โดย สันติ ลอรัชวี

สำหรับภาษาไทย แม้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บรรจุความหมายของคำว่า “ออกแบบ” ไว้ แต่ในวิชาชีพและชีวิตประจำวันคำว่า “ออกแบบ” ถูกให้คำจำกัดความและมีการอภิปรายไว้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งในคำจำกัดความพื้นฐานหรือเฉพาะเจาะจงก็ตาม หากเริ่มสำรวจความหมายจากพจนานุกรมแล้ว Merriam Webster Dictionary ก็ได้ให้คำนิยามต่อคำว่า design ที่เป็นทั้งคำนามและคำกริยาออกมาชุดหนึ่ง ครอบคลุมกินความไว้ดังนี้

การออกแบบ / งานออกแบบ (คำนาม)

1) วัตถุประสงค์เฉพาะหรือความตั้งใจที่ถือโดยบุคคลหรือกลุ่ม

2) การวางแผนโดยมีเจตนาอย่างจงใจ

3) โครงร่างที่เกิดขึ้นในใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบรรลุจุดประสงค์

4) แบบร่างเบื้องต้นหรือเค้าร่างที่แสดงถึงคุณสมบัติหลักของบางสิ่งบางอย่างที่จะถูกดำเนินการ

5) โครงร่างพื้นฐานที่ควบคุมการทำงานหรือการพัฒนา

6) แผนสำหรับการดำเนินการหรือการทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมาย

7) การจัดเรียงองค์ประกอบหรือรายละเอียดในการผลิตผลงานขึ้นมา ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และในรูปแบบของงานศิลปะ (arrangement)

8) ลวดลายในเชิงการตกแต่ง (pattern)

9) ศิลปะสร้างสรรค์ (creative art) ในการแสดงออกเชิงสุนทรีย์ และ/หรือ ในเชิงการใช้งาน

ส่วนนิยามของ design ในฐานะคำกริยา ถูกจำกัดความไว้ดังนี้

1) สร้างสรรค์ (แฟชั่น, การดำเนินการ, หรือการสร้างตามแผนงาน)

2) วางแผนสิ่งที่คิดจะทำ

3) มีจุดมุ่งหมาย

4) จัดทำขึ้นเพื่อทำหน้าที่เฉพาะ

5) เพื่อบ่งชี้ด้วยเครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อเรียก

6) วาดรูป ลวดลายหรือวาดแบบร่างของ…

7) วาดหรือทำแบบร่างของแผนการสำหรับ…

ความหมายจากคำนิยามต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นทักษะสากลในการวางแผน คิดอ่าน วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหา หรือ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ของมนุษย์เป็นหลัก เป็นทักษะที่มนุษย์ใช้มาก่อนที่โลกจะมีคำว่า design ในความหมายเฉพาะทางเช่นทุกวันนี้

“การออกแบบ” นับเป็นพัฒนาการสำคัญด้านหนึ่งของมนุษยชาติที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เห็นได้จากหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ เช่น ภาพวาดในผนังของถ้ำอัลตามีรา (Altamira) ประเทศสเปน ถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux) ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงในประเทศไทยที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และถ้ำเขาจันทร์งาม อ.สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น “กิจกรรมออกแบบ”นับเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันเกิดขึ้นจากการสังเกต คิดค้น แก้ปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาจากสิ่งเดิม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตต่อร่างกายตนเองและสภาพแวดล้อม การใช้สอยในชีวิตประจำวัน  รวมถึงการตอบสนองด้านสุนทรียะ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์

จากคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้ค้นพบไฟ แต่เราออกแบบมัน”
Harold G. Nelson และ Erik Stolterman ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Design Way แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการออกแบบนั้นถูกดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 35,000 ปี จนมาสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มกำกับชื่อเรียกของบทบาทหน้าที่และอาชีพของตนเอง จนเกิดกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “นักออกแบบ” ในปัจจุบันวิชาชีพนักออกแบบถูกแบ่งให้แตกแขนงออกไปมากมายตามบริบทของทักษะและลักษณะงานต่างกันออกไป

จากงานค้นคว้าของณัฐวิทย์ ทองประเสริฐ ชี้ให้เห็นว่าคำว่า “design” นั้นปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงคริสต์ศักราช 1540s โดยใช้เป็นคำกริยาในความหมายว่า mark out (กำหนด, วางจุดมุ่งหมาย), devise (ประดิษฐ์, คิดอุบาย), choose (เลือก), designate (กำหนด, ระบุชี้ชัดออกมา), appoint (กำหนดกฎเกณฑ์) จนในช่วงคริสต์ศักราช 1580s จึงถูกนำมาใช้เป็นคำนามในความหมายว่า purpose (เป้าประสงค์, ความประสงค์), project (โครงการ, โครงงาน)

ความหมายจากคำนิยามต่างๆ เหล่านี้ยังสอดคล้องกับความหมายเดิมจากรากศัพท์ของมันเองที่เป็นภาษาละตินอันประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นคำอุปสรรค (prefix) de- ที่แปลว่า out ในภาษาอังกฤษ และ signare ที่แปลว่า to mark (จาก signum ในภาษาละตินที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า identifying mark, sign) หรือที่ภาษาไทยใช้ว่า “หมาย” (สังเกตร่วมกับคำว่า เป้าหมาย จุดหมาย หมุดหมาย ความหมาย จำได้หมายรู้ เป็นต้น) โดยที่แปลตามศัพท์ได้ว่า to mark out ซึ่งมีความหมาย (mean) เท่ากับคำว่า “ออกแบบ” ในภาษาไทยนั่นเอง (ออก + แบบ ซึ่งเป็นคำพ้องหนึ่งของคำว่า หมาย) หากมองจากรากศัพท์ งานออกแบบจึงต้องมีวัตถุประสงค์และดำเนินไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือให้เป็นไปดั่งที่หมายไว้นั่นเอง

การรับรู้เกี่ยวกับการออกแบบเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เกิดความหลากหลายจากการตีความ ทัศนคติ จุดยืน และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของนักออกแบบ ทำให้การรับรู้ต่อ “การออกแบบ” หรือ “งานออกแบบ” จึงตกอยู่ในสภาวะที่มีความหลากหลายและถูกปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขอันเกิดจากปัจจัยมากมาย

ในยุคปัจจุบันที่การออกแบบมีความเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมุมมองที่แยกส่วนกันมากขึ้นตามจุดมุ่งหมาย ความคาดหวัง และบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เกิดการแยกบทบาทที่ชัดเจนระหว่าง “นักออกแบบ” กับ ผู้ว่าจ้าง หรือที่มักเรียกกันว่า “ลูกค้า” ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อให้เกิดความหลากหลายในการรับรู้ต่อ “การออกแบบ” และ “งานออกแบบ” จนพบเห็นความขัดแย้งกันอยู่เสมอ ทั้งในระดับความคิดเห็นและการร่วมงาน ทั้งนี้ยังรวมถึงระหว่างวิชาชีพออกแบบกับวิชาชีพอื่น นักศึกษากับอาจารย์ องค์กรกับสมาชิก รวมไปถึงระหว่างนักออกแบบด้วยกันเอง

หากศึกษาจากประวัติศาสตร์การออกแบบ ความแตกต่างที่กล่าวมาเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งนั้นทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน ที่การมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญในขับเคลื่อนโลกที่วิวัฒน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแผ่ขยายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การเรียนรู้และยอมรับถึงความแตกต่างกัน และหันมาใช้ประโยชน์ร่วมกันจากความแตกต่าง จึงดูจะเป็นก้าวย่างสำคัญของสาขาวิชาชีพต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งการออกแบบ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s