สันติวิธี ที่ ๑

หนังสือรวมบทความ โดย สันติ ลอรัชวี
จัดพิมพ์ โดย คัดสรรดีมาก
บรรณาธิการและออกแบบปก – อนุทิน วงศ์สรรคกร
กองบรรณาธิการ – กรดา ศรีทองเกิด
รูปเล่มและศิลปกรรม – ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม
ภาพหนังสือโดย คัดสรรดีมาก

คำนำผู้เขียน
Give me your story, I’ll give you mine.

ครั้งหนึ่งคุณพิชญา ศุภวานิช ชักชวนให้ผมร่วมแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการที่เธอเป็นภัณฑรักษ์ นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า สถานพักตากอากาศ (Resort) ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่พยายามจะขยายความหมายของการพัก ท่ามกลางบรรยากาศรอบตัวเราที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในที่พักอาศัยที่ไม่ใช่แค่ก้อนสถาปัตยกรรม แต่เป็นสถานที่ที่ถูกค้นพบคุณค่าอันแท้จริงของการใช้ชีวิตอยู่ เธอถามถึงรีสอร์ตแบบของผม ซึ่งท้ายที่สุดคำตอบของผมก็ปรากฏอยู่ในสูจิบัตรนิทรรศการว่า “รีสอร์ตสำหรับผมในบางครั้ง ไม่ได้สัมพันธ์กับสถานที่ หลักแหล่ง หรือเวลา หากแต่เชื่อมโยงกับการที่เราได้ถ่ายเทอะไรบางสิ่งในความคิด ความรู้สึกของเราไปกักเก็บไว้ยังอีกพื้นที่หนึ่ง มันมีความย้อนแย้งในการตัดสินใจว่า… เราอยากจะจดจำสิ่งเหล่านั้น หรือจริงๆ แล้วเราอยากจะลืมมัน มันคงมีอะไรที่คล้ายคลึงกับการจดบันทึกประจำวัน หากแต่คำว่า ‘บันทึก’ ก็คงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ตรงนัก ผมจำลองบรรยากาศส่วนตัวนี้ผ่านเล่มหนังสือที่มีความหนาราว ๙๐ ซม. เจาะรูตรงกลางเล่มทะลุตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ติดตั้งฝังเข้าไปที่ผนังในระดับปากที่ผู้ชมสามารถบอกเล่าอะไรบางอย่างกับมัน และหวังว่ามันคงจะหนาและลึกพอที่จะแบ่งปันพื้นที่ว่างสำหรับผู้ชมที่อยากจะฝากบางสิ่งไว้” ผลงานชิ้นนี้ติดตั้งพร้อมกับบทสนทนาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง In the mood for love ของ หว่อง คาร์ ไว ที่โจวมู่หวันคุยกับอาปิงว่า “ในอดีต..หากมีความลับที่ไม่ต้องการบอกใคร ใครบางคนมักจะไปที่ภูเขาเพื่อหาต้นไม้สักต้นที่มีรู แล้วกระซิบความลับเหล่านั้นเข้าไป จากนั้นก็ปิดรูนั้นด้วยดินโคลนเพื่อปล่อยให้ความลับคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์”

หนังสือที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เป็นการรวบรวมบันทึกความคิดส่วนตัวจากช่วงเวลาสิบกว่าปี (แน่นอนที่สุดว่ามันไม่ได้เป็นความลับ) หลายเรื่องบางมุมมองก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สันติบางคนก็ดูเป็นสันติอีกคนที่ไม่คุ้นเคย สันติบางคนก็ดูน่าขัน ส่วนบางคนก็ทำให้นึกทึ่งในเรี่ยวแรง และบางทีก็นึกถึงและอยากพบเจอสันติคนเดิมๆ อีกครั้งเพื่อนั่งสนทนากัน ส่วนสันติคนปัจจุบันนี้อยากขอบคุณสันติทุกคนที่ทำให้บันทึกนี้มีความหนาพอรวมเข้าเป็นเล่ม ส่วนตัวแล้วหนังสือเล่มนี้บรรจุความทรงจำของผมมากมายที่อยู่นอกอาณาเขตของตัวหนังสือ ยังมีเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำ และบุคคลที่แวดล้อมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมรู้สึกเกรงใจผู้อ่าน และได้แต่หวังว่าบางส่วนจากข้อเขียนเหล่านี้จะพอทำให้เกิดสิ่งเล็กเล็กน้อยน้อยที่จะมีประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง “สันติ’s วิธีที่ 1” ย่อมไม่ใช่สันติวิธี (peaceful means) หากเป็นแค่วิธีของหลายๆ สันติที่ถูกบันทึกผ่านสถานพักตากอากาศเล่มนี้ และในฐานะตัวแทนของสันติทุกคนใคร่ขอกล่าวขอบคุณและขออภัย รวมถึงขอรับความผิดพลาดทั้งหลายมา ณ โอกาสนี้

ผมคิดว่าสิ่งที่โจวมู่หวันพูดถึงในภาพยนตร์มีบางอย่างคล้ายคลึงกับการเขียนบันทึกสิ่งต่างๆ ในสมุดบันทึก แม้มันจะไม่ใช่ความลับไปซะทุกเรื่องก็ตาม หากในแต่ละครั้งที่เราได้ผ่านหรือรับรู้เหตุการณ์มากมาย สิ่งที่เราคิดและรู้สึกมักทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ผมไม่อาจเรียกได้ว่ามันทำให้เราเติบโตขึ้น หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น หากจะเรียกสิ่งที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็คงกล่าวได้เพียงว่า ‘นี่คือบันทึกความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมกับสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่แวดล้อมตัวผมเท่านั้นเอง’

คำนิยม โดย ผศ. ปิยลักษณ์ เบญจดล

ยินดีมากที่สันติเอ่ยปากว่าอยากให้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือเล่มแรกของเขา เนื่องด้วยเพราะชื่นชมผลงานส่วนตัวของเขาและแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอมานาน ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสเขียนงานในรูปแบบของ design critics ก็อยากจะนำผลงานหลายชิ้นของสันติและบริษัทมาเขียนถึง แม้ทุกวันนี้โอกาสเช่นนั้นจะยังไม่เกิดขึ้น แต่การเขียนคำนิยมนี้ก็ทำให้ได้ระลึกถึงผลงานที่น่าสนใจของสันติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและได้ทราบความเป็นไปของชีวิตส่วนตัว แม้ว่าสันติจะเอ่ยชวนให้เขียนในฐานะอาจารย์ แต่ก็กล่าวได้เต็มปากว่าทุกวันนี้สันติเป็น “เพื่อน” คนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ

ยังจำพุดดิ้งทำจากน้ำเต้าหู้ที่มีรสชาติหวานไม่มากและเนื้อสัมผัสอ่อนละมุนจากฝีมือของเขาได้ดี รับรู้ได้ว่าเขาตั้งใจทำให้เป็นพิเศษเพราะการเปลี่ยนวัตถุดิบจากนมวัวเป็นน้ำเต้าหู้ทำให้ต้องทดลองปรับเปลี่ยนสูตรและวิธีการทำหลายครั้งกว่าจะลงตัว สำหรับสันติเอง เขาพบว่ากิจกรรมที่ได้ผ่อนคลายจากงานประจำนี้มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกับงานออกแบบอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือเขาตั้งใจที่จะปรับมันจนกระทั่งมั่นใจว่าเหมาะสมกับผู้เสพงานของเขาแล้วเท่านั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ได้ลิ้มชิมรสของมัน มั่นใจว่ากระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นกับงานออกแบบที่ผ่านสมองสองมือและจิตใจของเขาทุกชิ้นเช่นกัน

สันติละเอียดอ่อนกับการใช้ผัสสะทุกด้านในชีวิตประจำวันของเขาซึ่งการทำงานและไลฟ์สไตล์กลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก กล่าวได้ว่า สันติเป็นนักอ่าน (ตา) สันติเป็นนักดนตรีและนักฟังดนตรี (หู) สันติชื่นชอบน้ำหอม (จมูก) สันติชื่นชมรสชาติและกระบวนการสร้าง-เสพกาแฟ (จมูก ลิ้น) สันติเป็นนักเขียน (กาย ใจ) สันติเป็นนักออกแบบ (กาย ใจ) ฯลฯ แน่นอนว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเขาไม่ได้

แยกการใช้ผัสสะออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้ แต่โดยรวมแล้วใช้สมองควบคู่ไปกับจิตใจที่นำทางการใช้ชีวิตของเขาเสมอ และหากต้องนิยาม

เขาด้วยคำๆ หนึ่ง คำว่า “นักสื่อสาร” (ผ่านสารพัดสื่อที่เขาถนัด) อาจเหมาะสมสำหรับสันติก็ได้

ในฐานะอาจารย์ สันติมักเน้นย้ำกับนักศึกษาบ่อยครั้งว่าการตั้งคำถามสำคัญกว่าคำตอบ ชีวิตของเขาก็เช่นกัน ผลงานหลายชิ้นกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาส่งผ่านสื่อหลากหลายชนิดที่ถูกเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดี บทสนทนาระหว่างเขากับคนรอบข้างทั้งลูกค้า เพื่อนร่วมงาน นักศึกษา และเพื่อนฝูงจึงมักชวนให้นำมาขบคิดต่อเสมอๆ เชื่อว่าหลายคนตั้งใจหาโอกาสเพื่อนั่งคุยกับเขาในช่วงพักจากการทำงานโดยมีถ้วยกาแฟหรือแก้วเบียร์ช่วยเพิ่มอรรถรสของวงสนทนา ลีลาและทักษะการแสดงความคิดเห็นของสันติเฉียบคมเสมอซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาออกกำลังสมองด้วยการ go inside พื้นที่ในความคิดของตนเองตลอดเวลา ลิ้นชักข้อมูลของเขาจึงยังไม่เต็มและพร้อมที่จะถูกสลับสับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา

ในแต่ละช่วงจังหวะชีวิต ขอชื่นชมสันติในความกล้าหาญที่ตัดสินใจทำตามสัญชาตญาณของตนเองหลายครั้ง เขาหยุดรับงานจากลูกค้าถึงหกเดือนเพื่อทำงานออกแบบสำหรับแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก เขาเปิดกว้างกับทัศนคติในการทำงานเพื่อพาณิชย์

ควบคู่ไปกับการทำงานที่มีคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นความภาคภูมิใจในวิชาชีพนักออกแบบแทนมูลค่าตัวเงินมากมาย เขาปฏิเสธงานบางชิ้นที่สามัญสำนึกของตัวเองบอกว่า “ไม่ใช่” แม้ว่าจะเป็นงานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นเช่นนี้ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยให้สังคมยอมรับ เห็นศักยภาพ และให้คุณค่ากับวิชาชีพนี้มากขึ้นแม้จะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ณ วันนี้ น่าจะดำเนินไปตามร่างความคิดและความตั้งใจของเขาร่วมกับเบล กนกนุชตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้ง แพรคทิเคิลเป็นตัวอย่างของสตูดิโอออกแบบที่มีปรัชญาในการดำเนินงานที่แตกต่าง นอกจากนิยามในการออกแบบที่ว่า “design is relation” ซึ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นในกระบวนการออกแบบแล้ว แพรคทิเคิลยังเน้นการ

สนับสนุนซึ่งกันและกันให้สมาชิกทุกคนได้สร้างสรรค์งานทั้งงานส่วนรวมและงานส่วนตัวของแต่ละคน ความเชื่อที่ว่าแต่ละคนมีความ

แตกต่างและมีศักยภาพในการเติบโตโดยสามารถพัฒนาความเป็นปัจเจกควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของบริษัทได้ทำให้แพรคทิเคิลได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงเช่นในปัจจุบัน ไม่ว่าคำจำกัดความและบทบาทหน้าที่ของ “นักออกแบบกราฟิก” จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดในอนาคต เหล่าสมาชิกแพรคทิเคิลก็จะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขาได้ 

 การได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี Designer of the Year 2015 สาขา Graphic Design ในปีนี้ เชื่อว่าสันติมีความภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่าการมีโอกาสได้สนทนาใกล้ชิดกับบุคคลที่เขาชื่นชมยกย่องอย่างพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช ตามที่เขาอ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “ผมได้รางวัลสำคัญของชีวิตนักออกแบบไปแล้ว” แต่เชื่อเถอะ เขาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่นอน เขามี passion มากมายและพร้อมที่จะเผชิญข้อจำกัดหรือโจทย์ใดๆ ก็ตามที่จะผ่านเข้ามาให้ได้ขบคิดด้วยการปรุงใหม่ คิดตรงเส้นกรอบ และนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญ แอบหวังว่าเขาจะไม่หยุดสอนเพราะเขาใช้วิธีสอนให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อว่าทุกวันนี้ สันติเองก็ยังเรียนในฐานะนักออกแบบอยู่ทุกวัน

สันติเปิดเผยให้เราได้รู้ว่าในตอนเด็กเขาเกือบจะได้ชื่อว่า “สามารถ” ดังนั้นจึงหวังว่าเมื่อผู้อ่านได้ติดตามผลงานออกแบบถ้อยคำของเขา

ในหนังสือเล่มนี้แล้ว เราคงยอมรับตรงกันว่า “สันติ” กับ “สามารถ” เป็นคนคนเดียวกันแน่นอน ^_^

บทส่งท้าย โดย กนกนุช ศิลปวิศวกุล

หากเราเห็นภาชนะใสปิดฝาสุญญากาศได้รับการติดตั้งอย่างประณีตบรรจง บนพื้นที่แสดงงานที่ได้รับการจัดแสงอย่างพอเหมาะและสวยงาม ซึ่งแสงนั้นสาดส่องตรงเข้าไปในภาชนะใสปิดฝาที่บรรจุห้วงอากาศปริมาตรหนึ่ง

สิ่งที่เห็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

สิ่งที่เป็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่

สิ่งที่ใช่…อาจไม่ใช่สิ่งที่คิด

สิ่งที่คิด…อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น

ความย้อนแย้ง วนเวียน และหมุนเป็นวงจรชวนให้คิด สงสัย ตั้งคำถาม และชวนต่อยอดเหล่านี้เป็นเสน่ห์ในงานของอาจารย์ติ๊ก ผลงานแต่ละชิ้นมักจะมีมุมมองให้คิดและทำความเข้าใจ การมีพื้นที่ว่าง(อากาศ)ในผลงานของอาจารย์ติ๊ก มักทำให้คนได้ตกตะกอน ร่อนความคิด ประสบการณ์ และความทรงจำต่อสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตของแต่ละคนผ่านชิ้นงาน 

เมื่อบริบทเปลี่ยน ความหมายก็อาจเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ที่นำภาชนะใสที่ถูกบรรจุและปิดฝาสุญญากาศเหล่านี้ไปวาง และขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ที่พบเห็น ภาชนะเหล่านี้เมื่อถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ก็จะส่งผลต่อการรับรู้ที่ต่างออกไป ในวิถีการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับอาจารย์ติ๊กก็เช่นกัน การที่ได้มีประสบการณ์ตรงร่วมกับอาจารย์ ไม่ว่าในฐานะอาจารย์ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน พ่อ พี่ชาย หรือเพื่อน ตลอด ๑๕ ปีที่อาจารย์ติ๊กถือเป็นทั้งต้นแบบ(การทำให้เหมือน) เป็นทั้งคำถามปลายปิดและปลายเปิด(การทำให้ต่าง) และเปิดโอกาสให้ตนเองสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อยู่ตลอดเวลา ภาชนะเหล่านี้ไม่ได้ถูกติดตั้งให้อยู่สูงเกินกว่าที่ตาจะมองไปไม่ถึง ภาชนะบางชิ้นได้รับการติดตั้งให้อยู่ในระดับที่มือสามารถเอื้อมไปจับได้ บางชิ้นได้รับการติดตั้งอย่างใว้ใจและมั่นใจพอที่จะให้ผู้ชมสามารถเปิด-ปิดได้ บางชิ้นก็เปิดฝาทิ้งไว้ บางชิ้นแง้มฝาค้างเอาไว้ และบางชิ้นก็ปิดตาย

ภาชนะที่ใสอาจเป็นการเชื้อเชิญให้เรามองเข้าไปหาสิ่งที่อยู่ภายในและทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่อยู่ภายในอาจมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกด้วยเช่นกัน การที่เราเห็นแต่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างในภาชนะเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรอยู่ในนั้น สิ่งที่มีอยู่อาจเป็นนามธรรม อาจคือมวลของห้วงความคิด ชุดข้อมูล ชุดคำ หรือแม้กระทั่งอาจเป็นแค่อากาศหรือลมหายใจก็เป็นได้ การมีอยู่ในลักษณะความเป็นนามธรรมนี้จึงยิ่งทำให้มีความสนใจ พยายามทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ตั้งคำถาม พยายามหาคำตอบ และลองพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดตรงกับสิ่งที่เห็น ตรงกับสิ่งที่เป็น และเป็นสิ่งที่ใช่…หรือไม่

ข้อความบนปกหลัง โดย ณัฐพล โรจนรัตนางกูร

ถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ในความทรงจำได้เป็นกล่อง แยกหมวดหมู่ประเภทอย่างชัดเจน
และหยิบมาใช้ได้ตามต้องการ มันคงจะดีไม่น้อย
ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำสิ่งเหล่านั้นกับช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ติ๊ก
การได้พูดคุยกับอาจารย์ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือที่ไม่มีวันจบ
บทสนทนามักจะชวนให้ผมตั้งคำถามและโต้ตอบอยู่เสมอ
แม้กระทั่งชีวิตประจำวันที่เรามองเป็นเรื่องธรรมดา
(ผมยังไม่ลืมการชวนคิดของอาจารย์ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้ร่วมโต๊ะกันครั้งแรก)
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกล่องเก็บประสบการณ์อาจารย์ติ๊ก
คุณจะได้เห็นความสนใจ ความเปลี่ยนแปลงและข้อสังเกตในสิ่งรอบตัวของคนๆ หนึ่ง
ที่จะทำให้คุณได้ร่วมคิดกับสิ่งต่างๆ และอยากเก็บความคิดเหล่านั้นไว้เหมือนผม
อีกนัยหนึ่ง… หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นเหมือนการคิดทบทวนของตัวผู้เขียนเองด้วยเช่นกัน
ผมรู้สึกดีใจที่สามารถย้อนกลับเข้าไปทบทวนความคิด
ใน “กล่องความทรงจำของสันติเล่มนี้” ได้อีกครั้ง

 

Leave a comment