A
คณะทูตอยุธยาถวายราชสาสน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ณห้องกระจกพระราชวังแวร์ชายวันที่ 1 กันยายน พ.. 2229

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกเหนือจากเรื่องราวแสนโรแมนติกของออกขุนศรีวิศาลวาจาและแม่การะเกด จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ในขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ยังมีหลักฐานอ้างอิงได้อีกว่า ในยุคนั้นการพิมพ์ในประเทศไทยกำลังสร้างปฐมบทขึ้น จากการเดินทางของคณะมิชชันนารีคาทอลิกจากฝรั่งเศสเข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ได้แต่ง แปล และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา เป็นภาษาไทยจำนวน ๒๖ เล่ม หนังสือไวยกรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม จากหนังสือ “หนึ่งรอยตัวเรียง” เขียนว่าการเข้ามาสอนศาสนาและวิชาการต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีตำราเรียนประกอบของสังฆราชลาโน อาจเป็นแรงจูงใจให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้พระโหราธิบดี จัดทำหนังสือ “จินดามณี” อันมีเนื้อหาว่าด้วยระเบียบของภาษาอักรวิธีเบื้องต้น และวิธีแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนแก่เข้าขุนมูลนายและสำนักเรียนในวัด ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกและสืบทอดต่อกันมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ น่าเสียดายที่หนังสือจินดามณีที่เขียนจากสมุดข่อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์คัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้จารวันเวลาที่เขียนเอาไว้ จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเล่มใดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคสมัยนี้ สังฆราชลาโนยังสร้างศาลาเรียนขึ้น ในพื้นที่พระราชทานที่ตำบลเกาะพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ตามบันทึกของ ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ว่า ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่าที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย. นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโนถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก…”

การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก จึงน่าจะเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงปิแอร์ ลังคลูอาส์ (Pierre Langrois) มีความคิดจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อพิมพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและแรงงานราคาถูก มีจดหมายไปทางฝรั่งเศสส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาเพื่อจะได้พิมพ์คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย ฟ. ฮีแลร์ อ้างจดหมายเหตุของบาทหลวงลังคลูอาส์ที่มีไปยังมิชชันนารีที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ว่า ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยแผ่พระศาสนาคฤศตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้วขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด, มิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆหนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา, เมืองคูอาและเมืองมะเกานั้น แม้จดหมายฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่า เครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาตามที่ขอหรือไม่ แต่ก็พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มิชชันนารีคริสตังมีความคิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนาซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ อันลงนามกันที่เมืองลพบุรี มีใจความสรุปโดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารี ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาและวิชาต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือประกอบการศึกษา

ในรัชสมัยนั้น พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า ๔๐ คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ ครั้งนั้นคณะราชทูตได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส ที่โรงพิมพ์หลวงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยมีบันทึกไว้ว่าราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของมงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้ชมตั้งแต่การเรียงตัวพิมพ์ ได้ดูแท่นพิมพ์และกระบวนการพิมพ์ รวมถึงพระวิสูตรสุนทรได้ทดลองพิมพ์ด้วยตนเอง ได้รู้ถึงวิธีผสมหมึก วิธีทำกระดาษ วิธีการพิมพ์ วิธีพับกระดาษ การรวมเล่มและใส่ปกจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังได้ชมแม่ตัวหนังสือหลายชนิดหลายภาษา เป็นต้นว่า แม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่ง และภาษาอาหรับ จนราชทูตเห็นความเป็นไปได้ของการทำตัวหนังสือภาษาไทยในการเยี่ยมชมครั้งนั้น

ในยุคสมัยดังกล่าว เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้าในการออกแบบตัวอักษรในยุคบาโรก (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๒๙๓) คือการเป็นองค์อุปถัมป์อย่างเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีความสนใจทางการพิมพ์อย่างมาก รับสั่งให้มีการระดมบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวพิมพ์ใหม่ๆขึ้น เน้นการเขียนแบบตามหลักคณิตศาสตร์ ใช้ระบบกริดมากกว่าแนวทางอักษรประดิษฐ์ ตัวพิมพ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า โรมาง ดู รัว (Romain du Roi) ที่หมายถึงตัวอักษรโรมันของกษัตริย์ โดยเป็นการออกแบบตัวหนังสือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีการแบ่งตารางจตุรัสออกเป็น ๖๔ ส่วน และแบ่งจตุรัสแต่ละส่วนออกเป็นอีก ๓๖ หน่วยย่อย ทำให้เกิดเป็นจตุรัสเล็กๆ ทั้งหมด ๒,๐๓๔ หน่วย จนมีการจำแนกโรมาง ดู รัว เป็นตัวพิมพ์แบบ Transitional Roman อันเป็นจุดที่ตัดขาดจากลักษณะอักษรประดิษฐ์ การใช้ปลายมุมเป็นเล็บโค้งๆ และการใช้เส้นที่มีน้ำหนักเท่ากันตลอด ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนมือจากนักประดิษฐ์ตัวอักษรมาสู่มือวิศวกร ที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในการพิมพ์

ทางการค้นคว้าจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมพอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ จากบทความ “ลายสือไทย ๗๐๐ ปี” โดยศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล เขียนถึงการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่าหากมีการพิมพ์ก็คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน มาเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย ไม่ได้มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทยแต่อย่างใด แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าจะเกิดการพิมพ์หนังสือในสมัยนั้น แต่เครื่องพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปหมด ไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ชนรุ่นหลัง เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง เช่น ถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งเป็นรัชสมัยต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ และอีกครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ามีโรงพิมพ์เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอธยา ไม่มีทั้งบันทึก หรือแม้แต่หลักฐานหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น รวมถึงเมื่อพระยาโกษาปานไปดูกิจการการพิมพ์ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้แสดงความสนใจดั่งไม่เคยรู้เห็นเรื่องการพิมพ์มาก่อน จนกระทั่งกลับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระนารยณ์ฯ ก็เสด็จสวรรคตในอีก ๘ เดือนต่อมา อันเป็นการตัดขาดจากการรับเทคโนโลยีจากประเทศยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง อันเนื่องจากรัชสมัยของพระเพทราชาไม่ทรงสนับสนุนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ดังที่หนังสือ “สยามพิมพการ” ได้ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่ายังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ได้วิเคราะห์กันไว้

ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ตาม การเดินทางของวิทยาการการพิมพ์จากฝรั่งเศสสู่กรุงศรีอยุธยานี้ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อก้าวย่างแรกๆ ของการพิมพ์ไทย รวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่กระแสธารการพิมพ์ได้ขาดช่วงไปจากกรุงศรีอยุธยา หลังจากยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นวิทยาการการพิมพ์ในยุโรปกลับรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาแท่นพิมพ์ กระดาษ หมึกพิมพ์ แบบตัวอักษรและลายประดับ ธุรกิจหนังสือ และสำนักพิมพ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรปภายใต้บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

จึงเป็นเหมือนศตวรรษที่ขาดช่วง เป็นหน้าว่างในหนังสือแห่งประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย

————————————————————————————————————

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s