(เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร art4d พ.ศ. 2560)
จากชุดบทความ The Evolution of Design Thinking ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกันยายน 2558 ที่โปรยหัวว่าความคิดเชิงออกแบบจะกลายเป็นศูนย์กลางของการวางกลยุทธ์ การสร้างนวัตกรรม และการจัดการทางวัฒนธรรมนั้น สร้างคำถามต่อผู้เขียนว่านักออกแบบจะมีบทบาทอย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่ว่านี้ อีกทั้งยังนึกสงสัยว่าในอนาคต “Designer” จะถูกจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตของเพียงการสร้างสรรค์เชิงกายภาพหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ต่อการเกิดขึ้นของคำเรียกผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการคิดเชิงออกแบบว่า “Design Thinker” รวมถึงการโต้แย้งกันที่เกิดขึ้นอย่างคำว่า “Design Thinking is Bullshit” จากนักออกแบบคนสำคัญ
อย่างไรก็ดี ลินดา ไนแมน ผู้ก่อตั้ง Creativity at Work ก็ยังให้คำจำกัดความที่ทำให้นักออกแบบอย่างผู้เขียนเชื่อว่านักออกแบบมีส่วนสำคัญต่อการคิดเชิงออกแบบ จากบทความในเว็บไซต์เธออธิบายว่า “การคิดเชิงออกแบบคือกระบวนวิธีที่เหล่านักออกแบบใช้ในการแก้ปัญหาและการแสวงหาวิธีหรือทางออกที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยแกนหลักไม่ใช่การเพ่งความสำคัญไปที่ปัญหา แต่เป็นทางออกในการแก้ปัญหา และการปฏิบัติที่จะนำไปสู่สิ่งที่คาดหวังมากกว่า การคิดเชิงออกแบบนี้ดำเนินไปด้วยการใช้ตรรกะ จินตนาการ ญาณทัศนะ และการให้เหตุผลที่เป็นระบบ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้และการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งจะเกิดผลดีกับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ในมุมมองของผู้เขียน คำจำกัดความนี้ให้เครดิตกับเหล่านักออกแบบไม่น้อย เนื่องจากมันได้สะท้อนว่ากระบวนวิธีที่นักออกแบบใช้ในการทำงานอยู่แล้วนั้นมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน
แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่?
คำถามที่ยากจะตอบเหล่านี้ชวนให้คิดถึงความเกี่ยวโยงของสถานะนักออกแบบกับกระแสความคิดเชิงออกแบบที่กำลังถูกนำเสนอกันอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา คงจะดีหากเริ่มที่ประโยคสะดุดหูของ จอห์น เฮสเก็ต (John Heskett) จากหนังสือ Design: A Very Short Introduction ที่เขียนว่า “Design is to Design to Produce a Design” เขากล่าวถึงนิยามของการออกแบบด้วยโวหารที่ชวนขบคิดโดยการใช้คำว่า “Design” สามคำที่มีความหมายที่ต่างกันในประโยคเดียว จะเห็นได้ว่า Design ที่นักออกแบบคนหนึ่งทำอาจเป็นเพียงคำใดคำหนึ่งในประโยคนี้ หรืออาจเป็นทั้งหมดสำหรับใครอีกคนเช่นกัน
ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงการออกแบบในฐานะผลลัพธ์หรือกระบวนการต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นกายภาพวัตถุ เช่น เราจะนึกถึงว่า แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ออกแบบอาคารบ้านเรือน / ชารล์ อีมส์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ / พอล แรนด์ ออกแบบโลโก้ เป็นต้น ผลงานออกแบบทั้งหลายอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จในความเป็นกายภาพวัตถุ และเป็นเหตุที่ผู้คนส่วนมากจะยึดโยงการออกแบบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทิม บราวน์ CEO ของบริษัท IDEO เขียนไว้ในบทความของเขาได้ชัดเจนว่าแรกเริ่มลูกค้ามักขอให้นักออกแบบสร้างสรรค์รูปร่างหน้าตาของสิ่งต่างๆ (Hardware) ต่อมาก็เริ่มให้สร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกของสิ่งที่ผู้บริโภคต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (Software) มาถึงปัจจุบันนักออกแบบก็เริ่มมีส่วนต่อการสร้างกลยุทธ์ให้กับองค์กรหรือสินค้า รวมถึงการมีส่วนต่อการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้คนอีกด้วย เขาสรุปว่าดีไซน์ในปัจจุบันคือการประยุกต์สิ่งต่างๆ ในฐานะระบบ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งหมดทำงานได้ดียิ่งขึ้น และนี่เป็นเส้นทางของการออกแบบที่ซับซ้อนและแยบยลยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา ซึ่งบราวน์หมายถึง “Design Thinking” นั่นเอง ในขณะที่เขาเรียกผลงานออกแบบที่เป็นกายภาพวัตถุว่า “Design Artifact”
มีนักคิดหลายคนที่เคยเสนอความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking ไว้แบบตรงบ้างอ้อมบ้าง เช่น สตีป จ๊อบส์เคยบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกแบบเพียงแค่ว่ามันหน้าตาอย่างไร ผู้คนคิดว่ามันเป็นเปลือกนอกแล้วบอกนักออกแบบว่า ช่วยทำให้มันดูดีหน่อย! ผมไม่คิดว่าดีไซน์เป็นเช่นนั้น มันไม่ใช่แค่ว่ามันมีดูและรู้สึกเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่มันทำงานอย่างไรต่างหาก” ในขณะที่ในหนังสือ Designerly Ways of Knowing ไนเจล ครอส เขียนยกให้การออกแบบเป็นหนึ่งในสามของศักยภาพเชิงสติปัญญาของมนุษย์เลยทีเดียว โดยอธิบายว่ามิติพื้นฐานทางการคิดทั้งสาม ได้แก่ ดีไซน์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ จะร่วมกันสร้างความสามารถทางการคิดอื่นๆ ของมนุษย์ได้อย่างไม่สิ้นสุด วิทยาศาตร์จะสำรวจความคล้ายคลึงของสิ่งทั้งหลายที่แตกต่างกัน ส่วนศิลปะจะสำรวจในทำนองกลับกัน ในขณะที่ดีไซน์จะสร้างองค์รวมที่ใช้งานได้ (Feasible Wholes) จากชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ (Infeasible Parts) ดังนั้นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีของพื้นฐานทั้งสามอย่างนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ทักษะการคิดอื่นๆ ได้ดีเช่นกัน
คำว่า “ใช้ได้ (Feasible)” ข้างต้นสามารถเชื่อมโยงไปสู่คำว่า “จุดมุ่งหมาย (Purpose)” ได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะใช้ในความหมายใด การวางแผน ตัวแผน การทำให้บรรลุ ล้วนแล้วแต่ต้องสัมพันธ์อยู่กับจุดมุ่งหมายหนึ่งๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่า “จุดมุ่งหมาย” คือหัวใจสำคัญของการออกแบบที่ทำให้แตกต่างออกจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟ แต่เราออกแบบมัน” (Nelson & Stolterman) ที่แสดงถึงเจตจำนงค์การคิดค้นวิธีการสร้างไฟเมื่อมีความต้องการหรือมีเป้าประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้การสร้างไฟเมื่อต้องการใช้งานแตกต่างจากการพบไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กิจกรรมการออกแบบนั้นถูกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 35,000 ปี จนมาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มกำกับชื่อเรียกของบทบาทหน้าที่ทางอาชีพของตนเอง จนเกิดกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “นักออกแบบ” ซึ่งในปัจจุบันวิชาชีพนักออกแบบถูกแบ่งให้แตกแขนงออกไปมากมาย ตามบริบทของทักษะและลักษณะงานที่ต่างกันออกไป โดยที่เว็บไซต์ designclassification.com ได้จัดประเภทของการออกแบบไว้ถึง 93 หมวดหมู่ ในการจัดลำดับและประเภทของการออกแบบในช่วงปี พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2559
กิจกรรมออกแบบนับเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อันเกิดขึ้นจากการสังเกต คิดค้น แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาจากสิ่งเดิม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตต่อตนเองและสภาพแวดล้อม การใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมถึงการตอบสนองด้านสุนทรียะ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ การออกแบบยังเป็นความสามารถในการจินตนาการสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มันเกี่ยวโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา เป็นศักยภาพที่สำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่ต้องการเป็นนักออกแบบเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนั้นๆ ด้วย ดังนั้นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อมนุษย์ล้วนเกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งนั้นจะเกิดจากธรรมชาติ การออกแบบมีศักยภาพในการสร้างความรู้ด้วยการบูรณาการความคิด (Thought/Thinking) กับการกระทำ (Action/Doing) หรือเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฎิบัติ บางคุณสมบัติของการออกแบบก็พบได้ในวิทยาศาสตร์ บางส่วนก็พบได้ในศิลปะเช่นกัน
หากพิจารณาคำจำกัดความเกี่ยวกับ Design Thinking ที่ว่าคือการสร้างนวัตกรรมด้วยการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered) แล้ว กล่าวได้ว่าในกระบวนการคิดเชิงออกแบบจำเป็นต้องมีความเอาใจใส่ (Empathy) ต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ยิ่งงานออกแบบมีผู้คนที่เกี่ยวข้องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความซับซ้อนและต้องการความเอาใจใส่มากเท่านั้น การออกแบบที่ปราศจากการเข้าใจว่าผู้อื่นเห็น รู้สึก และมีประสบการณ์อย่างไรต่อมัน ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้จุดหมาย
ดังนั้นการพยายามหาความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking อาจเป็นเรื่องปราศจากสาระ เช่นเดียวกับการจะเรียก Designer เป็น Design Thinker ซึ่งก็จะทำให้เกิดช่องว่างและการโต้เถียงกันต่อไปว่าอะไรดีกว่าอะไร หากมองในแง่บวกก็จะพบว่าบทบาทและศักยภาพของการออกแบบกำลังขยายตัวออกไปกว่าที่มันเคยเป็น หรือไม่ก็กว้างกว่าที่เราเคยรับรู้และเข้าใจ โดยมีเข็มทิศที่เรียกว่า “ความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น (Empathy)”
ในขณะที่โลกมองหรือเรียกร้องว่า…ดีไซน์นั้นมีขอบเขตและศักยภาพมากกว่าโลกดีไซน์เนอร์ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ จึงต้องกลับมาทบทวนว่า…เรามีทัศนคติต่อเป้าหมายในการออกแบบอย่างไร? ในการออกแบบเราเอาใจใส่ต่อเรื่องอะไรบ้าง ละเลยเรื่องอะไรบ้าง?มันคงไม่มีการออกแบบใดมีเพียงเป้าหมายเดียวโดดโดด แต่เราหาทางออกบรรลุเป้าหมายที่รวมความต้องการที่หลากหลายอยู่ได้อย่างไร มันดูเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น แต่เพราะมันยาก มันจึงสำคัญที่ต้องทำให้ออกมาง่าย นั่นคือดีไซน์
สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่นักออกแบบควร “เอาใจใส่”
สันติ ลอรัชวี