ศูนย์กลางอยู่ทุกหนแห่ง

บทความว่าด้วยการสำรวจตัวพิมพ์ไทยฉบับย่อ
โดย สันติ ลอรัชวี

หากย้อนกลับไปสำรวจแบบตัวพิมพ์ไทย ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ 
จะพบว่ากว่าหนึ่งร้อยปีที่การพิมพ์ในประเทศไทยได้ขาดช่วงไป
จนกระทั่งถึงช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕)
กระบวนการพิมพ์จึงได้กลับสู่เมืองไทย
ทำให้รูปแบบตัวอักษรไทยเกิดความก้าวหน้าขึ้นอีกครั้ง Continue reading “ศูนย์กลางอยู่ทุกหนแห่ง”

อ่านออก เขียนภาพ

โดย สันติ ลอรัชวี
(เอกสารประกอบเวิร์คช็อป Visual Literacy
จัดโดย PRACTICAL Design Studio, 7 ต.ค. 2560)

การอ่านภาพ (Visual Literacy)  อธิบายได้ว่าคือความสามารถในการเข้าใจและใช้ภาพ
รวมทั้งความสามารถในการคิด ในการเรียน และแสดงออกของตัวเองต่อภาพที่มองเห็น
ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ภาพ” เป็นสิ่งหนึ่งช่วยให้การสื่อสารสมบูรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อาจสรุปได้ว่าการอ่านภาพคือความสามารถทางด้านการมองเห็นของมนุษย์
และใช้ความสามารถนั้นในการจำแนกและแปลความหมาย
สิ่งที่มองเห็นเพื่อการติดต่อสื่อสารได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และมีสุนทรียภาพ

คำว่า Visual Literacy สามารถแยกแปลความหมายของคำนี้ได้คือ
“Visual” หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวกับจักษุประสาทหรือสิ่งที่ตามองเห็น
ซึ่งอาจเรียกรวมว่า “ภาพ” ก็ได้
“Literacy” หมายถึงความสามารถในการอ่านเขียนหรือการเรียนรู้

“การอ่านออกเขียนภาพ” จึงเป็นรูปแบบของการคิดที่สำคัญ
ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารเชิงภาพให้กับนักออกแบบ
การสื่อและรับสารทางสายตานั้นมีความผูกพันกับมนุษย์ก่อนจะมีภาษาพูดและเขียนด้วยซํ้า
ภาพเขียนในผนังถํ้า การสังเกตสีของผลไม้ พัฒนามาเป็นสัญลักษณ์สากลมากมายที่เราใช้กันในปัจจุบัน หากแต่มนุษย์เริ่มคิดผ่านอิทธิพลของ ภาษาหลังจากที่อารยธรรมด้านภาษาของเราวิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นภาษา (Linguistics) จึงเป็นระบบการสื่อสารที่มี อิทธิพลต่อมนุษย์ เราทั้งใช้มันในการคิด การรับรู้ และการแสดงออก ผ่านเงื่อนไขการเรียนรู้และการใช้งานในชีวิตประจำวัน จึงอาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารเชิงภาพจึงผูกติดอยู่กับการรับรู้ทางภาษาอย่างเหนียวแน่น Continue reading “อ่านออก เขียนภาพ”

Design is attitude

img_0628
Image: http://www.tm-research-archive.ch

Helmut Schmid เกิดในปี 1942 ณ ประเทศออสเตรียในฐานะพลเมืองเยอรมัน เขาศึกษาในสวิสเซอร์แลนด์ที่โรงเรียนออกแบบบาเซิลภายใต้การสอนของ Emil Ruder, Kurt Hauert และ Robert Buchler

เขาทำงานในเบอร์ลินตะวันตกและสตอกโฮล์ม (Grafisk Revy) ต่อมาที่มอนทรีออล (Ernst Roch Design) และแวนคูเวอร์ หลังจากนั้นเขาทำงานที่โอซาก้าให้ NIA (Taiho Pharmaceutical และ Sanyo) และในปี 1973-76 มาทำที่ ARE ในดัสเซลดอร์ฟเขาออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาลเยอรมนีและนายกรัฐมนตรี Willy Brandt และ Helmut Schmidt ออกแบบสัญลักษณ์การรณรงค์เลือกตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1976 และได้จัดแสดงนิทรรศการการออกแบบตัวอักษรเชิงการเมืองของเขา (politypographien) ที่ Print Gallery ในอัมสเตอร์ดัม จากนั้นหันมาเป็นนักออกแบบอิสระในโอซาก้าตั้งแต่ปี 1981 ได้รับเชิญเป็นสมาชิกของ AGI (Alliance Graphique Internationale) ตั้งแต่ปี 1988

เขาเป็นนักออกแบบและบรรณาธิการให้กับนิตยสาร idea (Seibundo Shinkosha, Tokyo 1980) ในฉบับ Typography Today และฉบับพิเศษของ Swiss TM (1973) เคยบรรยายในหัวข้อ Typography, seen and read ในซีอาน ประเทศจีน และมีผลงานออกแบบหนังสือ ได้แก่ the japan typography annual 1985, Takeo Desk Diary และ Hats for Jizo (Robundo, Tokyo 1988) และผลงานอื่นๆ อีกมาก ผลงานออกแบบของเขามีเอกลักษณ์ของการผสมผสานวิถีประเพณีของญี่ปุ่นกับความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก ยกตัวอย่างผลงานออกแบบชุดตัวอักษร katakana eru ของเขาที่เราจะเห็นมันบนบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่นแทบทุกชิ้น

หากแต่ผู้เขียนรู้จัก Helmut Schmid ผ่านหนังสือเพียงเล่มเดียวของเขา “gestaltung ist haltung” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า design is attitude แค่ชื่อหนังสือก็พาให้คิดไปได้เรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางในสายออกแบบเลยทีเดียว เขียนโดย Victor Malsy, Philipp Teufel และ Fjodor Gejko หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมเอกสารงานออกแบบของ schmid ตั้งแต่ปี 1961 จนถึงปีที่หนังสือออก (2007) ในเล่มรวบรวมทั้งพื้นฐานทางความคิดทางการออกแบบ กราฟิก ตัวอักษร ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ การอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างพิถีพิถันจึงสร้างบทสนทนาของตนเองขึ้นมาได้ สำหรับผู้เขียนนี่เป็นหนังสือด้านออกแบบอีกเล่ม (ในจำนวนไม่เกิน 10 เล่ม) ที่หยิบมาพลิกอ่านเวลามีคำถามในการงานของตนเอง

Wim Crouwel นักออกแบบกราฟิกระดับมาสเตอร์กล่าวถึง Schmid ไว้ว่า
“ผลงานไทโปกราฟีของเขามีจังหวะและท่วงทำนอง
มันถูกสร้างสรรค์ด้วยตา หากคล้ายดั่งโน้ตดนตรี”

วันที่ 2 กค. 2561
เนื่องด้วยการจากไปของนักออกแบบที่นับถืออีกท่านหนึ่ง
ผู้เขียนจึงขอบันทึกเพื่อระลึกถึงแนวคิดและความรู้ที่ได้ศึกษา
จากมาสเตอร์อีกท่านที่ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว

ด้วยความเคารพอย่างสูง
สันติ ลอรัชวี

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่
http://www.tm-research-archive.ch/interviews/helmut-schmid%E2%80%8A/

M.O.U. 201806001

ใครคนหนึ่งอาจอรรถาธิบายถึงน้ำ แต่ปากหาได้เปียก
ใครอีกคนหนึ่งอาจอธิบายอย่างเต็มที่กับลักษณะของไฟ แต่ปากก็หาได้ร้อนไม่

หากปราศจากการสัมผัสน้ำไฟจริง เราย่อมไม่อาจรู้ถึงมัน แม้จะอธิบายออกมาเป็นหนังสือทั้งเล่มก็ไม่ทำให้เข้าใจ เปรียบดั่งอาหารที่ถูกจำกัดความจนเห็นภาพออกรส แต่ก็ไม่บรรเทาความหิวของคนๆ หนึ่งได้

เราไม่อาจบรรลุความเข้าใจในสิ่งหนึ่งเพียงจากการอธิบายถึงมัน

ทาคุอัน โซโฮ, ปลดจิตปล่อยใจ (The unfettered mind), หน้า 16

One may explain water, but the mouth will not become wet. One may expound fully on the nature of fire, but the mouth will not become hot.

Without touching real water and real fire, one will not know these things. Even explaining a book will not make it understood. Food may be concisely definded, but that alone will not relieve one’s hunger.

One is not likely to achieve understanding from the explanation of another.

Takuan Soho, The unfettered mind, p.16

M.O.U. = Memorandum of understanding
รวบรวมความคิด บทสนทนา ภาพ หรือ เสียง ที่เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

ปฐมบทสู่หน้าว่างของการพิมพ์ไทย

A
คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ณห้องกระจกพระราชวังแวร์ชายวันที่ 1 กันยายน พ.. 2229

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกเหนือจากเรื่องราวแสนโรแมนติกของออกขุนศรีวิศาลวาจาและแม่การะเกด จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ยังมีหลักฐานอ้างอิงได้อีกว่า ในยุคนั้นการพิมพ์ในประเทศไทยกำลังสร้างปฐมบทขึ้น จากการเดินทางของคณะมิชชันนารีคาทอลิกจากฝรั่งเศสเข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ได้แต่ง แปล และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา เป็นภาษาไทยจำนวน ๒๖ เล่ม หนังสือไวยกรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม จากหนังสือ “หนึ่งรอยตัวเรียง” เขียนว่าการเข้ามาสอนศาสนาและวิชาการต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีตำราเรียนประกอบของสังฆราชลาโน อาจเป็นแรงจูงใจให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้พระโหราธิบดี จัดทำหนังสือ “จินดามณี” อันมีเนื้อหาว่าด้วยระเบียบของภาษาอักรวิธีเบื้องต้น และวิธีแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนแก่เข้าขุนมูลนายและสำนักเรียนในวัด ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกและสืบทอดต่อกันมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ น่าเสียดายที่หนังสือจินดามณีที่เขียนจากสมุดข่อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์คัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้จารวันเวลาที่เขียนเอาไว้ จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเล่มใดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคสมัยนี้ สังฆราชลาโนยังสร้างศาลาเรียนขึ้น ในพื้นที่พระราชทานที่ตำบลเกาะพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ตามบันทึกของ ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ว่า ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่าที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย. นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโนถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก…”

การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก จึงน่าจะเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงปิแอร์ ลังคลูอาส์ (Pierre Langrois) มีความคิดจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อพิมพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและแรงงานราคาถูก มีจดหมายไปทางฝรั่งเศสส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาเพื่อจะได้พิมพ์คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย ฟ. ฮีแลร์ อ้างจดหมายเหตุของบาทหลวงลังคลูอาส์ที่มีไปยังมิชชันนารีที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ว่า ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยแผ่พระศาสนาคฤศตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้วขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด, มิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆหนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา, เมืองคูอาและเมืองมะเกานั้น แม้จดหมายฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่า เครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาตามที่ขอหรือไม่ แต่ก็พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มิชชันนารีคริสตังมีความคิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนาซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ อันลงนามกันที่เมืองลพบุรี มีใจความสรุปโดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารี ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาและวิชาต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือประกอบการศึกษา

ในรัชสมัยนั้น พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า ๔๐ คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งนั้นคณะราชทูตได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส ที่โรงพิมพ์หลวงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยมีบันทึกไว้ว่าราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของมงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้ชมตั้งแต่การเรียงตัวพิมพ์ ได้ดูแท่นพิมพ์และกระบวนการพิมพ์ รวมถึงพระวิสูตรสุนทรได้ทดลองพิมพ์ด้วยตนเอง ได้รู้ถึงวิธีผสมหมึก วิธีทำกระดาษ วิธีการพิมพ์ วิธีพับกระดาษ การรวมเล่มและใส่ปกจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังได้ชมแม่ตัวหนังสือหลายชนิดหลายภาษา เป็นต้นว่า แม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่ง และภาษาอาหรับ จนราชทูตเห็นความเป็นไปได้ของการทำตัวหนังสือภาษาไทยในการเยี่ยมชมครั้งนั้น

ในยุคสมัยดังกล่าว เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้าในการออกแบบตัวอักษรในยุคบาโรก (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๒๙๓) คือการเป็นองค์อุปถัมป์อย่างเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีความสนใจทางการพิมพ์อย่างมาก รับสั่งให้มีการระดมบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวพิมพ์ใหม่ๆขึ้น เน้นการเขียนแบบตามหลักคณิตศาสตร์ ใช้ระบบกริดมากกว่าแนวทางอักษรประดิษฐ์ ตัวพิมพ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า โรมาง ดู รัว (Romain du Roi) ที่หมายถึงตัวอักษรโรมันของกษัตริย์ โดยเป็นการออกแบบตัวหนังสือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีการแบ่งตารางจตุรัสออกเป็น ๖๔ ส่วน และแบ่งจตุรัสแต่ละส่วนออกเป็นอีก ๓๖ หน่วยย่อย ทำให้เกิดเป็นจตุรัสเล็กๆ ทั้งหมด ๒,๐๓๔ หน่วย จนมีการจำแนกโรมาง ดู รัว เป็นตัวพิมพ์แบบ Transitional Roman อันเป็นจุดที่ตัดขาดจากลักษณะอักษรประดิษฐ์ การใช้ปลายมุมเป็นเล็บโค้งๆ และการใช้เส้นที่มีน้ำหนักเท่ากันตลอด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนมือจากนักประดิษฐ์ตัวอักษรมาสู่มือวิศวกร ที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในการพิมพ์

ทางการค้นคว้าจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมพอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ จากบทความ “ลายสือไทย ๗๐๐ ปี” โดยศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล เขียนถึงการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่าหากมีการพิมพ์ก็คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน มาเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย ไม่ได้มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทยแต่อย่างใด แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าจะเกิดการพิมพ์หนังสือในสมัยนั้น แต่เครื่องพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปหมด ไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ชนรุ่นหลัง เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง เช่น ถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งเป็นรัชสมัยต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ และอีกครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีโรงพิมพ์เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอธยา ไม่มีทั้งบันทึก หรือแม้แต่หลักฐานหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น รวมถึงเมื่อพระยาโกษาปานไปดูกิจการการพิมพ์ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้แสดงความสนใจดั่งไม่เคยรู้เห็นเรื่องการพิมพ์มาก่อน จนกระทั่งกลับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระนารยณ์ฯ ก็เสด็จสวรรคตในอีก ๘ เดือนต่อมา อันเป็นการตัดขาดจากการรับเทคโนโลยีจากประเทศยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง อันเนื่องจากรัชสมัยของพระเพทราชาไม่ทรงสนับสนุนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดังที่หนังสือ “สยามพิมพการ” ได้ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่ายังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ได้วิเคราะห์กันไว้

ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ตาม การเดินทางของวิทยาการการพิมพ์จากฝรั่งเศสสู่กรุงศรีอยุธยานี้ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อก้าวย่างแรกๆ ของการพิมพ์ไทย รวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่กระแสธารการพิมพ์ได้ขาดช่วงไปจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นวิทยาการการพิมพ์ในยุโรปกลับรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาแท่นพิมพ์ กระดาษ หมึกพิมพ์ แบบตัวอักษรและลายประดับ ธุรกิจหนังสือ และสำนักพิมพ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปภายใต้บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

จึงเป็นเหมือนศตวรรษที่ขาดช่วง เป็นหน้าว่างในหนังสือแห่งประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

————————————————————————————————————