เรียบเรียงจาก Series Foreward, Design Thinking, Design Theory Series ของ MIT Press
โดย สันติ ลอรัชวี

หนังสือชุด Design Thinking, Design Theory Series ของ MIT Press ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เสนอแนวคิดและทฤษฎีการออกแบบที่ควรค่าแก่การอ่านหลายต่อหลายเล่ม ส่วนที่น่าสนใจคือบทบรรณาธิการชุดหนังสือ ( Series Foreward) ที่เขียนโดยสองบรรณาธิการ ได้แก่ เคน ฟรีดแมน และ อีริค สโทลเทอร์แมน ที่กล่าวถึงความเป็นมาของการออกแบบจนมาถึงความท้าทายที่นักออกแบบทุกสาขากำลังเผชิญร่วมกัน 10 ประการ อันเป็นประเด็นที่ชวนให้นักออกแบบมาคิดต่อถึงบทบาทหน้าที่ คุณค่า และนิยายามของสิ่งที่เรากำลังเรียกมันเป็นอาชีพ หากสิ่งที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนนั่นคือ “การออกแบบ”

สำหรับผม… ความท้าทายในบทนำนี้ ย่อมไม่การคาดการณ์ที่ชี้ขาดต่อความเป็นไปของนิยามและคุณค่าการออกแบบ วิธีการออกแบบ และนักออกแบบ หากเป็นคำถามพื้นฐานสำคัญที่อาจจะต้องหมั่นปรับปรุงคำตอบของตนเองให้สอดคล้องกับความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสิ่งที่กำลังทำ เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียกขานตัวเอง ให้สัมพันธ์กับ “กาละ-เทศะ” อยู่เสมอ นิยามที่ว่าการออกแบบเป็นระบบความสัมพันธ์ยังคงสมเหตุสมผล การสร้างและบำรุงดูแลความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ถูกมัดรวมมากับการออกแบบเสมอ

ยังไงก็สรุปมาให้ลองอ่านกัน และขอสวัสดีปีใหม่ครับ

—–

แม้การออกแบบจะเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างใหม่ แต่กิจกรรมการออกแบบก็เกิดขึ้นมากยาวนาน กิจกรรมที่หมายถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ที่ตอบสนองเชิงประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการสร้างเครื่องมืออันเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ในยุคเริ่มแรก

ในบทนำนี้เริ่มจากการกล่าวถึง “การออกแบบ” ในความหมายที่กว้างที่สุดว่าจุดแรกเริ่มเกิดราว 2.5 ล้านปีก่อน เมื่อโฮโม แฮบิลิส สร้างเครื่องมือชิ้นแรก ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเดินตัวตรงด้วยซ้ำ > เราเริ่มประดิษฐ์หอกราว 4 แสนปีมาแล้ว และก้าวหน้าไปสู่การผลิตเครื่องมือเฉพาะทางเมื่อ 4 หมื่นปีก่อน > การออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นเมื่อ 1 หมื่นปีก่อนในเมโสโปเตเมีย ตามมาด้วยงานสถาปัตยกรรมภายในและเฟอร์นิเจอร์ในช่วงเดียวกัน > อีก 5 พันปีต่อมา ก็มีการออกแบบกราฟิกและตัวอักษรซึ่งเริ่มที่สุเมเรียนในการพัฒนาอักษรคูนิฟอร์ม > และหลังจากนั้นทุกอย่างก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว >>>

จนทุกวันนี้ “design” หมายถึงสิ่งต่างๆ มากมาย โดยมี “การบริการ (service)” เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงความหมายทั้งหลาย และ “นักออกแบบ” ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการบริการนี้ โดยงานของพวกเขามุ่งตอบสนองความต้องการของมนุษย์

คำว่า “design” เข้ามาในภาษาอังกฤษช่วง คศ. ที่ 16 ในรูปของ “คำกริยา” โดย Marriam-Webster’s Collegiate Dictionary ได้นิยามไว้ว่า
“คิดและวางแผนขึ้นในใจ”
“มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง”
“คิดค้นเพื่อหน้าที่หรือเป้าหมายที่เจาะจง”
โดยเกี่ยวโยงไปกับการวาด (drawing) เน้นไปที่การวาดแผนผังหรือแผนที่ รวมไปถึงการวาดเพื่อการสร้างสรรค์อื่นตามแผนงาน

กว่าครึ่งศตวรรษต่อมา จึงมีการใช้คำว่า “design” ในรูปคำนาม โดยถูกนินามว่า
“จุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจงของบุคคลหรือกลุ่มคน”
“การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบและมีจุดมุ่งหมาย”
“โครงการหรือแผนงานซึ่งได้กำหนดวิธีการไปสู่เป้าหมาย”

เห็นได้ว่า “จุดมุ่งหมาย” (purpose) และ “การวางแผน” (planning) ไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการนั้น เป็นสาระสำคัญในนิยามทั้งหลายนี้

มาจนถึงทุกวันนี้ นอกเหนือจากผลงานออกแแบบที่เป็นกายภาพ (ที่ถูกทำให้เข้าใจให้เป็นภาพหลักของการออกแบบ) เรายังออกแบบกระบวนการ ระบบ และบริการ ที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้น อีกทั้งยังออกแบบโครงสร้างและองค์กรเพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้อีกด้วย เห็นได้ชัดว่าการออกแบบได้เปลี่ยนไปอย่างมากนับจากบรรพบุรุษของเราสร้างเครื่องมือหินชิ้นแรก

เมื่อว่าดูนิยามของการออกแบบในระดับนามธรรมแล้ว คำนิยามของ เฮอร์เบิร์ต ไซมอน ดูจะครอบคลุมเกือยทุกแง่มุมของการออกแบบเท่าที่เราจะจินตนาการได้ นั่นคือ “(การคิดค้น -devise) แนวทางการกระทำอันมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไปสู่สถานการณ์ที่น่าพอใจมากกว่า” (Simon, The Sciences of the Artificial, 2nd ed., MIT Press, 1982, p. 129)

ดังนั้น หากเรานิยามการออกแบบว่าคือกระบวนการที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกแขนงที่จำเป็น มาใช้เพื่อตอบสนองผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแล้ว การออกแบบก็เป็นมากกว่าวิธีการทำงานทั่วไป การออกแบบมีรูปแบบที่เด่นชัดในการตอบสนองความต้องการมนุษย์ มีขอบเขตกว้างครอบคลุมสาขาต่างๆ ทั้งด้านผลิตและวางแผน

แต่สาขาต่างๆ ดังกล่าวล้วนมุ่งเน้นเนื้อหาสาระและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน มีธรรมเนียมปฏิบัติ วิธีการ และคำศัพท์ต่างกัน ถูกนำไปใช้ ฝึกฝน และปฏิบัติต่างกัน รวมถึงอยู่ในกลุ่มวิชาชีพที่ไม่เกล้เคียงกันด้วยซ้ำ

แม้ว่าความแตกต่างทั้งหลายทางวิชาชีพที่กล่าวมา จะก่อให้เกิดเส้นแบ่งกั้นระหว่างกัน แต่พวกเขาก็สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ด้วยการมีประเด็นที่พวกเขาใส่ใจและตระหนักร่วมกัน สิ่งนั้นก็คือการมีความท้าทายที่นักออกแบบทุกคนล้วนกำลังเผชิญร่วมกัน ทำให้ทุกคนมาสู่ความสนใจที่ตระหนักร่วมกัน เป็นความท้าทายที่จะเชื่อมโยงสาขาวิชาชีพต่างๆ ให้มาเป็นแขนงเดียวกัน

ความท้าทาย 10 ประการ

ความท้าทายด้านปฏิบัติการ (Performance Challenges)
เป็นสิ่งที่ทุกวิชาชีพออกแบบนั้นมีจุดร่วมในการปฏิบัติงานเดียวกัน ได้แก่

  1. (ออกแบบ) อยู่บนพื้นฐานของโลกทางกายภาพ
  2. (ออกแบบ )เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
  3. (ออกแบบ) สร้างหรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม (ของมนุษย์)

————————————–>
Physical World คืออะไร? เป็นโลกแบบเดิมที่เรารู้จักหรือไม่?
โลกเสมือนมีกายภาพหรือไม่อย่างไร?
Human Needs ในปัจจุบันแตกต่างและซับซ้อนแค่ไหน อย่างไร?
การออกแบบคือการ create หรือ generate?
————————————–>

ความท้าทายด้านแก่นสารของการออกแบบ (Substantive Challenges)
ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายมีขนาดใหญ่ขึ้น จนก่อให้เกิดความท้าทายต่อแก่นสารและสาระสำคัญในการออกแบบ ได้แก่

  1. เผชิญกับขอบเขตที่คลุมเครือมากขึ้น ระหว่างสิ่งที่สร้างขึ้น (artifacts), โครงสร้าง และกระบวนการ  (ที่ผลงาน/วิธีการ/นัก-ออกแบบ เข้าไปสังกัดและมีส่วนร่วมอยู่)
  2. เผชิญกับโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก
  3. เผชิญกับความซับซ้อนที่มากขึ้นของความต้องการ (needs) ข้อกำหนด (requirements) และ ข้อจำกัด (constraints) (ที่ผลงาน/วิธีการ/นัก-ออกแบบ เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบ)
  4. เผชิญกับการที่เนื้อหาข้อมูลจะมีความสำคัญมากกว่า/ไปไกลกว่าผลงานออกแบบทางกายภาพ

————————————–>
การให้ความลำดับสำคัญต่อคุณค่า มาตรฐาน และกระบวนการทำงานที่เคยยึดถือ จากธรรมเนียมปฏิบัติทางวิชาชีพของตนเอง จะปรับอย่างไร สิ่งใดยังควรยึดถือ สิ่งใดควรปรับเปลี่ยน?
————————————–>

50 ปีที่ผ่านมา นักออกแบบคนหนึ่งกับผู้ช่วยอีกคนสองคน ก็สามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ได้ แต่ในปัจจุบันต้องการกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา และทักษะเสริมที่ทำให้ผู้คนที่มาจากหลากหลายวิชาชีพนี้ สามารถทำงานร่วมกัน รับฟังกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ในขณะที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ

ความท้าทายด้านบริบท
ธรรมชาติของปัญหาด้านการออกแบบที่เป็นปัญหาพื้นๆ ที่ผ่านมา จะกลายเป็นความท้าทายสำคัญต่อนักออกแบบ เมื่อเชื่อมโยงไปกับระบบ กลไก ที่ซับซ้อนในสังคมปัจจุบัน ประเด็นทางบริบทเหล่านี้ซึ่ง การออกแบบ/นักออกแบบ/และงานออกแบบ จะต้องเผชิญ ได้แก่

  1. สภาวะแวดล้อมที่ซับซ้อน จากสิ่งที่ทำจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มากและหลากหลายขึ้น
  2. การตอบสนองความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มากและหลากหลายขึ้น
  3. ข้อเรียกร้องที่มากขึ้นจากทุกๆ ระดับ ทั้งในการผลิต การกระจาย การรับ และการควบคุม

ความท้าทายที่กล่าวนี้จึงต้องการแนวทางการทำงานออกแบบที่ต่างไปจากเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา สภาวะแวดล้อมในอดีตนั้นไม่ซับซ้อนเท่าในปัจจุบัน (และอนาคต) การใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและทักษะที่พัฒนาขึ้นของนักออกแบบแต่ละคน จึงเพียงพอต่อการทำงานที่ลึกซึ้งและมีแก่นสาร แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันไม่เพียงพออีกต่อไป

ปัจจุบัน… ความท้าทายในการออกแบบจึงถูกเรียกหาทักษะการวางแผนเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ (analytic / synthetic) ซึ่งไม่สามารถพัฒนาจากการแค่ลงมือทำเพียงอย่างเดียว วิชาชีพในการออกแบบจึงต้องการความรู้อีกแบบ ไม่ใช่แค่ความรู้เพียงจากการเรียน/ทำงานในวิชาชีพของตนเองเท่านั้น เป็นความรู้รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องบางอย่างจากข้อมูล สังคม และฐานความรู้ทั้งหลายที่มี
—–

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s