ตีพิมพ์ในนิตยสาร Computer Arts ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒
และเผยแพร่ใน http://www.anuthin.org

บทความนี้เดิมทีตั้งใจจะเขียนถึงสัญลักษณ์ของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
ที่เริ่มเผยแพร่ให้เห็นกันแล้ว แต่พอเริ่มเรียบเรียงความคิดที่จะเขียน
กลับกลายเป็นว่า…วัตถุดิบในสมองผมมีแต่ข้อมูลที่เป็นเรื่องแวดล้อมของ
สัญลักษณ์ตัวนี้ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นในลักษณะจดหมายเหตุเพื่อบันทึก
เรื่องราวหนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ..
ที่ในอนาคต…อาจจะสำคัญหรือไม่ …ผมไม่อาจทราบได้
อีกทั้งพยายามจะหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์และวิพากษ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เรื่องราวถูกนำเสนออย่างที่มันเป็น…

เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (2552) ที่ผ่านมา
ได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับคุณวิสุทธิ์ มณีรัชตวรรณ
นายกสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย, คุณสำเร็จ จารุอมรจิต
แห่ง วี อาร์ ทู สตาร์ดัส พร้อมกับคุณวิเชียร โต๋ว และคุณสยาม อัตตริยะ
แห่งคัลเลอร์ ปาร์ตี้ ซึ่งทุกท่านล้วนแต่เป็นกรรมการและเป็นกำลังสำคัญ
ในการก่อตั้งสมาคมฯ นี้ขึ้นมาหลายปีแล้ว

ในวันนั้น…บทสนทนาส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่อง
การดำเนินการของสมาคมฯ ซึ่งหลายๆ คนคงทราบว่ามีสมาคมนี้เกิดขึ้น
เมื่อหลายปีก่อน แต่อีกหลายๆ คนก็ไม่ทราบว่ามีการจัดตั้งสมาคมฯ กันขึ้นแล้ว
ทั้งสี่ท่านที่ร่วมสนทนามีความตั้งใจอย่างมากในการที่จะให้สมาคมฯ
เริ่มที่จะมีความเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมออกสู่สาธารณะ
และเพื่อให้สมาคมฯ ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยก็จะทำให้
นักออกแบบกราฟิก(ไทย) ได้รับรู้โดยทั่วกันว่าเรามีสมาคมทางวิชาชีพ
และก็เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ผมได้ถูกชักชวนให้มาได้ร่วมสนทนาโดยพี่วิเชียร โต๋ว และคุณสยาม อัตตริยะ
ด้วยความที่เคยจัดกิจกรรมทางการออกแบบกราฟิกมาบ้าง ทั้งสองจึงเห็นว่า
ผมน่าจะได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็น
การสนทนาในวันนั้นได้ข้อสรุปบางอย่างที่ทำเกิดการดำเนินการได้ทันที
ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียว… นั่นคือ ทางสมาคมฯ
จะเริ่มเปิดรับสมาชิกทั่วไป โดยยังไม่จำกัดคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงและ
ยังไม่มีการเก็บค่าสมัครใดๆ หมายถึงรวมทั้งนักศึกษา คณาจารย์
นักออกแบบเรขศิลป์และผู้ประกอบกิจการที่สัมพันธ์กันกับงานออกแบบ
เรขศิลป์

ในความเห็นของผมแล้ว นั่นเท่ากับสมาคมฯ เองจะมีโอกาสได้สำรวจสมาชิก
ของสมาคมฯ เองว่าเป็นใครมาจากไหนบ้าง เพราะนอกจากสมาคมฯ
จะมีสมาชิกมากขึ้นแล้ว ในอนาคต…สมาคมฯ ยังสามารถสร้างสรรค์กิจกรรม
ได้สอดคล้องกับสมาชิก (ที่น่าจะหลากหลาย)ได้อีกด้วย ส่วนอีกเรื่องที่เป็น
ข้อสรุปก็คือการจัดเตรียมช่องทางการสื่อสารกับสมาชิกและประชาชนทั่วไป
โดยจะเริ่มจากการทำเว็บไซต์ของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
โดยทั้ง 2 ภารกิจจะทำให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2552 นี้

ผมกลับจากวงสนทนาด้วยภารกิจที่ได้รับปากไว้ในเรื่องการหาสมาชิก
ให้ทางสมาคมฯ เนื่องจากผมและแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ กำลังเตรียมจัด
กิจกรรมที่ชื่อว่า “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย
(I am a Thai graphic designer™) ”
จึงคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางในการสื่อสารกับเพื่อนๆ นักออกแบบให้ทราบ
เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ จากการพูดคุยเพิ่งทราบว่าสมาคมฯ เองยังไม่มีสัญลักษณ์
อย่างเป็นทางการของสมาคมฯ มีแต่สัญลักษณ์ชั่วคราวที่เป็นแบบเรียบง่ายใช้กัน
ในวงแคบๆ ส่วนแบบที่เป็นทางการยังไม่ได้สรุปกัน…
จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่ทางสมาคมฯ ยังไม่ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องโลโก้
ทั้งๆ ที่คราคร่ำไปด้วยนักออกแบบโลโก้
เพราะนั่นแหละที่ยาก…ว่าใครควรจะเป็นคนทำหรือควรจะเลือกแบบของใครดี…
อีกเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะอาจจะยังไม่มีกิจกรรมที่จะต้องใช้
จึงยังไม่ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ผมเดาเอาเองทั้ง 2 เหตุผล)
แต่ผมเองจะต้องเริ่มดำเนินการจัดหาสมาชิกแล้ว ผมจึงต้องการสัญลักษณ์
ที่เป็นทางการของสมาคมฯ เพื่อเผยแพร่ผ่านใบสมัครและเว็บไซต์
จึงได้ปรึกษาพี่วิเชียรว่าจะหาใครซักคนมาทำ
ซึ่งตอนนั้นผมก็เสนอคุณอนุทิน วงศ์สรรคกร ที่มีความเชี่ยวชาญทาง
การออกแบบตัวอักษรร่วมสมัย ด้วยเหตุผลที่ว่าแบบสัญลักษณ์ชั่วคราว
เป็นแบบโลโก้ไทป์ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้
คุณอนุทินจึงน่าจะเหมาะกับงานนี้ ซึ่งพี่วิเชียรก็เห็นด้วยกับความคิดนี้

คุณอนุทินตอบรับที่จะออกแบบให้และส่งผลงานมาให้ทางอีเมล์
หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์
โดยคุณอนุทินให้แนวคิดกับโลโก้ไทป์ของสมาคมฯ ไว้ดังนี้ครับ…

“ ผม (อนุทิน) เห็นด้วยในการทำให้โลโก้ไทป์นี้ออกไปในแนว typesetting
เพื่อให้ไม่แฟชั่นมาก เพราะมันจะดูเป็นองค์กรมีความน่าเชื่อถือกว่า
ผมเลยเขียนตัวอักษรขึ้นมาใหม่หมด พวกพับพวกตัดเฉียงผมเอามาใส่
เพื่อให้มันขับบุคลิกเฉพาะมากขึ้น แต่ได้ไล่เส้นมาอย่างดี
เส้นเฉียงมันทำให้เกิดการเห็นเป็นมิติมากขึ้นในโลโก้ที่เป็นสองมิติ
เป็นเรื่องของ visual perception พื้นฐานกราฟิกล้วนๆ
ซึ่งผมว่าลูกเล่นง่ายๆ อย่าง figure & ground แบบนี้
มันก็ foundation ดี แล้วก็เหมาะสมกับความเป็น institution
ของ ThaiGa เพราะผมเห็นว่ามันเป็นไทยได้แบบไม่ต้องเลื้อยไปมา
มันดูไทยร่วมสมัย ดูผ่านการปฎิวัติอุตสาหกรรมมาแล้วในมุมจากที่ผมเห็น
ไม่ใช่ข้ามไปหยิบไทยในอดีตมาแปะลงไปบนไทป์สมัยใหม่
(แปะกนกลงไปอะไรแบบนั้น)

ส่วนเรื่องสีพยายามเลี่ยงคู่ที่ใกล้ที่สุดกับที่เลือกมาแต่แรก
(แบบสัญลักษณ์ชั่วคราวใช้สีส้มและดำ) แต่ยังเก็บความตั้งใจแรกเริ่มไว้
คือสองสีตัดกัน ผมเลี่ยงดำไปใช้สีนำ้ตาลเข้มๆ มันดูแนวๆสีมังคุดหรือ
พวกสีเสาไม้สักของบ้านไทย อีกอย่างที่ทำให้ผมนึกถึงคือ มะขาม
ซึ่งผมว่าไทยมากเลย ส่วนสีส้มผมปรับให้มันออกฝุ่นๆนิดหน่อย  
เพราะสีไทยยิ่งพวกจิตรกรรมฝาผนัง มันจะออกแนวฝุ่นๆหน่อย
พยายามให้จิตใต้สำนึกเราเอาไปลิ้งค์กับจีวรพระนิดๆ
คือไปลิ้งค์เองในชั้นนั้นไม่ต้องลิ้งค์กันเห็นๆ
โดยรวมคือตั้งใจให้เป็นแบบนั้นครับ…”

แนวคิดในการออกแบบสัญลักษณ์ของคุณอนุทินข้างต้น
ก็ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องเขียนถึงในเชิงวิเคราะห์ให้มากความ
เพราะจากถ้อยคำดังกล่าวก็ทำให้เข้าใจได้ถึงที่มา ทั้งในแง่ของ
ไวยกรณ์ทางกราฟิกและการใช้สัญญะผ่านการออกแบบตัวอักษร…
อีกประเด็นที่พอจะเพิ่มเติมก็คือ คุณอนุทินยังเสนอเรื่องตัวอักษรย่อ
ภาษาอังกฤษในแง่การใช้ตัวพิมพ์ใหญ่กับตัว ‘T’ และตัว ‘G’
ให้สอดคล้องกับการออกเสียง “ไทยก้า” จึงสรุปการย่อตัวอักษรเป็น
“ThaiGa” อย่างที่เห็นกันนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว… สมาคมฯ ก็ได้สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการทั้ง
ภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างที่ผ่านตาหลายๆ คนไปแล้ว
แล้วเริ่มถูกนำไปใช้ในหลายโอกาสตามลำดับ…

นอกเหนือจากการมีคนหน้าใหม่อย่างผม อย่างคุณอนุทินและ
อีกหลายคนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ยังต้องกล่าวถึงหลายๆ
สำนักงานออกแบบที่ให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ
มีการระดมทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับสมาคมฯ มากขึ้น “อ้าว! มีสมาคมนี้ด้วยหรือ”
“ยังมีอยู่อีกเหรอ” “สมัครเป็นสมาชิกแล้วได้อะไร?”
เว็บไซต์หลายแห่งมีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เป็นต้น
ไม่ว่าเสียงสะท้อนจะดังว่าอย่างไร
แต่การสะท้อนกลับอาจแปลได้ว่าสารได้กระทบไปที่ผู้รับสารแล้ว
นั่นอาจหมายถึงเกิดการรับรู้ในการมีอยู่ของสมาคมฯ

จากวันนั้นถึงวันนี้ สมาชิกนักออกแบบเรขศิลป์กว่าพันคนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งจากช่องทางเว็บไซต์ http://www.iamathaigraphicdesigner.com
และใบสมัครที่บริษัท แอนทาลิส (ประเทศไทย) จำกัด
ช่วยจัดพิมพ์ให้ฟรีแถมยังให้พนักงานขายของบริษัทนำไปส่งให้ถึง
มือนักออกแบบตามบริษัทต่างๆ เลยทีเดียว
เป็นภาพสะท้อนถึงความร่วมมือเล็กๆ ดังกล่าวที่เสมือนก้าวย่าง
ที่มีการตอบรับกลับอย่างมีความหวัง

แน่นอนว่ายังวัดผลอะไรไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกว่า
การเริ่มต้นได้ด้วยซ้ำ แต่การร่วมมือที่จะทำอะไรซักอย่าง
ในนามสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ได้เกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว…
จะเป็นอย่างไรต่อไป…
คงขึ้นอยู่ที่แนวร่วมเดิมยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่…
แนวร่วมใหม่จะเข้ามาหนุนหรือไม่…
ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป…

สันติ ลอรัชวี

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s