โดย สันติ ลอรัชวี
ศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ผ่านโปรแกรม Zoom.us 

สวัสดีครับ นักศึกษาและทุกท่านที่สนใจเข้ารับฟังบรรยายในครั้งนี้
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Design Semiotics
ภายใต้หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอขอบคุณหลักสูตรฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับที่ให้โอกาสกับผมในการสอนวิชานี้มาอย่างต่อเนื่อง

ทำไมนักออกแบบถึงสนใจสัญศาสตร์?
ผมมารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นผู้สอนวิชาสัญศาสตร์กับการออกแบบมาร่วม 10 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามผมยอมรับกับตัวเองมาหลายปีแล้วว่า
ตนเองเป็นเพียงนักออกแบบที่สนใจศึกษาสัญศาสตร์
และพยายามนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานออกแบบของตนเอง
แนวทางการสอนของผมจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียนเกี่ยวกับ
แนวคิดด้านสัญศาสตร์ที่เชื่อมโยงอยู่ในกระบวนการออกแบบและการนำเสนอผลงาน
รวมถึงการวิเคราะห์ หรือ ที่ผมมักเรียกว่า “การอ่านออก-เขียนภาพ (visual literacy)”
ต่องานออกแบบให้ละเอียดละออยิ่งขึ้น

ส่วนตัวจึงไม่เคยเชื่อมั่นว่าตนเองเข้าใจสัญศาสตร์ดีนัก
แต่ความสนใจกลับทวีเพิ่มขึ้นตามลำดับ
การสอน จึงเปรียบเป็นการเคี่ยวกรำให้ตัวเอง เรียนรู้ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

รู้จักสัญศาสตร์ได้อย่างไร
ผมรู้จักสัญศาสตร์จากคำแนะนำของอาจารย์ของผมท่านหนึ่ง

เราเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเราเรียก “ม้า” ว่า “ม้า”
แล้วทำไมเราถึงเขียนและอ่านคำว่า “ม้-า” ว่า “ม้า”
ยังไม่รวมถึงการที่เราพูดหรือเขียน “horse” แทน “ม้า”
เมื่อเราต้องการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

ทุกๆ คนเข้าใจเวลาเราพูดคำว่า “ม้า” ว่าหมายถึงอะไร
นอกเสียจากสถานการณ์ที่ลูกๆ (เชื้อสายจีน) เรียกแม่ว่า “ม้า” (หม่าม้า)
ก็ไม่มีใครคิดว่ากำลังเรียกแม่เป็นม้า

อาจารย์ท่านนั้นได้สร้างปริศนาชวนคิดให้กับผม
ก่อนจะแนะนำว่ามีอยู่ศาสตร์หนึ่งที่อธิบายสิ่งเหล่านี้
และมันน่าสนใจสำหรับนักออกแบบอย่างเราๆ
ที่งานของเรามักจะนำสิ่งหนึ่งมาแทนความหมายหรือเป็นตัวแทนของอีกสิ่งอยู่เสมอ
เช่น การใช้นกมาแทนเสรีภาพหรือสันติภาพ ไปจนถึงดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
อย่างโลโก้รูปแอปเปิ้ลของบริษัทคอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง เป็นต้น
จากตรงนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของผมกับสัญศาสตร์

หนังสือเล่มแรกที่พาผมเข้าไปใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสัญศาสตร์ คือ มายาคติ (Mythologies)
เขียนโดย โรล็องด์  บาร์ตส์ (Roland Barthes) แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ
ในเล่มจะมีบทความประกอบเกี่ยวกับสัญวิทยา โดย อาจารย์นพพร ประชากุล
ซึ่งอาจนับได้ว่าอาจารย์นพพรคือครูทางสัญวิทยาคนแรกของผมเลยทีเดียว
โดยเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดที่บรรจุอยู่ภายในเล่ม ได้ถูกเขียนขึ้นช่วงระหว่างปี ค.ศ.1954 และ 1956
สำหรับนิตยสารของพวกฝ่ายซ้าย Les Lettres nouvelles
ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นบทความที่มีชีวิตชีวาและมีพลัง ด้วยภาพกว้างเกี่ยวกับเหตุการณ์
และแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1950s

ถึงแม้ว่าเรื่องราวทั้งหลายส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวันเวลาในช่วงดังกล่าว
แต่มีไม่น้อยของเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งยังคงสอดคล้องกับผู้คนร่วมสมัยที่เปลี่ยนไปของพวกเราในทุกวันนี้
ส่วนใหญ่ของเนื้อหาโฟกัสลงไปที่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมาอย่างหลากหลาย
ของวัฒนธรรมมวลชน,ภาพยนตร์, การโฆษณา, หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร, ภาพถ่าย, รถยนต์,
ตุ๊กตาของเด็กๆ, เรื่องยอดฮิตในอดีต ฯลฯอันถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในช่วงเวลานั้น

Barthes ได้แสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะอ่านสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน
ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมาย…”

จากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมสะดุดตาทุกครั้งที่อ่านหนังสือทางการออกแบบอื่นๆ
แล้วมีการอ้างอิงถึงเรื่องสัญวิทยา (Semiology) หรือ สัญศาสตร์ (Semiotics)
และเมื่อเราเริ่มสนใจเรื่องใดก็ตาม มันก็จะเผยตัวให้เราพบเห็นมันมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมพบงานเขียนด้านการออกแบบจำนวนไม่น้อยที่กล่าวอ้างอิงทฤษฎีสัญศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ
มีนักออกแบบระดับโลกไม่น้อยที่ศึกษาและใช้เป็นหลักการในกระบวนการออกแบบ
ได้มารู้ว่ามีการบรรจุวิชาสัญศาตร์เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาด้านการออกแบบมาแล้วร่วม 60 ปี
รวมถึงการหาหนังสือด้านสัญศาสตร์มาอ่านเพิ่ม ทำให้เริ่มรู้จักนักคิดคนสำคัญและแนวคิดต่างๆ
ของพวกเขา

ทั้งหลายเหล่านี้… ทำให้เห็นช่องทางในการทำความเข้าใจและเห็นแนวทาง
การเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการออกแบบได้มากขึ้น

“ถ้าสนใจสัญศาสตร์ ควรเริ่มอ่านหนังสือจากเล่มไหนก่อนดี”
มันเป็นคำถามที่ตอบยากทีเดียว เพราะหลายเล่มตัวผมเองก็อ่านไม่จบ
มาอ่านจบอีกทีภายหลัง บางเล่มกว่าจะอ่านเข้าใจก็หลังจากไปอ่านอีกเล่มแล้ว
ผมเลยมักจะให้รายชื่อหนังสือไปหลายๆ เล่ม
เพื่อให้เขาสามารถเลือกเล่มที่จะเกิดเคมีที่เข้ากันได้
ไม่เช่นนั้นก็อาจจะหมดความสนใจไปเลยซึ่งก็น่าเสียดาย

เพราะความสนใจนี่แหละที่จำเป็นต้องรักษาหล่อเลี้ยงไว้
เพราะมันทำให้เราสนุกและคอยขับเคลื่อนให้เราหมั่นทำความเข้าใจ

หากจะกล่าวถึงหนังสือด้านสัญศาสตร์สักเล่มที่เรียบเรียงได้อย่างเข้าใจง่าย
เน้นการวิเคราะห์ผ่านสื่อ (media) อ่านไม่ยากนัก
สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางทฤษฎีด้านภาษาศาสตร์
สามารถทำความเข้าใจและพอนำไปประยุกต์ในการทำงานออกแบบต่อไปได้

สื่อผสมผม ผมผสมสื่อ
หนังสือ Media Semiotic: An Introduction
ของ โจนาธาน บิ๊กเนล (Jonathan Bignell) ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น
บิ๊กเนลเป็นอาจารย์สอนมีเดีย อาร์ต ที่ Royal Holloway, University of London
โดยบทนำของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้พอให้เห็นภาพรวมของแนวทางการศึกษาว่า
การที่เราต้องเผชิญหน้าและใช้งานสื่อต่างๆ ที่หลากหลายและมากมายมหาศาลนั้น
บางสิ่งเราก็เรียกมันได้อย่างสะดวกใจและคุ้นเคยว่า “สื่อ” (media)
เช่น หนังสือพิมพ์, รายการโทรทัศน์, นิตยสาร, รายการวิทยุ, ป้ายโฆษณา ฯลฯ
จนมาถึงเว็บไซต์ บล็อก หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และไลน์
ก็คุ้นเคยกับเราในฐานะความเป็นสื่อเช่นกัน

ทั้งหลายที่ยกตัวอย่างมานี้…
พวกเรารู้จักมันในฐานะ “สื่อ” กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นที่สังเกตและนึกถึงได้อยู่เสมอ
หากลองพิจารณาจากความหมายกว้างๆ ของคำว่า “media” (สื่อ)
ที่หมายถึง “อะไรก็ตามที่เป็นช่องทางในการสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง”
(all those things which are channels for communicating something)

ซึ่งถ้าหมายความอย่างนั้นแล้ว… เท่ากับว่าในชีวิตประจำวันของเรา
จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กับ “สื่อ” ทั้งหลายแทบตลอดเวลาที่เรามีสติ

ไม่ว่าจะจาก… สื่อที่เรารู้แน่ชัดว่าเป็นสื่อ
เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ป้ายร้านค้า โปสเตอร์ สัญญาณจราจร เป็นต้น
กับสิ่งที่เราอาจไม่เคยนับว่ามันเป็นสื่อ แต่มันก็สื่อสารกับเรา
เช่น เสื้อผ้า-หน้า-ผมของนักการเมืองหรือผู้คนที่เราพบเจอ
รถยนต์ที่เพื่อนร่วมงานขับมาทำงาน ข้อความบนสเตตัสของเพื่อนในเฟซบุ๊ค ฯลฯ

ดูเหมือนว่า “นัยยะ” จะถูกสร้างขึ้นทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสื่อที่มีรูปแบบหลากหลาย
ทั้งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วว่ามันเป็นสื่อ และที่มันเป็นสื่อโดยเราไม่รู้ตัว
รวมถึงสิ่งที่นักสื่อสารการตลาดพยายามสร้างให้บางสิ่งเป็น “สื่อ”
โดยที่มันไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อนอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้…มันจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อประสบการณ์
และความเป็นอยู่ในสังคมของเรา
มันจึงมีประโยชน์และมีความน่าสนใจที่จะทำความเข้าใจ
ว่าสื่อต่างๆ นั้นมีความหมายและอิทธิพลกับเราอย่างไร
นั่นยังรวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
กลับกลายเป็นสื่อที่ลดจำนวนและความสำคัญลงตามลำดับ

ริชาร์ด สเตนเกล (Richard Stengel) บรรณาธิการบริหารนิตยสารไทม์
เขียนบทบรรณธิการชื่อ To Our Readers: Technology and Culture?
ในนิตยสารไทม์ (ฉบับเอเชีย) วันที่ 15 มิ.ย. 2552*
โดยเขียนอ้างถึง วลีที่ว่า “สื่อคือสาร” (the medium is the message)
อันเป็นแนวคิดที่ท้าทายกาลเวลาของ มาร์แชล แมคลูฮัน ซึ่งสาร (message)
โดยความคุ้นเคยแล้วจะสำคัญมากกว่าสื่อ (medium) ที่มันถูกส่งผ่าน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราจนเป็นที่ยอมรับกันในขณะนี้ก็คือ
สื่อได้เปลี่ยนการรับรู้และพฤติกรรมในการสื่อสารของเรา
ทั้งสิ่งที่เราสื่อสารและวิธีที่เราสื่อสาร ทวิตเตอร์ก็กำลังทำสิ่งนั้นเช่นกัน

ถึงแม้ว่าริชาร์ด สเตนเกลได้สะท้อนบทบาทของทวิตเตอร์อันเป็นตัวแทนของสื่อสมัยใหม่
ต่อกระบวนทัศน์ทางการสื่อสารของมนุษย์ในบทบรรณาธิการเมื่อ 11 ปีก่อน
แต่พวกเราในขณะนี้ (พศ.2563) ก็ได้ตระหนักถึงอิทธิพลและบทบาทของบรรดาสื่อใหม่
อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือไลน์ ได้เป็นอย่างดีกว่าที่เคยเป็นมา

และล่าสุด Zoom ที่เรากำลังใช้มันในการบรรยายครั้งนี้
ซึ่งกำลังมีปัญหาและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการจัดการสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้

มันไม่เพียงเปลี่ยนสิ่งที่เราสื่อสารและวิธีที่เราสื่อสารเท่านั้น
หากยังมีอิทธิพลสำคัญต่อทัศนคติพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย

สเตนเกลได้เขียนส่วนท้ายที่น่าคิดอีกว่า…
ในทางประวัติศาสตร์สื่อกลางใหม่ๆที่ทรงพลัง
จะเปลี่ยนวิธีที่เรารับรู้โลกและวิธีที่เราสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
โทรศัพท์โทรทัศน์อินเทอร์เน็ตได้ทำสิ่งนั้นไปแล้ว
และเราก็ยังใช้และพัฒนามันอยู่เรื่อยๆ
ซึ่งเทคโนโลยีเองนั้นเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด
มันเป็นเครื่องมือไม่มีดีหรือชั่วขึ้นกับว่าเราใช้มันอย่างไร
อย่างทวิตเตอร์เองอาจรุ่งต่อหรือจากไป
แต่ลักษณะเฉพาะของมันจะส่งผลต่อแพลตฟอร์มต่างๆที่จะตามมา
มันมีบทเรียนอยู่ในนั้นสำหรับพวกเราทั้งหมดในวงการสื่อ
พวกเราต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่

และมันไม่ใช่เพียงการกรอกเหล้าเก่าลงในขวดใหม่
แต่เราจำเป็นต้องปรับตัวโดยการสร้างเนื้อหาของเรา
ในลักษณะที่ไม่ฝืนธรรมชาติของสื่อกลางใหม่ๆเหล่านั้น…”

Semiotics หรือ Semiology
กลับมาที่หนึ่งในแนวคิดเกี่ยวกับสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด
ได้แก่ Semiotics หรือ Semiology
ที่ได้รับรากศัพท์มาจากคำศัพท์กรีกโบราณ “semion” ซึ่งหมายความว่า “sign”
สัญศาสตร์นั้นคือวิธีหนึ่งที่เข้าไปวิเคราะห์นัยยะและความหมายต่างๆ ของ “sign” (สัญญะ)
ซึ่งสื่อความหมายต่างๆ ออกมา โดยการเพ่งความสนใจไปที่การสำรวจและวิเคราะห์
กระบวนการเกิดความหมายของสัญญะต่างๆ อีกด้วย

แรกเริ่มสัญศาสตร์ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อหาทางทำความเข้าใจว่าภาษาทำงานอย่างไร
เพราะภาษาเองก็เป็นสื่อ (medium) ที่เราใช้บ่อยที่สุด
เราใช้ภาษาโดยทั้งการพูด การเขียน และการคิดของเรา
และในหลายๆ ครั้ง เราก็มักใช้ภาษาทั้งในฐานะ “สื่อหลัก” (primary medium)
ในขณะที่อีกหลายๆ ครั้งเราก็ใช้ภาษาสนับสนุนสื่ออื่นๆ เช่น ใช้ภาษาทำงานกับภาพ เป็นต้น

นักสัญศาสตร์เองก็ขยายขอบเขตการวิเคราะห์ไปสู่สื่ออื่นๆ
ที่ใช้ในการสื่อสารที่ไม่ใช่ภาษา(non-linguistic media of communication) อีกด้วย

บิ๊กเนลได้นำเสนอแนวทางที่ใช้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ด้วยกรอบการพิจารณาหลักๆ 5 ประการ ได้แก่

  1. พิจารณา “แบบแผน” (patterns) และ “โครงสร้าง” (structures) ของสัญญะที่อยู่ในสื่ออันเป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไข (condition) ของความหมาย (meaning) ที่สามารถสื่อสารและเข้าใจได้
  2. สัญญะต่างๆ ในสื่อจะถูกทำเข้าใจด้วยการประกอบความสัมพันธ์กับสัญญะตัวอื่นๆและตัวบทในสังคม (text in a social) รวมไปถึงบริบททางวัฒนธรรม (cultural context) ด้วย
  3. สื่อแต่ละสื่อมีลักษณะเฉพาะ ทั้งต่อตัวของมันเอง และขณะที่ส่งผ่านต่อไปยังสื่ออื่นๆ ด้วย
  4. ตัวบท (text) และสื่อ (media) จะจัดวางผู้ชมหรือผู้อ่าน ให้อยู่ในลักษณะเฉพาะเจาะจงในขณะที่ผู้ชมจะเข้าใจและชื่นชอบสื่อในแนวทางที่แตกต่างและหลากหลายกันออกไป (different / diverse)
  5. ศึกษาการประนีประนอม การต่อรองกันทางความหมาย (negotiation of meanings)ระหว่างสื่อกับผู้รับสื่อ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำความเข้าใจวิธีที่ทำให้เราคิดเกี่ยวกับตัวเราเองและวัฒนธรรมของเรา

สมมติฐานทั้ง 5 ข้อนี้ เปรียบเสมือนเข็มทิศให้กับผมในการศึกษาสัญศาสตร์
การรับสื่อประจำวัน การสอน และการนำไปใช้ในงานออกแบบสื่อสารของตนเอง
ซึ่งเราจะพบเงื่อนไขและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างในทั้ง 5 ข้อ อยู่เสมอ

ในขณะที่ผมกำลังใช้เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์อยู่…
จากวลี “สื่อ คือ สาร” ของแมคลูฮัน ก็น่าคิดต่อคิดตามไม่น้อยว่า…
นอกเหนือจากความหมายตามข้อความของสเตตัสใครสักคนแล้ว
ยังมีนัยยะสำคัญใดอีกบ้าง?

หนังสือ Media Semiotic: An Introduction ของ โจนาธาน บิ๊กเนล
จึงเป็นอีกเล่มหนึ่งที่จะทำให้นักออกแบบเริ่มสนุกกับสัญศาสตร์
ผ่านสื่อที่เราต้องเกี่ยวข้องกับมันทั้งในชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน

The medium is the message
จากสำนวน the medium is the message ที่สแตนเกลใช้นั้น
อ้างอิงมาจาก มาร์แชล แมคลูฮัน ผู้เขียนหนังสือ Understand Media:
The Extensions of Man, 1964.ที่ได้บัญญัติวลีสําคัญต่อวงการการสื่อสาร
ในหนังสือเล่มนี้ว่า “สื่อ คือ สาร” (the medium is the message)
โดยเสนอว่าผลกระทบของสื่อสารต่อปัจเจกบุคคลและสังคมไม่ได้มาจากตัวสาร
หากแต่เป็นผลมาจากคุณลักษณะของสื่อมากกว่า

นอกจากนี้ภายใต้วลี ว่า “สื่อคือสาร”
(the medium is the message)แมคลูฮันไม่ได้สนใจว่า…
คนเรามีประสบการณ์ต่อเรื่องอะไร (What we experience)
แต่เลือกสนใจวิเคราะห์ว่าคนเรามีประสบการณ์ต่อโลกรอบตัวอย่างไร
(How we experience the world)นั่นหมายความว่า
ตัวสาร ไม่ได้สําคัญมากไปกว่าตัวสื่อ เพราะทุกครั้งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวสื่อ
จะไปมีผลกระทบต่อเนื้อหาและสารเสมอเช่นกัน

จากตรงนี้… จะชวนไปยังบทนำของหนังสือ
“การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์”
ซึ่งเขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี ความน่าสนใจนี้เริ่มต้นจากการปฏิวัติ 3 ด้านของสัญศาสตร์
ซึ่งจะทำให้เราเห็นการก่อตัวและเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิดนี้ขึ้น
อันทำให้เห็นภาพกว้างก่อนที่จะมาศึกษาและทำความเข้าใจในตัวทฤษฎีต่อไป

ในหนังสือได้อธิบายถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดสัญศาสตร์ พอสรุปได้ดังนี้

1. การที่วัฒนธรรมตะวันตกนั้นเป็นวัฒนธรรมของ “การพูดและการฟัง”

ในยุคแรกเริ่ม สังคมตะวันตกให้ความสำคัญและความเชื่อมั่นกับภาษา
จนกระทั่งศตวรรษที่ 17 ที่ความเชื่อมั่นในภาษา
ในฐานะเครื่องมือในการเข้าใจโลกนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เพราะหลายด้านของความจริงจากประสบการณ์มนุษย์เริ่มเป็นสิ่งที่บรรยายไม้ได้ด้วยภาษา

สิ่งที่เข้ามาแทนภาษาพูดในช่วงนั้นก็คือ “คณิตศาสตร์”
มันเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกภายนอก
จากการใช้ภาษาเป็นสื่อกลาง มาสู่การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
ซึ่งส่วนใหญไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้
จากการขยายตัวของคณิตศาสตร์นี้ ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ
จากทางฝั่งคณิตศาสตร์แทรกตัวเข้ามาในศาสตร์ด้านอื่นๆ อีกด้วย
เช่น group, differentiation, integration, valence เป็นต้น

ในที่สุด… การเสื่อมถอยของภาษาพูดปกติก็
ทำให้มนุษย์รู้สึกได้ว่าไม่อาจเข้าถึงความจริงแท้ของจักรวาลหรือแม้แต่ตนเอง
ได้ด้วยภาษาธรรมดาอีกต่อไป
“นี่คือการเติบโตของภาวะนามธรรม ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์”

2. ลักษณะทางสังคมของภาษา

การที่หลายสังคมในโลกใช้ภาษาในลักษณะเป็นเครื่องมือเพื่อวัตุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง
เช่น ในสังคมไทยในอดีต (ปัจจุบันก็ยังพอเห็นอยู่)
เราใช้ บาลี-สันสกฤต ในกิจกรรมทางศาสนาพุทธ
ใช้ ภาษาขอม ในพิธีกรรมและความเชื่อ
ใช้ ราชาศัพท์ ในราชสำนัก
ใช้ ภาษาท้องถิ่น ในชีวิตประจำวัน
ใช้ ภาษาสุภาพ ในกาละเทศะทางสังคม
หรือใช้ภาษาไม่สุภาพกับเพื่อนฝูงที่สนิทสนม

ในแง่นี้ ภาษาจึงเป็นคล้ายกระบวนท่าในการต่อสู้, ป้องกันตนเอง หรือแสดงท่าที
ในความสัมพันธ์ที่กลุ่มหนึ่งมีต่ออีกกลุ่มหนึ่ง /ชนชั้นหนึ่งมีต่ออีกชนชั้นหนึ่ง /
วัยหนึ่งมีต่ออีกวัยหนึ่ง / เพศหนึ่งมีต่ออีกเพศหนึ่ง อีกด้วย

ในยุโรป ปลายศตวรรษที่ 15 – ต้นศตวรรษที่ 18
ความรู้ได้แสดงความกระจ่างแจ้งของเหตุผลโดยตัวของมันเอง
โดยไม่ต้องเทียบแบบพิมพ์เขียวของพระเจ้า
ความต้องการทางความรู้นั้น มีตรรกะ เหตุผล
หลุดพ้นการครอบงำความคิดของศาสนจักร
ความต้องการทางสังคมเน้นการมีสิทธิ เสรีภาพ
มีอำนาจกำหนดความเป็นไปของตนเอง
จนในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ศตวรรษที่ 18)
ก็กลายเป็นยุคสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันว่า Modernity หรือ Modernism

ในช่วงนั้น… คนยุโรปเริ่มตระหนักถึงปมปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ได้แก่
• การมีเหตุผลหนึ่งเดียวเพียงพอหรือไม่? ที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิตและโลก
• เหตุผลจะช่วยให้เราสร้างระบบศีลธรรม คุณธรรม หรือระบบสังคม
มีความเท่าเทียมกันได้จริงหรือ ?
• การเกิดความแตกต่างในอำนาจ ความไม่เท่าเทียม
และความแตกแยกให้เห็นมากขึ้นในสังคม
• การที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
กลับทำให้เกิดวิถีชีวิตที่ยากไร้ตามมาเช่นกัน
ปมปัญหาเหล่านี้… ทำให้ความเชื่อมั่นในเหตุผลนิยมลดลงตามลำดับ

สิ่งหนึ่งที่กลับเข้ามาแทนที่ก็คือ ภาษาหรือความหมาย (modes of signifying)
เหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะนักปรัชญาของโลกตะวันตกส่วนใหญ่
ล้วนเป็นปรัชญาของภาษาทั้งสิ้นจนเมื่อปี 1905 นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสที่ชื่อ
เฟอร์ดินานด์ เดอ โซซูร์ ได้เสนอว่า
ในภาษานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นความคิดและระบบเสียงซึ่งสัมพันธ์กัน
อย่างไร้ระเบียบแบบแผน (arbitrary)

ภาษากับความคิดนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่จะคาดเดา
หรืออนุมานจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งได้
แม้นักสัญศาสตร์จะเชื่อว่าความหมายเป็นข้อตกลงร่วมของสังคม
แต่การเข้าถึงความหมายก็ต้องผ่านความมีแบบแผนแน่นอน
ของสัญญะและระบบภาษาอยู่ดี
หน้าที่ของนักสัญศาสตร์หรือพวกโครงสร้างนิยม
จึงมุ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมหนึ่งๆ
โดยค้นหาโครงสร้างเชิงลึก เพื่อเข้าใจกฏเกณฑ์หรือความหมาย
ของปรากฏการณ์นั้นให้ชัดเจนขึ้น

การที่ค้นพบว่า…ภาษาเป็นสิ่งกำกับความคิดมนุษย์,
ภาษามีลักษณะเป็นบทกวี และภาษามีความเป็นยถากรรม
ทำให้…การค้นหาความหมาย ความหลากหลายของความหมาย
หรือความแจ่มชัดของความหมายเป็นสาระสำคัญของชีวิต
จนเกิดกระแสความคิดที่ยึดโยงกับการมีความหมาย ทั้งในแวดวงปรัชญา
และชีวิตทางสังคม

แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
การค้นหาความหมาย ตัวตน และความจริงแท้
กลับประสบวิกฤติอย่างรุนแรง
เนื่องจากทุกคนสามารถตั้งคำถามกับทุกความหวัง
ทุกความดีงาม ทุกความงดงาม
ว่ามันมีจริงหรือไม่ (กระบวนการนี้ค่อยเป็นค่อยไป)
นั่นเป็นเพราะการค้นหาความหมายในแบบโครงสร้างนิยมนี่เอง
ที่อนุญาตให้มนุษย์ขุดคุ้ยความหมายจากปรากฏการณ์
ทางวัฒนธรรมได้ทุกอย่าง…จนมาถึงความคิดที่ว่า
ความหมายเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ไม่แน่นอน
สิ่งที่ครอบงำมนุษย์อยู่ก็คือ รูปลักษณ์ของสัญญะ
ซึ่งมีอยู่รอบตัวและผันแปรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

3. การเปลี่ยนแปลงของโลกทางวัตถุสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ 20

การผลิตวัตถุสิ่งของสำหรับการบริโภคอย่างมากมายมหาศาล
ในศตวรรษที่ 20ก็มีจำนวนมากกว่าจำนวนสิ่งของที่
มนุษย์เคยผลิตมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
รวมกับการเกิดกิจการโฆษณา การส่งเสริมการขาย
วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ จนเกิด “กระแสบริโภคนิยม”

สัญศาสตร์เป็นทฤษฎีหนึ่งซึ่งสามารถนำมาอธิบาย
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกวัตถุ
และโลกแห่งการสื่อสารการโฆษณาได้อย่างมีพลัง ถึงพริกถึงขิง
โดยทฤษฎีนี้ถือว่าวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้างขึ้นทุกชิ้น
ล้วนทำหน้าที่เป็นสัญญะเพื่อสื่อสารความหมายบางสิ่งบางอย่างได้เสมอ

4. การก่อรูปขึ้นของวัฒนธรรมมวลชน (mass culture)

ก่อนหน้าศตวรรษที่ 18 ที่สังคมตะวันตกถูกครอบงำโดยสุนทรียศาสตร์
ที่มีลักษณะเป็นของชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นกระฎุมพี
เช่น ดนตรีคลาสสิกของโมซาร์ต, บีโทเฟน
หรือสไตล์การเขียนภาพแบบสำนักราฟาเอล
มีการกำหนดมาตรฐานหรือคำจำกัดความว่าอะไรคือความงาม
อะไรเป็นวัตถุของงานศิลปะได้ อะไรเป็นไม่ได้
อะไรเป็นสไตล์ที่ถูกยอมรับในการผลิตงานศิลปะ
รวมถึงสิ่งที่ถูกหยิบยกมาใส่ในภาพเขียนได้นั้น ก็มีอย่างจำกัด

พอถึงกลางศตวรรษที่ 19งานศิลปะก็เริ่มเกิดภาพทิวทัศน์ชนบท
ชาวนา กรรมกรเหมืองแร่ ชีวิตคนจนในเมือง ฯลฯ
เป็นการสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่
ของสังคมอุตสาหกรรมในยุโรปช่วงนั้น
ยังมีภาพเขียนแนวอิมเพรสชันนิสม์
ซึ่งถ่ายทอดชีวิตกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางในยุโรปสมัยนั้น
เช่น ภาพปิกนิค, ภาพพักผ่อนริมทะเล, ภาพวิวทิวทัศน์,
ภาพกิจกรรมของชนชั้นกลางในบาร์เหล้าหรือสวนสาธารณะ,
ภาพชั้นเรียนบัลเลต์ เป็นต้น

รวมถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่าย
ซึ่งกล้องถ่ายรูปเริ่มจะได้รับความนิยมแล้วในช่วงเวลานั้น
โดยสไตล์การวาดก็เป็นการวิพากษ์แนวทางการวาดทั้งแบบคลาสสิก
และแบบเหมือนจริงของยุคก่อนหน้ารวมถึงการเกิดศิลปะแบบ Cubism
และ Abstract Art ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็เป็นการขบถต่อขนบภาพเขียน
แบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกในสาขาการออกแบบ
เช่น การเกิดขึ้นของสำนักออกแบบเบาเฮาส์ (Bauhaus)
โรงเรียนในประเทศเยอรมนี ที่สอนเรื่องศิลปะและการออกแบบ
ที่สัมพันธ์กับแนวคิดเชิงอุตสาหกรรม และถือเป็นรากฐานที่สำคัญ
ในสาขาวิชาการออกแบบอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

ต่อจากเบาเฮาส์ไม่นาน การนำเอาสัญศาสตร์มาเชื่อมโยงกับการออกแบบ
ก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในปี 1953 ที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี
The Ulm School of Design ก่อตั้งโดย Igne Aicher-Scholl,
Otl Aicher และ Max Bill (อดีตคณาจารย์จากเบาเฮาส์)

Ulm เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดในทศวรรษที่ 50s และ 60s
อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกในการนำเอาสัญศาสตร์มาประประยุกต์ใช้
ในการเรียนการสอนด้านการออกแบบ

จากแผนผังการสอนของ Ulm แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรไม่ได้ให้ความสำคัญ
แค่ความสัมพันธ์ระหว่าง ศิลปะ เทคโนโยีของวัสดุ และวิธีวิทยาด้านการผลิต
เชิงอุตสาหกรรม (อันเป็นรากฐานความคิดที่ได้รับมาจาก Bauhaus)
แต่อาจารย์รุ่นใหม่ๆ (young intellectual) ของ Ulm
ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคยเป็นอาจารย์และศิษย์เก่าของ Bauhaus)
ต้องการจะนำเสนอการศึกษาที่ให้ความสำคัญไปยัง
Humanistic education idea โดยเชื่อมโยงกิจกรรม
ทางความคิดสร้างสรรค์ไปกับชีวิตประจำวัน

อาจารย์รุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสนใจไปยังกระบวนการวิเคราะห์ผ่าน
สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และสัญศาสตร์ เป็นต้น
โดยมองว่าการออกแบบเป็นกระบวนการที่รวม Scientific-based
กับ Intuition-based เข้าไว้ด้วยกัน
ดังนั้นการพิจารณาสุนทรียภาพของงานออกแบบ จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่
แนวคิดในการออกแบบเท่านั้น หากยังสัมพันธ์ไปกับปัจจัยด้านอื่นๆ อีกด้วย
แผนการสอนที่รู้จักกันภายหลังในชื่อ Ulm Model ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษา
ด้านการออกแบบระดับนานาชาติในเวลาต่อมา

มาถึงช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทศวรรษ 1930 ในสหรัฐอเมริกา
บทบาทของระบบการผลิตอุตสาหกรรมแบบจำนวนมาก (Mass Production)
มีเพิ่มมากขึ้น บวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์
เครื่องเล่นแผ่นเสียงแท่นพิมพ์ หนังสือพิมพ์นิตยสาร และการโฆษณา

การเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้แนวคิดเรื่องสุนทรียะของสังคมเปลี่ยนไป
สิ่งที่เรียกว่างานศิลปะ หรือความเป็นสุนทรียะ
นอกจากจะเป็นแค่เรื่องของชนชั้นสูงอย่างโอเปร่า การแสดงซิมโฟนีออร์เคสตร้า
งานศิลปะคลาสสิกในพิพิธภัณฑ์และห้องแสดงงานที่มีชื่อเสียง
หรือการครอบครองหรือเข้าถึงได้ของชนชั้นนายทุน กระฎุมพี เท่านั้น
ศิลปะหรือสุนทรียะยังขยายมาสู่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างทั่วไปด้วย
จนเกิดความนิยมในดนตรีแจ๊ส สวิง และดนตรีแนวคันทรี่ เป็นต้น
เรามักเรียกวัฒนธรรมแบบนี้ว่า วัฒนธรรมมวลชน
ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ทางสุนทรียะหรือรสนิยมของตนเอง
จนถือว่าภาพเขียน เพลง หรือนวนิยายที่ชนชั้นล่างนิยม
ก็ถือเป็นงานศิลปะด้วยเช่นกัน

5. ทัศนคติที่มีต่อศิลปะและวัฒนธรรมก่อนหน้าศตวรรษที่ 19

ว่าเป็นเครื่องมือ/สื่อ หรือเป็นตัวแสดงแทน (representation)
ของบางสิ่งบางอย่างในลักษณะที่ตรงไปตรงมา
ศิลปินยุคต่อมาก็ไม่ได้สร้างผลงาน
เพียงแค่เป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาอีกต่อไป
แต่จะพบเห็นการสะท้อนความหมายที่หลากแง่หลายมุม
และต้องอาศัยการตีความที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

สัญศาสตร์จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งเปิดทางให้มีการตีความ
กล่าวในภาษาของสัญศาสตร์…
ศิลปะและวัฒนธรรมก็เป็นสัญญะแบบหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัฒนธรรมมวลชน
ซึ่งยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตประจำวัน สัญศาสตร์สามารถมอบเครื่องมือ
ที่สามารถวิเคราะห์ความหมายของวัฒนธรรมได้ดี
เนื่องจากสัญศาสตร์มองสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นได้เป็นสัญญะหมด
การที่สัญศาสตร์ของโซซูร์แบ่งองค์ประกอบภาษาของมนุษย์ออกเป็น 2 ส่วน
คือ การพูด (parole) กับ ระบบภาษา (language)
ซึ่งการพูดนั้นเป็นปัจเจก หลากหลาย และไม่ซ้ำกัน
ส่วนระบบภาษาเป็นกฏเกณฑ์ กติกาที่ตกลงร่วมกันในสังคม
มีลักษณะแน่นอนตายตัวกว่า การแบ่งแบบนี้…
จึงทำให้สามารถวิเคราะห์วัฒนธรรมมวลชนได้อย่างกว้างขวาง
โดยสามารถมองสิ่งของวัตถุที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน
เป็นเสมือนหนึ่งรูปประโยคที่มนุษย์ร้อยเรียงขึ้นมา
เพื่อสื่อความหมายบางอย่าง
คล้ายกับการแต่งกายของผู้คนที่แตกต่างกัน
แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็กำหนดกฏเกณฑ์ในการแต่งกาย
ให้กับทุกๆ คน เช่นแต่งแบบพิธีการ แต่งแบบลำลอง แต่งไปทำงาน
ไปโรงเรียน ฯลฯ

ดังที่ โรล็องด์ บาร์ตส์ ให้ความเห็นไว้ว่า…
มนุษย์มีพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันคล้ายคลึงกับภาษา
จะมีลักษณะทั้งที่เป็นรูปประโยคการร้อยเรียงองค์ประกอบต่างๆ
เชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับที่มีลักษณะที่เป็นระบบภาษา
หรือกฏเกณฑ์ทางสังคม เป็นตัวกำหนดอยู่ข้างหลังอีกชั้นหนึ่งเสมอ

อีกทั้ง…
ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายด้าน
ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อาทิ
• การที่โลกได้ผ่านมหาสงครามถึง 2 ครั้ง ในครึ่งแรกของศตวรรษ
• เกิดการเชื่อมโยงโลกด้วยเทคโนโลยีคมนาคมและโทรคมนาคม
• เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางวัตถุ
• การเกิดความล้นเกินทางวัตถุของสังคม
• มีการเปิดกว้างต่อทุกสิ่ง ทุกความหมาย
• ความเชื่อที่ไม่มีวัตถุใดหรือสัญญะใดมีความหมายหรือฐานะสูงส่งกว่ากัน
เป็นการยากที่หาเส้นแบ่งที่จะบอกได้ว่า สิ่งหนึ่งดีกว่า ถูกต้องกว่า
หรือสวยงามกว่าอีกสิ่งหนึ่ง
• เกิดการขยายฐานประชาธิปไตยให้กับสิ่งต่างๆ

สัญศาสตร์จึงเหมาะเจาะกับการวิเคราะห์การที่มนุษย์มีความอุดมสมบูรณ์
ในเชิงวัตถุอย่างล้นเกิน เช่น การมีรองเท้าสำหรับโอกาสต่างๆ มากมาย
จนก้าวผ่านหน้าที่หลักของมันและให้ความสำคัญกับหน้าที่อื่นของมันแทน
ความเป็นรองเท้าในความหมายพื้นฐาน จึงไม่ได้มีความสำคัญในความรู้สึกนึกคิด
ของผู้คนมากไปกว่าความหมายทางสุนทรียะหรืออัตลักษณ์

ทั้งหมดนี้จึงพอสรุปการปฏิวัติของสัญศาสตร์ (Triple Revolution) ได้ดังนี้

• การปฏิวัติไปสู่พหุนิยม (pluralism)
ความหลากหลายนิยม (multiplicities) และ สัมพัทธนิยม (relativism)
จากลักษณะที่ทำให้มนุษย์เริ่มรู้สึกว่า ความรู้ของพวกเขา
อาจเป็นสิ่งที่ไม่จริงแท้ ไม่แน่นอนเพราะความรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นได้
ต้องอาศัยภาษาหรือสัญญะต่างๆ มาร้อยเรียงกัน

• การหันเหมาสู่สิ่งสามัญ (The Ordinary Turn)
   เกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และเกิดขึ้นในหลายวงการเกือบจะพร้อมๆ กัน
ในวงการศิลปะ ตั้งแต่ทศวรรษ 1850 ศิลปินจำนวนหนึ่งเขียนภาพบุคคลจาก
เหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันแทนที่จะวาดพระเจ้า ราชวงศ์ หรือ เทวตำนาน
จากนั้นปรากฏชัดขึ้นในวงการศิลปะของศตวรรษที่ 20 ศิลปะสกุล Modernism
มีการแสดงออกถึงวัตถุสิ่งของธรรมดาในชีวิตประจำวัน
ในรูปแบบที่แปลกแหวกแนวออกไป
ประกอบกับการเกิดวัฒนธรรมมวลชน
จนคำจำกัดความวัฒนธรรมเปลี่ยนมาเป็น
วัฒนธรรมคือชีวิตของผู้คนหรือวัฒนธรรมคือสิ่งธรรมดา
(culture as the ordinary)

• การหักเหของโลกแห่งความรู้ออกจากโลกความจริง (หนึ่งเดียว)
   เกิดการวิพากษ์ความรู้และปัญญาเหตุผลที่รุนแรงที่สุด
ต่อความเชื่อใหญ่ๆ ของปรัชญาตะวันตก

สัญวิทยา (semiology) หรือ สัญศาสตร์ (semiotics)
ไม่ว่าเราจะเรียกว่า สัญวิทยา (semiology) หรือ สัญศาสตร์ (semiotics)
ก็คงไม่มีความแตกต่างกันในภาพกว้างๆ

semiology เป็นคำที่นิยมเรียกกันเพื่ออ้างอิงต่อแนวคิดของ
แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มวิธีการศึกษาแบบนี้ขึ้นมา

ส่วน semiotics เป็นคำที่นิยมใช้กันเพื่ออ้างอิงต่อแนวคิดของ
ชาร์ล แซนเดอร์ เพอร์ช นักปรัชญาชาวอเมริกัน

ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงสัญวิทยาหรือสัญศาสตร์
เราจะหมายถึงการศึกษาสัญญะ รวมไปถึงฟังก์ชั่นและผลกระทบของมัน
ที่ผ่านมาเรามีสัญศาสตร์สองสาขา
สาขาหนึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนักภาษาศาสตร์ชาวสวิส
ผู้ซึ่งเสนอสัญญะ (sign) ในโครงสร้างที่เป็นสองส่วน (dyadic)
สัญญะคือการรวมกันของตัวหมาย (signifier) และ ความหมาย (signified)
signifer จึงเป็นเสมือนภาพที่มีนัยยะ
ส่วน signified จึงเป็นเหมือนมโนภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นภาพนัยยะนั้น

อีกสาขาได้รับแนวคิดจากงานของนักปรัชญาชาวอเมริกัน
แทนที่จะเป็นระบบ dyadic (สองส่วน) แบบของโซซูร์
สัญวิทยาแบบเพอร์ชนั้นสัญญะ (sign) จะกลับมาเป็น
หนึ่งในสมาชิกของความสัมพันธ์สามส่วน
(sign-referent-interpretant)

เราเรียกสาย Saussurian ว่า semiology
ในขณะที่สาย Peircean เรียกว่า semiotics

Semiology มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบจนถึงปัจจุบัน
เช่น ในแนวคิดโครงสร้างนิยม (structuralism)
หลังโครงสร้างนิยม (poststructuralism)
และ แนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction)

อย่างไรก็ดี เหมือนจะมีอุปสรรคไม่น้อย
ในการประยุกต์ใช้สัญญวิทยาในบริบททางการออกแบบ
เนื่องด้วยมันถูกก่อตั้งขึ้นในสาขาภาษาศาสตร์
ซึ่งเป็นระบบฐานคิดเชิงรหัส (code-based system)
จึงเป็นงานยากในการปรับให้เข้ากับเงื่อนไขและธรรมชาติ
ของสาขาที่ไม่ใช่ฐานคิดเชิงรหัส อย่างเช่น
สาขาการสื่อสารเชิงภาพ (visual communiacation)
หรือ การออกแบบกราฟิก (graphic design)

ในขณะที่สัญวิทยาสาย Peircean มีความยืดหยุ่น
อันเนื่องจากความซับซ้อนและเป็นนามธรรมของคำศัพท์
ที่เพอร์ชเลือกมากำกับใช้ซึ่งผมพบว่าหลายๆ หลักคิดของเพอร์ชนั้น
นำมาปรับให้สอดรับกับกระบวนการออกแบบได้ง่ายกว่า

ในการสอนวิชานี้ ผมเองได้เลือกที่จะผสมผสานทั้งสองระบบ
ในการศึกษาสัญศาสตร์สำหรับการออกแบบให้กับนักศึกษา
เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของแนวคิดทั้งสองได้
มากกว่าการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง

จุดไฟในทวิภาวะ
บนเส้นทางความซับซ้อนนี้
สัญศาสตร์ยังช่วยส่องสว่างซอกหลืบต่างๆ
ที่เราอาจไม่ได้สังเกตเห็นว่าโลกไม่ได้มีเพียงสองด้าน
เช่นเดียวกับที่โลกไม่ได้มีแค่กลางวัน-กลางคืน
หากยังมีช่วงเวลาระหว่างกลางวันกลางคืน
อย่างในยามรุ่งสางหรือหัวค่ำเช่นกัน
หลายครั้งที่ความคิดแบบทวิภาวะ
ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นรายละเอียด
ของความเป็นไปต่างๆ แบบเส้นผมบังภูเขา

สัญศาสตร์จึงช่วยให้เรามีหนทางที่จะเล็ดลอด
ออกจากความคิดแบบทวิภาวะทั้งทางกายภาพและจิตใจ
โดยการคำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นพื้นฐาน
มากกว่าแนวคิดเชิงคู่ (dualistic concepts)
และแนวคิดพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ…
แนวคิดที่คำนึงถึงเกี่ยวกับความสัมพัทธ์นั่นเอง

“ดีไซน์คือความสัมพันธ์”
วลีทองของ พอล แรนด์ อาจมีความหมายซ่อนอยู่อย่างมากมาย
คำกล่าวแบบกำปั้นทุบดินของมาสเตอร์
จึงเปิดโอกาสให้เราเข้าใจมันใหม่เสมอ

การรักษาความสัมพันธ์ของการออกแบบ
จึงอาจเริ่มด้วยสิ่งที่แรนด์กล่าวไว้คือ รูปแบบ (form) กับ เนื้อหา (content)
แต่อย่างที่ทุกคนรู้…ว่าการออกแบบมีเรื่องที่ต้องประสานมากกว่านั้น
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนับรวมไว้อะไรบ้าง และลำดับความสำคัญก่อน-หลังอย่างไร

คำว่า เนื้อหา (content) ที่แรนด์กล่าวถึง
จึงใช้คำว่าสาระ (substance) แทนได้เช่นกัน
แน่นอนในภาษาไทยมีคำว่า “เนื้อหาสาระ”
ให้เราได้ใช้ในโอกาสนี้อย่างเหมาะเจาะ

ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ พิจารณาได้ว่า…
หากไม่มีรูปแบบ (form) แล้ว
เนื้อหาสาระ (substance) ก็ไม่เกิดขึ้น

แต่ถ้าปราศจากเนื้อหาสาระ รูปแบบก็ว่างเปล่า

ผมมักใช้ “หมากรุก” มาเป็นตัวอย่างในการอธิบายว่า…
การที่เราจะสามาถเล่นหมากรุกได้นั้น
เบื้องต้นเราต้องจดจำรูปร่างหน้าตาของหมากแต่ละตัวให้ได้ก่อน
ในที่นี้อาจมองว่าเป็น รูปแบบ (form)
รวมถึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจถึงกฏเกณฑ์
บทบาทหน้าที่และเงื่อนไขการเดินของตัวหมากแต่ละตัว
ซึ่งในส่วนนี้คือ เนื้อหาสาระ (Substance) ของหมากรุก

กติกาของหมากรุกจึงเป็นตัวกำกับหรือสร้างความเป็น “หมากรุก”
และทำให้ตัวหมากแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน
จนแสดงตัวเองออกมาได้ว่าเป็นตัวอะไร

ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนนี้ทำให้สังเกตุเห็นว่า…
ขุนเป็นขุนได้
ไม่ใช่เพียงเพราะตนมีรูปร่างหน้าตาเป็นขุนเท่านั้น
หากแต่เพราะมันไม่ใช่ ม้า เรือ โคน เบี้ย ฯลฯ

อัตลักษณ์ของหมากแต่ละตัว
จึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของความต่าง-ความเหมือน
ระบบของความแตกต่างที่ช่วยส่งเสริมทำให้เกิดอัตลักษณ์
อัตลักษณ์เป็นเรื่องของการจัดประเภทแยกแยะแบบหนึ่ง
ไม่ได้เป็นเรื่องของคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งนั้นๆ
อย่างที่นิยมเข้าใจกันแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน
ขุนก็เป็นขุนได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบหมากรุก
ระบบและกติกาของหมากรุก
จึงทำให้ตัวหมากดำเนินไปอย่างที่เป็นอยู่

ตัวหมากรุกอาจจะทำด้วยวัสดุ รูปร่าง
ขนาด สีสัน อย่างไรก็ได้
ตราบเท่าที่ยังรับบทภายใต้กติกา
ในฐานะที่เป็นหมากตัวนั้นๆ อยู่
และสุดท้าย…
ตราบเท่าที่หมากตัวนั้น
มีความแตกต่างออกไปจากตัวหมากอื่น ๆ
จนสามารถบอกได้ว่าเป็นนั่นคือหมากตัวใด
ในกรณีนี้… ขุนจึงยังเป็นขุน ม้าจึงยังเป็นม้า

อย่างไรก็ตาม ในความแตกต่างหลากหลายแล้ว
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ท่ามกลางของความสัมพันธ์แบบเครือข่ายโยงใย
ก็ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวแต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ (diachronic)
ตามเวลาเหมือนวิชาประวัติศาสตร์
แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสอดประสานในทุกชั่วขณะ (synchronic)
ที่องค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลายนั้นเปลี่ยนแปลง
ส่งผลให้ระบบโดยรวมเปลี่ยน

ไม่ว่ารูปแบบจะเปลี่ยน
หรือเนื้อหาสาระจะเปลี่ยนก็ตาม
สุดท้ายจะส่งผลต่อระบบความสัมพันธ์รวม

จากที่กล่าวมา… หากพิจารณาไปที่การออกแบบ
มักพบสถานการณ์ลักษณะนี้ได้เช่นกันในการออกแบบ
ที่ต้องใช้กรอบคิดเรื่องความต่าง-เหมือน
ในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าหรือองค์กร

งาน Brand Identity หรือ Corporate Identity
เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงบทบาทในการจัดการ
นักออกแบบจะจัดการความแตกต่าง/ซับซ้อนทั้งหลาย
ขององค์กรหรือแบรนด์ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบที่ยืดหยุ่นไม่หยุดนิ่งตายตัว
เพื่อให้สอดรับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
รวมถึงต้องสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ด้วย

หากเราแยกคำว่า corporate identity ออกมาว่า
co-operation of (different things) (become to an) identity
ก็จะพอมองเห็นประเด็นนี้อย่างชัดเจนขึ้น

วิวัฒนาการออกแบบผ่านมาอย่างยาวนาน
หากไม่นับตั้งแต่มนุษย์คิดค้นการใช้ไฟเมื่อหลายหมื่นปีก่อน
สาขาวิชาการออกแบบ
ก็มีอายุมาไม่น้อยกว่าสองร้อยปี
การออกแบบได้หลอมรวมและยืนหยัด
กับสาขาต่างๆ มาตลอดสองศตวรรษ

ความท้าทายใหม่
ณ เวลานี้…
ขณะที่เราหลายคนกำลังเก็บตัวอยู่ในที่พัก
เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด19
เราทุกคนกำลังเผชิญกับความท้าทางครั้งใหญ่ในทุกมิติ
ทำให้คิดถึงบทบาทหน้าที่ คุณค่า และนิยายาม
ของสิ่งที่เรากำลังเรียกมันเป็นอาชีพ

แม้ “การออกแบบ” เป็นกิจกรรมพื้นฐาน
ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน
สำหรับวิชาชีพการออกแบบ…
แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางวิชาชีพ
ก่อให้เกิดเส้นแบ่งกั้นระหว่างกัน
แต่เชื่อว่า..พวกเราก็สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้
ด้วยประเด็นที่พวกเราใส่ใจและตระหนักร่วมกัน
สิ่งนั้นก็คือการมีความท้าทาย
ที่นักออกแบบทุกคนล้วนกำลังเผชิญร่วมกัน
อันเป็นความท้าทายที่จะเชื่อมโยงสาขาวิชาชีพต่างๆ
ให้มาเป็นแขนงเดียวกัน

นอกจากปัญหาทางวิชาชีพแล้ว
ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ
ภัยพิบัติ และโรคระบาด
ล้วนเป็นความท้าทายทั้งหลายที่เรากำลังเผชิญอยู่จริง
เหล่านี้…
ย่อมส่งผลต่อความเป็นไปของนิยามและคุณค่าการออกแบบ

วิธีการออกแบบ และ วิถีนักออกแบบ
ยังเป็นคำถามพื้นฐานสำคัญ
ที่อาจจะต้องหมั่นปรับปรุงคำตอบของตนเอง
ให้สอดคล้องกับความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสิ่งที่กำลังทำ
เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียกขานตัวเอง ให้สัมพันธ์กับ
“กาละ-เทศะ” อยู่เสมอ

นิยามที่ว่า…
การออกแบบเป็นระบบความสัมพันธ์ยังคงสมเหตุสมผล
การสร้างและบำรุงดูแลความสัมพันธ์
จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ถูกมัดรวมมากับการออกแบบเสมอ

ความท้าทายที่กล่าวนี้
จึงต้องการแนวทางการทำงานออกแบบที่ต่างไป
จากเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา
สภาวะแวดล้อมในอดีตนั้นไม่ซับซ้อน รวดเร็ว
และรุนแรงเท่าในปัจจุบัน (และอนาคต)

ที่ผ่านมา…
ประสบการณ์ส่วนตัวและทักษะที่พัฒนาขึ้นของนักออกแบบแต่ละคน
ถูกนำมาใช้ต่อการสร้างสรรค์งานที่ลึกซึ้งและมีแก่นสาร
แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น
แต่มันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป…

ปัจจุบัน…
ความท้าทายในการออกแบบ
จึงถูกเรียกหาทักษะการวางแผนเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งไม่สามารถพัฒนาจากการแค่ลงมือทำเพียงอย่างเดียว
วิชาชีพในการออกแบบจึงต้องการความรู้อีกแบบ
ไม่ใช่แค่ความรู้เพียงจากการเรียน/ทำงานในวิชาชีพของตนเองเท่านั้น
เป็นความรู้รูปแบบใหม่ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาใหม่
เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องบางอย่าง
จากข้อมูล สังคม และฐานความรู้ทั้งหลายที่มี

ช่วงท้ายของการบรรยายนี้…
ขอกลับมาที่สัญศาสตร์…

เริ่มแรก
ผมหลงใหลกับคำศัพท์ ความหมาย
และการถอดรหัสของสิ่งต่างๆ (sign)

จากนั้น…
หันมาเพ่งเล็งยัง…
ที่มาและกระบวนการเกิดความหมาย (semiosis)

ภายหลัง…
จึงเป็นการนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้
ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานอย่างถูกกาละเทศะ (feasibly)

ทำให้ผมนึกถึง “ฤทธิ์มีดสั้น”
นวนิยายของโกวเล้งที่ชื่นชอบและอ่านไปหลายรอบ
เมื่ออ่านรอบแรก หลงใหลมีดสั้น
อ่านอีกครั้ง กลับหลงใหลกระบวนท่าการใช้มีด
อ่านภายหลังจึงเข้าใจว่า…ที่สำคัญกว่ามีดและกระบวนท่า
กลับเป็นเจตจำนงค์และกาละเทศะของการใช้มีด

ผมเรียนรู้ว่า…
ทั้งผมและนักศึกษา
ไม่สำคัญ… ว่าเราได้ใช้สัญศาสตร์ในการออกแบบหรือไม่
ไม่สำคัญ… ว่าเราจะอธิบายกระบวนการทำงานของเรา
เป็นภาษาทางสัญศาสตร์ได้หรือไม่

หากแต่… ถ้าการศึกษาเรื่องใดๆ บนโลกก็ตาม
แล้วช่วยทำให้เรากลับมาทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ได้ชัดเจน
และทำให้เรามองรอบด้านยิ่งขึ้น
นั่น… นับว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง

สุดท้าย…
สัญศาสตร์ยังจูงใจให้ผมสนใจศาสตร์และเรื่องราวอื่นๆ อีกด้วย
นอกเหนือจากตัวมันเองอีกด้วย

พอล แรนด์ เคยตอบคำถาม
เกี่ยวกับการอ่านหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้ของเขา
เมื่อถูกถามว่า…
“คุณนำเอาสิ่งที่อ่าน รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ มาสัมพันธ์กับงานออกแบบของคุณอย่างไร?”

แรนด์ตอบได้อย่างทำให้ผมเกิดซาโตริขึ้นมาทันทีว่า…
“คุณไม่ต้องไปพยายามเชื่อมโยงอะไร
มันก็เหมือนกับการกินกับการวิ่ง
คุณคงไม่กินขนมปังตอนวิ่งหรอก!”

จากนี้…
ผมหวังว่าจะพอทำให้ทุกคนอยากลองชิมขนมปัง
ที่ชื่อ สัญศาสตร์ บ้างนะครับ.

2 thoughts on “ บันทึกการบรรยาย สัญศาสตร์การออกแบบ ”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s