Interview — Xspace Gallery

Talk with Artist

นักออกแบบผู้ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างศิลปะและกราฟิกดีไซน์ สันติ ลอรัชวี

ถ้าพูดถึงชื่อ สันติ ลอรัชวี คนรักงานกราฟิกดีไซน์คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะนักนักออกแบบกราฟิกชาวไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอกราฟิกดีไซน์ แพรคทิเคิล (Practical Design Studio) ผลงานของเขามักจะเป็นการสำรวจความเป็นระบบภาษาของกราฟิกและไทโปกราฟี หรือการออกแบบตัวพิมพ์ เขามักจะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการสื่อสารและแสดงออกทางความคิดของเขา 

ผลงานของสันติที่หลายคนน่าจะเคยคุ้นตาคืองานแบบปกหนังสือหลากหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นปกหนังสือชุด Wisdom Series อันประณีตงดงาม ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์ openbooks หรือปกหนังสือ มูซาชิ อันเรียบง่ายเฉียบคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานการออกแบบปกหนังสือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มาน เฮสเซ ฉบับภาษาไทย ที่ออกแบบและผลิตอย่างประณีต พิถีพิถัน และงดงามไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ โดยพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพียงแค่ 1,000 เล่ม และเปิดให้เข้าไปจับจองทางออนไลน์ ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์ด้วยการที่หนังสือถูกจองจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาแค่ 12 ชั่วโมง

สันติได้รับรางวัล Designer of the Year สาขาการออกแบบกราฟิกจากนิตยสาร Wallpaper* และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เขายังเป็นนักออกแบบกราฟฟิกชาวไทยคนแรกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน Graphic Trial โครงการประจำปีที่สำรวจความก้าวหน้าด้านกราฟิกดีไซน์และการแสดงออกเกี่ยวกับศิลปะการพิมพ์ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Printing Museum ที่โตเกียว ในปี 2018

เขายังทำผลงานที่คาบเกี่ยวระหว่างพรมแดนของศิลปะและงานดีไซน์ ดังเช่นในผลงานชุด A State of Mind (2020) ที่สื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะจิตใจและความเป็นตัวตนผ่านกระบวนการทำงานกราฟิกดีไซน์อันซับซ้อนไปจนถึงเรียบง่ายในรูปแบบของงานโปสเตอร์ดีไซน์เชิงทดลอง ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์อันสลับซับซ้อน ทั้งรูปวงกลมและรัศมี ที่ดูนิ่ง สงบ สมดุล ไปสู่รูปที่สะท้อนสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เข้ามาปะทะ ทั้งใบหน้ายิ้ม โกรธขึ้ง ขึงขัง โดยตำแหน่งของรูปทรงเรขาคณิตที่แสดงถึงสภาวะอารมณ์เหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบระเบียบตามหลักตรรกะและคณิตศาสตร์ในงานกราฟิกดีไซน์

ด้วยความที่สันติกำลังจะเข้ามาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานใน Xspace เร็วๆ นี้ เราจึงถือโอกาสแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตนและผลงานของเขาให้อ่านกัน

Xspace:

ผลงานที่คุณจะนำมาแสดงกับ Xspace เป็นงานแบบไหน

สันติ:

เป็นงานโปสเตอร์ที่เคยแสดงที่ The National Art Center ที่โตเกียวเมื่อปลายปี 2019 เป็นนิทรรศการที่รวมโปสเตอร์ของนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดโปสเตอร์ของ JAGDA (Japan Graphic Designers Association Inc.) สมาคมนักออกแบบกราฟฟิกของญี่ปุ่น ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ก็เลยแสดงด้วยกันกับนักออกแบบคนสำคัญของญี่ปุ่นหลายคน รวมถึงนักออกแบบชาวสวิสและเยอรมันด้วย ผลงานที่แสดงเป็นโปสเตอร์ที่หยิบมาจากปกหนังสือที่เคยออกแบบให้สำนักพิมพ์ openbooks ชุด Wisdom Series และหนังสือ สิทธารถะ ของ เฮอร์มาน เฮสเซ ซึ่งผมตีความปกเหล่านี้ออกมาเป็นงานโปสเตอร์ นั่นเป็นครั้งเดียวที่เคยเอางานชุดนี้ออกไปแสดง ก็เลยคิดว่าน่าจะเหมาะที่จะเอามาแสดงที่ Xspace อีกครั้ง

Xspace:

หมายถึงเอาปกหนังสือมาขยายขนาดเป็นโปสเตอร์หรือครับ

สันติ:

จริงๆ ก็จะไม่เหมือนปก 100% จะมีการปรับให้เข้ากับสัดส่วนของความเป็นโปสเตอร์ และระยะของการมอง เพราะฉะนั้นมันก็จะไม่เหมือนซะทีเดียว อย่างเช่น ปกหนังสือ สิทธารถะ คนจะคุ้นกับภาพแม่น้ำกระดาษ แต่จริงๆ ปกในของหนังสือจะมีลักษณะเหมือนเป็นโมเลกุล เป็นอนุภาคเล็กๆ ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเป็นอีกความหมายหนึ่งที่เราใส่ไว้ในหนังสือเป็นต้น แล้วก็วิธีการจัดการกับสัดส่วนของโปสเตอร์นี่ หรือแม้กระทั่งการให้สี ก็จะแตกต่างกับการทำปกหนังสือ 

ส่วนงานอีกชุดเป็นโปสเตอร์อีกซีรีส์ ที่เคยแสดงในนิทรรศการกลุ่มชื่อ Graphic Trial 2018 ที่ Toppan Printing โตเกียว เป็นโปสเตอร์ชุดใบหน้าคน งานชุดนี้ก็จะมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อนในแง่ของกระบวนการพิมพ์ออฟเซ็ท ที่เรียกว่าเต็มรูปแบบจริงๆ เพราะงานแต่ละชิ้นจะมีกระบวนการพิมพ์มากกว่าเกือบ 10 ชั้น ผ่านเทคนิคต่างๆ แนวคิดของงานชุดนี้เป็นการสะท้อนการสำรวจความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจของตัวเองออกมา ที่หยิบเอางานชุดนี้มาแสดง เพราะคิดว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยเห็น และเป็นงานที่ดูจากภาพถ่ายก็จะไม่เห็นรายละเอียดของงาน

อีกชิ้นหนึ่งเป็นงานที่ผมเคยแสดงที่ BUG (หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ) ซึ่งเป็นการลองเปลี่ยนจากการทำงานกราฟฟิกดีไซน์มาทำงานสามมิติ ด้วยความที่เราสนใจเรื่องความสัมพันธ์หลายๆ อย่างที่เคยเผชิญมา ซึ่งมีความสัมพันธ์ในรูปแบบหนึ่งที่ผมเรียกว่า เป็นเหมือนบทสนทนาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ก็ตีความออกมาเป็นชุดโต๊ะกับเก้าอี้ ที่เข้าไปนั่งไม่ได้ หรือแม้แต่ตั้งอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องเอาไปพิงอยู่ที่มุมของห้อง ตรงกลางโต๊ะจะมีช่องให้คนดูดึงกระดาษที่คล้ายทิชชู่ที่มีเนื้อหาหรือความหมายอยู่ในนั้น

Xspace:

ที่บอกว่าเป็นโปสเตอร์ที่มีกระบวนการพิมพ์ออฟเซ็ทที่ซับซ้อนหลายชั้นนี่เป็นยังไง

สันติ: 

ด้วยรูปแบบในการพิมพ์ที่มีหลากหลาย ทั้งออฟเซ็ท, ซิลค์สกรีน, การเคลือบผิวมันแบบเคลือบสปอตยูวีเฉพาะจุด ไปจนถึงการทำฮอตแสตมป์ปิ้งฟอยล์, ปั๊มนูน จึงทำให้เราต้องย้ายกระดาษแผ่นเดียวกัน ไปพิมพ์ในหลายโรงพิมพ์ ซึ่งความน่าสนใจในการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่นก็คือ กระดาษนั้นเป็นวัสดุที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับความชื้น มีความยืดหดอยู่ในตัว เพราะฉะนั้น การ Register หรือการพิมพ์ให้ตรงกันเป๊ะๆ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าทึ่ง และเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะท้าทายในการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง 

Xspace:

ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ยากเอาการ

สันติ: 

ใช่ ถ้าเป็นในบ้านเราอาจจะยากลำบากพอสมควร และใช้ต้นทุนในการผลิตสูงมาก เราโชคดีที่ผู้ดูแลการพิมพ์ที่เป็นโรงพิมพ์ชั้นนำอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นเข้ามารับผิดการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงทำให้เรามีโอกาสงานชุดนี้ขึ้นมาได้

Xspace:

ในฐานะที่เป็นนักออกแบบกราฟิก คุณมองงานชุดนี้ของตัวเองว่าเป็นอะไร งานดีไซน์หรืองานศิลปะ

สันติ: 

ที่แน่ๆ เลยคือผมใช้กระบวนการออกแบบในการทำขึ้นมา เพราะโดยธรรมชาติผมเป็นนักออกแบบกราฟิก ถ้าจะตีความให้ชัดเจนคือ เราทำงานออกแบบสื่อสารทางภาพ เดิมทีเราอาจจะคุ้นเคยว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์มักจะทำงานที่ถูกว่าจ้างให้ออกแบบโดยลูกค้า แต่ถ้าเราย้อนมามองว่า กราฟิกดีไซน์คือ “การสื่อสารเชิงภาพ” ผมคิดว่า หลายเรื่องที่อยู่ในความคิด ความเชื่อของเรา หรือสารที่เราอยากจะเสนอ บางครั้งเราอาจจะไม่อยากเสนอด้วยถ้อยคำ แต่อยากนำเสนอด้วยภาพแทน ผมมองว่ากระบวนการนี้ใกล้เคียงกับการสื่อสารด้วยงานออกแบบมากๆ เพียงแต่หลายครั้ง พอนักออกแบบอย่างเราไปงานนำเสนอส่วนตัวในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็น Mass media (การสื่อสารมวลชน) จะเป็นหอศิลป์หรือพื้นที่เฉพาะก็ดี ทำให้เกิดการทับซ้อนของบทบาทจนทำให้คนตั้งคำถามว่า นี่เป็นงานศิลปะหรือเปล่า? ซึ่งมันก็มีความคลุมเครือแบบนั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผมอธิบาย มันก็คือกระบวนการออกแบบที่ไปวางอยู่บนพื้นที่ทางศิลปะน่ะ

Xspace:

ทั้งงานออกแบบและงานศิลปะก็คือการสื่อสารความคิดของคนออกมาเหมือนๆ กัน

สันติ: 

แทบจะไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะงานศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยสื่อ วัสดุ หรือแบบแผนในการทำงาน เพราะฉะนั้น สำหรับผม บางทีก็ป่วยการเหมือนกัน ที่เราพยายามจะไปนิยามให้ชัดเจน จริงๆ ก็อาจจะมีประโยชน์ในแง่ของการวิเคราะห์และการทำความเข้าใจอยู่ แต่ถ้าจะเอาให้ถึงที่สุด ผมว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยเกินไป

Xspace:

ในปัจจุบันเส้นแบ่งพรมแดนของศิลปะและงานออกแบบก็แทบจะเลือนรางหมดแล้ว 

สันติ: 

ผมคิดแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งอาจจะดีก็ได้นะ เพราะเอาจริงๆ อาชีพดีไซเนอร์เนี่ย เกิดขึ้นมาแค่ 200 ปี บวกลบไม่เท่าไรนะ ก่อนหน้านั้นไม่มีอาชีพนี้อยู่ เช่นเดียวกับคำว่า ดีไซน์ สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นงานออกแบบหลายๆ งาน เกิดจากการทำของศิลปิน เพียงแต่พอศิลปินเริ่มมาทำงานรับจ้าง ก็เลยเกิด เหตุเฉพาะกิจ จนกลายเป็นระบบ กลายเป็นอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจ พอกลายเป็นโครงสร้างทางธุรกิจ ก็เลยมีอาชีพนักออกแบบขึ้นมา เพราะฉะนั้น จริงๆ ไม่ได้หมายความว่าเส้นแบ่งเพิ่งกำลังจะเบลอ เพียงแต่ว่ามันเคยเบลอ แล้วก็มาชัด แล้วก็กลับมาเบลออีกครั้ง

Xspace:

ศิลปินอุคิโยเอะของญี่ปุ่นในยุคเอโดะ นอกจากจะวาดรูปให้ชนชั้นสูง ก็ยังรับจ้างทำภาพวาดให้สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ของพ่อค้า หรือศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์สมัยก่อนก็ออกแบบโปสเตอร์หรือใบปลิว

สันติ: 

ใช่ แต่จะมีช่วงหนึ่งที่มีการแบ่งแยกสื่อในการทำงานหรือวิชาชีพเหล่านี้ออกจากกัน แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะศิลปินหลายคนก็ทำหนังสือ บางคนทำงานศิลปะเป็นโปสเตอร์ อย่างเช่น โรนี ฮอร์น (Roni Horn), บาบาร่า ครูเกอร์ (Barbara Kruger) 

ผมเคยไปดูงานของ โรนี ฮอร์น ครั้งนึงที่ Tate Modern เป็นงานโปสเตอร์ออฟเซ็ท ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคิดว่างานออฟเซ็ทจะเป็นศิลปะได้ เพราะเคยเข้าใจว่าศิลปะต้องใช้มือทำ หรือต้องเป็นทักษะเชิงช่างเท่านั้น จนได้มาเห็นงานของโรนี ฮอร์น ที่เป็นงานพิมพ์ออฟเซ็ทชัดๆ เป็นงานพิมพ์สี่สี ภาพแม่น้ำ นั่นทำให้ผมเปิดกว้างขึ้น และทำให้ผมสนใจว่าผมจะทำงานออฟเซ็ทให้ก้าวไปอีกระดับกว่าที่คุ้นเคยกันได้ยังไง อาจจะไม่คิดขนาดที่ว่าจะทำให้เป็นงานศิลปะ เแต่เรารู้สึกว่าพื้นที่เริ่มเปิดให้เรา และทำให้ผมเริ่มหันมาสนใจเรื่องว่า จริงๆ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องกลับไปทำภาพพิมพ์แบบที่เป็นเดิมๆ ก็ได้ ถึงผมอยู่ในโลกของงานอุตสาหกรรม แต่เราจะทำยังไงให้งานอุตสาหกรรมนั้นมีศิลปะมากขึ้น นี่เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผมเหมือนกัน

Xspace:

ด้วยความที่งานชุดโปสเตอร์ของคุณมีความก้ำกึ่งระหว่างงานดีไซน์และงานศิลปะ คุณคิดว่าคนที่ซื้องานของคุณเขาไปในฐานะอะไร โปสเตอร์ หรืองานศิลปะภาพพิมพ์

สันติ:

ผมก็รู้สึกว่างานชิ้นนี้เรียกว่ายืนอยู่ตรงกลางให้คนตัดสินใจเลย ว่าคุณจะมองว่าเป็นอะไร ถ้าเขามองว่าเป็นเป็นโปสเตอร์ เขาก็ควรจะเอาไปติดในฐานะเป็นโปสเตอร์ แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าหลายคนก็มองเป็นงานศิลปะ เพราะมันไม่ได้อยู่ในบริบทของงานเชิงพาณิชย์ หรือระบบอุตสาหกรรม คุณค่าในการเลือกว่าจะให้อยู่ฝั่งไหน (ศิลปะ/ดีไซน์) จริงๆ ค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับคนซื้อ หรือคนที่ได้ไป สำหรับผมค่อนข้างกับแฮปปี้กับทั้งสองฝ่าย เพราะตราบใดที่คุณนำงานของเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคุณ นั่นเป็นความพึงพอใจ เป็นความดีใจว่างานของเราแสดงคุณค่ามากพอ 

อย่างปี 2019 ที่ผ่านมา ผมเป็นกรรมการการตัดสินงานออกแบบโปสเตอร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็มีข้อพิพาทในบทสนทนาของกรรมการอยู่เหมือนกัน เพราะในงานโปสเตอร์เองก็มีธรรมเนียมของการออกแบบที่คุณต้องชัดเจนว่าคุณจะพูดอะไร หรือต้องแสดง Impact อะไรบางอย่างออกมา ในขณะที่มุมมองของกรรมการบางท่าน หรือแม้กระทั่งตัวผมเอง ผมมองโปสเตอร์เป็นแค่พื้นที่ในการสื่อสารบางอย่าง ซึ่งสำหรับทุกวันนี้อาจจะไม่ต้องชัดเจนก็ได้ ก็เป็นข้อพิพาทของกรรมการว่า ถ้าสื่อสารไม่ชัด หรือไม่ Impact พอ มันก็จะกลายเป็นงานศิลปะมากกว่า

Xspace:

ไม่ตอบโจทย์การเป็นโปสเตอร์

สันติ:

ใช่ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นข้อพิพาทที่น่าสนใจอันหนึ่งในระหว่างที่เราตัดสินงานเหมือนกัน เพราะในวงการกราฟิกเองก็มีข้อถกเถียงนี้อยู่เหมือนกันว่าโปสเตอร์บางชิ้นก็ดูไม่ใช่โปสเตอร์ 

Xspace:

เพราะไม่สื่อสารประเด็นชัดเจนพอ

สันติ:

ใช่ ผมยังจำได้ว่าผมโต้แย้งไปว่า มันไม่มีอะไรไม่สื่อสารหรอก ต่อให้เป็นกระดาษเปล่าก็สื่อสารได้

Xspace:

ไม่งั้น The White album ของ The Beatles ก็คงขายไม่ได้ 

สันติ:

ใช่ เพราะมันไม่มีอะไรเลย หรืองานบางชิ้น สื่อสารด้วยคำถาม แล้วสารนั้นเบลอมาก แต่ถ้าความเบลอนั้นเป็นเจตนาของผู้สร้าง ที่ต้องการให้คนตั้งคำถามด้วยความเบลอที่ว่า ก็จะมีข้อถกเถียงว่างานชิ้นนั้นเป็นโปสเตอร์หรือเปล่า? เขาก็ไม่ได้ถกเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายนะ แต่เราคิดว่าข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ๆ และก็ทำให้เราพบว่า ทุกครั้งที่เราทำงานที่ไม่ได้สอดคล้องกับธรรมเนียม ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่คนจะมองงานเราในมุมมองที่แตกต่างออกไป

Xspace:

ความจริงในอดีตที่งานกราฟิกดีไซน์เฟื่องฟู นักออกแบบก็แหวกธรรมเนียมกันสนุกมือมาก ไม่ว่าจะเป็นงานของ Hipgnosis หรือ Sagmeister ที่ต่างก็โชว์กึ๋นในการออกแบบแพคเกจ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์กันหนักหน่วง มากกว่าจะเป็นการขายสินค้าธรรมดา จนงานดีไซน์เหล่านั้นแทบจะกลายเป็นงานศิลปะไปเลย

สันติ:

ผมว่าทุกคนพยายามจะเสนอไวยกรณ์ที่มองโลกในมุมมองต่างๆ กันออกมา ยิ่งหลากหลายเท่าไร ก็ยิ่งมีความสนุกเท่านั้น ผมเองก็เช่นกัน แต่ในช่วงหลังงานของเรามีผลได้เสียเยอะในแง่ของการค้าขาย บางทีเราก็เลยอาจจะไม่กล้าที่จะเสี่ยงในงานลูกค้า เพราะถึงเราจะได้ทำงานที่ท้าทายตัวเอง แต่ถ้าต้องไปเสี่ยงกับผลตอบรับที่เป็นเป้าหมายหลักของลูกค้าที่เราดูแลอยู่ ก็ไม่คุ้ม ซึ่งตรงนี้ดีไซเนอร์เองก็ต้องตระหนักพอสมควร ระหว่างการรักษาความทะเยอทะยาน หรือการท้าทายตัวเอง กับผลประกอบการของลูกค้าที่เราดูแลอยู่ เราต้องรักษาสมดุลให้ได้ เพราะงานที่ดีบางทีไม่เพียงต้องดูดี สดใหม่ แต่มันต้องขายได้ด้วย นี่ก็เป็นโจทย์ที่เพิ่มขึ้นมา

Xspace:

ในฐานะนักออกแบบ คุณเลือกลูกค้าไหม 

สันติ:

ผมเลือกแน่นอน จริงๆ ผมก็เชื่อมาตลอดว่า คนทั้งโลกไม่ใช่ลูกค้าของเรา เพราะถ้าเราทำงานให้ทุกคนเนี่ย เราจะทำได้ไม่ดีทุกครั้ง เพราะไม่มีใครถนัดทุกอย่าง ผมเชื่อแบบนั้นนะ เพราะฉะนั้น การเข้าใจว่าเราถนัดอะไรลับหรือเหลามุมที่เราถนัดนั้นให้คมอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญมาก จริงอยู่ ในฐานะดีไซเนอร์คุณควรหมั่นขยายขอบเขตความถนัดของคุณทั้งในด้านกว้างและลึกด้วย แต่ว่าไม่ว่าคุณจะขยายให้กว้างยังไง คุณก็ไม่สามารถตอบรับความต้องการของมนุษย์ทุกคนได้ เพราะฉะนั้น การอยู่บนพื้นที่ที่เราทำได้ดีจึงสำคัญมากสำหรับผม โอกาสในการที่เราจะได้พอร์ตโฟลิโอที่ดี หมายถึงเราต้องทำงานที่ทำได้สำเร็จ ซึ่งปัจจัยหนึ่งคือการที่เราทำงานด้วยทักษะที่ตัวเองชำนาญ เพราะฉะนั้น การจะข้ามไปสู่ทักษะที่เราไม่ชำนาญนั้นมีความเสี่ยง ซึ่งบางครั้งเราก็เลือกทำนะ แต่ก็แปลว่าเราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะเราจะต้องเตรียมตัวมากขึ้นด้วย

Xspace:

เหมือนเป็นการออกนอก Comfort zone บ้าง

สันติ:

นอกความถนัดเลยแหละ เพราะว่าถ้าเราไม่ออกไปบ้าง บางทีงานเราก็จะไม่กว้าง หรือการเรียนรู้เราก็จะลดลง แต่การทำสิ่งที่เราถนัดก็ไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่ใน Comfort zone เสมอไป ถ้าเราเอาความถนัดนั้นไปตอบโจทย์ในบางพื้นที่ที่ท้าทายเรา แต่สิ่งนี้ต่างกับการที่เราต้องทำทุกอย่าง หรือทำทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเรา ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะประสบความสำเร็จได้บ่อยครั้ง ความสำเร็จในที่นี้ บางทีอาจจะหมายถึงความพึงพอใจของลูกค้า หรือการประสบความสำเร็จของแบรนด์ หรือของสินค้าที่เราไปออกแบบให้ด้วย ซึ่งถ้าเราทำสิ่งที่เราทำได้ดี ผมเชื่อว่าเราจะช่วยคนอื่นได้มากกว่าแค่การท้าทายตัวเอง ซึ่งมีโอกาสล้มเหลวสูง มีหลายครั้งในชีวิต ที่ผมขอแคนเซิลงานลูกค้าอยู่ไม่น้อย คือพอทำกันไปสักพัก ก็คุยกันตรงๆ เลยว่า งานนี้นักออกแบบคนอื่นน่าจะเหมาะกว่าเรา แต่ไม่ใช่น้อยใจหรือท้อแท้นะ

Xspace:

แค่คิดว่างานนี้ไม่เหมาะกับเรา

สันติ:

ใช่ หลายครั้งเราพยายามคุยเลยว่า เราหยุดงานกันแค่นี้ดีกว่า มีงานจำนวนไม่น้อยในชีวิตผมที่ไม่ได้ทำสำเร็จทุกงาน 

Xspace:

พูดถึงความท้าทาย การก้าวเข้าไปในพรมแดนของศิลปะร่วมสมัย ถือเป็นความท้าทายสำหรับคุณไหม

สันติ:

สำหรับดีไซเนอร์ ศิลปะเป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้เสนอสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการขอให้ทำ ผมคิดแบบนั้นนะ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าพื้นที่ทางศิลปะท้าทายไหม? สำหรับผม ผมคิดว่าท้าทาย เพราะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ผมยังจำได้ว่าครั้งแรกที่เราต้องทำงานแสดงศิลปะ เราถามตัวเองเยอะมาก ว่าเรามีเรื่องอะไรจะพูดเหรอ? สิ่งนี้ต่างจากธรรมเนียมที่เราเคยเรียน หรือเคยทำงานมามากๆ สมัยทำงานใหม่ๆ ทุกครั้งเราจะรู้อยู่แล้วว่าโจทย์คืออะไร เรามีปัญหามาให้แก้ชัดเจนอยู่แล้ว มีกลุ่มเป้าหมายต่างๆ แต่พออยู่ในพรมแดนของศิลปะ ทุกอย่างเปิดกว้างหมด ซึ่งเกิดเป็นคำถามข้อใหญ่ทีเดียวสำหรับผมในช่วงเวลานั้น ว่าเรามองเรื่องรอบตัวยังไง มันทำให้เราพินิจโลกอีกแบบหนึ่งที่ไม่มีอะไรมากำหนด ทำให้เรากลับไปมองที่ตัวเราเองมากพอสมควร ผมคิดว่าการทำงานอยู่บนโลกศิลปะทำให้เราขัดเกลาตัวเราเอง และทำให้เราค้นพบว่า บางครั้งสิ่งที่เราสนใจ กับ สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจ นั้นไม่เหมือนกัน หลายครั้งเราพยายามทำสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเราคิดว่าคนอื่นสนใจ (หัวเราะ) แต่พอทำเข้าจริงๆ มันพิสูจน์ได้ว่าคุณสนใจเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน หากคุณซื่อสัตย์กับตัวเองนิดนึง ก็พอจะเช็คได้อยู่ประมาณหนึ่ง 

Xspace:

การทำงานศิลปะมีโจทย์ไหม

สันติ:

ผมว่าศิลปะไม่ได้เริ่มต้นที่โจทย์ชัดนัก แต่พอเข้าไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีโจทย์ เพียงแต่งานศิลปะไม่ได้เริ่มต้นด้วยโจทย์ แต่ถ้างานดีไซน์ในลักษณะที่เป็นงานบริการลูกค้าเนี่ย จะเริ่มต้นที่โจทย์เลย ไม่ใช่อย่างอื่น จะไม่เริ่มต้นจากการที่เราอยากทำ แต่จะมีคนมาบอกสิ่งที่ต้องการ เราถึงเริ่มต้นทำขึ้นมา

Xspace:

มีคำพูดที่ว่า “งานดีไซน์คือการตอบโจทย์ ส่วนงานศิลปะคือการตั้งคำถาม” คุณคิดยังไงกับประโยคนี้

สันติ:

สำหรับผม ผมมองว่าดีไซน์คือ Activities (การปฎิบัติ) หรือ Process (กระบวนการ) ส่วนศิลปะเป็น Sense (ความรู้สึกนึกคิด) และ Outcome (ผลลัพธ์) เพราะฉะนั้นผมถึงมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน สมมุติว่าเรากำลังต้องการตั้งคำถามกับสังคมด้วยศิลปะ คุณก็ต้องดีไซน์ว่าคุณจะตั้งคำถามยังไง ถ้าเรามองเป็นประโยค ผมคิดว่าสองสิ่งนี้อยู่ร่วมกัน เพราะถ้าเราอยากจะบอกเล่าเรื่องราว เราก็ต้องดีไซน์วิธีการบอกเล่า ถ้าเราอยากจะชวนเชื่อ เราก็ต้องดีไซน์วิธีการชวนเชื่อ ถ้าเราอยากตั้งคำถาม เราก็ต้องดีไซน์วิธีการตั้งคำถาม ผมเห็นความสัมพันธ์แบบนี้อยู่

Xspace:

ดีไซน์เป็นกระบวนการที่ทำให้สารไปถึงเป้าหมาย?

สันติ:

ผมคิดอย่างนั้นนะ ถ้าถอยกลับไปมองความหมายโดยพื้นฐาน ดีไซน์ คือ การวางแผน ในการทำอะไรบางอย่างให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการที่คนชอบเรียกตอนนี้ว่า “Design Thinking” ก็คือคุณต้องค้นหาตัวประเด็นให้ได้ว่าคุณต้องการสื่อสารเรื่องอะไร แล้วคุณก็เอาไอเดียนั้นไปสร้างต้นแบบ หรือหาวิธีการเล่าเรื่องออกมา ถามว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นกับศิลปินไหม? ผมคิดว่าเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะฉะนั้น Activity หรือ Process นั้นเกิดขึ้นอยู่กับทุกคน มีแค่นิยามทางวิชาชีพกับตัวผลงานเท่านั้นแหละ ที่คนพยายามจะตีกรอบว่า นี่คืองานดีไซน์ หรือ งานศิลปะ

Xspace:

อย่างที่คุณเคยพูดว่าไม่ใช่แค่ในปัจจุบันที่เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างศิลปะและดีไซน์เลือนราง แต่มันเลือนรางมาตั้งนานแล้ว

สันติ:

ใช่ แล้วยิ่งพอเราพยายามจะแบ่งแยกให้ชัดเท่าไร พอถึงเวลาหนึ่ง เส้นแบ่งพรมแดนเหล่านั้นก็จะถูกกระเทาะออกอยู่ดี จริงๆ ตัวพรมแดนก็ถูกขยับเขยื้อนอยู่ตลอดเวลา เราต้องทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่มีนิยามตายตัว 

Xspace:

ถ้ามองเทรนด์ในวงการสร้างสรรค์ในปัจจุบัน เราเห็นว่าดีไซเนอร์ในปัจจุบันเข้ามาในพื้นที่ทางศิลปะกันมากขึ้น เข้ามาแสดงงานในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ กันมากขึ้น

สันติ:

จริงๆ เทรนด์นี้ก็คือความท้าทายสำหรับผมนะ ก็เหมือนน้ำที่ไหลไปในที่ที่มีรู มีร่อง มีช่องทาง ผมมองว่าทั้งศิลปะและดีไซน์เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน ศิลปินกับกราฟิกดีไซเนอร์ความจริงก็มีอุปกรณ์เดียวกันนั่นแหละ คือมีการทำงานกับ Visual (สายตา) กับ Visual Elements (ทัศนธาตุ) ทั้งหลายเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ร่องน้ำของศิลปะกับดีไซน์ไปคนละร่อง แต่วันหนึ่งร่องน้ำเกิดเชื่อม น้ำก็จะไหลไปรวมตัวกัน คนทำงานศิลปะบางท่านไปทำงานรับงานรับจ้างออกแบบ มีงานอยู่บนเสื้อผ้า กระเป๋า หรือกระติกน้ำ นั่นก็คือร่องน้ำที่เปิดเข้ามา เพราะพอถึงวันนึง ลูกค้าจ้างกราฟิกดีไซเนอร์ทำงานแล้วคนเกิดเบื่อ ก็เลยไปซื้องานของศิลปะมาอยู่บนสินค้า บนแพคเกจเลยดีกว่า ร่องน้ำก็เลยเกิดขึ้น ร่องน้ำเหล่านี้ก็เกิดจากระบบอุตสาหกรรมหรือการค้าขายที่มีคนขุดขึ้นมา เช่นเดียวกัน ในวงการศิลปะเอง ก็มีภัณฑษรักษ์หลายท่านเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์ลองเข้ามาแสดงงานในพื้นที่ทางศิลปะ ผมว่านี่คือการขุดร่องน้ำเหมือนกัน พอเกิดร่องน้ำตรงไหน พวกเราก็ไหลไปทางนั้น

Xspace:

พูดแบบนี้แล้วทำให้นึกถึงคำพูดของ บรูซ ลี ที่ว่า “Be Water My Friend” (จงเป็นดั่งน้ำเถิด เพื่อนเอ๋ย) เลย

สันติ:

(หัวเราะ) ผมมองว่ามันเคลื่อนที่แบบนั้นน่ะ เพราะเรามาจากต้นน้ำเดียวกัน เราใช้ตัวทัศนธาตุเดียวกันเป็นพื้นฐาน เรามีเจตนาเดียวกัน คือการนำเสนอวิธีการมองโลกในรูปแบบต่างๆ ออกมา

Xspace:

แบบนี้คนที่เป็นศิลปินหรือนักออกแบบก็ต้องมีความยืคหยุ่นพอสมควร ที่จะเปลี่ยนสถานะหรือตัวตนของตัวเองให้มันเหมาะสมกับสื่อหรือพื้นที่ที่เราจะเข้าไปอยู้

สันติ:

ถ้าคุณจะยืนปักหลัก คุณก็ต้องมีรากแก้ว แต่ถ้าคุณจะเคลื่อนที่ไปมา ก็ต้องเป็นเหมือนน้ำ ผมว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ เพียงแต่ในปัจจุบันเราจะเห็นการเคลื่อนที่เยอะกว่าการที่จะเห็นใครสักคนปักหลักอยู่กับที่ แต่นักออกแบบหรือศิลปะบางท่านที่ยืนปักหลักอยู่กับที่แล้วมีรากแก้ว แข็งแรงจริงๆ ผมว่าก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ

Xspace:

ไม่ว่าสังคมหรือสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังยืนยันอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง? 

สันติ:

ใช่ เป็นอย่างนั้นไปตลอด ซึ่งผมมองว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมหรือสภาพแวดล้อมรอบข้างเสมอไป.

Xspace:

พูดถึงงานที่จะนำมาแสดงกับ Xspace ที่เป็นภาพพิมพ์ออฟเซ็ท น่าสนใจตรงที่ ปกติคนจะไม่ค่อยให้คุณค่ากับงานพิมพ์ออฟเซ็ท เพราะคิดว่าเป็นสิ่งพิมพ์ทั่วไป อย่าว่าแต่จะมองเป็นงานศิลปะเลย

สันติ:

โดยทั่วไป คนจะคุ้นว่าออฟเซ็ทเป็นงานพิมพ์สิ่งพิมพ์จำนวนมากๆ ก็คงเหมือนงานซิลค์สกรีนในช่วงหนึ่ง ก่อนที่ วอร์ฮอล (Andy Warhol) จะหยิบเอามาทำงานศิลปะ แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับผม ผมมีความคุ้นชินกับมัน เพราะพูดง่ายๆ ว่าเราโตขึ้นมาด้วยงานออฟเซ็ท ก็ไม่ได้ถึงขนาดต้องพยายามย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นนะ เราแค่พยายามตั้งคำถามว่าเราจะทำงานออฟเซ็ทให้มีคุณค่า มีความละเอียดอ่อนขึ้นมาได้ไหม แล้วพอเราศึกษามาประมาณหนึ่ง เรามีความเชื่อว่ามันทำได้ แต่อาจจะต้องการความร่วมมือจากโรงพิมพ์มากขึ้น ต้องการเวลาหรือโอกาส และความเข้าใจอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้น งานโปสเตอร์ที่ทำจากงานออฟเซ็ทที่ผมพยายามพัฒนาขึ้น ผมพยายามใช้คุณภาพของงานออฟเซ็ทนั้นแหละ มาเพิ่มรายละเอียดที่เราอยากจะพูด โดยเฉพาะงานช่วงหลังของผมจะเป็นงานขาว-ดำ เยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องของรายละเอียด ว่าเราสามารถทำงานพิมพ์ที่ออฟเซ็ทให้สร้างมิติของงานขาว-ดำ ที่มีลักษณะแตกต่างกันในรายละเอียดได้ยังไงบ้าง ก็เกิดการทดลองทำมาเรื่อยๆ 

อย่างงานชุดนี้ก็จะมีการทำงานที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น การผสมสีดำหลายเฉดแล้วพิมพ์ทับๆ กัน ถ้าดูตามปกติก็ไม่ได้มีความน่าตื่นเต้นอะไร แต่ถ้าใครใช้วเลาดูนานๆ ก็จะเห็นรายละเอียดมากขึ้น มันจะเป็นงานโปสเตอร์ที่อาจจะสวนทางกับแนวคิดโปสเตอร์ที่ว่า เห็นครั้งแรกมันจะต้องโดนคนดูปังๆ แต่งานชุดนี้ถ้าคุณดูทุกวัน มันจะไม่เหมือนเดิม บางทีเส้นนี้ชิดเส้นนี้ วันนี้เส้นนี้อาจจะลอยขึ้นมา ขึ้นอยู่กับวัน เวลา หรือแสงในแต่ละวันที่เราดูโปสเตอร์ ทำให้งานมีมิติที่แตกต่างกันออกไป สิ่งนี้เป็นรายละเอียดที่ผมอยากจะทำให้เกิดขึ้นในงานพิมพ์ออฟเซ็ท

Xspace:

ซึ่งศักยภาพของงานพิมพ์ออฟเซ็ทสามารถทำได้?

สันติ:

จริงๆ ก็เหมือนเป็นความรู้พื้นฐานนะ สมมุติเราใช้ดินสอ 3 – 4 แท่ง ความดำไม่เท่ากัน HB, 2B, EEE มาวาดภาพภาพนึงน่ะ ก็ไม่ต่างอะไรกับการผสมสีดำหลายสีพิมพ์ทับกัน ทำให้เป็นงานพิมพ์ที่มีคุณภาพแบบแบบ drawing ก็จะได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น สีดำบางสีนี่เราผสมสี bronze เข้าไป ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้เกิด represenattion ของ carbon เหมือนเวลาที่เรา drawing ได้ สิ่งนี้ในกระบวนการที่เราอาจจะต้องคิดริเริ่มนิดนึงว่า ถ้าอยากได้คุณสมบัติแบบนี้ เราจะใช้กระบวนการผลิตแบบ หรืองานบางชิ้นที่มีลักษณะที่ผสมสี metallic ลงไป เพื่อต้องการที่จะนำเสนอคุณสมบัติแบบ graphite ของดินสอ ซึ่งพอเราดูนานๆ เราถึงจะเริ่มเห็น อาจจะเป็นโปสเตอร์ที่ต้องใช้เวลากับมันมากกว่าปกติในการดู

Xspace:

ฟังดูแล้วออกจะสวนทางกับหลักการ Communication design หรืองาน Graphic design ที่มักจะบอกว่าต้องสื่อสารให้คนดูเข้าใจทันทีที่เห็น ไม่งั้นก็จะเป็นงานดีไซน์ที่ล้มแหลว แต่งานโปสเตอร์นี้กลับต้องการให้คนดูใช้เวลากับมัน ถึงจะเห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่

สันติ:

ใช่ แต่ก็เหมือนจังหวะหมัดหนึ่ง สอง แหละ คือถ้าดูเร็วๆ ก็จะพอรู้ว่าภาพรวมคืออะไร? แต่พอดูนานๆ อาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นภาพรวม แต่จะไปเห็นรูปทรง เห็นรายละเอียดอื่นๆ แทน งานผมในช่วงหลังๆ จะเป็นอย่างนี้ จะมีสองจังหวะ คือไม่ถึงขนาดที่ทำให้คนดูครั้งแรกแล้วไม่อยากดู หรือเดินหนีไปเลย แต่อย่างน้อยเราให้ภาพรวมๆ กับคนดูว่าเรื่องมันเป็นประมาณนี้ ไม่ต้องดูแบบเจาะลึกก็ได้ แต่ถ้าคุณให้เวลากับมันพอ หรือดูในระยะที่ใกล้ขึ้น มันจก็จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น งานโปสเตอร์ชุดนี้ก็จะมีจังหวะในการดู ทั้งในแง่ของระยะใกล้ ไกล เร็ว ช้า อยู่ ถ้าคุณดูเร็ว คุณก็จะได้แบบหนึ่ง ถ้าคุณดูช้า คุณก็จะได้อีกแบบหนึ่ง ถ้าคุณดูไกล คุณได้แบบหนึ่ง ถ้าคุณดูใกล้ คุณได้อีกแบบหนึ่ง นี่เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ผมพยายามจะสร้างขึ้นในงานออกแบบ

Xspace:

คุณเอาคุณสมบัติแบบนี้มาใช้ในงานออกแบบเชิงพาณิชย์ไหม

สันติ:

หลักๆ ก็ใช้ในงานออกแบบปกหนังสือซะเยอะ เพราะว่าปกหนังสืออยู่กับคนนาน และอยู่ใกล้ชิดคน เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมชอบออกแบบหนังสือ ปกหนังสือ เพราะว่าหนังจะอยู่กับคนไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเขาอาจจะหยิบมันออกมาใหม่ เขาก็จะเห็นมันในอีกแง่มุม รายละเอียดหลายอย่างที่ผมออกแบบในหนังสือ ผมแทบไม่เคยเอามาใช้ในการโปรโมทเลยว่ามีอยู่ เหมือนเราให้เป็นโบนัสกับคนที่ซื้อหนังสือไปแล้ว ไม่ใช่สำหรับคนที่ยังไม่ซื้อ (หัวเราะ)

Xspace:

ซื้อไปแล้วถึงจะเห็น?

สันติ:

ซื้อไปแล้ว ใช้เวลากับมันนิดนึง คุณอาจจะเห็นว่า อ๋อ บางทีมันมีไอ้นั่นไอ้นี่อยู่ด้วยแฮะ! อย่างหนังสือบางเล่มมีสีเรืองแสง ถ้าไม่ปิดไฟ คุณก็จะไม่รู้ว่ามันอยู่ รายละเอียดเหล่านี้เราไม่ได้บอกคนอ่าน แต่ถ้าเขาใช้เวลากับมันมากพอ เขาก็จะรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่

Xspace:

ฟังดูเป็นอะไรที่สวนทางกับหลักการตลาดเหมือนกันนะ

สันติ:

จริงๆ ก็อยู่ที่ว่าเราต้องตอบโจทย์สำนักพิมพ์ให้ชัดก่อน ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเพียงพอแล้วต่อการทำการตลาด ต่อการขาย ในขณะเดียวกันเราก็ทำให้เขาประทับใจในสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้ว่าก่อนว่ามี แต่พอเขารู้ เขาก็จะ อื้อหือ! สำนักพิมพ์นี้มันมี…

Xspace:

มี Easter Egg ด้วย

สันติ:

อะไรแบบนั้น (หัวเราะ) ผ่านมาปีหนึ่ง หลังหนังสือออก บางทีผมก็ลงโพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่าถ้าเอาไฟมาส่องหนังสือคุณจะเห็นรายละเอียดพวกนี้ คนซื้อก็กลับไปดู เฮ้ย มันมีจริงๆ ด้วย! (หัวเราะ)

หรืออย่างปกหนังสือของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์เนี่ย ผมค่อนข้างจะพิถีพิถันกับรายละเอียด เพราะผมคิดว่าหนังสือเป็นสื่อที่เราอยู่กับมันในระยะใกล้ ผมว่ามันเป็นสื่ออย่างหนึ่งเลยที่ดีไซเนอร์สามารถสื่อสารกับคนในระดับที่ทั้งนานและใกล้ได้ เพราะเขาอยู่กับมันนาน อยู่กับมันไปเรื่อยๆ แล้วก็อยู่ใกล้ พอหนังสือเป็นวัตถุแบบนี้แล้ว เราจะทำงานกับเขายังไง ซึ่งคุณภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) เขามีความเห็นพ้องเหมือนกันกับเรา ในการที่จะให้คนอ่านได้เห็นในอะไรที่แตกต่างออกไป

Xspace:

แต่การทำงานออกแบบลักษณะนี้ต้องอาศัยลูกค้าที่มีความเข้าใจพอสมควร

สันติ:

ใช่ ลูกค้าสำคัญมากๆ เวลาผมไปต่างประเทศ แล้วเห็นงานเจ็บๆ ผมยังนึกตั้งคำถามเลยว่า ลูกค้าเป็นใครวะ! มากกกว่า ใครเป็นคนออกแบบ? อีกนะ บางทีเราจะนึกว่าในห้องประชุม เขาคุยอะไรกันวะ! หรืองานแบบนี้เขาขายลูกค้าผ่านได้ยังไงวะ! แล้วความเชื่อมั่นของลูกค้าที่อนุมัติให้งานแบบนี้ผ่าน แล้วจ่ายเงินให้ผลิตมันออกมาเนี่ยเป็นตัวแปรสำคัญมากๆ งานออกแบบปกหนังสือก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่ได้งานเขียนที่ดี ไม่ได้นักเขียนที่ดี ไม่ได้บรรณาธิการที่ดี ไม่ได้สำนักพิมพ์ที่ดี โอกาสที่เราจะดีไซน์หนังสักเล่มหนึ่งให้ประสบความสำเร็จมันยากพอสมควร ก็เป็นคำตอบที่คุณเคยถามว่า เราก็ไม่สามารถที่จะออกแบบหนังสือได้ทุกเล่มเหมือนกัน ที่ cancel ไปก็มีไม่น้อย คือทำแล้วไปไม่รอด (หัวเราะ) 

Xspace:

คุณคิดยังไงกับคำพูดที่ว่า “หนังสือที่ดีไม่จำเป็นต้องตัดสินที่ปก”

สันติ:

ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่หลายๆ ครั้งเราก็ซื้อหนังสือเพราะปกนะ ผมคิดว่าหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าเราเห็นองค์ประกอบของมัน มองมันเป็นวัตถุอันหนึ่ง ถ้าเราจะให้ค่าเนื้อหาข้างในของมันอย่างเดียวก็ได้ จริงๆ มันเป็นสิทธิของคนซื้อ เงินอยู่ในกระเป๋าสตางค์คุณใช่ไหม เเพราะฉะนั้นก็ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด แต่สมมุติว่าเรามองอีกแง่หนึ่งว่า ในเมื่อมีคนซื้อหนังสือด้วยเหตุผลหลายอย่าง ถ้าเราตอบได้ในทุกเหตุผลก็น่าจะดีใช่ไหม เช่นบางคนซื้อหนังสือเพราะปก บางคนซื้อเพราะรูปเล่ม บางคนซื้อเพราะขนาดของตัวอักษร อย่างหนังบางเล่มผมก็ซื้อไม่ไหวจริงๆ นะ คืออ่านไม่ได้น่ะ เพราะหนังสือตัวเล็กมาก หรือฟ้อนต์ที่เลือกใช้บางฟ้อนต์ไม่เหมาะต่อการอ่าน มี texture ที่อ่านแล้วปวดตา หรือบางคนซื้อหนังสือเพราะกระดาษ บางคนซื้อเพราะนักเขียน บางคนซื้อเพราะว่าเนื้อหาในเล่มนั้นดีมาก สมมุติว่าเรามองว่าคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขในการซื้อหนังสือเล่มหนึ่งมีอยู่เท่านี้ ผมคิดว่านี่คือโจทย์ที่สำนักพิมพ์จะต้องไปถึงทั้งหมด แล้วหนังสือเล่มนั้นจะมีคนซื้อด้วยเหตุผลหลายแบบ ถ้าเราจะทำหนังสือเล่มหนึ่งให้รอด เราไม่ควรตอบแค่ เนื้อหาดี ปกสวย รูปเล่มดี อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราควรจะตอบทั้งหมด ทุกวันนี้ผมยังหาคำตอบว่า แล้วเราจะทำกระบวนการการตลาดอย่างไรดี เพื่อให้คนรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น อาจจะมีแต่บรรณาธิการที่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ดี แต่คนอื่นไม่รู้ เพราะว่าคนอื่นยังไม่ได้อ่าน กระบวนการทางการตลาดหรือการสื่อสารก็ยังจำเป็นเหมือนกัน ว่าหนังสือเล่มนี้ดียังไง ที่จะทำให้คนไปซื้อ ผมว่าตอนนี้โจทย์ของสำนักพิมพ์ใหญ่และซับซ้อนขึ้น การนั่งถกกันเพื่อที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ค่อยเกิดประโยชน์แล้ว โอเคอาจจะมีคนซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะปก นั่นคือข้อมูล หรือว่ามีคนซื้อเพราะเพื่อนบอก แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนบอกเพื่อนให้ซื้อหนังสือเล่มนี้ ผมว่านี่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ 

Xspace:

พูดถึงงานออกแบบที่มีการทดลอง หรือท้าทายในการทำอะไรใหม่ๆ แต่ในทางกลับกัน การทดลองย่อมต้องมีความผิดพลาด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานกราฟฟิกดีไซเนอร์ มักจะถูกมองว่าเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง หรือสร้างขยะ โดยเฉพาะขยะอย่างกระดาษหรือพลาสติก คุณมีมุมมองกับเรื่องนี้ยังไง

สันติ:

ผมมองสองส่วน ส่วนที่เป็นผลลัพธ์ที่ผลิตออกมาแล้วเนี่ย เป็นความรับผิดชอบโดยตรง ว่าคุณต้องสร้างงานที่พยายามให้มันไม่กลายเป็นขยะ นั่นแปลว่า ถ้าคุณทำงานออกแบบที่ดี มันจะไม่กลายเป็นขยะ นั่นคือส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว้าเราจะทำยังไงให้งานของเรามีคุณค่ามากที่สุด คำว่าคุณค่าในที่นี้ ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามนะ แต่ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเล่มหนึ่งสวยมาก แต่ดันสะกดผิด มันก็จบแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ผลงานที่ผลิตออกมามีคุณค่ามากที่สุด เพื่อที่จะทำให้คนเก็บรักษาเอาไว้ ตราบใดที่คนรักษาเอาไว้นี่ มันจะไม่กลายเป็นขยะ ผมมองแค่นั้นเอง 

แต่กระบวนการที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์เนี่ย ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าคิด ว่าจะทำอย่างใรให้ในแต่ละครั้งที่เราทำงานเกิดการสิ้นเปลืองหรือสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าในกระบวนการของนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานออกแบบสิ่งพิมพ์ หลายคนก็น่าจะพอรู้ว่างานออฟเซ็ทมีการใช้วัตถุดิบสิ้นเปลืองเยอะมาก กระดาษที่ต้องพิมพ์ทดสอบหมึกอะไรต่างๆ ผมคิดว่าการออกแบบจึงต้องมองเลยไปถึงการออกแบบกระบวนการผลิตด้วย ง่ายๆ เลย ถ้าคุณรู้เรื่องของสัดส่วนกระดาษ แท่นพิมพ์ ในกระบวนการการผลิต คุณจะวางรูปแบบที่ลดการสิ้นเปลืองวัตถุดิบลงได้ อย่างตอนนี้สำนักพิมพ์หลายๆ ที่เขาเอากระดาษที่เหลือมาทำที่คั่นหนังสือบ้าง ทำโปสการ์ดบ้าง หรือหากระบวนการและความเป็นไปได้ที่เราจะใช้สีให้คุ้มค่ามากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายเรามากๆ ว่า เราจะทำงานที่ดีโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะได้ยังไง นั่นคือวิถีของการออกแบบ เช่น เรามีงบประมาณอยู่ในการพิมพ์อยู่แค่สีเดียว คือสีดำ เราจะทำยังไงให้ออกมาดูดีหรือดูน่าสนใจที่สุด เพราะบางครั้งคนมองว่าการพิมพ์สีเดียว ไม่น่าสนใจเท่ากับการพิมพ์หลายสี นั่นแปลว่าโจทย์ของนักออกแบบก็คือ เราทำอย่างไรให้การพิมพ์สีเดียวน่าสนใจพอๆ กับการพิมพ์หลายสี หรือมากกว่า นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดที่ต้องทุกประหยัดทุกอย่าง เราแค่พยายามทำเท่าที่เราจะทำได้ ยกตัวอย่างงานล่าสุดที่เราใช้ rainbow technique เนี่ย เราไม่ต้องเปลืองค่าทำเพลทหรือยิงฟิล์มเลย เพราะเราใช้แค่เพลทเดียวในการพิมพ์หลายสี เราผสมสีบนแท่นเลย เป็นกระบวนการที่ทำสด เราก็จะได้หลายสี นี่คือการที่เราค้นหากระบวรการในการพิมพ์ครั้งเดียว เพลทเดียวให้ได้หลายสี หรืออย่างกระดาษที่พิมพ์เสียหรือทดสอบหมึก เราจะเอาไปทำอะไรต่อ เราก็เอาไปทำเป็นกระดาษห่อหนังสือ

Xspace:

ไม่ต้องเอากระดาษใหม่ไปทำ package ของหนังสืออีกที

สันติ:

การทำแบบนี้มีส่วนช่วยเรื่องการสร้างขยะ อันที่จริง กระดาษที่พิมพ์เสียหรือทดสอบหมึก โรงพิมพ์ก็ต้องเอาไปย่อยสลายหรือรีไซเคิลอยู่ดีนั่นแหละ แต่ก่อนจะย่อยสลาย เราขอเอาไปใช้งานอีกครั้งหนึ่งก่อน แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองเลยก็คงยาก เพราะทุกครั้งที่มีการทดลอง หรือแม้แต่การผลิต ก็ต้องมีการใช้ทรัพยากร เป็นวัฎจักรแบบนี้ เราก็แค่ก็ทำให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ก็พอ.

เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพถ่ายบุคคล: ศุภชัย เกศการุณกุล

ขอบคุณภาพผลงานจาก คุณสันติ ลอรัชวี, Practical Design Studio

#Xspace #art #design #graphicdesign #fineart #graphcidesigner #santilawrachawee #สันติลอรัชวี #purpose #designcollective #practicalstudio #experimental #designisrelationship #printing #book #coverdesign #inspiration #แรงบันดาลใจจากงานดีไซน์

Leave a comment