้จะพอทำให้เกิดสิ่งเล็กเล็กน้อยน้อยที่จะมีประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง “สันติ’s วิธีที่ 1” ย่อมไม่ใช่สันติวิธี (peaceful means) หากเป็นแค่วิธีของหลายๆ สันติที่ถูกบันทึกผ่านสถานพักตากอากาศเล่มนี้ และในฐานะตัวแทนของสันติทุกคนใคร่ขอกล่าวขอบคุณและขออภัย รวมถึงขอรับความผิดพลาดทั้งหลายมา ณ โอกาสนี้

ผมคิดว่าสิ่งที่โจวมู่หวันพูดถึงในภาพยนตร์มีบางอย่างคล้ายคลึงกับการเขียนบันทึกสิ่งต่างๆ ในสมุดบันทึก แม้มันจะไม่ใช่ความลับไปซะทุกเรื่องก็ตาม หากในแต่ละครั้งที่เราได้ผ่านหรือรับรู้เหตุการณ์มากมาย สิ่งที่เราคิดและรู้สึกมักทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ผมไม่อาจเรียกได้ว่ามันทำให้เราเติบโตขึ้น หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น หากจะเรียกสิ่งที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็คงกล่าวได้เพียงว่า ‘นี่คือบันทึกความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมกับสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่แวดล้อมตัวผมเท่านั้นเอง’

คำนิยม โดย ผศ. ปิยลักษณ์ เบญจดล

ยินดีมากที่สันติเอ่ยปากว่าอยากให้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือเล่มแรกของเขา เนื่องด้วยเพราะชื่นชมผลงานส่วนตัวของเขาและแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอมานาน ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสเขียนงานในรูปแบบของ design critics ก็อยากจะนำผลงานหลายชิ้นของสันติและบริษัทมาเขียนถึง แม้ทุกวันนี้โอกาสเช่นนั้นจะยังไม่เกิดขึ้น แต่การเขียนคำนิยมนี้ก็ทำให้ได้ระลึกถึงผลงานที่น่าสนใจของสันติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและได้ทราบความเป็นไปของชีวิตส่วนตัว แม้ว่าสันติจะเอ่ยชวนให้เขียนในฐานะอาจารย์ แต่ก็กล่าวได้เต็มปากว่าทุกวันนี้สันติเป็น “เพื่อน” คนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ

ยังจำพุดดิ้งทำจากน้ำเต้าหู้ที่มีรสชาติหวานไม่มากและเนื้อสัมผัสอ่อนละมุนจากฝีมือของเขาได้ดี รับรู้ได้ว่าเขาตั้งใจทำให้เป็นพิเศษเพราะการเปลี่ยนวัตถุดิบจากนมวัวเป็นน้ำเต้าหู้ทำให้ต้องทดลองปรับเปลี่ยนสูตรและวิธีการทำหลายครั้งกว่าจะลงตัว สำหรับสันติเอง เขาพบว่ากิจกรรมที่ได้ผ่อนคลายจากงานประจำนี้มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกับงานออกแบบอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือเขาตั้งใจที่จะปรับมันจนกระทั่งมั่นใจว่าเหมาะสมกับผู้เสพงานของเขาแล้วเท่านั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ได้ลิ้มชิมรสของมัน มั่นใจว่ากระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นกับงานออกแบบที่ผ่านสมองสองมือและจิตใจของเขาทุกชิ้นเช่นกัน

สันติละเอียดอ่อนกับการใช้ผัสสะทุกด้านในชีวิตประจำวันของเขาซึ่งการทำงานและไลฟ์สไตล์กลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก กล่าวได้ว่า สันติเป็นนักอ่าน (ตา) สันติเป็นนักดนตรีและนักฟังดนตรี (หู) สันติชื่นชอบน้ำหอม (จมูก) สันติชื่นชมรสชาติและกระบวนการสร้าง-เสพกาแฟ (จมูก ลิ้น) สันติเป็นนักเขียน (กาย ใจ) สันติเป็นนักออกแบบ (กาย ใจ) ฯลฯ แน่นอนว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเขาไม่ได้

แยกการใช้ผัสสะออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้ แต่โดยรวมแล้วใช้สมองควบคู่ไปกับจิตใจที่นำทางการใช้ชีวิตของเขาเสมอ และหากต้องนิยาม

เขาด้วยคำๆ หนึ่ง คำว่า “นักสื่อสาร” (ผ่านสารพัดสื่อที่เขาถนัด) อาจเหมาะสมสำหรับสันติก็ได้

ในฐานะอาจารย์ สันติมักเน้นย้ำกับนักศึกษาบ่อยครั้งว่าการตั้งคำถามสำคัญกว่าคำตอบ ชีวิตของเขาก็เช่นกัน ผลงานหลายชิ้นกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาส่งผ่านสื่อหลากหลายชนิดที่ถูกเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดี บทสนทนาระหว่างเขากับคนรอบข้างทั้งลูกค้า เพื่อนร่วมงาน นักศึกษา และเพื่อนฝูงจึงมักชวนให้นำมาขบคิดต่อเสมอๆ เชื่อว่าหลายคนตั้งใจหาโอกาสเพื่อนั่งคุยกับเขาในช่วงพักจากการทำงานโดยมีถ้วยกาแฟหรือแก้วเบียร์ช่วยเพิ่มอรรถรสของวงสนทนา ลีลาและทักษะการแสดงความคิดเห็นของสันติเฉียบคมเสมอซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาออกกำลังสมองด้วยการ go inside พื้นที่ในความคิดของตนเองตลอดเวลา ลิ้นชักข้อมูลของเขาจึงยังไม่เต็มและพร้อมที่จะถูกสลับสับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา

ในแต่ละช่วงจังหวะชีวิต ขอชื่นชมสันติในความกล้าหาญที่ตัดสินใจทำตามสัญชาตญาณของตนเองหลายครั้ง เขาหยุดรับงานจากลูกค้าถึงหกเดือนเพื่อทำงานออกแบบสำหรับแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก เขาเปิดกว้างกับทัศนคติในการทำงานเพื่อพาณิชย์

ควบคู่ไปกับการทำงานที่มีคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นความภาคภูมิใจในวิชาชีพนักออกแบบแทนมูลค่าตัวเงินมากมาย เขาปฏิเสธงานบางชิ้นที่สามัญสำนึกของตัวเองบอกว่า “ไม่ใช่” แม้ว่าจะเป็นงานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นเช่นนี้ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยให้สังคมยอมรับ เห็นศักยภาพ และให้คุณค่ากับวิชาชีพนี้มากขึ้นแม้จะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ณ วันนี้ น่าจะดำเนินไปตามร่างความคิดและความตั้งใจของเขาร่วมกับเบล กนกนุชตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้ง แพรคทิเคิลเป็นตัวอย่างของสตูดิโอออกแบบที่มีปรัชญาในการดำเนินงานที่แตกต่าง นอกจากนิยามในการออกแบบที่ว่า “design is relation” ซึ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นในกระบวนการออกแบบแล้ว แพรคทิเคิลยังเน้นการ

สนับสนุนซึ่งกันและกันให้สมาชิกทุกคนได้สร้างสรรค์งานทั้งงานส่วนรวมและงานส่วนตัวของแต่ละคน ความเชื่อที่ว่าแต่ละคนมีความ

แตกต่างและมีศักยภาพในการเติบโตโดยสามารถพัฒนาความเป็นปัจเจกควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของบริษัทได้ทำให้แพรคทิเคิลได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงเช่นในปัจจุบัน ไม่ว่าคำจำกัดความและบทบาทหน้าที่ของ “นักออกแบบกราฟิก” จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดในอนาคต เหล่าสมาชิกแพรคทิเคิลก็จะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขาได้ 

 การได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี Designer of the Year 2015 สาขา Graphic Design ในปีนี้ เชื่อว่าสันติมีความภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่าการมีโอกาสได้สนทนาใกล้ชิดกับบุคคลที่เขาชื่นชมยกย่องอย่างพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช ตามที่เขาอ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “ผมได้รางวัลสำคัญของชีวิตนักออกแบบไปแล้ว” แต่เชื่อเถอะ เขาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่นอน เขามี passion มากมายและพร้อมที่จะเผชิญข้อจำกัดหรือโจทย์ใดๆ ก็ตามที่จะผ่านเข้ามาให้ได้ขบคิดด้วยการปรุงใหม่ คิดตรงเส้นกรอบ และนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญ แอบหวังว่าเขาจะไม่หยุดสอนเพราะเขาใช้วิธีสอนให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อว่าทุกวันนี้ สันติเองก็ยังเรียนในฐานะนักออกแบบอยู่ทุกวัน

สันติเปิดเผยให้เราได้รู้ว่าในตอนเด็กเขาเกือบจะได้ชื่อว่า “สามารถ” ดังนั้นจึงหวังว่าเมื่อผู้อ่านได้ติดตามผลงานออกแบบถ้อยคำของเขา

ในหนังสือเล่มนี้แล้ว เราคงยอมรับตรงกันว่า “สันติ” กับ “สามารถ” เป็นคนคนเดียวกันแน่นอน ^_^

บทส่งท้าย โดย กนกนุช ศิลปวิศวกุล

หากเราเห็นภาชนะใสปิดฝาสุญญากาศได้รับการติดตั้งอย่างประณีตบรรจง บนพื้นที่แสดงงานที่ได้รับการจัดแสงอย่างพอเหมาะและสวยงาม ซึ่งแสงนั้นสาดส่องตรงเข้าไปในภาชนะใสปิดฝาที่บรรจุห้วงอากาศปริมาตรหนึ่ง

สิ่งที่เห็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

สิ่งที่เป็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่

สิ่งที่ใช่…อาจไม่ใช่สิ่งที่คิด

สิ่งที่คิด…อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น

ความย้อนแย้ง วนเวียน และหมุนเป็นวงจรชวนให้คิด สงสัย ตั้งคำถาม และชวนต่อยอดเหล่านี้เป็นเสน่ห์ในงานของอาจารย์ติ๊ก ผลงานแต่ละชิ้นมักจะมีมุมมองให้คิดและทำความเข้าใจ การมีพื้นที่ว่าง(อากาศ)ในผลงานของอาจารย์ติ๊ก มักทำให้คนได้ตกตะกอน ร่อนความคิด ประสบการณ์ และความทรงจำต่อสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตของแต่ละคนผ่านชิ้นงาน 

เมื่อบริบทเปลี่ยน ความหมายก็อาจเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ที่นำภาชนะใสที่ถูกบรรจุและปิดฝาสุญญากาศเหล่านี้ไปวาง และขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ที่พบเห็น ภาชนะเหล่านี้เมื่อถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ก็จะส่งผลต่อการรับรู้ที่ต่างออกไป ในวิถีการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับอาจารย์ติ๊กก็เช่นกัน การที่ได้มีประสบการณ์ตรงร่วมกับอาจารย์ ไม่ว่าในฐานะอาจารย์ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน พ่อ พี่ชาย หรือเพื่อน ตลอด ๑๕ ปีที่อาจารย์ติ๊กถือเป็นทั้งต้นแบบ(การทำให้เหมือน) เป็นทั้งคำถามปลายปิดและปลายเปิด(การทำให้ต่าง) และเปิดโอกาสให้ตนเองสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อยู่ตลอดเวลา ภาชนะเหล่านี้ไม่ได้ถูกติดตั้งให้อยู่สูงเกินกว่าที่ตาจะมองไปไม่ถึง ภาชนะบางชิ้นได้รับการติดตั้งให้อยู่ในระดับที่มือสามารถเอื้อมไปจับได้ บางชิ้นได้รับการติดตั้งอย่างใว้ใจและมั่นใจพอที่จะให้ผู้ชมสามารถเปิด-ปิดได้ บางชิ้นก็เปิดฝาทิ้งไว้ บางชิ้นแง้มฝาค้างเอาไว้ และบางชิ้นก็ปิดตาย

ภาชนะที่ใสอาจเป็นการเชื้อเชิญให้เรามองเข้าไปหาสิ่งที่อยู่ภายในและทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่อยู่ภายในอาจมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกด้วยเช่นกัน การที่เราเห็นแต่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างในภาชนะเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรอยู่ในนั้น สิ่งที่มีอยู่อาจเป็นนามธรรม อาจคือมวลของห้วงความคิด ชุดข้อมูล ชุดคำ หรือแม้กระทั่งอาจเป็นแค่อากาศหรือลมหายใจก็เป็นได้ การมีอยู่ในลักษณะความเป็นนามธรรมนี้จึงยิ่งทำให้มีความสนใจ พยายามทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ตั้งคำถาม พยายามหาคำตอบ และลองพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดตรงกับสิ่งที่เห็น ตรงกับสิ่งที่เป็น และเป็นสิ่งที่ใช่…หรือไม่

ข้อความบนปกหลัง โดย ณัฐพล โรจนรัตนางกูร

ถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ในความทรงจำได้เป็นกล่อง แยกหมวดหมู่ประเภทอย่างชัดเจน
และหยิบมาใช้ได้ตามต้องการ มันคงจะดีไม่น้อย
ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำสิ่งเหล่านั้นกับช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ติ๊ก
การได้พูดคุยกับอาจารย์ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือที่ไม่มีวันจบ
บทสนทนามักจะชวนให้ผมตั้งคำถามและโต้ตอบอยู่เสมอ
แม้กระทั่งชีวิตประจำวันที่เรามองเป็นเรื่องธรรมดา
(ผมยังไม่ลืมการชวนคิดของอาจารย์ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้ร่วมโต๊ะกันครั้งแรก)
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกล่องเก็บประสบการณ์อาจารย์ติ๊ก
คุณจะได้เห็นความสนใจ ความเปลี่ยนแปลงและข้อสังเกตในสิ่งรอบตัวของคนๆ หนึ่ง
ที่จะทำให้คุณได้ร่วมคิดกับสิ่งต่างๆ และอยากเก็บความคิดเหล่านั้นไว้เหมือนผม
อีกนัยหนึ่ง… หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นเหมือนการคิดทบทวนของตัวผู้เขียนเองด้วยเช่นกัน
ผมรู้สึกดีใจที่สามารถย้อนกลับเข้าไปทบทวนความคิด
ใน “กล่องความทรงจำของสันติเล่มนี้” ได้อีกครั้ง

 

“การออกแบบคืออะไร” คำถามที่ถูกทบทวนตลอดชีวิต (ฉบับลำลอง)

โดย สันติ ลอรัชวี

สำหรับภาษาไทย แม้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บรรจุความหมายของคำว่า “ออกแบบ” ไว้ แต่ในวิชาชีพและชีวิตประจำวันคำว่า “ออกแบบ” ถูกให้คำจำกัดความและมีการอภิปรายไว้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งในคำจำกัดความพื้นฐานหรือเฉพาะเจาะจงก็ตาม หากเริ่มสำรวจความหมายจากพจนานุกรมแล้ว Merriam Webster Dictionary ก็ได้ให้คำนิยามต่อคำว่า design ที่เป็นทั้งคำนามและคำกริยาออกมาชุดหนึ่ง ครอบคลุมกินความไว้ดังนี้ Continue reading ““การออกแบบคืออะไร” คำถามที่ถูกทบทวนตลอดชีวิต (ฉบับลำลอง)”

สิ่งที่นักออกแบบต้องเรียนรู้ 

เรียบเรียงจากบทความของ Eric Madsen, What designers must learn (aiga.org)

Eric Madson แนะนำไว้ในบทความว่า…หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักเรียนออกแบบกราฟิกในอนาคตสามารถทำได้คือการค้นพบตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับอาชีพนอกหลักสูตรของมหาวิทยาลัย

ในช่วงต้นของการเรียนควรไปที่บริษัทออกแบบและพูดคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จ การฝึกฝนนี้จะช่วยให้พวกคุณรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจากหลักสูตรของโรงเรียนออกแบบ แล้วจะทำให้คุณสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของอาชีพได้ และในทางกลับกันมันจะทำให้เราถูกรู้จักมากขึ้นในอุตสาหกรรมการจ้างงาน

นักเรียนควรจะเรียกร้องสถาบันให้นักออกแบบจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรยาย การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการมอบหมายโครงการพิเศษ รวมถึงจัดทัวร์สตูดิโอด้วย
ฉันขอแนะนำให้ฝึกงานและควรแสดงพอร์ตโฟลิโอของตนเอง เพื่อทบทวนหลังจากปีที่สองและสามหรือแม้แต่ในแต่ละเทอมของปีนั้น ๆ ในการฝึกงานนักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าเรื่องใดเป็นสิ่งสำคัญจากสิ่งที่ได้เรียนและฝึกฝนมาจากมหาวิทยาลัย

การมีประสบการณ์ต่อปัญหาด้านการออกแบบที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็น
แนวคิดหรือเบื้องหลังการออกแบบก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน
เราจะพบว่าความรู้เชิงปฏิบัติและทักษะการผลิตนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับทฤษฎี
การได้สัมผัสกับการดำเนินธุรกิจขั้นพื้นฐานจะเป็นประโยชน์
รวมถึงความสำคัญของพอร์ทโฟลิโอที่ควรรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว
เพราะในช่วงเวลาของการสัมภาษณ์ ผลงานของคุณก็กลายเป็นเพียงงานนักเรียน

พวกคุณควรเรียนรู้ว่าความสามารถในการเขียนและพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้กระทั่งการสะกดอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ
พื้นฐานลูกค้าของนักออกแบบคือโลกธุรกิจ
และนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่กำลังเตรียมที่จะสื่อสารกับตลาดนี้
การออกแบบเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของกระบวนการเท่านั้น
การวางแผน การฟัง การเขียน การประมาณเวลา และการให้คำแนะนำ
ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทของนักออกแบบ…

ศิลปะความเป็นตัวเอง / สัญชาตญาณ / และความหลงใหลแบบสามหน่อ

ไม่นานมานี้… ผมได้รับรางวัลที่สำคัญของชีวิตการเป็นนักออกแบบ
อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นรางวัลจากรายการประกวดหรือแข่งขันใด
หากแต่เริ่มต้นด้วยการรับโทรศัพท์จากคุณแจง เต็มศิริ คูสุโรจน์ แห่ง Propaganda
ใจความว่าพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช อยากขอนัดเข้ามาพบ โดยแจ้งเบื้องต้นเพียงว่าอยากเข้ามาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับงานโครงการหนึ่ง
แน่นอนว่า…ผมตอบรับในทันที

ย้อนกลับไป…นอกจากชื่นชมพี่สาธิตผ่านผลงานของสามหน่อ บริษัทกราฟิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงเวลาต้นปี พ.ศ. 2530 แล้ว ภายหลังผมยังมาสนใจสามหน่อมากขึ้นในฐานะสตูดิโอออกแบบกราฟิกรุ่นบุกเบิก ที่ทำให้งานออกแบบกราฟิกมีที่ทางของตัวเอง แยกตัวออกจากบริษัทโฆษณาออกมาได้อย่างชัดเจน ผมเริ่มค้นคว้าและประกอบข้อมูลถึงความเป็นมาของพี่สาธิตและบุคลากรสำคัญมากมายเพื่อเห็นภาพทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการออกแบบกราฟิกไทย Continue reading “ศิลปะความเป็นตัวเอง / สัญชาตญาณ / และความหลงใหลแบบสามหน่อ”

COFFEE ONLY IN THE LAND OF TEA

Photoset processed by Kwanchai

ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d
โดย สันติ ลอรัชวี
Photos by Kwanchai Akkaratammagul and Nattapong Daovichitr
Images courtesy of Santi Lawrachawee. All right reserved.

การเดินทางมักมีเรื่องราวให้เราประทับใจแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ความประทับใจนั้นไม่เคยจำกัดความสำคัญ เชื้อชาติ ขนาด หรือปูมหลังใดๆ

บางครั้งเพียงแค่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรารู้สึกพิเศษกับผู้คนซักคน เหตุการณ์ธรรมดา หรือสถานที่เล็กๆ ซักแห่ง… 

ท่ามกลางใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีในโตเกียว อากาศแสนสบายสำหรับมนุษย์เขตร้อนชื้น ครั้งนี้…ผมและเพื่อนๆ ร่วมทางมีจุดมุ่งหมายหลากหลายทีเดียวในการเดินทางครั้งนี้ เราตั้งใจจะไปร้านอาหารและร้านขนมหลายร้าน ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่น การมาประชุมงานที่จะได้ร่วมทำ มาร่วมงานรับรางวัลผลงานออกแบบของบริษัท ช็อปปิ้ง ไปชมละครคาบูกิ ตีเบสบอลกับเครื่องขว้างลูกอัตโนมัติ จับตุ๊กตา และที่ขาดไม่ได้คือ การไปชมนิทรรศการต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ โดยไฮไลท์ของทริปนี้ คือ Tokyo Designers Week และงานเทศกาลศิลปะ Yokohama Triennale สำหรับ 9 วัน ตารางทั้งหมดนี้ทำให้หมดเรี่ยวแรงเลยทีเดียว

ทุกครั้งที่เดินทาง ผมมักตั้งใจจะเขียนบันทึกถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบหรือศิลปะเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในแต่ละวันที่มีโอกาสไปชมงานหรือพบเห็นอะไรที่คิดว่าเกี่ยวข้อง ก็จะพยายามจดบันทึก ถ่ายรูป เก็บสิ่งพิมพ์นิทรรศการ โดยตั้งใจว่าจะกลับมาเขียนบันทึกถึงมัน จนกระทั่งวันสุดท้ายของทริป ความตั้งใจของผมก็เปลี่ยนไป และสิ่งที่เรียบเรียงก็กลายมาเป็นข้อเขียนที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้…

เหตุก็คงมาจากร้านกาแฟร้านแรกที่มีโอกาสได้ไปนั่งดื่มในวันที่ 3 ของการเดินทาง…

Continue reading “COFFEE ONLY IN THE LAND OF TEA”

BERLIN: TYPE TRIP / TYPE HYPE

ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d : 220, November 2014
โดย สันติ ลอรัชวี (Santi Lawrachawee)
Images courtesy of Santi Lawrachawee. All right reserved.

การเดินทางมักมีเรื่องราวให้เราประทับใจแตกต่างกันไปแต่ละครั้ง ความประทับใจนั้นไม่เคยจำกัดความสำคัญ เชื้อชาติ ขนาด หรือปูมหลังใดๆบางครั้งเพียงแค่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรารู้สึกพิเศษกับผู้คนซักคน เหตุการณ์ธรรมดา หรือสถานที่เล็กๆ ซักแห่ง…

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมบรรยายและเวิร์คช็อปที่งาน GRANSHAN Munich 2014 ที่ประเทศเยอรมนี เป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับการออกแบบตัวหนังสือในกลุ่ม Non-Latin ซึ่งก็คือ ตัวหนังสือที่ไม่ได้มีที่มาจากตัวอักษรละตินอย่างตัวอักษรภาษาไทย ฮิบรู ญี่ปุ่น พม่า จีน ฯลฯ โดยวิทยากรที่มาบรรยายก็มาจากชาติต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณมิสเตอร์ บอริส โกชาน (Boris Kochan) และทีมงานเป็นอย่างมากที่มอบโอกาสที่ล้ำค่านี้ให้ ผมแจ้งคุณอันย่า (Anja Kurz) ผู้ประสานงานโครงการนี้ไปแต่ต้นว่า ผมมีความตั้งใจจะเดินทางไปเบอร์ลินหลังจากเสร็จงานที่มิวนิค จึงอยากให้เธอช่วยเป็นธุระเรื่องการเดินทางและแนะนำที่พักในเบอร์ลินให้ ซึ่งเธอได้ตระเตรียมข้อมูลการเดินทางรวมถึงลิสต์โรงแรมในย่านที่เธอคิดว่าผมคงจะถูกใจ ซึ่งมันเป็นคนละย่านกับที่ผมลองหาอ่านคำแนะนำในเว็บบอร์ดยอดฮิตของไทย ผมเดินทางด้วยรถไฟ ICE (InterCityExpress) จากสถานีรถไฟมิวนิคไปยังเบอร์ลินร่วม 7 ชั่วโมง แล้วนั่งรถบัสสู่ถนน Rosa-Luxemburg เพื่อเช็คอินที่โรงแรม Lux 11 ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ผมเลือกโรงแรมนี้เพราะไปอ่านเจอว่าโรงแรมนี้ตั้งอยู่ในย่าน Mitte หนึ่งในพื้นที่ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดของเบอร์ลิน รายล้อมไปด้วยร้านกาแฟ ร้านอาหาร อาร์ตแกลเลอรี่ สตูดิโอออกแบบ และ คอนเซ็ปต์สโตร์มากมาย อีกทั้งโรงแรมนี้บูรณะและตกแต่งใหม่จากอาคารที่อยู่อาศัยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ต่อมากลายเป็นพื้นที่สำนักงานสำหรับ เค จี บี อีกด้วย ข้อมูลที่เต็มไปด้วยมายาคติเหล่านี้บวกกับราคาที่เทียบแล้วถูกกว่าโรงแรมอื่นๆ ที่อันย่าแนะนำมา ผมจึงเลือกพักที่นี่ แต่ใครจะรู้ว่าการมาพักที่นี่ทำให้ผมพบสถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน

Continue reading “BERLIN: TYPE TRIP / TYPE HYPE”

บางส่วนจาก VIGNELLI CANON

สันติ ลอรัชวี
เรียบเรียงบางส่วนจาก Vignelli Canon – Vignelli Associates

ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงที่ดีของการออกแบบกับแนวคิดบางส่วนของสัญศาสตร์
Massimo Vignelli ได้กล่าวถึง Semantic, Syntactic และ Pragmatic ไว้อย่างเข้าใจได้ไม่ยากในหนังสือ Vignelli Canon

Image: www.matchstic.com
Image: http://www.matchstic.com

Image : www.dresouzax.com
Image : http://www.dresouzax.com

Continue reading “บางส่วนจาก VIGNELLI CANON”

กราฟิกดีไซน์เนอร์ของวันพรุ่งนี้

โดย สันติ ลอรัชวี

เคยมีบทสนทนาที่เล่าต่อกันมาในหมู่กราฟิกดีไซน์เนอร์ เป็นบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกที่เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ เรื่องมีอยู่ว่าลูกชาย (หรือลูกสาวก็ได้แล้วแต่ผู้เล่า) เพิ่งเรียนจบและเริ่มงานกราฟิกดีไซน์ในเอเจนซี่แห่งหนึ่ง เมื่องานออกแบบโปสเตอร์ชิ้นแรกที่ได้รับมอบหมายพิมพ์เสร็จออกมาสวยงามเรียบร้อย ลูกชายก็นำเอากลับบ้านไปอวดให้พ่อได้ชมผลงานจริงชิ้นแรกในชีวิตการทำงาน บทสนทนาดังกล่าวก็เริ่มต้นขึ้น… (บทสนทนานี้ก็ปรับเปลี่ยนตามสไตล์การเล่าของผู้เขียนเช่นกัน)

Continue reading “กราฟิกดีไซน์เนอร์ของวันพรุ่งนี้”

บันทึกไทยก้า (๒)

ตีพิมพ์ในนิตยสาร Computer Arts เดือนกันยายน 2553

มกราคม 2553…
ในที่สุดสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ก็ได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ที่ชื่อ โอภาส ลิมปิอังคนันต์ จากบริษัท ฟอนทอรี่ จำกัด
คุณโอภาสหรือที่ผมเรียกตามคุณสยาม อัตตริยะ ว่า “คุณฉี” ได้ทาบทามและรวบรวมผู้คนในวงการออกแบบกราฟิกและที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่เพื่อให้ไทยก้าได้เริ่มต้นก่อรูปก่อร่างอย่างจริงจัง วันนี้คณะทำงานมีบุคคลมากหน้าหลายตาขึ้น ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพการออกแบบกราฟิก ทำให้เกิดการยอมรับ สร้างชุดความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ

งานต่างๆ ในช่วงต้นเป็นงานที่นับเป็นของแสลงต่อนักออกแบบหลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย นั่นคืองานเอกสาร การปรับข้อบังคับ จดทะเบียนรายชื่อกรรมการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคมฯ คุณโอภาสกลับดำเนินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแข็งขันและดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับนายกคนใหม่ ไม่กี่เดือนผ่านไปของแสลงเหล่านี้ก็ถูกจัดการจนเรียบร้อย เบื้องต้นพวกเราพยายามจะสร้างบรรยากาศในวิชาชีพ ด้วยการสร้างกิจกรรมที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายหลายๆ ด้านที่กล่าวมาในเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่อีกหลายๆ เรื่องที่น่าจะทำควบคู่ไปกับกิจกรรมทั้งหลาย

แรกเริ่มมีแผนการเตรียมโครงการ 3 โครงการในปลายปีนี้ เช่น “โครงการกราฟิก ดี100” ที่จะรวบรวมผลงานที่ดีเด่น 100 ชิ้นในแต่ละปี จัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่เป็นนิทรรศการและหนังสือรวบรวมผลงาน “โครงการ แอบบอก ออกแบบ” ที่ต้องการนำผลงานออกแบบกราฟิกเข้าไปแทรกอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในลักษณะชักชวนให้เห็นบทบาทของมัน และ “โครงการฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย” ที่จะจัดเป็นปีที่ 2 แต่จะปรับเป็นลักษณะของงานประชุมทางความคิดเห็น ในหัวข้อ Somewhere Thai โดยแต่ละโครงการมีบริษัทออกแบบ 3 แห่ง ต่างเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยจัดทีมงานกันตามอิสระ แต่เวลาและเงินทุนยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคณะทำงานชุดนี้เช่นกัน …
แม้ว่าแต่ละโครงการจะเริ่มหาสถานที่จัดงานได้ และเริ่มมีทุนสนับสนุนบางส่วน แต่ก็ยังอีกไกลจากงบประมาณที่ประเมินกันไว้…

พฤษภาคม 2553
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น คณะทำงานได้หารือและทบทวนกิจกรรมต่างๆ ที่ไทยก้ากำลังเตรียมงานกันอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่หม่นหมอง เราหลายคนคิดตรงกันว่าเราอยากทำอะไรซักอย่างต่อส่วนรวม ด้วยสิ่งที่เราพอทำได้ ส่วนรวมที่หมายถึงใครก็ได้ที่ต้องการความร่วมมือจากเรา มองเห็นว่างานออกแบบกราฟิกสามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรซักอย่างได้…

สัญลักษณ์ของโครงการ GRAFIX ออกแบบโดย Concious (2553)

Continue reading “บันทึกไทยก้า (๒)”

เมื่อนักออกแบบกราฟิกฝันถึงสันติภาพ

 

Bookmark and Share


สันติ ลอรัชวี

พฤษภาคม 2553
เป็นหมุดปักทางความทรงจำอันใหม่ที่คนไทยส่วนใหญ่จะมีไว้ในหัวใจของตนเอง
อาจแตกต่างกันไปว่าแต่ละคนจะปักหมุดนั้นในมุมไหนและลึกลงไปเท่าใด…

หลังเหตุการณ์ตึงเครียดและสูญเสียคลี่คลายลง (อย่างน้อยก็ในเชิงสถานการณ์)
อาจสังเกตได้ชัดว่าเกิดกระแสความเคลื่อนไหวมากมายจากภาคส่วนต่างๆ
ของสังคมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แตกต่างกันไป แน่นอนว่าในแต่ละ
ความเคลื่อนไหวจะถูกใจและไม่ถูกใจผู้คนไปในขณะเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่
ความรู้สึกของผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น ที่มีหลายความเคลื่อนไหว
ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นหรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่แก่นแท้ของปัญหา

ในมุมหนึ่งของสังคม…
กลุ่มนักออกแบบกราฟิกที่เริ่มรวมตัวกันในนามสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
(ThaiGa) มีความคิดที่อยากจะทำอะไรซักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
จึงแสดงตัวออกมาในโครงการอาสาที่ชื่อว่า “GRAFIX” Design Thailand
(www.thaiga.or.th/grafix) ที่รวบรวมนักออกแบบกราฟิกอาสาสมัคร
เตรียมพร้อมสำหรับทำงานออกแบบให้กับภาคส่วนต่างๆ
ที่ต้องการความช่วยเหลือในงานสร้างสรรค์อันเกี่ยวเนื่องมาจากสถานการณ์

หลายคนอาจมองว่างานออกแบบอาจยังไม่จำเป็น…
หลายคนอาจมองว่าโครงการนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จ
ในแง่ของการเข้าถึงปัญหา…
หลายคนอาจมองว่าโครงการนี้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์…
และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีอีกหลายมุมมองต่อความเคลื่อนไหวนี้…

มุมมองข้างต้นน่าจะเป็นจริงได้ทุกข้อ…
ถ้าเรามองแยกว่างานออกแบบไม่ใช่เรื่องเดียวกับ
การใช้ชีวิตประจำวัน ความสำคัญและบทบาทของมันเองก็จะถูกลดทอน
คุณค่าลงจนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถช่วยไปมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาต่างๆ
ที่เป็นเรื่องสำคัญได้ ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างนั้น…
โครงการนี้ก็เห็นจะจริงที่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์วิชาชีพเท่านั้น…

แต่สำหรับนักออกแบบกราฟิกหลายคนไม่ได้มองความเคลื่อนไหวนี้ในแง่ของ
ความสำเร็จเชิงโครงการเท่านั้น นักออกแบบกราฟิกเป็นวิชาชีพที่มักได้รับ
โจทย์เชิงพาณิชย์ที่เคร่งครัดในการทำงานเสมอ จนคนส่วนใหญ่ว่านั่นคือ
บทบาทหน้าที่ของเขา นักออกแบบกราฟิกไม่จะเป็นต้องมีเสียงของตนเอง
เราลิปซิงค์ด้วยลีลาที่สวยงามและสอดคล้องกับเพลงก็พอ
ทั้งๆ ที่ในความคิดของนักออกแบบกราฟิกแต่ละคนย่อมจะมีสิ่งที่พวกเขารู้สึก
มีความเห็น มีเนื้อหาเฉพาะตน ที่อยากแสดงออกและนำเสนอสู่สังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่บ้านเมืองของพวกเขาประสบกับปัญหา…

Continue reading “เมื่อนักออกแบบกราฟิกฝันถึงสันติภาพ”

As I Am

Article from Catalogue of I am a Thai Graphic Designer™ Exhibition

.

Santi Lawrachawee Smallsize

.

หลายคนคงตั้งคำถามว่าการที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาบอกต่อสังคมว่า
พวกเขาเป็นใครนั้น… พวกเขาทำไปเพื่ออะไร แล้วจะมาบอกกล่าวกันทำไม
ทั้งทั้งที่คนจำนวนไม่น้อยก็รู้อยู่แล้วว่ามีอาชีพนี้อยู่ในสังคม

โครงการนี้เริ่มต้นจากสังคมเล็กๆ ในสำนักงานออกแบบแห่งหนึ่ง ที่ชักชวนกันในวง
แคบๆ แสดงสถานะบางอย่างออกไปบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์ ด้วยมุมมองเล็กๆ

ที่เกิดมาจากการประกอบวิชาชีพและแวดวงการเรียนการสอน เรามองร่วมกันว่า

นอกเหนือจากบทบาทที่ให้บริการงานออกแบบเพื่อเลี้ยงชีพอยู่นั้น ยังมีพื้นที่อื่นๆ

ในสังคมที่นักออกแบบกราฟิกสามารถมีส่วนร่วมและสร้างประโยชน์ให้กับ

พื้นที่นั้นๆ ได้อีก

บ่อยครั้งที่เรารับหน้าที่เป็นผู้คอยรับใช้ในการนำเสนอข้อสรุปจากนโยบายบริหาร

จนทำให้เรายึดถือเป็นสถานะที่แท้จริงของเรา แล้วก็บ่อยครั้งที่เราพบว่าเรามักจะถูก

จำกัดคุณภาพของผลงานจากข้อสรุปหรือพวกเราเรียกมันให้ดูดีว่าโจทย์

จึงทำให้หลายครั้งที่เราคิดว่าคงจะดีไม่น้อย
ถ้าเรามีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์นั้นๆ

ดังนั้นการชูป้ายของเราในกลุ่มเล็กผ่านสังคมออนไลน์ จึงเป็นเพียงแค่การแสดงออก

ไปว่า“ ‘ฉันคือใคร’ ‘ฉันทำอาชีพอะไรและฉันมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ฉันทำ’ ”

โดยคาดหวังการตอบสนองเพียงแค่ให้คนที่เห็น รับรู้ถึงการดำรงอยู่และมีท่าทีกับมัน

ดังนั้นท่าทีของแต่ละคนที่พบเห็นการแสดงออกของพวกเราย่อมแตกต่างระดับกัน
ตั้งแต่การมองผ่านเลย การมองเป็นเรื่องสนุกขำขัน การตั้งคำถาม และการให้ร่วมมือ

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพบเห็นการแสดงออกเหล่านี้ในเบื้องต้นผ่านคนไม่กี่คน
ย่อมมีความแตกต่างทั้งเนื้อหาและพลังในการสื่อสาร

เมื่อเทียบกับความร่วมมือจำนวนมากผ่านเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

ผลงานที่ส่งเข้าร่วมมีมากกว่า 1,000 ผลงาน ท่าทีต่างๆ ที่ตอบสนองเข้ามานั้น
หลากหลายมากจนเราในฐานะกลุ่มคนเริ่มต้นก็ไม่สามารถตอบแทนทุกๆ คนได้ว่า
แต่ละคนต้องการนำเสนออะไร เรารู้แต่เพียงว่าการเข้าร่วมที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น
ทำให้ความหมายนั้นกว้างและคลุมเครือตามไปด้วย กิจกรรมนี้กำลังเติบโตด้วย

ตัวมันเองและมีพลังอย่างมากในการสื่อสารที่เป็นปัจเจกภายใต้เงื่อนไขร่วมกัน

ถ้าลองวิเคราะห์ผลงานทั้งหมดเราอาจจะพบเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น
การแสดงตัวตนอย่างเข้มแข็งถึงความเป็นนักออกแบบ,

การนำเสนอเอกลักษณ์ของกราฟิกแบบไทยและแบบไทยๆ,
การนำเสนอปัญหาหรือข้ออึดอัดในการเป็นนักออกแบบกราฟิก,

การแสดงจุดยืนในการเป็นนักออกแบบ,
การแสดงความสัมพันธ์กับนักออกแบบหรืองานออกแบบ, การแสดงความฝันหรือ

จุดมุ่งหมายที่จะประกอบอาชีพ, การแสดงบุคลิกเฉพาะ,
การมุ่งเสนอคุณภาพความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์และทักษะการออกแบบ,

การแสดงบทบาทผู้ชื่นชมหรือสนับสนุน, การร่วมสนุก ฯลฯ

การแสดงออกที่หลากหลายเหล่านี้ จะปรากฏสู่สาธารณะอีกครั้งในรูปแบบ

นิทรรศการและเป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ พื้นที่ในศูนย์การค้าใจกลางเมืองจะมี

นักออกแบบกราฟิกพันคนมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอว่า

“ ‘ฉันคือใคร’ ‘ฉันทำอาชีพอะไร’ และ ฉันมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ฉันทำ’ ”

ซึ่งเนื้อหาและวิธีการของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป

และเมื่อสังคม” (รวมนักออกแบบกราฟิกกันเองด้วย) ได้รับรู้แล้วว่า
“ ‘
เราคือใคร’ ‘เราทำอาชีพอะไรและเรามีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่เราทำ’ ”

จากนั้นสังคมจะมีท่าทีอย่างไรกับนักออกแบบกราฟิกและงานออกแบบกราฟิก

เพราะในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม วิชาชีพนี้ทำได้ตั้งแต่ร่วมคิดนโยบายจนถึง

การรับใช้ข้อสรุปของนโยบายนั้น ขึ้นอยู่กับว่า

สังคมเห็นคุณค่าและศักยภาพหรือไม่?” ถ้าคำตอบคือเห็นก็จะถามต่อว่า

สังคมใช้ประโยชน์จากศักยภาพนั้นได้คุ้ม(คุณ)ค่าหรือไม่”…
จากนั้นคงเป็นเรื่องของเราทุกคน.

English

Continue reading “As I Am”