จากเว็บไซต์ anothain.com ของอาจารย์อโณทัย นิติพน กล่าวถึงจิตรกรรมนี้ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาและการตีความต่อของผม ในการนำเอาภาพของศิลปิน Stelly Grancharov ไปเรียบเรียง ซึ่งเป็นสิ่งปรกติสำหรับนักดนตรีส่วนใหญ่ที่มักจะเล่นบทเพลงที่มีอยู่แล้ว โดยอาจมีเพียงแค่การจัดวางใหม่ โดยมิได้ก้าวข้ามไปถึงการสร้างสรรค์งานใหม่ขึ้นจากเสียงเสียงแรก แต่ในแง่มุมของงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ กลับกลายเป็นสิ่งใหม่ เนื่องจากศิลปินของภาพ ที่ทำงานอยู่กับสื่อของการหยุดนิ่งและความคงสภาพของการจัดวาง ไม่ว่าจะในรูปแบบภาพเขียนหรือการพิมพ์ ก็ยังมีความท้าทายในเรื่องของการจัดวางวัตถุ หรือสร้างวัตถุขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสิ่งที่เคยมี
…
แต่ในโลกของดนตรี การทำซ้ำกลับเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ ยิ่งซ้ำ ยิ่งเหมือน ยิ่งเก่า ยิ่งใช่ ค่าของงาน ในยุคสมัยหนึ่งอยู่ที่การทำซ้ำแล้วเหมือน จนกลายมาเป็นความเจ็บปวดของศิลปินนักดนตรีในปัจจุบันที่คนเลิกไปดูคอนเสิร์ตเพราะฟังแล้วไม่เหมือนซีดี
…
งานนี้ อาจเป็นการส่งต่อโจทย์ให้กับงานภาพ แต่ได้รับคำตอบกลับมาคิดในเรื่องของ Arrangment ของดนตรี ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่ามิติของเวลา จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีอิสระเพิ่มขึ้น ในการทำงานกับดนตรีข้ามศตวรรษ สิ่งที่ได้ยิน อาจเหมือนเดิม (หรือไม่เหมือนเดิมก็ได้เพราะไม่มีใครรู้) แต่การจัดวาง ก็คงเป็นความท้าทายและพื้นที่ที่ทำให้เราได้คิดไม่รู้จักจบสิ้น แต่สิ่งสำคัญคงเป็นการสร้าง Dialogue เพื่อให้โจทย์และคำตอบเหล่านี้ มีชีวิตและสร้างสิ่งต่อไปสำหรับเราได้
…
สำหรับผมแล้วนับเป็นสิ่งใหม่และท้าทายต่อความรู้สึกตนเองอย่างมาก ว่าจะรักษาสมดุลย์ระหว่างความยกย่องนับถือต่องานต้นฉบับกับความคิดเห็นของตนเอง ในการ arrangement ได้พอเหมาะอย่างไร ท้ายที่สุดยังได้พบว่าการทำงานโปสเตอร์นี้เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงแล้วหยุดมาทำต่อในวันรุ่งขึ้น เรื่อยไปจนเสร็จนั้น สามารถช่วยขัดเกลาความคิดที่ปะทะกันระหว่างการถกเถียงภายในตัวเอง ผมใช้เวลาราว 4-5 วันก่อนส่งให้อาจารย์อโณทัย และชื่นใจที่อาจารย์เข้าใจและชอบผลลัพธ์ที่ออกมา
…
การแสดง Chamber Music Concert: In dialogue with AnoThai Nitibhon จัดแสดงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ณ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยมีแขกรับเชิญมากมายหลายเพศ วัย และสาขาวิชาชีพมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาที่อาจารย์ต้อม อโณทัยจัดวางไว้หลวมๆ แต่ชัดเจนในแนวคิดและหลักการ รวมถึงการเชิญผู้ชมผู้ฟังขึ้นมานั่งเสมอกันบนเวทีทั้งหมด จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่พิเศษสุดสำหรับผมเลยทีเดียว
…
ผมมีโอกาสได้ร่วมแสดงประกอบการบรรเลงเปียโนและอ่านบทหนังสือในส่วนที่ชื่อว่า Music with purpose II โดยนำหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยออกแบบและจัดพิมพ์ไว้เป็นการส่วนตัวมาเปิดอ่านอีกครั้งประกอบเปียโน คิดต่อยอดออกไปว่าดนตรีที่มีเป้าประสงค์นั้น อาจเรียกดนตรีชิ้นนั้นว่าเป็นงานออกแบบก็ไม่ผิดนัก หากมีนิยามต่อการออกแบบในทำนองเดียวกับผม เหตุเพราะเป้าประสงค์นั้นเป็นเสมือนสาระสำคัญที่ทำให้กิจกรรมหนึ่งๆ ของมนุษย์ถูกเรียกว่าการออกแบบ
…
ในเพลงสุดท้ายที่ อ.ต้อม บรรเลงเปียโนในเพลง In a landscape ของ จอห์น เคจ ผมได้ทราบก่อนการแสดงร่วม 10 วัน และเลือกวิดีโอชิ้นหนึ่งที่เคยเปิดในงานแสดงภาพถ่ายของตัวเองที่ภูเก็ต มาลองประกอบเพลงของเคจ เป็นวิดีโอที่มองจากชายฝั่งไปยังเรือหาปลาที่มีดวงไฟกระพริบอยู่ลิบตา ภาพแมงกะพรุนซ้อนขึ้นมา พยุงตัวกระซิบเราถึงสัจจะของการมีชีวิต และจบลงด้วยสันติในสายน้ำที่ไหลไปอย่างไร้จุดหมาย
…
ผมบอกอาจารย์ต้อมไปว่า “อาจารย์ได้ส่งเสียงของวิดีโอชิ้นนี้มาให้ผม” หลังจากนั้นทุกอย่างไหลเรื่อยไปตามสายน้ำแห่งเต๋า
…
ขอบคุณในไมตรีจิตและมิตรภาพที่มอบให้แก่ผมเสมอมา
มิตรมักส่องทาง ภาพที่เกิดจึงอบอวลไปด้วยไมตรี
เป็นอีกครั้งที่ผมเปรยขึ้น คล้ายที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เคยเปรยไว้ก่อนหน้านี้
เมื่อเต๋าเสมอกัน ทุกอย่างก็เรียบง่าย….จนคล้ายดั่งการสนทนาที่ไร้บทสนทนา