a day, interview 198
เรื่อง จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ
อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
คำถามหลังถ้วยชาว่าด้วยชีวิต การออกแบบ และการออกแบบชีวิต
คำถามคือ…
ในบทสนทนาหลังถ้วยชา สันติ ลอรัชวี พูดคำนี้บ่อยครั้ง ซึ่งตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อเสมอมาว่า คำถามสำคัญกว่าคำตอบ คำตอบของสันติจึงเต็มไปด้วยคำถาม
คำถามที่น่าสนใจในเวลานี้ ไม่ใช่คำถามที่ว่า สันติ ลอรัชวี คือใคร เพราะชื่อของเขาไม่ใช่ชื่อใหม่ในแวดวงนักออกแบบ
สันติได้รับรางวัล Designer of the Year ปี 2015 สาขาการออกแบบกราฟิก จากนิตยสาร Wallpaper* และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ส่วน PRACTICAL Design Studio ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ก็เป็นหนึ่งในสตูดิโอชั้นนำของประเทศ ล่าสุดเพิ่งจัดนิทรรศการ REWIND TO THE NEXT ในวาระครบรอบ 12 ปี ไปเมื่อปีที่ผ่านมา และหากจะบอกว่าเขาคือนักออกแบบกราฟิกที่มีผลงานนิทรรศการส่วนตัวมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศก็อาจไม่ผิดนัก
นอกจากบทบาทนักออกแบบ เขายังเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบมากว่า 20 ปี และแน่นอน เขามักสอนศิษย์ด้วยการตั้งคำถาม
ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชื่อของสันติได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงวรรณกรรม เมื่อเขาร่วมงานกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งสำนักพิมพ์ Openbooks ชุบชีวิตวรรณกรรมคลาสิกของ เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ที่ว่ากันว่าสั่นสะเทือนจิตวิญญาณใครหลายคนอย่าง สิทธารถะ สำนวนแปลของ ‘สดใส’ ขึ้นมาใหม่
เขาว่าหนังสือเล่มนี้ออกแบบอย่างประณีตขั้นสุดเท่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะทำได้ จนใครหลายคนยกย่อง สิทธารถะ ฉบับพิมพ์ครั้งนี้ว่าคือ งานศิลปะ
ไม่แน่ใจว่าในช่วงที่วงการสิ่งพิมพ์ซบเซา วรรณกรรมสายแข็งเล่มอื่นใช้เวลาขาย 1,000 เล่มหมดในระยะเวลากี่สัปดาห์ กี่เดือน หรือกี่ปี แต่หนังสือเล่มนี้ขายหมดภายใน 12 ชั่วโมง และยังถูกต่อยอดเป็นนิทรรศการที่ชื่อ The Paper River คลื่นใจในธารกระดาษ
ในบทสนทนาหลังถ้วยชา สันติบอกว่า หลังจากออกแบบสิ่งต่างๆ มามากมาย ตอนนี้เขากำลังออกแบบโปรเจกต์ใหญ่ที่สุด นั่นคือการออกแบบชีวิต
ถ้าคำถามที่น่าสนใจในเวลานี้ ไม่ใช่คำถามที่ว่า สันติ ลอรัชวี คือใคร
คำถามคือ…
จุดเริ่มต้นของการได้มาร่วมงานกับ ภิญโญ คือตอนไหน
จุดเริ่มต้นคงเป็นตอนรู้จักกัน ผมไม่เคยรู้จักกับพี่ภิญโญจนกระทั่งปี 2008 ที่ทำนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ผมกำลังหาคนเขียนคล้ายบทนำหรือคำนิยมในสูจิบัตรนิทรรศการ ตอนนั้นผมเลือกคนที่เราอยากให้เขียน 3 คน 2 คนเป็นคนที่ผมรู้จักอยู่แล้ว คือพี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เพราะว่ารู้จักคุ้นเคยกันมานาน อีกคนคือคุณอนุทิน วงศ์สรรคกร เพื่อนสนิททางอาชีพ แล้วอีกคนเป็นคนที่ผมไม่รู้จักส่วนตัวคือพี่ภิญโญ แต่ที่ผ่านมาผมตามงานเขาอยู่แล้ว และก็ตามชีวิตไปด้วย ผมเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งคือเราจะพูดว่าเราเป็นคนยังไง มันจะต้องมีสถานการณ์พิสูจน์ การปิดนิตยสารโอเพ่นส์มันเป็นเหมือนสถานการณ์ซึ่งผมอ่านเหตุผลที่เขาให้กับคนอ่านแล้วค่อนข้างรู้สึกว่านับถือคนนี้ไกลๆ มันทำให้เรามีกำลังใจเมื่อเห็นคนที่ยืนอย่างมั่นคงอยู่บนจุดยืนอะไรบางอย่างที่ตั้งใจ ในที่สุดผมก็ติดต่อจนได้ เล่าให้พี่ภิญโญฟังว่าเราจะทำอะไร เขาก็ตื่นเต้นกับเราไปด้วย และยินดีเขียนให้ หลังจากนั้นเราก็เงียบหายกันไป เจอกันบ้างตามงานเสวนา แต่ไม่เคยคุยเล่นมากมายนัก จนกระทั่งวันที่เจอกันที่งานของนิตยสาร Wallpaper*หลังจากไม่เจอกันนาน พอคุยเล่นกันก็พบว่าเราต่างมีไลน์แล้ว ก็เลยแลกไลน์กัน ผมใช้สติ๊กเกอร์โดราเอมอน พี่เขาก็ใช้สติ๊กเกอร์โดราเอมอน ส่งไปส่งมาหากัน
ตอนเห็นคนอย่างภิญโญใช้สติ๊กเกอร์โดราเอมอนตกใจมั้ย
ไม่ตกใจ เพราะเขาใช้รูปโปรไฟล์เป็นโนบิตะ แต่เขาจะมีสติ๊กเกอร์โดราเอมอนเวอร์ชั่นน้อยกว่าผม
ภิญโญกับสันติคุยอะไรกันผ่านไลน์
บางทีไปไหนพี่เขาจะส่งรูปมาให้ดู ล่าสุดเขาเพิ่งไปเชียงใหม่เขาก็ถ่ายรูปส่งมา หรือตอนไปญี่ปุ่นเขาก็ส่งรูปพระมา บอกว่าไหว้พระมาฝาก นอกจากเรื่องงาน นัดเจอจะเป็นเรื่องสบายๆ ไปนู่นมานี่ เจอคนนั้นคนนี้ หลังจากแลกไลน์กัน ปีใหม่ปีนั้นก็นัดกินข้าวกัน ตอนนั้นผมเพิ่งออกหนังสือ ก็บอกว่าจะเอาหนังสือไปให้ พี่เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นเอาหนังสือมาแลกกัน ก็เลยนัดเจอ กินกาแฟ กินข้าว เอาหนังสือแลกกัน แล้วมันก็เลยมาถึงว่าทำอะไรสนุกๆ กันดีกว่า เราก็เลยพูดถึงหนังสือว่า ถ้าเราทำหนังสือด้วยกันมันจะเป็นหนังสือยังไง หลังๆ พี่ภิญโญสนใจหนังสือที่ค่อนข้างตัวงานใหญ่หน่อย อย่างงานคลาสสิกที่อยู่กันมาเป็นร้อยๆ ปี เราก็คุยกันถึงงานที่ค่อนข้างอมตะ แล้วเล่มที่พูดขึ้นมาแล้วชนกันพอดีคือ สิทธารถะ
ผมบอกว่าหนังสือที่มีอิทธิพลกับผม ในระดับที่ว่าทำให้ผมทำอะไรบางอย่าง หนึ่งในนั้นคงจะเป็นเล่มนี้ ตั้งแต่ประมาณปี 2011 ผมเริ่มถ่ายรูปแม่น้ำสะสมเป็นงานอดิเรก โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผมมีภาพแม่น้ำอยู่ในหัว พอเล่าให้พี่ภิญโญฟัง เปิดงานให้ดู เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเราเริ่มที่เล่มนี้เลย
คุณจำได้มั้ยว่าอ่าน สิทธารถะ จบครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่
ตอนเรียนจบ อายุยี่สิบต้นๆ
ตอนนั้น สิทธารถะ สั่นสะเทือนคุณยังไงบ้าง
สิ่งที่น่าทึ่งคือเรารู้สึกว่าคนเขียนเก่ง เป็นงานเขียนที่แยบยลประมาณหนึ่ง อ่านรอบแรกผมจะสะดุดอยู่ตรงกลวิธีการเขียน สนุกดี โดยเฉพาะคนที่รู้พื้นฐานประวัติพระพุทธศาสนา ในขณะหนึ่งก็รู้สึกถึงคนสองคน ระหว่างสิทธารถะกับโควินทะที่เป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า คนหนึ่งถวายตัวเป็นพระภิกษุ อีกคนปฏิเสธแล้วจากมา น่าสนใจตรงที่ทั้งสองคนศรัทธาในคำสอนทั้งคู่ หรือศรัทธาในพระพุทธเจ้าทั้งคู่ แล้วก็เลือกเดินตามพระพุทธเจ้าทั้งคู่ แต่เดินตามคนละแบบ โควินทะเดินตามคำสอน สิทธารถะเดินตามทางในการค้นพบของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าค้นพบมันด้วยตัวเอง ไม่ได้มีใครบอกว่านายต้องทำยังไง
แต่ละครั้งที่อ่านมันเปลี่ยนโฟกัส ซึ่งจะสัมพันธ์กับชีวิตในเวลานั้น ช่วงที่เป็นอาจารย์อ่านแล้วก็นั่งนึกว่า โควินทะคล้ายๆ พวกเรา คือมีคำสอนชุดหนึ่งที่ดูดีมาก แล้วเราก็พยายามเดินตาม แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ค่อยเข้าใจอะไรเท่าไหร่ ทดสอบง่ายๆ เวลาไปคุยกับลูกค้า เราก็ยังไม่สามารถพูดให้เขาเข้าใจได้อยู่ดี แล้วตกลงเราเข้าใจหรือเราไม่เข้าใจ หรือการที่เราเข้าใจแต่เราสอนให้เด็กเข้าใจไม่ได้ ตกลงเราเข้าใจหรือเปล่า
บางครั้งก็เห็นว่าการเป็นขบถแบบสิทธารถะน่าสนใจ แต่บางครั้งมันก็ล้มเหลว การปฏิเสธแล้วไปแสวงหามันมีความลำบาก มีความทรมาน ซึ่งในมุมของผม หลายครั้งผมเลือกทางแบบนั้นเหมือนกัน ชีวิตผมมีช่วงที่อยากเรียนต่อ เรายึดว่าการเรียนต่อมันเป็นสาระในการพัฒนาตน จริงๆ วิธีคิดแบบนั้นก็ไม่ต่างจากโควินทะ เราต้องการคนมาสอนเราว่าทำยังไงให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น และเราก็ติดอยู่กับเรื่องนี้พอสมควรว่าเราจะต้องเรียน ถ้าไม่เรียนเราคงจะไม่พัฒนา จนกระทั่งผมพบว่าผมเรียนต่อไม่ได้ แล้วเราจะยอมรับกับการพัฒนาตัวเองไม่ได้เพราะว่าตัวเองไม่ได้เรียน หรือเราจะทำอะไรบางอย่าง นั่นเป็นเส้นทางที่อยู่บนสองทางระหว่างโควินทะกับสิทธารถะ พอผ่านช่วงเวลาที่เราศึกษาอะไรบางอย่างด้วยตัวเราเองอย่างหนักจึงพบว่าเราก็ผ่านมันมาได้ แต่มันมีความยากลำบากอยู่ไม่น้อย
แล้วเอาจริงๆ คุณเชื่อในหนทางไหน
สองทางนี้เป็นทางที่จำเป็นทั้งคู่ แต่ว่าเราจะสมดุลยังไง คือคุณหัวแข็งแล้วค้นหาทุกอย่างด้วยตัวเองโดยไม่มีคนนำทาง มันก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะหลงทาง หรือเต็มไปด้วยอัตตา หรือว่าตัวเองไปค้นเจออะไรบางอย่างแต่ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาค้นเจออะไรบ้าง มันก็ดูโลกแคบมาก แต่ถ้าเราไปฟังคนอื่นอย่างเดียว มันก็ทำให้เราไม่เข้าใจ เพราะว่าเป็นการถ่ายทอดแบบจดจำหรือแค่ปฏิบัติตาม พอเราผ่านตรงนั้นมาก็เริ่มเห็นว่า สองทางนี้จริงๆ มันเป็นสมดุล เพราะถึงสมมติว่าสิทธารถะจะบอกว่าค้นพบด้วยตัวเอง แต่เขาก็เจอวสุเทพ คนแจวเรือ ท้ายที่สุดต้องเกิด dialogue คือการรู้ว่าคนอื่นเป็นยังไง สิ่งรอบข้างเป็นยังไง ถึงแม้เราจะออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่เราก็อ่านหนังสือของชาวบ้านเขาอยู่ดี มันหนีไม่ได้กับสองเรื่องนี้ ถ้าผมบอกว่าผมทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มันจะเป็นไปได้อย่างไร เราก็เป็นผลของการที่คนอีกรุ่นหนึ่งแผ้วถางทางมาก่อน เขาหาสิ่งนี้มาก่อน เขาจะถูกจะผิดไม่รู้แต่เขาหามาก่อน ซึ่งมันอาจจะเคยใช้ได้ในยุคของเขา เราก็รับรู้สิ่งนั้นมา เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วเราต้องไม่ใช้วิธีคิดที่ว่าจะหักล้างกัน แต่มองว่าเขามีประโยชน์ แล้วปรับให้เหมาะกับเรา
รู้มาว่าคุณไม่เอาค่าตัวในการออกแบบหนังสือเล่มนี้ เหตุผลคืออะไร
ผมเอาไม่ได้ ถ้าคิดค่าตัวผมเทียบกับงานคอมเมอร์เชียล หนังสือเล่มนี้ไม่เกิดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าให้ผมไปคิดเล็กๆ น้อยๆ อย่าไปคิดมันเลย ทำไปเลยดีกว่า
ไม่ได้มองว่างานนี้เหนื่อยฟรีใช่ไหม
เรารู้ตั้งแต่แรกว่าไม่เหนื่อยฟรี ค่าตอบแทนมีหลายแบบ สำหรับผมทุกงานมีค่าตอบแทน ผมจะไม่ทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่ค่าตอบแทนไม่ใช่แค่เงิน เพราะฉะนั้นผมจะนิยามคำว่าค่าตอบแทนสำหรับทุกงาน ค่าตอบแทนที่ผมต้องการคือคุ้มที่จะทำ
แล้วค่าตอบแทนของงานนี้คืออะไร
คือการที่มันปรากฏอยู่ตรงนี้ ความคิดที่จะทำงานสร้างสรรค์หลายชิ้นมันอยู่ในหัวเรา และบ่อยครั้งที่รู้ว่ามันจะไม่สามารถเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยมากมายที่ทำให้มันไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสเข้ามาในชีวิต แล้วทำให้เราได้ทำอะไรบางอย่างที่พอจะเชื่อใจได้ว่ามันจะเกิดขึ้นในแบบที่เราคิด ผมจะไม่ค่อยลังเล และพอมันเกิดขึ้นจริงแล้ว มันจะอยู่ไปอีกนานนะ
แล้วการทำสิทธารถะเป็นโอกาสในการทำสิ่งใดในหัวให้เกิดขึ้น
โอกาสในการทำหนังสือเล่มหนึ่งที่เราจะประณีตกับมันที่สุด ความประณีตในแบบของเราหมายถึงว่า รายละเอียดบางเรื่องเช่น เรื่องงานพิมพ์สำหรับเล่มนี้ ผมต้องการพิมพ์ดูโอโทน เป็นเทคนิคพิมพ์ขาวดำด้วยสีสองเม็ด นั่นคือสีเทาและสีเทาเข้ม เพื่อให้ได้โทนสีภาพที่เราต้องการ ซึ่งถ้าเราเห็นปรู๊ฟระหว่างสีสองเม็ดกับหนึ่งเม็ดจะรู้สึกว่ามันแทบไม่ต่างกัน คนที่โรงพิมพ์เขายังถามเลยว่า อาจารย์จะพิมพ์ไปทำไม (หัวเราะ) มันเหมือนชานี้กับอีกชาหนึ่ง มันก็ต้องเป็นคนดื่มชาถึงจะรู้
แล้วตอบคนที่โรงพิมพ์ว่าอะไร ในเมื่อมันแทบไม่ต่างทำไปทำไม
ผมบอกว่าพี่เทียบกันดูสิ พี่เห็นว่ามันต่างกันไหม เขาก็บอกว่าต่าง แต่ว่าไม่ได้ต่างกันมาก ผมบอกว่านั่นแหละที่ผมอยากไปให้ถึง เพราะว่ามันเป็นคุณภาพ เหมือนเวลาคุณฟังเพลงที่เป็น High Resolution กับไฟล์เพลง MP3 ถ้าเครื่องเสียงไม่ได้ดีมาก หรือคุณไม่ได้ใส่ใจมาก มันก็ไม่ต่างกัน จะลดทอนก็ได้ แล้วส่วนใหญ่ในชีวิตปกติเรามักเลือกที่จะลดทอน ประนีประนอม ซึ่งเข้าใจได้ ลดทอนลงไปค่าใช้จ่ายก็ลดลงไปด้วย จะซื้อจะขายแล้วมีกำไรเพิ่มขึ้นมันก็ต้องลดทอนนั่นแหละ แต่พอเป็นงานนี้ที่มีเป้าหมายเชิงคุณภาพของหนังสือ เราจะยอมอีกเหรอ พี่ๆ เห็นด้วยและช่วยกันเต็มที่
ในฐานะดีไซเนอร์คุณรู้สึกผิดบ้างไหมเวลาเลือกที่จะลดทอนแล้วไปไม่ถึงภาพที่คิดไว้
งานออกแบบสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง การออกแบบคือเสนอทางออกที่ดีที่สุดในปัจจัยทั้งหมด สมมติผู้ประกอบการหนังสืออยู่ในสถานะที่รู้อยู่แล้วว่าต้องขายแค่ 300 บาท ถ้าเกินกว่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เราเข้าใจดี เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่รู้สึกผิด แต่ถ้าเราพิมพ์ได้แค่สีเดียว สิ่งที่ผมจะทำคือต้องออกแบบและเข้าไปคุมการพิมพ์ให้ดีที่สุด อย่างสิทธารถะทางทีมงานก็มาออกแบบวิธีขายให้มันไม่ขาดทุน นี่เป็นที่มาของการออกแบบวิธีขายอีกที เราต้องหาวิธีที่จะปล่อยออกไปให้ได้โดยที่เราไม่เจ็บตัว แม้เราไม่ได้กำไรแต่เราไม่ควรขาดทุน เพราะถ้าขาดทุนจะทำให้เราฝ่อ แล้วจะทำให้เราไม่อยากทำอีก
คุณมองเห็นอะไรจากปรากฏการณ์ขายหมด 1,000 เล่มภายใน 12 ชั่วโมง
มีคำถามที่ทำให้เราคิดต่อไปได้ อาจจะเป็นคำถามต่อทั้งวงการเลยด้วยซ้ำว่า นี่คือหนึ่งแบบที่ขายได้ มันกำลังบอกว่ามีคนต้องการหนังสือที่ดี เพียงแต่ว่าหนังสือที่ดีคืออะไรบ้างซึ่งมันคงไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียว และผมก็ไม่เชื่อว่าถ้าเราทำแบบนี้อีกครั้งมันจะขายได้ คำตอบน่าจะเกิดขึ้นจากหลายๆ คนว่าหนังสือที่ดีคืออะไร หนังสือในฐานะวัตถุ หนังสือที่ไม่ได้มองมันแยกส่วนเพียงเรื่องเนื้อหา
ท่ามกลางการเข้ามามีบทบาทของสื่อดิจิทัล มันรับภาระในการเป็นภาชนะใส่เนื้อหาไปด้วย เมื่อภาชนะหลักเดิมถูกแบ่งหน้าที่ออกไป ทุกอย่างจะไหลไปตรงนั้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าคนจะมองความสำคัญของหนังสือในฐานะภาชนะลดลง เราต้องไม่หลอกตัวเองกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่หนังสือในฐานะวัตถุชิ้นหนึ่งยังไม่มีอะไรมาแย่งเลยนะ ต้องมาดูว่า การอ่านหนังสือที่เป็นเล่มหรือเป็นวัตถุมีคุณค่าอะไรบ้าง สุนทรียะอะไรบ้าง แล้วคุณให้เขาไหม ถ้าคุณไม่ให้เขา เขาก็จะเปรียบเทียบกับสื่อสมัยใหม่
อะไรทำให้หนังสือที่ประณีตแบบนี้มันไม่ค่อยเกิดขึ้นในบ้านเรา
พอธุรกิจเป็นเรื่องของการแยกส่วน ยอดขายเป็นหลัก เลยทำให้ทุกอย่างต้องควบคุมทั้งหมด ดีไซเนอร์ที่ทำหนังสือเองอาจต้องมานั่งดูด้วยซ้ำว่าคุณออกแบบหนังสือมากแค่ไหน คุณออกแบบหนังสือหนึ่งเล่มนั้นมีตั้งแต่เขาเขียนมายังไง กระดาษแต่ละประเภทเป็นยังไง มันควรจะรับกับอะไร ในการเย็บ มีทั้งกระดูกหลัก กระดูกย่อย เนื้อเยื่อ จะจัดการกับมันยังไง แล้วคุณมีความสัมพันธ์กับโรงพิมพ์ในลักษณะที่แลกเปลี่ยนกันเหมือนเป็นเพื่อนได้ไหมว่าทางที่ดีที่สุดคืออะไร แล้วคุณจะใช้เวลากับมันมากไหม หรือคุณจะแค่ส่งไฟล์ไปแล้วรอให้ปรู๊ฟมาส่งที่ออฟฟิศ
มันพูดยากเพราะว่าเป็นกระบวนการที่ไม่สอดคล้องกับระบบอุตสาหกรรมเท่าไหร่ แต่มันอาจเป็นทางรอดของหนังสือหรือเปล่า ทำยังไงให้คนเห็นหนังสือมีค่าขึ้น การผลิตก็ควรมีค่าขึ้นหรือเปล่า เทียบกับอย่างอื่น ทำไมเราไปกินกาแฟร้านนี้ อาจเพราะร้านนี้คัดสรรเมล็ดกาแฟที่ดีมาปรุง หรือมีความพยายามและใส่ใจในกาแฟทุกๆ ถ้วยที่เสริ์ฟ คนกำลังหาคุณภาพอะไรบางอย่างในชีวิตรอบตัวท่ามกลางสิ่งที่พอใช้ได้ แต่บางทีเราก็ต้องการอะไรที่ละมุนละม่อม ละเอียดอ่อนกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือหรือเรื่องอื่น ๆ ทุกวันนี้ระบบการผลิตมันทำให้ทุกอย่างพอใช้ได้
มันเกิดจากระบบอุตสาหกรรมเขามองชิ้นหนึ่งด้วยสายตาคนละแบบหรือเปล่า โรงพิมพ์เขามองงานเราเป็นงานลูกค้า ในขณะที่เรามองเป็นงานศิลปะ
อาจจะเป็นเรื่องการเคารพหน้าที่ตัวเอง ซึ่งเราไม่รู้จะแก้ยังไงกับระบบนี้ เวลาไปโรงพิมพ์ ผมจะไม่ค่อยหงุดหงิด เพราะเราต้องเข้าใจว่าช่างพิมพ์ที่เราไปจ้ำจี้จ้ำไชเขาได้ค่าแรงน้อยมาก ลองคิดดูว่าถ้าเราไปยืนตำแหน่งเดียวกันได้สามสี่ร้อยบาทต่อวัน แต่ต้องไปยืนทำงานอยู่กับกลิ่นหมึกพิมพ์ มีคนคอยเร่งให้พิมพ์ บางทีต้องควงกะ เราไม่มีทางทำงานที่ดีได้ ไม่มีทางเคารพงานที่ทำได้ เพราะมันกดทับความรู้สึก มันเหนื่อยเกินไป ยิ่งไปดูโรงงานสกรีนสียูวี ถ้าคนอย่างพวกเราเข้าไป 3 ชั่วโมงน่าจะป่วย เพราะกลิ่นของมันประมาณทินเนอร์ ผมเคยเข้าไปอยู่คืนหนึ่ง ถามเขาว่าทำไมไม่ปิดจมูก เขาบอกว่าไม่ถนัด แต่ผมเองใส่ชุดใหญ่เลยนะ แต่วันรุ่งขึ้นผมก็ยังป่วย คุณภาพชีวิตของบุคลากรสายผลิตบ้านเราค่อนข้างไม่โอเค ถ้าเราจะทำให้ดีภายใต้ปัจจัยนี้ย่อมไม่ใช่การบ่น และไม่ใช่หักหาญในฐานะผู้ว่าจ้าง
นี่คือเหตุผลที่คุณเป็นนักออกแบบที่ไปโรงพิมพ์บ่อย
ใช่ หลัง ๆ ก็ให้คนรุ่นใหม่ๆ ไป เราจะสอนเทคนิคให้น้อง ๆ ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จเวลาเข้าไปโรงพิมพ์ เวลาไปกับผม พอจอดรถที่โรงพิมพ์ปุ๊บ ผมลงไปคุยกับ รปภ. ก่อน เป็นไงบ้าง นี่อยู่ตั้งแต่กี่โมง เปลี่ยนกะกี่โมง คุยกับทุกคน แล้วยังไม่เข้าโรงพิมพ์ แต่เดินหาร้านสะดวกซื้อ ซื้อน้ำดื่มหลายๆ แบบ ตั้งแต่ลิโพยันน้ำอัดลม แจกทุกคนที่พบ พอไปเจอช่างก็อย่าเพิ่งคุยงาน ชวนกินน้ำก่อน เขาเหนื่อย เราต้องปรับตัวอารมณ์เขาก่อน ให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้มาสั่งมาตรวจนะ ไม่ได้มาเอาชนะคะคานว่าคุณต้องทำให้ได้อย่างที่ต้องการ งานนี้เป็นยังไงผมจะอธิบาย เรารู้ว่ามันมีข้อจำกัดที่ขวางเราอยู่ ต้องเข้าไปทำความเข้าใจข้อจำกัด อย่างโรงพิมพ์ผมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแก่เขา เราลองวิธีนี้ไหม เพราะบางทีเขาก็ไม่เคยลอง อย่างตอนทำหนังสือของอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ผมให้ความรู้เขากระทั่งว่าอาจารย์อิทธิพลเป็นใคร
ทำไมเขาจำเป็นต้องรู้ว่าอาจารย์อิทธิพลเป็นใคร
เขาจำเป็นต้องรู้ เพราะถ้าเขาคิดว่านี่คืองานหนังสือหนึ่งเล่มอย่างที่เคยทำ เขาก็จะทำไปอย่างที่เคยทำ แต่เราบอกเขาว่าหนังสือเล่มนี้เป็นของศิลปินแห่งชาตินะ และนี่คือผลงานทั้งชีวิตของเขา ผมนับถือท่านมาก ผมอยากทำหนังสือเล่มนี้ให้ดีที่สุด เป็นสมบัติที่จะเก็บไว้ว่าศิลปินคนนี้ทำอะไรมาบ้าง ซึ่งพี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน งานจริงมีราคาสูง แล้วหาซื้อไม่ได้แล้วนะ กินน้ำคุยกัน บรีฟเขาก่อน ให้เขาเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ งานนี้ต้องสะอาด เรียบร้อย พอคนมาดูแล้วเห็นว่าสวยก็จะถามว่าพิมพ์ที่ไหน ก็พี่นี่แหละเป็นคนพิมพ์ พูดให้เขาเข้าใจและภูมิใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ เขาไม่ใช่แค่กลไกที่ทำตามใบสั่งงาน
การที่คุณเติบโตมาในยุคก่อนดิจิทัล มันบ่มเพาะเอกลักษณ์ให้คุณแตกต่างจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ หรือเปล่า
ความโชคดีคือเราอยู่กับการออกแบบหนังสือตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องนั่งแปะโบร์ไมด์ เรียงพิมพ์ ทำให้เห็นขั้นตอน รายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมันจำเป็นต้องรู้เวลาตัวเองออกแบบหนังสือหนึ่งเล่ม ภาพใหญ่คืออะไร มันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง หนังสือเล่มนี้มันจะไปถึงมือคนอ่าน ไปอยู่ที่บ้านเขาได้ยังไง เขาจะถืออ่านมันแบบไหน ถ้าเห็นภาพใหญ่ เวลาคุณออกแบบวิธีคิดจะเปลี่ยนไป จะไม่อยู่กับตัวเอง ทำออกมาขาวแบบนี้ไปขายที่ร้านแล้วดำไหม ส่งยังไง เยินไหม ทำไมหุ้มสีดำ ก็เพราะจะได้ไม่เปื้อน คือเราจะเห็นภาพใหญ่ แล้วก็จะมองมันอีกแบบหนึ่ง มันกระจุกกระจิกแต่สัมพันธ์กับความเชื่อมโยงทั้งหลายที่จะเกิดกับตัวงานที่เราทำ ซึ่งนักออกแบบในปัจจุบันถ้าตั้งใจที่จะเห็นมันง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่เขาอาจจะอยู่ในโลกที่เร็วจนลืมดูว่าเขาอยู่ในวัฏจักรแบบไหน ซึ่งทุกๆ งาน คุณจะเริ่มลำบากมากถ้ามองไม่เห็น ผมจะเป็นคนที่ถ้าไปเมืองไหนแล้วไม่เห็นแผนที่จะไม่สนุก เราอยากเห็นภาพใหญ่ของมันก่อน เราจะพักตรงนี้ เราอยู่ทิศตะวันตก แล้วสนามบินอยู่ตรงไหน
มีเหตุผลอะไรที่เราต้องเห็นภาพรวมทั้งหมด ทั้งที่เราก็ไม่ได้ไปทุกที่
เราไม่ชอบหลงทาง ในที่นี้หมายถึงว่ายังชอบเดินมั่วๆ นะ แต่อยากรู้ว่าภาพรวมมันเป็นอย่างไร สมมติไปญี่ปุ่น เมืองนี้อยู่ตรงนี้ของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นอยู่ตรงนี้ของโลก อย่างน้อยมันมีแนวคิดตัวหนึ่งเวลาเราเดินเล่น รู้ว่าแถวที่พักคือย่านตะวันตก ข้างบนเราจะมีแม่น้ำนะ สำหรับผมมันสนุกกว่า
ในงานออกแบบ การเห็นภาพรวมมันทำให้งานออกแบบของเราไปได้ไกลกว่าเดิมหรือเปล่า
มันจะละเอียดรอบคอบขึ้น เพราะว่างานออกแบบมันสัมพันธ์กับคนอื่น สัมพันธ์กับเรื่องอื่น ไม่ได้แยกตัวเองออกมาเป็นประธาน งานออกแบบมันชัดว่ามีไว้เพื่อสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ถ้าเป้าหมายคือหาทางออกให้ดีที่สุดต่อปัจจัยนั้น โจทย์นั้น ข้อจำกัดเหล่านั้น เราต้องพยายามรู้ให้หมดว่าเรากำลังรับมือกับอะไรบ้าง ใครใช้มันบ้าง กระทบใครบ้าง ประเทศนี้ผลิตได้ไหม พื้นฐานความเข้าใจของคนต่อสิ่งที่เราทำมีไหม
บางทีผมคุยเล่นกับลูกศิษย์ว่า ยุคนี้ใครละเอียดกว่าได้เปรียบ ยิ่งมองละเอียดเท่าไหร่ยิ่งเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น เห็นปัญหาที่ยังไม่ได้เป็นปัญหาตอนนี้ เราจะป้องกันหรือแก้มันได้ก่อน ระหว่างคุยกับลูกค้า แค่เราหยิบปัญหาสองปัญหาที่เห็นมาพูดบรรยากาศจะดีขึ้นทันที ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันจะเปลี่ยน กลายเป็นมาช่วยกันคิดแทนที่จะรับคำสั่งว่าต้องทำอะไร เวลาที่เขาคอมเมนต์กลับมาเราก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นการแก้งาน แต่เป็นการช่วยกัน บางทีก็ขอบคุณกันเลยที่ช่วยชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ทำให้งานดีขึ้น ทำให้มีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่การตีปิงปองไปมาแต่หันกลับมาอยู่บนโต๊ะกลมเดียวกัน
ทุกวันนี้ก่อนจะเลือกรับงานคุณคิดนานไหม
แล้วแต่ อย่าง สิทธารถะ ผมรับเพราะผู้ร่วมงาน เพราะมิตรภาพ แล้วก็เชื่อในกันและกัน เชื่อในวิถี พี่ภิญโญใช้คำว่าเต๋าเท่ากัน ผมเชื่อว่าทำกับเขาไม่ต้องกังวลอะไร ทำแล้วน่าจะได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นกิจกรรมของเพื่อน เหมือนชวนกันไปเที่ยว เรารู้ว่าไปกับเพื่อนคนนี้ต้องสนุกแน่ๆ เช่น เราลงทุนไปเที่ยวไต้หวันกับเพื่อน ใช้เงิน 50,000 บาท ทำไมเราไม่เอาเงินจำนวนนี้มาลงทุนกับเพื่อน ทำอะไรกันขึ้นมา มันก็คือการท่องเที่ยวแบบหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ต่างกัน นี่คือทริปของสันติกับภิญโญ แล้วก็ได้ของฝากกลับมาเพียบเลย (หัวเราะ)
ส่วนงานลูกค้าจะคิดละเอียด ดูโจทย์ ดูเคมีระหว่างงาน ลูกค้าและเรา บางทีก็ดูผลประกอบการ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ผมค่อนข้างดูละเอียด เพราะผมอยากทำงานที่สำเร็จ ทุกงานมีเป้าหมาย เช่น ลูกค้าบริษัทหนึ่งให้เราออกแบบอัตลักษณ์แบรนด์ เขาก็อยากให้แบรนด์ของเขาประสบความสำเร็จ แต่แค่การยอมรับมันไม่พอหรอก แบรนด์สินค้าหนึ่งอยากมีภาพลักษณ์นั่นนี่ เพราะคุณอยากจะขายของนั่นแหละ สุดท้ายภาพลักษณ์ดีขายของไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ แต่องค์ประกอบของความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราออกแบบอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราร่วมงานกับใครด้วย ปัจจัยพื้นฐานเขามีโอกาสสำเร็จไหม เพราะฉะนั้นเรามักไม่รับงานโดยทันที แต่เอาปัญหาของเขามาวิเคราะห์ เสนอกลับไปก่อนว่า จากมุมมองของเราถ้าเป้าหมายเป็นแบบนี้คุณควรจะทำยังไง นั่นหมายความว่าบางทีอาจจะไม่ตรงกับที่เขาบรีฟเรามาเลย เราจะบอกเขาว่าสิ่งที่ขอให้เราทำมันเป็นปลายน้ำ มันมีโอกาสจะไม่สำเร็จ ถ้าเปรียบกับการรักษาไข้ คุณกินยาตามอาการไม่ได้ ถ้าเขามาบอกว่าหมอครับ ผมขอยาแก้ไอหน่อย ผมไอไม่หยุดเลย เราก็จะบอกว่าผมยังไม่ให้ยาแก้ไอคุณนะ แต่จะวินิจฉัยให้ฟังว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วควรรักษามันอย่างไร
นักออกแบบสามารถให้คำปรึกษาเรื่องธุรกิจกับนักธุรกิจได้เหรอ
ได้ เพราะว่าส่วนหนึ่งของธุรกิจมันคือเรื่องการสื่อสาร ส่วนใหญ่เขามาหาเราเรื่องการสื่อสาร แต่เวลาเขามาหาเรา เขาจะมาแบบมีทางออกมาแล้ว เช่นอยากได้เว็บไซต์ใหม่ ซึ่งคุณอาจจะไม่ได้ต้องการมันจริงๆ คุณอาจจะมีปัญหาว่าทำไมการขายเซกเมนต์นี้ยอดขายไม่โต แล้วเห็นแบรนด์คู่แข่งมีเว็บไซต์ เลยคิดว่าต้องมีบ้างแล้ว ถ้าอย่างนั้นหานักออกแบบสักคนทำให้ก็แล้วกัน แล้วส่วนใหญ่จะเริ่มต้นมากันแบบนี้ พอมาถึงเขาก็จะบอกว่าบรีฟว่าต้องการเว็บไซต์อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็รับฟังเขาแหละ แต่ก็จะถามถึงช่องทางการสื่อสารของลูกค้า แต่ละอันการตอบสนองเป็นยังไง มีผลสำรวจมั้ย แต่ละช่องทางพูดอะไรบ้าง ข้อมูลพวกนี้บางทีดีไซเนอร์บางคนอาจมองว่าจะรู้ไปทำไม ในเมื่อเขานึกภาพเว็บไซต์ในหัวไว้แล้ว
แล้วทำไมคุณไม่ออกแบบเว็บไซต์ตามใจลูกค้าไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ได้เงินเหมือนกัน
ถ้าทำแบบนั้นแล้วจะสำเร็จไหมล่ะ ถ้าออกแบบเว็บแล้วเว็บนั้นไม่ได้ช่วยปัญหาหลัก ๆ เช่น ถ้าเป้าหมายลึกๆ เป็นเรื่องการเพิ่มยอดขายของเขา แล้วผลลัพธ์มันไม่ได้มาถึงตรงนั้น ในที่สุดเขาก็จะคิดว่าเว็บไซต์ที่เราออกแบบมันไม่ได้สำคัญอะไร ถ้าเขามาลองจ้างผม ด้วยคำยืนยันจากคนอื่น หรือชื่อเสียง ตอนแรกเพื่อนอาจจะมาชมว่าเว็บใหม่สวยดี แต่สุดท้ายตัวเขาก็จะรู้สึกล้มเหลวกับการออกแบบ แล้วเขาก็จะไม่ทำซ้ำ หรือจะไม่ให้ค่ากับงานออกแบบอีก แต่ในกรณีเดียวกัน ถ้ายอดขายดีขึ้น สิ่งที่จะอยู่ในหัวเขาคืองานออกแบบช่วยธุรกิจเขา งานออกแบบเข้าไปตอบความต้องการบางอย่างของนักลงทุนหรือนักธุรกิจ แล้วเขาจะให้ค่ามันในการจ้างงานครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผมหรือคนอื่น เขาจะไม่กังวลอีก ซึ่งนี่เป็นคุณค่าของวงการออกแบบที่ทุกคนต้องช่วยกัน
ตอนนี้มาถึงจุดที่ต้องพิสูจน์แล้ว ไม่ใช่เรียกร้อง คุณต้องพิสูจน์ให้ระบบที่หมุนโลกอยู่ตอนนี้เห็นว่าสิ่งที่คุณทำมีคุณค่า นั่นหมายความว่าเมื่องานออกแบบของคุณไปสนับสนุนเขา แล้วแบรนด์เขามีคุณค่าขึ้นมา เขาจะให้คุณค่าคนออกแบบ นี่คือสิ่งที่นักออกแบบต้องทำ อาจไม่ใช่ทุกงานหรือทุกคน แต่พึงทำเท่าที่ทำได้ ถ้าเราพูดว่าทำไมงานออกแบบไม่มีคุณค่า คนไม่ให้ราคามันเลย ค่าออกแบบก็ย่ำอยู่อย่างนี้ บ่นกันไป คำถามก็คือว่าโลกในวันนี้คุณค่ามันคืออะไรในแต่ละบริบท ซึ่งไม่ใช่คุณค่าเดียว แต่ละครั้งที่เราทำงาน เราถามไหมว่า งานที่เราทำอยู่ ที่เรากำลังจะทำ เราจะเสนอคุณค่าอะไรให้เขา ไม่ใช่ความสวยงามอย่างเดียวแล้ว หรือต่อให้เป็นอัตวิสัยเหลือแค่ความสวย ก็ต้องคิดให้ละเอียดอยู่ดี สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้
คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการเป็นนักออกแบบยุคนี้
หาตัวตนให้เจอ เป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องรู้แผนที่ รู้ความเป็นไป จะเก็บตัวอยู่ในโลกส่วนตัวตามลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องรู้ความหลากหลาย ใช้วันเวลาแห่งความหนุ่มสาวทดลองหาที่ยืนของตัวเองว่าเราจะเดินทางนี้ เราจำเป็นต้องเห็น landscape ของมัน
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่คุณบอกว่า ดีไซเนอร์ทุกวันนี้แค่เสพงานสวยๆ ไม่พอแล้ว
ไม่พอ เชื่อว่าตอนนี้ดีไซเนอร์ทุกแขนงคงไม่มีใครดูแค่เรฟเฟอร์เรนซ์อย่างเดียว ทุกวันนี้โลโก้ตัวหนึ่งที่เห็นว่าไม่มีไอเดียหรือรูปแบบที่น่าประทับใจอะไรนัก แต่ความจริงมันมีเหตุของมันหมด มีการวิจัย มีเงื่อนไขต่อความเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างเช่นเวลาทำงานกับลูกค้าผมมีเป้าหมายว่าสิ่งที่ผมออกแบบมันจะอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย แต่ตอนนี้ เอา 3 ปีให้รอดก่อน (หัวเราะ) ทุกวันนี้การประกอบการต่างๆ มีความไม่แน่นอน ทุกธุรกิจพยายามปรับตัวไปเรื่อยๆ ขายอันนี้ไม่รอด ขายอันนี้แทนแล้วกัน ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็ย้ายไปทำดิจิทัล ในบรรยากาศเช่นนี้อัตลักษณ์ของคุณควรเป็นยังไง ที่ยังแสดงตัวตนแต่ก็พร้อมจะปรับตัว เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เวลาออกแบบโลโก้มันไม่ใช่แค่เรื่องโลโก้แล้ว แต่คุณต้องเห็นภาพโดยรวมของตัวโลกด้วย ว่ามันเคลื่อนไหวยังไง คุณมองเหมือนในศตวรรษที่แล้วเป๊ะๆ ไม่ได้ เราคงต้องหันมามองเรื่องอนาคตด้วยเหมือนกัน
ผมเชื่อว่าหลายๆ โลโก้แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีการปรับรูปแบบกันออกมาในช่วงนี้ และก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เขาอาจไม่ได้ต้องการให้มันเป็น The Best Logo of The Year หรือพลิกโฉมวงการออกแบบแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องการให้มันพร้อมต่อธุรกิจนั้นๆ ไปอีกเป็น 10 ปี เราดูแค่หน้าโลโก้ไม่รู้หรอก คนทำงานถึงรู้ บางคนมาบอกว่าโลโก้นี้ฉันไม่ชอบ ของเก่าดีกว่า ถ้าสำหรับคนทั่วไปผมว่าดีนะ เพราะการที่มีคนสนใจวิพากษณ์วิจารณ์งานออกแบบ มันสะท้อนการมีอยู่ของมันในสังคม แต่ถ้าคนพูดเป็นนักออกแบบ ผมว่าคุณควรจะถามด้วยว่า ถ้ามันไม่สวยเท่าเดิม แล้วอะไรเป็นสาระสำคัญที่ทำให้มันเกิด เหตุปัจจัยคืออะไร นักออกแบบควรอยากรู้แบบนี้ด้วย ไม่ใช่หยุดที่สวยหรือไม่เห็นสวย ชอบหรือไม่ชอบ เราคงต้องยกเรื่องนี้เก็บไว้ในใจก่อน แล้วมาดูว่าเหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร เราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าเขาไม่ได้โง่หรือไร้เดียงสานะ แทนที่จะนั่งบ่น คุณควรจะหาข้อมูล คุณควรจะอ่านจากหลายๆ ฝ่าย ฝั่งนี้เขียนว่าอะไร ฝั่งนั้นเขียนว่าอะไร อ่านหลายๆ เคสจะเริ่มจับทางได้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เขามองเรื่องอะไรกัน แล้วคุณมองอย่างนั้นอยู่ไหม คุณจะเอาสิ่งนั้นมาแลกเปลี่ยนกับลูกค้าหรือผู้ประกอบการในประเทศไหมว่า มันเป็นอย่างนี้แล้วนะ เราจะได้ก้าวหน้าไปพร้อมกับเขา
เหมือนอย่างที่คุณมักจะเน้นย้ำเสมอว่า การตั้งคำถามให้ถูกต้องสำคัญมาก
สำคัญมาก เรามีข้อมูลเยอะมาก และเราใช้ความรู้สึกเยอะกับข้อมูล นั่นหมายความว่า ยิ่งเราวางตัวเป็นศูนย์กลางเท่าไหร่ เรายิ่งเรียนรู้ได้น้อยมาก ขณะที่ทุกอย่างมันเคลื่อนไปไม่รู้กี่มิติ งานออกแบบ เทคนิค วิธีการ การให้คุณค่า มันเปลี่ยนตลอดเวลา โอเค สิ่งที่เรายึดถือควรจะมี จะได้เอามาดูว่าสิ่งที่เรายึดถืออยู่มันสอดคล้องกันไหม แต่เราต้องปรับตัวท่ามกลางความเคลื่อนไหวนั้นให้ได้ด้วย ถ้าเขาให้ค่ากันแบบนั้นเราจะอยู่ยังไง
ผมเคยถามนักศึกษาว่า วันนี้มีเว็บไซต์ที่รับออกแบบโลโก้ราคาหนึ่งเหรียญ คุณเรียนคอร์สละสี่แสน แล้วคุณจะออกไปทำอะไร ในขณะเดียวกัน ผมรู้มาว่าบริษัทออกแบบต่างชาติรับโปรเจ็กต์ทำงานให้แบรนด์บ้านเราบางตัว ราคาหลายล้าน หนึ่งล้านกับหนึ่งเหรียญ ลูกค้าเขาจ่ายอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องถาม ถ้าคุณหาไม่เจอ คุณคงไม่มีวันเดินไปถึง แล้วอยู่ในสมมติฐานที่ว่าคนที่จ่ายราคาสูงๆ ไม่โง่นะ แบรนด์ระดับโลกที่เขี้ยวจนไม่รู้จะเขี้ยวยังไง เขาจ่ายอะไร ถ้าดูแค่ความสวย อาจจะบอกว่ากูก็ทำได้ เคยคิดไว้ด้วยซ้ำ แต่ในงานหนึ่งๆ มันมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นอีกเยอะมาก นี่ไม่ใช่ว่าผมจะพูดแต่เรื่องตัวเลขของค่าออกแบบ แต่มันเป็นตัวอย่างที่ชัดและคนพูดถึงกันมาก รวมๆ มันเป็นเรื่องที่เราต้องถามตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าคุณค่าของงานเราคืออะไร
คุณโยนคำถาม แล้วหาคำตอบให้นักศึกษาไหม
ผมไม่ได้หาคำตอบให้เขาเสมอไป แต่ผมมักจะบอกว่าคุณสามารถทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ผ่านการมองในระดับที่ใกล้เคียงกับคุณแล้วค่อยๆ ขยายออกไป เช่นคุณเป็นนักออกแบบกราฟิก เพื่อนก็เป็น คุณมีปัญหาการขายงาน เพื่อนไม่มีปัญหาในการขายงาน ขายแล้วได้ราคาดีกว่า ปัญหามันคืออะไร ปัจจัยและเงื่อนไขคืออะไร มองในระดับใกล้เคียงกันก่อน มันจะพอทำความเข้าใจได้
งานออกแบบเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มหาศาล นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนบอกว่ามันยาก เพราะเรื่องนี้อีรุงตุงนังไปกับแทบทุกเรื่อง งานชิ้นเดียวกันให้คนละคนไปพรีเซนท์ก็ไม่เหมือนกัน คำถามคือนักออกแบบควรมีทักษะอะไรบ้าง ถ้าคุณบอกว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน นั่นเราต้องมาจำกัดความกันว่าผลของงานคืออะไร นอกเหนือจากรูปแบบสุดท้ายที่ออกมา มันรวมถึงการทำให้เขาเข้าใจด้วยไหม หรือว่าผลของงานอยู่ที่กระบวนการทำ หรืออยู่ที่หลังจากนั้น ผลกระทบของมัน หรือผลของงานอยู่ที่ว่าทำยังไงให้ได้งาน ทุกวันนี้เราตีอกชกหัวไม่ได้ มันไม่ใช่เวลาแล้ว โลกมันขยายออกไปจนถึงขั้นที่ว่าคุณไม่เอาคนอื่นก็เอา คุณทำไม่ได้คนอื่นทำได้ ลองเสิร์จกูเกิ้ลเปิดพินเทอร์เรสดูสิ จะเห็นว่าสิ่งที่คุณทำได้คนอื่นทำได้หมด
คุณไม่ได้กำลังจะบอกว่าโลกมีนักออกแบบเยอะเกินความจำเป็นใช่ไหม
การออกแบบมันเป็นกิจกรรมพื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากบนโลกนี้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการออกแบบ มันมีเสรีภาพที่ไม่ได้จำกัดการเข้ามาเกี่ยวโยงกับมัน เพราะโลกมีเครื่องมือเยอะแยะมากที่ทำให้ทำงานออกแบบได้ แล้วมันสนุก มันมีเสน่ห์ เนื่องจากมันเป็นพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะทำอะไรให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการออกแบบเป็นศักยภาพของมนุษย์ เป็นพื้นฐาน มันเพิ่งเป็นอาชีพไม่นานหรอกถ้าเทียบกับช่วงเวลาที่มนุษย์คิดค้นไฟ สร้างที่อยู่อาศัย เราเพิ่งมาครอบครองคำนี้ได้ไม่นาน แล้วเราก็ควรรักษาการให้ความสำคัญกับความเป็นนักออกแบบของตัวเองให้พอดี เราต้องมีความรู้ตัวประมาณหนึ่งว่าเรากำลังไปครอบครองกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อก่อนผมหงุดหงิดเหมือนกันนะเวลาลูกค้าจะมีข้อเสนอเรื่องสีเรื่องตัวอักษร แต่มันอดไม่ได้หรอก เพราะมันเกี่ยวข้องกับเขา มันจึงมีความจำเป็นที่ว่าทำยังไงให้เขาฟังเรา ทำยังไงให้เรามีมุมมองละเอียดกว่าเขา ให้อะไรที่เขารู้สึกว่ามีคุณค่ากับเขา มันกลับมาที่ตัวคนทำงาน ช่างภาพก็เหมือนกัน คำถามเดียวกัน ทุกคนถ่ายรูปได้หมด กล้องมือถือบางรุ่นถ่ายขาวดำสวยมาก อะไรที่ทำให้เขาต้องจ้างช่างภาพ คุณค่านั้นคืออะไร คุณสมบัตินั้นคืออะไร ทุกคนต้องตอบคำถามนี้ทั้งหมด เพราะว่าบางอย่างเราต้องยอมรับว่ามันจะหมดไป ทักษะบางอย่างจะไม่เป็นที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกัน ในวันนี้ถ้ายังไม่คิดอีกว่าคืออะไร ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน
ผมยังตั้งคำถามการศึกษาการออกแบบเลยว่าสิ่งที่สอน จะพอรับประกันได้ไหมว่าอีกซัก 5 ปีมันจะยังใช้ได้ จะการันตีได้ไหมว่ารายวิชาบางวิชาจะไม่เป็นที่ต้องการอีกแล้ว นักศึกษาจะได้ใช้สิ่งที่เรียนตอนเขาเรียนจบไปหรือไม่ คำถามของผมคือแล้วจะสอนอะไรดี จะทำอย่างไรให้นักศึกษามีทักษะในการรักษาคุณค่าของการออกแบบของแต่ละคนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของยุคสมัย และอะไรคือแก่นแท้ของการออกแบบที่มีอยู่ในวิชาชีพนักออกแบบและไม่เคยเปลี่ยนแปลง
แล้วตัวคุณเองรู้คำตอบไหม แก่นแท้ของการออกแบบหรือนักออกแบบที่มีอยู่และไม่เคยเปลี่ยนแปลงคืออะไรผมไม่ได้มีคำตอบชัดสำหรับทุกคน ผมได้แต่ชวนตั้งคำถามว่ามันคืออะไร ในขณะที่ผมพอจะมองเห็นว่าการออกแบบคือศักยภาพ ศักยภาพในการที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ดีขึ้น เป็นไปตามความต้องการหรือจินตนาการ รวมถึงการแก้ปัญหาบางอย่างได้ บางทีเราอาจจะต้องกลับไปพิจารณาที่มาพื้นฐานของมัน เพราะปัญหาเปลี่ยนแปลงไปเสมอ สิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปเสมอ ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเสมอ แต่มนุษย์ยังต้องการศักยภาพนั้น แล้วอะไรที่เราต้องพัฒนา เราก็คงต้องพัฒนาศักยภาพในการแก้ปัญหา ศักยภาพในการรับมือความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนของปัญหาที่มากขึ้น เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะจำเป็นในตัวคนคนหนึ่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่สูงมาก ตรงนี้จะทำให้เขารับมือได้ นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านที่เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน
ทำไมคุณจึงเชื่อในการตั้งคำถาม
คำถามสำหรับผมคือเข็มทิศ เหมือนที่เวลาไปไหนผมต้องดูแผนที่ก่อน คำถามเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เกิดสิ่งต่อไป ทำให้เกิดทิศทาง คำถามจะนำไปเรื่อย ทำให้ทุกอย่างขยับ ผมไม่ได้คิดว่าคำถามสำคัญแบบที่ต้องไปยกมันขึ้นมา แต่มันโคตรสัมพันธ์กับปกติวิสัย แล้วสุดท้ายเราให้เหตุผลกันเสร็จมันจะมาพร้อมคำตอบ ก็จะเกิดความเป็นไปได้ต่างๆ ตามมา นำไปสู่ทิศทางในการทำอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรที่ต้องการผลลัพธ์ ซึ่งในงานออกแบบที่ผมทำอยู่ต้องการผลลัพธ์อยู่แล้ว เช่น คุณเรียกผมมาทำงานนี้เพื่ออะไร เป้าหมายของคุณต้องการอะไร
สิ่งที่ผมทำมากที่สุดในการไปเริ่มงานคือถาม ผมไม่ได้รับบรีฟเขาอย่างเดียวแน่ๆ มันมีความต้องการบางอย่างที่ภาษาเป็นอุปสรรคเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเขาบรีฟงานออกแบบ ผมจะถามเพื่อให้เกิดบทสนทนา การรับบรีฟครั้งแรกสำคัญ นักออกแบบควรจะถาม ถ้าคุณไม่รู้จะถามอะไรก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน อะไรล่ะที่จะทำให้คุณทำงานนี้ได้ ก็คำถามพวกนี้ไง คุณต้องรู้อะไรบ้างจึงจะทำงานนี้ได้ดีที่สุด ผมว่านี่คือความเป็นมืออาชีพอย่างหนึ่งของการไปรับงานกับลูกค้าครั้งแรก จะเรียกว่าสร้างความประทับใจแรกก็ได้
การถามสร้างความประทับใจแรกได้ด้วยหรือ
ถามในสิ่งที่เขาตอบไม่ได้หรือไม่ได้เตรียมมา แต่จำเป็นต้องตอบ พอคุณถามสิ่งที่เขาตอบไม่ได้หรือคิดไม่ถึงแต่ว่าต้องตอบเพราะมันสำคัญ คุณก็จะเปลี่ยนสถานะตัวเองจากคนที่ทำงานตามสั่งขึ้นมา คุณไม่ควรให้เขารู้สึกว่าคุณทำตามสั่งเพราะมันจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด และเขาก็ไม่อยากได้คนทำงานตามสั่งหรอก เขาอยากได้คนที่ช่วยกันเสนอว่าอะไรยังไงดี
แล้วช่วงนี้ชีวิตคุณพยายามตอบคำถามไหนอยู่บ้างไหม
ผมพยายามออกแบบชีวิตตัวเองในวัยนี้อยู่ จริงๆ เริ่มแล้ว ที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เอาตัวเองมาเป็นโปรเจ็กต์ พี่ภิญโญเคยแนะนำผมว่า เราทำโปรเจ็กต์มาเยอะแยะ มีโปรเจ็กต์หนึ่งยังไม่ได้ทำ ผมก็ถามว่าอะไรเหรอพี่ เขาบอก ก็ตัวเองไง (หัวเราะ) ออกแบบอะไรมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ออกแบบโปรเจ็กต์ใหญ่หรือยัง ผมก็บอกว่ายัง มันอยู่ในหัวผมนะ แต่อาจจะยังเริ่มไม่จริงจัง แล้วพอเราคิดถึงมันละเอียดขึ้น ก็พบว่ามันเป็นวาระที่ต้องจัดการ ต้องออกแบบ เพราะรายละเอียดเยอะ เช่น ถ้าผมต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ ผมจะทำงานด้วยลักษณะที่ทำอยู่แบบนี้ไม่ได้ แล้วทำยังไงให้ผมถึงทำงานได้ ไม่ใช่ว่าผมจะทิ้งไปเลย ที่เราต้องออกแบบก็เพื่อหาทางแก้ที่ดีที่สุด ทำยังไงให้เรายังอยู่กับงานที่เรารักได้ บางทีเรายึดติดอยู่กับสถานที่มากไปหรือเปล่า เราฝึกตัวเองยังไงดี สิ่งที่ผมฝึกตัวเองได้ครึ่งปีแล้วคือการทำงานโดยไม่มีโต๊ะทำงาน ทุกวันนี้ผมไม่มีโต๊ะทำงานที่ออฟฟิศ
จริงๆ แล้วที่ไม่พอ เลยไม่มีโต๊ะทำงาน (หัวเราะ)
ข้อดีของการไม่มีโต๊ะทำงานคืออะไร
ก็นั่งตรงไหนก็ได้ นั่งกับน้องฝึกงานก็ได้ ที่เราทำแบบนี้เพราะเราอยากยืดหยุ่นกับการทำงานด้วย ไม่อยากไปยึดอยู่กับพื้นที่ประจำหรืออะไรอื่น ๆ มีหลายเรื่องที่ผมฝึกนะ ฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ นะ แต่ผมไม่ใช้เมาส์ มาปีหนึ่งแล้ว ใช้ trackpad เขี่ยๆ เอา แรงบันดาลใจมาจากนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งเพราะเราไปนั่งกับเขา เราถามเขาว่าไม่ใช้เมาส์เหรอ เขาบอกว่าตั้งแต่หนูใช้คอมพิวเตอร์มาก็ไม่ได้ใช้เลย เราก็มาคิดว่าเจ๋งว่ะ เพราะเราใช้ตั้งแต่จับคอมพิวเตอร์ครั้งแรก แต่เด็กรุ่นนี้บางคนไม่ได้ใช้แล้ว อีกอย่างคืองานเราก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรขนาดที่ต้องใช้ พอมาวันหนึ่งเมาส์แบตเตอรี่หมดผมก็เลยเลิกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ที่ตลกคือตอนนี้น้องคนนั้นกลับมาใช้เมาส์แล้ว เพราะ trackpad ของเค้าพัง(หัวเราะ)
การออกแบบชีวิตมันยากกว่าการออกแบบอย่างอื่นยังไง
ต้องใจเย็น เพราะการออกแบบชีวิตเราจะกระทบกระเทือนคนอื่น เราอยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคม อยู่ในบริษัท การที่เราจะจัดการอะไรสักอย่างหนึ่งกับตัวเอง มันค่อนข้างมีผลต่อคนอื่น ต้องใช้ความอดทน ต้องไม่ใจร้อน ค่อยๆ ดูไป อะไรทำได้ทำ เพราะฉะนั้นมันจะไม่ใช่การถามว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ถ้าใจคิดว่าเมื่อไหร่จะเสร็จมันจะเริ่มทรมาน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ควรออกแบบแล้ว เราเลยค่อยๆ ทำ เช่น พยายามหยุดพักมากขึ้น แต่เราก็ยังติดออฟฟิศ พยายามเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง อยู่บ้านบ้าง บางทีต้องให้คนรุ่นใหม่ได้ลองตัสินใจกันเองมากขึ้น มันเป็นงานที่มีรายละเอียดยุบยิบไม่มีเดดไลน์ เราต้องสมดุลสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เปลี่ยนเราแล้วที่เหลือช่างมัน เพราะเรายังสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อยู่รอบตัวเรา
คิดว่าผลปลายทางของการออกแบบชีวิตคืออะไร
อาจจะทำให้เรามีชีวิตปกติ โลกมีความเปลี่ยนแปลงเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีชีวิตปกติ และถ้าคุณจะเปลี่ยนก็ต้องวางแผนหรือออกแบบให้มันสอดรับกับสภาพแวดล้อม เพื่อรักษาความปกติไว้ให้ได้ ถ้าผมอายุมากกว่านี้ ไม่แข็งแรงเท่านี้ ทำยังไงให้มันปกติโดยที่ไม่กระทบกระเทือนความเปลี่ยนแปลงของเราหรือสิ่งรอบข้างเรา หมายความว่าเราก็พร้อมปรับตัว คนรอบข้างเราก็มีชีวิตอยู่ได้โดยปกติ
ผลิตภัณฑ์วัดผลกันที่ยอดขาย แล้วการออกแบบชีวิตวัดผลวัดกันตรงไหน
ง่ายๆ นาทีต่อนาที เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่านาทีนี้สบายแล้วนาทีหน้าจะสบาย มันไม่มีปลายทาง ต้องคิดกับมันบ่อยๆ ต้องออกแบบไปเรื่อยๆ
สันติที่ถูกออกแบบแล้วจะเป็นแบบไหน
ทุกอย่างต้องสบายๆ ขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะทำไปทำไม การใช้ชีวิตอย่างสบายๆไม่ได้แปลว่าเบา ไม่ได้แปลว่ามันไม่หนัก แต่มันจะสบายๆ
…