FAB Special Talk Tuesday Series
ครั้งที่ 1 วันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Moderator
จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ – บรรณาธิการบริหาร a day
Speaker
สุรชัย พุฒิกุลางกูร – กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิลลูชั่น จำกัด
สันติ ลอรัชวี – นักออกแบบ แพรคทิเคิล ดีไซน์ สตูดิโอ

ขอขอบคุณ
คณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
และกลุ่มนักศึกษาที่รักที่ช่วยถอดเทปการเสวนาให้ มา ณ โอกาสนี้ครับ

26850620_1625246850887561_5921974047768638063_o.jpg
ขอบคุณภาพจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


จิรเดช : สวัสดีน้องๆ และอาจารย์ทุกท่านครับ
ถ้าสังเกตบนเวทีนี้ ทั้งสามท่าน ผมก็จะเด็กที่สุด
การเลือกนี้มีเหตุผลนะครับ คืออาจารย์ติ๊กตั้งใจอยากให้ผม
เป็นตัวแทนของน้องๆ เด็กๆ ที่นั่งฟัง ว่าคนในวัยนี้ควรรู้อะไร
แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเขา อะไรที่จะผลักดันเขาไปได้
อะไรที่จำเป็นสำหรับช่วงชีวิตนี้ของเขา
เมื่อกี้จากที่แนะนำตัวคร่าวๆ แล้ว
น้องๆ หลายคนอาจจะยังสงสัย
พี่สุรชัย  อาจารย์ติ๊ก แล้วมันยังไง…

ผมในฐานะคนที่ทำงานสื่อ และได้มีโอกาสรู้จักพี่ๆ ทั้งสองคนมาก่อน
ค่อนข้างอิจฉาน้องๆ มากๆ ที่ได้มานั่งฟัง พี่ๆ ทั้งสองคนนี้พูด
พี่สุรชัยคือ illustrator อันดับหนึ่งของโลกนะครับ
มีการเก็บคะแนนจากรางวัลที่ได้รับ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วก็เอ่ยอ้างขึ้นมาเอง
และอย่างอาจารย์ติ๊กเองก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทแพรคทิเคิลดีไซน์ ดีไซน์ สตูดิโอ
ที่มีผลงานมากมายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ก่อนอื่นผมรู้สึกว่ามันคงจะพิเศษมาก
ถ้าหากน้องๆ ได้มีโอกาสเห็นผลงานที่พี่สุรชัยได้ทำมาก่อนหน้านี้
ผมจะขอรบกวนพี่สุรชัยช่วยแนะนำตัว ให้น้องๆ ได้รู้จักสักนิดนึงครับ


สุรชัย : โอเค ก่อนอื่นผมจะขอเปิดงานที่อิลูชั่นเคยทำให้ดูนิดหนึ่งนะครับ
https://www.illusion.co.th
เผื่อน้องๆ คนไหนที่ยังไม่รู้จัก งานของอิลูชั่นเป็นงาน CGI
ย่อมาจาก Computer Generated Imagination
เป็นภาพที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เกิดจากการถ่ายภาพ
แล้วนำไปแต่งด้วย Photoshop น่าจะเรียกได้ว่า…
สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่มาแทนการถ่ายภาพในงานโฆษณา
เพราะว่ามันคล่องตัวกว่า รวดเร็ว แล้วทำให้ครีเอทีฟคิดอะไรก็ได้
ผมเอาตัวอย่างมาให้ดูเพื่ออยากจะให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ ว่า
ในการทำ CGI แต่ละครั้งเนี่ย บางทีเราดูแค่เป็นภาพนิ่ง
เราไม่เห็น cross up เราจะไม่รู้ว่าขั้นตอนสำหรับการทำงาน
มันใช้องค์ความรู้หลายสิ่งเลย งาน CGI ความยากอยู่ตรงที่
เวลาเราถ่ายรูปเราจะได้ติดมาทั้งพื้นผิว แสง เงา
แต่ในส่วนของ CGI เราต้องสร้างใหม่หมดทุกอย่าง
โดยการปั้นจากโมเดลเทาๆ แล้วค่อยมาใส่สี ใส่รายละเอียดลงไป
หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ใช้การถ่ายรูปเป็นหลัก


อยากเป็นอะไร?


จิรเดช : ได้เห็นผลงานของพี่สุรชัยกันไปแล้วนะครับ
ก่อนหน้านี้พวกเราได้คุยกันมาก่อนแล้ว ว่าเราอยากคุยเรื่องอะไร
มีคำถามหนึ่งที่ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย เวลามาฟังบรรยายก็ตาม
หรือเวลารุ่นพี่มาพูดให้ฟังก็ตาม มันเป็นปัญหาโลกแตกที่ตอนนั้น
ผมค่อนข้างเบื่อคำถามนี้ด้วย เพราะตัวเราอาจจะตอบไม่ได้ คือ…
เราอยากเป็นอะไร?

เป็นคำถามที่ดูเหมือนง่ายๆ และควรรู้ แต่ว่าตอนนั้นผมไม่รู้
และตอนนั้น… มันรู้สึกเหมือนเป็นคำถามที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย
ผมรู้สึกว่าคนที่มาพูดก็พูดได้สิ ก็คุณเจอไปแล้ว
มันเป็นคำถามแบบถามเอาเท่รึเปล่า เอางี้! ผมขอถามพี่ๆ อย่างนี้ได้ไหมครับ
ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ หรือตอนเด็กๆ
ตอนนั้นรู้เลยไหมครับว่าตัวเองอยากเป็นอะไร?


สันติ: สำหรับผมไม่รู้หรอก! ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าอยากเป็นอะไร
แต่มันจะมีคำตอบสำเร็จรูปชุดหนึ่งเมื่อเวลาที่เราโดนถาม
ตอนเด็กๆ คำตอบของผมคือ อยากเป็นหมอ
แต่นั่นก็เพราะว่ามีผู้ใหญ่เคยบอกว่า เรียนหนังสือเก่ง
ก็น่าจะเป็นหมอนะ หรือไม่ก็น่าจะเป็นวิศวกร
เวลาผมเจอผู้ใหญ่ บทสนทนาก็จะประมาณนี้
สุดท้ายก็แบบ… เออเป็นหมอก็ดีนะ


จิรเดช: ตอนนั้นรู้มั้ยครับว่ามีอาชีพนักออกแบบในโลก?


สันติ: ก็ไม่รู้อีก แม้จะมีคนคอยบอกว่า… เราน่าจะทำอะไรหรือเป็นอะไร
แต่สุดท้ายความจริงมันก็จะเริ่มบอกเราเองว่า
อะไรที่เราสามารถเป็นได้ อะไรเราเป็นไม่ได้บ้าง เช่น
พอผมโตขึ้นก็จะรู้ว่าไอ้การจะเป็นหมอเนี่ย
เราต้องต้องเรียนวิชาอะไรให้ได้ดีบ้าง มันมีแบ่งสายวิทย์-สายศิลป์
มีการสอบเอ็นทร้านซ์ มีวิธีจัดการมาตรฐาน การคัดกรอง
แล้วผมก็พบเองว่าคุณสมบัติของเราก็ห่างไกลจากสิ่งที่จะเป็นขึ้นทุกที
ทำให้เริ่มรู้ว่า… อะไรเราเป็นได้และอะไรเราเป็นไม่ได้
ตามเงื่อนไขที่มีคนกำหนดไว้ให้เรา แต่มันก็จะช่วยเราด้วยนะ
เพราะจริงๆ แล้วเราเองก็ไม่รู้ว่าการเป็นหมอมันคืออะไร
รู้แค่ว่าหมอรักษาคนไข้ ซึ่งมันผิวมากๆ แล้วก็ดันไปอยากเป็น
พอย้อนมองกลับมาก็ไม่ต่างกับเด็กๆ ที่อยากเป็นนักออกแบบ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่านักออกแบบเป็นอย่างไร
แล้วก็ทำให้มาพบตอนที่เรียนอยู่ว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

ไม่รู้สินะ มันเหมือนต้องแสวงหาไปเรื่อยๆ เช่น
ผมเรียนชีววิทยาไม่เก่ง เรียนคณิศาสตร์ไม่เก่ง ฟิสิกส์ไม่เก่ง
เงื่อนไขมันก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นหมอไม่ได้หรอก
มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เข้ามาในชีวิตแล้วบอกเราว่า
มึงเป็นสิ่งนี้ไม่ได้ ฟังดูก็น่าเศร้า


จิรเดช: เป็นประโยชน์ไหมครับกับการรู้ว่าเราเป็นอะไรไม่ได้


สันติ: ตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้หรอก
แต่มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องยอมรับและจัดการกับมันให้ได้
ถ้ามันดูเหมือนว่าเราเป็นสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว
เรายังจะต้องการเป็นอยู่ไหม
ถ้าไม่ต้องการแล้ว ตัวเลือกอื่นคืออะไร
ตัวผมจะเริ่มต้นแบบนี้นะ


จิรเดช: พี่สุรชัยรู้ตัวไหมครับ ว่าจะเป็นคนทำCGI มาตั้งแต่เด็กๆ


สุรชัย: จริงๆ ผมก็ไม่รู้นะครับ เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีอาชีพนี้
แต่ประเด็นของคำถามนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และผมรู้สึกว่า…
มันเป็นคำถามที่เราถามผิดมาทั้งชีวิต ถ้าเราถามว่าอยากเป็นอะไร
นั่นก็หมายความว่า มันมีแบบอยู่แล้ว
เราแค่เลือกเอาแบบที่ 1, 2, หรือ 3 จะเอาแบบไหน
ซึ่งผมว่านี่เป็นข้อเสียของมัน ชีวิตผมเปลี่ยนเพราะคำถามนี้

คำถามที่ว่า อยากทำอะไร และพอมันกลายเป็นว่าอยากทำอะไร
มันหมายความว่าเราชอบทำอะไร เราชอบอยู่กับอะไร
โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราอยากจะไปเป็นอะไร
ผมรู้สึกว่าการที่เราถามว่าอยากเป็นอะไรมันทำให้เรามองออกไปข้างนอก
แต่พอถามว่าอยากทำอะไร มันจะพาเราย้อนกลับมามองข้างใน
ว่าเรามีความสุขกับการทำอะไร ผมว่านั่นเป็นต้นทางที่ถูกต้องต่างหาก
เพราะทุกครั้งเวลาที่เรามองออกไปว่าเราอยากเป็นอะไร เป็นหมอ
เป็นพยาบาล เป็นทหาร แล้วรู้แค่ว่าเราอยากเป็นแบบนั้น
แต่เราไม่ได้ดูเลยว่าตัวเราเองมีคุณสมบัติที่จะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า
พอเรามองแบบ เราก็จะพยายามที่จะเป็น ก็เลยกลายเป็นการเลียนแบบ

ผมเข้าใจสิ่งนี้ตั้งแต่ตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
ผมรู้ว่า… ถ้าเราเลือกทำสิ่งที่เรามีความสุข มันน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง
ก่อนที่เราจะเลือกแบบว่าเราอยากเป็นแบบไหน เมื่อเราทำไปได้สักพัก
แล้วค่อยเลือกแบบ เหมือนกับที่เบลล์ถามว่าอยากทำอาชีพนี้ตั้งแต่แรกไหม
ก็ตอบว่าไม่ เพราะใน 30 ปีที่แล้วอาชีพนี้ก็ยังไม่มี

และผมก็เชื่อว่ามีอาชีพอีกเป็นร้อยเป็นพันที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นตอนนี้
และพวกน้องจบออกไปอาจจะไปเจอมัน
หรืออาจจะเป็นคนครีเอทมันขึ้นมาใหม่
ผมว่ามันเป็นการตั้งคำถามที่เราควรจะกลับไปถามตัวเองว่า
เราชอบอะไร อยากทำอะไร


สันติ: เหมือนพี่สุรชัยกำลังจะบอกว่ามันมีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ และคนก็นำมาถาม
คนตอบจึงตอบด้วยคำตอบสำเร็จรูปนั้นออกไป
คำถามแบบนี้ก็เลยไม่เปิดโอกาสให้เราเลือกคำตอบที่เราต้องการจริงๆ
เราไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเป็นอะไรบ้าง ถ้ามีแต่คนคอยบอกว่า…
สิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุขหรือหมกมุ่น มันไม่สามารถไปเป็นอาชีพได้


สุรชัย: เพราะบางอาชีพมันยังไม่ได้ปรากฎตัวออกมา


สันติ: ดังนั้นเท่ากับว่าสังคมได้คัดคำตอบบางอย่างออก
และเหลือคำตอบสำเร็จรูปไว้ให้เด็กๆ ตอบ
อย่างในที่นี้ ผมเห็นตัวอย่างอยู่สองแบบ
คือแบบพี่สุรชัย ที่จะรู้ตัวอยู่ตลอดว่าจะต้องทำอะไร
คิดได้เท่าทันตัวเองตลอด กับแบบไม่ค่อยรู้ตัวอย่างผม
ที่ทำไปแล้วก็ลองผิดลองถูก
ที่คุยกันวันนี้ก็น่าจะได้เห็นตัวอย่างสองแบบนี้


จิรเดช: ผมขอถามต่อจากที่พี่สุรชัยได้บอกไว้ว่า ให้ถามตัวเองว่าอยากทำอะไร
ผมขอถามพี่ๆ ก่อนเลยได้ไหมครับว่าตอนเด็กๆ พี่ๆ ชอบทำอะไร
ค้นพบไหมครับ เคยสังเกตตัวเองไหมครับว่าชอบอะไร


สุรชัย: ผมเห็น คือผมก็คล้ายกับอาจารย์ติ๊ก โตมากับการถูกฝังหัวว่ามึงต้องเรียนให้เก่ง
เรียนให้สูง แล้วพอถูกฝังมาแบบเนี่ย มันก็ทำให้เราละเลยสิ่งที่เราชอบ
คือพอตอนผมเรียนอยู่ ม.ศ.4, ม.ศ.5 ผมถูกถามคำถามว่าโตขึ้นอยากทำอะไร
มันก็ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีคิดทันทีเลย ผมก็รู้สึกว่าเออ! ถ้าจริงๆ ผมชอบทำอะไร
ผมก็มองย้อนกลับไปว่าผมชอบวิชาศิลปะ และผมก็รู้สึกว่าวิชาศิลปะ…
แม่ง! ทั้งอาทิตย์เนี่ยมีแค่หนึ่งชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเอง เรียนน้อยเกินไป
ถ้าเราได้เรียนวิชาศิลปะทั้งห้าวันเลยล่ะ แม่ง ก็คงจะสนุกชิบหายเลย
สุดท้ายผมก็เจอว่าจริงๆ มันก็มีคณะอย่างจิตรกรรม ที่เค้าเรียนศิลปะกันห้าวัน
มันทำให้ผมมองย้อนกลับไปแล้วทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร
และนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญครับ


จิรเดช: อย่างอาจารย์ติ๊กที่ตอนนั้นคิดว่าอยากเป็นหมอ แต่จริงๆ แล้วชอบอะไรครับ


สันติ: มันแค่ความคิดอยากเป็นหมอ ไม่ได้มีความพยายามในการเป็นหมอ
คือเราต้องแยกให้ออก บางทีเราแค่ถูกเราผลักให้ตอบคำถามว่าอยากเป็นอะไร
ผมก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรทำให้ตอบออกไปแบบนั้น
พอนึกกลับไป ก็ไม่พบกับความพยายามอะไรในการจะเป็นหมอ
และเมื่อเราเริ่มรู้ว่าการจะเป็นหมอมันยากเกินไปสำหรับเรา ในที่สุดก็ล้มเลิกไป
ชีวิตผมตอนเรียน มันจึงเป็นการตัดตัวเลือกออก มากกว่าการเลือกสิ่งที่ต้องการ
เช่น ถ้าคุณอยากเรียนหมอแล้วพบว่าคุณเรียนเคมีชีวะไม่ดี โอเคกูไม่เป็นหมอละ
หันไปเรียนสถาปัตย์ละกัน เพราะไม่มีสอบเคมีชีวะ สุดท้ายคณิตศาสตร์ก็เรียนไม่ดี
ก็สอบสถาปัตย์ไม่ได้ งั้นเปลี่ยนไปเป็นมัณฑนศิลป์ดีกว่า ค่อยๆ ตัดมันออกไปเรื่อยๆ
สุดท้ายสิ่งที่ผมทำคือการมานั่งดูว่าจะทำอย่างไร
ถึงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยความรู้แค่นี้ และโดยที่พยายามแค่นี้ด้วย
สิ่งที่ผมทำคือการไปวิเคราะห์คะแนนแต่ละคณะฯ สถิติเก่า ปัจจัยต่างๆ
จนสามารถเลือกคณะที่แน่ใจว่าสอบติดแน่นอนโดยไม่ต้องอ่านหนังสือ
และผมก็เลือกสอบคณะนั้น แล้วผมก็สอบติด


จิรเดช: ยังดีนะครับที่มันมีคณะนั้นอยู่


สันติ: หากคุณหาดีๆ ยังไงก็มี เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการแข่งขัน จำนวนคนสมัคร
ถ้าเราเข้าใจแฟคเตอร์ทั้งหมด เราจะสามารถสอบเอ็นทรานซ์ติดได้
โดยไม่ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม แต่เป็นคณะที่คุณต้องการหรือไม่ นั่นอีกเรื่องนึง
ดังนั้นถ้าคุณต้องการเพียงแค่สอบติด ผมเชื่อว่าทำได้


จิรเดช: อาจารย์ติ๊กออกตัวว่าพี่สุรชัยนี่เห็นตัวเองค่อนข้างชัด
แต่อาจารย์นี่ถึงกับเคยพูดกับผมว่าตอนเด็กๆ ตัวเองเป็น Loser ด้วยซ้ำ
ผมอยากขอให้ทั้งสองคนลองย้อนวิเคราะห์หน่อยครับว่า
อะไรทำให้ช่วงเวลานั้นเราไม่รู้ แม้แต่ตอนเรียนของตัวผมเองก็ตามนะครับ
ทำไมช่วงเวลานั้นเราไม่รู้ ขนาดเราเลือกคณะแล้วนะครับ
ทำไมเราไม่รู้ว่าเราอยากเป็นอะไร มันใช้ชีวิตอะไรผิดมา
ทั้งที่มันเป็นคำถามที่เราควรจะรู้และทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น


สุรชัย: ผมขอแก้ตัวนิดนึงนะครับ 🙂 จริงๆ ผมก็สับสน
แต่ว่าผมจะมีช้อยส์แค่สองทางจะไปทางซ้ายหรือทางขวา
แล้วผมก็พยายามที่จะหาข้อมูลเพิ่ม คล้ายๆ อาจารย์ติ๊กนะครับ
จริงๆ แล้วผมก็ดูสถิติเพื่อที่จะตัดสินใจว่าโอกาสในการแข่งขัน
เราจะทำยังไง ง่ายๆ ผมเรียนห้องวิทย์ แม่ง ทุกคนเก่งหมดเลย
ผมก็มองว่า… ถ้าผมสอบโควตาภาคเหนือ
เราไปสอบสายศิลป์คู่แข่งน่าจะน้อยลง แล้วมันก็จะตัดไปด้วยอัตโนมัติ
แต่สิ่งที่ผมเลือกส่วนใหญ่แล้วผมเลือกจากความชอบเป็นหลัก
ผมจะต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้นเนี่ยเวลาที่ผมเจอทางเลือกในชีวิต
ผมจะเลือกแบบที่ชอบก่อนนะครับ ทำได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะผมเชื่อว่า… เมื่อเราชอบเราจะอยู่กับมันได้นาน
พอเราอยู่กับมันได้นานเราก็จะเรียนรู้กับมันได้นานขึ้น
ลองสังเกตมั้ยเวลาพวกเราจะทำอะไรก็ตาม เพื่อนคนไหนที่ชอบสิ่งไหน
มันก็จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นานกว่าคนอื่น แล้วพอเวลาเราทำอะไรก็แล้ว
มันจะมี level ของมันเรียกว่าลำดับขั้นที่จะต้องเก่งขึ้นเก่งขึ้น
ความชอบที่เป็นปัจจัยแรกเลยที่จะทำให้เราอยู่กับมันได้นาน
แล้วเมื่อมันเจอกับกำแพงที่เราจะต้องข้ามสเตปไปเนี่ย
ไอ้ความชอบนี่แหละครับที่มันจะช่วยเรา ให้เราข้ามผ่านกำแพงเหล่านั้นไปได้
ส่วนใหญ่เราไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้เราสนใจแค่คะแนน
เราสนใจแค่อะไรอย่างนี้ แต่ตัวผมสนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กครับ
เพราะฉะนั้นผมโฟกัสมัน พอผมเจอทางเลือก
หรือเมื่อผมเจอคำถามว่าอยากเป็นอะไร
ผมจะตัดคำว่า “เป็น” ทิ้งเลย
แล้วมาสนใจว่า…ถ้าผมชอบทำแบบนี้แล้ว
แล้วผมเดินไปเรื่อยๆ มันก็จะมีทางแยกอยู่เรื่อยๆ
อยู่ที่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่าเราเลือกทางไหน
แต่สุดท้ายแล้วมันจะเกี่ยวข้องกันทั้งหมด
ไม่ว่าเราจะไปแยกทางไหนก็แล้วแต่
สุดท้ายทางที่เราเคยวนไปนั้นน่ะมันก็จะกลับมา
ช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ครับ


จิรเดช: อาจารย์ติ๊กมีอะไรเสริมไหมครับ


สันติ: คือตอนที่ผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมได้มิตรภาพ ได้เรียนรู้ชีวิต และเติบโตขึ้นมาก
ผมขอที่บ้านไปเรียนแค่หนึ่งปีแล้วจะกลับมาเรียนในกรุงเทพ
พอครบหนึ่งปีกลับมาสอบใหม่ แต่ก็เอ็นทร้านซ์ไม่ติด
มีคนแนะนำให้มาลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เค้าบอกว่าสอบยังไงก็ติด
จริงหรือเปล่า(หัวเราะ) ก็เลยมาลองสมัคร ตอนที่ผมเข้าไปกรอกใบสมัคร
ตั้งใจจะมาสอบนิเทศศาสตร์ครับ แล้วก็ตอนกำลังจะกาช่องเลือกคณะ
แล้วดันมองลงมาเห็นช่องนิเทศศิลป์ที่อยู่ด้านล่าง
อยู่ดีๆ ผมก็เลื่อนปากกาลงมา เลือกนิเทศศิลป์ซะอย่างนั้น


จิรเดช: อะไรสะกิดให้อาจารย์ติ๊กเลื่อนมือลงมา


สันติ: นี่ตอบแบบพยายามจะเข้าใจตัวเองในตอนนั้นนะครับ
ผมเชื่อว่ามันมีเหตุการณ์ในชีวิตที่อาจเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ
ต่อการตัดสินใจชั่วพริบตาที่มีความสำคัญในชีวิตของเรา
คำพูดของครูสมัยมัธยมสองท่านซึ่งผมมาเชื่อทีหลังว่า…
ทำให้ผมเลื่อนลงมากาเลือกเรียนนิเทศศิลป์
ครูคนที่หนึ่งเนี่ย เป็นครูภาษาไทยตอนผมอยู่ ม.3
ท่านสั่งการบ้านให้แต่งกลอน แล้วให้ทำเป็นการ์ดส.ค.ส.มาส่ง
ผมจำได้ว่าผมทำเป็นการ์ดป็อบอัพไปส่ง
พอในชั้นเรียนแกก็หยิบ ส.ค.ส. ของผมให้เพื่อนดูว่า
เนี่ย… ทำไมไม่มีใครทำกันแบบนี้มาส่ง
มันน่าสนใจกว่าที่เพื่อนๆ ทำมาส่งกัน อะไรแบบนั้น
คืออาจารย์ท่านเหมือนกับชมเรา
ในที่งานออกมาไม่เหมือนคนอื่น


จิรเดช: วันนั้นคิดอะไรไหมครับ


สันติ: จำไม่ได้ ไม่น่าจะคิดอะไรครับ ก็คงได้หน้า (หัวเราะ)
ผมยังคงจำชื่อทั้งท่านได้จนทุกวันนี้ด้วยเหตุการณ์เล็กๆ นี้
แล้วก็อีกครั้งหนึ่งคือตอน ม.5 ในวิชาศิลปะ
จริงๆ อาจารย์ท่านก็สอนศิลปะน่าเบื่อในความเห็นผมตอนนั้น
ผมจำเกี่ยวกับวิชานี้ไม่ได้เลยนอกเหนือจากที่ท่านเอาใบสมัคร
ประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การรถไฟมาให้ผม
ซึ่งไม่ได้เป็นการบ้านที่สั่งในชั้นเรียนอยู่ในคลาส
ท่านบอกผมว่า “เออ สันติ เธอน่าจะลองทำดูนะ”


จิรเดช: ด้วยเค้าเห็นอะไรในตัวเรา


สุรชัย: เค้าให้คนอื่นด้วยไหม


สันติ: ไม่ได้ให้ครับ อาจารย์ให้ใบสมัครผมตอนเลิกเรียน
แล้วผมก็ทำส่งไป จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำออกไปแบบไหน
ส่งไปก็ไม่ได้รางวัล

แต่ผมเชื่อว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้
น่าจะมีส่วนในการเลื่อนมือลงมาเลือกเรียนนิเทศศิลป์ของผม

สองเหตุการณ์นี้ยังทำให้ผมมีวิธีคิดในการสอนด้วย
ผมเชื่อว่าเมื่ออาจารย์พูดอะไรกับเด็กไป
คำพูดบางประโยคมันอาจไปทำปฏิกิริยาบางอย่างกับเขาในวันข้างหน้า
มีนักศึกษาที่เคยสอนหลายคนที่กลับมาบอกว่า…
ยังจำที่คำที่ผมเคยบอกพวกเขาไปได้ทั้งๆ ที่ผมเองจำไม่ได้แล้วเหมือนกัน
การเลือกสอบนิเทศศิลป์ของผมอาจอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกมากๆ
จนวันนี้ เราถึงได้ย้อนกลับไปคิด

ตอนสอบเข้าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเค้ารับประมาณ 60 คน
พอวันที่มาสอบ โห! มีคนมาสอบ 300 กว่าคน ตายห่า! (หัวเราะ)
กูจะสอบติดได้ยังไง แล้วก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย
เพื่อนร่วมสอบคนหนึ่งที่นั่งสอบติดกัน
เค้าใช้นิตโตเทปมาติดกันขอบเวลาระบายสีเพื่อให้ออกมาเนี๊ยบ
ผมหันไปมองแล้วคิดในใจว่า เฮ้ย!โคตรฉลาดเลย! นวัตกรรมมาก!
ผมไม่เคยรู้วิธีนี้มาก่อน แล้วเราก็มองเค้าจนเพื่อนคนนี้ยื่นนิตโตมาให้
แล้วถามว่า เอาป่ะ (หัวเราะ) ผมตอบเอาๆ ยืมหน่อย
ผมก็นึกเอาละทีนี้กูเนี้ยบแน่ๆ พอตอนระบายสีเสร็จผมดึงเทปออก
กระดาษขาดหมดเลย เราไม่รู้ว่าควรจะทำให้กาวมันลดความเหนียวก่อนติด
จะได้ไม่ดึงเนื้อกระดาษออกมาด้วยตอนลอกออก
ส่งงานไปแบบถลอกปอกเปิก ไม่รู้สอบติดได้ยังไง (หัวเราะ)


คำถาม


จิรเดช: จากครั้งที่แล้วที่นั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ ผมชอบประเด็นหนึ่งมาก
คือ ไอ้วิธีการค้นพบว่าเราชอบอะไร ดูเหมือนอาจารย์ติ๊กกับพี่สุรชัยคิดตรงกัน
คือเรื่องการตั้งคำถามกับตัวเอง ถาม ถาม ถาม ถาม ถาม
การตั้งคำถามกับตัวเองมันสำคัญยังไงครับ หรือเราถามอะไรตัวเองได้บ้างครับ


สันติ: อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชวนเบลล์มาพูดคุยด้วยกัน พี่สุรชัยกับผมเห็นเหมือนกันว่า
ควรมีคนถาม และต้องเป็นคนถามที่ดีด้วย เพราะเราเชื่อว่าการตั้งคำถามนั้นสำคัญ
หากเรามาพูด พูดตามอำเภอใจ พูดสิ่งที่อยากพูด หรือพูดสิ่งที่เราคิดว่าคนอยากฟัง
อาจแตกต่างกับการพูดโดยคิดว่าคนฟังอยากจะรู้อะไร
หรือจะพูดอย่างไรให้เค้าเข้าใจ ผมว่ามันสำคัญ


จิรเดช: แล้วสำหรับพี่สุรชัยคำถามมันมีพลังยังไง


สุรชัย: ผมว่าคำถามนะเป็นเรื่องใหญ่
ปัญหาใหญ่เลยของเราคือเราไม่เคยให้ความสนใจกับคำถาม
เราไม่เคยให้คะแนนคำถาม เราสนใจแต่คะแนนของคำตอบ
เพราะฉะนั้นเนี่ยสิ่งที่เกิดขึ้นยากที่สุดคือเราอยู่จนถึงอายุ 20 กว่า
เราแค่ตอบคำถาม เราหาคำตอบให้ตรงกับคำถามโดยที่เราไม่เคยคิดเลย
ว่าไอ้คำถามนั้นน่ะเป็นคำถามที่ดี หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งในห้องเรียน
ขณะที่มีนักเรียนถามครูไม่เคยให้คะแนนคำถามนั้นเลย
มีแต่แค่ว่าใครตอบคำถามนี้ได้
เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญกับมัน เราก็เลยไม่เคยคิดที่จะถามอะไร
มันก็เลยกลายเป็นคำถามก็ให้คนอื่นถามสิเราแค่หาคำตอบ
ซึ่งผมว่า แม่งผิด! มึงต้องถามตัวเองตลอดเวลา เราต้องหัดถาม หาคำถาม
และถ้าถามว่าทุกคำถามมันมีคำตอบไหม
บางคำถามมันก็ไม่มีคำตอบนะครับในชีวิต แต่เราต้องรู้จักถามตัวเอง
ในชีวิตผมผมจะแยกเป็นสองแบบก็ คือ
คำถามที่ผมตอบได้ กับ คำถามที่ผมตอบไม่ได้ แต่เป็นคำถามที่ดี
ทุกคำถามไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ
อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เราไม่เคยให้ความสนใจมัน
เพราะฉะนั้นเมื่อมีคนถามมาก็ต้องตอบไป


สันติ: แต่มันจำเป็นต้องถามใช่มั้ยครับ


สุรชัย: ใช่ มันจำเป็นต้องถาม


จิรเดช: แล้วคำถามที่เราไม่รู้คำตอบมันมีประโยชน์หรอครับ พี่สุรชัย


สุรชัย: มีครับ ผมมีคำถามหนึ่งที่ผมถามตัวเองตั้งแต่เด็กว่าผมเกิดมาทำไม
มันเป็นคำถามที่ผมถามตัวเองจนถึงวันที่ผมไปบวชและกำลังจะสึกออกมา
ผมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ไม่รู้อะไรดลใจให้ผมมองขึ้นไป
และผมก็ไม่เห็นอะไรผมก็เห็นแต่ท้องฟ้าไกลออกไป
เออ มันคงเหมือนคำตอบเรานะ ที่เราถามในชีวิตแล้วเราหาคำตอบมันไม่ได้
คำถามนี้อาจจะตอบไม่ได้ตอนนี้ แต่มันจะมีเวลาของมันที่เหมาะสม
จะทำให้เราเจอคำตอบตอนนั้นผมก็เลยคิดว่า โอเค
คำถามบางอย่างเราน่าจะถามตัวเองเพื่อที่จะกระตุ้นให้เรามองโลก
หรือคิดอะไรได้นะครับ แต่ว่าคำตอบไม่จำเป็นต้องรีบตอบ
เมื่อถามแล้วไม่จำเป็นต้องเจอคำตอบทันที
อันนี้เป็นเรื่องที่เราพลาดกันมาเยอะ
ที่เข้าใจว่าเมื่อถามก็ต้องได้คำตอบ


สันติ: คุณควรจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับคำถามที่ยังไม่ได้ตอบให้เป็น


สุรชัย: ใช่ๆ ทีนี้ในส่วนของคำถามที่ดี ตัวผมเป็นคนที่สนใจในเรื่องของคำถามมานาน
และผมก็เริ่มวิเคราะห์ ผมเรียนจิตรกรรมที่วิจิตรศิลป์
แล้วก็ไปเรียนกราฟฟิกดีไซน์ที่ญี่ปุ่น ตอนที่ผมอยู่ญี่ปุ่นผมมีคำถามเยอะมาก
ผมแปลกใจว่าทำไมนักคิดหรือศิลปินในโลกเค้าถึงคิดอะไรได้ไม่สิ้นสุด
ในขณะที่เวลาผมจะคิดงานทีผมต้องเปิดหนังสืออ่านหา referent
เปิด เปิด เปิด เปิด เปิด ได้จำนวนหนึ่งแล้วค่อยลงมือทำ
ถ้าไม่เปิดหนังสือนี่ทำงานไม่ได้เลย ผมก็รู้สึกว่า…
ถ้าเป็นอย่างนั้นผมคิดว่ามันต้องมีอะไรที่ผิดปกติแล้วล่ะ
เราต้องไม่เข้าใจอะไรแน่ๆ ผมมองย้อนกลับไปว่า…
มันมีคำถามในชีวิตที่มันเคยถามแล้วทำให้เปลี่ยน
ให้ inspiration คนน่ะคืออะไร
ตอนเด็กผมชอบดูประกวดนางงาม แล้วไฮไลท์สุดเลยของการประกวด
คือคนที่ได้รางวัลสวมมงกุฏเขาจะถามว่ากินอะไรถึงสวย
ในสมัยก่อนนะครับ เมื่อก่อนเราเชื่อว่าถ้าเรากินสิ่งที่พิเศษ
มันจะทำให้เราเป็นคนพิเศษกว่าคนอื่น
กลับมามองว่าถ้าเราเป็นคนธรรมดาล่ะ เราใช้ชีวิตเหมือนๆ คนทั่วไป
เราไม่ได้พิเศษกว่าใครเลย และเราไม่สามารถที่จะไปหาอะไร
ต่างจากคนอื่นแล้วจะทำยังไงให้เราเป็นคนพิเศษ
มันกลายเป็นคำถามว่าเราจะแตกต่างจากคนอื่นได้อย่างไร
แล้วผมก็เจอคำตอบ ว่าจริงๆ เราไม่ต้องกินอะไรที่พิเศษเลย
กินที่เหมือนกับคนอื่นกิน แต่ต้องคิดให้ต่าง
ก็จากประกวดนางงามนี่แหละครับ
ถ้าเกิดตอนนี้เราดูประกวดนางงามเค้าจะไม่ถามคำถามเดิมแล้ว
แต่เค้าจะถามว่า “คุณคิดว่า..”
จะเป็นคำถามสุดท้ายว่านางงามแต่ละคนคิดอะไรยังไง
เพราะเค้าเชื่อว่าสมองต่างหากระบบความคิดต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ
ที่ทำให้คนพิเศษกว่ากัน พอผมเข้าใจเรื่องนี้ผมก็มองว่า
เออ! เฮ้ยแม่งหมายความว่า…
ถ้าเรามีระบบการคิดที่แตกต่าง In-put อะไรก็ได้
เราจะ Out-put ออกไปได้อีกมากมาย ได้พิเศษกว่าคนอื่น
แล้วยิ่งถ้าเรา In-putด้วยสิ่งที่ดีวัตถุดิบที่ดี
เรามีกระบวนการคิดที่ดี มีการตั้งคำถามที่ดี
มีการกรั่นกรองและย่อยที่ดี Out-put ออกมามันน่าจะต้องดีสิ
ผมเชื่อแบบนี้ ผมเลยมีความสนใจในกระบวนการคิด
และมอง ทุกเรื่องราวในชีวิตว่าเขาตั้งคำถามกันยังไง
และคำถามที่ตั้งมาเกิดผลต่อใครยังไง
และก็พยายามที่จะเรียนรู้จากมัน


สันติ: มีภาพยนตร์หนึ่งเรื่องกับหนังสือหนึ่งเล่มที่ผมอยากยกมาให้ฟัง
เกี่ยวกับการตั้งคำถาม เป็นหนังสือที่ผมเคยใช้กระตุ้นนักศึกษา
เพื่อให้เกิดคำถามในชั้นเรียน หนังสือเล่มนั้นชื่อ สวัสดีชาวโลก
ของ โยไสตน์ กอร์เดอร์
เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่พ่อพาแม่ไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดน้อง
แล้วตัวเองต้องอยู่บ้านตามลำพัง จนเกิดจินตนาการว่าเจอเพื่อนต่างดาว
เด็กชายชื่อโจ เพื่อนต่างดาวชื่อมิกะ พอได้พบกันโจก็ถามโน่นนี่ตามประสาเด็ก
ว่าที่ดาวของเธอเป็นอย่างไร กินอยู่ใช้ชีวิตอย่างไร
พอถูกถามมิกะก็เลยโค้งให้โจ
โจก็แปลกใจถามว่าทำไมเธอต้องโค้งคำนับให้เรา
มิกะก็เลยเล่าถึงดาวของเขาจะโค้งคำนับให้กับคนที่ถาม
โจรู้สึกประใจที่ไม่เหมือนกับที่โลก
ที่นี่เราจะโค้งหรือคำนับให้กับคนที่ตอบคำถามมากกว่า
มิกะอธิบายว่าเวลาที่เราตอบคำถาม
เรามักจะเอาสิ่งที่อยู่ข้างหลัง(อดีต)มาตอบ
แต่เมื่อเราตั้งคำถาม มันจะทอดทางเดินไปข้างหน้า
บนดาวของเราจึงเคารพต่อผู้ที่ตั้งคำถาม

คำถามต่างหากที่พาเราเดินไปต่อ
จากนั้นเราค่อยไปสู่คำถามที่ว่า “คำถามที่ดีคืออะไร”
ผมเชื่อว่าคำถามที่ดีไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ
แต่ว่าคำถามที่ดีมันควรจะพาเราเดินออกไปจากจุดที่เรายืนอยู่
มันทำให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ เช่น
บางคำถามทำให้คุณไม่แน่ใจกับความรู้ที่คุณมี
หรือไม่มั่นใจในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ
อย่างน้อย…มันก็จะผลักให้คุณไปค้นคว้าหรือทำอะไรสักอย่าง
คำถามที่ดีย่อมมันไม่เหมือนกับการถามว่าทำไมรถมันติดอย่างนี้
นั่นอาจไม่ใช่คำถาม มันเป็นแค่คำบ่นด้วยประโยคคำถาม
เราไม่ได้ต้องการคำตอบ ไม่ต้องการจะขยับความคิดไปไหน
คำถามมีอยู่หลายแบบ บางคำถามเราก็ตอบไม่ได้
เรื่องคำถามที่ตอบไม่ได้ทำให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นที่ชื่อ
Shara ของ นาโอมิ คาวาเสะ เรื่องเริ่มต้นด้วยพี่น้อง 2 คนวิ่งเล่นกัน
เป็นฉากในเมืองนารา ขณะที่น้องชายวิ่งตามพี่ชายไปเรื่อย
พอพี่วิ่งหักเลี้ยว น้องเลี้ยวตามมา จู่ๆ พี่ก็หายตัวไปดื้อๆ เลย
แล้วผมก็พยายามนั่งดูตลอดจนจบว่าพี่ชายหายไปไหน
จนหนังจบก็ไม่ได้เฉลย ผมดูหนังเรื่องนี้แบบไม่มีความสุขเลย
เพราะมัวแต่รอคำตอบว่าพี่ชายหายไปไหน
เรื่องนี้ค้างอยู่ในหัวร่วมสัปดาห์เลย
พอวันหนึ่งผมออกมาล้างรถหน้าบ้าน
บ้านตรงข้ามพ่อเดินออกมากับลูกสาว
แล้วพ่อก็พาลูกสาวขึ้นรถจักรยานแล้วปั่นออกไป
สักพักลูกสาวอีกคนก็เดินตามออกมาหน้าบ้าน
ทำให้คลาดกันและยืนอยู่หน้าบ้านตามลำพัง
แม่เดินออกมาจากบ้าน เลยถามว่า พ่อกับพี่ไปไหน?
เด็กเองก็ตอบไม่ได้..

ผมเห็นเหตุการณ์นี้ก็เลยคิดได้ว่า เออ มันแค่นี้เอง ก็แค่ไม่รู้
ทำไมมัวไปอึดอัดกับมันอยู่ตั้งนาน
มันชวนผมคิดถึงเวลาที่เรานั่งอยู่บนรถเมล์
มองไปที่ถนนเห็นคนคุยกันแล้วถามตัวเองว่า
เค้าคุยอะไรกันนะซึ่งก็ไม่มีวันได้คำตอบ
มีคำถามบนโลกมากมายที่คุณไม่มีวันรู้คำตอบ
คำตอบอาจไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคำถาม
หลายครั้งคำถามก็เพียงทำให้เราได้คิด
เมื่อเราได้คิด มันก็พาเราไปอีกจุดหนึ่งแล้ว


สุรชัย: ถ้าใครมีเวลาผมอยากชวนให้ไปดูหนังเรื่องราโชมอน
ผมว่ามันเป็นเรื่องของการตั้งประเด็นคำถามที่ดี
ลองไปดูแล้วก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองดู
เพราะว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ผมงงเป็นเดือนๆ เลยครับ


จิรเดช: คนที่มีคำถามอยู่ในหัวเยอะมากๆ
มันเป็นคนละความหมายกับคนที่ไม่รู้จักตัวเองสักที
ไม่เข้าใจตัวเองสักทีหรือเปล่าครับอาจารย์ติ๊ก


สันติ: คือคำถามมันมีหลายประเภท บางคำถามต้องมีคำตอบ
และบางคำถามมันไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ
บางคำถามมันก็จะให้แรงผลักดัน บางครั้งมันไม่มีคำตอบ
แต่ควรจะถาม เพราะมันจะให้แรงผลักดัน
ผมจำได้สมัยผมเรียนตอนปีสี่ อาจารย์ท่านหนึ่งถามว่า
จบแล้วจะไปทำอะไร พวกเรารู้อยู่แล้วว่าเมื่อเรียนจบ
ก็ตั้งใจจะไปทำงานอยู่ในแวดวงออกแบบนั่นแหละ
แต่อาจารย์ก็ถามเจาะจงลงไปอีกว่าจะไปทำอะไร
เพื่อนบางคนก็ตอบว่าอยากเป็นช่างภาพ
บางคนอยากไปทำงานเอเจนซี่โฆษณา
บางคนอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ
ตอนนั้นคำตอบในใจของผมคือ ผมจะไปเป็นอะไรยังไม่แน่ใจ
แต่ผมอยากให้คนรับฟังผม เชื่อในงานของผม
หมายถึงว่าอยากให้คนเชื่อในสิ่งที่เราทำ
อาจารย์แซวว่าตอบดีเกินไป (หัวเราะ)


จิรเดช: ทำไมต้องตอบอย่างนั้นครับอาจารย์


สันติ: มันน่าจะมาจากความอึดอัดนะ เพราะว่าหลายครั้งที่เราส่งงานอาจารย์
อาจารย์ไม่เห็นด้วย ท่านอาจจะมองงานเราอีกแบบ
ผมคิดว่าเราจะทำยังไงให้อาจารย์เชื่อวะ ทำยังไงให้อาจารย์เห็นด้วยวะ
พอจบมาเราไปรับงานฟรีแลนซ์ แล้วก็ต้องแก้งานตามลูกค้า
เราก็ไม่ได้บอกว่าเรารู้เยอะกว่า แต่มันก็เป็นการตั้งคำถามว่า
ทำยังไงให้เค้าฟังเรา ทำยังไงให้เค้าเชื่อเรา
เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นคำถามที่ผมใช้ในการทำงานตลอด
ในการพัฒนาตัวเอง ทำยังไงให้อาชีพของเราอีกหนึ่งปีต่อจากนี้
ลูกค้าจะรับฟังเรามากขึ้น คนทั่วไปฟังเรามากขึ้น ไม่ได้แปลว่าเราต้องขี้โม้
แต่หาว่าเค้าจะฟังอะไร หรือเค้าให้ความสำคัญกับอะไร
มันจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับผมในลักษณะนี้


สุรชัย: ผมเห็นด้วย ตอบดีเกินไป (หัวเราะ)


จิรเดช: ผมก็ได้ยินคนบอกแหละว่าคำถามสำคัญ อย่างที่ทั้งสองท่านพูด
แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามกับตัวเองยังไง อยากรู้ครับว่า…
ตอนนั้นมีคำถามไหนที่พอย้อนกลับไปมองแล้วมันสำคัญมากๆ กับชีวิต
จะเป็นช่วงเรียนหรือช่วงไหนก็ได้ครับ


สันติ: คำถามสำคัญจำไม่ได้เลย ของผมมันเป็นเรื่องยิบย่อยในชีวิตประจำวัน
แล้วมันก็ประกอบขึ้นมา ส่วนคำถามที่ผมจำได้

มันดันเป็นคำถามที่ไม่ได้สำคัญในด้านบวก แต่ดันมันจำได้
อย่างเหตุการณ์ที่ผมเคยถามครูคณิตศาสตร์ตอนมัธยมต้นว่า
เราจะถอดสมการไปทำไม ทำไมเราไม่กดเครื่องคิดเลข
แล้วครูก็ดุผมอย่างหนัก ซึ่งทำให้หลังจากนั้นผมก็ไม่สนใจเรียนเลขเลย
เพราะผมรู้สึกว่าครูไม่มีคำตอบ หรือว่าไม่มีเหตุผลที่ทำไมผมต้องเรียนเลข


จิรเดช: คือถ้าเค้าตอบได้ตอนนี้อาจารย์ติ๊กอาจหลงใหลคณิตศาสตร์ก็ได้?


สันติ: ใช่เลยครับ แต่เค้าตอบให้ผมหลงใหลให้ได้นะ
ผมเองก็มาชอบคณิตศาสตร์มากขึ้นภายหลัง มันมีประโยชน์กับงานดีไซน์
คณิตศาสตร์มันคือ Logic และงานดีไซน์ก็คือ Logic
ฉะนั้นผมเลยรู้สึกว่าตัวเองโคตรโง่เลยที่ตอนนั้นไม่พยายามเรียน
มาเสียดายทีหลังว่า เราคงจะทำงานออกแบบได้ดีกว่านี้ คิดอะไรได้ดีกว่านี้
ถ้าวันนั้นกูไม่งี่เง่า แค่เพียงแค่อาจารย์ไม่ยอมตอบแล้วทิ้งความรู้ที่ดีไป


จิรเดช: บางทีเราเพิ่งเห็นว่ามันสำคัญเมื่อมันผ่านมาแล้ว แล้วสำหรับพี่สุรชัยล่ะครับ


สุรชัย: ผมมีครับ อย่างเช่นที่บอกไป
คำถามที่บอกว่าโตมาแล้วอยากทำอะไรอันนี้คือคำถามที่หนึ่งครับ
ที่เปลี่ยนความคิด เลิกมองต้นแบบในชีวิต แล้วก็เลือกแบบของตัวเอง
และคำถามอีกครั้งที่ใหญ่มากก็คือ ตอนที่ผมไปอยู่ญี่ปุ่น
ผมไปทำงานคอมพิวเตอร์ที่นั่น แล้วผมก็ได้เจอครีเอทีฟคนหนึ่ง
ที่ถามคำถามผมว่ามาญี่ปุ่นทำไม ตอนนั้นผมอายุประมาณสัก 26
แล้วคำถามนี้ถือว่าเปลี่ยนชีวิตผมมากนะครับ
ผมก็ถามเขาว่าทำไมถึงถามคำถามนี้ล่ะ
คำถามนี้มันแปลกนะ ผมรู้สึกว่ามันแปลก ทำไมล่ะในเมื่อใครๆ เค้าก็มากัน
ก็ญี่ปุ่นเจริญน่ะสิ เค้าบอกว่าให้ผมลองคิดดูแล้วก็ลองตอบคำถามนี้อีกครั้ง
ก็คิดแป๊บแล้วก็ตอบว่า โอเคจริงๆ แล้วผมมาญี่ปุ่นเพื่อมาเรียน
แล้วเพื่อจะได้กลับไปเป็นอาร์ตไดเรคเตอร์ อยากจะเป็นครีเอทีฟโฆษณาในเมืองไทย
เค้าบอกว่า… ที่ถามคำถามนี้กับผม เพราะเค้ารู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นเหมือนประเทศที่แก่
และเมืองไทยเป็นประเทศที่หนุ่ม คุณควรจะไปอยู่ในประเทศที่หนุ่มแล้วก็เติบโต
เค้าถามผมว่าผมเรียนอะไรมา ผมก็บอกว่าผมจบจิตรกรรมมา
เค้าบอกว่า โอ๊ย จบจิตรกรรม คงมีคนจบเป็นศิลปินเป็นหมื่นๆ แสนๆคนมั้ง
ผมบอกใช่ งั้นเลิกคิดที่จะเป็นศิลปิน อันที่สอง… ที่จะมาเป็นครีเอทีฟงานโฆษณา
เค้าก็ถามว่าครีเอทีฟดังๆ ในเมืองไทยมีกี่คนมีเยอะไหม ผมก็บอกว่าก็มีเป็น 10 ครับ
เค้าก็บอกว่าถ้ามีเป็น 10 งั้นก็เลิกคิดเลยนะ ไม่ต้องเป็นครีเอทีฟโฆษณาแล้ว
เค้าก็ถามต่อว่าแล้วคอมพิวเตอร์ล่ะ ตอนนั้นมีอยู่แค่ 3-4 คน
เค้าก็บอกว่างั้นกลับไปเมืองไทยแล้วซื้อ Macintosh นี่คือเมื่อ 30 ปีที่แล้วนะครับ
พอซื้อแล้วก็ตั้งใจ ขยันเหมือนที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ภายใน 5 ปีคุณจะติดหนึ่งใน 5 ของประเทศ
ผมว่าอันนี้คือวิธีคิดของการเลือกสนาม นั่นก็หมายความว่าเราเลือกลงแข่ง
ในสนามที่มีคู่แข่งเยอะเยอะ และคนเก่งๆ โอกาสที่เราจะชนะก็มีน้อย
เพราะฉะนั้นเค้าทำให้ผมโฟกัสว่าเวลาเราจะเลือกทำอะไรก็แล้วแต่
ให้เรารู้จักตั้งคำถามที่จะทำให้เราคิดต่อเหมือนที่อาจารย์ติ๊กบอก
ว่ามันเป็นคำถามที่ดี มันจะทำให้เราสร้างกระบวนการ ระบบความคิดที่มากขึ้น
และเมื่อเราถูกถามบ่อยๆ มากขึ้น กระบวนการนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ
เราก็จะชำนาญแล้วมันก็เป็นออโตเมติก เมื่อเวลาเราเจออะไรเราก็จะตั้งคำถาม
พอเป็นอย่างนั้นเวลาเราตั้งคำถามขึ้นมาแบบแค่นิดเดียว
มันก็จะเกิดกระบวนการขึ้นมาที่ทำให้คิดออก
คิดได้ว่า เออทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ ผมเริ่มทำงานและเริ่มใช้วิธีนี้
ทำไมเราต้องทำสิ่งนั้น ทำไมเราถึงทำอย่างนี้
แล้วมันจะทำให้เรามีคำตอบเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นอัตโนมัติ


สันติ: ผมว่าพี่สุรชัยเริ่มต้นด้วยความชอบ


สุรชัย: ผมเริ่มต้นด้วยความชอบ แต่ว่าในความชอบเนี่ย
ผมว่าเหมือนนักกีฬาเวลาเล่นกีฬา

สมมุติว่าเราใส่เสื้อยืดแล้วใส่เกงกีฬา ใส่รองเท้าผ้าใบ
เราบอกว่าเราจะไปเล่นกีฬา พอเราเดินไปปั๊บเราก็ไม่รู้ว่าเราจะเล่นอะไร
จะเล่นอะไรก็ได้ ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล ปิงปอง อะไรก็ได้
แต่มันจะไม่เหมาะเพราะว่าเราใส่รองเท้าผ้าใบ
ไม่ได้ใส่รองเท้าฟุตบอล จะเล่นก็ไม่เหมาะ
ถ้าคุณไม่ได้ใส่รองเท้าที่มันใส่สำหรับวิ่งบนพื้นปาเก้
คุณไปเล่นบาสมันก็ไม่เหมาะ
ถ้าผมเป็นนักกีฬาอันดับแรกผมจะโฟกัสว่าผมจะเล่นอะไร
หนึ่งผมจะไม่เล่นฟุตบอล เพราะเวลาเลี้ยงลูกผมจะล้มตลอด
ผมจะเลือกกีฬาที่ผมใช้มือ และไม่ใช้อุปกรณ์มีอะไรบ้าง
มีวอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ผมก็มองว่าระหว่าง 2 อย่างนี้
ผมชอบบาสเก็ตบอลมากกว่า งั้นผมก็จะใส่ชุดที่เป็นบาสเก็ตบอลและลงไปเล่น
ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้เป็น Logic ง่ายๆ ถ้าเราทำด้วยออโตเมติกทุกวัน
ไม่เคยคิดมันโอเค ถ้าผมคิดว่าผมจะเล่นบาสเก็ตบอลให้เก่งกว่าคนอื่น
ผมจะต้องทำยังไง มันก็จะเดินต่อเข้าไปได้ด้วย
โดยที่ความชอบเริ่มต้นเพียงแค่ว่าเราอยากเป็นนักกีฬา หรือชอบเล่นกีฬา
ผมวิเคราะห์ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ว่าเวลาผมจะไปเล่นกีฬาอะไรก็ตาม
ผมจะเล่นกีฬาที่ใช้มือจับอุปกรณ์ได้ไม่ดี แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ผมใช้มือจับมันตรงๆ
ผมจะทำได้ดีกว่า และผมก็จะวิเคราะห์แบบนี้ตลอดทุกเรื่องที่ผมทำ
ผมจะดูว่าเราชอบอันนี้มากกว่าอันนี้เพราะอะไร
มันก็ทำให้เราโฟกัสตัวเองได้มากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น


เส้นทาง


จิรเดช: ผมขอถามนิดหนึ่งครับว่า
ถ้าย้อนมองผมคงคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จ
ตอนเรียนคงเป็นธรรมชาติมาก แบบเกิดมาเพื่อสิ่งนี้
แต่ของพี่สองคนนี้ตอนที่เราคุยกัน
ก่อนหน้านี้พี่ทั้งสองคนบอกว่าอยากออกตั้งแต่ตอนปี 1 เลยทั้งคู่ใช่ไหมครับ
มันเป็นยังไงครับตอนนั้น


สุรชัย: ผมว่าชีวิตปี 1 รันทดมาก มันแย่มากเลย
คือเรารู้แค่ว่าเราชอบวาดรูปแล้วพอสอบติดเข้ามาแล้วมาเจอคนเก่งๆ เยอะ
ผมจะไปเจอพวกจบช่างศิลป์ เพาะช่าง ซึ่งผมรู้จักแค่สี่ไม้ แต่เขารู้จักสีน้ำ สีน้ำมัน
เวลาทำงานมันทำให้ผมได้รู้ว่าศิลปะมีหลายประเภท มีหลายลัทธิ มีหลายรูปแบบ
มีเยอะมากความสับสนตอนนั้นก็คือ เฮ้ย ทำยังไง ไปทางไหน
ปัญหาหนึ่งก็คือเวลาไปนั่งวาดภาพร่วมกันจากต้นแบบเดียวกัน
ผมวาดไม่ได้ ผมก็ใช้วิธีดูรูปวาดแล้ววาดเลียนแบบ มันง่ายกว่าดูต้นแบบแล้วก็วาด
ดังนั้นผมก็ใช้วิธีดูคนข้างๆ ไปเรื่อยๆ ก็รอดไปได้
ดังนั้นปี 1 ถึงปี 3ผมใช้วิธี “เรียน” จากการ “เลียน” แบบตลอดคือ

ใครได้คะแนนดีทำแม่งอย่างงั้น ทำให้เหมือนมัน อาจารย์ชอบแบบไหนทำให้ได้แบบนั้น
เอาแบบนั้น เลยกลายเป็นวิธีเลียนแบบคนอื่น เพราะว่ามันยากมาก
เราไม่สามารถที่จะรู้ตัวเองได้ในเวลาที่อายุยังน้อย การเติบโตมันไม่เหมือนกัน
เหมือนผมที่ดูเหมือนจะรู้เรื่องตั้งแต่เด็ก แต่จริงๆ ก็สับสนตลอดอยู่เหมือนกัน
มันกลายเป็นว่าเราจะทำยังไง เราจะทำแบบไหน เพราะมันไม่เข้าใจ
มันก็กลายเป็นทำแบบนั้นทุกวิชา มันก็อยู่รอด
ผมเริ่มคิดอย่างนี้ได้ตอนปลายๆ ปี 1พอปี 2 ปี 3 ผมสบายเลย


จิรเดช: พอย้อนมองมันเป็นวิธีที่ถูกไหมครับ การเลียนแบบคนอื่น


สุรชัย: ไม่ถูกๆ เดี๋ยวผมจะเล่าว่ามันไปจบยังไง


จิระเดช: สำหรับอาจารย์ติ๊กล่ะครับ


สันติ: ผมเปลี่ยนใจจากจะเรียนนิเทศศาสตร์มาเป็นนิเทศศิลป์แบบกระทันหัน
แน่นอนว่ามันมีความลำบาก เพราะทักษะอะไรก็มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
มาเรียนแบบไม่มีพื้นฐาน มันยากไปหมดทุกอย่าง
ผมชอบอาจารย์ท่านหนึ่งสอนวิชาวาดเส้น
อาจารย์แกก็จะเดินเข้ามาดูงานตอนเราวาด แล้วก็บอกว่าสุดยอด!
ผมก็งงมันจะสุดยอดยังไง แต่ก็คิดว่าอาจารย์ให้กำลังใจ ทำให้รู้สึกดี
ต่อจากนั้นแกเดินไปดูคนต่อไป
แล้วก็ตะโกนบอกว่า สุดยอด! สุดยอด สุดยอด
เสียงก็ไกลออกไปเรื่อยๆ ก็คือแกพูดแบบนี้กับทุกคน ชมทุกคน (หัวเราะ)
แต่วิธีนี้มันก็ไม่เลวเลยนะ เพราะว่ากับคนที่แม่งจะไม่ไหวอยู่แล้ว ทำไม่ดีสักที
เห็นเพื่อนที่วาดเก่งๆ เราก็ยิ่งท้อ เขียนยังไงก็ไม่ได้ มีความทรมานมากทีเดียว
แต่ผมคิดว่าผมได้อาจารย์ปี 1 ค่อนข้างดี หลายท่านมีจิตวิทยาที่ดี
บางท่านก็เคยบอกว่า“เฮ้ยติ๊ก มันกำลังจะดีนะ ทำต่อไป”
แต่ตอนนี้รู้ละ มันแปลว่ายังไม่ดี (หัวเราะ)
ผมอยู่รอดมาได้ด้วยบรรยากาศแบบนี้
แล้วผมชินกับการเป็นเด็กห่วยตั้งแต่เป็นเด็กมัธยมปลาย
เพราะว่าผมไม่ตั้งใจเรียนในห้อง สมัครเรียนติวก็ไปโดดเรียน
เพราะฉะนั้นผมค่อนข้างชินกับการเป็นคนห่วย เอ็นทร้านซ์ก็เลือกคณะแค่ให้มันติด
สุดท้ายก็กลับมาเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน
แต่เอาจริง… ก็รับไม่ได้หรอกกับความเป็นคนห่วย
พอขึ้นมาปี 2 เริ่มเรียนวิชา communication design
เป็นวิชาที่เริ่มเน้นการออกแบบมากกว่าวาดรูปลงสี ผมเริ่มเอาตัวรอดได้
วิธีที่ผมทำได้ดีคือ การคิดคอนเซ็ปต์ เริ่มส่งงานอาจารย์ไปแล้วแบบ
เฮ้ย นี่มันน่าจะเวิร์คเว้ย ผมไม่มีทางเลือกเยอะเพราะไม่ได้ทำงานเก่งไปซะทุกด้าน
วันนั้นคุณต้องถามตัวเองว่า ในเส้นทางนี้คุณจะเดินมันด้วยวิธีการไหน
อย่างที่พี่สุรชัยแนะนำว่า คุณจะเล่นบาสหรือเล่นวอลเลย์บอล
คุณจะใช้มือหรือใช้อุปกรณ์ คุณต้องหามันให้เจอ คุณจะใช้วิธีไหนหรือเส้นทางไหน
เพื่อคุณจะยังอยู่บนเส้นทางได้ วันนึงเมื่อคุณอยู่บนเส้นทางของการประกอบอาชีพ
เป็นนักออกแบบ คุณจะเดินมันด้วยวิธีอะไรแล้วคุณยังอยู่ได้
ท่ามกลางคนที่มีความรู้ ความสามารถมากมาย จะเดินยังไงที่พอจะมีที่เดิน


26756997_1625246857554227_4947833679449851444_o.jpg
ขอบคุณภาพจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

จิรเดช: ตอนแรกพี่สุรชัยกับอาจารย์ติ๊กบอกว่าชอบอะไร ทำอะไรแล้วมีความสุข
แต่ฟังดูตอนเข้ามาเรียนก็ทุกข์ทรมานกับมัน ไม่ได้แฮปปี้กับมัน
ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้เหรอครับ


สุรชัย: มันทรมานตอนวัดผลนะ แต่ตอนทำมันก็สนุก
ถามว่ามีความสุขไหม มันมีความสุข ถามว่ามันออกมาไม่ดีจะมีความสุขไหม
ก็มีความสุข ผมว่ามันมีโมเมนต์เล็กๆ ในความสุขนั้น
ผมว่าถ้าเรามองมันก็ทำให้เราอยู่ได้


สันติ: ผมว่ามันไม่มีหรอก เรื่องที่เราจะมีความสุขกับมันทุกวินาที


จิรเดช: แม้กับสิ่งที่เรารักมันมากๆ เหรอครับ


สันติ: ครับ ไม่งั้นมันจะผิดธรรมชาติมาก
เพราะธรรมชาติของโลกคือความเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะต้องการให้มีความสุขสม่ำเสมอ
โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น คุณอยากทำบางอย่างให้ออกมาดี
ก็คือความทุกข์แล้วล่ะ เพราะฉะนั้นความทะเยอทะยาน ความอยาก
มันก็คือการสร้างความทุกข์กลับมาให้คุณ
ถ้าคุณอยากจะตอบสนองเพื่อจะลบความทุกข์นั้น เช่น
คุณอยากจะทำให้มันได้ดีขึ้นอีก มันก็ต้องแลกกับความทุกข์อื่น
เช่นคุณจะต้องทำงานหนักขึ้น ฝึกฝนมากขึ้น
คุณอยากจะลงสนามเป็นตัวจริงเพื่อจะลงไปแข่งฟุตบอล
คุณจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้โค้ชเห็นคุณก็ต้องไปฝึกซ้อมให้มากมากกว่าคนอื่น

ผมคิดว่าชีวิตมันเป็นแพ็คเกจที่มาเป็นชุด
ถ้าคุณบอกว่าคุณรักศิลปะ ชอบวาดรูป เลยมาเรียนออกแบบแล้วจะมีความสุข
คุณก็จะผิดหวังหรือไม่มีความสุขกับการเรียนอย่างที่คิดไว้
หรือถ้าคุณอยากจะเป็นนักดนตรี คิดว่าจะมีความสุขกับการเล่นดนตรีตลอดเวลา
คุณก็จะพบความจริงเมื่อคุณเข้าคณะดุริยางค์ศิลป์ว่ามันไม่ได้สนุกอย่างเดียว
คุณต้องฝึกหนักจนอาจไม่ชอบไปเลยก็ได้ คุณจะมีความสุขแบบสวยๆ
เมื่อคุณทำมันเป็นงานอดิเรก มันถึงมีงานอดิเรกให้เราทำไง
แต่คุณก็ต้องกลับไปรับมือกับสุขทุกข์กับงานประจำของคุณต่อไป
มันก็เป็นแพ็คเกจ คุณปฏิเสธมันไม่ได้
สำหรับผมคำว่ามืออาชีพ คือการที่คุณทำมันได้ดีในขณะที่คุณทุกข์ระทมอยู่ด้วย
ทำได้ดีขณะที่เพิ่งเลิกกับแฟน บ้านแตกสาแหรกขาด ขณะที่รถเพิ่งไปชนมา
ยังทำมันออกมาได้ ผมคิดว่ามันประกอบกันอยู่อย่างนั้น


การเลือก


จิรเดช: ผมสนใจคีย์เวิร์ดคำหนึ่งจากที่เราคุยกัน
คือ “การเลือก” ครับ ที่พี่สุรชัยพูดว่า
การเลือกเวลาเราเจอทางแยก ทางอันหนึ่งดี เราชอบมาก
กับอีกอันหนึ่งแย่เราเกลียดมันมาก
แต่ในชีวิตจริงผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว มันไม่ง่ายขนาดนั้น
บางทีเราเจออะไรที่ชอบพอๆ กัน และบางทีเราเจออะไรที่เกลียดทั้งคู่
เราจะรู้ได้ยังไงว่าทางที่เราเลือกคือทางที่ถูก ไม่ให้เราเสียดายอีกทางหนึ่ง
ทำให้เราไม่ติดค้างเมื่อเราเลือกไปแล้วจะรู้ได้ยังไงครับ


สุรชัย: ผมจะขออธิบายให้ชัดอีกนิดนึง
มันมีแผนภูมิอันนึงครับที่ผมทำไว้เมื่อซักเกือบ 20 ปีที่แล้ว
ผมจะอธิบายพวกเราคร่าวๆ นะ
เวลาเราชอบแล้ว แค่เราชอบพอไหม มันอาจจะไม่พอ
ผมก็เคยถูกตั้งคำถามว่าชอบอะไร ผมทำยังไงกับมัน
ผมเลยทำแผนภูมิขึ้นมาที่ผมเริ่มจากความชอบ
และผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ อยู่ชั้น ป. 1 ชั่วโมงศิลปะปั้นดินน้ำมัน
เพื่อนในห้องจะให้ผมเป็นคนปั้นทั้งหมด และผมก็รู้สึกว่ากูทำได้ดี
ผมถือว่ามันเป็นจุดที่ผมชอบในชีวิตแล้วผมก็ไล่มาเรื่อยๆ เรื่อยๆ
ว่าผมชอบอะไรบ้างผมชอบดูหนัง ผมชอบวาดรูป ชอบเล่านิทาน
ชอบเล่นบาส ผมก็จะถามว่าอันไหนที่ผมชอบน้อย
ผมก็จะวาดเป็นลงกลมเล็กหน่อย อันไหนผมชอบมากมันก็จะเป็นวงกลมใหญ่
ชอบมากอาจจะไม่ได้หมายความว่าผมทำมันได้ดี
บางเรื่องผมทำแค่เห็นคนอื่นทำ แล้วก็อยากทำ แล้วก็รู้สึกสนุกกับมัน
แล้วก็ชอบทำสักปีสองปี ผมก็จะทำวงนี้ให้มันเล็ก
ผมก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก่อนที่ผมจะมาตั้งบริษัท อิลูชั่นในปี 2001
ผมก็เห็นว่าจริงๆ แล้วผมชอบอะไรหลายๆ อย่างแล้วผมก็เริ่มจัดหมวดหมู่
ผมเริ่มเห็นว่า เฮ้ย! จริงๆ แม่งมันสัมพันธ์กันหมดเลยว่ะ
ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหนอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายมันจะวนกลับมา
ยังคำถามของเบลล์ ถ้าใครชอบดูหนังพวกสืบสวนมัน
จะมีอันนึงก็คือว่าเวลาเกิดเหตุฆาตรกรรม เวลาเค้าจะหาฆาตกร
จะถามว่าคนๆ นั้นในเวลานั้นอยู่ที่ไหน มันเป็นหลักของฟิสิกส์
ก็คือมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถอยู่ได้แค่ใน one space one time
หมายความว่าเราจะอยู่ได้แค่ที่ๆ หนึ่ง ณ เวลาเดียว
เวลาเราเจอทางแยกในชีวิตจะเลือกทางไหนดี ทางที่ชอบทั้งคู่
จริงๆ แล้วการเลือกไม่ว่าจะเรื่องอะไร ก็แล้วแต่
ในชีวิตเราจะเลือกแต่แค่ทางเดียวได้แค่ space เดียว
และทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกมันจะหายไปทันที
มันจะไม่เป็นทางแยกขนานกันไปทั้งสองทางแล้วเราก็ใช้ชีวิตไปได้ทั้งสองทาง
ไม่ใช่ มันจะเป็นแค่ทางเดียวในความเป็นจริง แต่สำหรับในหัวเรา
มันยังจะค้างอยู่อย่างนั้นแล้วมันจะผุดขึ้นมา วันที่เรารู้สึกว่าเราเลือกทางที่ไม่ใช่
เช่นโอ้โหเราเลือกคนนี้เป็นแฟนแล้วมันไม่รุ่ง รู้งี้น่าจะเลือกคนนั้นดีกว่าว่ะ
ถ้าเลือกคนนั้นมันต้องดีกว่าคนนี้แน่นอน.. รู้มั้ยครับว่าทางเลือกที่เราไม่เลือก
มันจะดีกว่าเสมอๆ เพราะมันเป็นทางที่เกิดขึ้นในหัว ในสมองเราในจินตนาการของเรา
และเราจะเปรียบเทียบมันโดยเอาสิ่งที่ดีที่สุดของมันมาทับถมกับสิ่งที่เราเป็น
เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิดทางเลือกแบบนี้ แล้วเราท้อแท้แบบนี้
เราจะมัวแต่กังวลกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นแล้วเราก็จะท้อแท้
ผมว่าเพราะผมเข้าใจเรื่องนี้ เวลาผมเลือกทางใดก็แล้วแต่
ผมจะรู้แค่ว่าทางที่เราไม่ได้เลือกมันจะหายไป ถ้าจะแก้ตัวเอาไปแก้ข้างหน้า
เมื่อมีทางเลือกใหม่ก็จะย้อนกลับถามตัวเองในประสบการณ์เดิมว่า
ไอ้ที่เราลองผิดลองถูกมา มันเป็นยังไงมันมีข้อดีข้อเสียยังไง มีหลักการอะไร
ก็ลอง เป็นแบบนี้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเวลาผมเลือกทางเดินในชีวิต
และผมกลับมาเห็นแผนภูมิของผม ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วความสนใจในโลกนี้
ที่เรามีอยู่มากมันก็วนกันอยู่แค่นี้แหละสุดท้ายมันจะสมพันกันด้วยซ้ำไป
มันจะเกี่ยวโยงกันทุกแขนงวิชาเหมือนที่ผมเริ่มกลับมาทำคอมพิวเตอร์
วาดรูปด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งผมก็ต้องรู้ว่าผมต้องรู้เกี่ยวกับกระบวนการ
วิทยาศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเข้าใจคณิตศาสตร์ ต้องเข้าใจสูตรต่างๆ
กลายเป็นว่าทำให้ผมกลับไปเรียนได้ง่ายขึ้น อันนี้เป็นวิธีเลือกในชีวิตของผม


จิรเดช: เหมือนที่ผมเคยคุยกับพี่สุรชัยในครั้งที่แล้วว่า
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เมื่อเราเลือกแล้วเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้
แต่พี่สุรชัยกลับมองว่า… วันนึงมันจะเดินกลับมาให้เราแก้ไข


สุรชัย: ผมคิดว่าเราจะสามารถแก้มันข้างหน้าได้ หมายความว่าชีวิตเราจริงๆ
มันคือการเดินไปข้างหน้าทาง แยกที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นในหัวเรา
เพราะฉะนั้นเมื่อเราเจอทางเลือกอีกครั้ง
จงมองย้อนมาถึงสิ่งที่เคยเจอ แล้วนำมันไปใช้แก้ไขในอนาคต


จิรเดช: เท่าที่ฟัง ผมรู้สึกว่าการเลือกในทางที่เราชอบ
มันฟังดูอุดมคติมากเลยครับ คือใครๆ ก็พูดได้ เลือกทางที่ชอบ
แต่ในชีวิตจริงมันมีแฟคเตอร์ต่างๆ ปัจจัยต่างๆ มากมาย
ที่นี้เลยอยากรู้ว่าความชอบอย่างเดียวมันเพียงพอไหมครับ
สำหรับการเลือกในชีวิตเรา


สุรชัย: คือผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อเราชอบมันแล้วเราทำมัน
เมื่อเราทำมันได้ดีขึ้นเราก็รักมันมากขึ้น เราก็อยากจะทำมันมากขึ้น
เราก็ต้องใส่ความรู้เข้าไป ถ้าเราอยากจะไปเป็นนักกีฬา
เมื่อเราเล่นแล้ว เราสนุก เราชอบมัน แล้วเราก็อยากเก่งขึ้น
เราก็จะเริ่มแอบไปซ้อม ไปทำอะไร และนี่แหละคือความรู้ที่เราต้องใส่เข้ามา
ผมรู้สึกว่าความชอบเป็นแค่จุดเริ่มต้น มันเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ
แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ แม้ละหว่างทางเราจะไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา
ผมทำงานต่างจากคนอื่นตรงที่ผมทำงานเหมือนเล่นบาสเก็ตบอล
เวลาเราเล่นกีฬาเราจะถามตัวเองแค่ว่าวันนี้เล่นสนุกไหม
ถ้าเราตอบว่าสนุกนั้นก็หมายความวาวันนี้เราเล่นได้ดี
แต่บอกว่าเราเล่นไม่สนุก ท่านั้น ท่านี้ทำไมได้ อย่างนั้นเราต้องไปซ้อมมั้ย
เราต้องกลับไปซ้อมมาใหม่แล้วก็กลับมาเล่น
ผมใช้วิธีนี้และถามตัวเองทุกวันเหมือนกันว่า วันนี้ผมทำงานสนุกไหม
ถ้าผมรู้สึกว่าผมยังไม่สนุก เพราะผมทำไอ้นั่นไอ้นี่ไม่ได้
ผมไม่เข้าใจโปรแกรมนี้ กลับบ้านแม่งต้องไปเรียน
ผมก็ต้องนั่งค้นคว้าเรียนรู้โปรแกรมใหม่ๆ ทุกวัน
เพราะฉะนั้นเนี่ยผมจะถามตัวเองว่าสนุกไหม ถ้าสนุก สนุกกว่านี้ได้มั้ย


จิรเดช: อาจารย์ติ๊กล่ะครับ


สันติ: จริงๆ พี่สุรชัยก็ตอบไปหมดแล้วนะครับ(หัวเราะ) หากตอบอีกแบบ
ความชอบอาจคือสิ่งที่ทำให้คุณตื่นขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะทำอะไรบางอย่าง
ความชอบเป็นจุดเริ่มต้น เช่น หากชอบออกแบบ
เราอาจต้องตอบต่อไปอีกว่าจะเป็นนักออกแบบอย่างไร
ที่ทำให้รักษาความชอบต่อไปได้ ทำต่อไปจนบั้นปลายชีวิต
ผมเรียนรู้เรื่องนี้ตอนที่เป็นอาจารย์ใหม่ๆ เดินเข้าไปที่สตูดิโออาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์
ได้ถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ที่อาจารย์กำลังทำงานศิลปะอยู่นี่ มีคนจ้างเหรอ
มีนิทรรศการที่จะกำลังแสดงเหรอ อาจารย์ตอบว่าเปล่า ผมเป็นศิลปิน ผมต้องวาดรูป
ต้องทำงานศิลปะ ผมนี่อึ้งเลย ผมถามตัวเองว่าทำไมไม่เคยออกแบบอะไรขึ้นมาเลย
โดยที่ไม่มีใครจ้าง ตกลงเราชอบออกแบบหรือเปล่าเนี่ย
เพราะฉะนั้นมันก็มีคำถามอยู่เต็มไปหมด คุณจะเป็นนักออกแบบอย่างไร
คุณจะออกแบบสิ่งต่างๆ อย่างไง คุณต้องการอะไรบ้างระหว่างการทำงานออกแบบ
คุณต้องการงานแบบไหน คุณต้องการร่วมงานกับคนประเภทใด
คุณต้องการลูกค้าแบบไหน คำถามเหล่านี้เป็นเหมือนโจทย์ที่จะทำให้เราปฏิบัติตัว
ฝึกฝน แสวงหาความรู้ และแสดงออก


จิรเดช: ไม่เฉพาะนักศึกษาด้วยนะ ผมว่าเท่าที่ฟังบางคนจบใหม่ยังตอบตัวเองไม่ได้เลย


สันติ: ผมอาจจะไม่ได้ชอบดีไซน์มากตอนแรกเริ่มจนสามารถตอบได้ว่า
ที่เลือกมาเป็นดีไซเนอร์เพราะว่าหลงไหลกับงานออกแบบหรือศิลปะ
ผมค่อยๆ หาจุดลงตัวในการทำงานมากกว่า


แรงเสียดทาน


จิรเดช: อยากชวนคุยเรื่องแรงเสียดทานสักนิดนึงครับ เท่าที่ฟังผมรู้สึกว่า
ทุกคนต้องเจอแรงเสียดทานโดยเฉพาะวิชาสาขาอาชีพที่มันไม่ได้เห็นภาพชัดเจน
อย่างผมเองเป็นนักเขียน ในขณะที่บ้านเป็นคนจีนก็ไม่เข้าใจว่านิเทศศาสตร์
เรียนไปทำอะไร เป็นนักเขียนเหรอ ได้เงินเท่าไหร่ เจอแรงเสียดทานตลอดเวลา
ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่สุรชัย พี่เองก็เจอแรงเสียดทานหนึ่ง
ก่อนที่จะหันมาทำCGI ตอนเรียนพี่สุรชัยเป็นคนที่วาดภาพแนว Super realistic
ได้เหมือนมาก แล้วคนที่เค้าทำ Fine Art เขาก็จะมองว่าโฆษณาเป็นงานที่อยู่อีกชั้นหนึ่ง
ต่ำสุดเลย (สุรชัยกล่าว) คำทีบอกว่า… คุณเป็นสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งนี้ไม่ได้
ผ่านมันมาได้ยังไงครับ


สุรชัย: แรงเสียดทานมีขนาดของมัน บางแรงเสียดทานมีขนาดใหญ่
บางแรงเสียดทานก็เล็ก อย่างที่ผมเล่าไปตอนแรกว่า
ผมเลียนแบบมาตลอดสามปี ตอนอยู่ประมาณซักปี 3 เทอมสอง
ผมเริ่มถามตัวเองแล้วว่าจะเอาไงต่อ
เพราะว่าช่วงปีสามเราต้องออกไปฝึกเพนท์ข้างนอก
มันไม่เหมือนกับเวลาที่เรานั่งวาดรูปในห้อง
เวลาเรียนในห้องเราสามารถเดินดูของทุกๆ คนได้
เราสามารถลอกบางอย่างของเพื่อนได้
แต่พอไปวาดข้างนอกมันต่างไป ที่คณะฯ ก็พาไปหมู่บ้านหนึ่ง
แล้วทุกคนก็เลือกมุมไหนก็ได้ ทีนี้ผมก็ไปเลือกมุมนึงแล้วก็วาดอยู่คนเดียว
พอทำไปสักพักผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันสวยหรือยังวะ หรือว่ามันเสร็จหรือยังวะ
ผมตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็เลยเดินดูของคนอื่นๆ รอบหมู่บ้าน
กลับมาดูของตัวเอง คนอื่นเค้าวาดกัน 2 เฟรม 3 เฟรม
ทำไมเราได้เฟรมแรกอยู่เลย แล้วนี่มันใช่หรือยังวะ
แล้วก็เริ่มเกิดคำถามว่า ถ้าเราถามคำถามเหล่านี้…
แล้วตอบตัวเองไม่ได้นี่เป็นปัญหาใหญ่กับคนวาดรูปเลยนะ
เราไม่สามารถที่จะตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราวาดอยู่นั้นมันสวยหรือยัง
หรือว่ามันเสร็จหรือยัง ผมก็เปลี่ยนคำถามกลับ ถามตัวเองไปว่า
แล้วมึงคิดว่าแบบไหนสวย แบบไหนเสร็จ ผมก็เลยคิดว่าไม่ใช่แบบนี้
ไม่ใช่แบบที่กำลังวาดอยู่ ไม่ใช่เลย แล้วถามต่อว่าแล้วชอบแบบไหน
ผมก็มีภาพในหัวขึ้นมา พอกลับถึงบ้านผมก็แอบไปวาดรูปๆ หนึ่งขึ้นมา
เป็นภาพกระป๋องหนึ่งที่วางอยู่ตรงพื้น พอถึงวันส่งงาน
อาจารย์ก็ให้เอางานมาวางเรียงกันอยู่หน้าห้อง นักศึกษาก็นั่งเป็นกลุ่มอยู่ข้างหลัง
อาจารย์ก็นั่งแถวหน้ามีอาจารย์ท่านหนึ่งชี้ไปที่งานของผม เฮ้ย! นั่นมันงานปีหนึ่งนี่
เอาออกไป! มันส่งผิดห้อง ตอนนั้นอยู่ปี 3 เป็นวิชา Advance Painting
หมายความว่าทุกคนเป็นงาน Abstract ไปแล้ว
เป็นการพัฒนาจากการวาดภาพเหมือนจริง
มีของผมเหมือนจริงอยู่อันเดียว ผมก็คิดต่อว่า เชี่ย.. เอาไงดีว่ะ
จะเดินมุดแอบออกไปเลยดีไหม แล้วก็ไม่ต้องรับรู้อะไรเลย ลาออกไปเลยดีมั้ย
อันนี้เป็นแรงเสียดทานที่ใหญ่มากสำหรับผม ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันอับอายขายหน้า
เพื่อนทุกคนรู้ว่านั้นเป็นงานของผม เพื่อนก็หัวเราะ แต่อาจารย์ยังไม่รู้
สุดท้ายผมก็ตัดสินใจยกมือขึ้น อาจารย์ครับ… งานผมเองครับ
จังหวะนั้นทุกคนก็หันมามอง เฮ้ย! สุรชัย นี่ไม่ใช่คุณ งานคุณมันอีกอย่าง
คุณเพ้นท์สีสวยมาก ผมก็บอกว่าไม่ครับ อาจารย์ ต่อไปนี้ผมจะไม่วาดแบบนั้นแล้ว
ผมจะวาดแบบนี้แหละ นั่นคือวินาทีที่ผมรู้สึกว่าเป็นทางเลือกในชีวิตที่แม่งโคตรสาหัสเลย
เพราะว่ามันอยู่ท่ามกลางคนอื่น และดูยังไงก็ตก จากเคยได้เอ ลอกเพื่อนจนได้เอ
เพ้นท์สีสวยๆ ผมมีวิธีก็คือจะซื้อหนังสือศิลปะ Impressionist เก็บไว้ที่บ้านเปิดดูทุกวัน
จำชุดสีมาใช้ มันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ผมอยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
หลังจากนั้นอาจารย์ก็ไม่วิจารณ์งานของผมเลย เค้าก็ไปวิจารณ์งานของคนอื่น
นั่งอยู่สักพักนึงจนอาจารย์ตรวจเสร็จเดินออกมาทุกคนบอกว่า เฮ้ยสุรชัยมึงตกแน่
ตกแน่ๆ แล้วจนมีอาจารย์ท่านหนึ่งเดินมาตบไหล่ผม
ถามว่าสุรชัยเธอชอบวาดแบบนี้เหรอ ผมบอกว่าครับ แกก็บอกว่างั้นก็ลองดู
โอ้โห เชื่อมั้ยผมขับมอเตอร์ไซค์ออกจากห้องกลับไปที่หอแล้วก็วาดรูปที่ 2 เลย
โดยที่ไม่มีใครสั่งผม กลับไปรีบวาดทันที วาดแค่สามวันก็เสร็จ โดยที่ไม่ไปไหนเลย
ผมว่าเนี่ยแม่งใช่แล้ว ใช่กูแล้ว เพราะผมรู้สึกว่าผมรู้ว่าเมื่อไหร่ที่มันเสร็จ
แล้วผมชอบแบบไหน ผมชอบอะไร หลังจากนั้นพอผมวาดรูปที่ 2 เสร็จ
ผมก็วาดรูปที่ 3 ต่อเลย นี่คือคีย์ในชีวิตผม

เพราะฉะนั้นเมื่อผมมีประสบการณ์กับแรงเสียดทานแบบนี้แล้ว
พอผมโตขึ้นผมกลับมาจากญี่ปุ่นแล้วมาทำ CGI ก่อนหน้านั้นผมทำ Retouth ก่อน
แล้วก็มาทำ CGI ตอนที่ผมจะเปลี่ยนมาทำ ก็เจอแรงเสียดทานแบบนี้
ในวงการอุตสาหกรรมงานออกแบบในปี 2008 เราตั้ง Illusion ตอน 2001
ตอนนั้นตั้งใจว่าจะทำเป็น CGI สตูดิโอ สร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
แต่ ณ เวลานั้นเทคโนโลยีเครื่องมือยังไม่พร้อม คนก็ยังไม่พร้อม
ผมก็รอพัฒนาคนไปจนถึงปี 2008 พอปี 2009 ผมก็เริ่มทำงานที่เป็น CGI
ตอนนั้นวงการโฆษณาในเมืองไทยบอกว่าอิลูชั่นจบแล้ว
เพราะมันไม่มีทางเหมือนจริงหรอก มันยังไงก็ดูเป็นการ์ตูน
แรงเสียดทานในตอนนั้นก็ใหญ่ ใหญ่กว่านี้เยอะ แต่ว่าผมเคยมีประสบการณ์แบบนี้แล้ว

ถ้าเราเคยมีประสบการณ์กับแรงเสียดทานเล็กๆ แล้วก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
เราก็สามารถที่จะรับมือกับมันได้ นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง
แต่ตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดคือเป็นตัวอย่างของการเล่นบาสเก็ตบอลนะครับ
ถ้าเราเป็นนักกีฬาเราจะรู้ว่าแรงเสียดทานแบบนี้อยู่ในชีวิต
แล้วถ้าเราใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเช่น นักบริหารที่เคยเป็นนักกีฬา
ส่วนใหญ่มักจะประสบความสำเร็จ นั่นก็หมายความว่าเค้ามีการที่ตั้งคำถามกับตัวเอง
แล้วหาคำตอบด้วยตัวเองตลอดเวลา


จิรเดช: ฟังดูรู้สึกว่าถ้าไม่มีอาจารย์คนที่ตบไหล่วันนั้นอาจจะมาไม่ถึงวันนี้มั้ยครับ


สุรชัย: ท่านนี้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมตอนทำ Thesis จบเลยครับ
ใช่เราอาจจะไม่ได้มานั่งคุยกันอย่างนี้ เพราะตอนนั้นทุกคนบอกให้เป็น Impressionist หมด
ไม่มีใครให้เราวาดแบบนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ในชีวิตอีกหลายครั้ง
ลองดูว่าเรา proof สิ่งที่เราชอบได้อย่างไร ผมวาดงานสามชิ้นนี้เสร็จปั๊บ ผมก็ส่งอาจารย์
ผมคิดต่อทันทีเลยว่าผมรู้แล้วว่าในมหาวิทยาลัยไม่ใช่สนามของผมอีกต่อไป
เพราะตัวแปลที่ยอมรับเรามีแค่หนึ่งคนจากหกถึงเจ็ดท่านเอง เราต้องหาที่ที่เราพิสูจน์ว่าเราเป็นศิลปินได้
ผมก็มองไปถึงศิลปกรรมแห่งชาติ ผมก็มุ่งเป้าไป ปิดเทอมตอนปี 3 ผมก็ทำงานชุดหนึ่งขึ้นมา
แล้วก็ได้แสดงที่ศิลปกรรมแห่งชาติ ตอนนั้นผมชอบเรื่องวัตถุพื้นผิวของวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นมันวาวหรือผิวหิน จากที่ผมได้จะแสดงงานก็เป็นที่ฮือฮา อาจารย์ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย! หรือว่าความจริงแล้วสุรชัยแม่งมาทางนี้ว่ะ สุดท้ายผมก็ใช้แหล่งอ้างอิงที่ใหญ่กว่าเพื่อมาครอบสิ่งที่เราอยู่

ถ้าที่เราทำสนามที่เราอยู่มันเล็ก
มาตรฐานของสิ่งที่เราอยู่นั้นไม่สามารถรองรับเราได้ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือสิ่งที่ถูกต้อง
เราต้องไปหามาตรฐานที่ใหญ่กว่ามันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
เมื่อถึงเวลาทำงานผมก็มองว่าถ้า CGIในเมืองไทยไม่ประสบผล ผมก็เอาระดับโลกมา
เอาระดับทวีปมาครอบซะ ถ้าเราสำเร็จมาได้จากระดับทวีป ระดับโลก
มันก็จะทำให้เกิดการยอมรับขึ้นมาเอง การเจอแรงเสียดทาน ทนแรงเสียดทานไม่ใช่เรื่องยาก
แต่การทำยังไงให้เราแก้ไขให้แรงเสียดทานนี้มันกลายเป็นประโยชน์ของเราอันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ


มากไปกว่าทักษะ


จิรเดช: ชวนคุยครับ คือเท่าที่ดูพี่สุรชัยจะโดดเด่นเรื่องทักษะมากๆ
แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยคือพี่สุรชัยไม่ใช่คนเดียวแน่ที่วาดอะไรได้ขนาดนี้
ผมเชื่อว่ามีคนที่วาดได้ดีได้เหมือนเท่ากับหรือมากกว่าพี่สุรชัย
แสดงว่ามันต้องมีอะไรมากกว่าทักษะหรือเปล่าครับ


สุรชัย: ในงานโฆษณามันมีไอเดียแล้วก็ execution เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า
ในงานประกวดครีเอทีฟที่เป็นกรรมการเค้าต้องการอะไร
การทำ CGI มันเป็นงานที่รวมความรู้หลายอย่าง คนวาดรูปที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นมีน้อย
เหมือนที่คนญี่ปุ่นถามว่าจะเป็นจิตรกรหรือจะมาเป็นครีเอทีฟโฆษณา หรือจะมาทำคอมพิวเตอร์
ผมใช้วิธีลักษณะแบบนี้ คนที่วาดรูปเหมือนในโลกนี้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็จะมีน้อยกว่าคนที่ใช้พู่กันเป็น ขณะที่ใช้พู่กันเป็นแล้วใช้คอมพิวเตอร์เป็นด้วย ก็จะมีจำนวนหนึ่งแต่มันก็จะมีน้อยลงไปอีก
ในการที่คนคนนั้นจะใช้คอมพิวเตอร์วาดรูป อันนี้เป็นสาม Skill ที่ใช้ในการทำงาน
ส่วนใหญ่แล้วของคนที่ทำงานอย่างนี้ เขาก็จะเข้าใจเฉพาะสิ่งที่ตัวเองทำ วาดรูปแค่สวย
แต่ผมสนใจงานโฆษณาด้วย ผมสนใจว่าไอเดียที่ดีคืออะไรด้วย
เพราะฉะนั้นผมจะไม่เลือกทำงานที่ไอเดียไม่ดี เหมือนกับผมเป็นพ่อครัว
ผมจะหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาปรุงอาหารของผม ผมจะไม่เอาไข่อะไรก็ได้ เนื้อหมูอะไรก็ได้
ผมจะต้องไปเลือกคัดสรรปลาเหมือนในทีวีแชมเปี้ยนที่มันพิถีพิถันเป็นแบบนั้น
ผมมองไอเดียเป็นเช่นเดียวกัน ผมจะคัดเลือกไอเดียที่ดีที่สุด
ผมว่าอันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ อย่างที่เบลล์บอกเราไม่ได้วาดรูปเก่งที่สุด
เราไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เก่งที่สุด แต่เราเข้าใจส่วนผสมของมันจริงๆ เราเข้าใจองค์ประกอบของมัน
ถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบของสิ่งที่เราทำ มันก็จะสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้
เหมือนที่เลือกโจทย์คือไม่ใช่ว่าทำทุกโจทย์แต่ว่าทำโจทย์ที่มันจะขับเน้นตัวทักษะของเรา
ใช้ทักษะของเราให้ได้ร้อยเปอร็เซนต์ ขณะเดียวกันก็สริมสิ่งที่มันมีอยู่แล้วให้เด่นขึ้นมา
ปฏิเสธโจทย์ที่พาเราไปลงเหว เลือกโจทก์ที่จะส่งเสริมเรา ตั้งคำถาม
เลือกคำถามที่ถูก ไม่ใช่ตอบทุกคำถาม


INPUT (เข้าแบบ)


จิรเดช: อยากชวนคุยเรื่อง Input เลยครับพี่
อย่างพี่เคยเล่าตอนที่ไปญี่ปุ่นมันพลิกวิธีคิดเรื่อง Input
อะไรที่ทำให้พี่สุรชัยคิดว่า Input สำคัญ เหตุการณ์ไหนที่ตอนนั้นเจอครับ


สุรชัย: จริงๆ ก็มีเยอะนะ แต่หลักใหญ่ๆ เลยก็คือ
ตอนที่ผมจบจิตรกรรมจากเชียงใหม่แล้วผมไปญี่ปุ่น
สิ่งแรกเลยของคนที่เรียนจบศิลปะคืออยากจะไปดูงานระดับโลก งาน Master Piece
แล้วญี่ปุ่นก็จะมี Museum ที่เอางานศิลปินใหญ่ๆในโลกอย่าง Van gogh หรือ Picasso มาให้ดู
ผมก็มีโอกาสได้ไปดู ตอนที่ไปดูครั้งแรกเนี่ย ผมเดินดูแป๊ปเดียวน้ำตาก็ไหล ไหลแบบร้องไห้เลย
ไม่ใช่เพราะว่าผมชื่นชมงานศิลปะนะครับ
แต่ผมรู้ตัวอันหนึ่งนะครับ เฮ้ย เหี้ย กูแม่งเป็นสิงโตที่แม่ง…คือตอนที่ผมจบเนี่ย
ผมคิดว่าผมสามารถเป็นศิลปินได้ เปรียบก็เหมือนสิงโต เราสามารถที่จะเดินเข้าป่า
ทำอะไรก็ได้ จับกระต่ายยังไงก็ได้ แต่พอผมไปดูงานศิลปินแล้วผมรู้สึก กูเป็นสิงโตสวนสัตว์ว่ะ
เพราะงานที่ผมเห็นไม่เหมือนกับงานที่ผมทำได้ มันไม่เหมือนกันเลย รสชาติมันไม่เหมือนกันเลย
ผมก็มองต่อว่าทำไมผมถึงเป็นสิงโตสวนสัตว์ เพราะอะไร เพราะผมเรียนดู Van gogh จากหนังสือ
จากสิ่งพิมพ์สีเพี้ยนๆ ไซส์แค่ A4 งานศิลปินทุกอย่างผมทำดูจากหนังสือ ดูจากของปลอมหมดเลย
ผมรู้สึกว่า เราแค่จับกระต่ายในสวนสัตว์มันก็เลยจับง่าย เพราะฉะนั้นผมรู้ตัวทันทีเลยว่า
สิ่งที่ผมมีอยู่ในตัวแม่งไม่ใช่ของจริง ในตอนนั้นผมรู้แค่นั้น รู้สึกว่า เห้ย มันไม่ใช่ของจริง
Step ต่อไปผมก็ถามตัวเองว่า จะไปต่อไหม โดยที่ไม่ต้องบอกใครเลย ตอนนั้นผมตั้งใจก็คือ
จบปริญญาตรีผมจะไปต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ผมก็ถามตัวเองต่อว่า จะไม่ต้องสนใจเลยไหม
เดินต่อหน้า คือลุยเรียนต่อปริญญาโทไปเลย ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าข้างในกูมีแต่ของปลอม
สุดท้ายก็ทนตัวเองไม่ได้ ผมก็กลับมาย้อนกลับใหม่ว่า ถ้าเรายอมรับว่าไอ้ของที่เรามีอยู่ข้างในเนี่ย
มันเป็นของปลอมจะทำยังไง หนึ่ง ไปเรียนปริญญาตรีใหม่ไหม เริ่มใหม่เลย แต่แม่งใช้ 4 ปี
ที่บ้านก็ไม่มีตังค์ส่งไปแน่นอน ก็คิดว่า โอเค งั้นก็ให้สั้นกว่านั้นทำไง สั้นกว่านั้นก็คือ ไปเรียนอาชีวะเลย
ผมก็คิดต่อว่า ตอนนั้นผมอายุ 25 ถ้าผมเริ่มใหม่วันนั้นเริ่มใหม่จากศูนย์เลย

ผมคิดว่า ข้างในที่เป็นของปลอม รื้อทิ้งให้หมดเลย แล้วก็ไปดูงานศิลปะใหม่ ดูของจริง
ผมไม่เคยไปสัมผัสเก้าอี้ที่มันเรียกว่าดีไซน์ดีๆ ไม่เคยเดินเข้าไปใน Space สถาปัตยกรรม
ที่เรียกว่าออกแบบ Space ดีๆ เราดูแต่หนังสือ ผมรู้ทันทีเลยว่าผมต้องเปลี่ยนใหม่
นี่ก็เป็นแรงเสียดทานเหมือนกันนะครับ ที่ผมต้องกลับมาบอกแม่ว่า
“ไอ้ที่ความหวังว่าผมจะไปเรียนต่อโทญี่ปุ่นเนี่ยมันไม่ได้แล้วนะแม่ ผมจะต้องไปเรียนอาชีวะนะครับ”
ซึ่งจริงๆผมเคยเจอตอน มศ.4 แล้วล่ะ ที่ไปบอกแม่ว่าผมไม่เรียนสายวิทย์แล้วนะ
ผมจะต่อสายศิลป์แล้วนะ นั้นคือแรงเสียดทานที่หนึ่ง ซึ่งอันนั้นอันเล็กนิดเดียว
พอไปญี่ปุ่นเนี่ยความคาดหวังของพ่อแม่ก็คิดว่า อ๋อ ไอ้ชัยมันเลือกทางถูกแล้วนะ
มันก็คงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอมันวันนึงมันเลือกไปบอกว่าจะไปเรียนอาชีวะแล้ว
กูจะไปบอกข้างๆ บ้านยังไงวะ บอกญาติพี่น้องยังไง
ผมรู้สึกว่า อันนี้ก็คืออันนึงที่ผมรู้สึกผิดตลอดชีวิต ว่าเราไม่ควรที่จะทำสิ่งนี้กับพ่อแม่
แต่ว่าอีกครึ่งหนึ่งผมก็ดีใจว่าผมเลือกถูก เพราะว่าพอผมเปลี่ยนไปเรียนอาชีวะ
ตอนเรียนปีหนึ่ง ผมก็ไปเรียนกับเด็กที่จบ ม.6 มา คะแนนผมก็จะสูงมาก A ทุกวิชา
แต่พอเริ่มปี 2 ครับ ผมเริ่มตกมา B, C ผมเริ่มถามตัวเองว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง
ในขณะสมัยที่เราเรียนปริญญาตรีเนี่ย เด็กสายวิทย์จะทันเด็กที่จบสายศิลป์ จบเพาะช่าง
ประมาณปี 3 จะใช้เวลา 3 ปีในการที่จะทันพวกนั้น ขณะที่ผมเรียนจบจิตรกรรม 5 ปี
แล้วมาเรียนนี่อีก 6 ปีเนี่ย เด็กระดับม.6 ญี่ปุ่นทำไมตามผมทันล่ะ
ไอ้เรื่องข้างในปลอมกับเรื่องตามทันเนี่ยมันก็มารวมกัน มันก็ทำให้ผมได้คิดว่า
เห้ย จริงๆแล้วเนี่ยเด็กญี่ปุ่น มันเห็นแพคเกจจิ้ง มันได้ดูงานศิลปะ มันมีทุกอย่าง
มันมี Input ที่ดี เกือบ 20 ปี เค้าสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรียกว่า Scale 1:1
ก็คือเค้าเห็นทุกอย่างในสัดส่วนจริง ของจริง ได้สัมผัส สิ่งเหล่านี้เป็น input ที่ดีอยู่ในหัวเค้า
พอเค้ามาเรียนแค่ปี 1 เค้าแค่เรียนรู้วิธีการ Output มันออกมา ตอนปี 1
เค้าอาจจะเป็น Basic บางอย่างเพื่อที่จะเอาสิ่งที่เค้าคิด สิ่งที่เค้ามี ออกมาเป็นงาน
พอปี 2เค้าก็เริ่มมั่นใจขึ้น Skill เค้าก็เริ่มดีขึ้น เค้าก็เอาสิ่งที่มันมีอยู่ข้างในออกมาได้
แต่ผมอ่ะมันไม่มีอะไรเลย เพราะงั้นผมมีแค่ปีเดียว ที่เริ่มรู้ตัวแล้วก็สะสมใหม่ เค้ามี 20 ปี
เพราะฉะนั้นการที่มันจะเทียบกันแบบนี้ ผมก็รู้ได้ทันทีว่า Input มันสำคัญว่ะ ไอ้สิ่งที่มันอยู่ในตัวเราสำคัญ เราไม่ควรจะเร่งเด็กให้เค้า output ออกมา เราควรจะเน้นให้เค้า Input สิ่งที่เค้ามี
ใส่สิ่งที่เราคิดว่าเค้าควรจะมีเข้าไป แล้วให้เค้าเรียนรู้ในการเอามันออกมา
แต่ผมถูกสอนมาโดยที่มึงต้องเอาออกมา แล้วแม่งต้องเจ๋ง ต้องใช่ ต้องสุดยอด ต้องโอ้โห!
มันแม่งเป็นไปไม่ได้เลย


สันติ: นี่คือประเด็นหลักของเราเลย วันนี้ที่เรามานั่งอยู่ที่นี่
ก็เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาบันการศึกษาว่า
พวกเราผลักดันให้เด็ก Output มากเกินไปหรือเปล่า
แล้วพวกเราก็ตัดสินสิ่งที่พวกเขาทำตั้งแต่ปี 1 ว่าการ Output นั้นมันเอ มันบี มันซี หรือมันไม่ดี
โดยที่ไม่ได้มีกลไกสนับสนุนหรือส่งเสริมมุมมองต่อการรับเข้าของพวกเขาเลย
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะทบทวนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง


สุรชัย: อย่างที่อาจารย์ติ๊กพูด ผมจะยกตัวอย่างให้
คือมีวิชา Creative วิชานึงเค้าบอกว่าทำอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ เรื่องที่คุณสนใจ
แม่งทุกคนคิดแต่เรื่องงานอดิเรกของตัวเอง เพื่อนผมคนนึงชอบเรื่องอวกาศมาก
แม่งมาออกแบบท่าเดินบนดวงจันทร์หน้าห้อง ทุกคนก็หัวเราะ ผมก็หัวเราะ
พอผมหัวเราะเสร็จผมก็ทุเรศตัวเอง “ไอ้เหี้ย ผมมีเหี้ยอะไรเหมือนกับมันไหม”
เราไม่มีอะไรเลย ของมันนี่มีข้อมูลมีทุกอย่าง มีแผงชาร์จ มีทุกอย่างเลยนะครับ มันครบหมด
ผมรู้สึกว่า ไอ้เหี้ยนี่แหละ นี่แม่งคือข้อมูลที่มันมีอยู่ แล้วมองย้อนกลับไปตอนปลายปี 2
ตอนทำ Thesisเค้าจะมีงานจบ มีเด็กคนนึง ผู้หญิงคนนึงบอกว่า เขียนถึงหัวข้อคือ
แมวของฉัน ผมแม่งหัวเราะจนแบบว่า มันต้องดีกว่านี้สิวะ หัวข้อจบอ่ะ มันต้องดูแล้วต้องหรู
สุดท้ายวันที่แสดงงาน ผมไปเดินดูที่ 1 รางวัล Grand Prix ของปีนั้นคือ แมวของฉัน
โอ้โห้ งานแม่งโครตดีเลย สวยมาก คือเค้าวาดแมวบนผนัง เป็นฉากสามฉาก
เป็นสีทองของญี่ปุ่น สวยมากครับ คือ ดูแล้วคือทึ่งเลย มันมีความรู้สึก มันมีอะไรหลายๆอย่าง
คือบางครั้งผมกลับมองว่า ความคิดตอนนั้นมองว่า เห้ย ไอเดียแม่งต้องมาก่อน
โดยที่เราสามารถที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ หรือไปหารูปแบบที่มันดูดีแล้วก็เอามา Match กัน
แต่จริงๆ ผมว่าไม่ใช่ การที่เรามี Input ที่ดี มีข้อมูลที่ดีในตัวเราเอง
มันจะสามารถแค่เราเรียนรู้วิธีการเอาออกมาเท่านั้นเอง แต่ผมเนี่ยใช้เวลาตั้ง 6 ปี
ในการพยายามเอาสิ่งที่ไม่มีอะไรเอาออกมา เพราะฉะนั้นมันถึงเป็นปัญหา ที่ผมถามว่า
ทำไมเวลาผมจะทำงานผมต้องดู Reference เพราะอะไร เพราะมันไม่มีอะไรข้างในไง
มันก็เลยต้องไปหาแบบที่จะเลียน จับไอ้นั้นผสมไอ้นี่แล้วก็ทำงานออกมา
ทุกวันนี้ผมไม่ดูงานในเวปเลย แทบจะไม่ดูเลย ผมจะไม่เอา Reference ของใครเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำคือ มองกลับไปว่าไอ้สิ่งที่เราเคยดูงานแบบ Master Piece จริงๆ
แล้วสิ่งที่เราจะ Create มันขึ้นมา มันก็จะทำให้เราเอาสิ่งที่เรามีข้างในออกมา ผมว่าอันนี้สำคัญ


จิรเดช: อยากฟังอาจารย์ติ๊กบ้างครับ Input ที่เมื่อกี้อาจารย์ติ๊กบอก เราควรที่จะหันมามองสิ่งนี้กันแล้ว ในมุมมองอาจารย์ติ๊กมันสำคัญ หรือที่เจอมากับตัว หรืออะไรก็ได้ครับ อาจารย์ติ๊กรู้สึกว่า Input มันสำคัญหรือมันจำเป็นอย่างไร


สันติ: ทุกคนจะเจอคล้ายๆ กันเมื่อทำงานหรือว่าเรียนมาสักพักนึง
จะเคยพบว่าตัวเองค่อนข้างว่างเปล่าข้างใน เพราะว่ามันถูกรีดออกมาเยอะมาก
เช่น การเรียนที่มีการบ้านหนัก หลายๆ วิชา มันก็เหมือนการออกกำลัง
เหมือนคุณซ้อมวิ่งทุกวัน แต่คุณไม่กินอาหารที่มีโภชนาการเลย การวิ่งของคุณย่อมไม่ให้ผลดี
ที่สับสนก็เพราะว่าเราคิดว่ากำลังอยู่ในการศึกษา เราเลยคิดว่าเรากำลัง Input
เพราะว่าคำว่าเรียนมันคือ “การรับ” ใช่ไหม ก็เลยเกิดมายาคติการรับ
แต่ในทางปฏิบัติดันเน้นให้ผู้เรียนเอาออก พอเอาออกมากๆ เข้่า โดยไม่สอนวิธีรับ
มันก็โหวงเหวง พอจบออกมาทำงานก็เหมือนกัน ลูกค้าก็เร่งงาน มีงานเยอะ ก็ได้เงินเยอะ
ก็เน้นเอาออกอีก มันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าพองานเยอะมาก ก็ต้องหาวิธีเอาเข้าแบบแดกด่วน
เปิด Reference ดูบ้าง เวิร์คช็อปบ้าง ทำงานเท่าไหร่ก็มีความไม่นิ่งซักที
วันนี้คิดออก พรุ่งนี้คิดไม่ออก ทำไมวันนี้คิดได้ดี แต่พรุ่งนี้ดันกลายตีบตันซะแล้ว


จิรเดช: ที่ผ่านมาฟลุ๊คเปล่าวะ


สันติ: ฟลุ๊คหรือเปล่านะ? ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย นำไปสู่ความไม่มั่นใจ มีความไม่มั่นคง
ผมรู้สึกว่ามันเหมือนกับเราเตรียมครัว คือเวลาเราพูดถึง Input
เตรียมครัวก็หมายถึงว่าคุณมีเป้าหมายจะผลิตอาหารหรือว่าประกอบอาหารเป็นจานต่างๆ
ถ้าเครื่องครัวคุณมีน้อย คุณก็จะทำอาหารได้น้อยประเภท
ถ้าในตู้เย็นตู้กับข้าวมีวัตถุดิบที่เป็นอาหารสดน้อย เช่น มีเนื้อแค่ไม่กี่ประเภท
คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเนื้อไหล่กับเนื้อสะโพกคุณสมบัติต่างกันอย่างไร อะไรควรจะเอามาสับ
อะไรควรจะหั่น ถ้าจะทำสตูว์ควรจะใช้เนื้อส่วนไหน หมักอย่างไร รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องเทศ
ยังนับถึงการมีโอกาสไปชิมร้านที่มันอร่อย อร่อยกว่า อร่อยมาก และโครตอร่อย
มันเป็นเรื่อง Input แทบทั้งสิ้น ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี
ย้อนกลับไปที่พี่สุรชัยบอกว่า เออ งานกูโอเคหรือยังวะ กูไม่เคยรู้เลย
ต้องให้อาร์ตไดมาบอก (Art Director)
มันถึงมีตำแหน่งอาร์ตไดเร็คเตอร์ เพราะคือคนที่รู้ว่าเท่าไหร่พอ


สุรชัย: แต่อาร์ตไดก็ไม่ได้รู้เยอะเหมือนกัน


สันติ: 555 จริงครับ แต่ถ้าลองดูคำว่า Direct ที่แปลว่ากำกับ
หน้าที่ที่คุณต้องรู้คือ รู้ว่างานเสร็จยัง สวยหรือยัง เข้าเป้าหรือยัง ตามโจทย์หรือยัง
แปลว่าคุณต้องชิมมามากประมาณหนึ่ง มันคงต้องแยกแยะรสชาติเป็นประมาณนึง
ว่าอะไรพอกินได้ อะไรกินไม่ได้


สุรชัย: และอะไรเรียกว่าอร่อย


สันติใช่เลยครับ อะไรเรียกว่าอร่อย อะไรเรียกว่าอร่อยกว่า และอะไรที่เรียกว่าโครตอร่อย
แล้วคุณ Appreciate กับมันได้ คุณก็จะมองงานตัวเองได้ว่า อืมม ยังไม่อร่อย
หรือว่าที่ไม่อร่อยเพราะอะไร กระบวนการเหล่านี้เป็นเป็นสิ่งที่มันสะสมอยู่ในการนำเข้าแทบทั้งสิ้น
จริงๆ มันผสมผสานกัน มันไม่ได้แยกกันชัดขนาดที่ว่า Input แยกออกจาก Output
เพราะบางครั้งการ Output เพื่อที่จะ Input ใช่ไหมครับ
เช่นว่า คุณลองทำอาหารครั้งแรกเพื่อที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ตรงกับมัน
ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่ายๆ นี่ ลำพังถ้าเอาแต่กิน ไม่มีประสบการณ์ตรง
ผมคิดว่ามันก็จะไม่ Appreciate เพราะงั้นบางอย่างที่คุณรู้ว่ามันทำยากแล้วคุณไปเจอของดี
คุณก็จะเกิด Appreciate ด้วย แบบทำได้ไงวะ โครตเจ๋งเลย โครตเก่งเลย อะไรอย่างงั้น
เพราะงั้นการสร้างกระบวนการ Appreciate ต่อสิ่งที่ดี มีคุณภาพ
ผมคิดว่ามันเป็นตัวที่เติมประสบการณ์การทำงานของเรา


จิรเดช: ฟังดูแล้วการเสพสื่อที่ดีรับ Input ที่ดีหรือใช้ชีวิตให้มี Input ที่ดี
มันฟังเหมือนง่ายแหละ ใครๆก็อยากไปดู Picasso แบบพี่สุรชัย
แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ว่าทุกคนทำแบบนั้นได้
ก็เลยอยากรู้ว่าในชีวิตที่เราไม่ได้มีอุดมคติหรือโอกาสแบบนั้น
เราจะใช้ชีวิตที่มี Input ที่ดีได้อย่างไรครับ


สันติ: ผมเคยขอทุนเรียนต่อต่างประเทศตอนเป็นอาจารย์ประจำ และผมก็ไม่ได้ทุน
ตอนนั้นทรมาณใจมาก เพราะคิดว่าการที่เราไม่ได้ไป จะทำให้เราโง่ ไม่ทันคนอื่น
มีความรู้น้อยกว่าคนอื่น เพราะทุกคนที่มาเป็นอาจารย์ก็จะเรียนจบมาต่างประเทศกันทั้งนั้น
แล้วมันก็จะเป็นความเชื่อที่ว่า ถ้าอยากจะเก่งเหมือนคนอื่น มีความรู้มากกว่าคนอื่น
ก็ต้องไปเรียน ตอนนั้นผมมีมุมมองต่อการเรียนคับแคบมาก ต้องมีคนสอนถึงจะเรียนได้


สุรชัย: เรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้


สันติ: อย่างนั้นเลยครับ! แต่หลังจากที่ยอมรับว่าไม่มีโอกาสไปเรียนต่อแน่ๆ แล้ว
ประกอบกับผมมีโอกาสได้สอนกับนักออกแบบเก่งๆ หลายคน
และทุกคนก็จบการศึกษาจากต่างประเทศ ผมก็ถามว่าแต่ละคนอ่านหนังสืออะไรกัน
ตอนเรียนเรียนอะไรกันบ้าง ถามทุกคนเลย แล้วผมไปหาอ่านเกือบทุกเล่มเลย ก็ทำแค่นั้นเอง
วันนั้นเราไม่มีโอกาสไปเรียนไปเห็น เหมือนที่พี่สุรชัยบอกว่าต้องไปลองไปเห็น
แต่ในขณะที่ยังไม่มีโอกาสไป ก็ไม่ควรรอ เราแสวงหาผ่านในหนังสือก่อนก็ได้
ยิ่งทุกวันนี้เราจะหาอะไรก็ได้ อยากรู้อะไรก็ได้
อยากได้ความเห็นต่องานศิลปะหรืองานออกแบบชิ้นหนึ่งที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กัน
ก็หาอ่านได้ใช่ไหมครับ มันสอนเราได้มากนะ ทำไม Logo ตัวนี้คนถึงไม่เห็นด้วย ทำไมคนถึงเห็นด้วย
คุณจะได้เรียนรู้เลย บางทีมันดีกว่าคำวิจารณ์ของอาจารย์ด้วยซ้ำ เพราะว่าบางงานมันอยู่ในอีกวัฒนธรรม คนเป็นอาจารย์ก็รับข้อมูลมือสองมือสามมาสอนเหมือนกัน ซึ่งมันก็ได้ Input นะ
เพราะงั้นผมว่าโลกทุกวันนี้มันสะดวกสำหรับการที่เราจะเรียนรู้มากๆ

แล้วสุดท้ายผมเชื่อว่าการ Input ที่ดีที่สุดมันคือการเดินทางเข้าไปสำรวจข้างในตัวเอง
เพราะว่าวันนี้ลองเปิดอินเทอร์เน็ต จะพบว่าแทบไม่มีที่เดินแล้วนะ
พบว่ามีคนทำสิ่งต่างๆ ไปหมดแล้ว ปัญหาก็คือว่าเรายังเรียนกันอยู่
จบปีนึงก็มีเป็นหลายพันคน จบออกไปแล้วก็ทำซ้ำๆ กัน
เครื่องมือและแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ก็ริดรอนอำนาจของอาชีพเฉพาะหลายๆ อาชีพลงไปเรื่อยๆ
วันนี้คนถ่ายรูปได้ดีขึ้นคนใช้กล้องได้เก่งขึ้น แต่งภาพก็เป็น หรือสามารถทำ Logo ผ่านแอพ
จัดหน้าทำเว็บได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างพัฒนาเพื่อที่จะให้คนทำอะไรหลายอย่างได้ด้วยตัวเอง
พวกเรากำลังรับมือกับสิ่งนี้อยู่ มหาวิทยาลัยจะรับประกันได้อย่างไรในสิ่งที่สอนในวันนี้
ว่าอีก 4 ปีจะยังจำเป็นอยู่ หรือมันจะกลายเป็นทักษะที่ไม่มีใครต้องการเพราะทุกคนทำได้หมดแล้ว มหาวิทยาลัยกำลังผลิตนักออกแบบที่กำลังจะหมดอายุหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น จึงมีอยู่สิ่งเดียวที่เราแต่ละคนไม่เคยเหมือนกัน นั่นก็คือตัวเรา
เราจะต้องรู้จักสิ่งที่เป็นเรา ที่ไม่เหมือนกับคนอื่น แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้จักนั้น
มันคือตัวเราจริงๆ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครรู้จักตัวเองจริงๆ หรอก
แต่มันจะเป็นสิ่งที่เราสามารถยึดถือและรักษามันไว้
ในขณะที่สิ่งอื่นๆ รอบตัวมันเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที
ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะจำเป็นจะต้องหามัน
นั่นคือ Input อย่างหนึ่งด้วย
ผมมองว่ามันคือ Go Inside ไม่ใช่ Go Inter(net) อย่างเดียว


จิรเดช: มันแทบจะตอบคำถามนึงที่ผมสงสัย
คือนักออกแบบจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไร
ในโลกที่นักออกแบบเต็มไปหมด มีเพื่อนร่วมห้องเป็นร้อย
ยังไม่นับมหาวิทยาลัยอื่นอีก
พี่สุรชัยมีอะไรเสริมไหมครับ


สุรชัย: คือผมเห็นด้วยกับติ๊กนะครับที่พูดถึงเรื่องตัวเรา คือจริงๆผมก็สนใจในตัวผมมานานมาก
คือพอเราพูดถึง Input จริงๆแล้วเนี่ย มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถรับอะไรได้ทุกอย่าง
ร่างกายของเรามีคุณสมบัติในการรับของสิ่งต่างๆแตกต่างกัน
ประสาทสัมผัสของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็ใจ รับสิ่งต่างๆได้ไม่เหมือนกัน
บางคนอาจจะรับเรื่องบางอย่างได้ อย่างเช่น สมมุติว่า เพื่อนบางคนแค่ไปชิมร้านอาหารแล้วก็บอกว่า
เห้ย เนี่ย ของกูทำอร่อยกว่านี้อีก แล้วก็กลับมาทำสูตรแบบนั้นได้ด้วยซ้ำไป
คนบางคนแค่ฟังเสียงดนตรีนิดเดียว เสียงเพลงนิดเดียว กลับไปก็เล่นได้แล้ว
แต่ผมทำไม่ได้ สิ่งที่ผมทำก่อนที่ผมจะรู้จักคำว่า Input คือ ผมจะเริ่มตรวจสอบเครื่องรับของผม
ว่าผมรับอะไรได้บ้าง ผมจะมีเรื่องเล่าให้ฟังนิดนึง ตอนเด็กๆผมเป็นคนต่างจังหวัด
ถูกสอนด้วยเรื่องนิทานเกี่ยวกับผี แล้วผมก็เป็นคนกลัวผีมาก แทบจะเรียกได้ว่า อาบน้ำเนี่ย
ต้องมีคนเฝ้าอยู่หน้าห้องน้ำ แล้วก็ต้องเรียกตลอดเวลา ขันต่อขัน คือกลัวมาก
แล้วก็โตขึ้นมาเริ่มมาคิดได้ตอนอายุ 20 กว่าๆ ก็ถามตัวเองว่า ถามจริงๆเถอะ
ว่าผีในโลกนี้มีจริงไหม ผมก็สรุปว่าตั้งแต่ผมเด็กๆจนถึง 20 กว่าเนี่ย ผมไม่เคยเจอมันเลย
ผมไม่เคยแม้กระทั่งรู้สึกว่ามีใครนั่งอยู่ข้างหลัง นั้นก็หมายความว่าผมไม่มีเครื่องรับอะไรอย่างนี้
ถ้า 20 ปีมาแล้วไม่มีเครื่องรับ แม่ง ไม่มีเครื่องรับแน่นอน ตั้งแต่นั้นผมเลยไม่กลัวผีเลย
อันนี้เรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สองคือตอนผมอยู่มหาวิทยาลัยเนี่ยผมชอบเปิดวิทยุฟัง
แล้วผมก็มาเริ่มสังเกตว่าตอนเช้าทุกวัน ผมจะสะดุ้งตื่นมาพร้อมกับข่าว
เรื่องที่ผมฝันจะเป็นเรื่องเดียวกับข่าวเลย แต่ตัวเอกคือเราอยู่ในนั้น
ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เห้ย หูแม่งทำงานว่ะ ขณะที่เราหลับหูเรามันรับตลอดเวลา
ตานี่เรายังปิด เราไม่อยากเห็นเราก็ปิดได้ ปากหรือจมูกเราสามารถกลั้นได้ แต่หูเนี่ยมันรับตลอดเวลา
ผมก็เลยมีไอเดียนึงว่า โอเค ถ้าวิชาไหนที่กูไม่ชอบ กูก็อ่านเลยสิ อ่านๆ แล้วก็อัดเป็นเทปไว้
แล้วเปิดไว้แม่งทั้งวันเลย แล้วก็นอน มันก็ฟังฝังเข้าไปในหู อันนี้เรื่องที่สอง
ทีนี้ลองมองย้อนกลับไป ในวัยเด็กผมมีวิชานึงตอนสมัยเรียน ป.6 เค้าจะมีเรียนวิชาขลุ่ย
ก็คือไปเป่าขลุ่ยแล้วก็เป็นวงดนตรี คือมงฟอร์ดเนี่ย สมัยก่อนที่เค้าจะได้ที่ 1 ของโลก
คือเค้ามีวงดุริยางค์ จากนั้นเค้าก็เตรียมเด็กอนุบาลด้วยวงขลุ่ย ผมก็สอบด้วยวงขลุ่ย
ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นผมใช้วิธีคือจำนิ้วเอา หูผมเนี่ยฟังไม่ได้ ผมรู้เลยว่าในการจำโน๊ตผมจำไม่ได้
เพราะฉะนั้นผมจะไม่ทำอะไรที่เกี่ยวกับหู แต่ผมมีตาที่ผมสามารถที่จะเก็บสี
ผมสามารถที่จะมองเห็นแดดมา แล้วก็ อ้อ นี่แดดหน้าหนาวแน่ๆ ผมสามารถที่จะจำอุณหภูมิแบบนี้
นี่ผมเชื่อว่าตรวจสอบเครื่องรับของเราด้วย การที่เรามัวแต่พูดคำว่า Input
ถ้าเราไม่ตรวจสอบเครื่องรับเราเลย ไม่รู้คุณสมบัติเครื่องรับเราเลย
ผมว่า มันก็จะทำให้เราหลงเหมือนกัน
เหมือนเวลาที่เราดูหนังหนึ่งเรื่องแล้วเราลองเอามาคุยกับเพื่อน
เราจะสนใจเรื่องเฉพาะที่แตกต่างกัน บางคนสนใจฉาก สนใจเครื่องแต่งกายนางเอก สนใจบท
สนใจอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นการโฟกัสของเราก็จะไม่เหมือนกัน
นั่นแหละคือคุณสมบัติของเครื่อง Input ผมว่า ปี 1 ปี 2 พยายามตรวจสอบตัวเองก่อน
ว่าเครื่องรับที่เรามีอยู่เนี่ยมันเหมาะกับอะไร สามารถรับรู้เรื่องอะไรที่เร็ว Sensitive กับเรื่องอะไร
เหล่านี้เป็นเรื่องที่อยากจะฝาก ก็เป็นเรื่องเดียวกับที่อาจารย์ติ๊กบอก
ก็คือเรื่องของตัวเราเอง สำรวจตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น เดินเข้าไปข้างในแล้วเราตรวจสอบว่าจริงๆ แล้วเรามีคุณสมบัติแบบไหนบ้าง
เชื่อผมครับ มันจะบอกเลยว่าเราจะเป็นอะไรได้


Output (ออกแบบ)


จิรเดช: พูดเรื่อง Input มาพักนึง อยากรู้เรื่อง Output บ้างครับ
เวลาเราทำอาชีพอะไรมาสักพักนึงเราจะเริ่มรู้ว่าอาชีพนี้มันจะเรียกร้องอะไร
นิยามของมันคืออะไร อย่าง Output ของนักออกแบบมันต่างจากศิลปินยังไง
บางชิ้นแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอันนีเป็นงานของนักออกแบบหรืออันนี้เป็นงานของศิลปิน
เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน อาจารย์ติ๊กหรือพี่สุรชัยพอจะบอกได้ไหมครับ


สันติ: ส้นแบ่งชัดๆเนี่ยคงไม่มีคำตอบ หรือยากที่จะตอบให้ขาด
แต่ถ้าเป็นมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าควรจะตอบ เมื่อก่อนผมก็พยายามเลี่ยง
ตอบแบบว่ามันไม่ต่างกันหรอก มันเหมือนกันหรือมีพื้นฐานเดียวกัน ฯลฯ
ซึ่งการเลี่ยงไม่ตอบเลยไม่ได้พาผมไปไหน ตอนนี้คิดว่าควรจะตอบ
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องทีใกล้เคียงกันมาก ตอนนี้ผมควรจะนิยามสิ่งที่ทำให้ได้
ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด ไม่ว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเราหรือไม่
เมื่อก่อนผมค่อนข้างลังเลเวลามีคนถามนะ แล้วก็พยายามจะตอบหล่อๆ เลี่ยงๆ
แต่ว่าวันนี้คงไม่เลี่ยงแล้ว ดีไซน์กับศิลปะต่างกันครับ


จิรเดช: พบคำตอบแล้ว?


สันติ: ทำนองนั้นครับ มันต่างกัน เพราะว่าถ้ามันไม่ต่างกัน ผมจะเดินต่อไม่ได้
แต่มันเป็นคำตอบในแบบของผม
ผมพบว่าทุกครั้งที่ออกแบบ ผมกำลังทำ A ให้เป็น B ในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน พูดอีกอย่างคือ…
ทุกครั้งที่เราทำงานออกแบบ เรากำลังผลิตตัวแทน (Representation) ของอะไรบางอย่าง
ทุกวันนี้ที่ผมกำลังทำทั้งหมดคือการสร้างสรรค์ B ที่เป็นตัวแทนของอะไรบางอย่าง(A)
ด้วยจุดมุ่งหมายเฉพาะ สำหรับผมนี่คือดีไซน์
พอเชื่ออย่างนั้น มันเลยเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะทำ B โดยไม่มี A
เพราะฉะนั้นการวาดรูปเล่นไม่ใช่ดีไซน์สำหรับผม
การทำอะไรโดยที่ไม่ได้มี Purpose สำหรับผมย่อมไม่ใช่ดีไซน์
แต่ผมไม่รู้นะว่ามันถูกหรือมันผิด ผมเพียงเชื่อว่าผมต้องแยกให้ชัด
โดยเฉพาะถ้าจะสอนดีไซน์ ต้องนิยามให้ได้ ไม่งั้นคงไม่รู้จะสอนอย่างไร


จิรเดช: งานออกแบบมันคือ“งานรับใช้”ใช่ไหมครับ เท่าที่ฟังมา


สันติ: มันไม่ได้แค่รับใช้ แต่ว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่มันฝังอยู่ในกิจกรรมี่เรียกว่า “การออกแบบ”
นั่นก็คือ “จุดมุ่งหมาย (Purpose)” เมื่อสิ่งใดก็ตามที่ทำแล้วมันมีจุดมุ่งหมาย
มีวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น นั่นคือการออกแบบ
ถึงแม้สิ่งที่คุณกำลังทำจะถูกเรียกว่างานออกแบบหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้นพอกลับมาเรื่องการเรียนการสอนออกแบบ
การพัฒนาทักษะการคิดสามประการของผู้เรียนจึงมีความสำคัญอย่างมาก
หนึ่งคือทักษะเชิงศิลปะ (Art) สองคือ ทักษะเชิงวิทยาศาสตร์ (Science)
และสามคือ ทักษะเชิงออกแบบ (Design)
นี่คือทักษะของการอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
ขยายความได้ว่าทักษะทั้งสามนี้จะสอดประสานกัน
และนำไปสู่ทักษะทางการคิดด้านอื่นๆ ในทุกๆ เรื่องไม่รู้จบ

ขออธิบายเพิ่ม…
ทักษะเชิงศิลปะ ก็คือการมีทักษะเห็นความแตกต่างของสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกัน
ยังไม่ใช่เรื่องจิตรกรรมหรือประติมากรรมอย่างที่เราคุ้นเคย
แต่เน้นการมีศักยภาพในการเห็น แยกแยะความแตกต่างกัน
ในสิ่งต่างๆ ที่มันดูคล้ายๆ เหมือนๆกัน
ในขณะที่ทักษะเชิงวิทยาศาสตร์เป็นในทางกลับกัน
คุณสามารถเห็นสิ่งที่เหมือนกันหรือคล้ายกันจากสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน
เหมือนอย่างกฏทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกัน
ก็เป็นการค้นพบคุณสมบัติเงื่อนไขที่ร่วมกันของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ
ส่วนทักษะสุดท้ายคือทักษะเชิงออกแบบ
ก็คือการเอาทั้งหมดที่คุณเห็น แยกแยะ เรียนรู้มาทำอะไรบางอย่างให้เกิดประโยชน์
หรือตอบเป้าหมายอะไรบางอย่าง ทำให้มันเกิด Feasibility ขึ้นมา
เราจะต้องมีทักษะสามด้านนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร มันก็ยังจำเป็น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาคือสามเรื่องนี้
ที่เหลือก็จะเป็นไปตามเงื่อนไข รายละเอียด วิชาชีพ ฯลฯ

ดังนั้นดีไซน์ก็คือการเอาทักษะการมองโลก
มาประยุกต์เพื่อที่จะตอบสนองอัตถประโยชน์บางอย่าง
เพราะฉะนั้นมันจะเป็นดีไซน์ได้ก็ต่อเมื่อมันมีสิ่งที่เรียกว่า“จุดมุ่งหมาย”


จิรเดช: พี่สุรชัยมีความเห็นด้วยหรือแตกต่างอย่างไรบ้างครับ


สุรชัย: ผมเห็นด้วย 100% เลยนะครับ!
ผมว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจ ว่าจริงๆแล้วปกติเวลาที่เรามองดีไซน์
เราจะสร้างดีไซเนอร์ซักคนเราก็จะโฟกัสไปแค่ดีไซน์
ผมว่าการมองมุมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับ Fine Art แล้วก็ ดีไซน์
สามขานี้มารวมกันผมว่าน่าจะเป็นมุมมองที่น่าจะแข็งแรง
แทนที่จะบอกว่าไปเป็นอะไร Media ไหน ผมว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไปอีกเยอะ
แต่ว่าถ้าเรามี Basic สามเรื่องนี้ผมว่าเราสามารถที่จะปรับตัวได้
ตอนที่ผมฟังอาจารย์ติ๊กพูด ผมรู้สึกเห็นด้วยแล้วก็อยากจะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ในก้าวเล็กๆซึ่งเป็นก้าวใหญ่มาก ผมว่าเป็นวิธีการใหม่ของการเรียนดีไซน์
ถ้าผมมีส่วนนึงในการเข้ามาช่วย อาจจะมาเสวนา มาแลกเปลี่ยน
อาจจะเป็นจุดเริ่มต้น ก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจนึงใจชีวิตเลย
ผมว่ามันก็เป็นเรื่องใหม่ ไม่ได้มาพูดว่าเราจะสร้างนักโฆษณา สร้าง Creative สร้างอะไร
แต่ผมว่าเรากำลังพูดถึง Basic ที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ผมจะมีคำตอบของเบลล์อันนึงนะ
ว่าการแยกดีไซเนอร์หรือ Fine Art อะไรอย่างนี้
ผมก็เคยมีคำถามแบบนี้นะครับ ตอนที่ผมไปอยู่ญี่ปุ่น 4 ปีแต่ผมใช้ชีวิตเหมือน 20 ปี
มันเข้มข้นมาก มันทั้งตั้งคำถามตัวเองและตอบคำถามตัวเองด้วย
ผมเป็นคนนึงที่มักจะชอบหาคำตอบด้วยตัวเอง ผมจะตั้งคำถามตัวเองแล้วก็ Proof มัน
ตอนที่ผมไปญี่ปุ่นผมมีคำถามนึงที่ใหญ่มากเลย ก็คือเวลาผมไปดูงาน
ญี่ปุ่นมีนิทรรศการเยอะมากครับ
มีทั้ง Fine Art, Graphic Art, Illustration เต็มไปหมดเลย
แล้วพอไปดูหลายๆที่แล้วก็เริ่มงงแล้วว่า…
กูก็ดูมันเป็น Fine Art แล้วทำไมมันเรียกว่าเป็น Illustration วะ
หรือบางทีไปดู Fine Art อ้าว… แม่งดูเหมือน Illustration เลยวะ แล้วเราจะแยกมันยังไง
เราจะแยกมันได้ยังไงล่ะ ว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ Proof ครับ
ผมจะทำงานขึ้นมา Serieนึง ผมจะทดลองในใจก็คือ ผมทำงานขึ้นมาสามชิ้นแล้วผมจะส่งมัน
งานชิ้นที่หนึ่งผมทำ Concept เดียวกันนั้นแหละ
ผมส่ง Fine Art ผมได้รางวัลศิลปินหน้าใหม่ ที่ Ueno
ชิ้นที่สองผมส่ง Graphic Design ผมก็ได้รางวัล Graphic Design
ชิ้นที่สาม ผมส่งรางวัล Illustration ผมก็ได้รางวัล Illustration
ผมรู้ทันทีเลยว่า ลมึงไม่ต้องแยกหรอก มันเหมือนกัน อันนี้โดยรวมๆ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่มัน Proof ผมก็คือว่า ผมไม่ต้องแคร์แล้วว่าใครจะเรียกผมว่าอะไร
ผมจะทำงานโฆษณาแล้วเป็นชั้นต่ำที่สุดของศิลปะกูไม่แคร์แล้ว
ผมรู้สึกว่าผม Identify อะไรบางอย่างได้ มันแตกต่างกันเลยเมื่อเรามาทำงานจริง
สิ่งที่ fine Art ต่างจากงานดีไซน์เลย ก็คือว่า Fine Art โจทย์และคำตอบจะมาจากตัวศิลปินเอง
แต่เวลาที่เรามาทำงานดีไซน์โจทก์มันจะมาจากข้างนอก
คนอื่นเค้าจะตั้งจุดประสงค์วัตถุประสงค์ที่เค้าจะไปใช้ เรามีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา
ในการที่จะตอบโจทก์นั้นเหมือนที่อาจารย์ติ๊กบอก
เพราะฉะนั้นจะเรียกผมว่า Illustrator จะเรียกผมว่าอะไรก็แล้วแต่
ผมไม่สนใจแต่ผมมีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ และแม่งเสือกหาเงินได้ด้วย
ผมว่าอันนี้คือเรื่องที่เราต้องหาจุดยืนของเราในโลก
ผมเชื่อว่าวันนี้เราอาจจะตั้งใจมาเรียน จะมาเรียนออกแบบ หรือเรียนอะไรก็แล้วแต่
จบออกไปผมเชื่อว่ามีคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงนี้น้อยมาก ที่เหลืออีก 99% จะไปทำอะไร
ผมว่าอันนี้เป็นคำถามที่ใหญ่ เหมือนสมัยที่ผมอยู่วิจิตรศิลป์
ผมถามอาจารย์ว่า หลักสูตรเนี่ยเค้าบอกว่าเค้าสร้างศิลปิน
แล้วถ้าผมไม่อยากเป็นศิลปินล่ะ ผมก็เทียบอัตราส่วนให้ฟังว่าในหนึ่งรุ่นมีศิลปินซักกี่คนครับ
เค้าบอกน่าจะซัก 1-2 คน ผมว่า แล้วไอ้ 99%ที่เหลือ มันคือกากใช่ไหม มันคือของเสียใช่ไหม
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมโตขึ้นมาเรื่อยๆผมมักจะสนใจ 99%
เวลาผมไปบรรยายที่ไหนผมจะสนใจ 99% ที่เหลือมากกว่า
คนที่เก่งมันก็จะเก่งไป แต่ไอ้คนที่เหลือล่ะจบออกไปจะทำอะไร
ถ้าเราเข้าใจเรื่อง Input เราเข้าใจ Process ของการคิด
เราเข้าใจขบวนการ Output ผมเชื่อว่าเราไปทำอาชีพอะไรก็ได้
ยิ่งที่อาจารย์ติ๊กบอกว่าสามผสานของความรู้
ถ้าเราสามารถรู้ว่าโจทย์ของเราคือเค้าให้แก้ปัญหาอะไร เราก็ใช้อาชีพนั้นแก้ปัญหา
เหมือนทุกวันนี้ ผมมีอาชีพคือการแก้ปัญหาให้ลูกค้าโดยการใช้รูปภาพ แค่นั้นเอง
เวลาลูกค้ามีปัญหาขอแก้ ถ้ามันตอบโจทย์ มันทำให้งานดีขึ้น ผมจะทำอย่างเต็มใจ
ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ ผมก็ทำอย่างเต็มใจ เพราะว่ามันคืออาชีพ
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเราไม่เต็มใจเราต้องมีสิ่งที่เราเต็มใจอยากจะทำ
ผมก็มี Choice ให้เค้าเลือกว่า โอเค อันนี้แบบที่คุณอยากได้ 100% เลย
แต่ผมคิดว่าแบบนี้คุณน่าจะลองดูไหม ผมก็จะทำไปอีกแบบ
แน่นอน มันจะต้องใช้เวลามากกว่าเดิม เหมือนนักกีฬาที่ต้องแอบไปฝึกซ้อม
ผมก็จะแอบทำ ให้ทีมงามทำงานแล้วก็เสนอลูกค้าว่า Choice A ที่คุณอยากได้
Choice B คือ Choice ที่เราเสนอ ถ้าเค้าไม่เลือก Choice B ที่เราเสนอ ก็ไม่เป็นไร
เราถือว่าเราได้เรียนรู้ เราถือว่าทัศนคติแบบนี้ต่างหากคือทัศนคติที่เราต้องมีในการใช้ชีวิต
ในการทำงาน ไม่ใช่คิดแค่ว่า อ๋อ ยังไงเค้าก็เอาแบบที่เค้าต้องการแหละ
ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็จะเฉาไปเรื่อยๆ พอเราเฉาไปเรื่อยๆ
เราไม่สามารถที่จะดีไซน์สิ่งใหม่ๆ ไม่หา Solutionใหม่ๆ โอกาสที่เราจะตายไปก็ง่าย
เพราะว่าการแข่งกับคนที่เกิดขึ้นมาใหม่ เด็กรุ่นใหม่ที่เก่งขึ้นกว่าเรา
ทำยังไงเราจะเรียนรู้ตลอดเวลา ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมีในอาชีพทุกอาชีพ


สันติ: ดีมากเลยครับ
เวลาทำงาน โดยเฉพาะงานออกแบบมันจะเข้าไปอยู่ในโลก Commercial
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ มันจะเกี่ยวข้องกับคนเยอะ
คุณจะเจอกับคนที่คุณไม่ชอบ มีความเห็นไม่ตรงกับคุณ แทบตลอดเวลา
สิ่งที่จะทำให้คุณยืนระยะทางอาชีพได้ก็คือ อย่าเก็บปมไว้เยอะเกินไป
วิธีไม่เก็บปมคือวิธีที่พี่สุรชัยได้เฉลยไปแล้ว คืออย่าให้ตัวเองมีคำถามค้างไว้ว่า…
ถ้าวันนั้นทำอย่างนี้น่าจะดีกว่า คุณต้องปิดปมนั้นในทุกงานที่ทำ
ต่อให้งานนั้นคุณจะไม่ชอบ หรือไม่พอใจกับผลงานสุดท้ายก็ตาม
เช่นลูกค้าบอกว่าจะเอาอย่างนี้ แล้วคุณต้องทำมันออกมาตามลูกค้า
ทำอย่างไรที่จะสามารถเดินต่อได้โดยที่ไม่มีปม
เช่น เราได้เสนอแบบที่เราเชื่อว่าเวิร์คกว่า แต่ลูกค้าไม่เลือก ก็ยังดีกว่า
การรู้อยู่แก่ใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าลูกค้าต้องการ แต่ไม่ทำไปเสนอ
มันทำให้วิญญาณนักออกแบบของเราเจือจางลง


สุรชัย: มันจะเป็นปมตลอดชีวิตเลย มันจะเป็นปมอยู่ตรงนั้น


สันติ: ใช่เลยครับ การปล่อยให้งานที่เราไม่เชื่อเกิดขึ้น มันจะค้างอยู่ในหัวเรา
แล้วมันจะไม่ได้อยู่แค่ปีเดียว เพราะว่างานใหม่เราก็จะทำแบบนั้นอีก แล้วมันจะสั่งสม
แล้วจะหมดอายุเร็ว นี่พูดถึงเรื่องการยืนระยะ ยิ่งสั่งสมสิ่งนั้นมากเท่าไร
ก็จะอยากเลิกอาชีพนี้ในที่สุด เพราะว่ามันเก็บปมนั้นไว้มากเกินไปแล้ว มันเดินต่อไม่ไหว
มันมีแต่ความรู้สึกผิด ที่มีแต่คำว่า ถ้ารู้อย่างนี้ตั้งแต่แรก… เต็มไปหมด
เพราะฉะนั้น เราไม่ได้แปลว่าเราจะทำงานให้ดีที่สุด
แต่เราจะทำมันโดยที่เราไม่กลับมากังวลภายหลัง
เพราะฉะนั้นทางเลือกที่พี่สุรชัยบอกว่าซ้อมนอกเวลา
มันไม่ได้ไปมีประโยชน์แค่กับลูกค้า แต่มีประโยชน์กับตัวเองมหาศาล
เพราะคนที่ทำงานด้วยกันกับผม จะรู้ดีว่าผมจะพยายามปิดปมแบบนี้ตลอด


สุรชัย: เพราะอย่างน้อยถ้าเราเคยมี Solution ให้เค้าแล้ว เราก็รู้ว่าเค้าไม่เลือก


สันติ: ใช่ครับ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่ามันจะเป็นยังไง


Q & A


จิรเดช: สุดท้ายก่อนที่จะเปิดให้น้องๆถาม ผมถามส่วนตัวเลย
ก่อนที่เราจะคุยกันวันนี้ครับ พี่สุรชัยเปิดงานให้ดูเยอะแยะเลย แล้วก็ซูมเข้าไปดูในงาน
คือยอมรับตรงๆซึ่งทุกคนก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าถ้าไม่ซูมไม่เห็นนะ
มีคำถามนึงที่ผมเตรียมมาครับ ผมเป็นคนที่ทำงานสัมภาษณ์
ผมจะถามทุกคนเลยว่ามีความเชื่ออะไรในการทำงาน
ผมเห็นที่พี่สุรชัยทำแล้วผมรู้สึกว่าถ้าเทียบกับน้องๆ เวลาเรียน
ความจริง 80 คะแนนก็ได้ A แล้วนะ คนได้ 100 ก็ได้ A เหมือนกัน
งานพี่สุรชัยทุกงานผมรู้สึกว่ามันเต็มแค่ 100 เองนะ
ไม่งั้นคงได้ 110 120 ทำไมเราต้องทำถึง 100 ขนาดนั้นครับ
เรามีความเชื่ออะไรในการทำงานขนาดนั้น
ทำไปคนก็ไม่เห็นนะถ้าพี่ไม่ซูมอ่ะครับ


สุรชัย: ผมว่ามันอยู่ที่ตัวเราว่าเราจะทำอะไร อันนี้เป็นประเด็นหลัก
ผมตั้งความหวังของผมไว้ว่าผมจะทำงานแบบไม่เกษียณ
คือผมไม่มีงานอดิเรกอื่นเลยนอกจากเรียนคอมพิวเตอร์
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำก็คือ ถ้าผมจะเล่นบาสเก็ตบอลผมต้องเล่นเป็นทีม
ผมทำงานแต่ละชิ้นผมไม่ได้ทำคนเดียว ผมทำส่วนน้อยด้วยซ้ำไป
แทบจะเรียกว่าเป็น Director แล้วก็เป็นทีมทำงาน ผมมองว่าในการที่เราจะทำงาน
เรามีโอกาสทำงานชิ้นนึงแค่ครั้งนึงในชีวิต โจทก์เดียว แค่ครั้งเดียวในชีวิต
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเป็นอาชีพ เรารับเงินเค้ามา แล้วได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ
ผมว่านี่คือกำไรแล้ว ถ้าเราสามารถที่จะทำงานให้มัน Proof ตัวเรา
แล้วก็พัฒนาตัวเราไปในพร้อมๆกัน ผมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่
ผมมองว่าทุกงานคือโจทย์ที่จะทำให้เราเก่งขึ้น
ถ้าเราสามารถใช้โจทก์นั้นแล้วทำให้ทีมของเราเก่งขึ้น
มีประสิทธิภาพทุกงาน มันน่าจะเป็นโลกอุดมคติที่ใครก็อยากจะเป็น
ที่ใครก็อยากจะทำงาน ผมก็อยากจะทำอย่างนั้น
ก็คือใส่เข้าไปให้เต็มร้อย เพื่อที่จะให้ทุกคนเห็นว่าเรารักการทำงานแค่ไหน


จิรเดช: แต่การที่คนไม่เห็นสิ่งที่เราทำถ้าไม่ซูมเข้าไปดู
มันไม่ได้หมายความว่าเหนื่อยฟรีใช่ไหมพี่


สุรชัย: คือจริงๆแล้วเนี่ย ไม่ว่ามันจะซูมหรือไม่ซูม เมื่อมันถอยมาเล็กๆ เนี่ยมันจะเห็น
ไม่ว่าเค้าจะรู้สึกว่ามันมีรายละเอียดที่เค้ามองไม่เห็นอีกเยอะ
อันนี้คือ เค้าเรียกว่าความโลภของเรามั้ง
ที่อยากจะทำให้งานมันเต็มไปด้วย Detail นะ


จิรเดช: อย่างอาจารย์ติ๊กมีความเชื่ออะไรในการทำงานออกแบบครับ


สันติ: ทุกครั้งที่ทำงาน มันมีสิ่งที่คุณต้องดูแลสองเรื่องเสมอ
หนึ่งคืองานที่คุณทำ กับสองคือตัวคุณเอง
ทุกครั้งที่ทำงาน ผมไม่ได้คิดว่ามันคือแค่งาน แต่คิดว่ามันคือตัวเรา
ถ้าเราดีงานก็ดี งานดีเราดี บางครั้งงานเป็นการเรียนรู้ของเรา
บางทีงานออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด ก็อาจถามตัวเองว่าเราเรียนรู้อะไรไปบ้าง
ผมเคยให้สัมภาษณ์เบลล์ในนิตยสาร A Day ว่าผมไม่เคยทำงานฟรี
ผมไม่เคยทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน และผมจะไม่ทำ
แต่ทุกครั้งผมจะนิยามคำว่า “ค่าตอบแทน” ให้หลากหลาย
บางงานผมทำแล้วได้เรียนรู้อะไร ได้ทดสอบตัวเองอย่างไร
จริงๆ แล้วผมจึงได้รับค่าตอบแทนในทุกงาน อยู่ที่ว่าคุณประเมินมูลค่าของงาน
ถ้าคุณตีว่ามันคือเงิน งานคุณก็จะมีรูปแบบเป็นแบบหนึ่ง
ผมออกแบบหนังสือให้ศิลปินมาหลายคน จากงานที่ชอบจนกระทั่งมันกลายเป็นงานที่ได้เงิน
เล่มแรกๆ มันไม่ได้คิดเรื่องค่าออกแบบ แต่รู้สึกว่ามันเป็นโอกาส มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ
นี่คือค่าตอบแทน คุณได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยที่มีคนออกค่าพิมพ์ให้ ยังไม่พอใจอีก?
คุณอยากทำ มีคนให้ทำ เคารพซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน
ทำสิ่งที่มันอยู่ในหัวเราให้มันออกมาเป็นรูปธรรมโดยที่เราไม่ต้องเสียเงิน
แต่ก็คิดแบบนี้ทุกงานไม่ได้ คิดบ่อยๆ ก็ไม่มีเงิน (หัวเราะ)
เวลาเรียนก็เหมือนกัน ส่งการบ้าน มันไม่ใช่เพียงแค่คุณส่งอาจารย์
แต่คุณกำลังส่งตัวคุณเองด้วย คุณกำลังเอาตัวคุณเองไปส่งให้อาจารย์ด้วย
เวลาคุณเอางานเสนอลูกค้า คุณก็กำลังเอาตัวเองนี่แหละไปนำเสนอลูกค้าเช่นกัน
เพราะฉะนั้นตัวเรากับผลงานจึงเป็นสิ่งเดียวกัน


จิรเดช: ผมว่าวันนี้น่าจะประมาณนี้ สมควรแก่เวลา
มีน้องๆ คนไหนอยากถามพี่สุรชัยหรืออาจารย์ติ๊กไหมครับ


นักศึกษา: สวัสดีครับ เรียนอยู่ปีหนึ่งครับ
เหมือนตอนทำงานส่งแล้ว อาจารย์คิดว่าต้องเป็นแบบนึง
แต่ผมชอบอีกแบบนึง ผมควรจะทำยังไงดีโดยที่ไม่ปิดกั้นตัวเอง
เหมือนเราส่งงานเราก็ส่งตัวเรา คือควรจะไปในทางไหนดีครับ


จิรเดช: เป็นคำถามโลกแตกเลยนะครับ ผมว่าเป็นคำถามที่ดีนะครับ


สันติ: ขอตอบประมาณนี้นะครับ นักศึกษา
อยากย้ำว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำในรั้วมหาวิทยาลัย
มีจุดมุ่งหมายเดียวคือพัฒนาตัวเอง ถูกไหม ไม่ใช่สร้าง Master Piece
เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองมันจะประกอบไปด้วยโจทย์ที่แตกต่างกัน
เป็นการออกแบบมาเพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้และฝึกฝน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณกำลังทำในชั้นเรียนตลอด 4 ปี ก็เพื่อการเรียนรู้
ไม่ใช่ทำเพื่อแสดงให้โลกเห็น แต่แสดงให้ตัวเองเห็น แล้วเรียนรู้กับสิ่งที่พบเจอ
อะไรที่คุณไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ตั้งคำถาม ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบ
ถ้าเราเจอสิ่งที่เราไม่ชอบในชีวิตจริงข้างหน้า เราจะรับมือมันอย่างไร
ถ้าเราต้องการให้คนยอมรับความคิดเรา เราจะทำยังไง
คุณกำลังเรียนรู้ คุณไม่ได้กำลังสร้างงาน ใ
ครก็ตามที่คิดว่าคุณกำลังสร้างงานอยู่ คุณจะเรียนรู้อย่างจำกัด
ตกลงคุณจะเข้ามาเรียนรู้ หรือคุณจะเข้ามาสร้างงาน ลองถามตัวเองใหม่
ไม่ใช่อาจารย์จะพูดหรือใช้อำนาจอย่างไรก็ได้
แต่หมายถึงเราต่างหากที่เป็นคนกำหนดว่าจะเรียนรู้อะไร
นักฟุตบอลทุกคนคงไม่ได้อยากเดาะบอลไปเรื่อยๆ ใช่ไหม
แต่บางทีมันต้องฝึกซ้อม อย่าไปคิดแค่ว่าชอบหรือไม่ชอบ
แต่ทั้งหมดมันอยู่ที่เรา…
ต้องให้ความสำคัญกับตนเองในแง่ที่ว่า
ฉันมาอยู่ที่นี่ ฉันต้องดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น
ไม่ใช่แค่งานที่ดีขึ้น ตัวเราต้องดีขึ้น
ถ้างานคุณห่วย แต่คุณเรียนรู้กับมันได้มาก นั่นคืองานเรียนที่ดี
ดีกว่างานที่ได้คะแนนดีแต่ไม่ได้เรียนรู้อะไร
ถ้างานคุณออกมาไม่พอใจ แต่คุณได้ทุ่มเทเต็มที่แล้ว
คุณจะได้คำตอบภายหลังว่าทำไมฉันไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ
นั่นนับเป็นงานเรียนที่ดีมาก
คุณมีหน้าที่ตอบตัวเอง ตั้งคำถามแล้วตอบตัวเอง
อาจารย์เป็นแค่สภาพแวดล้อม เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน
อย่าไปเอาอะไรกับพวกเขามาก เป็นแค่สภาพอากาศ
คุณเดินเข้ามา เดี๋ยวคุณก็ออกไปแล้ว


จิรเดช: ถามแทนน้องนะครับ แล้วเราจะ Balance ยังไงไม่ให้เสียตัวตน
สมมติเราโดยเปลี่ยนให้เป็นแบบที่อาจารย์คิดทั้งหมด


สันติ: เอาเข้าจริง ผู้สอนเปลี่ยนพวกเขาไม่ได้หรอกครับ เปลี่ยนแปลงเด็กไม่ได้หรอก
ถ้าพวกเขาไม่เอาด้วย จะออกระเบียบอะไร ก็เปลี่ยนไม่ได้หรอก
เพราะงั้นต้องมั่นใจว่า คุณไม่ถูกเปลี่ยนหรอก
แต่ว่าสิ่งที่ให้คุณลองทำแล้วคุณไม่ชอบ มันเป็นเหมือนประสบการณ์ตอนเล่มเกม
ว่าจะจัดการ Boss ด่านนี้ยังไง ก็ลองดู ลองกันซักตั้งดู
พอคุณเดินออกมาจากห้องส่งงานเสร็จ ได้คะแนนคุณก็กลับมาเป็นคนเดิมอยู่ดี
แต่คุณเป็นคนเดิมที่มีประสบการณ์ต่อการต่อสู้นั้น ต่อการทดลองรับมือนั้นดู
มันไม่มีอะไรทำอะไรเราได้ จะกลัวอะไร

ทุกวันนี้สอนหนังสือ ผมไม่กล้าบอกด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร
เพราะบางคนอยู่ดีๆ ก็เก่งขึ้นมา แต่ตอนเรียนมันไม่ได้เรื่องเลยนะ
มันรับประกันอะไรไม่ได้เลย ใช้ชีวิตร่วมกันให้ดีแล้วกัน
อยู่ในคลาสก็แลกประสบการณ์ร่วมกัน มันแค่ประสบการณ์
แค่ช่วงเวลานึงเหมือนคุณเข้าสวนสนุก เข้าโรงหนังคุณก็ต้องออกมา
มันเปลี่ยนคุณไม่ได้หรอก ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งซีเรียสว่าอาจารย์บังคับเรา
เราจะเสียตัวตน ไม่มีเรื่องนี้หรอก


จิรเดช: พี่สุรชัยมีอะไรจะเสริมไหมครับ


สุรชัย: ผมมีเสริมนิดนึง สำหรับน้องที่เจอปัญหาแบบนี้
ผมก็เป็นสมัยเรียนไม่ว่าจะเป็นเรียนที่เชียงใหม่ หรือว่าเรียนที่ญี่ปุ่น
บางครั้งผมก็คิดว่าเราอยากจะทำแบบนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวตนนะ
อยากจะทำแบบนี้แต่โจทย์มันเป็นแบบนั้น วิธีผมง่ายเลยครับ ผมทำสองอัน
อันนึงเก็บไว้ที่ตัวเอง อีกอันนึงส่ง อันที่เก็บไว้ที่ตัวเองผมก็ Proof ไว้อย่างที่บอก
เหมือนงานที่ผมส่งประกวดที่ญี่ปุ่น หรืองานส่งประกวดระยะหลัง เป็นงานที่ทำนอกเวลา
ส่วนงานที่อาจารย์ให้โจทย์มา ผมทำตามโจทย์หมด
แล้วผมก็มาทำงานที่ผมคิดว่ามันจะเป็นทางที่ผมเดิน
ผมก็ทำชิ้นนั้นทับลงไปเหมือนนักกีฬาที่ออกไปซ้อม
ถามว่าผมยังซ้อมตามกำหนดของทีมไหม ผมก็ยังซ้อม
แต่ผมจะเอาเวลาที่คนอื่นหลับ คนอื่นนอน มาซ้อมงานที่ผมอยากจะทำ
ผมก็ใช้วิธีนี้ทับลงไป แล้วพอผมมาทำงานในอาชีพมันก็คือ Choice B ที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้
Choice B ก็คือโจทย์ที่เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่า Choice A ซึ่งผมก็ทำมาตั้งแต่เด็ก
ผมทำตั้งแต่สมัยเรียน ถ้ามีโจทย์แล้วทุกคนคิดว่าแบบนั้นต้องทำแบบนั้น ก็ทำแบบนั้นได้
ก็ทำทุกอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันเบียดเวลาชีวิตซึ่งแม่งเหลืออีกตั้งเยอะ ใช่ไหม
เราเรียนมาไม่กี่ชั่วโมงเอง เหลืออีก 10 กว่าชั่วโมงเอง ทำอะไร ก็มานั่งทำงานสิ
มานั่งทำ Choice B เราคิดว่ามันดีกว่าเราก็ทำ ถ้าอาจารย์ไม่เอาก็เก็บไว้เป็นพอร์ต
ถ้าทำแบบนี้ถึงแม้ว่าลูกค้าจะไม่เอาผมก็เก็บงาน
หรือว่าบางครั้งเราก็คิดว่ามันมีดีกว่านั้นจะทำยังไง เราก็ต้องใช้แรงทับถมลงไป
ผมว่าอันนี้ก็ต้องลองดูแต่ว่ามันก็ต้องใช้พลังงานเยอะขึ้นไหม มันจะใช้พลังงานเยอะขึ้น
แต่เห็นด้วยกับอาจารย์ติ๊กที่ว่า เรามาเพื่อพัฒนา
มาเพื่อเรียนรู้ ทำตามโจทย์ ต้องทำอยู่แล้วล่ะ
แต่ถ้าเรามีเวลาเหลือก็เอาไปทำสิ่งที่เราคิดก็ไม่เสียหาย
ผมว่ามันก็เป็นการ Double เป็นการเรียนรู้ทั้งคู่


สันติ: ผมเคยนั่งคุยกับอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก แล้วก็อยากเล่าให้เด็กรุ่นหลังได้ฟัง
ท่านเป็นบุคคลที่ผมเคารพในวิถีการทำงาน ท่านเล่าว่าสมัยเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ
ตอนส่งงานอาจารย์ แล้วได้คะแนน A บ้างB บ้าง ทุกงานที่อาจารย์อิทธิพลได้รับกลับมา
ท่านจะเอามาติดที่ห้องนอน แล้วมองดูทุกวันจนกว่าจะเข้าใจว่าทำไมชิ้นนี้ได้ A
หาเหตุผลให้เข้าใจว่าทำไมชิ้นนี้ได้ A ทำไมชิ้นนี้ถึงได้ B สิ่งที่ดีคืออะไร
สิ่งที่ต้องปรับปรุงคืออะไร ท่านทำแบบนี้กับงานเรียนทุกชิ้น
จึงไม่ได้สำคัญแค่สิ่งที่อาจารย์สอน แต่สำคัญที่ตัวเราต้องรู้ว่าทำไมทำมันแล้วดีหรือไม่ดี
เราจะผลิตซ้ำได้ ซึ่งเอามาเป็นจุดในการพัฒนางานเราได้ เพราะงานดีไซน์สัมพันธ์กับคนอื่น
ปฏิกิริยาของคนอื่นโครตสำคัญ งานดีไซน์สัมพันธ์กับคนมากกว่าหนึ่งคนเสมอ


จิรเดช: มีใครอยากถามอะไรอีกไหมครับ


นักศึกษา: อยากถามว่า ความเจ๋งคืออะไรครับ แล้วอะไรที่ทำให้งานเจ๋ง


สุรชัย: ทั้งความเจ๋งและความเก่ง มันต้องเกิดจากการเปรียบเทียบ
ถ้ามีงานชิ้นนึงชิ้นใดที่ไม่มีการเปรียบเทียบอะไรเลยในโลกนี้มันก็ไม่เรียกว่าเจ๋งได้
ส่วนใหญ่มันจะเกิดจากการเปรียบเทียบ
มันอยู่ที่ว่ามันจะเปรียบเทียบจากงานที่วางอยู่ 2 ชิ้น 3 ชิ้น ตรงนั้น
หรือมันจะเปรียบเทียบจากงานที่อยู่ใน Refference หัวทั้งหมดของคนที่พูด

ผมว่ามันอยู่ที่ว่าโลกนั้นใหญ่แค่ไหน แล้วมันก็อยู่ในข้อจำกัดของมันอีกว่า…
งานชิ้นนั้นมันไปอยู่ภายใต้เงื่อนไข รูปแบบไหน เช่น สมมติว่าเราพูดถึงงานศิลปะ
สมมติว่ามันเป็นงานแบบเหมือนจริง มันจะไปอยู่ในเซตของงานเหมือนจริงทั้งหมดที่อยู่ในโลก
ที่มันเคยสร้างมา มันจะถูกเปรียบเทียบกันว่า เห้ย งานนี้มันมีคุณภาพดีกว่า
ฝีมือดีกว่า Concept ดีกว่า หรืองานออกแบบแนวนี้ มันจะไปถูกเปรียบเทียบกับแนวไหนในโลก
เพราะฉะนั้นมันต้องมีบรรทัดฐาน

คำว่าเจ๋งจริงๆ มันก็คือคำว่า สุดยอด
หมายความว่าสุดยอดต้องมีอย่างน้อยสองหรือสามหรือสี่ หรือห้า หรือพัน
มันต้องรู้ว่าก่อนที่มันจะถึง 1-9 และไอ้ 10 สุดยอดนี่แหละ
มันต้องดูว่า 9 8 7 6 5 4 3 2 1  มันคืออะไร
ผมว่าการที่เราจะใช้คำถามว่า สุดยอด หรือเจ๋ง กับอะไรก็แล้วแต่
มันขึ้นอยู่กับว่าเราพูดบนบรรทัดฐานอะไร

ส่วนใหญ่เราจะพูดแค่เปรียบเทียบเพื่อนในห้อง
เราบอกว่า เนี่ย สุดยอดเลย!
เคยไปดูงานข้างนอกไหม งานเค้าแจ๋วกว่านี้อีก
หมายความว่าบรรทัดฐานหรือไม้บรรทัดที่เราวัดคำว่าสุดยอดหรือเจ๋ง
ที่มันเป็นคำสุดท้ายของไม้บรรทัดเนี่ย ไม้บรรทัดมันใหญ่หรือมันเล็ก
ตอนนี้ผมอาจจะพูดได้ประมาณนี้เพราะคำว่าเก่งหรือเจ๋งเนี่ยมันพูดยาก
ผมเคยไปเป็นกรรมการการตัดสินงานระดับเอเชีย ตอนที่ไปครั้งแรกผมเคยตัดสิน
ผมดูงานชิ้นแรกแล้วรู้สึก โห แม่ง สุดยอดว่ะ ผมให้ 10 เต็มไปเลย
แล้วพอมันมีที่ 2 ที่ 3 ออกมา
แม่ง แจ๋วกว่าเมื่อกี้อีกว่ะ แม่งต้องเป็นอะไร 11 12 เค้าให้แค่ 10 อ่ะ
ผมก็เลยรู้ว่า อ๋อ ไมhบรรทัดกูมันไม่ดีแล้ว มันหยาบแล้ว
ไม้บรรทัดผมอาจจะไม่มีจุดหนึ่ง จุดสอง จุดสาม ตอนนั้นผมเริ่มปรับตัวเลย
อ๋อ 8.2 อันนี้ 8.3 มันก็เลยละเอียดขึ้น อันนี้ผมว่ามันอยู่ที่ไม้บรรทัดของเรา
ถ้ามันโครตเจ๋งๆๆ ทุกอันมันคงได้ 10 เต็ม แต่มันไม่ใช่
ผมว่าอันนี้น่าจะอธิบายคร่าวๆในมุมผมครับ
ว่าไม้บรรทัดที่เรามีของเรา Scale ละเอียดแค่ไหน


จิรเดช: โอเค ประมาณนี้ครับวันนี้ น้องๆน่าจะได้อะไรไปมากมายนะครับ

ขอบคุณครับ


26910236_1625969700815276_4187732462129158034_o.jpg
ขอบคุณภาพจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

26060778_570781933272983_328679474_o.jpg
การพบปะสนทนา ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมการเสวนา

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s