ไม่นานมานี้… ผมได้รับรางวัลที่สำคัญของชีวิตการเป็นนักออกแบบ
อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นรางวัลจากรายการประกวดหรือแข่งขันใด
หากแต่เริ่มต้นด้วยการรับโทรศัพท์จากคุณแจง เต็มศิริ คูสุโรจน์ แห่ง Propaganda
ใจความว่าพี่แก่ สาธิต กาลวันตวานิช อยากขอนัดเข้ามาพบ โดยแจ้งเบื้องต้นเพียงว่าอยากเข้ามาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับงานโครงการหนึ่ง
แน่นอนว่า…ผมตอบรับในทันที
ย้อนกลับไป…นอกจากชื่นชมพี่สาธิตผ่านผลงานของสามหน่อ บริษัทกราฟิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงเวลาต้นปี พ.ศ. 2530 แล้ว ภายหลังผมยังมาสนใจสามหน่อมากขึ้นในฐานะสตูดิโอออกแบบกราฟิกรุ่นบุกเบิก ที่ทำให้งานออกแบบกราฟิกมีที่ทางของตัวเอง แยกตัวออกจากบริษัทโฆษณาออกมาได้อย่างชัดเจน ผมเริ่มค้นคว้าและประกอบข้อมูลถึงความเป็นมาของพี่สาธิตและบุคลากรสำคัญมากมายเพื่อเห็นภาพทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการออกแบบกราฟิกไทย
ต้นปี พ.ศ. 2554 ผมมีโอกาสร่วมคณะวิจัยที่มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยลักษณ์ เบญจดล
เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ซึ่งสนับสนุนโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และทำให้ได้มีโอกาสพบพี่สาธิตเป็นครั้งแรกจากการขอนัดสัมภาษณ์ที่บ้านของพี่สาธิต ด้วยความช่วยเหลือในการนัดพบของเคลวิน หว่อง นักออกแบบกราฟิกที่เคยร่วมงานกับพี่สาธิตในยุคของ Propaganda
วันนั้นพวกเราที่เป็นคณะวิจัยได้พูดคุยกับแกเกี่ยวกับมุมมองและความเป็นไปของงานออกแบบ
ตั้งแต่บริษัทสามหน่อก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2528 ถือว่าเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานออกกราฟิกในรูปแบบ Thai Vernacular มาไม่น้อย และส่งอิทธิพลต่อนักออกแบบรุ่นต่อมาอย่างปฎิเสธไม่ได้ ใจความสำคัญของการสนทนาจึงเกี่ยวกับความเป็นมาและความคิดเบื้องหลังของพี่สาธิตและสามหน่อ ซึ่งสะท้อนงานรูปแบบสามหน่อและงาน vernacular แบบสามหน่อไปในขณะเดียวกัน
พี่สาธิตกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานในแบบของเขาว่าเหมือนกระบวนการเรียนรู้ เริ่มต้นจาก “ความสนใจ” และ “ความอยากทำ” มีแรงผลักดันที่อยากจะก้าวข้ามรูปแบบเดิมๆ (พี่สาธิตใช้คำว่า ‘ทะลุ’) ที่มาจากการเผชิญกับข้อจำกัดในสังคมการออกแบบไทยในขณะนั้น โดยเฉพาะในยุคที่อาชีพนักกราฟิกเป็นเพียงหน่วยย่อยของงานโฆษณา ประกอบกับการเปิดรับงานรูปแบบใหม่ๆ ของสังคมหรือลูกค้าก็ยังมีไม่มากเท่าปัจจุบัน
สกุลช่างสามหน่อโดยมากได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบอเมริกันผ่านหนังสือและนิตยสาร ซึ่งหน้าต่างบานเดียวในขณะนั้นคือหนังสือ รอยปริต่างๆ ในวงการออกแบบกราฟิกต่างชาติ คือสิ่งที่ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อพี่สาธิตและนักออกแบบของสามหน่อ เช่น ผลงานของ Duffy Design Group, Charles S. Anderson และ David Carson เป็นต้น ผสมผสานไปกับปัจจัยอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น ความรู้สึกนึกคิดและวิถีชีวิตแบบไทยๆ การมีสังคมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนของเหล่านักออกแบบรุ่นพี่รุ่นน้องในสามหน่อ รวมถึงความตั้งใจที่จะสร้างผลงานรูปแบบใหม่ เป็นต้น
พี่สาธิตให้ข้อสรุปว่าทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปแบบความไม่รู้ (naive) ซึ่งก็ต้องต่อสู้กับความอนุรักษ์นิยมของสังคมและลูกค้า ในขณะนั้น แรกๆ อาจเป็นการเริ่มแบบผิวเผิน แต่ก็ลองผิดลองถูกมาจนรู้สึกได้ว่าผลงานเริ่มหลุดความเป็นตัวเองออกมาได้
พอถึงจุดนั้นจึงพบว่า “ความเป็นตัวเอง…นี่มันช่างดีจริงๆ”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและเป็นที่รู้จักกันดีอย่างงานประชาสัมพันธ์ตัวเอง (self promotion) ของบริษัทสามหน่อเอง ที่ใช้ภาพถุงกล้วยแขก หรือผลงานที่มีแรงบันดาลใจจากการประสบการณ์วัยเด็กและแบบเรียนหนังสือ ก.กา ซึ่งวัตถุดิบมีความเป็นไทยเป็นอย่างมาก แต่มี “วิธีส่ง” แบบตะวันตก เช่น การจัดวางตัวอักษร รูปแบบการถ่ายภาพ เป็นต้น
“มันเหมือนการกลับไปหาแกนแล้วระเบิดรูปแบบออกมา จากนั้นค่อยมาจัดระบบให้สื่อสารได้หรือใช้งานได้ มันเป็นวิธีที่ทำให้เราแตกต่าง อิทธิพลของสิ่งต่างๆ ก็จะกลายเป็นแค่ข้อมูลในลิ้นชักของเราเท่านั้น”
การลาออกจากเอเจนซี่โฆษณาห้องคิงอย่าง ลีโอ เบอร์เนท ของพี่สาธิตในช่วงเวลาก่อนการก่อตั้งสามหน่อนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีบริษัทกราฟิกไม่มากนัก การทำงานหนักของกลุ่มนักออกแบบที่สามหน่อ ภายใต้แนวทางการใช้ศิลปะนำการตลาด ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้งานของสามหน่อแตกต่างและโดดเด่นขึ้นมาได้ จนกระทั่งหนังสือรายงานประจำปีที่ทำได้รับรางวัล อันเป็นผลทำให้เกิดกระแสและคุณค่าใหม่ในกลุ่มลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการให้ผลงานสิ่งพิมพ์ขององค์กรตนเองได้รับรางวัลเช่นกัน นำมาสู่ยุคทองของงานออกแบบสิ่งพิมพ์สกุลช่างสามหน่อ
การบุกเบิกการใช้งานอาร์ตแอนด์คราฟท์ในงานออกแบบสิ่งพิมพ์ การใช้กระดาษคุณภาพสูง รวมถึงเทคนิคการพิมพ์ต่างๆ ในการยกระดับงานทั้งเชิงการสื่อสารและความสวยงาม
แม้งานแบบสามหน่ออาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นงานสไตล์ vernacular แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของสามหน่อหลายชิ้นมีรูปแบบแบบ vernacular อยู่ในนั้น แต่มันก็เป็นรูปแบบแบบสามหน่ออยู่ดี ที่มีการก่อรูปก่อร่างเฉพาะตัวดังที่กล่าวมาข้างต้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เข้าใจถึงแก่นของความเป็นไปทั้งหมดนี้ อาจอยู่ที่สิ่งที่พี่สาธิตเคยบอกไว้กับนักออกแบบรุ่นน้องๆ หลายๆคนที่มีใจความว่า… “ในการทำงานสร้างสรรค์ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ การใช้สัญชาตญาณ (instinct) มันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา เป็นเรื่องความรู้สึกในแง่บวก ใช้มันให้มากแล้วค่อยมาวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือ แยกแยะว่ามันเป็นตะวันออก-ตะวันตก หรือชนชาติอะไร…
สุดท้ายแล้ว…ไม่มีตะวันออก-ตะวันตก เป็นสมบัติของมนุษย์ทั้งนั้นแหละ”
4 ปีผ่านมา…พี่สาธิตกำลังนั่งพูดคุยกับผมที่แพรคทิเคิลอย่างเป็นกันเองเหมือนครั้งแรก อธิบายถึงโครงการที่กำลังจะทำ รวมถึงฟังผมอธิบายถึงผลงานของตัวผมเองและของบริษัทอย่างสนใจ ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบันทึกอยู่นี้ ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับบุคคลที่ผมชื่นชมยกย่องท่านนี้หรือไม่ หากแต่อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่า “ผมได้รางวัลสำคัญของชีวิตนักออกแบบไปแล้วล่ะ”