Interview — Sarakadee Lite

“การออกแบบเป็นกิจกรรมของมนุษย์” สนทนาว่าด้วยการออกแบบในมุมมอง สันติ ลอรัชวี

Text: อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
https://www.sarakadeelite.com/faces/santi-lawrachawee/

สันติ ลอรัชวี นักออกแบบที่มีผลงานทั้งทางด้านศิลปะ (Fine art) และงานออกแบบ (Design) มากมายไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ โลโก้ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) หรืองานศิลปะเดี่ยวและกลุ่มอีกมากมายโดยล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นคือนิทรรศการเดี่ยว MemOyoU (Memorandum Of Understanding) ที่ CASE Space Revolution นอกจากงานศิลปะและการออกแบบแล้วยังมีผลงานหนังสือเช่น สันติวิธีที่ ๑ (สำนักพิมพ์คัดสรรดีมาก) หรืองานแปลอย่าง พอล แรนด์ บทสนทนากับนักเรียน (สำนักพิมพ์ลายเส้น) อีกทั้งยังทำงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนและล่าสุดยังเปิดพิ้นที่ PRACTICAL school of design ที่จะมาส่งเสริมการค้นหาการเรียนรู้ด้านการออกแบบและสร้างสรรค์ ในครั้งนี้จึงได้ชวน สันติ ลอรัชวี มาสนทนาทั้งประเด็นทัศนะด้านการออกแบบและการเกิดขึ้นของ PRACTICAL school of design ว่ามีความคิดและที่มาที่ไปอย่างไรรวมถึงกลวิธีส่วนตัวที่ใช้ในการสร้างสรรค์มีกระบวนการคิดการทำอย่างไรจึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจออกมาหลายรูปแบบและชวนติดตามในทุกๆผลงาน

สำหรับตอนนี้คิดว่าการออกแบบมีความหมายครอบคลุมไปถึงไหนบ้าง?

มันยืดหด ผมไม่ค่อยกล้าใช้คำว่าคำจำกัดความเพราะถ้าเราจำกัดมันจะอยู่กับที่ เราเลยมักติดตามความเป็นไปของมันว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง อย่างในความหมายของตอนที่เราเด็กอยู่เราก็คิดว่ามันคือสิ่งสวยงามหรือบางทีเราโตขึ้นมาเราเรียนหน่อยเราก็คิดว่ามันมี ความคิด(Idea) มีความแปลกใหม่หน่อย เราพยายามนิยามมันมาเรื่อยๆในชีวิตแล้วเราพบว่าถูกหมดเลยทุกข้อเราเลยคิดว่าอยู่ที่กาลเทศะไหนว่าจะใช้นิยามแบบไหน พอเราโตขึ้นเราเลยเปิดรับทุกนิยามที่เราประสบมาเพียงแต่เราหมุนเวียนเปลี่ยนมันให้ความสำคัญให้น้ำหนักของนิยามตามโอกาสบางครั้งก็สวยงามบางครั้งก็แก้ปัญหา บางครั้งก็เกี่ยวกับผู้คน ตามกาลเทศะ และอีกนิยามคือผมมองว่าการออกแบบเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม(Activity) เป็นศักยภาพ ความสามารถแบบหนึ่งของมนุษย์ที่เราพยายามแสวงหารูปแบบบางอย่างในการที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่เราพยายามจะตั้งเอาไว้ การออกแบบจึงมีความสำคัญถึง เป้าหมาย (Purpose) และเมื่ออยากบรรลุมนุษย์จึงใช้ การออกแบบ (Design) เพียงแต่บางครั้งจุดหมายมีความแตกต่างกัน พอเราทำงานมากขึ้นเราเลยต้องคอยติดตามว่าเราจะให้น้ำหนักกับนิยามไหนในแต่ละงานถึงในแต่ละกระบวนการ

ถ้างานออกแบบมีความงามอย่างเดียวได้ไหม หรือมันจะกลายเป็นงานศิลปะ ?

ถ้าเรามองว่าการออกแบบคือศักยภาพบางอย่าง ถ้าอย่างนั้นการทำงานศิลปะก็ต้องมีศักยภาพในการทำให้เกิดความงามซึ่งนั้นคือการออกแบบ การออกแบบไม่ใช่คู่ตรงข้ามกับศิลปะแต่เป็นทักษะแบบหนึ่งที่ศิลปินจะมีในการเข้าถึงความงามนั้น เพราะหากจะสร้างงานศิลปะให้งามความงามนั้นก็คือเป้าหมาย และจะไปถึงก็ใช้การออกแบบว่าจะใช้อะไรแบบไหนในการทำงาน การออกแบบจึงไม่ใช่วิชาชีพแต่เป็น ทักษะ(Skill) แบบหนึ่งเป็นกิจกรรมแบบหนึ่งที่มนุษย์มีไว้ตอบสนองต่อสิ่งที่ต้องการ

เวลาทำงานศิลปะกับงานออกแบบคิดต่างกันไหม ?

คิดไม่ต่างเลย เวลาคิดเป็นสิ่งเดียวกัน แต่งานศิลปะมีปัจจัยที่ต่างกันอยู่อย่าง ผู้ว่าจ้างหรือผู้ที่มาขอให้เราทำในงานออกแบบจะเปลี่ยนเป็นตัวเราเองแทนเข้าไปในปัจจัย ซึ่งทำให้เราได้คิดว่าอยากจะพูดอะไรนำเสนอแบบไหน ผู้ชมก็จะแตกต่างกันตรงที่จะจำกัดและเฉพาะนิดนึง เราก็อาจชาเล้นจ์บางอย่างกับคนเหล่านั้นได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้เรื่องเท่าไหร่งานสามารถที่จะไม่ต้องชัดเจนมาก ไม่ต้องเดินเข้าไปแล้วเคลียร์เลย เป็นตัวเราได้มากขึ้น

แต่อย่างงานศิลปะที่เป็นนิทรรศการกลุ่มที่มี แกนเนื้อหา (Theme) ก็แทบไม่ต่างจากการมีลูกค้าเพียงไม่ได้เดินมาตรวจแบบเราแบบลูกค้าแต่เราก็จะคิดว่าเขาอยากได้อะไรจากเราเพิ่อรักษาภาพรวมของนิทรรศการที่เขาอยากได้ด้วยก็ต้องนับสิ่งนี้เป็นตัวแปร

ในการทำงานไม่ว่าจะรูปแบบไหนมีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง ?

วิธีเข้างานของผมสะเปะสะปะ เพียงแต่พอเข้ามาแล้วจะมีระเบียบอยู่ซึ่งหลักๆจะมีอยู่ 4 สถานะ(State) 1.การวิเคราะห์ ในที่นี้คือเราวิเคราะห์หรือคิดเพื่อจะ Input ทุกอย่างเข้าไปในหัว เช่น ถ้าเป็นงานหนังสือก็คือการอ่านหนังสือ หรืองานอื่นๆก็อาจเป็นการค้นคว้า (Research) เพื่อรับเข้ามา ส่วนตัวผมเรื่องพวกนี้ค่อนข้างจะเป็นชีวิตประจำวันเกิดขึ้นจากการได้เห็นหรือหนังสือส่วนหนึ่งที่ออกแบบก็คือหนังสือที่เคยอ่านมาก่อนหน้าที่จะต้องออกแบบอยู่แล้วหลายรอบ ขั้นตอนนี้เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดอะไรบางอย่างกับงาน 2.การตกตะกอนทางความคิด ขั้นตอนนี้สบายขึ้นมาหน่อยคือไม่ใช่ต้องนั่งขบคิดแต่คือการให้ปล่อยเกิดการตกตะกอนในความคิด 3.ทำให้เกิดการแสดงออกมาเป็นรูปธรรม ท่อนนี้บางครั้งมักถูกคิดว่านี้คือการออกแบบเพราะมันเป็นรูปธรรมมองเห็นได้ และสุดท้าย 4.การตรวจทาน ว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า 

แต่บางครั้ง 4 สถานะนี้ไม่ใช่ลำดับไม่จำเป็นต้องไล่จาก 1-4 แต่สามารถเกิดจากส่วนไหนก่อนแล้วสามารถสะเปะสะปะ บางทีเกิดจากอารมณ์ เกิดจากความคิด หรืออะไรลอยๆเข้ามาในหัวแต่พอเข้ามาแล้วมันจะเป็นระเบียบบางอย่างอยู่ในหัวอยู่ซึ่งมักวนอยู่ใน 4 อย่างนี้ เป็นวงจรเหมือนน้ำวน

นักสร้างสรรค์ที่ชอบ ?

คนแรกที่ทำให้อยากทำงานเปรี้ยวๆเป็นแรงบันดาลใจที่ดีคือ เนวิลล์ โบรดี้ (Neville Brody) เป็นนักออกแบบกราฟิกที่โด่งดังในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งคนที่จุดประกายในสไตล์และความคิด ทั้งลึกในบุ๋นและมีสไตล์ คนนี้มีอิทธิพลในตอนเด็กพอสมควร พอตอนผมเริ่มสอนหนังสือก็ พอล แรนด์ (Paul Rand) เป็นคนที่ออกแบบโลโก้ IBM ผมเคารพ (Respect)ในฐานะครูเขาพยายามสอนหนังสือและเขียนหนังสือหลายเล่มที่พูดถึงความคิด (Idea) ของการออกแบบเป็นอาจารย์ที่มุ่งมั่นและผลิตความรู้ 

กิมย้ง กับ โกวเล้ง ทั้งสองคนเป็นเสาหลักของผมในวัยมัธยม หลักๆก็อ่านหนังสือของสองคนนี้ตั้งแต่ ม.1 อ่านซ้ำไปซ้ำมาทั้งสองคนเป็นความแตกต่างที่ลงตัว กิมย้งค้นคว้าเยอะมีความรู้แน่นทำให้สามารถสร้างเรื่องราวที่สนุกและพิศดารได้ ส่วนโกวเล้งผมคิดว่าเป็นกวีใช้ข้อมูลนิดหน่อยแล้วใช้อารมณ์ ตัวละครมีสุรา มิตรแท้ และไม่ค่อยอ้างอิงยุคสมัยเป็นไร้กาล (Timeless) สนุกมากกับสองคนนี้ ได้อ่านและตั้งคำถามกับวิญญูชน มารคืออะไร เทพคืออะไร หนังสือพวกนี้มันทำให้เราเติบโตไปกับการตั้งคำถามว่า คนดีจอมปลอมเป็นยังไง ตามท้องเรื่องนะ ซึ่งโตมาก็ทำให้เห็นว่ายุทธภพเราก็มีคนเหล่านี้เต็มไปหมด และมันก็ทำให้เรามีอุดมการณ์นิดหน่อยที่เราจะเป็นอะไรบางอย่าง

แล้วก็ต่อมาต้องให้ทั้งคู่มาพร้อมกันคือ เฮสเส (Hermann Hesse) กับ อาจารย์สดใส (สดใส ขันติวรพงศ์) เพราะผมได้แรงบันดาลใจจากเฮอร์มัน เฮสเสจากสำนวนของอาจารย์สดใส นาร์ซิสซัส กับโกลด์มุนด์,  สเตปเปนวูลฟ์, สิทธารถะ อะไรพวกนี้ทำให้ผมเติบโตได้ดีในช่วงเรียบจบและกำลังแสวงหาอะไรบางอย่างในชีวิตอ่านแล้วรู้สึกถึงตัวเองในนั้นและทำให้เราถามตัวเองกลับด้วย งานของเฮสเสก็จะมีอิทธิพลสั่นสะเทือนความคิดของเราเป็นระยะๆ

ริชาร์ด บาค (Richard Bach) เพราะหนังสือ นางนวล (Jonathan Livingston Seagull) มันทำให้ผมทำงานศิลปะ งานส่วนตัว ผมเคยทำงานในฐานะพาณิชย์ศิลป์ที่มีคนมาบอกว่าให้ทำอะไรมีคนมาจ้าง เราก็คิดว่าเราจะทำงานของตัวเองได้ไหมแบบที่อยากทำในอาชีพนี้ขณะที่ไม่ได้เป็นศิลปิน นี้ก็เป็นคำถามสำคัญและสอดคล้องกับคำถามของนางนวลว่าภายใต้ปีกนี้จะบินท่าไหนได้บ้างนอกเหนือจากการหาปลาอย่างเดียวหรือหาอาหารอย่างเดียว เป็นหนังสือที่เป็นกำลังใจกับผมตลอดเหมือนกัน ผมซื้อไว้เยอะมาก 20-30 เล่ม แล้วก็ให้ลูกศิษย์ที่รักทยอยให้ตอนนี้ก็ให้ไปหมดแล้ว เพราะนี้คือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตก็เลยอยากส่งต่อ

ล่าสุดก็ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ก็ให้มุมมองการใช้ชีวิตมุมมองเรื่องความรักกับเราตรงกับจังหวะชีวิตที่เราได้ออกแบบปกให้และได้สนทนากัน ผมชอบพูดถึงอาจารย์ประมวลว่าเหมือนต้นไม้ใหญ่ไปยืนใกล้ๆแล้วร่มเย็นดี ผมรู้สึกว่าเป็นต้นแบบคนหนึ่งเมื่อถ้าผมแก่ไปก็อยากให้คนที่อยู่ใกล้ๆร่มเย็น รู้สึกสบาย ไม่รู้สึกร้อนรุ่ม เราอยากเป็นแบบนั้นได้ เป็นเป้าหมายที่คิดว่าจะเป็นได้ไหมจนทำให้เราคิดสโลแกนขึ้นได้ว่า “แก่ให้ดี” อะไรแบบนี้

โดยประมาณนี้ จริงๆมีอีกแต่ทั้งหมดนี้คือที่นึกออกเร็วๆ

คิดว่าแวดวงนักออกแบบในไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไรไหม ?

ผมมองเป็นภาพรวมไม่ใช่ที่ตัวนักออกแบบ ผมมองเหมือนฟุตบอลว่าถ้าเรามีลีคที่ดีนักเตะเราจะดีขึ้นมีโอกาสได้เล่นกับนักเตะระดับโลกเล่นในแผนจากโค้ชที่มีมาตรฐานสูง พูดง่ายๆว่าโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำคัญ

เราก็มีนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติแต่คนเหล่านี้ก็เป็นกรณีที่ดิ้นรนไปเอง น้อยมากที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐาน อาจเกิดจากเหตุเฉพาะการณ์บางอย่างแต่จะทำยังไงให้ภาพรวมนักออกแบบมีพื้นที่มากขึ้น การทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ รัฐ อะไรแบบนี้เป็นภาพรวมของอุตสาหกรรม เวลาผมไปต่างประเทศแล้วเจองานออกแบบที่ดีผมกับเพื่อนสนิทจะอุทานกัน “ใครจ้างมันทำ” คือคนจ้างมันเจ๋งจริงๆที่จ้างให้งานเกิดขึ้น เมื่อก่อนตอนเด็กๆเราก็ชมนักออกแบบก่อนแต่สักพักก็คิดว่า “มันขายผ่านได้ไง” “เขาซื้อยังไง” หลังๆพอมารู้ว่าบางทีเราก็ไม่ได้ซื้อด้วยซ้ำ เขาขอให้ทำด้วยซ้ำ ทำให้คิดว่าฝั่งผู้ว่าจ้างก็มีความสำคัญมากๆเลยสำหรับการยกระดับทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงการสนับสนุนของรัฐที่ต่อเนื่องจริงใจมากกว่าที่เป็นอยู่ คือคนทำงานของรัฐก็เหนื่อยมากแต่ระดับนโยบายละ เราสามารถเห็นถึงความอ่อนของงานออกแบบของรัฐได้เลยเช่นแอปพลิเคชั่นบางชิ้นที่ UX/UI มันห่วยขนาดไหน หรือระบบการให้ข้อมูลของศูนย์ที่ให้ข่าวสารบางครั้งจะเห็นได้เลยว่าเขาไม่ได้พึ่งพาการออกแบบอะไรทั้งนั้น 

คือภายใต้วิกฤตหน่วยงานที่สำคัญที่สุดอย่างรัฐเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ กลับกันเขาทำแต่สื่อโฆษณาชวนชื่อโดยไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ในภาพรวม และไม่ใช้การออกแบบให้เกิดประโยชน์เท่าไหร่ การออกแบบมันมากกว่าหน้าตาหรือสื่อที่ทำแต่มันบอกถึงข้อมูลสำคัญ ซึ่งมันคือเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายจริงๆของรัฐคือให้คนอยู่รอดปลอดภัยและในสวัสดิภาพที่ดีนั้นคือ เป้าหมาย ที่เขาต้อง ออกแบบ แต่เท่าที่เห็นจะเห็นได้เลยว่าเขาไม่ได้ออกแบบ หรือว่าในอีกแง่เขาอาจมีเป้าหมายอีกแบบเขาถึงออกแบบให้มันเป็นแบบนี้ นี้คือภาพรวมว่านักออกแบบไทยเป็นอย่างไรผมคิดว่าสำคัญที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน

ความในมุมส่วนตัวยังมีอะไรที่ยากสำหรับงานที่ทำอยู่บ้างหรือเปล่า ?

ความยากหรือง่ายมองว่าอยู่ที่เป้าหมายที่เปลี่ยนไปตลอด อย่างตอนนี้เราอยากทำงานให้สบายขึ้นมันเลยยาก ทำอย่างไรให้ผลลัพท์ดีอยู่ในจังหวะที่สบายขึ้น อยากทำงานที่โอเคไม่เหนื่อยแล้วได้งานดี

ความคาดหวัง(Expectation) ทำให้เราเครียดเหมือนใช้ชีวิต เราผิดหวังจากการตั้งความหวัง บางทีเราคิดว่ามันจำเป็นแต่จริงๆมันอาจไม่จำเป็น เช่น ต้องให้คนยอมรับงานมากๆต้องได้รางวัลต้องมีคนพูดถึงต้องมีคนในวงอาชีพเดียวกันบอกว่ามันเจ๋ง มันดี ไม่ต้องเอาความคาดหวังแบบนี้มาเป็นปัจจัย (Factor) ในการทำงานก็ได้ ถ้าวันหนึ่งมันได้เสียงตอบรับแบบนั้นก็ดีใจได้แปปนึงพอ 

ผมว่าการลดสิ่งที่แบกไว้เหมือนเปิดเป้แล้วดูว่ามันคือก้อนหินหรือเปล่าไม่ใช่สัมภาระพอเอามันออกไปก็จะเบาขึ้นตามลำดับ ชอบคุยกับหลายๆคนว่าช่วงนี้ต้องฝึกวิชาตัวเบาจะได้สบายหน่อย

PRACTICAL school of design  ?

ผมสอนหนังสือตั้งแต่ปีสี่ศูนย์ ตอนนี้ก็ร่วมไปยี่สิบห้าปีได้ พาร์ทเนอร์ก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือกันหลายคน PRACTICAL school of design เกิดจากเดิมที Practical Design Studio บางคนในสตูดิโอก็สอนหนังสือกันไปด้วยเป็นกิจวัตรอยู่แล้วเราก็จัดWorkshopกันบ่อย ไปอบรมมหาวิทยาลัยก็บ่อยครั้งมาก เป็นกิจกรรมที่พวกเรามีความสุขกัน พอสมาชิกสตูดิโอเติบโตกันไปตามลำดับเริ่มมีสไตล์ มีชีวิตที่โตมากขึ้น ตอนหลังก็แยกย้ายกันไปเปิดสตูดิโอตามรูปแบบของตัวเอง คำถามเลยถามว่าหาไม่ทำงานหาเงินรวมกันพวกเราจะรวมกันทำอะไรดี เป็นสิ่งที่เราสนใจร่วมกันคือทำเรื่องการศึกษาด้านการออกแบบ PRACTICAL school of design จึงเกิดขึ้นปลายปี2019 เริ่มจากตรงนั้น 

ในปี 2020 มีโควิดก็ยังประชุม คุย อ่านหนังสือ ทำBranding สุดท้ายสิ่งที่เราทำคือการเอาทักษะการออกแบบไปกระจายให้บุคคลทั่วไป โรงเรียนนี้ไม่ใช่เพื่อนักออกแบบอย่างเดียวเพียงแต่ริเริ่มก่อตั้งขึ้นมาโดยนักออกแบบ เราพยายามจะหาวิธีการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายว่าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงทักษะนี้ให้ได้มากที่สุด

ใครการได้ วิธีอะไรก็ได้ ไม่มีอะไรตายตัว เราเลยพยายามหาวิธีการอะไรก็ได้ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ มันจึงท้าทาย คำว่าโรงเรียนทีแรกเราก็คิดว่าเป็นคำที่ดู อนุรักษ์นิยม (Conservative) แต่ก็คิดว่าคำมันเป็นเรื่องของคำ โรงเรียนสำหรับเราคือพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน เราสามารถนิยามคำใหม่ได้ก็เลยตัดสินใจใช้คำว่า “School” โดยคิดว่าความรู้เป็นลักษณะแนวนอนไม่ใช่แนวตั้งลงมา โรงเรียนคือที่ที่มาถ่ายเทความรู้ซึ่งกัน เรามีกระบวนการที่เรียกว่า “Look See Do Show” มอง ทำความเข้าใจ ทำ และแสดงออกมา การเรียนไม่ใช่แค่รับเข้า(Input)แต่คือการแสดงออก(Output)ด้วย เราเลยเน้นให้ทำโดยร่วมกันหาความเป็นไปได้ไม่ใช่อะไรดีกว่าอะไร

EVERYONE, EVERY DESIGN.

Leave a comment