A View with a day

A View with a day
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร a day
ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ เรื่องโดย จิราภรณ์ วิหวา
และจากคอลัมน์ a day with a view ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๐ เดือนตุลาคม ๒๕๕๒
เรื่องโดย จิราภรณ์ วิหวา และ ศิวะภาค เจียรวนาลี

ตอนที่ ๑ : กรกฎาคม ๒๕๕๑

ในยุคที่ทุกความจริงหนึ่งถูกอีกความจริงหนึ่งแทนที่ตลอดเวลา

นักออกแบบคนหนึ่งจึงสะท้อนความจริง (ที่ยังจริงอยู่) นี้ออกมา ด้วยนิทรรศการศิลปะที่ใช้วัตถุดิบเป็นหนังสือพิมพ์จำนวน ๓ ตัน!

ไม่ อาจ จะ ใช่ คือชื่อนิทรรศการศิลปะของ สันติ ลอรัชวี ที่สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ ๒ แบบ
ไม่, อาจจะใช่ กับ ไม่อาจจะใช่

ในความต่างเพียงการเว้นวรรค ชุดคำนี้ผลิตความหมายคนละขั้วฝั่ง สะท้อนบริบทในสังคมที่ย้อนแย้งกันเต็มความหมายและสื่อสารความนึกคิดบางอย่างของนักออกแบบคนนี้ร่วมกับพื้นที่ว่างใน BUG gallery และหนังสือพิมพ์อีก ๓ ตัน

“โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข่าวสาร เราต้องปะทะกับชุดข้อมูลหลายๆ ชุด พร้อมกันทุกวัน จนท้ายที่สุดแล้ว เราตอบไม่ได้ว่าชุดข้อมูลไหนคือความจริง” สันติเริ่มต้นเล่าถึงคอนเซปต์งานชิ้นนี้อย่างย่นย่อ พลางหยิบชิ้นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ตัดทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันมาจัดวางเป็นชื่อนิทรรศการ Yes I am not

“ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ารูปแบบของสารที่เข้ามาปะทะกับเรา มันหลายมิติ หลายขั้วมาก เอาให้ชัดก็เช่นว่า การเกิดขึ้นของรายการประเภทคุยสดแล้วมีคู่กรณี ผมรู้สึกว่ามันปะทะกับผมมาก คู่กรณี ก. กับ ข. ที่มีเรื่องพิพาทกันอยู่ มีพิธีกรที่เผ็ดร้อนคอยดำเนินการโต้แย้ง และเราในฐานะผู้ชมก็คอยตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิด แต่ทุกครั้งที่ผมดู รายการประเภทนี้จบ ผมจะไม่สามารถสรุปอะไรได้แล้วปิดโทรทัศน์ด้วยความรู้สึกงุนงงว่าความจริงคืออะไร เพราะ ก. และ ข. มีความจริงคนละข้อ แล้วเรายิ่งเห็นเรื่องนี้ชัดมากในทางการเมือง หนังสือพิมพ์ ๒ เล่ม ทีวี ๒ ช่อง พูดไม่เหมือนกัน ทุกอย่างล้วนเป็นอัตวิสัยหมด บางครั้งเรารู้ความจริงจาก information ด้านหนึ่ง แต่พรุ่งนี้ความจริงจะถูกลบล้างออกโดย information อีกชุด ความจริงเป็นของชั่วคราวมากในช่วงเวลานี้” สันติอธิบายสถานการณ์ที่เขาตระหนักได้อย่างเป็นช่องเป็นฉากก่อนจะสรุปให้เห็นภาพด้วยวัฏจักรว่า ‘รับข้อมูล เกิดความคิด เกิดการกระทำ เกิดการหักล้าง เกิดการรับข้อมูลใหม่’ วนเวียนไปเรื่อยๆ

“ผมพยายามไม่สื่อสารแต่จำลองสถานการณ์ของวัฏจักรนี้ออกมา” สันติพูดถึงตัวงานที่จัดวางตัวอักษรจากหนังสือพิมพ์กว่า ๓ ตัน ลงบนพื้นที่ให้เกิดเป็นชุดคำและความหมาย และอาศัยหนังสือพิมพ์เป็นสัญลักษณ์ของความจริงในสังคม “เหมือนผมพยายามยัดข้อมูลให้แต่ไม่ได้ยัดเยียดว่าจะต้องคิดอย่างไร แต่อาจจะมีบางคนที่เห็นด้วยกับผมว่า เราจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่มีข้อมูลกองอยู่เต็มพื้น”สันติบอกว่า งานชิ้นนี้ออกจะแตกต่างจากงานออกแบบส่วนใหญ่ที่เขาเคยทำในสังกัดแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ซึ่งมีปัจจัยหลักคือโจทย์และลูกค้า แต่นั่นไม่ได้แปลว่านิทรรศการนี้จะอยู่นอกเหนือไปจากสิ่งที่นักออกแบบควรทำ เพราะพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมไม่ควรจำกัดอยู่แค่คนที่ได้ชื่อว่า “ศิลปิน”

“ผมเชื่อว่านักออกแบบไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานตามโจทย์หรืองานเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ถ้าประเด็นนี้ถูกเข้าใจ ทัศนคติทางการออกแบบก็จะเปลี่ยนไป เราจะไม่มีนักศึกษาที่นั่งดูแต่หนังสือกราฟิกดีไซน์ เราจะไม่เห็นนักออกแบบที่ขลุกพูดคุยกันแต่เรื่องการออกแบบ แต่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวทางสังคม เปิดกว้างต่อศาสตร์อื่นๆ วัตถุดิบหรือแรงบันดาลใจของนักออกแบบไม่ได้จำกัดอยู่ในหนังสือเมืองนอก ไม่ใช่ว่าทำงานกราฟิกก็ต้องดูงานกราฟิก ทำงานสถาปัตย์ก็ต้องดูตึก คนทำงานกราฟิกก็ไปดูตึกคนออกแบบตึกก็ไปอ่านวรรณกรรม มันก็จะเชื่อมโยงกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ คำว่า inspiration หรือวัตถุดิบทางความคิดของเราจะกว้างหลากหลาย แล้ววันหนึ่งคำว่านักออกแบบก็จะกว้างขึ้นและทำให้ทัศนคติที่มีต่อนักออกแบบกับงานพาณิชย์มันเล็กลง ไม่ได้ปฏิเสธนะครับ ผมเห็นด้วยว่าการพาณิชย์มีความสำคัญต่อวงการออกแบบสูงมาก แต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด” สันติตอบข้อถามเรื่องงานศิลปะและงานเชิงพาณิชย์ ก่อนจะโยงมาถึงหน้าที่ที่เขารับผิดชอบในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่าหากภาพที่เขาวาดไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะเห็นว่าภาพของการทำงานออกแบบไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียวที่จะต้องต่อรองกับลูกค้าในเชิงพาณิชย์

“การเข้ามาเป็นอาจารย์ทำให้ผมโตเร็วมากขึ้น”  เขาเริ่มต้นเลกเชอร์ด้วยรอยยิ้ม

“ความรับผิดชอบต่อตัวเองต่อสิ่งที่พูด ต่อสิ่งที่ทำต้องสูงขึ้น เพราะเราไม่สามารถสอนบางสิ่งให้เด็กได้ถ้าเราเองยังทำสิ่งนั้นอยู่ ผมว่าช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผม เพราะทำให้ใจและทัศนคติกว้างมากขึ้น กับเด็กเอง เราต้องรู้จักฟังมากขึ้น เพราะบางครั้งมันมีอะไรน่าสนใจอยู่เสมอ ผมถึงบอกเด็กว่า ถ้าไม่ตั้งใจเรียนเสียเปรียบผมนะ ผมคิดว่าคนสอนได้มากกว่าคนเรียน เพราะว่าคนสอนต้อง push ตัวเองอย่างหนัก ห้องนึงมีเด็ก ๒๐ คน อาจารย์คนเดียว นั่นคือการฝนอาจารย์ให้แหลมคมมาก”

เมื่อถูกถามว่า นักเรียนของเขาจะเข้าใจสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ในช่วงวัยเท่านี้ เขาเชื่อว่าใช่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้ว

เด็กทุกคนต้อง ‘ลอง’ ใช้ชีวิตและเข้าใจทุกอย่างด้วยตัวเอง เหมือนเขาที่ผ่านทั้งการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไฟแรงที่สนุกกับงาน เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบตามพิมพ์นิยม รับงานเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพแต่ไร้แรงขับในชีวิต จนมาถึงวันที่รู้ว่างานออกแบบที่ดีควรมีวัตถุดิบเป็นอะไร

“การปะติดปะต่อประสบการณ์ด้วยกรอบสายตาแบบนักออกแบบ” เขาตอบ

ตอนที่ ๒ : ตุลาคม ๒๕๕๒ 

สังคมออกแบบได้ในมุมมองของนักออกแบบกราฟิกไทย

สันติ ลอรัชวีเป็นกราฟิกดีไซเนอร์

เส้นทางของเขาไม่ต่างจากนักออกแบบในแวดวงเดียวกัน ส่วนใหญ่ เรียนจบ ทำงานประจำ รับงานฟรีแลนซ์ ผันตัวเองไปเป็นอาจารย์ประจำ ผันตัวเองกลับมาเป็นอาจารย์พิเศษ เปิดบริษัท ขลุกอยู่กับการทำงานเชิงพาณิชย์ หมุนเวียนอยู่กับธุรกิจออกแบบสื่อสาร คลุกคลีอยู่กับงานเชิงสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นสร้าง corperate identity ให้หน่วยงาน ออกแบบโลโก้ให้องค์กร และอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้วิธีคิดทางฟังก์ชันบวกกับรสนิยมทางศิลปะในการสร้างสรรค์ผลงาน ฯลฯ

แต่ถ้ามองผ่านภาพใหญ่ที่คลุมอยู่ สันติเป็นดีไซเนอร์นักเคลื่อนไหว เขาจัดแจงให้เกิดความร่วมมือกับ Art Directors Club จัดส่งนักศึกษาเข้าร่วมประกวด ADC Young Guns (การประกวดผลงานกราฟิกดีไซน์ระดับนักศึกษาจากทั่วโลก) จนมีการนำเข้า exhibition ระดับโลกให้คนไทยได้ดูตั้งแต่ ๑๐ ปีก่อน ผลักดันให้เกิดงานสัมมนาของคนในวงการดีไซน์ และพยายามขยายฐานความเข้าใจให้สังคมเห็นว่ากราฟิกดีไซเนอร์ทำอะไรได้มากกว่าเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว

นอกเหนือจากนั้น เรายังเห็นนักออกแบบอย่างเขาในบทบาทที่แตกต่างไป เช่นการเป็นผู้กำกับงานออกแบบสื่อสารให้กับนิทรรศการ Show Me Thai ที่จัดแสดง ณ Museum of Contemporary Art โตเกียว, นิทรรศการ Talk About Love ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เลยรวมไปถึงการจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองทั้งในแกลเลอรี่และพื้นที่สาธารณะในนิทรรศการ “ไม่อาจจะใช่” (Yes, I am not) และ Yes, we are not ว่าด้วยวาทกรรมทางสังคมที่เขามองเห็น

ยังไม่หมดแค่นั้น เขารวบรวมเพื่อนดีไซเนอร์ทั้งหน้าใหม่และรุ่นใหญ่ออกแบบโปสเตอร์และจัดแสดงในนิทรรศการ Design (Alone) cannot change (everything) วิพากษ์แนวคิดทางการตลาดที่รังแต่จะเอางานดีไซน์เพื่อขายความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่สนใจว่าจะได้ผลลัพธ์หรือเพิ่มภาระให้โลกอย่างไร

ล่าสุด เขาและแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอชักชวนเพื่อนร่วมอาชีพแสดงตัวผ่านโครงการ I am a Thai Graphic Designer เปิดพื้นที่ให้นักออกแบบ และนักอยากออกแบบส่งผลงานที่ใช้เครื่องมือของงานกราฟิกดีไซน์ ประกาศตัวว่าเป็นนักออกแบบกราฟิกไทยในรูปแบบใดๆ ก็ได้เพื่อลงในเว็บไซต์ iamathaigraphicdesigner.com ตีพิมพ์ในวารสาร และจัดนิทรรศการเล็กๆ ในพื้นที่สาธารณะ แต่โครงการเล็กๆ ที่ไม่คาดหวังจำนวนใหญ่นี้ กลับได้รับชิ้นงานกว่า ๑,๑๐๐ ชิ้น และดูเหมือนจะยังทยอยมาเรื่อยๆ หากไม่ประกาศหยุดรับผลงาน และเพิ่งแสดงงานในนิทรรศการชื่อเดียวกัน (ที่ใหญ่โตกว่าที่คิดไว้) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

คิดใหม่, หากเดาว่าบทสัมภาษณ์นี้กำลังจะคุยกันเรื่องโลกของการดีไซน์ในแวดวงเก๋ไก๋ รสนิยมของคุณเป็นอย่างไร คุณมีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจากที่ไหน ผลงานการออกแบบระดับโลกชิ้นไหนทรงอิทธิพลที่สุด ฯลฯ

เราจะคุยกันเรื่องสังคมล้วนๆ เชิญชวนให้อ่านตามอัธยาศัย

• คุณเห็นอะไรจากจำนวนคนหลักพันที่เข้าร่วมโครงการ I am a Thai Graphic Designer
เห็นหลายเรื่องครับ เห็นว่าจริงๆ แล้ว ในวงการมีความกระหายที่จะทำงานในลักษณะที่นำเสนอตัวตน ถ้ามีพื้นที่สาธารณะที่แชร์กันได้ แปลว่าไม่มีใครไม่อยากทำงาน และคนจำนวนไม่น้อยก็ต้องการการมีส่วนร่วม

• เป็นเป้าหมายที่คุณคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้นไหม
จริงๆ ผมพยายามจะออกตัวว่าผมไม่ได้มีเป้าหมายอะไรในตอนทำโครงการ มันเป็นเหมือนแค่ความรู้สึกว่าเราทำหน้าที่เป็นสะพาน เราอยากรู้ว่ามีใครบ้างที่ทำอาชีพเดียวกัน คือผมไม่ได้มองแค่คนที่อยู่ในระดับมืออาชีพ ผมว่าสังคมมันจะโตได้จากคนที่เป็นโปรเฟสชันแนล คนที่เรียนอยู่ คนที่อยากจะเป็น และคนที่เกี่ยวข้องกับมัน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าตัวโจทย์ของโครงการมันค่อนข้างจะแคบเพราะเราเลือกใช้คำว่ากราฟิกดีไซเนอร์ แต่ถ้าอ่านกติกา มันจะกว้างมาก ผมเองก็ไม่เคยเข้าไปตอบกระทู้ที่ตั้งถามว่า เรียนไม่จบส่งได้มั้ย หรือนักเขียนภาพประกอบส่งได้หรือเปล่า เพราะอยากให้เขาคิดเองว่าเขาเกี่ยวมั้ย หรือเขาอยากจะส่งมั้ย และเป็นครั้งแรกมั้งที่คุณจะยื่นหน้าออกมาแล้วรับผิดชอบกับสิ่งที่คุณถืออยู่ เพราะปกติเราจะแบคอัพอยู่ข้างหลัง ผมถึงเปิดเสรีมาก คุณจะถืออะไรก็ได้ เขียนอะไรก็ได้ แต่คุณต้องรับผิดชอบเพราะมันจะมีชื่อคุณ มีหน้าคุณอยู่

• กลายเป็นว่ามีความหมายซ้อนว่าใครๆ ก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้หรือเปล่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ ใครๆ ก็คิดแบบนั้น อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับอาชีพ แต่ว่าทุกคนรู้สึกสะดวกใจมากในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิก สมมติคนเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ได้มีงบมีทุนมากมาย เขาก็จะเขียนป้ายขึ้นมาเอง ทำงานกราฟิกโดยสัญชาตญาณ แต่ในบางแง่ที่เป็นปัญหาระดับวิชาชีพ คือการมีปัญหากับลูกค้าที่แทรกแซงเข้ามาใน skill หรือขอบเขตหน้าที่ของนักออกแบบ คือบางทีเราจะมีเกณฑ์ของมันอยู่ เช่น เราจะไม่วิจารณ์หมอว่าคุณให้ยาอะไร แต่ในลักษณะงานออกแบบกราฟิกเรามักจะโดนลูกค้าวิจารณ์ด้วยซ้ำว่าสีไม่เห็นจะสวยเลย หรือฟอนต์ตัวนี้ไม่เห็นจะดีเลย นั่นคือความสะดวกใจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมไม่รู้สึกว่าโครงการนี้ทำให้รู้สึกว่าใครก็เป็นได้ แต่โครงการนี้มันเหมือนกับบอกว่าใครล่ะที่จะเป็น เป็นคำถามกลับ

• แล้วใครล่ะที่จะเป็น
ต้องตอบเองว่าใครที่จะเป็น เพราะการที่คุณเลือกที่จะตอบ นั่นก็แปลว่าคุณมีความต้องการที่จะแสดงตัวตนออกมาแบบนั้น ไม่ว่าคุณจะเรียนมาหรือไม่ได้เรียนมา คุณจะเป็นจริงๆ หรือไม่ได้เป็นจริงๆ ผมอาจจะไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนใครนะครับ แต่พูดในความคิดของเราว่า เราต้องการแนวร่วมในการทำงานในระดับวิชาชีพสักวิชาชีพหนึ่งให้เกิดผลลัพธ์ในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่เพียงในด้านรายได้หรือว่าการจ้างงาน แต่รวมไปถึงในด้านที่เป็นบทบาททางสังคมด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการตั้งคำถามง่ายๆ แล้วตอบยากหน่อย ในแง่หนึ่งเหมือนเรามานั่งดูว่ามันมีใครบ้าง ผมได้ประโยชน์จากงานนี้เต็มๆ คือผมรู้จักคนเยอะขึ้น ผมรู้จักเพื่อนร่วมอาชีพที่เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา โดยผมไม่ต้องไป แล้วมันก็จะเกิด community เล็กๆ ที่เรารู้จักกัน

ถ้าเรารู้ว่าเรามีใครมากแค่ไหน แล้วทุกคนทำออกมาในเวลาเดียวกัน สังคมก็ต้องหันมามองบ้างล่ะว่ามันมีไอ้พวกนี้อยู่ แต่มันก็ไม่ได้เป็นแค่การบอกว่ามีเราอยู่ แต่เป็นการบอกว่ามีอยู่ยังไง คุณอยู่กับเขายังไง แล้วเราจะไปข้างหน้ากันยังไง เป็นแค่การเตรียมความพร้อมให้เห็นว่า รัฐอยากจะทำอะไรกับเรา หรือทางสมาคมจะมีความสบายใจขึ้นที่เห็นว่ามีพรรคพวกเยอะขนาดนี้ ถ้าอยากจะทำกิจกรรมใหญ่ของสมาคม นี่ไง คนบานเลย คนพร้อมขนาดนี้ จะทำอะไรก็ทำ

• เล่าชิ้นงานสนุกๆ ที่คุณประทับใจให้ฟังหน่อย
ที่สนุกสำหรับผมคือเวลาเจอคนที่ไม่ใช่ในทางวิชาชีพ อย่างมีชิ้นหนึ่งก็บอกว่าเป็นภรรยากราฟิกดีไซเนอร์ เออ กราฟิกดีไซเนอร์ก็ต้องการภรรยาที่เข้าใจ (หัวเราะ) หรือมีงานบางชิ้นคุณหมอส่งมา มีสมาคมช่างพิมพ์ส่งมา คือเขารวมกันเป็นสมาคมของจังหวัดแล้วเขาทำโปสเตอร์ใบเดียว ถ่ายรูปส่งมาว่าสมาคมนี้ขอสนับสนุนโครงการนี้ น่าดีใจอยู่เหมือนกันตรงที่ว่ากราฟิกดีไซน์ไม่ได้ยืนอยู่ลำพัง แต่เรายืนอยู่คู่กับผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ ด้วย แล้วมันก็มีภาคขยายอยู่เหมือนกัน ผมเพิ่งได้รับอีเมลจากคุณหมอที่ภูเก็ตซึ่งเขากำลังทำโครงการโรงพยาบาลชุมชน เขาได้ inspire มาจากโครงการนี้ว่ามันสามารถที่จะร่วมมือกันได้ และรู้สึกสะดวกใจขึ้นที่จะดีลกับนักออกแบบในลักษณะงานอื่นๆ เช่นงานโรงพยาบาลที่ต้องการงานออกแบบ เขาได้รู้ว่าจริงๆ มีนักออกแบบไม่น้อยที่ไม่ต้องว่าจ้างกันก็ได้ มาคุยกัน มาปรึกษาหารือกันก็ได้ ผมคิดว่าภาคขยายแบบนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่กันคนละส่วนกันของสังคม พอมันเป็นอย่างนั้นผมคิดว่าบทบาทของนักออกแบบมันก็จะถูกยกระดับขึ้น

• แปลว่าก่อนหน้านี้บทบาทของนักออกแบบดูลึกลับ เข้าไม่ถึง?
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า พอภาพของงานออกแบบกราฟิกมันไปติดอยู่กับภาคประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของงานการตลาด เช่น เราเห็นว่ามีป้ายบิลบอร์ดของกรุงเทพมหานครขึ้นว่า กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างนั้น กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างนี้ นั่นคือเป็นผลงานของนักออกแบบกราฟิกทั้งนั้น แต่ผมก็ตั้งคำถามว่า ระหว่างที่เขาจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นอย่างนั้น เขาคิดถึงเราบ้างมั้ย ย้อนกลับไปบทที่เล่นว่าถ้านักออกแบบกราฟิกคือคนที่ทำงานสื่อสารทางวิชวล ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองให้เป็นอย่างที่นโยบายว่าไว้ แต่ทำไมหน้าที่ของเรามีแค่มาขายนโยบายล่ะ สมมติว่ากรุงเทพต้องเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ หรือต้องเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย คำถามคือว่ากราฟิกดีไซน์หรืองานออกแบบทำให้กรุงเทพปลอดภัยได้มั้ย เขาไม่เคยถามเรานะ แต่เขาจะให้เราช่วยบอกคนทั่วไปให้หน่อยว่ากรุงเทพปลอดภัยแล้วนะ หรือบอกว่าเราจะทำให้กรุงเทพปลอดภัยนะ ผมคิดว่านั่นคือบทบาทที่เรายังขาด

• นักออกแบบกราฟิกทำอะไรได้มากกว่าการสื่อสาร
นักออกแบบกราฟิกทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสื่อสาร แต่การสื่อสารทำอะไรได้มาก การสื่อสารไม่ได้แปลว่าประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่การสื่อสารสามารถทำให้คนทุกคนเข้าใจตรงกันหรือว่าสามารถทำให้คนทำอะไรร่วมกันได้ เมื่อเช้าผมเพิ่งดูข่าว ททท. จะสร้างเรื่องเล่าให้พื้นที่ท่องเที่ยว คือสร้าง value ให้มากขึ้น นี่คือเรื่องการสื่อสารเลย สมมติว่าคุณกำลังบอกว่าปราสาทหินพิมายคือ prototype ของนครวัด หน้าที่เราคงไม่ใช่ทำโปสเตอร์อย่างเดียวว่าตอนนี้ ททท. เปลี่ยน strategy แล้วนะ แต่เราสามารถจะเข้าไปอยู่ในตรงจุดนั้นได้ด้วยซ้ำว่าทำยังไงให้พื้นที่ต่างๆ ถูกสื่อสารออกไปในระดับนานาชาติและในระดับท้องถิ่นว่า นี่คือสิ่งที่มีค่าและเราจะเล่ามันยังไง เราจะใช้วิธีไหนเพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นภาพเดียวกัน ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่นักออกแบบกราฟิกอย่างเดียว แต่มันแปลว่าคนที่อยู่ในงานส่วนต่างๆ ของการออกแบบสื่อสารต้องเดินเข้ามาแล้วมีส่วนร่วมกับหัวโต๊ะบ้าง เพราะบางครั้งนักออกแบบรับงานที่ปลายน้ำ ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันมีต้นธารที่ไม่สมบูรณ์นักหรือมีปัญหา ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ศักยภาพของนักออกแบบถูกจำกัด พอถูกจำกัดปุ๊บมันก็ทำให้เห็นว่าบทบาททางสังคมของนักออกแบบต่ำ ในขณะที่บทบาททางพาณิชย์ของนักออกแบบสูงกว่า จริงๆ แล้วเราทำอะไรได้ตั้งเยอะ แล้วก็มีหลายเรื่องที่เรายังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เช่น ระบบจราจร ระบบป้ายต่างๆ ของเมืองทั้งเมือง เราก็ยังไม่เคยเอาดีไซเนอร์มานั่งคุยร่วมกับรัฐว่าระบบป้าย ถนนหนทาง ปากซอย ป้ายรถเมล์หรืออะไรต่างๆ มันควรจะเป็นอย่างไร ระบบขนส่งมวลชนมันควรจะเป็นยังไง การให้ข้อมูลกับประชาชนในแง่ของตารางรถมันควรจะจัดการยังไง เรายังไม่เคยมีการคุยกันถึงไอ้ตัวฉลากข้างขนมว่าเราจะให้ข้อมูลโภชนาการกับเด็กอย่างไร มีงานตั้งเยอะที่ยังไม่ได้ทำกับเมือง กับสังคม อันนั้นเป็นมุมที่ผมเห็น

• คุณสนใจมองภาคสังคมผ่านสายตาของนักออกแบบตั้งแต่เมื่อไร
ถ้าคุณเป็นคนสนใจเรื่องสังคม วันหนึ่งคุณจะเป็นนักออกแบบหรือคุณจะเป็นหมอหรือจะเป็นอะไร ผมว่าสายตาของนักออกแบบนั้นมาทีหลัง ยังไงเราก็คงจะมองเรื่องความเป็นไปของสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่มีกรอบในการมองมัน หรือเรายังไม่มีบทที่จะมองมันว่า เออ แล้วเราจะทำอะไรกับเรื่องเรื่องนั้นได้บ้าง แต่การมองโดยที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะมีส่วนร่วมอย่างไร ก็คงจะเป็นแค่การบ่นกันในวงเพื่อนฝูง ผมเป็นพวกชอบบ่นตั้งแต่เด็ก แรกๆ ก็คงไม่มีใครให้บ่นนอกจากบ่นโรงเรียน บ่นอาจารย์ แล้วก็มันก็เกิดการวิพากษ์อะไรที่ใกล้ตัวเช่นการศึกษาของเรา คือผมก็เป็นเด็กที่เลือกเรียนและเลือกจะไม่เรียน เราจะเลือกเรียนวิชาที่เราชอบและเราก็จะไม่เลือกเรียนวิชาที่เราไม่ชอบ เพราะงั้นผมไม่ใช่เด็กเรียนดีเลย เป็นเด็กที่เกเรชอบเถียงอาจารย์ กรรมสนอง (หัวเราะ) อย่างเช่นผมเคยถามครูเรื่องสมการว่าถอดไปทำไมครับ มันนึกไม่ออกจริงๆ แล้วครูเขาก็ไม่ตอบ แล้วมันทำให้เราเรียนเลขไม่รู้เรื่องถึงทุกวันนี้ ความสนใจของเราเป็นลักษณะนั้น ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอะไรหรอก ตอนม.๖ ผมสอบเอ็นทรานซ์ติดอันดับสุดท้าย ที่ มอ. ปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ เพราะตามค่านิยมยุคนั้นคืออย่าลืมเลือกอันสุดท้ายที่คิดว่าตัวเองได้แน่ๆ ติ่งไว้ ผมไม่ได้อยากเรียน แต่ผมอยากไป แล้วผมว่ามันเป็นเวลาที่เราโต เด็กกรุงเทพมันต้องออกจากบ้านบ้าง ต้องไปดูแลตัวเองบ้าง แล้วเรื่องรอบๆ ตัวจะสำคัญมากขึ้น เพราะพอที่บ้านเป็นศูนย์กลาง บ้านก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พ่อแม่ดูแล อยากได้อะไรก็ได้ เราก็คิดว่าสังคมจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัย เราค่อยๆ เรียนรู้กับการเชื่อมโยงกันของสังคม ตอนนั้นไปแล้วไม่ได้เรียนหรอกครับ ไปเที่ยวไปเล่น ไปโบกรถ อยู่จนครบปีก็กลับมา สอบเอนทรานซ์ใหม่ แล้วก็สอบไม่ติดหรอกเพราะไม่ได้อ่านหนังสือ สุดท้ายก็ไปสอบ ม.กรุงเทพ จะสอบนิเทศศาสตร์ แต่ไปเปลี่ยนใจตอนกาเพราะอ่านไล่ลงมามันดันมีคณะศิลปกรรมศาสตร์เปิดอยู่เป็นปีที่ ๒ มีนิเทศศิลป์ ก็เลยเลือกอันนี้ เท่านั้นเอง ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร (หัวเราะ)

• คุณมองโลกต่างไปไหม เมื่อพบว่าศิลปะมีมิติมากกว่าความงาม
ผมโตมากับการเรียนศิลปะแบบเอาตัวรอด ดังนั้นศิลปะสำหรับผมจึงเป็นอะไรที่มากกว่าความงามมาแต่แรก เพราะว่าเรากลายเป็นคนที่ทำอะไรแบบหยิบโหย่ง จะเรียนศิลปะก็ไม่ฝึกฝน จะเอ็นทรานซ์ก็ไม่อ่านหนังสือ แล้วปีหนึ่งมันเป็นวิชาพื้นฐานที่คุณต้องใช้สิ่งที่สะสมมา เช่นว่าคุณ drawing มามากแค่ไหน คุณฝึก paint มากแค่ไหน คุณทำ composition มากแค่ไหน ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไปจนขึ้นปีสองก็ได้เข้าภาควิชานิเทศศิลป์ซึ่งโจทย์มันเปลี่ยนแล้ว มันไม่ได้ต้องการแค่ความงามอย่างเดียว แต่ต้องการอะไรบางอย่างที่ชัดเจน ต้องแบกภาระเนื้อหาบางอย่างด้วย แล้วมันถูกโฉลกแฮะ แล้วก็ด้วยพื้นฐานที่เรา practice มาน้อย เราก็กลับมาใช้จุดแข็งบางอย่าง พยายามมุมมองชดเชยลงไปในนั้น เช่นว่าเรามี skill สัก ๕ ใน ๑๐ แล้วเราจะใช้ skill ๕ ใน ๑๐ นั้นให้ได้ ๑๐ ได้ยังไง มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับคำว่าออกแบบที่เราต้องดีไซน์วิธีทำงานของตัวเอง มันก็เลยต้องมีการปรุงใหม่อยู่ตลอด มันทำให้ผมคุ้นเคยกับการทำงานภายใต้ข้อจำกัด และต้องหาทางจัดการกับข้อจำกัดนั้นให้เป็นประโยชน์

• คุณเป็นนักเรียนออกแบบแบบไหน
ไม่รู้เป็นกันหรือเปล่า คือเวลาอาจารย์สั่งงานผมจะขนลุก เหมือนมีสารอะไรมันหลั่งเต็มตัวไปหมด กระหายที่จะฟัง ผมคิดว่าวิธีทำงานมีแค่ passion นะ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราได้ฟังโจทย์ ผมคิดว่ามันก็ทำให้เราได้เริ่มคิดงานแล้ว นั่งรถเมล์กลับบ้านมันก็จะคิด มันติดนิสัย ทุกวันนี้ก็เป็นแบบนั้น คือเราไม่ได้ซีเรียสเรื่องงาน แต่ว่ามันเอาออกไปไม่ได้ สนุกกับมันอยู่อย่างนั้น

• คุณเป็นเด็กจบใหม่อย่างไร
เราเป็นเด็กจบใหม่ที่เหมือนความรู้สึกเดียวกันกับตอนที่อาจารย์สั่งงาน คือตอนผมจบผมก็จะขนลุกเหมือนกัน (ยิ้ม) เอาละเว้ย ได้ทำแล้ว แล้วเราก็ไม่คิดอะไรทั้งนั้น จะทำอย่างเดียว อะไรมาก็อยากทำหมด แล้วเผอิญว่าไปอยู่ในบริษัทที่เขาเปิดโอกาสให้ คือเราเป็นพนักงานรุ่นแรก ต้องช่วยทำทุกอย่างเลย รับโทรศัพท์ รับลูกค้าแทน ได้เห็นหมดตั้งแต่คิดราคา ต่อรองลูกค้า แล้วโปรเจกต์ที่รับมาก็ค่อนข้างจะหลากหลาย ทำให้ผมโตเร็วเพราะว่ามันเห็นมิติที่ครบถ้วน

• จากเด็กหยิบโหย่งคนหนึ่ง คุณสะสม passion เหล่านั้นอย่างไร
ผมโตจากเพื่อนเยอะครับ พูดง่ายๆ คือเพื่อนเป็นครูมากกว่าครูด้วยซ้ำ แล้วมันทำให้เห็นเลยว่า จริงๆ แล้วการเรียนนอกห้องเรียนสำคัญมาก ซึ่งเด็กปัจจุบันหลายๆ คนลืมเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่นเราเรียนดรอว์อิ้ง อาจารย์จะสั่งงานดรอว์อิ้งคุณเต็มที่ก็ ๑๐ ชิ้นในเทอมหนึ่ง คุณไม่มีทางดรอว์อิ้งได้ดีเลยนะถ้าคุณดรอว์อิ้งแค่ ๑๐ ชิ้น ห้องเรียนไม่ใช่ทั้งหมดการเรียนรู้ พอดีผมได้เพื่อนฝูงดี เพื่อนที่รู้สึกมีไฟที่จะทำงานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันเลยหลอมให้กลายเป็นชีวิตประจำวันไป เวลาเราเรียนเสร็จปุ๊บ เราจะมาคุยกัน เรื่องที่คุยสนุกกลายเป็นเรื่องเรียนนั่นแหละ คือเราก็ไม่ได้เป็นเด็กเนิร์ดนะ มีหนังสือดีไซน์เล่มเดียวก็คุยกันเป็นคุ้งเป็นแคว มึงชอบชิ้นไหนกูชอบชิ้นไหน แอบเอางานตัวเองมาแปะอำเพื่อนบ้าง มันก็เป็นสังคมเฮฮา ไม่เครียด  นั่นแปลว่าสี่ปีที่เรียนเราเรียนตลอด มันไม่ได้แบ่งระหว่างบ้านกับห้องเรียน แล้วเพื่อนหลายคนก็ให้รสนิยมเรา เช่น เฮ้ย ดูหนังเรื่องนี้ยัง เราก็ไปดู เฮ้ยดีว่ะ ทุกวันหลังเลิกเรียนก็จะไปยืนที่ร้านโดเรมีที่สยาม ยืนดูปกกันทีละปกๆ เฮ้ย ชอบปกนี้ เราฟังเพลงแต่ว่าก็สนเรื่องดีไซน์เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน มีเพื่อนหลายคนพยายามจะเข้ากลุ่ม แต่ก็รับไม่ได้กับเรื่องที่พวกผมไปยืนอยู่ร้านซีดีครั้งละสองชั่วโมง (ยิ้ม)

• รสนิยมสอนกันไม่ได้ แต่สะสมได้?
สร้างเสริมประสบการณ์ได้ ผมคิดว่ารสนิยมเป็นเรื่องของการมีประสบการณ์ร่วม ยกตัวอย่างสมมติชีวิตนี้เคยกินแต่ข้าวมันไก่หน้าปากซอยร้านเดียว ก็จะอร่อยจนกว่าจะเจอร้านใหม่ที่มันอร่อยกว่า มันก็ต้องมาเปรียบเทียบในบริบทที่ตัวเองมีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเด็กคือการออกไปเจออะไรมาให้มากที่สุด แล้วคุณก็จะค่อยๆ เปรียบเทียบเองว่ามีสิ่งนี้แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่ง แล้วเห็นยังไงกับสิ่งนี้ ถ้าคุณเปรียบเทียบแล้วคุณเลือกสิ่งนั้น นั่นล่ะคือรสนิยมคุณ แต่ถ้าเอารสนิยมคุณไปเปรียบเทียบกับรสนิยมคนอื่นแล้วมันเป็นยังไง ตรงนั้นเป็นเรื่องต้องไปมีประสบการณ์ร่วมอีกที และถ้าคุณเป็นคนออกแบบแล้วเจอลูกค้าที่รสนิยมดันไม่ตรงกัน แล้วของใครมันดีกว่าใคร คุณต้องเข้าใจมัน คำถามคือประสบการณ์ที่คุณสะสมไว้ มันมากพอที่คุณจะเข้าใจมันหรือเปล่า

• นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นักเรียนออกแบบส่วนใหญ่มีชุดความคิดว่าต้องไปเรียนต่อเมืองนอกหรือเปล่า
สำหรับหลายคน การไปเรียนต่อมันเหมือนกับว่าเขาเพิ่งพบว่าเขาอยากทำอะไร หรือเขารู้สึกว่าเขาไม่มั่นใจกับสิ่งที่เขาเรียนมา เขายังต้องการอะไรอีก อยากไปเที่ยว อยากไปเปิดหูเปิดตา แต่ขณะเดียวกัน หลายๆ คนก็มักจะมีสูตรสำเร็จว่า คำตอบที่ง่ายที่สุดคือไปเรียนต่อ ซึ่งไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้ ใช้ได้เลย เป็นคำตอบที่มีประสิทธิภาพสุดถ้าคุณมีความพร้อมที่จะไปนะ แต่ทีนี้พอมันมีคำตอบที่ชัดที่สุดลอยอยู่ผิวบนที่สุด มันก็จะเป็นคำตอบที่เกิดขึ้นในหัวเด็กทุกๆ คน จนกลายเป็นภาพใหญ่มากๆ ว่าถ้าอยากเป็นนักออกแบบที่เก่งกว่านี้ต้องไปต่างประเทศ มันน่าสังเกตตรงที่แล้วพวกที่ไม่มีปัญญาไปล่ะ เขาจะมีวิธีอื่นมั้ย ซึ่งคำตอบมันน่าจะมีนะ แต่เด็กหลายคนพยายามที่จะทำให้คำตอบนั้นเป็นจริงด้วยการทำงานอะไรก็ได้เพื่อที่จะเก็บเงินไปแล้วจะได้เก่ง แล้วจะได้กลับมาตรงนี้ คำถามคือว่าถ้ายังไปเรียนต่อไม่ได้ทำไมคุณไม่ทำงานให้เก่งไปเลยล่ะ

อย่าลืมว่าการออกมาในพื้นที่ทำงานคือโลกใหม่เหมือนกัน เราได้เรียนรู้มันรึยัง แล้วโลกนั้นมันเป็นโลกที่คุณต้องกลับมา เพราะฉะนั้น การไปแต่ละครั้งผมคิดว่าคุณต้องรู้ว่าคุณจะไปเอาอะไรเพื่อกลับมาใช้กับอะไร ถ้าเกิดว่าคุณไม่มีความรู้หรือว่าไม่มีประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่ที่คุณจะต้องกลับมา ผมคิดว่ามันก็ทำให้คุณได้น้อยเกินไป มีนักศึกษาถามว่าไปเรียนที่นี่ดีมั้ย ไปเรียนที่นั่นดีมั้ย ผมว่าไปเรียนที่ไหนก็ได้ แต่คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณจะเรียนอะไร อย่าให้เขาบอกว่าคุณต้องรู้อะไร คุณต้องตอบให้ได้ว่าคุณจะเอาอะไรจากเขา ไม่ใช่แล้วแต่จะสอน คุณจ่ายขนาดนี้แต่ไม่มีจุดมุ่งหมายเลย คุณจ่ายทำไม มันแพงนะนั่น ผมรู้จักเพื่อนนักออกแบบหลายคนที่ใช้ประโยชน์จากการไปเรียนต่อต่างประเทศได้อย่างดี แล้วมีคุณภาพมาก แต่บางคนก็จะกลับมาแล้วบอกว่าที่นั่นไม่ได้สอนอะไรเลย สั่งการบ้านแล้วออกไปหา พอกลับมาก็จะพบว่าบริบทในเมืองไทยไม่เอื้อต่อการใช้องค์ความรู้ใดเลย แล้วก็จะบ่นว่าเมืองไทยทำไมไม่เป็นแบบนี้ ทำไมไม่เห็นเหมือนเมืองนอก

• คุณไม่ได้เป็นนักเรียนนอก
ผมอยากเป็น ผมเคยอยากไปเรียน แล้วก็มีอาการลอยๆ แบบทำไมเรายังไม่ได้ไปซะที เห็นเพื่อนไปแล้ว เพื่อนบางคนก็จะกลับแล้วทำไมเรายังไม่ได้ไป ด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่เราก็ไม่มีปัญญาจะไปเรียนอยู่ดี ครั้งแรกที่ไปคือว่า ถ้าไปเรียนไม่ได้ก็ไปเที่ยวแล้วกัน ซึ่งพอไปมาสักครั้งหนึ่ง ทุกอย่างมันเบาลง มันเหมือนยกภูเขาออกจากอกว่า เออ เห็นแล้ว มันเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วทุกครั้งที่เราอยู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เราก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงสถานที่ของเรา มันก็กลับมาพร้อมกับมุมมองบางอย่างที่ว่าเราจะทำอะไรที่เขามีกันได้บ้าง เขามีอย่างนี้เราจะมีได้ไหม เราจะมีได้ด้วยวิธีใด

• คุณกลับมาทำอะไร
ทันควันเลย ตอนไปนิวยอร์กเราเดินดุ่มๆ เข้าไป Art Director Club ที่นิวยอร์ก ฝากนามบัตรไว้ ผมไปในฐานะอาจารย์ ถ้าเกิดจะมีการทำงานร่วมกันมันเป็นไปได้ไหม ทั้งๆ ที่ไม่เคยถามหัวหน้าภาคเลยนะ (หัวเราะ) พอกลับมาก็เลยเสนอให้ภาควิชาฯ ออกทุนให้นักศึกษาเราที่มีงานที่น่าสนใจส่งประกวด Young guns กับเขา ปีหนึ่งผ่านมาก็มีจดหมายกลับมาจากทางโน้นว่าที่เราส่งงานไปเนี่ย เท่ากับว่าเราเป็นหน่วยงานการศึกษาเดียวในประเทศไทยที่มีกิจกรรมกับเขา เขาจะเอานิทรรศการมาลงสนใจมั้ย ทางคณะฯ ก็โอเค ก็เลยกลายเป็นว่าเราเป็นโฮสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Art Director Club ที่นิวยอร์กจะมาลงทุกปี ทุกวันนี้ก็ยังจัดอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

• ในแง่ของการเติมเต็ม แค่ได้ไปเห็นก็น่าจะพอ อะไรทำให้คุณพยายามนำมันกลับมาให้คนอื่นเห็นด้วย
แล้วถ้าคนที่ไม่ได้ไปล่ะ ทำยังไง คือผมจะมีหัวอกของคนที่ไม่ได้ไปอยู่ และการไปแต่ละครั้งมันเป็นเงินส่วนตัว แล้วถ้าเราจู้จี้จัดการให้มันข้ามทะเลมาได้ มันก็โอเคนะ ผมมองว่าในระดับนักศึกษา ถ้าได้เห็นงานโปสเตอร์ที่ดีของคนในระดับใกล้ๆ กัน เขาจะได้รู้ว่าเพดานจริงๆ มันอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เราเป็นบัวพ้นน้ำเพราะว่าน้ำมันลด

• คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเป็นผู้สอน
การเป็นอาจารย์ได้เรียนรู้คุณค่าของคนเยอะ ในระบบออฟฟิศ ถ้าคนคนหนึ่งทำงานมาแล้วคุณไม่ชอบ คุณอาจจะด่าเขาเสียหายได้ หรือคุณจะหันหลังให้เขา ตัดโอกาสเขาทิ้งไปซะก็ได้ แต่พอเป็นอาจารย์มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ถึงแม้จะด่าว่าเด็ก แต่ก็ทิ้งเขาไม่ได้ ต้องฟังเขา ไม่ว่าเขาจะรู้น้อยกว่าเรายังไง ซึ่งตรงนี้มันฝึกให้เราฟัง แต่ข้อดีมากๆ ก็คือว่ามันเป็นบทบาทที่ฝึกให้เราต้องมีคุณภาพ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่ผมบอกว่าผมเข้าไปด้วยความไม่มั่นใจกับค่านิยมว่าต้องจบอะไรมา ผมก็ต้องกระตือรือร้น ผมเรียนด้วยตัวเองเยอะมาก

• คุณสอนอะไรนักเรียนของคุณบ้าง
โดยหน้าที่ที่เขามอบหมาย ผมสอนพวกวิชาหลักคือการออกแบบนิเทศศิลป์ แต่หลังๆ ที่พยายามจะบอกเด็กก็คือว่าพยายามจะสอนให้เขาเรียนด้วยตัวเอง อาจารย์ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก อาจารย์ก็แค่คนคนหนึ่งมีรสนิยมแบบหนึ่ง มีความเชื่อแบบหนึ่งที่มาฉายภาพให้คุณดู ว่าความเชื่อและรสนิยมของคนคนนี้เป็นแบบนี้ แต่ท้ายที่สุดมันก็เป็นแค่หนึ่งในประสบการณ์ที่คุณไปเจอ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเขานั่นแหละว่าเขาจะทำยังไง แล้วเขาจะเอาประสบการณ์นั้นไปเชื่อมกับประสบการณ์ของเขายังไง มหาวิทยาลัยไม่สามารถให้อะไรมากจนคุณออกไปเป็นนักออกแบบที่ดีได้หรอก แต่มหาวิทยาลัยให้เครื่องมือที่คุณสามารถตอบตัวเองได้ว่าฉันจะเป็นนักออกแบบที่ดีได้ยังไง คุณจะไปเรียนต่อหรือไม่เรียนต่อ คุณจะไปทำงาน คุณจะนั่งอยู่ป้ายรถเมล์แล้วก็มองบิลบอร์ด ผมว่าเขาเรียนได้หมด ในชั้นเรียนจะมีการดูหนังด้วยกัน อ่านหนังสือด้วยกัน แล้วนั่งคุยกันว่าหนังสือเล่มเดียวกันเราเรียนอะไรจากมันได้บ้าง แล้วเราเรียนในฐานะนักออกแบบได้มั้ย

• ยกตัวอย่างหน่อย
เช่น สมมติผมให้อ่าน Metamorphosis ของ Kafka แล้วมานั่งคุยกันว่ามันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ในการสื่อความหมายในเชิงนามธรรม พวกเราเห็นอะไรนอกจากเนื้อเรื่องบ้าง ซึ่งจะเห็นว่าเวลาเราทำโลโก้สักตัวเราต้องใช้ทักษะนี้อย่างสูงเลย ถ้าคุณทำโลโก้ร้านกาแฟ แล้วคุณเอาเมล็ดกาแฟมาใช้ตรงๆ ลูกค้าไม่ซื้อแน่ เพราะงั้นการให้นิยามกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักออกแบบสื่อสาร แล้วหนังเรื่องนี้ล่ะ  pause ภาพนิ่งดูทีละซีน สวยไหม เวลาดูหนัง นั่นแปลว่าคุณกำลังดูรูปอยู่สักไม่รู้กี่หมื่นรูป คอมโพสเหล่านี้มันเข้าไปในร่างกายเราบ้างไหม ทุกอย่างมันเรียนรู้ได้ เพียงแต่ว่าเด็กมักจะแยกเรื่องความบันเทิงกับเรื่องการเรียนออกจากกัน

• มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณต้องพยายามเข้าใจลูกศิษย์
ผมต้องรับให้ได้กับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่นการที่เด็กอ่านหนังสือน้อยลง มีความทะเยอทะยานในการประกอบอาชีพน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันผมก็มองมุมกลับว่าในเวลาร่วมสมัยแบบนี้เราตั้งธงอะไรมากไปหรือเปล่า ถ้าเขาโตมาในยุคที่จะหาอะไรที่ไหนเมื่อไรก็ได้แค่เข้ากูเกิล ก็อาจจะต้องเป็นคนแบบนี้ มันก็เหมือนเทคโนโลยีที่ต่อไปเครื่องคอมพิวเตอร์ก็คงไม่มีฮาร์ดไดรฟ์เหมือน macbook air ทุกอย่างฝากไว้ในอินเทอร์เน็ต ใช้เมื่อไรก็ค่อยเข้าไปเอา เราอาจจะเชยก็ได้ แต่แน่นอน เราหงุดหงิดเพราะเรายังเชื่อในวิธีแบบเดิมอยู่

ท่ามกลางความแห้งแล้ง น้ำจะมีค่ามากที่สุด แต่ตอนนี้เขาเหมือนอยู่ริมน้ำ ตักกินเมื่อไรก็ได้ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เลยอาจจะไม่รู้สึกว่าจะต้องเก็บหรือตักตวงอะไร จริงๆ แล้วถ้าเด็กทุกวันนี้เห็นประโยชน์กับความพร้อมนี้ แล้วไม่ได้มองข้ามเหมือนเป็นแค่สิ่งที่มีอยู่แล้ว เขาจะต้องได้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากกว่าคนรุ่นเก่าๆ แน่นอน

• ได้ยินมาว่าคุณมักจะถามลูกศิษย์ที่จบใหม่ว่า “ทำอะไรหรือยัง” แทน “ทำอะไรอยู่” คุณคาดหวังคำตอบแบบไหนจากพวกเขา
ใครเป็นคนเล่าเนี่ย (หัวเราะ) ส่วนใหญ่คำถามนี้จะถามไปที่ข้างในเขามากกว่า ผมถามเข้าไปที่ตัวเขาว่าไอ้ที่เขาอยากทำ ไอ้ที่อยากจะเป็น ได้เริ่มทำไปบ้างหรือยัง คงไม่ได้ถามว่าทำอะไรอยู่ เช่นบางคนบอกว่าอยากเป็นผู้กำกับหนัง เราก็ไม่ได้ถามหรอกว่าได้เป็นผู้กำกับหนังหรือเปล่า แต่ทำอะไรบ้างหรือยัง ผมว่ามันต้องเริ่ม คือหลายๆ เรื่องมันไม่ได้ทำได้ภายในวันสองวัน ปีสองปี แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะงั้นถ้ารู้ว่ามันไม่ง่ายมันก็ต้องเริ่มคิดเริ่มทำ ถ้ายังไม่ได้ทำอะไรเลยมันสะท้อนว่าแล้วความฝันอันนั้นมันหายไปแล้วใช่ไหม

• คุณยังจำได้ไหมว่าความฝันของคุณตอนนั้น คืออะไร
ผมต้องการการยอมรับของคนที่เห็นงานผม ผมเป็นอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เราทำ จะต้องมีคนยอมรับมัน นั่นคือเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันยังทำให้เราทำงานต่อไปได้ เพราะถ้าสิ่งที่ทำไม่มีประโยชน์ ไม่มีการยอมรับ ไม่มีค่าอะไร ก็ไม่ต้องไปทำมัน

• แล้วจำความรู้สึกตอนที่คุณได้รับสิ่งที่ตั้งใจได้ไหม
งานที่ได้รับการยอมรับมักจะจำไม่ค่อยได้ มักจะจำงานที่ทำให้เราเจ็บใจได้ เช่นสมมติคุณทำงานสักงานหนึ่งแล้วลูกค้าเดินมาที่ออฟฟิศแล้วก็ขอแคตตาล็อกตัวหนังสือไปเลือกเอง น้ำตาจะไหล รับไม่ได้ แต่ถ้าในบทที่คุณต้องกลืนเลือดลงไปว่าทำอะไรไม่ได้ ต้องให้เขาเลือกไป ตอนนั้นผมจำแม่น คือไม่ได้แค้นเขานะ จำหน้าเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ว่ามันจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก มันจะต้องไม่เป็นอย่างนี้อีก แล้วเราจะทำยังไงก็ได้ที่แต่ละครั้งที่เราเสนองานหรือนำเสนอผลงานของเราแล้วมันจะไม่เกิดสิ่งนี้ ทุกวันนี้ งานที่เข้ามาในแพรคทิเคิลคืองานที่เขาเชื่อใจเรา เขาเลือกเรา เพราะว่าที่นี่ไม่ pitch งาน ถ้าจะใช้เราทำ ก็ให้เราทำเลย ผมไม่เชื่อระบบนี้ ระบบนี้มันเป็นแค่เรื่องของการจัดการความโปร่งใสในการว่าจ้าง มันไม่ใช่การได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่าการประกวดหรือการแข่งขันมันต้องมีแฟคเตอร์เยอะและมันต้องดีทั้งหมด ถึงจะได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วเรามีวิธีคัดสรรตั้งเยอะที่น่าจะใช้ได้ เช่น พอร์ตโฟลิโอ ผลงานที่ผ่านมา ความรับผิดชอบในงาน แล้วถ้าเราดูตรงนั้น เราจะรู้ด้วยซ้ำว่างานที่เรามีความต้องการอยู่มันเหมาะกับจริตของดีไซเนอร์คนไหน เราไม่เข้าใจว่าแข่งกันไปทำไม เสียเวลา แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นช่องทางนึงที่ทำให้ธุรกิจกราฟิกมันโตได้ เพราะมันมีจำนวนเงินมาก ซึ่งก็หมายความว่าผมปฏิเสธจำนวนเงินชุดนั้นไปแล้ว (หัวเราะ)

• จากต้องการการยอมรับ นำมาสู่การทำงานภาคสังคมได้อย่างไร
เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอยากจะให้มันเป็นยังไง เช่นเราอยากได้รับการยอมรับมากขึ้น การยอมรับในที่นี้ เดิมทีเป็นเรื่องการยอมรับระหว่างนักออกแบบหนึ่งคนกับลูกค้าหนึ่งคน แต่ถ้ามองให้มันกว้างขึ้น มันก็กลายเป็นเรื่องการยอมรับวิชาชีพหนึ่งกับสังคม มันก็อยู่ที่ว่าทำยังไงที่จะให้ภาพรวมมันดีขึ้นเพื่อส่งกลับมาหาเรา เพื่อที่เราจะอยู่ได้ด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ไม่ได้เกิดจากการวางแผนว่าผมจะต้องทำ แต่มันเกิดจากการเงื่อนไขในการทำงานของเรา แง่นึงเรามองว่ารายได้มันเป็นเรื่องรองลงมา พอเป็นเรื่องรองลงมาปุ๊บ มันก็เหมือนปลดล็อคต่อโอกาสหลายๆ โอกาสที่เราจะได้ไปทำ เพราะถ้าเราเอา fee ตั้ง มันก็จะมีงานแบบนึง แต่เมื่อเราบอกว่า งานอะไรก็ได้ ทำ แต่ว่า เขาต้องแฮปปี้กับเรานะ ถ้าเขาชี้มาที่เราเลย เรายิ่งทำใจขาดเลย เพราะฉะนั้น เราก็ได้รับทำในโปรเจกต์ที่ปกติไม่ค่อยได้ทำ ได้เข้าไปยุ่งกับไอ้ตัวประเด็นสาธารณะมากขึ้น เช่น มีหน่วยงานสักหน่วยนึงอยากทำโครงการอะไร แล้วมีโอกาสเข้าไปนั่งเพราะเราดันทำฟรีน่ะ หรือไม่เรื่องตังค์ก็ค่อยว่ากันทีหลัง แต่พอไปนั่งมาบ่อยๆ เราเริ่มรู้สึกว่าทำไมการได้ทำอะไรแบบนี้มันต้องอุทิศอะไรบางอย่างหรือต้องเสียสละขนาดนั้นเราถึงจะได้ทำ ทั้งที่เรื่องนั้นมันอาจจะมีประโยชน์มากๆ ต่อภาพใหญ่ ทำไมเขาไม่นึกถึง ใครจะทำฟรี ไม่ทำฟรีไม่ใช่ประเด็น ยังไงวิชาชีพนี้มันต้องมีอยู่ นั่นต่างหากคือการยอมรับ

• เริ่มมีหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ เห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้นไหม
มีครับ ช่วงนี้ก็มีอยู่ ๒-๓ ที่เชิญไปร่วม ผมก็ได้มีโอกาสท้วงเขาว่า ถ้าเขาอยากจะระดมให้ครบทุกภาคส่วน เขาลืมสถาปนิก ลืมกราฟิกดีไซเนอร์ไม่ได้ คุณเอาแต่สาระอีกแบบนึงไม่ได้นะ แล้วเขาก็สนใจ นั่นแปลว่าเขาไม่รู้จักเราจริงๆ ไม่ใช่ว่าเขามองข้าม

• ถ้าคุณสามารถเข้าไปออกแบบปรับเปลี่ยนบางอย่างในสังคมตอนนี้ได้ คุณจะเลือกออกแบบอะไร
ผมอยากทำอะไรที่รู้สึกว่ามันมีผลประโยชน์กับคนอื่นเยอะๆ มากกว่านี้ บางครั้งงานสื่อสารมันไม่ได้อยู่ในระดับความเป็นความตาย มันไม่เหมือนกับเราคิดค้นยาได้สักตัว ช่วยมนุษย์ได้เยอะๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีระดับของมัน ผมก็รู้สึกว่าผมอยากจะให้งานเข้าไปใกล้สิ่งนั้นมากขึ้น เมื่อทำบรรลุไปแล้ว มันได้เกิดประโยชน์เป็นมรรคเป็นผลกับผู้คนในวงกว้างจะดีไม่น้อย

ตอนนี้ผมอยากทำหนังสือเรียน คิดไว้นานมากแล้ว แต่มันต้องรื้อกันทั้งระบบ คือว่ารื้อในลักษณะเนื้อหาด้วย ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เราอยากจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ถ้ากระทรวงจะรื้อ เราทำใจขาดเลย

• ปัญหามันคืออะไร ทำไมต้องรื้อ
หนังสือไม่ได้เป็นภาชนะ ความเป็นหนังสือมันคือ message แต่ถ้าเราใช้มันเป็นภาชนะ มองว่ามันคือกระดาษปึ๊งนึงมาเย็บรวมกัน หนังสือจึงไม่น่าสนใจ เพราะเราคิดแต่ว่าจะพูดอะไรแล้วไปยัดใส่ในนี้ ไอ้การที่จะลำดับอย่างไร ใช้องค์ประกอบอย่างไรให้ครบทั้งเนื้อหา ทั้งการออกแบบ ทั้งรูปเล่ม ทั้งการพิมพ์ ไม่ได้แปลว่าต้องแพงหรือต้องมี Pop-up แต่ทุกอย่างมันต้องคิดด้วยกระบวนการที่ครบถ้วน ผมว่ามันจะทำให้เด็กกลับมาอ่านหนังสือ หนังสือเรียนจะกลายเป็นเพื่อนที่เด็กพกได้ อ่านได้ ไม่ใช่หนังสือเรียนอยู่ในกระเป๋า ใช้เมื่อมีวาระ นี่เป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่าที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าห้องเรียนกับชีวิตจริงมันแยกออกจากกัน มันมีหลายๆ เรื่องที่เป็นแบบนี้ แต่ผมจะมองแต่เรื่องที่เราทำได้ เรื่องที่เราคิดว่าเราทำได้ถ้ามีคนร่วมมือในด้านอื่นๆ ช่วย ถ้าย้อนกลับไปที่ผมตอน ม.๒ เริ่มถอดสมการ เล่มนี้จะเขียนยังไงแล้วให้เด็กมันเข้าใจเลยว่า การถอดสมการนี้มีความสำคัญต่อชีวิตเอ็งอย่างสูงเลยในอนาคต หรือการถอดสมการนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างที่เอ็งใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร แต่มันต้องรื้อตั้งแต่ทำความเข้าใจก่อนว่าอย่ายัดให้เขา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณจะเรียนไปทำไม เราทำได้ถ้าทุกอย่างมันทำงานไปด้วยกัน

• บอกให้ชื่นใจหน่อย มีอะไรบ้างไหมที่ถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว
นั่นสินะ คิดนานเลย

• ถึงขั้นนึกไม่ออกเลยเหรอ
มันคงมี แต่นึกไม่ออก

• วงการดีไซน์มองเรื่องสีเหลือง สีแดงอย่างไร
นักออกแบบเหมือนประชาชนทั่วไปคือมีเรามีผลประโยชน์ร่วมทางด้านไหน เพราะการเมืองคือผลประโยชน์ ผลประโยชน์นี้มันไม่ใช่แค่มูลค่า แต่มันรวมถึงผลประโยชน์ร่วมทางความรู้สึกด้วย แต่ถามว่าเหลือง-แดงในฐานะปรากฏการณ์ทางการออกแบบ ผมว่าน่าสนใจ ในขณะที่ผมกำลังบอกว่า เราใช้ศักยภาพของกราฟิกดีไซน์หรืองานออกแบบได้ไม่เต็มร้อย แต่เหลือง-แดงนี่คือการใช้งานออกแบบที่ทรงประสิทธิภาพและยังส่งปัญหามาถึงทุกวันนี้ simplify อุดมการณ์ simplify รายละเอียด simplify ปัญหาและทางออก simplify บุคคล เหลือแค่สัญลักษณ์ตัวเดียว เหลือง และ แดง ทุกคนรับรู้ด้วยกันหมดว่าเหลืองคืออะไรและแดงคืออะไร และใช้สิ่งนี้สื่อสารในระดับโลก ถามว่าคนไทยเก่งไหม นี่คือเรื่องน่าทึ่ง ผมว่านี่ไม่ใช่คนที่ไร้เดียงสามาทำแน่นอน นี่คือความร่วมมือทางการออกแบบที่เป็นมรรคเป็นผลและน่าเอามาทำในเชิงบวกกับประเทศมาก คิดดูว่าเรามีเหลืองฝรั่งเศส มีเหลืองนิวยอร์ก เรามีแดงไปทั่ว นั่นแปลว่าถ้าเราจะออกแบบการสื่อสารสักชิ้นนึง คนไทยทำได้ดีมาก โคตรเก่งเลย

• ในขณะที่งานศิลปะแขนงต่างๆ มีที่ทางเป็นของตัวเอง แล้วที่ทางของนักออกแบบล่ะอยู่ที่ไหน
ที่อยู่ของงานออกแบบคือทุกที่บนโลกเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองในมุมนี้ เราได้เปรียบกว่าเยอะ เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ามันด้อยกว่าเลยด้วยซ้ำ ในเมื่อมันอยู่ในทุกที่ นั่นก็แปลว่า ในหอศิลป์ในแกลเลอรี่ผมก็จะอยู่นะ เพราะฉะนั้น ผมไม่แบ่ง ในเมื่องานออกแบบเรายืดหยุ่นกว่า ผมคิดว่ามันเป็นสิทธิที่ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบหรือศิลปินสามารถลบเส้นแบ่งกันและกันได้

• คุณเรียกสิ่งที่คุณทำว่างานออกแบบ ไม่ใช่งานศิลปะ
ครับ เพราะผมใช้วิธีการออกแบบทำงาน สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นศิลปิน สิ่งที่เราทำเราก็เลยไม่อยากจะเรียกว่ามันเป็นงานศิลปะ เพราะว่าผมไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่เป็นศิลปิน แล้วในเมี่อคนที่ไม่ได้เป็นศิลปินมาทำงานสักชิ้นนึง มันเรียกเป็นสิ่งที่เราเป็นไม่ดีกว่าเหรอ มันสะดวกใจกว่า ถ้าผมจะไปออกเทป ร้องเพลง ผมก็จะเป็นนักออกแบบที่ร้องเพลง

• จะดีไหมถ้าแมกกาซีนเกิดมีเซคชั่นวิจารณ์งานออกแบบขึ้นมา
สุดยอด ผมว่านั่นคือวิธีนึงที่สื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจงานออกแบบ แต่ต้องทำด้วยจุดมุ่งหมายที่อยากจะทำให้เขาเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงเลือกงานที่ได้รับความนิยม

• ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ มันสะท้อนอะไรบ้าง
สะท้อนความคืบหน้าของการให้ความสำคัญ เพราะว่าสื่อเป็นบทบาทใหญ่เลย เราพอจะพิสูจน์หรือวัดอะไรได้จากแผงนิตยสาร เรามีนิตยสารไก่ชน มีนิตยสารปลากัด มีหนังสือใบ้หวย ตัวนั้นเป็นของจริงทั้งนั้นเลยว่าไทยเป็นแบบนี้ ผมคิดว่า ถ้านิตยสารกราฟิกจะอยู่ได้ ต้องเกิดขึ้นมาด้วยลักษณะนี้ เหมือนว่าทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยๆ บีบขึ้นมา

อย่างงานโฆษณาก็น่าวิจารณ์ เพราะงานแอดมีการใช้สัญลักษณ์เยอะมากในวิถีชีวิต แต่ส่วนใหญ่ที่ผมได้อ่านงานวิจารณ์แอดในบ้านเรา มักจะพยายามบอกว่าไอเดียดียังไง แต่ไม่ได้บอกว่าการสื่อความหมายนั้นมันมีนัยยะอะไร ดังนั้น เด็กๆ ก็พยายามที่จะเข่นไอเดียกัน ซึ่งมันก็ดี แต่เวลาเราอ่านแอดชิ้นนึง เราอ่านได้ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านไอเดีย ด้านจริยธรรม ไอเดียบางอย่างมีผลกระทบต่อการเรรับรู้ของเด็กไหม มีผลกระทบต่อค่านิยมของคนในสังคมไหม เป็นดาบสองคมหรือไม่ คือมันไม่มีการฉายภาพสองด้าน ผมเคยดูแอดให้โหลดเพลงจากโทรศัพท์มือถือ ฉากเป็นร้านเทปมีเด็กวัยรุ่นคนนึงกำลังจะไปซื้อซีดีของวงดนตรี แล้วเพื่อนก็มาห้าม เชย ซื้อทำไม โหลดดีกว่า ถามว่าแอดตัวนี้สะท้อนอะไร สะท้อนได้ตั้งเยอะว่าท่ามกลางกระแสที่คุณจะต่อต้านเรื่องลิขสิทธิ์ คุณพยายามให้คนหันมาซื้อซีดีจริง แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้บริษัทเดียวกันด้วยนะ คุณกำลังดิสเครดิตความเป็นซีดีไปในขณะเดียวกัน คุณเป็นบริษัทเดียวกันได้ยังไงวะ เคยมีนโยบายร่วมกันไหมเนี่ย ประเด็นที่สองคือคุณกำลังให้เยาวชนตีความหมายคำว่าดนตรีต่ำลง เพราะว่าการฟังเพลงจากทางนี้มันย่อมไม่เท่ากับการฟังจากซีดี แต่คุณกำลังใช้หนังโฆษณาชุดหนึ่งมาใส่เครื่องหมายเท่ากับ แล้วถ้าเด็กที่โตขึ้นมากับโฆษณาแบบนี้ คุณคิดว่าซีดีคุณจะรอดไหม เด็กเองต้องมองให้ออกด้วย ไม่ใช่ดูแต่กลวิธีว่าการใช้นายเอมาซื้อแล้วให้นายบีมา debate แอดแบบนี้จะได้ผล ผมคิดว่ามันต้องมีการให้ข้อมูลอีกแบบบ้าง เด็กจะได้ทันสื่อ ทันสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเขาทันในสิ่งที่เขาเห็น เขาจะได้ทันในสิ่งที่เขาทำ ทุกวันนี้เขาไม่ทันในสิ่งที่เขาทำด้วยซ้ำเพราะว่าเขาอาจจะไม่ทันในสิ่งที่เขาเห็น

• อะไรคือ ‘ทันในสิ่งที่ทำ’
ผมบอกเด็กอยู่เสมอว่าพาวเวอร์อยู่ในมือเราเยอะมาก สมมติว่าเราทำโปสเตอร์ใบนึงออกไปติด มันเป็น mass communication นั่นแปลว่าสิ่งที่เราทำอะไรลงไป มันอาจจะก่อให้เกิดเนื้อหาบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราต้องเท่าทันกับเครื่องมือที่เราปล่อยลงไปแต่ละอัน เช่นว่า คุณจะใช้ลูกแอปเปิ้ลลูกนึงเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าแอปเปิ้ลลูกนึงเป็นอะไรได้บ้าง คุณจะต้องกำกับยังไงให้แอปเปิ้ลของคุณลูกนี้ ไม่ใช่เป็นแค่ผลไม้ชนิดหนึ่ง เราต้องทันสิ่งที่เราใช้ เพราะเรามีเครื่องมือชุดนึงใช้สื่อสาร ถ้าเราไม่รู้จักเลยว่าเครื่องมือหรืออาวุธแต่ละอันมันมีศักยภาพยังไงมีความรุนแรงแค่ไหน แล้วคุณใช้มันโดยไม่รู้ มันก็จะมีหลายเรื่องที่คุณควบคุมมันไม่ได้ นั่นก็เรียกได้อย่างหนึ่งว่าเขาไม่ทันในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ กราฟิกดีไซน์ไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำอะไรสวยงาม คุณต้องอ่านสิ่งต่างๆ ได้ด้วย ไอ้สิ่งสวยงามที่คุณทำลงไป มันสวยจริงไหมในด้านอื่น มันสื่อสารไปในทางที่คุณต้องการแล้วมันไม่ได้มีผลกระทบหรือว่าให้ร้ายต่อสังคม แน่ใจหรือเปล่า อาวุธที่อยู่ในมือนักออกแบบสื่อสารมันใหญ่เกินกว่าที่เราจะทำมันเล่นๆ

• สังคมบ้านเราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการออกแบบมากน้อยแค่ไหน
ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้

• แล้วต้องเข้าใจไหม
จำเป็นต้องมีประสบการณ์ร่วม ใช้คำว่าประสบการณ์ร่วมก็ยังไม่พอ คือสังคมภาพกว้างต้องมีความชื่นชม พึงพอใจ ประทับใจ กับงานออกแบบที่มันอยู่รอบตัวเขา แต่ในขั้นนั้น ก็ต้องการการศึกษาหรือว่าสื่อบางสื่อให้ข้อมูลว่า รู้ไหมว่าป้ายห้องน้ำมันเป็นยังไง ถ้าประชาชนทั่วไปรู้ว่าป้ายห้องน้ำ ชาย หญิงคู่นี้มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ปีไหน มีเรื่องเล่าผ่านมาอย่างไร ชายหญิงคู่นี้เคยแต่งตัวยังไงบ้างตามสถานที่ต่างๆ แล้วเขาเริ่ม appreciate กับชายหญิงคู่นี้ เวลาต่อไปเขาเข้าห้องน้ำ ป้ายจะไม่ใช่ป้ายอย่างเดียวแล้ว ถ้าวันนึงที่เขามีความต้องการผลงานลักษณะแบบนี้ เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สูงขึ้นตามลำดับ แต่ว่า design appreciate บางครั้งมันก็บวกมากับเรื่อง art appreciate ซึ่งระบบการศึกษาบ้านเราได้ทำลายเรื่อง art appreciate ไปเรียบร้อยแล้วด้วยการสอนศิลปะ แปลกไหมครับ เราเรียนอะไรล่ะตอนประถม วาดรูป ครูมาให้คะแนน มีเพื่อนในห้องจำนวนนึงเขียนเก่ง มีเพื่อนจำนวนมากกว่าเขียนไม่เก่ง ก็ได้คะแนนไม่ดี ท้ายที่สุดก็จะปลีกตัวเองออกไป จำนวนคนวาดรูปในห้องก็เหลือไม่กี่คน คนพวกนั้นก็จะไปเรียนศิลปะ คนที่วาดรูปไม่เก่งตั้งแต่เด็กๆ ก็จะไปเรียนด้านอื่น เวลามาคุยกับเพื่อนที่เรียนศิลปะก็จะชอบออกตัวว่าไม่มีหัว ไม่ดูงานศิลปะด้วย พูดถึงเรื่องศิลปะก็บอกว่าไม่เอา ไม่รู้เรื่อง พวกนี้ก็ไปเรียนบริหาร เรียนหมอ อะไรก็แล้วแต่ ทั้งที่จริงๆ แล้วพอโตขึ้นไปคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัดสินใจของสังคมด้วย แต่โตขึ้นมาจากการแบ่งแยกตัวเองจากเรื่องศิลปะ ด้วยว่าคะแนนไม่ดี แล้วพวกศิลปินดีไซเนอร์ก็อยู่ด้วยกันของมันไป ซึ่งจริงๆ แล้ว วงการศิลปะ วงการดีไซน์ต้องการการสนับสนุนจากภาคอื่น ต้องการความเข้าใจจากภาคอื่น ตรงนี้มันก็เลยพร่องไป ถ้าลองมองกลับกัน วิชาศิลปะตั้งแต่ป.๑ – ม.๓ ไม่มีคะแนน วาดรูปกันเถอะ ดูงานกันเถอะ คุยกันให้สนุก ปิกัสโซ่ไม่เห็นสวยเลย โดเรม่อนสวยกว่า มันจะเข้าไปข้างใน ที่เหลือก็ปล่อยเขา ก็คุณจะให้เขาวาดรูปเก่งทำไมก็ในเมื่อท้ายที่สุดเขาไม่ได้วาดแล้วก็ไปเป็นหมอ คุณจะไปบีบให้เขาวาดรูปแล้วให้ดาวเขาทำไม ให้คะแนน ๕ เต็ม ๑๐ ทำไม เพื่อกันเขาออกจากสังคมที่ชื่นชอบงานศิลปะและการออกแบบเหรอ ไม่มีประโยชน์ นี่คือการศึกษาบ้านเรา ถามว่า ถ้าเด็กโตขึ้นมาและมีโอกาสตัดสินบางอย่าง แต่วันนั้นเขารักศิลปะแล้ว นั่นไม่ดีกว่าหรือ

• ลืมการประเมิน การให้ดาวไปซะ
เราจะประเมินอะไรล่ะ การประเมินมันต้องมีวัตถุประสงค์ว่าคุณต้องการอะไร ต้องถามก่อนว่าวิชาศิลปะศึกษาสำหรับเด็กป. ๑ ต้องการอะไร ถ้าต้องการความรัก การประเมินจะเป็นยังไง ถ้าต้องการความเป็นเลิศ ต้องการไปทำไม ในเมื่อเขาจะไม่ได้ใช้มัน แล้วบอกว่าศิลปะเป็นเรื่องจำเป็นของชาติ แต่ว่าประชาชนในชาติครึ่งนึงที่มาจากการเรียนศิลปะล้มเหลวไม่เกื้อกูลมัน รัฐก็ต้องทำงานอยู่คนเดียว นั่นก็คือปัญหา อย่าง creative economy ก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่ appreciate เรื่องครีเอทีฟ ยังไงก็ไปไม่รอด คนต้องรู้สึกว่าการครีเอทีฟนี่มันช่างดีจริงๆ นั่งเก้าอี้ตัวนึงแล้วรู้สึกได้ถึงความครีเอทีฟ ถ้าทำอย่างนั้นได้ เราไม่ต้องไปเป็นห่วงคนออกแบบหรอก มันเกิดของมันเอง เพราะอุณหภูมิสังคมมันพร้อมหมด แต่นี่ เกิดขึ้นมาปุ๊บ แต่ไม่มีใครมอง ไม่มีใครต้องการมันสักเท่าไหร่

• ถ้ายังแก้ที่ต้นตอไม่ได้ นักออกแบบจะอยู่รอดยังไงดี
เราไม่ควรพยายามอยู่รอดในความคิดแบบนี้ เราควรพยายามปรับความเข้าใจกับเขา ถ้าคนคิดว่าดีไซน์คือ surface หรือเพียงแค่เปลือกของสิ่งๆ นั้น ผมว่าอันนั้นแหละคือปัญหา และคนที่อยู่ในฐานะนักออกแบบจะต้องไม่สู้กับเรื่องนี้ เราต้องบอกให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่นั้น อย่างรัฐบาลยกตัวอย่างเรื่องแพคเกจจิ้งของญี่ปุ่นในเรื่อง Creative Economy ว่าถ้าขนมในมูลค่าเดียวกัน ใส่แพคเกจแบบญี่ปุ่นราคานึง แพคเกจไทยราคานึงที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเราปรับแพคเกจเถอะ มันไม่ได้อยู่แค่นั้น ผมไม่เชื่อว่าถ้าเราปรับแพคเกจจนสวย จนดี แล้วราคาขนมไทยมันจะสูงได้แบบญี่ปุ่น เพราะว่าเขา skip หลายๆ เรื่องออก ขนมญี่ปุ่นขายได้เพราะมันเป็นญี่ปุ่นด้วย ญี่ปุ่นเป็นชาติที่พิถีพิถัน ญี่ปุ่นเป็นชาติที่เน้นความเป็นเลิศในการใช้ทรัพยากร ในการใช้วัตถุดิบ เขาอ้างอิงชุดความหมายอื่นที่รัฐทำไว้ด้วย เพียงแต่ว่าตัวแพคเกจเป็นแค่ shortcut ที่เข้าไปถึงชุดข้อมูลที่อ้างเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเดียวกันเลย เอากนกเอาช้างมาใส่ให้เต็มกล่องของเรา มันบอกอะไร ในเมื่อคุณยังไม่ได้พยายามสร้างความหมายของประเทศ นี่ไทยนะ แต่ว่าไทยแล้วยังไง มันตอบไม่ได้ ถ้าเรายังคิดว่าโมเดลมันคือแบบนี้ มันต้องเปลี่ยนจากข้างใน ในแง่ของการสื่อสารเชิงภาพลักษณ์รวมของประเทศก็ต้องทำไปด้วย ถ้าเราจะนิยามประเทศเราลงไปสู่ตลาดโลก เราจะนิยามความร่วมสมัยของความเป็นไทยให้โลกรับรู้ยังไง เมื่อก่อนมี land of smile เดี๋ยวนี้ไม่รู้ขายได้หรือเปล่า ถ้าทำกันทุกภาคส่วน ทุกอย่างเริ่มสะท้อนประโยคเดียวกัน ความเป็นไทยจะเกิด ททท.ทำ ขนมทำ แพคเกจส่งออกทำ ทุกอย่างทำ อย่างนั้นมันก็จะเห็นภาพขึ้นว่าจะทำไปเพื่ออะไร การออกแบบก็จะง่ายขึ้นหน่อย ทุกวันนี้มันยากเกินไป เหมือนฝากความหวังไว้กับการออกแบบที่ไม่มีแมสเสจชัดเจนแล้วหวังว่ามันจะแก้เศรษฐกิจของประเทศได้

• อยากเลิกเป็นนักออกแบบไหม
ไม่อยาก

• ทำไม
ตอนนี้มันไม่ใช่อยากเป็นแล้ว ตอนนี้มันเป็น และเป็นในระดับที่มันกลมกลืนและผสมอยู่ในตัวเราในทุกๆ เรื่อง ตอนนี้เพื่อนๆ หรือว่าน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันยังรำคาญ เพราะว่าบางทีเราก็มองนู่นมองนี่ก็จะมาประเด็นนี้อย่างเดียว เราถูกเคมีกันกับอาชีพนี้ ผมไม่ได้อยู่ที่รูปแบบว่ามันเป็นแล้วมันต้องทำยังไง เราเป็นมันได้เสมอแหละ วันนั้นเราอาจจะไม่ได้เปิดออฟฟิศ เราก็เป็นนักออกแบบได้ วันนั้นเราไม่ได้ทำงานส่วนตัวแล้ว ก็เป็นนักออกแบบได้ คำๆ นี้ ผมคิดว่ามันอยู่ที่เราเลือกมากกว่า

• มีอะไรที่งานออกแบบข้ามไปไม่ถึงแล้วเราอยากข้ามไป
แค่คำถามว่ามีอะไรที่ข้ามไปไม่ถึงไหมก็ตอบยากแล้ว (คิดนาน) นึกไม่ออกครับ

• สุดท้าย ขอถามเลี่ยนๆ สักข้อ คุณว่าความรักออกแบบได้ไหม
ถ้ามีอะไรที่งานออกแบบเข้าไม่ถึงก็คงจะมีเรื่องนี้ ตอบคำถามเมื่อกี้ด้วย อยากออกแบบความรักครับ เพราะมันออกแบบไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าความรักออกแบบได้ มันเป็นการตัดสินด้วยคนๆ เดียว เพราะผมว่าความรักมันเป็นเรื่องของความพึงใจสองด้าน ซึ่งความพึงใจในที่นี้ มันไม่ใช่ความพึงใจในระดับผู้เสนอแบบ กับ user ที่มันพอตกลงกันได้ แต่นี่มันเป็นผู้เสนอแบบกับผู้เสนอแบบ และ user กับ user ซึ่งมันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด นั่นก็หมายความว่า ความรักออกแบบได้ในระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ต้องมีการปรับแบบอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันจบแน่ ถือเป็นงานที่เก็บตังค์ไม่ได้ (หัวเราะ)

3 thoughts on “A View with a day

Comments are closed.