a day : คำถามหลังถ้วยชาว่าด้วยชีวิต การออกแบบ และการออกแบบชีวิต

a day, interview 198
เรื่อง จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

คำถามหลังถ้วยชาว่าด้วยชีวิต การออกแบบ และการออกแบบชีวิต

คำถามคือ…
ในบทสนทนาหลังถ้วยชา สันติ ลอรัชวี พูดคำนี้บ่อยครั้ง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อเสมอมาว่า คำถามสำคัญกว่าคำตอบ คำตอบของสันติจึงเต็มไปด้วยคำถาม

คำถามที่น่าสนใจในเวลานี้ ไม่ใช่คำถามที่ว่า สันติ ลอรัชวี คือใคร เพราะชื่อของเขาไม่ใช่ชื่อใหม่ในแวดวงนักออกแบบ Continue reading “a day : คำถามหลังถ้วยชาว่าด้วยชีวิต การออกแบบ และการออกแบบชีวิต”

GRAPHIC TRIAL 2018 Passion

Exploring the Possibilities of Graphic Design through Offset Printing

Graphic Trial 2018 represents an attempt to explore the relationship between graphic design and the art of printing in order to discover new forms of expression. Every year, artists on the cutting edge of graphic design experiment with different printing techniques to create groundbreaking works of graphic art for our Graphic Trial exhibitions.

This year marks the 13th Graphic Trial Exhibition.

This exhibition features works by Akira uno, Santi Lawrachawee, Yoshihiro Yagi and Haruyuki Suzuki. Collaborating with them in using offset printing to push the limits of artistic expression were the printing directors at Toppan Printing.

This year’s theme is “Passion”. This is the era of instant global communication, unshackled from the limits of time and space. New sources of creativity are being formed at the intersections through which technologies and ideas flow freely between different peoples and cultures. Witness a artists and Toppan Printing Directors working on the front lines of design.
Jun. 16, 2018 (Sat) – Sep. 17, 2018
at P&P Gallery, Printing Museum

Organizer
Printing Museum, Tokyo, Toppan Printing Co., Ltd.

Planning
Toppan Idea Center, Toppan Printing Co., Ltd.

Support
Japan Graphic Designers Association Inc. (JAGDA)

Santi Lawrachawee collaborated with Shizu Tominaga (Toppan’s Printing Director) for his posters “Mind”.

What is Graphic Trial?

GraphicTrial เป็นนิทรรศการแสดงผลงานโปสเตอร์คุณภาพสูง สนับสนุนโดย Toppan ประเทศญี่ปุ่น โดยนักออกแบบ กับ Toppan จะสำรวจวิธีการและแนวทางการทำงานร่วมกันใหม่ในการพิมพ์ โดยธีมในปีนี้คือ “Passion” – ความกระตือรือร้นไม่มีที่สิ้นสุด แนวคิดสวนทางกับเหตุผล การเสพติด “สิ่งต่างๆ” และอารมณ์อันทรงพลัง เช่น ความรัก ความปรารถนา ความโกรธความเกลียดชัง ความเศร้าโศก และความสุข ถูกนำเสนอผ่านผลงานออกแบบโปสเตอร์จากนักสร้างสรรค์ทั้งสี่คน ถ่ายทอดผ่านการพิมพ์ที่ละเอียดซับซ้อนและปราณีต

Graphic Trial is a high quality printed poster exhibition sponsored by Toppan, Japan.Toppan and top creators came together to explore ways of creating a new collaborative approach to printing.
This yearʼs theme is “Passion”—a strong emotion or boundless enthusiasm, a concept contrary to reason.Addictions to “things” and powerful emotions like love, desire, anger, hate, sorrow, and joy have always driven people to create.The passions of eminent creators have inspired the printing directors at Toppan to express various dimensions of Passion using techniques and sensibilities that embody their hearts.

M.O.U. 201806001

ใครคนหนึ่งอาจอรรถาธิบายถึงน้ำ แต่ปากหาได้เปียก
ใครอีกคนหนึ่งอาจอธิบายอย่างเต็มที่กับลักษณะของไฟ แต่ปากก็หาได้ร้อนไม่

หากปราศจากการสัมผัสน้ำไฟจริง เราย่อมไม่อาจรู้ถึงมัน แม้จะอธิบายออกมาเป็นหนังสือทั้งเล่มก็ไม่ทำให้เข้าใจ เปรียบดั่งอาหารที่ถูกจำกัดความจนเห็นภาพออกรส แต่ก็ไม่บรรเทาความหิวของคนๆ หนึ่งได้

เราไม่อาจบรรลุความเข้าใจในสิ่งหนึ่งเพียงจากการอธิบายถึงมัน

ทาคุอัน โซโฮ, ปลดจิตปล่อยใจ (The unfettered mind), หน้า 16

One may explain water, but the mouth will not become wet. One may expound fully on the nature of fire, but the mouth will not become hot.

Without touching real water and real fire, one will not know these things. Even explaining a book will not make it understood. Food may be concisely definded, but that alone will not relieve one’s hunger.

One is not likely to achieve understanding from the explanation of another.

Takuan Soho, The unfettered mind, p.16

M.O.U. = Memorandum of understanding
รวบรวมความคิด บทสนทนา ภาพ หรือ เสียง ที่เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

Designed by Empathy

(เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร art4d พ.ศ. 2560)

จากชุดบทความ The Evolution of Design Thinking ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกันยายน 2558 ที่โปรยหัวว่าความคิดเชิงออกแบบจะกลายเป็นศูนย์กลางของการวางกลยุทธ์ การสร้างนวัตกรรม และการจัดการทางวัฒนธรรมนั้น สร้างคำถามต่อผู้เขียนว่านักออกแบบจะมีบทบาทอย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่ว่านี้ อีกทั้งยังนึกสงสัยว่าในอนาคต “Designer” จะถูกจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตของเพียงการสร้างสรรค์เชิงกายภาพหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ต่อการเกิดขึ้นของคำเรียกผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการคิดเชิงออกแบบว่า “Design Thinker” รวมถึงการโต้แย้งกันที่เกิดขึ้นอย่างคำว่า “Design Thinking is Bullshit” จากนักออกแบบคนสำคัญ

อย่างไรก็ดี ลินดา ไนแมน ผู้ก่อตั้ง Creativity at Work ก็ยังให้คำจำกัดความที่ทำให้นักออกแบบอย่างผู้เขียนเชื่อว่านักออกแบบมีส่วนสำคัญต่อการคิดเชิงออกแบบ จากบทความในเว็บไซต์เธออธิบายว่า “การคิดเชิงออกแบบคือกระบวนวิธีที่เหล่านักออกแบบใช้ในการแก้ปัญหาและการแสวงหาวิธีหรือทางออกที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยแกนหลักไม่ใช่การเพ่งความสำคัญไปที่ปัญหา แต่เป็นทางออกในการแก้ปัญหา และการปฏิบัติที่จะนำไปสู่สิ่งที่คาดหวังมากกว่า การคิดเชิงออกแบบนี้ดำเนินไปด้วยการใช้ตรรกะ จินตนาการ ญาณทัศนะ และการให้เหตุผลที่เป็นระบบ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้และการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งจะเกิดผลดีกับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ในมุมมองของผู้เขียน คำจำกัดความนี้ให้เครดิตกับเหล่านักออกแบบไม่น้อย เนื่องจากมันได้สะท้อนว่ากระบวนวิธีที่นักออกแบบใช้ในการทำงานอยู่แล้วนั้นมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่?

คำถามที่ยากจะตอบเหล่านี้ชวนให้คิดถึงความเกี่ยวโยงของสถานะนักออกแบบกับกระแสความคิดเชิงออกแบบที่กำลังถูกนำเสนอกันอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา คงจะดีหากเริ่มที่ประโยคสะดุดหูของ จอห์น เฮสเก็ต (John Heskett) จากหนังสือ Design: A Very Short Introduction ที่เขียนว่า “Design is to Design to Produce a Design” เขากล่าวถึงนิยามของการออกแบบด้วยโวหารที่ชวนขบคิดโดยการใช้คำว่า “Design” สามคำที่มีความหมายที่ต่างกันในประโยคเดียว จะเห็นได้ว่า Design ที่นักออกแบบคนหนึ่งทำอาจเป็นเพียงคำใดคำหนึ่งในประโยคนี้ หรืออาจเป็นทั้งหมดสำหรับใครอีกคนเช่นกัน

ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงการออกแบบในฐานะผลลัพธ์หรือกระบวนการต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นกายภาพวัตถุ เช่น เราจะนึกถึงว่า แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ออกแบบอาคารบ้านเรือน / ชารล์ อีมส์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ / พอล แรนด์ ออกแบบโลโก้ เป็นต้น ผลงานออกแบบทั้งหลายอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จในความเป็นกายภาพวัตถุ และเป็นเหตุที่ผู้คนส่วนมากจะยึดโยงการออกแบบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ทิม บราวน์ CEO ของบริษัท IDEO เขียนไว้ในบทความของเขาได้ชัดเจนว่าแรกเริ่มลูกค้ามักขอให้นักออกแบบสร้างสรรค์รูปร่างหน้าตาของสิ่งต่างๆ (Hardware) ต่อมาก็เริ่มให้สร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกของสิ่งที่ผู้บริโภคต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย (Software) มาถึงปัจจุบันนักออกแบบก็เริ่มมีส่วนต่อการสร้างกลยุทธ์ให้กับองค์กรหรือสินค้า รวมถึงการมีส่วนต่อการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้คนอีกด้วย เขาสรุปว่าดีไซน์ในปัจจุบันคือการประยุกต์สิ่งต่างๆ ในฐานะระบบ เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ทั้งหมดทำงานได้ดียิ่งขึ้น และนี่เป็นเส้นทางของการออกแบบที่ซับซ้อนและแยบยลยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา ซึ่งบราวน์หมายถึง “Design Thinking” นั่นเอง ในขณะที่เขาเรียกผลงานออกแบบที่เป็นกายภาพวัตถุว่า “Design Artifact”

มีนักคิดหลายคนที่เคยเสนอความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking ไว้แบบตรงบ้างอ้อมบ้าง เช่น สตีป จ๊อบส์เคยบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกแบบเพียงแค่ว่ามันหน้าตาอย่างไร ผู้คนคิดว่ามันเป็นเปลือกนอกแล้วบอกนักออกแบบว่า ช่วยทำให้มันดูดีหน่อย! ผมไม่คิดว่าดีไซน์เป็นเช่นนั้น มันไม่ใช่แค่ว่ามันมีดูและรู้สึกเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่มันทำงานอย่างไรต่างหาก” ในขณะที่ในหนังสือ Designerly Ways of Knowing ไนเจล ครอส เขียนยกให้การออกแบบเป็นหนึ่งในสามของศักยภาพเชิงสติปัญญาของมนุษย์เลยทีเดียว โดยอธิบายว่ามิติพื้นฐานทางการคิดทั้งสาม ได้แก่ ดีไซน์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ จะร่วมกันสร้างความสามารถทางการคิดอื่นๆ ของมนุษย์ได้อย่างไม่สิ้นสุด วิทยาศาตร์จะสำรวจความคล้ายคลึงของสิ่งทั้งหลายที่แตกต่างกัน ส่วนศิลปะจะสำรวจในทำนองกลับกัน ในขณะที่ดีไซน์จะสร้างองค์รวมที่ใช้งานได้ (Feasible Wholes) จากชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ (Infeasible Parts) ดังนั้นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีของพื้นฐานทั้งสามอย่างนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ทักษะการคิดอื่นๆ ได้ดีเช่นกัน

คำว่า “ใช้ได้ (Feasible)” ข้างต้นสามารถเชื่อมโยงไปสู่คำว่า “จุดมุ่งหมาย (Purpose)” ได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะใช้ในความหมายใด การวางแผน ตัวแผน การทำให้บรรลุ ล้วนแล้วแต่ต้องสัมพันธ์อยู่กับจุดมุ่งหมายหนึ่งๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่า “จุดมุ่งหมาย” คือหัวใจสำคัญของการออกแบบที่ทำให้แตกต่างออกจากกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟ แต่เราออกแบบมัน” (Nelson & Stolterman) ที่แสดงถึงเจตจำนงค์การคิดค้นวิธีการสร้างไฟเมื่อมีความต้องการหรือมีเป้าประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้การสร้างไฟเมื่อต้องการใช้งานแตกต่างจากการพบไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กิจกรรมการออกแบบนั้นถูกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 35,000 ปี จนมาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มกำกับชื่อเรียกของบทบาทหน้าที่ทางอาชีพของตนเอง จนเกิดกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “นักออกแบบ” ซึ่งในปัจจุบันวิชาชีพนักออกแบบถูกแบ่งให้แตกแขนงออกไปมากมาย ตามบริบทของทักษะและลักษณะงานที่ต่างกันออกไป โดยที่เว็บไซต์ designclassification.com ได้จัดประเภทของการออกแบบไว้ถึง 93 หมวดหมู่ ในการจัดลำดับและประเภทของการออกแบบในช่วงปี พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2559

กิจกรรมออกแบบนับเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อันเกิดขึ้นจากการสังเกต คิดค้น แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาจากสิ่งเดิม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตต่อตนเองและสภาพแวดล้อม การใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมถึงการตอบสนองด้านสุนทรียะ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ การออกแบบยังเป็นความสามารถในการจินตนาการสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มันเกี่ยวโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา เป็นศักยภาพที่สำคัญ ไม่ใช่แค่สำหรับคนที่ต้องการเป็นนักออกแบบเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนั้นๆ ด้วย ดังนั้นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อมนุษย์ล้วนเกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น ยกเว้นสิ่งนั้นจะเกิดจากธรรมชาติ การออกแบบมีศักยภาพในการสร้างความรู้ด้วยการบูรณาการความคิด (Thought/Thinking) กับการกระทำ (Action/Doing) หรือเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฎิบัติ บางคุณสมบัติของการออกแบบก็พบได้ในวิทยาศาสตร์ บางส่วนก็พบได้ในศิลปะเช่นกัน

หากพิจารณาคำจำกัดความเกี่ยวกับ Design Thinking ที่ว่าคือการสร้างนวัตกรรมด้วยการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centered) แล้ว กล่าวได้ว่าในกระบวนการคิดเชิงออกแบบจำเป็นต้องมีความเอาใจใส่ (Empathy) ต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ยิ่งงานออกแบบมีผู้คนที่เกี่ยวข้องมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความซับซ้อนและต้องการความเอาใจใส่มากเท่านั้น การออกแบบที่ปราศจากการเข้าใจว่าผู้อื่นเห็น รู้สึก และมีประสบการณ์อย่างไรต่อมัน ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้จุดหมาย

ดังนั้นการพยายามหาความแตกต่างระหว่าง Design กับ Design Thinking อาจเป็นเรื่องปราศจากสาระ เช่นเดียวกับการจะเรียก Designer เป็น Design Thinker ซึ่งก็จะทำให้เกิดช่องว่างและการโต้เถียงกันต่อไปว่าอะไรดีกว่าอะไร หากมองในแง่บวกก็จะพบว่าบทบาทและศักยภาพของการออกแบบกำลังขยายตัวออกไปกว่าที่มันเคยเป็น หรือไม่ก็กว้างกว่าที่เราเคยรับรู้และเข้าใจ โดยมีเข็มทิศที่เรียกว่า “ความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น (Empathy)”

ในขณะที่โลกมองหรือเรียกร้องว่า…ดีไซน์นั้นมีขอบเขตและศักยภาพมากกว่าโลกดีไซน์เนอร์ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ จึงต้องกลับมาทบทวนว่า…เรามีทัศนคติต่อเป้าหมายในการออกแบบอย่างไร? ในการออกแบบเราเอาใจใส่ต่อเรื่องอะไรบ้าง ละเลยเรื่องอะไรบ้าง?มันคงไม่มีการออกแบบใดมีเพียงเป้าหมายเดียวโดดโดด แต่เราหาทางออกบรรลุเป้าหมายที่รวมความต้องการที่หลากหลายอยู่ได้อย่างไร มันดูเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น แต่เพราะมันยาก มันจึงสำคัญที่ต้องทำให้ออกมาง่าย นั่นคือดีไซน์

สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่นักออกแบบควร “เอาใจใส่”

สันติ ลอรัชวี

ปฐมบทสู่หน้าว่างของการพิมพ์ไทย

A
คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ณห้องกระจกพระราชวังแวร์ชายวันที่ 1 กันยายน พ.. 2229

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกเหนือจากเรื่องราวแสนโรแมนติกของออกขุนศรีวิศาลวาจาและแม่การะเกด จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ยังมีหลักฐานอ้างอิงได้อีกว่า ในยุคนั้นการพิมพ์ในประเทศไทยกำลังสร้างปฐมบทขึ้น จากการเดินทางของคณะมิชชันนารีคาทอลิกจากฝรั่งเศสเข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ได้แต่ง แปล และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา เป็นภาษาไทยจำนวน ๒๖ เล่ม หนังสือไวยกรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม จากหนังสือ “หนึ่งรอยตัวเรียง” เขียนว่าการเข้ามาสอนศาสนาและวิชาการต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีตำราเรียนประกอบของสังฆราชลาโน อาจเป็นแรงจูงใจให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้พระโหราธิบดี จัดทำหนังสือ “จินดามณี” อันมีเนื้อหาว่าด้วยระเบียบของภาษาอักรวิธีเบื้องต้น และวิธีแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนแก่เข้าขุนมูลนายและสำนักเรียนในวัด ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกและสืบทอดต่อกันมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ น่าเสียดายที่หนังสือจินดามณีที่เขียนจากสมุดข่อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์คัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้จารวันเวลาที่เขียนเอาไว้ จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเล่มใดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคสมัยนี้ สังฆราชลาโนยังสร้างศาลาเรียนขึ้น ในพื้นที่พระราชทานที่ตำบลเกาะพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ตามบันทึกของ ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ว่า ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่าที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย. นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโนถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก…”

การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก จึงน่าจะเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงปิแอร์ ลังคลูอาส์ (Pierre Langrois) มีความคิดจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อพิมพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและแรงงานราคาถูก มีจดหมายไปทางฝรั่งเศสส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาเพื่อจะได้พิมพ์คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย ฟ. ฮีแลร์ อ้างจดหมายเหตุของบาทหลวงลังคลูอาส์ที่มีไปยังมิชชันนารีที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ว่า ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยแผ่พระศาสนาคฤศตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้วขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด, มิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆหนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา, เมืองคูอาและเมืองมะเกานั้น แม้จดหมายฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่า เครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาตามที่ขอหรือไม่ แต่ก็พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มิชชันนารีคริสตังมีความคิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนาซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ อันลงนามกันที่เมืองลพบุรี มีใจความสรุปโดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารี ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาและวิชาต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือประกอบการศึกษา

ในรัชสมัยนั้น พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า ๔๐ คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งนั้นคณะราชทูตได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส ที่โรงพิมพ์หลวงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยมีบันทึกไว้ว่าราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของมงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้ชมตั้งแต่การเรียงตัวพิมพ์ ได้ดูแท่นพิมพ์และกระบวนการพิมพ์ รวมถึงพระวิสูตรสุนทรได้ทดลองพิมพ์ด้วยตนเอง ได้รู้ถึงวิธีผสมหมึก วิธีทำกระดาษ วิธีการพิมพ์ วิธีพับกระดาษ การรวมเล่มและใส่ปกจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังได้ชมแม่ตัวหนังสือหลายชนิดหลายภาษา เป็นต้นว่า แม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่ง และภาษาอาหรับ จนราชทูตเห็นความเป็นไปได้ของการทำตัวหนังสือภาษาไทยในการเยี่ยมชมครั้งนั้น

ในยุคสมัยดังกล่าว เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้าในการออกแบบตัวอักษรในยุคบาโรก (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๒๙๓) คือการเป็นองค์อุปถัมป์อย่างเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีความสนใจทางการพิมพ์อย่างมาก รับสั่งให้มีการระดมบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวพิมพ์ใหม่ๆขึ้น เน้นการเขียนแบบตามหลักคณิตศาสตร์ ใช้ระบบกริดมากกว่าแนวทางอักษรประดิษฐ์ ตัวพิมพ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า โรมาง ดู รัว (Romain du Roi) ที่หมายถึงตัวอักษรโรมันของกษัตริย์ โดยเป็นการออกแบบตัวหนังสือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีการแบ่งตารางจตุรัสออกเป็น ๖๔ ส่วน และแบ่งจตุรัสแต่ละส่วนออกเป็นอีก ๓๖ หน่วยย่อย ทำให้เกิดเป็นจตุรัสเล็กๆ ทั้งหมด ๒,๐๓๔ หน่วย จนมีการจำแนกโรมาง ดู รัว เป็นตัวพิมพ์แบบ Transitional Roman อันเป็นจุดที่ตัดขาดจากลักษณะอักษรประดิษฐ์ การใช้ปลายมุมเป็นเล็บโค้งๆ และการใช้เส้นที่มีน้ำหนักเท่ากันตลอด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนมือจากนักประดิษฐ์ตัวอักษรมาสู่มือวิศวกร ที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในการพิมพ์

ทางการค้นคว้าจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมพอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ จากบทความ “ลายสือไทย ๗๐๐ ปี” โดยศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล เขียนถึงการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่าหากมีการพิมพ์ก็คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน มาเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย ไม่ได้มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทยแต่อย่างใด แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าจะเกิดการพิมพ์หนังสือในสมัยนั้น แต่เครื่องพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปหมด ไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ชนรุ่นหลัง เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง เช่น ถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งเป็นรัชสมัยต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ และอีกครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีโรงพิมพ์เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอธยา ไม่มีทั้งบันทึก หรือแม้แต่หลักฐานหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น รวมถึงเมื่อพระยาโกษาปานไปดูกิจการการพิมพ์ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้แสดงความสนใจดั่งไม่เคยรู้เห็นเรื่องการพิมพ์มาก่อน จนกระทั่งกลับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระนารยณ์ฯ ก็เสด็จสวรรคตในอีก ๘ เดือนต่อมา อันเป็นการตัดขาดจากการรับเทคโนโลยีจากประเทศยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง อันเนื่องจากรัชสมัยของพระเพทราชาไม่ทรงสนับสนุนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดังที่หนังสือ “สยามพิมพการ” ได้ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่ายังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ได้วิเคราะห์กันไว้

ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ตาม การเดินทางของวิทยาการการพิมพ์จากฝรั่งเศสสู่กรุงศรีอยุธยานี้ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อก้าวย่างแรกๆ ของการพิมพ์ไทย รวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่กระแสธารการพิมพ์ได้ขาดช่วงไปจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นวิทยาการการพิมพ์ในยุโรปกลับรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาแท่นพิมพ์ กระดาษ หมึกพิมพ์ แบบตัวอักษรและลายประดับ ธุรกิจหนังสือ และสำนักพิมพ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปภายใต้บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

จึงเป็นเหมือนศตวรรษที่ขาดช่วง เป็นหน้าว่างในหนังสือแห่งประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

————————————————————————————————————

สันติวิธี ที่ ๑

หนังสือรวมบทความ โดย สันติ ลอรัชวี
จัดพิมพ์ โดย คัดสรรดีมาก
บรรณาธิการและออกแบบปก – อนุทิน วงศ์สรรคกร
กองบรรณาธิการ – กรดา ศรีทองเกิด
รูปเล่มและศิลปกรรม – ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม
ภาพหนังสือโดย คัดสรรดีมาก

คำนำผู้เขียน
Give me your story, I’ll give you mine.

ครั้งหนึ่งคุณพิชญา ศุภวานิช ชักชวนให้ผมร่วมแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการที่เธอเป็นภัณฑรักษ์ นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า สถานพักตากอากาศ (Resort) ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่พยายามจะขยายความหมายของการพัก ท่ามกลางบรรยากาศรอบตัวเราที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในที่พักอาศัยที่ไม่ใช่แค่ก้อนสถาปัตยกรรม แต่เป็นสถานที่ที่ถูกค้นพบคุณค่าอันแท้จริงของการใช้ชีวิตอยู่ เธอถามถึงรีสอร์ตแบบของผม ซึ่งท้ายที่สุดคำตอบของผมก็ปรากฏอยู่ในสูจิบัตรนิทรรศการว่า “รีสอร์ตสำหรับผมในบางครั้ง ไม่ได้สัมพันธ์กับสถานที่ หลักแหล่ง หรือเวลา หากแต่เชื่อมโยงกับการที่เราได้ถ่ายเทอะไรบางสิ่งในความคิด ความรู้สึกของเราไปกักเก็บไว้ยังอีกพื้นที่หนึ่ง มันมีความย้อนแย้งในการตัดสินใจว่า… เราอยากจะจดจำสิ่งเหล่านั้น หรือจริงๆ แล้วเราอยากจะลืมมัน มันคงมีอะไรที่คล้ายคลึงกับการจดบันทึกประจำวัน หากแต่คำว่า ‘บันทึก’ ก็คงไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ตรงนัก ผมจำลองบรรยากาศส่วนตัวนี้ผ่านเล่มหนังสือที่มีความหนาราว ๙๐ ซม. เจาะรูตรงกลางเล่มทะลุตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ติดตั้งฝังเข้าไปที่ผนังในระดับปากที่ผู้ชมสามารถบอกเล่าอะไรบางอย่างกับมัน และหวังว่ามันคงจะหนาและลึกพอที่จะแบ่งปันพื้นที่ว่างสำหรับผู้ชมที่อยากจะฝากบางสิ่งไว้” ผลงานชิ้นนี้ติดตั้งพร้อมกับบทสนทนาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง In the mood for love ของ หว่อง คาร์ ไว ที่โจวมู่หวันคุยกับอาปิงว่า “ในอดีต..หากมีความลับที่ไม่ต้องการบอกใคร ใครบางคนมักจะไปที่ภูเขาเพื่อหาต้นไม้สักต้นที่มีรู แล้วกระซิบความลับเหล่านั้นเข้าไป จากนั้นก็ปิดรูนั้นด้วยดินโคลนเพื่อปล่อยให้ความลับคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์”

หนังสือที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้เป็นการรวบรวมบันทึกความคิดส่วนตัวจากช่วงเวลาสิบกว่าปี (แน่นอนที่สุดว่ามันไม่ได้เป็นความลับ) หลายเรื่องบางมุมมองก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สันติบางคนก็ดูเป็นสันติอีกคนที่ไม่คุ้นเคย สันติบางคนก็ดูน่าขัน ส่วนบางคนก็ทำให้นึกทึ่งในเรี่ยวแรง และบางทีก็นึกถึงและอยากพบเจอสันติคนเดิมๆ อีกครั้งเพื่อนั่งสนทนากัน ส่วนสันติคนปัจจุบันนี้อยากขอบคุณสันติทุกคนที่ทำให้บันทึกนี้มีความหนาพอรวมเข้าเป็นเล่ม ส่วนตัวแล้วหนังสือเล่มนี้บรรจุความทรงจำของผมมากมายที่อยู่นอกอาณาเขตของตัวหนังสือ ยังมีเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำ และบุคคลที่แวดล้อมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมรู้สึกเกรงใจผู้อ่าน และได้แต่หวังว่าบางส่วนจากข้อเขียนเหล่านี้จะพอทำให้เกิดสิ่งเล็กเล็กน้อยน้อยที่จะมีประโยชน์กับผู้อ่านได้บ้าง “สันติ’s วิธีที่ 1” ย่อมไม่ใช่สันติวิธี (peaceful means) หากเป็นแค่วิธีของหลายๆ สันติที่ถูกบันทึกผ่านสถานพักตากอากาศเล่มนี้ และในฐานะตัวแทนของสันติทุกคนใคร่ขอกล่าวขอบคุณและขออภัย รวมถึงขอรับความผิดพลาดทั้งหลายมา ณ โอกาสนี้

ผมคิดว่าสิ่งที่โจวมู่หวันพูดถึงในภาพยนตร์มีบางอย่างคล้ายคลึงกับการเขียนบันทึกสิ่งต่างๆ ในสมุดบันทึก แม้มันจะไม่ใช่ความลับไปซะทุกเรื่องก็ตาม หากในแต่ละครั้งที่เราได้ผ่านหรือรับรู้เหตุการณ์มากมาย สิ่งที่เราคิดและรู้สึกมักทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ผมไม่อาจเรียกได้ว่ามันทำให้เราเติบโตขึ้น หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น หากจะเรียกสิ่งที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็คงกล่าวได้เพียงว่า ‘นี่คือบันทึกความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมกับสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่แวดล้อมตัวผมเท่านั้นเอง’

คำนิยม โดย ผศ. ปิยลักษณ์ เบญจดล

ยินดีมากที่สันติเอ่ยปากว่าอยากให้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือเล่มแรกของเขา เนื่องด้วยเพราะชื่นชมผลงานส่วนตัวของเขาและแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอมานาน ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสเขียนงานในรูปแบบของ design critics ก็อยากจะนำผลงานหลายชิ้นของสันติและบริษัทมาเขียนถึง แม้ทุกวันนี้โอกาสเช่นนั้นจะยังไม่เกิดขึ้น แต่การเขียนคำนิยมนี้ก็ทำให้ได้ระลึกถึงผลงานที่น่าสนใจของสันติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและได้ทราบความเป็นไปของชีวิตส่วนตัว แม้ว่าสันติจะเอ่ยชวนให้เขียนในฐานะอาจารย์ แต่ก็กล่าวได้เต็มปากว่าทุกวันนี้สันติเป็น “เพื่อน” คนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่มีโอกาสได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ

ยังจำพุดดิ้งทำจากน้ำเต้าหู้ที่มีรสชาติหวานไม่มากและเนื้อสัมผัสอ่อนละมุนจากฝีมือของเขาได้ดี รับรู้ได้ว่าเขาตั้งใจทำให้เป็นพิเศษเพราะการเปลี่ยนวัตถุดิบจากนมวัวเป็นน้ำเต้าหู้ทำให้ต้องทดลองปรับเปลี่ยนสูตรและวิธีการทำหลายครั้งกว่าจะลงตัว สำหรับสันติเอง เขาพบว่ากิจกรรมที่ได้ผ่อนคลายจากงานประจำนี้มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกับงานออกแบบอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือเขาตั้งใจที่จะปรับมันจนกระทั่งมั่นใจว่าเหมาะสมกับผู้เสพงานของเขาแล้วเท่านั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ได้ลิ้มชิมรสของมัน มั่นใจว่ากระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นกับงานออกแบบที่ผ่านสมองสองมือและจิตใจของเขาทุกชิ้นเช่นกัน

สันติละเอียดอ่อนกับการใช้ผัสสะทุกด้านในชีวิตประจำวันของเขาซึ่งการทำงานและไลฟ์สไตล์กลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก กล่าวได้ว่า สันติเป็นนักอ่าน (ตา) สันติเป็นนักดนตรีและนักฟังดนตรี (หู) สันติชื่นชอบน้ำหอม (จมูก) สันติชื่นชมรสชาติและกระบวนการสร้าง-เสพกาแฟ (จมูก ลิ้น) สันติเป็นนักเขียน (กาย ใจ) สันติเป็นนักออกแบบ (กาย ใจ) ฯลฯ แน่นอนว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเขาไม่ได้

แยกการใช้ผัสสะออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้ แต่โดยรวมแล้วใช้สมองควบคู่ไปกับจิตใจที่นำทางการใช้ชีวิตของเขาเสมอ และหากต้องนิยาม

เขาด้วยคำๆ หนึ่ง คำว่า “นักสื่อสาร” (ผ่านสารพัดสื่อที่เขาถนัด) อาจเหมาะสมสำหรับสันติก็ได้

ในฐานะอาจารย์ สันติมักเน้นย้ำกับนักศึกษาบ่อยครั้งว่าการตั้งคำถามสำคัญกว่าคำตอบ ชีวิตของเขาก็เช่นกัน ผลงานหลายชิ้นกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาส่งผ่านสื่อหลากหลายชนิดที่ถูกเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดี บทสนทนาระหว่างเขากับคนรอบข้างทั้งลูกค้า เพื่อนร่วมงาน นักศึกษา และเพื่อนฝูงจึงมักชวนให้นำมาขบคิดต่อเสมอๆ เชื่อว่าหลายคนตั้งใจหาโอกาสเพื่อนั่งคุยกับเขาในช่วงพักจากการทำงานโดยมีถ้วยกาแฟหรือแก้วเบียร์ช่วยเพิ่มอรรถรสของวงสนทนา ลีลาและทักษะการแสดงความคิดเห็นของสันติเฉียบคมเสมอซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาออกกำลังสมองด้วยการ go inside พื้นที่ในความคิดของตนเองตลอดเวลา ลิ้นชักข้อมูลของเขาจึงยังไม่เต็มและพร้อมที่จะถูกสลับสับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา

ในแต่ละช่วงจังหวะชีวิต ขอชื่นชมสันติในความกล้าหาญที่ตัดสินใจทำตามสัญชาตญาณของตนเองหลายครั้ง เขาหยุดรับงานจากลูกค้าถึงหกเดือนเพื่อทำงานออกแบบสำหรับแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก เขาเปิดกว้างกับทัศนคติในการทำงานเพื่อพาณิชย์

ควบคู่ไปกับการทำงานที่มีคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นความภาคภูมิใจในวิชาชีพนักออกแบบแทนมูลค่าตัวเงินมากมาย เขาปฏิเสธงานบางชิ้นที่สามัญสำนึกของตัวเองบอกว่า “ไม่ใช่” แม้ว่าจะเป็นงานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นเช่นนี้ย่อมส่งผลไม่มากก็น้อยให้สังคมยอมรับ เห็นศักยภาพ และให้คุณค่ากับวิชาชีพนี้มากขึ้นแม้จะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ณ วันนี้ น่าจะดำเนินไปตามร่างความคิดและความตั้งใจของเขาร่วมกับเบล กนกนุชตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้ง แพรคทิเคิลเป็นตัวอย่างของสตูดิโอออกแบบที่มีปรัชญาในการดำเนินงานที่แตกต่าง นอกจากนิยามในการออกแบบที่ว่า “design is relation” ซึ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นในกระบวนการออกแบบแล้ว แพรคทิเคิลยังเน้นการ

สนับสนุนซึ่งกันและกันให้สมาชิกทุกคนได้สร้างสรรค์งานทั้งงานส่วนรวมและงานส่วนตัวของแต่ละคน ความเชื่อที่ว่าแต่ละคนมีความ

แตกต่างและมีศักยภาพในการเติบโตโดยสามารถพัฒนาความเป็นปัจเจกควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของบริษัทได้ทำให้แพรคทิเคิลได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงเช่นในปัจจุบัน ไม่ว่าคำจำกัดความและบทบาทหน้าที่ของ “นักออกแบบกราฟิก” จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดในอนาคต เหล่าสมาชิกแพรคทิเคิลก็จะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขาได้ 

 การได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี Designer of the Year 2015 สาขา Graphic Design ในปีนี้ เชื่อว่าสันติมีความภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่าการมีโอกาสได้สนทนาใกล้ชิดกับบุคคลที่เขาชื่นชมยกย่องอย่างพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช ตามที่เขาอ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า “ผมได้รางวัลสำคัญของชีวิตนักออกแบบไปแล้ว” แต่เชื่อเถอะ เขาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่นอน เขามี passion มากมายและพร้อมที่จะเผชิญข้อจำกัดหรือโจทย์ใดๆ ก็ตามที่จะผ่านเข้ามาให้ได้ขบคิดด้วยการปรุงใหม่ คิดตรงเส้นกรอบ และนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญ แอบหวังว่าเขาจะไม่หยุดสอนเพราะเขาใช้วิธีสอนให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อว่าทุกวันนี้ สันติเองก็ยังเรียนในฐานะนักออกแบบอยู่ทุกวัน

สันติเปิดเผยให้เราได้รู้ว่าในตอนเด็กเขาเกือบจะได้ชื่อว่า “สามารถ” ดังนั้นจึงหวังว่าเมื่อผู้อ่านได้ติดตามผลงานออกแบบถ้อยคำของเขา

ในหนังสือเล่มนี้แล้ว เราคงยอมรับตรงกันว่า “สันติ” กับ “สามารถ” เป็นคนคนเดียวกันแน่นอน ^_^

บทส่งท้าย โดย กนกนุช ศิลปวิศวกุล

หากเราเห็นภาชนะใสปิดฝาสุญญากาศได้รับการติดตั้งอย่างประณีตบรรจง บนพื้นที่แสดงงานที่ได้รับการจัดแสงอย่างพอเหมาะและสวยงาม ซึ่งแสงนั้นสาดส่องตรงเข้าไปในภาชนะใสปิดฝาที่บรรจุห้วงอากาศปริมาตรหนึ่ง

สิ่งที่เห็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

สิ่งที่เป็น…อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่

สิ่งที่ใช่…อาจไม่ใช่สิ่งที่คิด

สิ่งที่คิด…อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น

ความย้อนแย้ง วนเวียน และหมุนเป็นวงจรชวนให้คิด สงสัย ตั้งคำถาม และชวนต่อยอดเหล่านี้เป็นเสน่ห์ในงานของอาจารย์ติ๊ก ผลงานแต่ละชิ้นมักจะมีมุมมองให้คิดและทำความเข้าใจ การมีพื้นที่ว่าง(อากาศ)ในผลงานของอาจารย์ติ๊ก มักทำให้คนได้ตกตะกอน ร่อนความคิด ประสบการณ์ และความทรงจำต่อสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตของแต่ละคนผ่านชิ้นงาน 

เมื่อบริบทเปลี่ยน ความหมายก็อาจเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ที่นำภาชนะใสที่ถูกบรรจุและปิดฝาสุญญากาศเหล่านี้ไปวาง และขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ที่พบเห็น ภาชนะเหล่านี้เมื่อถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ก็จะส่งผลต่อการรับรู้ที่ต่างออกไป ในวิถีการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับอาจารย์ติ๊กก็เช่นกัน การที่ได้มีประสบการณ์ตรงร่วมกับอาจารย์ ไม่ว่าในฐานะอาจารย์ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน พ่อ พี่ชาย หรือเพื่อน ตลอด ๑๕ ปีที่อาจารย์ติ๊กถือเป็นทั้งต้นแบบ(การทำให้เหมือน) เป็นทั้งคำถามปลายปิดและปลายเปิด(การทำให้ต่าง) และเปิดโอกาสให้ตนเองสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อยู่ตลอดเวลา ภาชนะเหล่านี้ไม่ได้ถูกติดตั้งให้อยู่สูงเกินกว่าที่ตาจะมองไปไม่ถึง ภาชนะบางชิ้นได้รับการติดตั้งให้อยู่ในระดับที่มือสามารถเอื้อมไปจับได้ บางชิ้นได้รับการติดตั้งอย่างใว้ใจและมั่นใจพอที่จะให้ผู้ชมสามารถเปิด-ปิดได้ บางชิ้นก็เปิดฝาทิ้งไว้ บางชิ้นแง้มฝาค้างเอาไว้ และบางชิ้นก็ปิดตาย

ภาชนะที่ใสอาจเป็นการเชื้อเชิญให้เรามองเข้าไปหาสิ่งที่อยู่ภายในและทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่อยู่ภายในอาจมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกด้วยเช่นกัน การที่เราเห็นแต่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นสิ่งที่บรรจุอยู่ข้างในภาชนะเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรอยู่ในนั้น สิ่งที่มีอยู่อาจเป็นนามธรรม อาจคือมวลของห้วงความคิด ชุดข้อมูล ชุดคำ หรือแม้กระทั่งอาจเป็นแค่อากาศหรือลมหายใจก็เป็นได้ การมีอยู่ในลักษณะความเป็นนามธรรมนี้จึงยิ่งทำให้มีความสนใจ พยายามทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ตั้งคำถาม พยายามหาคำตอบ และลองพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดตรงกับสิ่งที่เห็น ตรงกับสิ่งที่เป็น และเป็นสิ่งที่ใช่…หรือไม่

ข้อความบนปกหลัง โดย ณัฐพล โรจนรัตนางกูร

ถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ในความทรงจำได้เป็นกล่อง แยกหมวดหมู่ประเภทอย่างชัดเจน
และหยิบมาใช้ได้ตามต้องการ มันคงจะดีไม่น้อย
ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำสิ่งเหล่านั้นกับช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ติ๊ก
การได้พูดคุยกับอาจารย์ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือที่ไม่มีวันจบ
บทสนทนามักจะชวนให้ผมตั้งคำถามและโต้ตอบอยู่เสมอ
แม้กระทั่งชีวิตประจำวันที่เรามองเป็นเรื่องธรรมดา
(ผมยังไม่ลืมการชวนคิดของอาจารย์ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้ร่วมโต๊ะกันครั้งแรก)
หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกล่องเก็บประสบการณ์อาจารย์ติ๊ก
คุณจะได้เห็นความสนใจ ความเปลี่ยนแปลงและข้อสังเกตในสิ่งรอบตัวของคนๆ หนึ่ง
ที่จะทำให้คุณได้ร่วมคิดกับสิ่งต่างๆ และอยากเก็บความคิดเหล่านั้นไว้เหมือนผม
อีกนัยหนึ่ง… หนังสือเล่มนี้ก็คงเป็นเหมือนการคิดทบทวนของตัวผู้เขียนเองด้วยเช่นกัน
ผมรู้สึกดีใจที่สามารถย้อนกลับเข้าไปทบทวนความคิด
ใน “กล่องความทรงจำของสันติเล่มนี้” ได้อีกครั้ง

 

“การออกแบบคืออะไร” คำถามที่ถูกทบทวนตลอดชีวิต (ฉบับลำลอง)

โดย สันติ ลอรัชวี

สำหรับภาษาไทย แม้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บรรจุความหมายของคำว่า “ออกแบบ” ไว้ แต่ในวิชาชีพและชีวิตประจำวันคำว่า “ออกแบบ” ถูกให้คำจำกัดความและมีการอภิปรายไว้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งในคำจำกัดความพื้นฐานหรือเฉพาะเจาะจงก็ตาม หากเริ่มสำรวจความหมายจากพจนานุกรมแล้ว Merriam Webster Dictionary ก็ได้ให้คำนิยามต่อคำว่า design ที่เป็นทั้งคำนามและคำกริยาออกมาชุดหนึ่ง ครอบคลุมกินความไว้ดังนี้ Continue reading ““การออกแบบคืออะไร” คำถามที่ถูกทบทวนตลอดชีวิต (ฉบับลำลอง)”

สิ่งที่นักออกแบบต้องเรียนรู้ 

เรียบเรียงจากบทความของ Eric Madsen, What designers must learn (aiga.org)

Eric Madson แนะนำไว้ในบทความว่า…หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักเรียนออกแบบกราฟิกในอนาคตสามารถทำได้คือการค้นพบตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับอาชีพนอกหลักสูตรของมหาวิทยาลัย

ในช่วงต้นของการเรียนควรไปที่บริษัทออกแบบและพูดคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จ การฝึกฝนนี้จะช่วยให้พวกคุณรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจากหลักสูตรของโรงเรียนออกแบบ แล้วจะทำให้คุณสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของอาชีพได้ และในทางกลับกันมันจะทำให้เราถูกรู้จักมากขึ้นในอุตสาหกรรมการจ้างงาน

นักเรียนควรจะเรียกร้องสถาบันให้นักออกแบบจากภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรยาย การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการมอบหมายโครงการพิเศษ รวมถึงจัดทัวร์สตูดิโอด้วย
ฉันขอแนะนำให้ฝึกงานและควรแสดงพอร์ตโฟลิโอของตนเอง เพื่อทบทวนหลังจากปีที่สองและสามหรือแม้แต่ในแต่ละเทอมของปีนั้น ๆ ในการฝึกงานนักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าเรื่องใดเป็นสิ่งสำคัญจากสิ่งที่ได้เรียนและฝึกฝนมาจากมหาวิทยาลัย

การมีประสบการณ์ต่อปัญหาด้านการออกแบบที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็น
แนวคิดหรือเบื้องหลังการออกแบบก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำงาน
เราจะพบว่าความรู้เชิงปฏิบัติและทักษะการผลิตนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับทฤษฎี
การได้สัมผัสกับการดำเนินธุรกิจขั้นพื้นฐานจะเป็นประโยชน์
รวมถึงความสำคัญของพอร์ทโฟลิโอที่ควรรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเพียงสิ่งเดียว
เพราะในช่วงเวลาของการสัมภาษณ์ ผลงานของคุณก็กลายเป็นเพียงงานนักเรียน

พวกคุณควรเรียนรู้ว่าความสามารถในการเขียนและพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้กระทั่งการสะกดอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ
พื้นฐานลูกค้าของนักออกแบบคือโลกธุรกิจ
และนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่กำลังเตรียมที่จะสื่อสารกับตลาดนี้
การออกแบบเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของกระบวนการเท่านั้น
การวางแผน การฟัง การเขียน การประมาณเวลา และการให้คำแนะนำ
ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทของนักออกแบบ…

Yellow Pages, IDEA magazine

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สำคัญในคาบสมุทรอินโดจีน เป็นที่ที่มีทั้งวัฒนธรรมจีนและอินเดียได้มาผสมผสานกัน

มีผู้คนมากมายจากทั่วโลกเดินทางมายังที่นี่ ที่ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้มากกว่าที่ใดในโลก อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่า ๔๐,๐๐๐ คนพำนักอยู่ที่นี่อีกด้วย สิ่งที่ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือคนไทยใช้ตัวอักษรภาษาไทยที่มีรากมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีอิทธิพลทำให้ข้อดีในเชิงการออกแบบจากการใช้โครงสร้างของตัวอักษรทั้ง ๔๔ ตัว โดยมีการนำบุคลิคเฉพาะของตัวอักษรละตินมาผสมผสานทำให้เกิดรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ

สันติ ลอรัชวี เกิดในปี ๑๙๗๑ เขาเป็นนักออกแบบไทยที่มาจากครอบครัวคนจีนที่ปู่ย่าตายายได้อพยพมายังประเทศไทยในช่วงสงครามกลางเมือง เขาไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์มหาวิทยาลัยและศิลปิน แต่ยังเป็นผู้ริเริ่มให้ความรู้และความเข้าใจอันถ่องแท้ให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิก ที่ยังมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มากนักเรามาเรียนรู้เบื้องลึกของประเทศนี้ และวงการการออกแบบของกรุงเทพฯ ผ่านความคิดและมุมองของสันติ ลอรัชวี ที่ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นแค่การสร้างสรรค์แต่เพียงอย่างเดียว

การทำงานและชีวิตประจำวัน

ชื่อของผมคือ ‘สันติ’ ซึ่งหมายถึง ความสงบสุขในภาษาบาลี ผมมาจากครอบครัวคนจีนที่นามสกุลเดิมคือ แซ่หล่อ ดังนั้นรุ่นปู่ย่าตายายของผมจึงเลือกนามสกุล ลอรัชวี ให้เป็นนามสกุลไทย เพราะด้วยสถานะทางสังคมคนไทยในช่วงเวลานั้นที่มองว่าคนจีนที่มาตั้งรกรากในประเทศไทยเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า

พ่อแม่ของผมเลือกที่จะไม่ให้ผมเรียนในโรงเรียนจีนเหมือนกับญาติคนอื่นๆ (ซึ่งจะสอนภาษาจีนด้วย) แต่กลับส่งผมเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกแทน เพื่อที่ผมจะได้เรียนภาษาอังกฤษและวิธีการคิดแบบสมัยใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมพูดภาษาจีนไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้ครอบครัวคนจีนและคนไทยอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง แต่จริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันมาแต่ดั้งเดิม ดั้งนั้นจึงเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่จะบอกว่าใครเป็นคนไทยแท้

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีจราจรติดขัดและหนาแน่นมาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ผมจึงเริ่มงานราว ๑๑ โมงของทุกวัน แต่จริงๆ แล้วผมตื่นราว ๗ โมงเช้าและใช้เวลาอยู่กับเฟซบุ๊คและบทความออนไลน์ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงพร้อมๆ กับกาแฟถ้วยแรกที่บ้าน เพราะเพื่อนผมหลายคน (นักเขียน ศิลปิน นักออกแบบ และสถาปนิก) จะโพสต์ข้อมูลหรือบทความที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ มันจึงกลายเป็นเวลาอ่านที่ดีสำหรับผม ส่วนใหญ่แล้วผมมักจะอ่านเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ สังคมและการเมือง พอผมถึงที่ทำงานผมก็จะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับสิ่งที่ผมอ่าน โดยปกติแล้วเราปิดสตูดิโอประมาณสองทุ่ม แต่ผมก็ทำงานต่อที่บ้านจนดึก ผมเขียนและออกแบบในเวลาเดียวกัน จึงทำให้ผมไม่เคยเบื่อในสิ่งที่ทำ

ทีมเรามีสี่คน ซึ่งเป็นนักออกแบบทั้งหมด พวกเขาเคยเป็นนักเรียนหรือนักออกแบบฝึกงานของแพรคทิเคิลมาก่อน เราแต่ละคนมีอิทธิพลต่อกันและกันในที่ทำงาน ผมให้ความสำคัญและใช้เวลากับพวกเขาโดยผมมักดูแลเรื่องแนวคิดและทิศทางของงาน แต่บางครั้งผมก็กลายมาเป็นคนลงมือออกแบบเวลาที่เบล (ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการออกแบบ) ทำหน้าที่เป็นคนดูแลโครงการ บทบาทของเราแปรเปลี่ยนกันไปตามโครงการแต่ละโครงการเสมอ

ผมเคยเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัย สิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักว่า ‘การปฏิบัติ’ นั้นเป็นสิ่งสำคัญกับผมมากกว่า ‘ทฤษฎี’ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของชื่อ PRACTICAL เหตุผลที่เราใช้ชื่อภาษาอังกฤษนั้นเพราะให้ความหมายของคำได้ดีกว่าภาษาไทย และก็ยังง่ายต่อการจดจำมากกว่า

ผมได้มีส่วนร่วมในโครงการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) อยู่หลายโครงการ ทางหอศิลปฯ เองมีนักออกแบบรุ่นใหม่ประจำภายในองค์กร ผมเลยมีโอกาสได้เข้าไปช่วยดูแลเรื่องแนวคิดและภาพลักษณ์ของนิทรรศการ รวมถึงการออกแบบอัตลักษณ์ของหอศิลปฯ เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้วที่มีการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ นักออกแบบที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งชนะรางวัลนั้น แต่แล้วงานออกแบบนั้นกลับถูกมองเห็นว่าไม่เหมาะสมหลังจากที่ตัวอาคารสร้างเสร็จสมบูรณ์ คณะกรรมการจึงขอให้ผมออกแบบอัตลักษณ์นั้นใหม่ ผมจึงเสนอกลับไปว่ามันจะเป็นการดีกว่า ถ้าเราปรับปรุงจากสัญลักษณ์ที่ชนะการประกวด และสร้างระบบการใช้งาน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ทุกอย่างจึงดำเนินไปได้ โดยที่ผมแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบหลักของผลงานดั้งเดิมมากนัก ผมเชื่อว่ามันไม่ได้ง่ายนักที่จะเปลี่ยนผลงานที่ถูกเลือกเอาไว้แล้ว แม้ว่าผลงานออกแบบนั้นจะใช่หรือไม่ใช่รสนิยมผมก็ตาม แต่ผมก็ไม่เลือกวิธีง่ายๆ ที่จะแค่ออกแบบมันใหม่

ประวัติส่วนตัว

ผมเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ เท่าที่จำความได้ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับงานออกแบบกราฟิกน่าจะเป็นช่วงสมัยประถม ตอนนั้นมีการเขียนสมุดเฟรนด์ชิพ โดยผมเป็นคนหนึ่งได้วาดตัวอักษรตกแต่งลงในสมุด ซึ่งทำให้เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ ในห้อง และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มอยากลองทำอะไรสวยๆ หลายๆ อย่างเพิ่มขึ้น เช่นการเขียนตัวอักษร ๓ มิติและการใช้สีในแบบต่างๆ

ต่อมาในสมัยมัธยมต้นการเรียนของผมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จนกระทั่งถึงช่วงมัธยมปลายคะแนนค่อยๆ เริ่มแย่ลง ด้วยความคิดที่ผมไม่เข้าใจว่าเราเรียนวิชาแต่ละวิชากันไปเพื่ออะไร ผมจึงตัดสินใจเลือกเรียนในสิ่งที่ผมพอจะไปไหว เพราะในมุมมองของคนไทย ระดับปริญญาตรีนั้นเป็นมาตรฐานที่ทุกคนควรจะเรียน ผมสอบติดมหาลัยที่ผมเลือกไว้เป็นอันดับที่ ๔ คือหลักสูตรภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑๘ ชั่วโมงโดยรถไฟ) ผมเลือกที่จะขอพ่อแม่ไปเรียนที่ไกลๆ เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตเองคนเดียว ขณะที่เรียนอยู่ที่นั่นผมขาดเรียนแทบจะทุกวิชาและลองทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ตั้งแต่ขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามจังหวัดไปจนถึงตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ในขณะที่เพื่อนๆ กำลังเรียนหนังสือกันอยู่ ผมใช้เวลาอยู่ในหอสมุดเพื่ออ่านนวนิยายกำลังภายในของกิมย้งและโกวเล้ง ซึ่งในช่วงนั้นหนังฮ่องกงกำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย ส่วนเรื่องดนตรีวงของผมจะเล่นดนตรีแนวฮาร์ดร็อคและเฮฟวี่เมทัลเป็นส่วนใหญ่

หลังจากหนึ่งปี ผมกลับมากรุงเทพฯ ตามที่สัญญาไว้ ผมวางแผนจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชนที่คิดว่าเข้าเรียนได้ง่ายๆ คือ คณะนิเทศศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่แล้วก็เปลี่ยนใจวินาทีสุดท้ายกลายมาเลือกเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์แทน เพราะผมนึกขึ้นได้ว่าเมื่อก่อนผมชอบวาดรูป ผมโชคดีเลยสอบติดแล้วก็เริ่มเรียนเกี่ยวกับการออกแบบสื่อสาร ปีแรกนั้นค่อนข้างยาก เพราะผมไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อน และทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับผม ต่อมาปีสองเราเริ่มเรียนวิธีการคิด มีการพูดถึงคอนเซ็ปต์ ซึ่งนั่นเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มเข้าใจและเห็นความสามารถของตัวเองว่าเราทำได้ รวมถึงทำได้ดีในวิชาการออกแบบตัวอักษรด้วย ผมโชคดีที่มีอาจารย์ดี การออกแบบสมัยนั้นเรียกว่า ‘พาณิชย์ศิลป์’ (ผมไม่ชอบชื่อนี้เลย) แต่ยังดีที่อาจารย์สอนพวกเราให้คิดแบบนักออกแบบกราฟิก

สมัยผมเป็นนักเรียนผมชื่นชอบเนวิลล์ โบรดี้ (Neville Brody) ช่วงนั้นเพลงจากฝั่งอังกฤษกำลังเป็นนิยมในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนักออกแบบชาวอังกฤษ เช่น The Designers Republic หลังจากเรียนจบ ผมได้ทำงานที่สตูดิโอออกแบบของอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นเวลาปีครึ่ง ก่อนที่จะถูกชวนให้ไปเปิดแผนกกราฟิกในบริษัทออกแบบตกแต่งภายในของเพื่อนคนหนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ ๒๕ ปี งานแรกที่ผมได้ทำคือการออกแบบโลโก้และสเตชั่นเนอรี่ของสตูดิโอออกแบบ และเป็นงานที่ได้รับรางวัลด้วย ผมถือว่าในช่วง ๒ ปีแรกเป็นช่วงที่ค่อนข้างยาก ทำงานทั้งวัน กลับมาบ้านก็ยังต้องทำต่อ สุขภาพค่อนข้างแย่ และบริษัทได้ปิดตัวลงในภายหลัง ผมเริ่มออกมาทำงานฟรีแลนซ์ ใช้ชีวิตสบายๆ เวลาว่างก็เล่นเกมส์ เป็นเวลา ๒ ปี ในช่วงนั้นธุรกิจเริ่มเฟื่องฟู ผมไม่ได้คิดจะลองอะไรใหม่ๆ เพราะผมมีแบบแผนและสูตรที่ผมนำมาปรับใช้กับการทำงานออกแบบของผม

ผมแทบจะไม่ได้ออกจากบ้านเลยเพราะติดเกมส์ สภาพชีวิตค่อนข้างแย่ จนวันหนึ่งผมล้มลงที่ห้องน้ำ เป็นเหตุให้ต้องเข้าโรงพยาบาลร่วม ๑๐ วัน ระหว่างที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตผม ผมพึ่งเข้าใจว่าลูกค้าไม่ได้เชื่อในความสามารถของผมเลย แต่กลับเห็นเราเป็นแค่ลูกจ้างแรงงานคนหนึ่ง ผมไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่ผมทำอยู่เท่าไร ในชีวิตการทำงานของผมก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผมจึงอาจเล่นเกมส์เพียงเพราะอยากจะเอาชนะในโลกจำลองแทน

หลังจากนั้นผมถูกเชิญไปเป็นอาจารย์สัญญาพิเศษของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อมีโอกาสได้สอน ทำให้ผมรู้สึกว่าผมยังไม่มีความรู้มากพอ ผมจึงค่อยๆ เริ่มหันมาอ่านหนังสือออกแบบที่เป็นภาษาอังกฤษ (แทนที่จะดูแต่รูป)  ต่อมาทางมหาวิทยาลัยก็ได้เสนอให้ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นั่น และผมเริ่มอยากที่จะไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยในลอนดอน แม้ทางจะนั้นจะรับผมเข้าเรียนแต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้เพราะไม่ได้ทุนการศึกษาจากต้นสังกัด

กรุงเทพมหานคร

หลังจากปีแรกที่ผมสอน ประเทศไทยก็เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้นักออกแบบจำนวนไม่น้อยว่างงาน นักออกแบบที่เก่งหลายคนกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานผมในรั้วมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นทุกคนต่างไม่พอใจกับสถานการณ์ของวงการออกแบบ ทำให้เกิดกลุ่ม ‘ABCD’ ขึ้นซึ่งก่อตั้งโดยนักออกแบบที่เกิดในช่วงปี ๑๙๗๐ เราเหมือนกับนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่พยายามจะยกระดับสถานะทางสังคมของนักออกแบบ และประกาศให้ผู้คนรู้ถึงคุณค่าของงานออกแบบกราฟิก

เราได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนักออกแบบ ‘สามหน่อ’ เป็นอย่างมาก พวกเขาคือรุ่นแรกของนักออกแบบกราฟิก เพราะรุ่นก่อนหน้านี้เป็นยุคของบริษัทโฆษณา จึงไม่มีใครรู้จักชื่อของตัวนักออกแบบเลย สามหน่อจึงถือว่าเป็นผู้บุกเบิกที่เอางานสไตล์ Vernacular มาปรับใช้เข้าสู่โลกของการออกแบบกราฟิกในประเทศไทยให้เราได้เริ่มเห็นกันในช่วงปี ๑๙๙๐ โดยส่วนหนึ่งรับอิทธิพลมาจาก Charles S. Anderson

หลังจากนั้นสามหน่อนั้นได้ปิดตัวลง แต่ปัจจุบันเรายังติดตามงานของพวกเขาได้จากสมาชิกแต่ละคน หนึ่งในผู้นำนั้นได้ก่อตั้งบริษัทออกแบบผลิตภัณท์ ‘Propaganda’ สมาชิกคนอื่นๆ ก็เป็นบุคคลสำคัญในวงการออกแบบเช่นกัน ได้แก่ Pink Blue Black & Orange ที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยอดีตสมาชิกในภายหลังก็มีบทบาทต่อวงการออกแบบมาจนถึงปัจจุบัน

ผมเชื่อว่าสถานการณ์ของวงการออกแบบนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ นับจากช่วงฟองสบู่แตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ดี ที่นักออกแบบยังต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนต่อไป แต่ปัจจุบันวงการการออกแบบนั้นถือว่าดีขึ้นมาก มีสื่อออนไลน์ที่เข้ามาช่วยได้มาก ทำให้เราสามารถจัดงานสัมมนาหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการออกแบบได้อย่างมากมาย เช่น งาน ‘BITS’ ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับตัวอักษร นอกจากนั้นยังมีสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) ที่จัดกิจกรรมการออกแบบเป็นประจำทุกปี และล่าสุดคืองานกิจกรรมด้านการออกแบบตัวอักษรของ ‘TAB’ Typography Association of Bangkok ที่เป็นตัวกลางในการรวมตัวของผู้คนที่สนใจงานออกแบบตัวอักษรให้มาแลกเปลี่ยนกัน

ผมเริ่มแพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ ร่วมกับ กนกนุช ศิลปวิศวกุล เพราะเชื่อในการเป็นนักออกแบบ ถึงแม้ว่าผมเลือกที่จะสอนต่อและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ABCD แต่หน้าที่ที่ผมไม่ลืมคือการเป็นนักออกแบบที่ดี แล้วทำไมผมยังคงสอนนอกเวลาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยรังสิต ก็เพราะผมยังสนุกกับการสอนและการออกแบบไปพร้อมๆ กัน ไม่นานมานี้ผมคิดทบทวนดูว่าที่จริงแล้ว การสอนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้นอกรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทำให้ปีนี้แพรคทิเคิลได้เริ่มโครงการ ‘The Practice’ ขึ้น เพื่อค้นหาบัณฑิตใหม่มาร่วมกับเรา เรามีเบี้ยเลี้ยงให้และให้ร่วมทำงานกับโครงการต่างๆ ของพวกเรา รวมถึงการสนับสนุนให้ทำโครงการออกแบบส่วนตัวไปด้วยภายในเวลาหนึ่งปี ในปีแรกนั้นเราสามารถรับได้แค่คนเดียว แต่เราหวังว่าในปีต่อๆ มาจะมีสองถึงสามคนที่เราจะรับเข้ามาทำงานด้วย ผมอยากสร้างโอกาสให้คนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการฝึกฝนพัฒนา ส่วนตัวผมเองนั้นผมอยากที่จะเขียนหนังสือให้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าผมถ่ายทอดความคิดไปสู่คนอื่นได้ดีผ่านการเขียน ว่าไปแล้ว ผมมักจะไม่สอนในสิ่งเดิมๆ ที่เคยสอน ผมเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่สอน จนไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ผมคิดเอง เพราะผมว่ามันสำคัญที่จะคอยถามตัวเองตลอดเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ การมีเพียงคำตอบนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว ตอนนี้ผมสอนวิชาการออกแบบตัวอักษรให้กับนักศึกษาภาควิชาทัศนศิลป์อยู่ แต่ผมไม่ได้สอนรายละเอียด เช่น การปรับระยะของตัวหนังสือหรือการออกแบบตัวอักษร แต่ผมสอนพื้นฐานของการใช้ตัวอักษร ซึ่งนี่คือโอกาสที่ทำให้ผมได้พัฒนาความคิดเกี่ยวกับการใช้และการออกแบบตัวอักษรไปในเวลาเดียวกัน

การออกแบบตัวอักษร

ในยุคก่อน ๑๙๙๐ การออกแบบกราฟิกยังไม่เป็นที่รู้จักในกรุงเทพฯ มากนัก แต่ก็ยังมีนักออกแบบที่สำคัญหลายท่านที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวอักษร เช่น มานพ ศรีสมพร เขามีส่วนเกี่ยวพันกับทุกยุคของตัวอักษร ตั้งแต่การพิมพ์ยุคตัวโลหะ (letterpress) ระบบโฟโต้ไทป์เซ็ตติ้ง (photo typesetting) ตัวอักษรขูด (dry-transfer) ไปจนถึงแบบระบบดิจิตอล ชุดตัวอักษร ‘มานพติก้า’ ของเขาคือการปรับเอาลักษณะทางกายภาพของแบบตัวอักษร Helvetica มาเป็นชุดตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับนักออกแบบรุ่นผม มานพคือนักออกแบบที่สร้างและนำเสนอบุคลิกลักษณะของตัวอักษรไทยโดยอิงจากตัวอักษรละติน

ส่วนการเลือกใช้ตัวอักษรของผมนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางความคิด ผมจึงไม่มีชุดตัวอักษรที่ผมชอบเป็นพิเศษ บางทีผมก็เลือกตามความเหมาะสม เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญเมื่อมีการใช้งานร่วมกับตัวอักษรละติน เช่น Frutiger (ละติน) จะใช้ร่วมกับฟอนต์สุขุมวิท แต่บางทีผมก็อาจจะเลือกอะไรที่แตกต่างกันมากๆ ไปเลย ถ้าผมคำนึงถึงความสำคัญของเนื้อหาเป็นหลัก ปัจจุบันชุดตัวอักษรภาษาไทยนั้นก็มีให้เราเลือกมากมาย ทั้งจากคัดสรรดีมากและค่ายฟอนต์อื่นๆ ส่วนเว็บไซต์ที่ให้ดาวน์โหลดตัวอักษรฟรีนั้นก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน เช่น f0nt.com เห็นได้ว่าวงการการออกแบบตัวอักษรนั้นกำลังขยายเติบโตขึ้นในประเทศไทย

ผมไม่เคยตระหนักถึงการเป็นนักออกแบบกราฟิก(สไตล์)ไทย แต่ถ้าให้ผมคิดถึงเอกลักษณ์ของนักออกแบบในกรุงเทพฯ มันคงจะต้องเกี่ยวข้องกับการออกแบบที่ใช้ตัวอักษรภาษาไทย ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ของไทยนั้นอาจจะมีมายาวนาน แต่ประเทศไทยก็เป็นที่ที่ได้รวมคนหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันไว้ เลยเป็นเรื่องยากถ้าจะให้อธิบายความเป็นนักออกแบบไทย ตัวพิมพ์ภาษาไทยยุคใหม่นั้นได้เริ่มต้นมาจากช่วงที่ประเทศทางตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชีย เนื่องจากเราไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของการพิมพ์ตัวอักษรมาก่อน ตัวอักษรที่เขียนบนแผ่นศิลาจารึกจึงถูกนับให้เป็นจุดเริ่มต้นของตัวอักษรภาษาไทย แต่เมื่อชาวตะวันตกได้เปลี่ยนเข้ามาพัฒนาตัวเขียนภาษาไทยให้เป็นตัวพิมพ์ พวกเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ ให้เหมาะสมกับวิทยาการการพิมพ์  ดังนั้นในอีกแง่นึงจึงพูดได้ว่าตัวพิมพ์อักษรไทยสมัยใหม่นั้นเกิดขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนจากทางประเทศตะวันตก

นักออกแบบรุ่นราวคราวเดียวกันที่ชื่นชม

อนุทิน วงศ์สรรคกร
คัดสรร ดีมาก

อนุทินเป็นผู้บุกเบิกวงการการออกแบบตัวอักษรในประเทศไทย งานออกแบบของเขาหลายงานได้ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ของวงการการออกแบบ เขาได้นำเสนอแนวทางการออกแบบตัวอักษรภาษาไทยเข้ากับวิถีการอ่านร่วมสมัย และมีแนวคิดที่จะทำให้ตัวอักษรภาษาอังกฤษและภาษาไทยนั้นสามารถใช้งานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นสากล ชุดตัวอักษรที่เขาออกแบบนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมนี้อย่างเด่นชัด ตัวอย่างเช่น ฟอนต์ Amplitude Thai ซึ่งออกแบบโดย Christian Schwartz ที่นิตยสาร Wallpaper* ใช้อย่างเป็นทางการนั้น มีรูปแบบที่สอดคล้องกับฟอนต์ภาษาอังกฤษต้นฉบับทั้งบุคลิกภาพและสัดส่วนของตัวอักษร จนทำให้วงการนิตยสารเล่มอื่นๆ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเริ่มออกแบบตัวอักษรเป็นของตัวเอง เพื่อสื่อสารความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองให้มากขึ้น

ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP DESIGN

หลังจากที่เขาได้ทำงานในสหรัฐอเมริกากับบริษัทออกแบบชื่อดังอย่าง Segura Inc. รวมถึงเป็นสตูดิโอออกแบบของตนเองในนาม TNOP Design มาเป็นเวลานาน การตัดสินใจย้ายสตูดิโอกลับมายังประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้วของเขา ถือว่าเป็นการจุดประกายให้กับวงการการออกแบบกราฟิกไทยเลยทีเดียว ส่วนตัวแล้วผมชื่นชมงานของเขามาก เพราะมีความลงตัวระหว่างกลิ่นอายของความเป็นสากลผสมเข้ากับบริบทของไทยที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผมยังพบว่าเขาเป็นนักออกแบบที่มีความคิดและทัศนคติที่ดี หลังจากที่ได้มีโอกาสสอนร่วมกัน

ปราบดา หยุ่น
TYPHOON STUDIO

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักออกแบบกราฟิกเต็มตัว เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาใช้เวลาไปกับการเขียน แต่งานออกแบบปกหนังสือของเขาก็เป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามมากสำหรับผม พูดได้ว่างานออกแบบที่อยู่บนปกนั้นนำพาผมไปสู่การติดตามงานเขียนของเขาด้วยเช่นกัน งานส่วนใหญ่ของเขาที่ออกแบบมักใช้ตัวอักษรไทยเป็นหลักนั้น ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นถึงการทดลองด้านดารออกแบบตัวอักษรที่กว้างออกไป ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดเอาไว้จากกรอบของความเป็นนักออกแบบอาชีพ ซึ่งทำให้เกิดเสน่ห์และความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรกับงานออกแบบมากขึ้น ผมถือว่าเขามีความกล้าหาญและท้าทายความสามารถของตัวเองมากทีเดียว กับการออกแบบปกหนังสือที่ตัวเองเขียน

//

คุณอาจจะมองเห็นความเป็นไทยได้จากถนนหนทางในกรุงเทพฯ ทั้งสีสันที่สว่างไสวกับกลิ่นอายอันเป็นเอกลักษณ์ แต่กับการออกแบบกราฟิกกลับเป็นเรื่องยาก กรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองเดียวในทวีปเอเชียที่ไม่มีประวัติศาสตร์ของการตกเป็นอาณานิคม แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์การออกแบบไทยนั้นจะมีความเป็นมาไม่ถึงร้อยปีก็ตาม แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ก็ทำให้คนไทยด้วยกันเองอธิบายความเป็นไทยได้ไม่ง่ายนัก อย่างงานออกแบบร่วมสมัยนั้น เราก็สามารถเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไปเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ในแง่งานออกแบบเชิง Vernacular นั้น มันเกิดขึ้นก่อนที่ความคิดของการออกแบบกราฟิกจะเข้ามาในกรุงเทพฯ เสียอีก และความเป็นไทยที่ ‘สามหน่อ’ ได้ค้นพบในยุค ๙๐ นั้นก็ยังไม่ล้าสมัยแต่ยังคงเป็นที่สนใจ สำหรับสันติ ลอรัชวี เขาก็ไม่เลือกเดินในเส้นทางการออกแบบที่ดูผิวเผิน แต่มีจุดยืนอยู่ระหว่างความเป็นสมัยใหม่และความเป็นท้องถิ่น เขาใส่ใจและให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา การเขียน และการฝึกฝนพัฒนา เพื่อในวันที่วงการออกแบบในกรุงเทพฯ จะก้าวหน้าต่อไปอีก สุดท้ายนี้เราจะเฝ้ารอดูความคืบหน้าของวงการออกแบบไทยในแง่ของการพัฒนาปรัชญาทางการออกแบบที่ผสมผสานความเป็นท้องถิ่นเข้ากับความร่วมสมัยต่อไป

แปลและเรียบเรียงใหม่จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร idea ฉบับที่ ๓๗๐ [Thought and Design], เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ โดย ปิติพร วงษ์กรวรเวช และ ธันย์ชนก เล็กวิริยะกุล

IDEA magazine vol.370, Yellow Pages Vol.5: Santi Lawrachawee (Bangkok)
Text : Tetsuya Goto / Associate Editor : by Javin Mo / Design :  Sulki and Min
http://www.idea-mag.com/en/publication/370.php

E-book version:
http://www.idea-mag.com/en/books/yellow-pages/
This book is an E-book of eight series from “Yellow Pages” which featured Asian graphic designers on the Japanese graphic design magazine IDEA. This book will give you the case studies of Asian young designers and will let you know the “now” of Asian graphic design developed together with globalization.
*This book is written in both Japanese and English
Author:Tetsuya Goto / Design:Sulki & Min

Screen Shot 2561-07-05 at 01.46.54

DSC01334 Continue reading “Yellow Pages, IDEA magazine”

TYPETRIP TO HONG KONG 2014

TYPE TRIP opening recap_Page_1

2014-0111-TypeTrip_0598 2014-0111-TypeTrip_0022

2014-0111-TypeTrip_0127

TYPE TRIP opening recap_Page_4

“TYPE TRIP-The New Asian Graphic Design Exhibition” attempts to explore the relationship between graphic design and typography from eight different Asian cities. Initiated by Japanese design journal typographics ti: in 2011, “TYPE TRIP” began at ddd gallery in Osaka. Not only travelling in Asia, but this project initiated meetings with different talented graphic designers and studios via face-to-face interviews, in the attempt to diverse typographic matters and identity related to their own cities and graphic language. These cities included SEOUL, HONG KONG, SINGAPORE, TAIPEI, SHENZHEN, BANGKOK and BEIJING.
Presented by K11 and in cooperation with DNP Foundation for Cultural Promotion (Japan), co-curated by Hong Kong based independent graphic design studio Milkxhake and Japan design unit OOO Projects (Osaka), “TYPE TRIP – The New Asian Graphic Design Exhibition” features typographics ti: and seven graphic designers’ works, aims to build a new cultural platform for contemporary Asian graphic designers to exchange ideas and creativity among eight different cities, and to discover “TYPE TRIP” in a fresh perspective.

DATE: 11 JAN – 9 MAR 2014
VENUE: K11 art space (B207), HONG KONG

http://typetrip.tumblr.com

ศิลปะความเป็นตัวเอง / สัญชาตญาณ / และความหลงใหลแบบสามหน่อ

ไม่นานมานี้… ผมได้รับรางวัลที่สำคัญของชีวิตการเป็นนักออกแบบ
อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นรางวัลจากรายการประกวดหรือแข่งขันใด
หากแต่เริ่มต้นด้วยการรับโทรศัพท์จากคุณแจง เต็มศิริ คูสุโรจน์ แห่ง Propaganda
ใจความว่าพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช อยากขอนัดเข้ามาพบ โดยแจ้งเบื้องต้นเพียงว่าอยากเข้ามาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับงานโครงการหนึ่ง
แน่นอนว่า…ผมตอบรับในทันที

ย้อนกลับไป…นอกจากชื่นชมพี่สาธิตผ่านผลงานของสามหน่อ บริษัทกราฟิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงเวลาต้นปี พ.ศ. 2530 แล้ว ภายหลังผมยังมาสนใจสามหน่อมากขึ้นในฐานะสตูดิโอออกแบบกราฟิกรุ่นบุกเบิก ที่ทำให้งานออกแบบกราฟิกมีที่ทางของตัวเอง แยกตัวออกจากบริษัทโฆษณาออกมาได้อย่างชัดเจน ผมเริ่มค้นคว้าและประกอบข้อมูลถึงความเป็นมาของพี่สาธิตและบุคลากรสำคัญมากมายเพื่อเห็นภาพทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการออกแบบกราฟิกไทย Continue reading “ศิลปะความเป็นตัวเอง / สัญชาตญาณ / และความหลงใหลแบบสามหน่อ”

COFFEE ONLY IN THE LAND OF TEA

Photoset processed by Kwanchai

ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d
โดย สันติ ลอรัชวี
Photos by Kwanchai Akkaratammagul and Nattapong Daovichitr
Images courtesy of Santi Lawrachawee. All right reserved.

การเดินทางมักมีเรื่องราวให้เราประทับใจแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ความประทับใจนั้นไม่เคยจำกัดความสำคัญ เชื้อชาติ ขนาด หรือปูมหลังใดๆ

บางครั้งเพียงแค่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรารู้สึกพิเศษกับผู้คนซักคน เหตุการณ์ธรรมดา หรือสถานที่เล็กๆ ซักแห่ง… 

ท่ามกลางใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีในโตเกียว อากาศแสนสบายสำหรับมนุษย์เขตร้อนชื้น ครั้งนี้…ผมและเพื่อนๆ ร่วมทางมีจุดมุ่งหมายหลากหลายทีเดียวในการเดินทางครั้งนี้ เราตั้งใจจะไปร้านอาหารและร้านขนมหลายร้าน ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่น การมาประชุมงานที่จะได้ร่วมทำ มาร่วมงานรับรางวัลผลงานออกแบบของบริษัท ช็อปปิ้ง ไปชมละครคาบูกิ ตีเบสบอลกับเครื่องขว้างลูกอัตโนมัติ จับตุ๊กตา และที่ขาดไม่ได้คือ การไปชมนิทรรศการต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ โดยไฮไลท์ของทริปนี้ คือ Tokyo Designers Week และงานเทศกาลศิลปะ Yokohama Triennale สำหรับ 9 วัน ตารางทั้งหมดนี้ทำให้หมดเรี่ยวแรงเลยทีเดียว

ทุกครั้งที่เดินทาง ผมมักตั้งใจจะเขียนบันทึกถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบหรือศิลปะเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในแต่ละวันที่มีโอกาสไปชมงานหรือพบเห็นอะไรที่คิดว่าเกี่ยวข้อง ก็จะพยายามจดบันทึก ถ่ายรูป เก็บสิ่งพิมพ์นิทรรศการ โดยตั้งใจว่าจะกลับมาเขียนบันทึกถึงมัน จนกระทั่งวันสุดท้ายของทริป ความตั้งใจของผมก็เปลี่ยนไป และสิ่งที่เรียบเรียงก็กลายมาเป็นข้อเขียนที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้…

เหตุก็คงมาจากร้านกาแฟร้านแรกที่มีโอกาสได้ไปนั่งดื่มในวันที่ 3 ของการเดินทาง…

Continue reading “COFFEE ONLY IN THE LAND OF TEA”

BERLIN: TYPE TRIP / TYPE HYPE

ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d : 220, November 2014
โดย สันติ ลอรัชวี (Santi Lawrachawee)
Images courtesy of Santi Lawrachawee. All right reserved.

การเดินทางมักมีเรื่องราวให้เราประทับใจแตกต่างกันไปแต่ละครั้ง ความประทับใจนั้นไม่เคยจำกัดความสำคัญ เชื้อชาติ ขนาด หรือปูมหลังใดๆบางครั้งเพียงแค่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรารู้สึกพิเศษกับผู้คนซักคน เหตุการณ์ธรรมดา หรือสถานที่เล็กๆ ซักแห่ง…

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมบรรยายและเวิร์คช็อปที่งาน GRANSHAN Munich 2014 ที่ประเทศเยอรมนี เป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับการออกแบบตัวหนังสือในกลุ่ม Non-Latin ซึ่งก็คือ ตัวหนังสือที่ไม่ได้มีที่มาจากตัวอักษรละตินอย่างตัวอักษรภาษาไทย ฮิบรู ญี่ปุ่น พม่า จีน ฯลฯ โดยวิทยากรที่มาบรรยายก็มาจากชาติต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณมิสเตอร์ บอริส โกชาน (Boris Kochan) และทีมงานเป็นอย่างมากที่มอบโอกาสที่ล้ำค่านี้ให้ ผมแจ้งคุณอันย่า (Anja Kurz) ผู้ประสานงานโครงการนี้ไปแต่ต้นว่า ผมมีความตั้งใจจะเดินทางไปเบอร์ลินหลังจากเสร็จงานที่มิวนิค จึงอยากให้เธอช่วยเป็นธุระเรื่องการเดินทางและแนะนำที่พักในเบอร์ลินให้ ซึ่งเธอได้ตระเตรียมข้อมูลการเดินทางรวมถึงลิสต์โรงแรมในย่านที่เธอคิดว่าผมคงจะถูกใจ ซึ่งมันเป็นคนละย่านกับที่ผมลองหาอ่านคำแนะนำในเว็บบอร์ดยอดฮิตของไทย ผมเดินทางด้วยรถไฟ ICE (InterCityExpress) จากสถานีรถไฟมิวนิคไปยังเบอร์ลินร่วม 7 ชั่วโมง แล้วนั่งรถบัสสู่ถนน Rosa-Luxemburg เพื่อเช็คอินที่โรงแรม Lux 11 ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ผมเลือกโรงแรมนี้เพราะไปอ่านเจอว่าโรงแรมนี้ตั้งอยู่ในย่าน Mitte หนึ่งในพื้นที่ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดของเบอร์ลิน รายล้อมไปด้วยร้านกาแฟ ร้านอาหาร อาร์ตแกลเลอรี่ สตูดิโอออกแบบ และ คอนเซ็ปต์สโตร์มากมาย อีกทั้งโรงแรมนี้บูรณะและตกแต่งใหม่จากอาคารที่อยู่อาศัยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ต่อมากลายเป็นพื้นที่สำนักงานสำหรับ เค จี บี อีกด้วย ข้อมูลที่เต็มไปด้วยมายาคติเหล่านี้บวกกับราคาที่เทียบแล้วถูกกว่าโรงแรมอื่นๆ ที่อันย่าแนะนำมา ผมจึงเลือกพักที่นี่ แต่ใครจะรู้ว่าการมาพักที่นี่ทำให้ผมพบสถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน

Continue reading “BERLIN: TYPE TRIP / TYPE HYPE”

บางส่วนจาก VIGNELLI CANON

สันติ ลอรัชวี
เรียบเรียงบางส่วนจาก Vignelli Canon – Vignelli Associates

ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงที่ดีของการออกแบบกับแนวคิดบางส่วนของสัญศาสตร์
Massimo Vignelli ได้กล่าวถึง Semantic, Syntactic และ Pragmatic ไว้อย่างเข้าใจได้ไม่ยากในหนังสือ Vignelli Canon

Image: www.matchstic.com
Image: http://www.matchstic.com
Image : www.dresouzax.com
Image : http://www.dresouzax.com

Continue reading “บางส่วนจาก VIGNELLI CANON”

สื่อผสมผมผสมสื่อ

เรียบเรียงและดัดแปลงจาก
การบรรยายในโครงการสัมนาวิชาการสู่ชุมชน สะบัด รัด ฟัด เหวี่ยง
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 สิงหาคม 2555
และการบรรยายในนิทรรศการ GRAPHIC WEST 5
ณ ddd Gallery โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ผมเป็นนักออกแบบกราฟิก โดยภาพรวมของนักออกแบบกราฟิกคนหนึ่ง ที่ทำงานมาประมาณสัก 18-19 ปีแล้ว น่าจะผ่านงานมาเกือบทุกประเภท ตั้งแต่ออกแบบนามบัตร โลโก้ โปสเตอร์ โบรชัวร์ ใบปลิวขายสินค้า หรือมีโอกาสทำอะไรก็ตามที่นักออกแบบกราฟิกคนหนึ่งพึงจะสามารถทำได้ ตั้งแต่ตอนที่เราเรียนอยู่ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะได้ทำอะไรบ้าง  เริ่มรู้จักสื่อที่เป็นแบบแผนของนักออกแบบกราฟิกที่อาจารย์สอน แต่ขณะเดียวกันระหว่างที่ทำงานมันก็มีการปรับตัวเองและก็มองกลับ มันขยับไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ มีคนหลายคนถามว่านักออกแบบกราฟิกคือใคร?  ผมก็มักจะตอบว่า ผมก็เรียนรู้อยู่เหมือนกันนะว่ามันคืออะไร ครั้งนี้ก็เลยกลับมามองงานที่ทำว่าตัวเองเห็นอะไรบ้างจากการทำงานที่ผ่านมา  ผมลองแยกมาเป็นประเด็นให้มันเป็นหัวเรื่อง ซึ่งจะลำดับเป็นเรื่องๆ ดังนี้ Continue reading “สื่อผสมผมผสมสื่อ”

dream is a real is a dream is a real …

Title: dreamisarealisadreamisarealisadream*
Year: 2013
Technique: Oak Wood, Paper & Acrylic
Size: Table & Chair Set 102 x 88 x 74 cm, Acrylic 40 x 40 cm

*This title of work was inspired by the sentence “Rose is a rose is a rose is a rose.” was written by Gertrude Stein as part of the 1913 poem Sacred Emily, which appeared in the 1922 book Geography and Plays.

SWEET NIGHTMARE
Curated by Ark Fongsmut
9 November – 19 December 2013
At Bangkok University Gallery, City Campus

Selection D&R008

 

Selection D&R006

Selection D&R012

 

Selection D&R009

 

 

Selection D&R003
Photo Credit: © Santi Lawrachawee

 

หลายต่อหลายครั้ง…
ความฝันสลาย…เมื่อความจริงปรากฏ
ความจริงปรากฏ…เมื่อความฝันสลาย
ความฝันสลาย…เมื่อความฝันสลาย
ความจริงสลาย…เมื่อความจริงสลาย
ความจริงปรากฏ…เมื่อความจริงปรากฏ
ความฝันปรากฏ…เมื่อความฝันปรากฏ
ความฝันปรากฏ…เมื่อความจริงสลาย
ความจริงสลาย…เมื่อความฝันปรากฏ

Now it has become clear for many people that what we call ‘reality’ is facing a problematic issue in itself. This is a consequence from the age of globalization, when we are overwhelmed with a flood of information that reaching conclusion by one’s own judgment requires tremendous effort. When the world of reality is distorted, it is unsurprising that the world of dream cannot remain unaffected.

Sometimes it is almost impossible to distinguish between the world of reality and the world of dream. Based on this premise, six artists, including Arin Rungjang, Kornkrit Jianpinidnan, Dusadee Huntrakul, Santi Lawrachawee, Jaitip Jaidee and Thanarat Siripidej, were invited to share their personal stories. Collection of various stories being simultaneously presented leads to confrontation in terms of difference and indifference. However, each artist’s dream has its own unique qualities. Being embodied with rationality, cognition, or even pure superstition, all these dreams are compiled and arranged in the Sweet Nightmare exhibition, which reflects the state of paradox in people and society.

The six artists’ creative process in conceptual art stands on the line between reasoning and emotional expression to convey stories from various cognitions, experiences or assumptions through different art media. The exhibition will be on show from 9 November – 19 December 2013, with the opening reception on 9 November 2013, 6 pm, at Bangkok University Gallery, City Campus.

 

1397955_10202444866190034_1436991232_o

Photo Credit: © Dusadee Huntrakul

Behind the hole – Resort Exhibition

“I’d like to say “thank you” on behalf of the group and ourselves and I hope we passed the audition.” (John Lennon)
Let me use this classic closing line of the Beatles’ rooftop concert on 30 January 1969
to say big thank you everyone who collaborated with me for my work “give me your story, I’ll give you mine”.

Thanks to:
– BACC’s Staffs
– Pichaya Suphavanij
– ibookevenue (K.Tee & team)
– Practical Design Studio
– Bell Kanoknuch Sillapawisawakul
– Moo Nattapol Rojjanarattanangkool
– Nutdao Nuttapong Daovichitr
– Peam and his Supernormal team
– A.Tan Sansern Milindasuta
– A. Thanet Awsinsiri
– A.Ball Piyaluk Benjadol
– Papad Salosalay
– Toth Kanteera Sanguantung
– and some stories. . . .

000inspiration 001-sketch Continue reading “Behind the hole – Resort Exhibition”

GRAPHIC WEST 5 : type trip to Osaka | typographics ti 270

GRAPHIC WEST 5 : type trip to Osaka | typographics ti 270

Interview 03: Feb 2, 2013
Interview 03: Feb 2, 2013

GRAPHIC WEST 5 exhibition
type trip to Osaka | typographics ti: # 270
Jan 18, 2013 to Mar 02, 2013
at ddd Gallery, Osaka

“Typographics ti:” Japan Typography Association newsletter has been featuring state-of-the-art graphic design spans Asia for two years from April 2011. Featured with the theme of “type trip” / “Osaka”. Reconfigured gallery space ranging from designer thought process, the exhibition designers and Asian members of the Japanese editing and production, in three dimensions, and the magazine production process and co-produced the “type trip to Osaka” together exhibition. Talk to the venue such as holding interviews the gallery, facing a designer of each city, we will introduce the network and graphic design of the latest situation in Asia.

Designers:
Chris Lee (Asylum) – Singapore
Javin Moo (Milkxhake) – Hong Kong
Santi Lawrachawee (Practical Design Studio) – Bangkok
Sulki & Min – Seoul
Hei Yiyang (Sense Team) – Shenzhen
Aaron Nieh (Aaron Nieh Workshop) – Taipei
Xiao Mage & Cheng Zi – Beijing

http://osaka.typetrip.asia

001 002 003 004 005 006 007 008 009 010 011 012_1 012 013 015 016 017 018