Interview — Xspace Gallery
Talk with Artist
นักออกแบบผู้ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างศิลปะและกราฟิกดีไซน์ สันติ ลอรัชวี
ถ้าพูดถึงชื่อ สันติ ลอรัชวี คนรักงานกราฟิกดีไซน์คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะนักนักออกแบบกราฟิกชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอกราฟิกดีไซน์ แพรคทิเคิล (Practical Design Studio) ผลงานของเขามักจะเป็นการสำรวจความเป็นระบบภาษาของกราฟิกและไทโปกราฟี หรือการออกแบบตัวพิมพ์ เขามักจะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการสื่อสารและแสดงออกทางความคิดของเขา
ผลงานของสันติที่หลายคนน่าจะเคยคุ้นตาคืองานแบบปกหนังสือหลากหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นปกหนังสือชุด Wisdom Series อันประณีตงดงาม ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์ openbooks หรือปกหนังสือ มูซาชิ อันเรียบง่ายเฉียบคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานการออกแบบปกหนังสือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มาน เฮสเซ ฉบับภาษาไทย ที่ออกแบบและผลิตอย่างประณีต พิถีพิถัน และงดงามไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ โดยพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพียงแค่ 1,000 เล่ม และเปิดให้เข้าไปจับจองทางออนไลน์ ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์ด้วยการที่หนังสือถูกจองจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาแค่ 12 ชั่วโมง
สันติได้รับรางวัล Designer of the Year สาขาการออกแบบกราฟิกจากนิตยสาร Wallpaper* และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เขายังเป็นนักออกแบบกราฟฟิกชาวไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน Graphic Trial โครงการประจำปีที่สำรวจความก้าวหน้าด้านกราฟิกดีไซน์และการแสดงออกเกี่ยวกับศิลปะการพิมพ์ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Printing Museum ที่โตเกียว ในปี 2018
เขายังทำผลงานที่คาบเกี่ยวระหว่างพรมแดนของศิลปะและงานดีไซน์ ดังเช่นในผลงานชุด A State of Mind (2020) ที่สื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะจิตใจและความเป็นตัวตนผ่านกระบวนการทำงานกราฟิกดีไซน์อันซับซ้อนไปจนถึงเรียบง่ายในรูปแบบของงานโปสเตอร์ดีไซน์เชิงทดลอง ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์อันสลับซับซ้อน ทั้งรูปวงกลมและรัศมี ที่ดูนิ่ง สงบ สมดุล ไปสู่รูปที่สะท้อนสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เข้ามาปะทะ ทั้งใบหน้ายิ้ม โกรธขึ้ง ขึงขัง โดยตำแหน่งของรูปทรงเรขาคณิตที่แสดงถึงสภาวะอารมณ์เหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบระเบียบตามหลักตรรกะและคณิตศาสตร์ในงานกราฟิกดีไซน์
ด้วยความที่สันติกำลังจะเข้ามาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานใน Xspace เร็วๆ นี้ เราจึงถือโอกาสแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตนและผลงานของเขาให้อ่านกัน