Thai Naris Handwriting Script

Poster for Santi Lawrachawee’s workshop.
Assembling the Components of Thai Naris Handwriting Script
at GRANSHAN Conference 2014, Munich, Germany.
Design Director: Santi Lawrachawee
Designer: Nattapol Rojjanarattanangkool & Nuttapong Daovichitr

naris poster_frame

แบบไทยนริศ : บนสู่ล่าง แคบสู่กว้าง
เขียนโดย สันติ ลอรัชวี

แบบเขียนตัวอักษรไทยรูปแบบสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ที่เรียกสั้นๆ กันว่า “แบบไทยนริศ*” คือลักษณะตัวอักษรที่สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (1863-1947) เป็นผู้คิดค้นรูปแบบขึ้น ซึ่งเขียนด้วยปากกาปากแบบหรือพู่กันปากแบน จะเห็นได้จากผลงานการออกแบบหัวปกหนังสือ ตาลปัตรพัดรอง ของพระองค์ เป็นแบบเขียนที่นิยมกันมากจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะงานที่ยังต้องใช้การเขียนด้วยมือโดยไม่ต้องร่างก่อน เช่น ในใบประกาศนียบัตรหรือใบอนุโมทนาบัตรทางศาสนา ป้ายประกาศในเทศกาลและพิธีกรรมท้องถิ่น รวมถึงพบกันมากในป้ายตัวหนังสือไม้ไปจนถึงตัวอักษรอคริลิค การเขียนในรูปแบบนี้คล้ายการนำริบบิ้นมาพับ จนมีการเรียกว่า “ตัวริบบิ้น” ทั้งๆ ที่การเขียนจะมีลักษณะการลากเส้นทีละเส้นต่อกันจนเป็นตัวอักษร ซึ่งทำให้แบบไทยนริศมีระบบในการเขียนที่สามารถเผยแพร่และทำซ้ำได้ไม่ยาก โดยจะเขียนด้วยอุปกรณ์ปากแบนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญในความแพร่หลายเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา และถูกถ่ายทอดจากช่างฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีการดัดแปลงและพัฒนารูปแบบออกไปมากมายตามช่างเขียนรุ่นหลัง มีการเพิ่มรายละเอียดในส่วนหัวหรือหางของตัวอักษรให้วิจิตรขึ้นบ้าง มีการปรับสัดส่วนให้ผอมสูงหรืออ้วนหนาตามพื้นที่การใช้งานบ้าง เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากการสำรวจหนังสือในยุคต่างๆ หลังจากนั้น และจากหนังสือรวบรวมแบบตัวอักษรประดิษฐ์การครูช่างยุคต่อมา รวมถึงตัวอักษรแกะสลักในสถานที่ราชการหลายแห่ง และป้ายชื่อห้างร้าน สถานที่ ในย่านเก่าแก่ต่างๆ จนมีการนำไปพัฒนาเป็นฟอนต์อีกหลายรูปแบบสำหรับใช้ในคอมพิวเตอร์อีกด้วย

มีข้อสังเกตว่า แม้แบบไทยนริศ จะถูกคิดค้นและพัฒนาโดยเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง โดยแรกเริ่มการใช้ตัวอักษรก็จะเกิดจากงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ศาสนพิธี และภารกิจราชการที่สำคัญ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือโครงสร้างการออกแบบของตัวอักษรไทยนริศมีกระบวนการประดิษฐ์ตัวอักษรแต่ละตัวโดยการประกอบสร้างอย่างเป็นระบบ มีลำดับและทิศทางในการลากเส้นที่ชัดเจน จนทำให้เกิดมาตรฐานทางการผลิต (ด้วยมือ) กว่าแบบตัวอักษรอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ระบบการประดิษฐ์ดังกล่าวทำให้กระบวนการการถ่ายทอดทักษะการเขียนเป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่การเขียนตัวอักษรประเภทนี้จะเป็นที่นิยมและแพร่หลายในที่สุด

จากฝีพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ได้ถ่ายเทมาสู่ช่างฝีมือ และมาสู่คนสามัญทั่วไป
จากการรับใช้ภารกิจของราชสำนัก ก็ได้ถ่ายเทมาสู่วัด บริษัทห้างร้าน และหาบเร่แผงลอย
จากหัวคอแร้ง ก็มาสู่พู่กันปากแบน ตัวพิมพ์ไม้ ปากกาเมจิค ตัวขูด และตัวหนังสือดิจิตอลในที่สุด

จึงอาจคิดต่อได้ว่า “ตัวหนังสือแบบไทยนริศ” อาจเป็นแบบตัวหนังสือตัวแรกและตัวเดียวที่มีเส้นทางการรับใช้ประชาชนคนไทยมาร่วม 130 ปี ตั้งแต่สถานะบนสุดจนล่างสุด ทำหน้าที่บันทึกและเป็นตัวแทนของเรื่องสำคัญระดับราชสำนักมาจนระดับป้ายราคาแผงผลไม้ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่น่าสำรวจและเรียบเรียงขั้นมา เพราะแบบตัวหนังสือหนึ่งตัว ไม่ใช่แค่แบบตัวหนังสือหนึ่งตัว หากแต่มีเรื่องราวทางสังคม การเมือง วิถีชีวิต ประกอบและแวดล้อมการเดินทางเหล่านั้นมากมายเลยทีเดียว

naris leaflet

AW_ThaiNaris_sizeA2
leaflet

 

Leave a comment