โดย สันติ ลอรัชวี

เคยมีบทสนทนาที่เล่าต่อกันมาในหมู่กราฟิกดีไซน์เนอร์ เป็นบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกที่เป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ เรื่องมีอยู่ว่าลูกชาย (หรือลูกสาวก็ได้แล้วแต่ผู้เล่า) เพิ่งเรียนจบและเริ่มงานกราฟิกดีไซน์ในเอเจนซี่แห่งหนึ่ง เมื่องานออกแบบโปสเตอร์ชิ้นแรกที่ได้รับมอบหมายพิมพ์เสร็จออกมาสวยงามเรียบร้อย ลูกชายก็นำเอากลับบ้านไปอวดให้พ่อได้ชมผลงานจริงชิ้นแรกในชีวิตการทำงาน บทสนทนาดังกล่าวก็เริ่มต้นขึ้น… (บทสนทนานี้ก็ปรับเปลี่ยนตามสไตล์การเล่าของผู้เขียนเช่นกัน)

ลูก : พ่อครับ นี่ไงงานชิ้นแรกของผม สวยมั้ยครับ?

พ่อ : อืมม… สวยดีนี่ลูก นี่ลูกเป็นคนทำทั้งหมดนี่เหรอ เก่งนะเนี่ย

ลูก : อ่าา…ก็ไม่เชิงเป็นคนทำทั้งหมดน่ะครับ จะพูดยังไงดี…

พ่อ : อ๋อ… เราเป็นคนวาดรูปนี้ใช่มั้ย รูปสวยมากนะ

ลูก : ไม่ใช่ครับ ผมไม่ได้วาดรูปนี้ มีพี่อีกคนนึงที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เค้าเป็นคนวาด

พ่อ : แล้วรูปถ่ายนี่หล่ะ สวยดีนะ

ลูก : ภาพถ่ายนี่ก็จ้างช่างภาพมาถ่ายให้หน่ะครับ เป็นช่างภาพมืออาชีพเชียวนะ

พ่อ : งั้นลูกคงเป็นคนประดิษฐ์ตัวหนังสือที่อยู่ในโปสเตอร์ใช่มั้ย เหมือนช่างที่ออกแบบที่ร้านทำป้าย

ลูก : ก็ไม่ใช่อีกครับ ตัวหนังสือมีคนทำมาสำเร็จรูปอยู่ในเครื่องคอมฯ แล้วครับ ผมเป็นคนจัดวางมัน

พ่อ : เข้าใจละ ลูกเป็นคนจัดวางตัวหนังสือกับภาพในโปสเตอร์นี่

ลูก : ใช่ครับ แต่การจัดวางก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานผมนะ มันยัง…

พ่อ : โอเค โอเค พ่อรู้ละ ลูกยังเป็นคนคิดข้อความที่ใช้ด้วยสินะ

ลูก : เฮ้อ… เปล่าครับ นั่นมันเป็นหน้าที่ของคนคิดคำ เค้าเรียก Copy Writer

พ่อ : เอ.. พ่อชักจะงงแล้วว่า ไอ้กราฟิกดีไซน์เนอร์มันทำอะไรกันแน่…

ลูก : – -i

(ผู้อ่านสามารถจินตนาการต่อเองได้ถึงบทสนทนานี้ตามประสบการณ์ที่พบเจอของแต่ละคน)

บทสนทนานี้สะท้อนถึงความเป็นนามธรรมในการชี้ชัดต่อบทบาทของกราฟิกดีไซน์เนอร์ในยุคหนึ่งได้เป็นอย่างดี

รวมถึงสะท้อนบทบาทของนักบริหารจัดการต่อองค์ประกอบต่างๆ ในงานสื่อสารชิ้นหนึ่งๆ ได้เป็นอย่างดี

เมื่อผู้คนชื่นชอบหรือประทับใจโปสเตอร์ซักชิ้นนึง จะมีใครซักกี่คนที่ชื่มชมคนจัดการมัน หากรู้ว่าองค์ประกอบแต่ละส่วนในงานไม่ได้เกิดจากน้ำมือของคนออกแบบ หากเกิดจากการเลือกและบริหารความเป็นอยู่ของสิ่งต่างๆ ให้เกิดความสวยงามและประสิทธิภาพในการสื่อสาร

แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ย่อมไม่นับรวมผลงานที่ผู้ออกแบบมีส่วนร่วมอย่างมากในผลงาน แต่ในช่วงเวลาหนึ่งระบบงานในเอเจนซี่โฆษณาและกราฟิกเฮ้าส์จำนวนไม่น้อยก็สร้างระบบการจัดการนี้จนดูเหมือนจะกลายเป็นบทบาทหลักกราฟิกดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่ต้องเล่นตาม นั่นหมายถึงอิทธิพลที่แผ่เข้าไปในสถาบันการศึกษาด้วย ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทั้งประสิทธิภาพและต้นทุนในช่วง 15-20 ปีก่อน เป็นส่วนสำคัญทำให้อาณาเขตของผู้ชำนาญเฉพาะด้านนั้นถูกแบ่งแยกชัดเจน ช่างภาพทำหน้าที่ถ่ายภาพ นักวาดภาพประกอบทำหน้าที่วาดภาพประกอบ copywriter เป็นคนคิดประดิษฐ์ถ้อยคำ แม้กระทั่งอาร์ตเวิร์คส่งพิมพ์ก็ยังมีผู้รับหน้าที่อย่างชัดเจน ดูเหมือนขอบเขตของกราฟิกดีไซน์เนอร์จะจำกัดอยู่กับรากความหมายเดิมของคำว่า “กราฟิก” อย่างชัดเจนกว่าในปัจจุบันนั่นคือ “ความเป็นสองมิติ” เพราะแม้กระทั่งหน้าที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้นก็ยังต้องแบ่งปันไปให้กับตำแหน่ง “ครีเอทีฟ” ที่ตรงตัวกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่บัณฑิตที่จบในสาขาเดียวกัน ก็จะกระจัดกระจายไปในตำแหน่งงานต่างๆ กันออกไปตามความถนัดหรือจังหวะชีวิต และส่วนหนึ่งจะมีทักษะเฉพาะสำหรับงานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพไปในช่วงคอมพิวเตอร์เข้ามาเทคโอเวอร์อุตสาหกรรมออกแบบในช่วง พ.ศ. 2535-2540 เนื่องจากทักษะของตนไม่ได้เป็นที่ต้องการและสอดคล้องกับธุรกิจออกแบบอีกต่อไป ช่างประกอบอาร์ตเวิร์คหลายคนต้องเปลี่ยนงานหลังจากพบว่าการหันมาฝึกเครื่องแมคอินทอชเพื่อทำอาร์ตเวิร์คนั้นเป็นเรื่องยากมากกว่าการใช้คัตเตอร์และกาวยางน้ำ อีกทั้งกราฟิกดีไซน์เนอร์ใหม่ๆ ที่รับเงินเดือนน้อยกว่า ก็เป็นทั้งคนออกแบบ จัดหน้า และทำอาร์ตเวิร์คไปในขณะเดียวกัน

ณ เวลาที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ กำลังย่างเข้าสู่ พ.ศ. 2555 ผมนั่งพิมพ์บทความนี้ในเฟสบุ๊ค พร้อมจะแชร์ให้เพื่อนๆ อ่านได้ทันทีที่ขัดเกลามันเสร็จ มีผู้คนสายออกแบบไม่น้อยที่กำลังอยู่ในสังคมออนไลน์ร่วมกับผมในขณะนี้ ผมพบเห็นพวกเขาแตกต่างออกไปจากเมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่เกินกว่าหน้าที่ในอาชีพการงานจะมาจำกัดพวกเขา และที่สำคัญก็คือผู้คนจะมีโอกาสได้เห็นศักยภาพเหล่านั้น

คำว่า “กราฟิกดีไซน์” แผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างจนสุดลูกหูลูกตา เกินไปกว่าความหมายของมันในพจนานุกรมหรือคำกล่าวของดีไซน์เนอร์ไอคอนคนใด สถาบันการศึกษาไม่อาจนิ่งเฉยหรือเบือนหน้าหนีจากปรากฏการณ์ขยายขอบเขตนี้ มันกินพื้นที่เลยขอบเขตของคำว่า “แรงงานออกแบบ” หรือ “อุตสาหกรรมออกแบบ” ที่สถาบันหลายแห่งตั้งไว้เป็นเป้าหมายหลัก John Judy ผู้อำนวยการด้านหลักสูตรกราฟิกดีไซน์ของ The Art Institute of California ได้ให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ Ai InSite ไว้ว่า “หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังจะเป็น (หรือเป็นไปแล้ว) ก็คือมีแนวโน้มจะเป็นฟิวชั่นมากขึ้นระหว่างสาขาวิชาที่แตกต่างกัน กราฟิกดีไซเนอร์จะต้องทำงานข้ามสื่อทั้งหลายไปมาและควรคิดถึงคำว่าการเล่าเรื่องเชิงภาพ (Visual Storytelling)” กราฟิกดีไซเนอร์ (ตราบที่เรายังพยายามใช้คำนี้กันอยู่) รุ่นต่อไปอาจเป็นผู้ที่ไม่อยากเรียกตัวเองว่า กราฟิกดีไซน์เนอร์ เพราะพวกเขาอาจรู้สึกได้ขอบเขตที่พวกเขาสามารถทำงานได้นั้นมันกว้างใหญ่กว่าอาชีพของเขามากนัก แพลทฟอร์มที่พวกเขาสามารถข้ามไปมาได้อย่างอิสระ แม้กระทั่งโดยตามลำพังซะด้วย กราฟิกดีไซน์เนอร์ในขณะนี้ได้ครอบคลุมการพิมพ์, เว็บ, โทรทัศน์, และโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์แท็บเล็ต มันได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเขารู้วิธีการออกแบบและสร้างเนื้อหาที่สามารถใช้ข้ามแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันเหล่านี้ ที่กล่าวมานั้นรวมไปถึงวัฒนธรรม D.I.Y. และการหลับตาข้างนึงให้กับกระบวนการออกแบบด้วยระบบดิจิทัลที่หมดจด แล้วหันไปทำงานที่ทำให้มือของพวกเขาสกปรกอีกครั้งด้วยงานที่เรียกกันว่า “งานทำมือ” หรือ Hand-Drawn Effects สังเกตได้จากสถาบันศิลปะของโปรแกรมการออกแบบกราฟิกของฟิลาเดลเฟีย (The Art Institute of Philadelphia) ได้มีการเพิ่มหลักสูตร “Media Techniques” เป็นโครงการไฮบริดที่ใช้ทั้งความรู้ดิจิตอลของพวกเขาและการตั้งค่าสกิลทำมือของนักเรียน ที่มุ่งสำรวจกระบวนการที่ทำด้วยมือจำนวนมากและให้นำใช้ในการใช้งานออกแบบกราฟิก และนั่นก็ทำให้ขอบเขตงานของกราฟิกดีไซน์กว้างขวางออกไปอีกจนดูเหมือนว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์ในปัจจุบันจะสามารถมีส่วนได้ในทุกองค์ประกอบและขั้นตอนเลยทีเดียว บางโอกาสอาจควบรวมงานภาพถ่ายและงานดนตรีซะด้วยซ้ำ…

หากเป็นเช่นนั้น บทสนทนาเรื่องเล่าในอีก 10 ปีต่อจากนี้ก็อาจกลับกลายเป็นเช่นนี้…

ลูก : พ่อครับ นี่ไงงานชิ้นแรกของผม สวยมั้ยครับ?

พ่อ : อืมม… สวยดีนี่ลูก นี่ลูกเป็นคนทำทั้งหมดนี่เหรอ เก่งนะเนี่ย

ลูก : อ่าา…ใช่ครับ ผมทำทุกอย่างเลยครับ…

พ่อ : โอ้โห… เราเป็นคนวาดรูปนี้เองเหรอ รูปสวยมากนะ

ลูก : ใช่ครับ ^_^ ผมวาดรูปนี้กับมือเลยนะครับ

พ่อ : แล้วรูปถ่ายนี่หล่ะ สวยดีนะ

ลูก : ผมถ่ายเอง พอดีงานนี้ไม่ค่อยมีงบถ่ายภาพ เลยใช้กล้องดิจิทัลที่พ่อซื้อให้ถ่ายเองเลย ใช้ได้มั้ยครับ

พ่อ : เก่งจริงๆ ฟอนต์ที่ใช้นี่ในเครื่องคอมฯพ่อไม่เห็นมีเลย แปลกตาดี

ลูก : หุ หุ ตัวหนังสือชุดนี้เป็นฟอนต์ที่ผมทำเอง พ่อเอาไปใช้ในคอมพิวเตอร์พ่อก็ได้นะครับ

พ่อ : โอเค แต่คนคิดข้อความนี้คงเป็นลูกค้าสินะ

ลูก : เฮ้อ… เปล่าครับ ผมคิดเองด้วย พอดีคิดไปแล้วลูกค้าเกิดชอบที่ผมเขียนขึ้นมาน่ะครับ

พ่อ : เอ.. พ่อชักจะงงแล้วว่า ไอ้กราฟิกดีไซน์เนอร์มันทำอะไรกันแน่…

ลูก : – -i

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s