บทความว่าด้วยการสำรวจตัวพิมพ์ไทยฉบับย่อ
โดย สันติ ลอรัชวี

หากย้อนกลับไปสำรวจแบบตัวพิมพ์ไทย ในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ 
จะพบว่ากว่าหนึ่งร้อยปีที่การพิมพ์ในประเทศไทยได้ขาดช่วงไป
จนกระทั่งถึงช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕)
กระบวนการพิมพ์จึงได้กลับสู่เมืองไทย
ทำให้รูปแบบตัวอักษรไทยเกิดความก้าวหน้าขึ้นอีกครั้ง

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
นอกเหนือจากเรื่องราวแสนโรแมนติกของออกขุนศรีวิศาลวาจาและแม่การะเกด
จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้ว
ยังมีหลักฐานอ้างอิงได้อีกว่า ในยุคนั้นการพิมพ์ในประเทศไทยกำลังสร้างปฐมบทขึ้น
จากการเดินทางของคณะมิชชันนารีคาทอลิกจากฝรั่งเศสเข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau)
ได้แต่ง แปล และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนา เป็นภาษาไทยจำนวน ๒๖ เล่ม
หนังสือไวยกรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑ เล่ม

จากหนังสือ “หนึ่งรอยตัวเรียง” บันทึกว่า
การเข้ามาสอนศาสนาและวิชาการต่างๆ เข้ามาอย่างเป็นระบบ
และมีตำราเรียนประกอบของสัฆราชลาโน
เหล่านี้อาจเป็นแรงจูงใจให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้พระโหราธิบดี
จัดทำหนังสือ “จินดามณี” อันมีเนื้อหาว่าด้วยระเบียบของภาษาอักรวิธีเบื้องต้น
และวิธีแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนแก่เข้าขุนมูลนายและสำนักเรียนในวัด
ตลอดตนชาวบ้านทั่วไป นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก
และสืบทอดต่อกันมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์
น่าเสียดายที่หนังสือจินดามณีที่เขียนจากสมุดข่อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ถูกคัดลอกต่อกันมาโดยไม่ได้จารวันเวลาที่เขียนเอาไว้
จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเล่มใดเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคสมัยนี้
สังฆราชลาโนยังสร้างศาลาเรียนขึ้น ในพื้นที่พระราชทานที่ตำบลเกาะพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป
และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ ตามบันทึกของ ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ว่า
ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่า ที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้น ท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย
นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชชอบพระไทยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโน
ถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี เป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก…”

การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก จึงน่าจะเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
โดยบาทหลวงปิแอร์ ลังคลูอาส์  (Pierre Langrois) มีความคิดจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น
เพื่อพิมพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษและแรงงานราคาถูก
พบว่ามีจดหมายไปทางฝรั่งเศสขอให้ส่งช่างแกะตัวพิมพ์มา
เพื่อจะได้พิมพ์คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทย
ฟ. ฮีแลร์ อ้างจดหมายเหตุของบาทหลวงลังคลูอาส์ที่มีไปยังมิชชันนารีที่กรุงปารีส
ในปี พ.ศ. ๒๒๑๗ ว่า
“ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วยแผ่พระศาสนาคฤศตัง
ให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้ว ขอท่านได้โปรดช่วยหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด,
มิสซังเมืองไทยจะได้มีโรงพิมพ์ๆ หนังสือเหมือนที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา, เมืองคูอา
และเมืองมะเกานั้น”
แม้จดหมายฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่า เครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งมายังกรุงศรีอยุธยาตามที่ขอหรือไม่
แต่ก็พอเป็นหลักฐานให้ทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น
มิชชันนารีคริสตังมีความคิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนา
ซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘
อันลงนามกันที่เมืองลพบุรี  มีใจความสรุปโดยย่อว่า
พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารี
ทำการสั่งสอนคริสตศาสนาและวิชาต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักร
ด้วยเหตุนี้จึงมีความตั้งใจในการจัดพิมพ์หนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือประกอบการศึกษา

ในรัชสมัยนั้น พระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต
และขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า ๔๐ คน
ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปฝรั่งเศสเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๒๒๘
ครั้งนั้นคณะราชทูตได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการการพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
โดยมีบันทึกไว้ว่าราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของมงเซียร์ เดอ ครามวาซี
ได้ชมตั้งแต่การเรียงตัวพิมพ์ ได้ดูแท่นพิมพ์และกระบวนการพิมพ์
รวมถึงพระวิสูตรสุนทรได้ทดลองพิมพ์ด้วยตนเอง ได้รู้ถึงวิธีผสมหมึก วิธีทำกระดาษ วิธีการพิมพ์
วิธีพับกระดาษ การรวมเล่มและใส่ปกจนสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง
อีกทั้งยังได้ชมแม่พิมพ์ตัวหนังสือหลายชนิดหลายภาษา
อาทิ แม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่ง และภาษาอาหรับ
จนราชทูตเห็นความเป็นไปได้ของการทำตัวหนังสือภาษาไทยจากการเยี่ยมชมครั้งนั้น

A

ในยุคสมัยดังกล่าว เหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้า
ในการออกแบบตัวอักษรในยุคบาโรก (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๒๙๓)
คือการเป็นองค์อุปถัมป์อย่างเต็มตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
ที่มีความสนใจทางการพิมพ์อย่างมาก รับสั่งให้มีการระดมบุคลากรด้านต่างๆ
มาเพื่อพัฒนาตัวพิมพ์ใหม่ๆขึ้น เน้นการเขียนแบบตามหลักคณิตศาสตร์
ใช้ระบบกริดมากกว่าแนวทางอักษรประดิษฐ์ ตัวพิมพ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า
โรมาง ดู รัว (Romain du Roi) ที่หมายถึงตัวอักษรโรมันของกษัตริย์
โดยเป็นการออกแบบตัวหนังสือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
มีการแบ่งตารางจตุรัสออกเป็น ๖๔ ส่วน และแบ่งจตุรัสแต่ละส่วนออกเป็นอีก ๓๖ หน่วยย่อย
ทำให้เกิดเป็นจตุรัสเล็กๆ ทั้งหมด ๒,๐๓๔ หน่วย จนมีการจำแนกโรมาง ดู รัว
เป็นตัวพิมพ์แบบ Transitional Roman อันเป็นจุดที่ตัดขาดจากลักษณะอักษรประดิษฐ์
การใช้ปลายมุมเป็นเล็บโค้งๆ และการใช้เส้นที่มีน้ำหนักเท่ากันตลอด
ถึงกับมีการกล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนมือจากนักประดิษฐ์ตัวอักษรมาสู่มือวิศวกร
ที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญในการพิมพ์

image-1

ทางการค้นคว้าจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมพอเป็นแนวทางให้สันนิษฐานได้ว่า
อาจมีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ
จากบทความ “ลายสือไทย ๗๐๐ ปี” โดยศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล
เขียนถึงการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า…
หากมีการพิมพ์ก็คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน
มาเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย
ไม่ได้มีการประดิษฐ์ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทยแต่อย่างใด
แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าจะเกิดการพิมพ์หนังสือในสมัยนั้น
แต่เครื่องพิมพ์และหนังสือเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปหมด
ไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ชนรุ่นหลัง
เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง
เช่น ถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา
ซึ่งเป็นรัชสมัยต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ
และอีกครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ ๒

แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า
มีโรงพิมพ์เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอธยา ไม่มีทั้งบันทึก
หรือแม้แต่หลักฐานหนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้น
รวมถึงเมื่อพระยาโกษาปานกลับมาจากฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารยณ์ฯ ก็เสด็จสวรรคตในอีก ๘ เดือนต่อมา
อันเป็นการตัดขาดจากการรับเทคโนโลยีจากประเทศยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง
เนื่องจากรัชสมัยของพระเพทราชาไม่ทรงสนับสนุนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส
ดังที่หนังสือ “สยามพิมพการ” ได้ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากว่า
ยังไม่มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ได้วิเคราะห์กันไว้

ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ตาม
การเดินทางของวิทยาการการพิมพ์จากฝรั่งเศสสู่กรุงศรีอยุธยานี้
นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อก้าวย่างแรกๆ ของการพิมพ์ไทย
รวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ตัวอักษร
เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีที่กระแสธารการพิมพ์ได้ขาดช่วงไปจากกรุงศรีอยุธยา
หลังจากยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ ๒
ระหว่างนั้นวิทยาการการพิมพ์ในยุโรปกลับรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการพัฒนาแท่นพิมพ์ กระดาษ หมึกพิมพ์ แบบตัวอักษรและลายประดับ
ธุรกิจหนังสือ และสำนักพิมพ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วยุโรป
ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี
จึงเป็นเหมือนศตวรรษที่ขาดช่วง เป็นหน้าว่างในหนังสือแห่งประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย


จนกระทั่งถึงช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕)
กระบวนการพิมพ์จึงได้กลับสู่เมืองไทย
ทำให้รูปแบบตัวอักษรไทยเกิดความก้าวหน้าขึ้นอีกครั้ง
เกิดตัวพิมพ์สำคัญที่ส่งผลต่อรูปแบบตัวพิมพ์ไทย
รวมถึงการอ่านและการออกแบบตัวอักษรไทยในเวลาต่อมา
ใคร่ขอยกตัวอย่างมาดังต่อไปนี้


บรัดเล จุดเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของตัวพิมพ์ไทย

ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ นาย Dan Beach Bradley หรือที่คนไทยรู้จักภายหลังในนาม หมอบรัดเล มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาเขาคือบุคคลสำคัญที่นำการพิมพ์เข้ามาในเมืองไทย ทำให้การพิมพ์แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าหมอบรัดเลจะมาประเทศไทยด้วยความตั้งใจที่จะเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยอาศัยการแพทย์สมัยใหม่เป็นเครื่องมือจูงใจ แต่ขณะเดียวกันก็ได้ริเริ่มกิจการการพิมพ์ที่สำคัญมากมายในประเทศไทย เช่น การจัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับแรก การพิมพ์หนังสือเล่มออกจำหน่าย รวมถึงการริเริ่มการเข้าเล่มหนังสือ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. ๒๓๘๔ หมอบรัดเลและคณะได้ร่วมมือกับช่างพิมพ์ ดำเนินการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยที่ชุดตัวอักษรนี้ มีลักษณะเอนไปข้างหลัง และยังไม่ค่อยมีเอกภาพ เส้นตั้งไม่ได้ขนานกันอย่างสมบูรณ์ รูปแบบโดยรวมดูเหมือนจะเป็นการถ่ายทอดมาจากลายมือแบบหวัดแกมบรรจง หนึ่งในหนังสือที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์นี้คือ หนังสือคำภีร์ ครรภ์ทรักษา ที่ให้ความรู้เรื่องการผดุงครรภ์

Bangkok_Recorder.jpg

พ.ศ. ๒๓๘๗ – ๒๔๑๐
หมอบรัดเลได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก เรียกว่า หนังสือจดหมายเหตุ และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Bangkok Recorder เป็นหนังสือที่นำเสนอสารคดีและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นการเปิดพรมแดนความรู้สมัยใหม่ให้กับสังคมไทย เกิดการเรียนรู้ผ่านข่าวต่างประเทศ และสะท้อนปัญหาสังคม ในครั้งนั้นมีการจัดทำตัวพิมพ์ที่ชื่อ “บรัดเลเหลี่ยม” เพื่อใช้ในพิมพ์ในฉบับแรกๆ

บรัดเล เทียบ-01-01.jpg

โครงสร้างตัวอักษรที่หมอบรัดเลใช้เป็นต้นแบบนั้น สันนิษฐานได้ว่ามาจากลายมือแบบอาลักษณ์ ที่ปรากฏในเอกสารสมุดข่อยและใบลาน ซึ่งออกแบบเดินเส้นตามการเขียน ได้แก่ การมีเส้นบางสม่ำเสมอกันตลอดทั้งตัวอักษร ให้ความสำคัญกับหัวอักษรที่มีลักษณะกลมโปร่ง และคงเส้นนอนบนให้มีลักษณะหักเป็นเหลี่ยมลักษณะพิเศษที่ทำให้ตัวพิมพ์ชุดนี้ ต่างจากลายมือ คือมีลำตัวที่ยืดตรง ไม่เอนหลัง มีการเน้นความสำคัญของเส้นตั้ง หรือ “ขา” รักษาความงอหรือหักเป็นเหลี่ยมของเส้นนอนบน และตำแหน่งของหัวเอาไว้ แต่จัดให้เป็นระเบียบและเที่ยงตรงแน่นอนมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสถาปนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตัวพิมพ์ไทยในยุคต่อมา นอกจากนั้น หมอบรัดเลยังจัดทำตัวพิมพ์ “บรัดเลโค้ง” ในเวลาต่อมา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดหลายส่วน โดยเฉพาะการวางเส้นตั้งส่วนที่ติดกับหัวนั้น บรัดเลโค้งกลับไปหาลักษณะที่มีการลากเส้นออกจากด้านข้างของหัว นอกจากนี้ยังมีการดึงเอาหัวกลางของอักษรบางตัว เช่น ค ด และ ต ให้อยู่สูงขึ้นไป บรัดเลโค้งถือได้ว่าเป็นตัวพิมพ์ที่บุกเบิกแนวทางการใช้เส้นบนแบบโค้ง แทนแบบหักเป็นเหลี่ยมในรุ่นก่อน ซึ่งต่อมาเป็นแนวทางของตัวพิมพ์ไทยในยุคต่อมา


ฝรั่งเศส ตัวพิมพ์ไทย หัวคิดฝรั่ง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญต่อวงการพิมพ์ขึ้น คือ มีการปฏิรูปการศึกษา อันเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบประเทศตะวันตก  และมีการจัดตั้ง กรมศึกษาธิการ ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อรับผิดชอบควบคุมดูแลด้านการศึกษา การจัดตั้งโรงเรียน ดูแลเรื่องหนังสือแบบเรียน และการสอบ

หลังจากนั้น จำนวนโรงเรียนและนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการพิมพ์แบบเรียนขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กิจการโรงพิมพ์ขยายตัว โดยใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้จัดทำตัวพิมพ์ชุดสำคัญชุดหนึ่งออกมา ปรากฏเป็นครั้งแรกในวารสาร อัสสัมชัญอุโฆษสมัย และเป็นที่รู้จักในชื่อที่เรียกว่า “ฝรั่งเศส”

ตัวพิมพ์ชุดนี้เป็นตัวพิมพ์ที่มีแนวทางละเอียดปราณีต มีการใช้เส้นหนักเบาคล้ายกับตัวเขียนอักษรโรมัน คือ มีเส้นตั้งที่หนากว่าเส้นนอน มีเส้นนอนที่โค้ง และมีปลายเรียวแหลม การมีเส้นตั้งหนากว่าเส้นนอนทำให้ตัวตะกั่วมีความแข็งแกร่ง ไม่สึกกร่อนง่าย ความหนักแน่นของเส้นตั้งจะช่วยให้มองเห็นข้อความจับกลุ่มเป็นแถวบรรทัดอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ตัวพิมพ์ชุดฝรั่งเศส จึงมีความน่าสนใจทั้งในแง่รูปแบบและประโยชน์ใช้สอย และได้รับความนิยมต่อมาร่วมร้อยปี โดยเฉพาะการถูกใช้ในหนังสือแบบเรียน ชุด ดรุณศึกษา (พ.ศ. ๒๔๕๗) ซึ่งเป็นแบบเรียนมีส่วนสำคัญต่อการศึกษาของไทยในสมัยนั้น

ดรุณศึกษา_คำนำ.jpg

อาจเรียกได้ว่าการประดิษฐ์ตัวพิมพ์ฝรั่งเศสนั้น อยู่บนพื้นฐานทางการออกแบบ รสนิยม และมุมมองโดยชาวตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เป็นการกำหนดว่าตัวพิมพ์ไทยควรจะมีลักษณะอย่างไร นับเป็นตัวอย่างของตัวอักษรที่เป็น latinisation อย่างชัดเจน อิทธิพลของแบบตัวพิมพ์ฝรั่งเศสยังส่งต่อมายังแบบตัวอักษรภาษาไทยรุ่นต่อมาจนถึงยุคดิจิทัล เช่น ดี.บี. นารายณ์ และ อังศณา มักจะถูกใช้คู่กับตัวอักษรภาษาอังกฤษแบบ Serif


ไทยนริศ วิธีวิทยาของการเขียนตัวอักษรประดิษฐ์

หนึ่งในแบบเขียนตัวอักษรไทยที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ “ไทยนริศ” เป็นชุดตัวอักษรที่สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (๒๔๐๖-๒๔๙๐) เป็นผู้คิดค้นรูปแบบขึ้น ซึ่งเป็นการเขียนด้วยปากกาหรือพู่กันปากแบน

“ไทยนริศ” เป็นแบบเขียนที่นิยมกันมากจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการเขียนด้วยมือโดยไม่ต้องร่าง เช่น ในใบประกาศนียบัตร หรือ ป้ายประกาศในเทศกาลและพิธีกรรมท้องถิ่น  การเขียนจะมีลักษณะการลากเส้นทีละเส้นต่อกันจนเป็นตัวอักษร ซึ่งทำให้แบบไทยนริศมีระบบในการเขียนที่สามารถฝึกหัดได้ไม่ยาก โดยจะเขียนด้วยอุปกรณ์ปากแบนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในความแพร่หลายสู่คนทุกระดับชั้น ในยุคหนึ่งจะสามารถพบคนไทยที่สามารถเขียนตัวนริศได้ทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ถูกถ่ายทอดในหมู่ช่างฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีการพัฒนารูปแบบออกไปมากมาย บ้างมีการเพิ่มรายละเอียดให้วิจิตรขึ้น หรือมีการปรับสัดส่วนให้เหมาะกับพื้นที่ใช้งาน เป็นต้น

หน้าแรกของหนังสือกรมนริศ.jpg

ไทยนริศจะถูกพบเห็นได้ทั่วไป ปรากฏในสิ่งพิมพ์ หนังสือรวบรวมแบบตัวอักษรประดิษฐ์ ถูกนำไปแกะสลักในสถานที่ราชการ และถูกเขียนเป็นป้ายชื่อห้างร้าน สถานที่ ในย่านเก่าแก่ รวมถึงถูกนำไปพัฒนาเป็นฟอนต์อีกหลายรูปแบบ

Naris.jpg

มีข้อสังเกตว่า แม้แบบไทยนริศจะถูกคิดค้นและพัฒนาโดยชนชั้นสูง เริ่มใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ศาสนพิธี และภารกิจราชการที่สำคัญ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ โครงสร้างการออกแบบที่มีลักษณะประกอบเส้นอย่างเป็นระบบ มีลำดับและทิศทางในการลากเส้นที่ชัดเจน จนทำให้เกิดมาตรฐานทางการผลิต (ด้วยมือ) มากกว่าแบบตัวอักษรอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ระบบดังกล่าวทำให้การถ่ายทอดทักษะการเขียนเป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่การเขียนตัวอักษรประเภทนี้จะเป็นที่นิยมและแพร่หลายในที่สุด

“ไทยนริศ” จึงเป็นแบบตัวหนังสือที่ใกล้ชิดกับคนไทยทุกชนชั้น ทำหน้าที่บันทึกและเป็นตัวแทนของเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ระดับราชสำนักมาจนถึงป้ายราคาแผงผลไม้ เป็นแบบตัวหนังสือที่มีเรื่องราวทางสังคม การเมือง วิถีชีวิต ของสังคมไทยมายาวนาน


ตัวหนังสือในแบบเรียน กับมาตรฐานการรับรู้แบบตัวพิมพ์ 

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางการพิมพ์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ คือการสร้างตัวพิมพ์ชุด โมโนไทป์ ของบริษัท ไทยวัฒนาพานิช โรงพิมพ์ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ไทยวัฒนาพานิชได้ร่วมมือกับบริษัทโมโนไทป์แห่งประเทศอังกฤษ ทำการปรับปรุงตัวพิมพ์ไทยเพื่อใช้กับเครื่องเรียงพิมพ์อัตโนมัติ จัดทำโดย พีระ ต. สุวรรณ ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิชาการพิมพ์จาก Liverpool College of Printing ในอังกฤษ เป็นการออกแบบที่เอาข้อเด่นของตัวพิมพ์ในอดีตมารวมกัน จะเห็นได้จากการใช้เส้นที่หนาสม่ำเสมอแบบบรัดเล อันเป็นธรรมชาติเดิมของอุปกรณ์การเขียนของไทย แต่สัณฐานหรือความกว้างยาวของตัวอักษร และช่องไฟต่าง ๆ เอามาจากฝรั่งเศส ทำให้สวยงามและอ่านง่ายกว่าตัวพิมพ์เดิมที่ใช้กันอยู่

monotype

เนื่องด้วยไทยวัฒนาพานิชมีส่วนสำคัญในการผลิตแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตัวพิมพ์โมโนไทป์จึงมีบทบาทสร้างความคุ้นชินต่อสายตาของคนไทยเป็นอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานการรับรู้ต่อแบบตัวพิมพ์ไทย สืบต่อจากแบบตัวพิมพ์ “ฝรั่งเศส” ในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะการวางสระและวรรณยุกต์ของตัวพิมพ์ชุดนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานของภาษาไทยยุคต่อมา แต่ในที่สุดระบบการเรียงพิมพ์นี้ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง และยุคพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออฟเซตนั่นเอง


มานพติก้า และ เฮลเวทิก้า ไทย ตัวแทนยุคสมัยและการรับรู้ต่อตัวพิมพ์ไทย

DRY TRANSFER.jpg

การเกิดขึ้นของอักษรลอก (Dry-transfer Letter) ที่ใช้ขูดลงบนอาร์ตเวิร์ค เริ่มเป็นที่แพร่หลายในงานโฆษณาและการพาดหัวบนหนังสือพิมพ์ตามลำดับ แบบอักษรลอกที่ชื่อ “มานพติก้า” ที่ออกแบบโดย มานพ ศรีสมพร ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นการประดิษฐ์แบบตัวอักษรไทยโดยอ้างอิงจากรูปแบบตัวอักษร Heveltica ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการใช้คู่กับภาษาอังกฤษในงานโฆษณา แต่การที่เป็นตัวอักษรแบบไม่มีหัว (loopless) ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับในขณะนั้น เนื่องจากคนไทยยังเคยชินอยู่กับแบบตัวอักษรที่มีหัวเท่านั้น จนเมื่อผ่านยุค Phototypesetting เข้าสู่ยุคตัวอักษรดิจิทัลแล้ว ความคุ้นเคยต่อแบบตัวอักษรไม่มีหัวค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีผลจากการเกิดขึ้นของมานพติก้าอย่างปฏิเสธไม่ได้ แบบตัวอักษรไทยที่ยังคงถูกประดิษฐ์โดยอ้างอิงรูปแบบจาก Heveltica และตัวอักษรละตินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแบบไม่มีหัวอื่นๆ ก็มีใช้ให้เห็นมากขึ้นตามลำดับ

Manoptica.jpg

จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๕๔ แบบชุดตัวอักษร เฮลเวทิก้า ไทย ได้ถูกจัดทำขึ้นโดย อนุทิน วงศ์สรรคกร เป็นการทำให้กับบริษัท LinoType GmbH ซึ่งเป็นการออกแบบด้วยการตีความใหม่ ในช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ให้การยอมรับและเคยชินในการอ่านตัวอักษรแบบไม่มีหัวแล้ว การออกแบบตัวอักษรชุดนี้ เน้นการสำรวจค่าการรับรู้ที่เป็นกลางของแบบตัวอักษรไทยประเภทไม่มีหัว มากกว่าการจะอ้างอิงจากรูปแบบจากตัวภาษาอังกฤษแต่เพียงอย่างเดียว รวมถึงการรักษาสมดุลของสัดส่วนในการใช้ควบคู่กับภาษาอื่นๆ ในชุดเดียวกันได้อย่างลงตัว

Helvetica.jpg


บทส่งท้าย เดินต่อไปอย่างไร

จะเห็นว่าแบบตัวพิมพ์ที่กล่าวมานี้ ล้วนได้รับอิทธิพลและแรงผลักดันจากตะวันตก ทั้งด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และหลักการออกแบบ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงถึงความเป็นไทยในวงการออกแบบตัวอักษร เกี่ยวกับการมีหัวหรือไม่มีหัวของแบบตัวพิมพ์ เคยมีการนำเอาแบบ serif และ san serif มาเปรียบเข้ากับแบบมีหัว-ไม่มีหัวของไทย ความคิดเห็นและข้อถกเถียงทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นชิ้นส่วนในวิวัฒนาการของตัวพิมพ์ไทย จนปัจจุบันแทบจะไม่มีใครหยิบยกประเด็นเรื่องหัวมาถกเถียงกันอีกต่อไป (หรือยังมี ไม่แน่ใจ)

ทุกวันนี้มีแบบตัวอักษรไทยและการออกแบบที่หลากหลายเกิดขึ้นมากมาย เกิดองค์ความรู้และวิชาชีพการออกแบบตัวอักษรอย่างมีหลักการ สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีและความเป็นไปของโลก อย่างไรก็ดี หากเรามองตัวอักษรบนถนนหนทาง ป้ายร้านค้า นิตยสาร จอตู้เอทีเอ็ม โทรศัพท์มือถือ หรือสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว ก็พอจะพบได้ว่า ตัวอักษรเหล่านี้ก็ล้วนสอดคล้องไปกับยุคสมัยและบริบททางสังคม สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยได้อย่างชัดเจน แม้ตัวอักษรที่พบเห็นจะได้รับอิทธิพลจากตะวันตกดังที่กล่าวมา แต่ทุกสังคมก็ย่อมมีสิ่งอื่นที่เข้ามาผสมและส่งอิทธิพลอยู่เสมอ วิถีชีวิตที่มีอยู่เดิมและบริบทแวดล้อมในพื้นที่นั้น ก็มักจะต่อรอง ผสมผสาน และเจือจางสิ่งใหม่ที่เข้ามาด้วยตัวมันเองเสมอเช่นกัน  

“บรัดเล”
แบบตัวพิมพ์แรกที่ถูกปรับแกนตัวอักษรที่เอียงแบบลายมือให้เป็นตัวยืดตรง
เพื่อให้สอดรับการการเรียงตัวตะกั่ว จากนั้นตัวพิมพ์ไทยก็ตั้งตรงเรื่อยมา

“ฝรั่งเศส”
ตัวหนังสือไทย หัวคิดฝรั่ง ที่เป็นคล้ายกับข้อเสนอแบบฝรั่งมองไทยว่า
แบบตัวพิมพ์ไทยที่ดีในมุมมองของไอเป็นอย่างไร?

“ไทยนริศ”
จากลายมือของเจ้านายมาสู่ช่างฝีมือและคนทั่วไป
จากภารกิจของราชสำนักมาสู่งานบุญ งานวัด บริษัท ห้างร้าน และหาบเร่แผงลอย

“โมโนไทป์”
ตัวอักษรที่สร้างการเคยชินผ่านแบบเรียน
สื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อการอ่านออกเขียนได้

“มานพติก้า”
หนึ่งในตัวอย่าง Latinisation ที่ชัดเจนที่สุด
แต่ก็เป็นแนวทางที่ส่งผลต่อการออกแบบในยุคต่อมามากที่สุดเช่นกัน

“เฮลเวทิก้า ไทย”
เมื่อโลกต้องการใช้ตัวอักษรต่างภาษามากขึ้น
การอยู่ร่วมกันระหว่างตัวอักษรไทยกับภาษาอื่นๆ อย่างกลมกลืน จึงเป็นที่ต้องการ

ท่ามกลางการสื่อสารของผู้คนในปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงถึงกันไปทั้งโลก
การสื่อสารที่ใช้หลายภาษาผ่านการพูด การเขียน และการพิมพ์
แม้จะมีภาษาอังกฤษอยู่ในสถานะตัวกลางหรือมีอำนาจกดทับก็ตาม
หากแต่เงื่อนไขของผู้คนและสังคมแต่ละหนแห่ง
ก็ทำให้ความเป็นศูนย์กลางนั้นอยู่ได้ทุกแห่งหนเช่นกัน… 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่การอยู่ร่วมกัน
ควบคู่สัมพันธ์ไปกับการรักษาความต่างเฉพาะตน
ทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้ 
หากอยู่ร่วมกันได้ ก็จะทำให้มีที่ทางของตนเองได้ 
เมื่อมีที่ทาง ก็มีตัวตน…
ในความต่างทั้งหลาย…
ทำอย่างไรให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย
อยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีอัตลักษณ์
โดยไม่คิดว่าเราพิเศษหรือด้อยกว่าผู้อื่น.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s