ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d : 220, November 2014
โดย สันติ ลอรัชวี (Santi Lawrachawee)
Images courtesy of Santi Lawrachawee. All right reserved.

การเดินทางมักมีเรื่องราวให้เราประทับใจแตกต่างกันไปแต่ละครั้ง ความประทับใจนั้นไม่เคยจำกัดความสำคัญ เชื้อชาติ ขนาด หรือปูมหลังใดๆบางครั้งเพียงแค่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เรารู้สึกพิเศษกับผู้คนซักคน เหตุการณ์ธรรมดา หรือสถานที่เล็กๆ ซักแห่ง…

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมบรรยายและเวิร์คช็อปที่งาน GRANSHAN Munich 2014 ที่ประเทศเยอรมนี เป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับการออกแบบตัวหนังสือในกลุ่ม Non-Latin ซึ่งก็คือ ตัวหนังสือที่ไม่ได้มีที่มาจากตัวอักษรละตินอย่างตัวอักษรภาษาไทย ฮิบรู ญี่ปุ่น พม่า จีน ฯลฯ โดยวิทยากรที่มาบรรยายก็มาจากชาติต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณมิสเตอร์ บอริส โกชาน (Boris Kochan) และทีมงานเป็นอย่างมากที่มอบโอกาสที่ล้ำค่านี้ให้ ผมแจ้งคุณอันย่า (Anja Kurz) ผู้ประสานงานโครงการนี้ไปแต่ต้นว่า ผมมีความตั้งใจจะเดินทางไปเบอร์ลินหลังจากเสร็จงานที่มิวนิค จึงอยากให้เธอช่วยเป็นธุระเรื่องการเดินทางและแนะนำที่พักในเบอร์ลินให้ ซึ่งเธอได้ตระเตรียมข้อมูลการเดินทางรวมถึงลิสต์โรงแรมในย่านที่เธอคิดว่าผมคงจะถูกใจ ซึ่งมันเป็นคนละย่านกับที่ผมลองหาอ่านคำแนะนำในเว็บบอร์ดยอดฮิตของไทย ผมเดินทางด้วยรถไฟ ICE (InterCityExpress) จากสถานีรถไฟมิวนิคไปยังเบอร์ลินร่วม 7 ชั่วโมง แล้วนั่งรถบัสสู่ถนน Rosa-Luxemburg เพื่อเช็คอินที่โรงแรม Lux 11 ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ผมเลือกโรงแรมนี้เพราะไปอ่านเจอว่าโรงแรมนี้ตั้งอยู่ในย่าน Mitte หนึ่งในพื้นที่ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดของเบอร์ลิน รายล้อมไปด้วยร้านกาแฟ ร้านอาหาร อาร์ตแกลเลอรี่ สตูดิโอออกแบบ และ คอนเซ็ปต์สโตร์มากมาย อีกทั้งโรงแรมนี้บูรณะและตกแต่งใหม่จากอาคารที่อยู่อาศัยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ต่อมากลายเป็นพื้นที่สำนักงานสำหรับ เค จี บี อีกด้วย ข้อมูลที่เต็มไปด้วยมายาคติเหล่านี้บวกกับราคาที่เทียบแล้วถูกกว่าโรงแรมอื่นๆ ที่อันย่าแนะนำมา ผมจึงเลือกพักที่นี่ แต่ใครจะรู้ว่าการมาพักที่นี่ทำให้ผมพบสถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน

ห้องพักที่นี่สะอาดและสะดวกสบาย มีครัวพร้อมอุปกรณ์ครบครัน เครื่องทำกาแฟ ห้องส้วมกับห้องน้ำแยกกัน ห้องแต่งตัว และที่ชอบมากคือมีระเบียงให้ออกไปนั่งเล่นได้ ผมนั่งดูเอกสารที่ทางพนักงานต้อนรับให้มา ก็พบว่ามี บัตรส่วนลดสำหรับร้าน TYPE/HYPE Coffee Shop & Concept Store อ่านดูแล้วคิดว่าน่าสนใจดี จึงจดไว้ในสมุดบันทึกรวมกับรายชื่อร้านกาแฟอื่นๆ ที่วางแผนว่าจะไปอยู่แล้ว เพราะร้านกาแฟนับเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของผมในครั้งนี้ อีกทั้งร้านนี้ก็อยู่บนถนนสายเดียวกันกับโรงแรมอีกด้วย

หลังจากที่ไปชมสถานที่สำคัญและพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจไว้หลายแห่ง เช้าวันที่ 3 จึงไม่เร่งรีบนัก วันนี้ผมออกจากห้องพักสายกว่าปกติและคิดว่าคงหามื้อเช้าที่ร้านกาแฟบริเวณชั้นล่างของโรงแรมก่อน แล้วค่อยออกไปเดินเล่นแบบสบายๆ ผมเดินผ่านร้านกาแฟนี้มา 2 วันแล้ว เห็นผ่านๆ ดูน่าสนใจแต่ยังไม่เคยแม้แต่ผ่านเข้าไปซักที วันนี้เดินเข้าไปนั่งหน้าบาร์จึงพบว่า นี่คือ TYPE/HYPE ร้านที่เราได้บัตรลดมาตั้งแต่คืนแรกแล้ว นึกไม่ถึงว่ามันจะอยู่ในอาคารเดียวกัน ซ้ำยังเดินผ่านมา 2 วันแล้วเสียด้วย แต่มากไปกว่านั้น…เมื่อผมมองไปเห็นสินค้าต่างๆ ที่วางโชว์อยู่ในชั้นรอบร้าน เป็นงานออกแบบที่ใช้ตัวอักษรเป็นหลักแทบทั้งสิ้น แบบตัวอักษร (typeface) บางตัวผมรู้จักมันดี กวาดตาไปบนชั้นวางสินค้าจะพบสินค้ามากมายหลายประเภท ตั้งแต่ หมอนอิง ภาชนะถ้วย ชาม ขวดโหล สมุดโน้ต ดินสอ ผ้ากันเปื้อน ซองไอโฟน กระเป๋า รวมไปถึง น้ำมันมะกอก น้ำสลัด แยม เครื่องเทศ ไวน์ และเมล็ดกาแฟ ทุกผลิตภัณฑ์ถูกติดฉลากหรือมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแบบตัวอักษรต่างๆ ทั้งหมด

TH000

ผมบอกพนักงานร้านว่าขอเดินดูทั่วๆ ร้านก่อน แล้วจะกลับมาสั่งอาหารและกาแฟ เดินผ่านบาร์ซึ่งที่นี่เรียกว่า Milchbar ซึ่งหมายถึงบาร์นมนั่นเอง เลยชั้นวางสินค้าเต็มผนังของร้านเข้ามาอีกด้านของร้าน จะพบแท่นพิมพ์ Korrex proof press สุดคลาสสิควางประดับอยู่กลางร้าน ยืนชื่นชมอยู่นานเพราะเคยได้ดูคลิปของ Eric Spiekermann นักออกแบบตัวอักษรชื่อดังชาวเยอรมันใช้เครื่องพิมพ์ยี่ห้อนี้กับงาน Letterpress ของเขา จากนั้นถัดไปจะพบห้องเล็กๆ อีกห้องที่ดูคล้ายอาร์ตแกลเลอรี่ที่ตกแต่งด้วยตู้ไม้ที่ใช้เก็บตัวเรียงพิมพ์ พร้อมกับโปสเตอร์และโปสการ์ดมากมายหลายแบบที่แขวนไว้บนผนังและมุมต่างๆ รอบห้อง ทั้งหมดนี้มันทำให้ TYPE/HYPE กลายเป็นสถานที่สุดพิเศษสำหรับทริปนี้ขึ้นมาทันที

จริงๆ แล้ว นอกจากเป็นร้านกาแฟแล้ว TYPE/HYPE เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เน้นไปที่การใช้ตัวอักษรมาเป็นอัตลักษณ์ในการออกแบบ (typography-related product design) มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เครื่องครัว สเตชั่นเนอรี่ โปสเตอร์ กระเป๋า เครื่องใช้จุกจิก ไปจนถึงหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมกว่า 2,000 รายการ อีกทั้งยังมีตัวอักษรสามมิติตั้งแต่ตัวเดียวเดี่ยวๆ ไปจนถึงประกอบเป็นคำ ออกแบบโดย Kirsten Dietz และ Jochen Rädeker แห่ง Strichpunkt นักออกแบบชาวเยอรมันที่มีผลงานที่ประสบความสำเร็จมากมาย  อาทิ “Award of Excellence” จาก the Type Directors Club of New York และ Strichpunkt  เองยังเคยได้รับ “Agency of the Year” มาหลายครั้ง รวมถึงตัว Kirsten เองยังเขียนหนังสือออกแบบออกมาอีกหลายเล่มด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอผ่านแบบตัวอักษรต่างที่มาและบุคลิก อาทิ คอลเลคชั่น “DIN เบอร์ลิน” ถูกนำเสนอออกมาด้วยสีดำ สีขาวและสีทอง แบบตัวอักษร DIN ถูกออกแบบและใช้มากว่า 100 ปีในกรุงเบอร์ลิน และถูกใช้มานานหลายทศวรรษสำหรับงานสาธารณะ เช่น ป้ายทะเบียนรถและป้ายชื่อสถานที่ต่างๆ “LUISE” กับผลิตภัณฑ์แนว Retro บนผ้าลินินและเครื่องเคลือบ เพื่อย้อนบรรยากาศในอดีตของเบอร์ลิน “MADE IN MITTE” กับดีไซน์ที่มีสีสันสดใสสะท้อนเบอร์ลินยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผู้คน ในขณะที่ “HAUPTSTADT” ใช้ในการนำเสนอสถานที่สำคัญในเบอร์ลินอย่างประตูชัยบรันเดนบูร์ก (Brandenburger Tor) และหอคอยทีวีแฟร์นเซ ทวร์ม (Fernsehturm) คอลเล็คชั่นทั้งหมดนี้เป็นงานแฮนด์เมดโดยผู้ผลิตและโรงงานขนาดเล็กที่ TYPE/HYPE รู้จักเป็นการส่วนตัว

TYPE/HYPE คอนเซ็ปต์สโตร์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนน Rosa-Luxembourg ซึ่งเป็นย่านในฝันของคอกาแฟ เนื่องจากมีร้านกาแฟที่มีแนวทางและการตกแต่งแตกต่างกันมากมายหลายร้านตั้งอยู่ หากแต่ TYPE/HYPE สำหรับผมไม่ใช่เพียงแค่ร้านกาแฟ แต่เหมือนพบสถานที่ที่ผสมผสานสิ่งที่ชื่นชอบหลายๆ สิ่งเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม แม้ผมจะไม่ได้ซื้ออะไรติดมือมาแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ที่นี่คงเป็นที่แห่งหนึ่งที่ผมจะต้องแวะกลับมาอีกแน่นอน ถ้าผมมีโอกาสกลับมาที่เบอร์ลินอีกครั้ง

TH007 TH005 TH004 TH003 TH002 TH001


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s