Gestalt 101 — Fool the eyes

สันติ ลอรัชวี

นิทานเซนเรื่องหนึ่งสอนว่า…
แรกเริ่ม…
มองแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ
มองภูเขาก็เป็นภูเขา
ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างเลย
แต่ต่อมา… จะมองเห็นว่า
แม่น้ำไม่ได้เป็นแม่น้ำ ภูเขาไม่เป็นภูเขา
แม่น้ำก็เป็นเพียงธาตุ ภูเขาก็เป็นธาตุ
แต่เมื่อผ่านชีวิตมากขึ้น…
กลับมามองเห็นแม่น้ำนั้นก็เป็นแม่น้ำ
ภูเขาก็เป็นภูเขาดังเดิม

Heraclitus นักปรัชญากรีกโบราณยังกล่าวไว้ว่า
ไม่มีใครที่ก้าวลงแม่น้ำสายเดิมได้เป็นครั้งที่สอง
เหตุเพราะแม่น้ำนั้นไม่ใช่สายเดิม คนๆ นั้น ก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป
ไม่ว่าแม่น้ำหรือบุคคลก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

เมื่อเรายืนอยู่ชั้นบนของอาคารสูงแล้วมองออกไป…
เห็นตึกรามบ้านช่อง ต้นไม้ และท้องฟ้า
ในทางทฤษฎีอาจกล่าวได้ว่าเราเห็นค่าความสว่างของแสงและความต่างของสี
แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเห็นค่าอะไรทั้งนั้น
เราเห็นมันเป็นรูปทรงรูปร่างที่ทำให้เราเข้าใจว่ามันคืออะไร
หรือบ้างครั้งเราก็มองเห็นภาพรวมๆ นั้นเป็นฉากของเมือง
อาจมีตึกบางตึกที่ทำให้เราบอกได้ว่านี่คือกรุงเทพฯ ที่เรารู้จัก

เวลาที่เราฟังเพลง…
เราก็ไม่ได้ใส่ใจแยกแยะหรือรับรู้ว่ากำลังได้ยินเสียงแต่ละโน้ต
กำลังเรียงตัวกันสลับกันไปมาบ้าง ดังขึ้นพร้อมกันบ้าง ยกเสียงสูงขึ้นลงต่ำอย่างไร
แต่เราได้ยินเป็นท่วงทำนองดนตรี ไพเราะหรือไม่คงขึ้นอยู่กับคุณ

ที่กล่าวมา… มันน่าสนใจอย่างไร

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19
นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย Christian von Ehrenfels
เคยตั้งถามน่าสนใจว่า “เรารับรู้ทำนองดนตรีได้อย่างไร?”
“อะไรที่อยู่ในความคิดของเราขณะกำลังได้ยินท่วงทำนอง?”
เมโลดี้คือลำดับของโทนเสียง เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่างกัน
หูของเรารวบรวมการสั่นสะเทือนเหล่านี้แปลงเป็นกระแสไฟฟ้าและส่งต่อไปยังสมองของเรา
โน้ตเหล่านี้ได้รับการตัดเย็บในรูปแบบเฉพาะของความสัมพันธ์ระหว่างโน้ต จังหวะ และความสอดประสาน ท่วงทำนองนั้นถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของเรา เป็นทำนองที่เราสามารถจำได้ในอนาคต

Ehrenfels เริ่มศึกษาจากงานของนักวิทยาศาสตร์ Ernst Mach ที่ชื่อ “Contributions to analysis sensation” ซึ่ง Mach เสนอว่าเวลาเราเห็นเส้นตรงสามเส้นที่เชื่อมต่อกัน
นอกเหนือไปจากความรู้สึกพื้นฐานของที่เห็นเป็นเส้นสามเส้นแล้ว
เรายังรู้สึกถึง “รูปร่าง – รูปแบบ (shape-form)” ไปในขณะเดียวกันด้วย (เช่นรูปทรงสามเหลี่ยม)
เขาขยายความคิดนี้ไปในด้านรูปแบบที่เกี่ยวกับเวลา (time-forms) เช่นกัน
และเสนอว่าการที่เรารับรู้ทำนอง อาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้นเมื่อเราได้ยินโน้ตแต่ละตัว เราก็ตระหนักถึงเสียงทั้งหมดที่ได้ยินด้วย

แต่ Ehrenfels พบข้อขัดแย้งที่สำคัญว่า
เราสามารถ “รับรู้” สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันตรงหน้าเท่านั้น
ในขณะที่เราไม่เห็นภาพที่เกิดขึ้นแล้ว
เราไม่สามารถได้ยินเสียงที่ได้เล่นไปแล้ว
เมโลดี้จึงต้องการเวลาในการเปิดเผยลำดับของมัน
เพื่อให้เมโลดี้ชุดหนึ่งเมคเซนซ์สำหรับเรา

เราจำต้องพึ่งพาความทรงจำของเราอย่างน้อยสองสามโน้ตครั้งที่ได้ยินก่อนหน้า
ไม่เช่นนั้น ทุกเพลงที่จบลงในระดับเสียงเดียวกัน จะได้ยินเหมือนกัน
เมื่อคุณจำเพลงได้ คุณจะจดจำรูปแบบโดยรวมของมัน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกที่แม่นยำ
การรับรู้ของเราจึงต้องมีอย่างอื่นมาช่วย
Ehrenfels เสนอว่า สิ่งนี้คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างโน้ต” ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนโดดเด่น
เป็นทั้งความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (spatial) อันได้แก่
— ช่วงว่างระหว่างโน้ต (Interval)
— ความสัมพันธ์ชั่วขณะ (temporal) ได้แก่ จังหวะ (rhythm)
— ความสัมพันธ์เชิงสอดประสาน (harmonic) ได้แก่ โทนเสียง (timbre)
หรืออาจมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนไปได้มากกว่านั้น
สำหรับ Ehrenfels เป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามว่าทำไม
เรายังคงจดจำท่วงทำนองได้ แม้จะได้ยินเพลงนี้ในคีย์อื่น
นั่นคือเราจะเก็บข้อมูลเชิงความสัมพันธ์มากกว่าที่จะระบุโน้ตตัวนั้นๆ

Ehrenfels เสนอว่า ท่วงทำนองรวม คือ บางสิ่งที่มากไปกว่าผลรวมของส่วนดนตรีแต่ละส่วนในเพลง
เขาอธิบายถึงเวลามีเมโลดี้หนึ่งชุดถูกเล่น กับแค่เล่นโน้ตทีละตัว ไปยังกลุ่มคนที่แตกต่างกัน

เขาตั้งคำถามว่า… มีความแตกต่างในการทำความเข้าใจต่อทำนองเพลง
ระหว่างกลุ่มที่ได้ยินหนึ่งแค่เพียงทีละโน้ต
กับกลุ่มคนที่ได้ยินทำนองทั้งหมดหรือไม่?
จากคำตอบจะเห็นได้ชัดว่าคนที่ได้ฟังทำนองทั้งหมดจะต้องได้รับสิ่งอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
นอกเหนือจากส่วนของดนตรี สิ่งที่พวกเขารู้สึกไม่เพียงแค่โน้ตแต่ละตัวที่ถูกเล่นออกมา
แต่ยังรวมถึงสิ่งแฝงที่ได้รับด้วย

Ehrenfels เรียกสิ่งนี้ว่า Gestaltqualitäten ของเมโลดี้ หรือ “Gestalt quality”
Gestalt เป็นคำภาษาเยอรมัน คำนี้ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดของความเป็นทั้งหมด (whole), การเชื่อมโยงกัน (coherence), ความสมบูรณ์ (completeness) รวมถึง ชุดของความสัมพันธ์, การกำหนดค่าเฉพาะ, รูปแบบ, รูปร่าง, …

เขาจึงเป็นเสมือนผู้บอกใบ้ถึงคุณสมบัติของ gestalt ไว้ว่ามันอาจเป็นสิ่งที่ก่อร่างสร้างการรับรู้ทุกชนิด
นี่คือคุณสมบัติพิเศษสำหรับทำนองที่ไม่ได้เกิดจากการรวมเสียง
และยิ่งไปกว่านั้น… ถ้าเรารับรู้จดจำทำนองในแบบไม่ได้เป็นข้อมูลดิบ
แต่เป็นชุดของความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกัน

วันหยุดในฤดูใบไม้ร่วงปี 2453
นักจิตวิทยา Max Wertheimer เดินทางโดยรถไฟผ่านทางใต้ของเยอรมนี
ระหว่างทางที่รถไฟถูกขวางให้หยุดโดยป้ายข้ามทางรถไฟ
ลำดับของแสงไฟบนป้าย“ ขยับ” ส่องสว่างทีละจุดตามแนวเส้นที่ชัดเจน
คล้ายกับแสงไฟรอบๆ ป้ายโรงละคร
เขาถามตัวเองว่า… ทำไมเราถึงเห็นความเคลื่อนไหวเมื่อหลอดไฟแต่ละดวงหยุดนิ่ง
ไฟแต่ละดวงจะสว่างทีละครั้งในลำดับที่แน่นอน
มันเป็นภาพลวงตาหรือไม่? เราถูกหลอกหรือไม่
หรือเรารับรู้การเคลื่อนไหวโดยตรงเลยกันแน่

Wertheimer ศึกษาการเคลื่อนไหวในฐานะสิ่งที่รับรู้ได้
เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของต่างๆ
และการสืบค้นของเขาก็เป็นเวลาที่ประจวบเหมาะเหลือเกิน ณ ตอนนั้น
ขณะนั้นภาพเคลื่อนไหว หรือ ภาพยนตร์ เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประกอบกับการรับรู้ภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในสมอง, การรวมกันของสารตกค้างจากการมองเห็น, ข้อผิดพลาดทางกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตา, การตัดสินที่ลวงตาหรือมันเป็นเพียงแค่การรับรู้ที่ผิดปกติ

อริสโตเติลได้รับเครดิตในการอธิบายปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกว่า
หลังจากจ้องมองไปสักพักที่น้ำตกที่กำลังไหลลง
หากเราลองปรับสายตาไปจ้องมองก้อนหินบนชายฝั่งแทน
หินจากนั้นก็ปรากฏขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ที่จะเลื่อนขึ้น

Wertheimer แสดงการสาธิตโดยใช้ภาพลายเส้นที่ขดเป็นเกลียว (spiral)
เมื่อกราฟิกที่คงที่นี้ถูกตั้งค่าในการเคลื่อนไหวให้หมุนวน
จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างของการเคลื่อนไหวภายใน เส้นขดดูแน่นตึงขึ้น
ดูเหมือนว่ามันจะเล็กลงเรื่อย ๆ
ขนาดและรูปร่างของเกลียวไม่เปลี่ยนแปลง
ความรู้สึกเคลื่อนไหวการหดเกร็งนี้เป็นปรากฏการณ์บริสุทธิ์
  
หากลองทำให้เส้นมีความหนาไม่เท่ากัน โดยให้ปลายเส้นด้านนอกบางลงจนเรียวแหลม
เส้นจะปรากฏการณ์เคลื่อนที่จากด้านนอกของรูปไปยังด้านใน
ถึงแม้ว่าเกลียวหมุนเพียงในวงกลม
เอฟเฟกต์ที่เด่นชัดนี้ ชี้ให้เห็นว่ามันสำคัญกว่าการเคลื่อนไหวที่แท้จริง (การหมุน)
จนดูเหมือนว่าเป็นจังหวะหมุนวนลงท่อระบายน้ำ

และเมื่อเกลียวหยุดหมุน
และการหดตัวของการเคลื่อนไหวจะหยุดชะงักลง

Whole เป็นอะไรที่ไปมากกว่าผลรวมของ parts หรือไม่?
เรารับรู้โลกที่ถูกจัดการให้เป็นภาพรวม ไม่ได้รับรู้เป็นส่วนย่อยๆ
ภาพรวมจึงเป็นเหมือนการรับรู้ขั้นพื้นฐานของเรา ดังนั้น
พวกมันไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกหรือประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกพื้นฐาน
ดังนั้น Whole จึงไม่ได้สำคัญหรือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าผมส่วนของส่วนต่างๆ
เพียงแต่มันเรียบง่ายและแยกตัวเองออกจากผลรวมนั้น

แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีเกสตัลท์
การรับรู้ของมนุษย์มีคุณสมบัติหลักหลายประการที่ก่อให้เกิดกฏการรับรู้ของ Gestalt
สามารถจำแนกแนวคิดพื้นฐานการรับรู้ได้ 4 ประการ ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราสามารถรับรู้หรือตีความภาพที่เห็นได้หลายแบบ มนุษย์จึงมีการจัดระเบียบการรับรู้ของตนเองให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขีดจำกัดและประสบการณ์เดิม แนวคิดเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อการศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ ได้แก่

การรับรู้ถึงการปรากฏ EMERGENCE
The whole is identified before the parts (องค์รวมจะถูกรับรู้ก่อนหน่วยย่อย)
การปรากฏ (emergence) แปลโดยความหมายทั่วไป คือ กระบวนการปรากฎออกมาให้เห็น
(หลังจากสภาวะที่ยังไม่ได้เปิดเผย) หรือกระบวนการของการกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเด่นชัด

Emergence จึงเป็นการหยั่งรู้ภาพรวมที่ปรากฏขึ้นในความคิดทันที
เกิดจากการเทียบเคียงเค้าร่างเข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่
สำหรับบางคนหรือบางกรณีอาจต้องอาศัยการสังเกตหน่วยย่อยที่ปรากฏในภาพ
แล้วค่อยตีความโดยการเปรียบเทียบกับรูปทรงหรือรูปแบบที่ตนเองมีประสบการณ์
เพื่ออนุมานภาพรวมหนึ่งๆ ให้ปรากฏขึ้นมา

ขณะที่เรามองวัตถุหนึ่งๆ
เรามักจะมองหาเส้นรอบนอก (outline) หรือรูปร่างของวัตถุนั้น
จากนั้นเราจึงจับคู่รูปร่างนี้กับรูปทรงและวัตถุที่เรารับรู้อยู่เดิมแล้ว
ทันทีที่ W ปรากฏตัวขึ้นผ่านการจับคู่กับรูปแบบ เราก็จะเริ่มระบุ Ps ที่ประกอบรวมขึ้นเป็น W หนึ่งๆ ขึ้นมาได้

เมื่อเรากำลังออกแบบ/ประพันธ์ จึงควรระลึกไว้เสมอว่าผู้คนจะรับรู้องค์ประกอบต่างๆ
จากรูปแบบทั่วๆ ไปที่คุ้นเคยก่อน สิ่งที่เข้าได้ง่ายใจง่ายจึงสามารถสื่อสารได้เร็วกว่าสิ่งที่มีรายละเอียดและยากต่อการจำแนก-จดจำรูปร่าง (contour)

การรับรู้ถึงความเป็นรูปธรรม REIFICATION
OUR MIND FILLS IN THE GAPS (จิตใจของเราจะเติมความลงในช่องว่าง)
เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนถึงคำว่า Reificationใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 – 19 ตุลาคม 2560 โดยอ้างถึงบทนำหนังสือ Siam Mapped ของ ธงชัย วินิจจะกูล เกี่ยวกับรากคิดของการบอกว่าคตินามธรรมอย่าง “ความเป็นไทย” เปรียบเสมือน thing หรือสิ่งของเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ทัพพี ฝาชี ฯลฯ อันเป็นวัตถุธรรม ก็คือแนวคิด reification (คำนาม) จากคำกริยาว่า reify อันแปลว่า “To regard or treat (an abstraction) as if it had concrete or material existence.” (American Heritage Dictionary) กล่าวคือ “การถือหรือปฏิบัติต่อ (นามธรรม – โดยเฉพาะที่สัมพันธ์แนบเนื่องกับมนุษย์) ราวกับมันดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมหรือวัตถุธรรม” หรือนัยหนึ่ง reification ก็คือ thingification หรือการถือปฏิบัติต่อนามธรรมเสมือนมันเป็นวัตถุสิ่งของหรือ thing นั่นเอง

Reification จึงเป็นลักษณะของการรับรู้ต่อวัตถุในแง่ข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial information) มากกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง ในขณะที่เราพยายามจับคู่สิ่งที่เราเห็นกับรูปแบบคุ้นเคยที่เราจดจำ แม้จะไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามักจะเติมบางอย่างลงในช่องว่างของสิ่งที่เราคิดว่าเราควรเห็นเสมอ

Reification จึงเป็นการรับรู้ที่แปรเปลี่ยนจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีอยู่ในภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม
โดยถูกโน้มน้าวจากส่วนประกอบในภาพที่มีอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเป็นเบาะแส
จนกระตุ้นให้เราสร้างรูปธรรมขึ้นในความคิดได้

Reification จึงสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องนำเสนอรูปร่างที่สมบูรณ์เพื่อให้ผู้ชม/ผู้ฟังเห็นทั้งหมด
และเราสามารถแยกส่วนของรูปร่างนั้นๆ ออกได้
ตราบที่เราจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้เพียงพอต่อการจับคู่ทางความคิด (สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่รู้จัก)

การรับรู้หลายนัย MULTI-STABILITY
(ความคิดจะพยายามหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน)
คือแนวโน้มของการรับรู้ที่ไม่ชัดเจน เกิดการตีความที่โยกย้ายไปมาระหว่างทางเลือกที่มากกว่าหนึ่ง
วัตถุบางอย่างสามารถรับรู้ได้มากกว่าหนึ่งวิธี หากดูภาพตัวอย่างในส่วน figure/ground
จะพบว่าเป็นสิ่งที่คุณเคยเห็นมาก่อน เราสามารถมองเห็นใบหน้า 2 หน้า หรือเป็นแจกันก็ได้

แต่คุณจะไม่เห็นทั้งคู่ในการมองครั้งเดียว แต่จะกลับไปกลับมาระหว่างทางเลือกทั้งสอง
จะสังเกตได้ว่าคุณจะมีแนวโน้มที่จะรับรู้ภาพหนึ่งชัดกว่าอีกภาพ บางคนเห็นแจกัน บางคนเห็นใบหน้าก่อน

กล่าวได้ว่า Multi-stability คือการรับรู้ภาพที่เห็นได้หลากหลายรูปแบบ
แต่เราอาจไม่สามารถประมวลรูปแบบที่ได้จากภาพพร้อมๆ กัน
โดยจะสามารถตีความได้ทีละรูปแบบเท่านั้น

ในการออกแบบ หากคุณต้องการเปลี่ยนการรับรู้ของใครบางคน อย่าพยายามเปลี่ยนทุกอย่างทันที
แต่ให้ค้นหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาเห็นทางเลือกอื่นๆ จากนั้นพยายามเสริมความแข็งแรงให้กับมุมมองทางเลือกนั้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มุมมองหลักเบาหรือชัดเจนน้อยลง การรับรู้ก็จะสามารถเปลี่ยนขั้วได้

การรับรู้ที่ไม่แปรปรวน INVARIANCE
(เรารับรู้ถึงความคล้ายและความต่างได้เป็นอย่างดี)
Invariance เป็นคุณสมบัติการรับรู้ต่อรูปร่างของสิ่งๆ หนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนไป
แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงของทัศนียภาพการมองเห็นก็ตาม
ทั้งในแง่ทิศทางหรือการย่อขยาย เช่น การหมุนตัว (rotation) ขนาด (scale)
การย้ายตำแหน่ง (relocation)
หรือ การเปลี่ยนมุมมองทางการมอง (sight deformation) เป็นต้น
เนื่องจากเรามักพบวัตถุจากมุมมองที่แตกต่างกัน
เราจึงพัฒนาความสามารถในการจดจำวัตถุเหล่านั้นแม้จะมีลักษณะรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันก็ตาม

เกสตัลท์กับการออกแบบ
หากกล่าวถึงหลักการเกี่ยวกับการออกแบบ มันมักเริ่มต้นด้วยหลักการเกสตัลท์
เพราะหลักการออกแบบที่ตามมานั้น จะเกี่ยวโยงกับทฤษฎีเกสตัลท์ทางใดทางหนึ่ง
และนี่คือคำแนะนำผ่านทฤษฎีและคำจำกัดพื้นฐานของหลักการเกสตัลท์

คํา􏰂ว่า เก􏰁สตัลท์ (Gestalt) ในรากภา􏰀ษาเยอรมัน 􏰄หมายถึง รูปแบบ (form) หรือ รูปทรง (shape) อันมีผลต่อความคิดและการรับรู้ของมนุษย์
“ทั้งหมดเป็นมากกว่าผลรวมของชิ้นส่วนต่างๆ” (The whole is other than the sum of the parts. – Kurt Koffka) ข้อความสั้นๆ ข้างต้นเป็นเหมือนการสรุปใจความของเกสตัลท์
เมื่อมนุษย์มองเห็นกลุ่มของสิ่งต่างๆ เรามักจะรับรู้ภาพรวมก่อนที่จะเห็นวัตถุแต่ละชิ้น
เราจะเห็น W (whole) มากกว่าผลรวมของ Ps (parts) แม้ว่าชิ้นส่วนจะแยกจากกันโดยสิ้นเชิง
เราก็จะจัดกลุ่มจนมองเห็นทั้งหมดได้เสมอ

Gestalt กลายมาเป็นศูนย์กลางของการออกแบบในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา (และน่าจะยังคงเป็นต่อไป)
เมื่อการออกแบบคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างภาพ (visual forms) ที่แตกต่างกันอย่างตั้งใจ
การสังเคราะห์สิ่งที่ต้องคิดถึงผลที่ตามมาจากการบรรจุและนำพาความหมายของกราฟิก
จึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม

เราอาจคุ้นเคยกับภาพสองนัยของแจกันที่มีสองใบหน้า
มันถูกอธิบายครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาชาวเดนมาร์ก Edgar Rubin ในปี 1915
ที่ช่วยเปิดเผยว่าสมองของเราแยกแยะรูปร่าง (figure) และพื้นหลัง (ground) ออกจากกันอย่างชัดเจน
รูปแบบ positive ของแจกันยึดโยงอยู่กับพื้นที่ negative ของเงาดำที่เป็นใบหน้ามนุษย์สองคน
เมื่อมองภาพจะปรากฏเป็นแจกันเป็นอันดับแรก
แต่เมื่อความสนใจถูกเลื่อนไปที่ช่องว่าง ภาพใบหน้าคนทั้งสองด้านก็จะปรากฏขึ้น

ความสัมพันธ์ของ figure และ ground กลายเป็นความคลุมเครือและมีรูปแบบพลิกกลับไปกลับมา
ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติในการรับรู้ของเราเอง
การพลิกแจกันกลับเป็นใบหน้าถูกทำโดยการจัดวางอย่างพิถีพิถัน (การออกแบบ)
จนเป็นรูปแบบกราฟิกที่แม่นยำ ทั้งการกำกับช่องว่าง ความสมดุล รูปร่าง
เส้นสายของทั้ง positive–negative ได้รับการจัดการให้เกิดความเสมอภาคต่อการมองเห็นต่อความเป็นไปได้ทั้งสองนี้ จนกลายเป็นคุณสมบัติและทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการออกแบบกราฟิก

เก􏰁สตัลท์ จึงเป็นหลักการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อนักออกแบบกราฟิก ไม่ว่านิยาม บทบาท และขอบเขตของการออกแบบกราฟิกจะปรับเปลี่ยนหรือขยับขยายไปตามยุคสมัยอย่างไรก็ตาม

Leave a comment