ตีพิมพ์ในนิตยสาร Computer Arts เดือนกันยายน 2553
มกราคม 2553…
ในที่สุดสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ก็ได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ที่ชื่อ โอภาส ลิมปิอังคนันต์ จากบริษัท ฟอนทอรี่ จำกัด
คุณโอภาสหรือที่ผมเรียกตามคุณสยาม อัตตริยะ ว่า “คุณฉี” ได้ทาบทามและรวบรวมผู้คนในวงการออกแบบกราฟิกและที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งคณะทำงานชุดใหม่เพื่อให้ไทยก้าได้เริ่มต้นก่อรูปก่อร่างอย่างจริงจัง วันนี้คณะทำงานมีบุคคลมากหน้าหลายตาขึ้น ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพการออกแบบกราฟิก ทำให้เกิดการยอมรับ สร้างชุดความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ
งานต่างๆ ในช่วงต้นเป็นงานที่นับเป็นของแสลงต่อนักออกแบบหลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย นั่นคืองานเอกสาร การปรับข้อบังคับ จดทะเบียนรายชื่อกรรมการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคมฯ คุณโอภาสกลับดำเนินสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแข็งขันและดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับนายกคนใหม่ ไม่กี่เดือนผ่านไปของแสลงเหล่านี้ก็ถูกจัดการจนเรียบร้อย เบื้องต้นพวกเราพยายามจะสร้างบรรยากาศในวิชาชีพ ด้วยการสร้างกิจกรรมที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายหลายๆ ด้านที่กล่าวมาในเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่อีกหลายๆ เรื่องที่น่าจะทำควบคู่ไปกับกิจกรรมทั้งหลาย
แรกเริ่มมีแผนการเตรียมโครงการ 3 โครงการในปลายปีนี้ เช่น “โครงการกราฟิก ดี100” ที่จะรวบรวมผลงานที่ดีเด่น 100 ชิ้นในแต่ละปี จัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่เป็นนิทรรศการและหนังสือรวบรวมผลงาน “โครงการ แอบบอก ออกแบบ” ที่ต้องการนำผลงานออกแบบกราฟิกเข้าไปแทรกอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในลักษณะชักชวนให้เห็นบทบาทของมัน และ “โครงการฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย” ที่จะจัดเป็นปีที่ 2 แต่จะปรับเป็นลักษณะของงานประชุมทางความคิดเห็น ในหัวข้อ Somewhere Thai โดยแต่ละโครงการมีบริษัทออกแบบ 3 แห่ง ต่างเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยจัดทีมงานกันตามอิสระ แต่เวลาและเงินทุนยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคณะทำงานชุดนี้เช่นกัน …
แม้ว่าแต่ละโครงการจะเริ่มหาสถานที่จัดงานได้ และเริ่มมีทุนสนับสนุนบางส่วน แต่ก็ยังอีกไกลจากงบประมาณที่ประเมินกันไว้…
พฤษภาคม 2553
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น คณะทำงานได้หารือและทบทวนกิจกรรมต่างๆ ที่ไทยก้ากำลังเตรียมงานกันอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่หม่นหมอง เราหลายคนคิดตรงกันว่าเราอยากทำอะไรซักอย่างต่อส่วนรวม ด้วยสิ่งที่เราพอทำได้ ส่วนรวมที่หมายถึงใครก็ได้ที่ต้องการความร่วมมือจากเรา มองเห็นว่างานออกแบบกราฟิกสามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรซักอย่างได้…
สัญลักษณ์ของโครงการ GRAFIX ออกแบบโดย Concious (2553)
“GRAFIX” เป็นข้อสรุปของสมาคมฯ เป็นการจัดกลุ่มอาสาสมัครที่พร้อมจะทำงานออกแบบให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ตัดสินใจยกเลิกโครงการ 2 โครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการ และดำเนินการต่อเพียงแค่โครงการ “Somewhere Thai” ที่ประชาสัมพันธ์และเปิดรับผลงานไปแล้ว เหตุผลของการยกเลิกโครงการเนื่องมาจากเราคิดว่าในช่วงหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม น่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นด้วยหลายวัตถุประสงค์ต่างกันไป และเราน่าจะมีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพื่อสาธารณประโยชน์
กันยายน 2553
อาสาสมัครจากโครงการ GRAFIX บางส่วนได้มีโอกาสให้คำปรึกษาและทำงานให้กับร้านค้าและโครงการต่างๆ ไปพอสมควร
จนมาถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำผลงานออกแบบไปติดบริเวณแผงกั้นก่อสร้างบริเวณแยกราชประสงค์ ด้วยความร่วมมือจากเซ็นทรัลเวิลด์และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถ้าใครผ่านไปช่วงนี้คงสังเกตเห็นผลงานกราฟิกที่กล่าวมาติดอยู่บริเวณนั้นได้ไม่ยากนัก
สัญลักษณ์โครงการ Heart to heart ออกแบบโดย สตูดิโอ คราฟแมนชิพ (2553)
“ความหวัง” เป็นหัวเรื่องที่ใช้ร่วมกันในการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ภายใต้ชื่อโครงการ heART to Heart ซึ่งจะนำเสนอผลงาน 3 รอบ 3 หัวเรื่อง คือ ความหวัง ความสุข และความรัก โดยทางไทยก้าได้รับให้นำผลงานของนักออกแบบกราฟิกมาจัดแสดง 2 รอบคือ รอบความหวัง (เดือนกันยายน) และความรัก (เดือนมกราคม 2554) สำหรับรอบความหวังมีผลงาน 19 ชิ้นจากนักออกแบบกราฟิกไทย 14 คน และนักออกแบบต่างชาติ 5 คน ได้แก่ Default / Farmgroup / Pink Blue Black & Orange / Practical Design Studio / ไพโรจน์ ธีระประภา / ธีรนพ หวังศิลปคุณ / สุรัติ โตมรศักดิ์ / อนุทิน วงศ์สรรคกร / สมพงษ์ ซื่อต่อศักดิ์ / ภาณุพงศ์ เปรมวรานนท์ / สุทธิชาติ ศราภัยวานิช / บางกอก Boxset / กัมปนาท เฮี้ยนชาศรี / อนุกูล เหมาลา / Christian Schwartz / Erik Brandt / James Gladden / Joseph Foo และ Tanja Huckenbeck นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมผลงานออกแบบตัวอักษรคำว่า Hope ของนักศึกษากราฟิกจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรังสิต มาแสดงในบริเวณงานอีกด้วย
พี่โรจ สยามรวย (ไพโรจน์ ธีระประภา) ได้เดาถึงแนวคิดถึงผลงานหลายๆ ชิ้นไว้ในเฟสบุ๊ค ผมเลยถือโอกาสเดาเพิ่มเติมจากที่ได้อ่านของพี่โรจ ประกอบกับแนวคิดที่ได้มาจากเจ้าของผลงาน ไว้อ่านประกอบละกันครับ…
Default
“everything will be OK.” คือข้อความที่ทาง Default เลือกนำมาใช้ในผลงานโดยได้แรงบันดาลใจจากใบปิดสมัยสงครามโลกของอังกฤษ ที่พูดว่า keep clam and carry onเป็นชิ้นงานที่สื่อการมองโลกในแง่ดีและเป็นกำลังใจให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นงานชิ้นนี้
Farmgroup
ภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เห็นทั่วไปตามสถานที่ก่อสร้าง สัญลักษณ์ส่วนนึงถูกนำมาใช้โดยให้ความหมายใหม่กับมัน บางส่วนวาดขึ้นมาใหม่ให้เข้ากับแนวคิดของนักออกแบบ โดยมีความอารมณ์ดีเป็นส่วนผสมหลัก
เนื่องจากเป็นชิ้นงานที่มีหน้าที่สร้างความหวังให้กับผู้ชม และยังตั้งอยู่ตรงสถานที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ฟาร์มกรุ๊ปได้แรงบันดาลใจจากการก่อสร้างและงานออกแบบกราฟิกที่สามารถพบอยู่ในสถานที่ก่อสร้างต่างๆ
ที่น่าสนใจคือ ผู้ออกแบบบอกว่าให้ลองสังเกตุพวกป้ายต่างๆ ที่ล้วนมีแต่ข้อห้ามและกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตาม เลยยิ่งสนใจกับความตรงกันข้าม เพราะการสร้างความหวังไม่ควรมีข้อห้ามหรือกฎเกณฑ์ใดๆ
Pink Blue Black & Orange
ผลงานของคัลเลอร์ ปาร์ตี้ ที่ยังคงเป็นปาร์ตี้ของสีสันต่างๆ ถูกนำเสนอในรูปแบบแผ่นตรวจวัดอาการตาบอดสี
ภายใต้แนวคิดที่ต้องการสะท้อนวิกฤติการณ์ทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองต่างๆ
ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวและแสดงออกทางความคิด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ระดับคือสังคม ครอบครัว องค์กร ฯลฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากการแบ่งคนออกเป็น 2 สี ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่ชัดเจนแบบเหลือง-แดง ขาว-ดำ
เรื่องราวต่างๆ ในโลกมีรายละเอียดมากมาย คนมีความแตกต่างหลากหลาย หากเรามองเห็น
เพียงแค่สีที่เราเชื่อ และเลือกที่จะมองไม่เห็นสีที่เราไม่เห็นด้วย ความหวังและสันติสุข
ของการอยู่ร่วมกันคงจะเกิดขึ้นได้ยาก
Practical Design Studio
ข้อความผ่านตัวอักษรบางเฉียบและเล็กจิ๋วที่เรียงตัวกันเป็นลำแสงยาวกว่า 15 เมตรมีใจความว่า “To hope is to risk pain, but risk must be taken because the greatest hazard in life is to risk nothing” เป็นผลงานที่นำเสนอการชมงานจาก 2 ระยะ ที่เราจะเป็นแสงสว่างเป็นเส้นยาวหากมองจากระยะไกล ขณะเดียวกันก็จะสามารถอ่านข้อความข้างต้นที่แทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับแสงสว่างในภาพ หากเรายืนมองงานในระยะประชิด ผลงานชิ้นนี้นำเสนอให้รักษาความหวังให้คงอยู่ไว้ แม้มันจะอยู่ไกลสุดตาหรืออยู่ท่ามกลางความมืดมิดเงียบงันก็ตามที…
ไพโรจน์ ธีระประภา
“หวัง สี หลาย” คือชื่อที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันของผลงานชิ้นนี้ ความสดใสคือจุดมุ่งหมายในงานชิ้นนี้ เป็นผลงานอีกชิ้นที่แสดงความหวังได้ชัดเจนและสดชื่น แม้กระทั่งจะมองจากสะพานลอย BTS ก็ยังสะดุดตากับงานชิ้นนี้ อีกทั้งยังเป็นงานที่ถูกจัดวางเป็นชิ้นแรกที่ปะทะผู้คนที่เดินมาจากสยามสแควร์
ธีรนพ หวังศิลปคุณ
ทีนพบอกว่าอยากให้ทุกคนถอยออกมามองภาพนี้ให้เห็นภาพรวมมากกว่ามองใกล้ๆ ให้เห็นว่าความแตกต่างของทุกอย่างมันคือสีสันของสังคม และเมื่อแต่ละคนนำสีสันของตัวเองออกมาสร้างสรรค์ภาพดีๆร่วมกับสีสันอื่นๆจะสามารถแต่งแต้มเติมความงามให้กับสังคมได้อย่างสันติ ผลงานชิ้นนี้เกิดจากความประทับใจกับผ้าไหมมัดหมี่โดยเฉพาะลายนกยูง ซึ่งเป็นลายโบราณของไทย นกยูงเป็นสัญลักษณ์แทนความยิ่งใหญ่ อลังการ ความสง่างาม ความสะพรั่ง และ ความอุดมสมบูรณ์
รวมทั้งกรรมวิธีในการมัดย้อมและการทอ จากเส้นไหมที่ถูกแต้มเติมสีต่างกันแต่ละเส้น มาทอรวมกันเกิดเป็นภาพขึ้นมาบนผ้าผืนใหญ่ให้ทุกคนได้ชื่นชมความสวยงาม
อนุทิน วงศ์สรรคกร
ความคิด ความเชื่อ วาทกรรมที่หลากหลายแตกต่างกัน ถูกแปลงเป็นภาษากราฟิกแบบง่ายๆ ทว่าคมคายและชวนให้คิดต่อว่า
จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น
ภาพกราฟิกคำพูดหลากหลายรูปแบบและสีสันถูกจัดการให้อยู่ร่วมกันในพื้นที่ของงานอนุทินอย่างตั้งใจ เหมือนกับเจ้าของผลงานชิ้นนี้กำลังจะบอกว่าการจะอยู่ร่วมกันได้นั้น…
จะต้องมีความตั้งใจจริงที่จะอยู่ร่วมกัน หรือมีความหวังที่จะอยู่ร่วมกันนั่นเอง…
กัมปนาท เฮี้ยนชาศรี
งานชิ้นนี้ขอยืมการเดาของพี่โรจ สยามรวย ที่เดาว่า…“เสียงดนตรีกล่อมเกลาจิตใจได้ดี ทุกอย่างรอบตัวจึงมีเสียงเพลงเป็นลมหายใจ ทำให้ลืมเรื่องร้ายๆ ไปได้” องค์ประกอบของภาพยังทำให้นึกถึงดนตรีเปิดหมวกที่เล่นอยู่ตามข้างทาง… แต่งานชิ้นนี้อาจจะกลายเป็นผลงานที่กำลังเปล่งเสียงดนตรีแห่งความหวังให้แก่ผู้ที่ผ่านไปมา
สุรติ โตมรศักดิ์
หวังล้มแล้วหวังก็ลุก หวังล้มแล้วหวังก็ลุก หวังล้มแล้วหวังก็ลุก หวังล้มแล้วหวังก็ลุก เป็นเรื่องธรรมดา ผลงานเรียบง่ายที่แฝงแนวคิดลึกซึ้งเกี่ยวกับความหวังในเชิงสัญลักษณ์ว่า ขนาด “ความหวัง” ที่เป็นที่พึ่งพาของมนุษย์ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ประสาอะไรกับคนธรรมดาอย่างพวกเรา
ภาณุพงศ์ เปรมวรานนท์
“พรุ่งนี้ก็เช้า” ภาณุพงศ์ใช้ข้อความนี้เป็นเครื่องเตือนใจทุกครั้งที่มีปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้
ว่าเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ไม่ว่าตอนนี้มันจะมืดมากขนาดไหน
แต่สุดท้ายก็ต้องมีแสงสว่างให้เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ในตอนเช้าอยู่ดี
สุทธิชาติ ศราภัยวานิช
“โจ” (the SEA-CRET Agent) คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่คุณสุทธิชาติเขียนอยู่ทุกวัน ถูกนำมาสร้างเรืื่องราวของความเสื่อมสลายของสิ่งที่อยู่รอบตัว
แต่ความเสื่อมสลายนั้น อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ๆ ถ้าเราใช้ความหวังมองดูมัน ทุกอย่างต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมันอย่างไร? แต่สิ่งหนึ่งที่เราสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาคือ ความหวัง เป็นแนวคิดของผลงานชิ้นนี้
สมพงษ์ ซื่อต่อศักดิ์
อีกหนึ่งผลงานที่ใช้แสงสว่างในการนำเสนอความหวัง การสร้างให้ผลงานมีระดับชั้นซ้อนกัน (layer) ทำให้ผลงานสามารถเผยสิ่งที่ดูมีคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังแสงสว่างนั้น
บางกอก Boxset
พี่โรจเดาผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า… “เขากำลังผลักดันตัวเองให้ไปข้างหน้า อย่าย่ำอยู่กับที่เลย ขยายความมาจากการที่คนเราสิ้นหวังจะท้อแท้ไม่ทำอะไร
เริ่มเฉื่อย ถ้ามีความหวังก็ต้องเดินไปข้างหน้า”
อนุกูล เหมาลา
“ชายชราน้ำตานอง จินตนาการของเขามีชีวิตโบยบิน” น่าจะเป็นคำอธิบายที่เหมาะเจาะที่สุดต่อผลงานชิ้นนี้
อนุกูลมีความคิดว่าความหวังมักติดปีกบินได้ ลอยเคว้งอย่างอิสระ เป็นโลกแห่งจินตนาการที่ไม่มีวันเหือดแห้ง เป็นพลังแห่งสีสัน พยุงความชราของจินตนาการให้มีชีวิตอยู่ได้ แม้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายของชีวิต
Christian Schwartz
คำว่า “NEW” ในขนาดความสูง 3 เมตร ความเรียบง่ายแต่แปลกตาและไม่คุ้นเคยกับขนาดของตัวอักษร ให้ความรู้สึกถึงความหมายของคำได้อย่างดี
ไม่เพียงแต่ในแง่ความชัดเจน แต่การขยายขนาดของคำนั้นได้ขยายมุมมองต่อคำๆ นั้นให้กว้างออกไปจากเดิมอีกด้วย
Tanja Huckenbeck
h, o, p, และe ที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ เกิดการรวมตัวกันจนเกิดความหมายของคำเป็นเนื้อหาที่ชัดเจนและสะกิดให้คิดต่อถึงการก่อตัวให้เป็นรูปเป็นร่างของความหวังที่เป็นทั้งปัจเจกและส่วนรวม… เชื่อว่าหนึ่งในความหวังที่กระจัดกระจายในงานน่าจะมีอันที่ส่งตรงมาจากเยอรมัน
Erik Brandt
เรื่องน่ารักและอบอุ่นระหว่างการเตรียมตัวผลงานในครั้งนี้เกี่ยวกับนักออกแบบกราฟิกชาวอเมริกันคนนี้ คือ การให้ความใส่ใจในความคืบหน้าของโครงการและความผูกพันของนักออกแบบที่มีต่อเมืองไทยที่สะท้อนผ่านอีเมล์อย่างต่อเนื่อง
จนไม่แปลกใจเมื่อเห็นผลงานของเขาเป็นภาษาไทยผ่านรูปแบบที่มีสีสันและสดใส อันสะท้อนความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อคนไทยได้เป็นอย่างดี
Joseph Foo
การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งน่าจะเป็นความคิดหลักของผลงานนี้ หากแต่คุณได้ลงมือทำอะไรบ้าง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไปทุกขณะ
“ความหวัง” อาจไม่ใช่เป้าหมาย แต่อาจเป็นการกระทำก็เป็นได้
James Gladden
ผลงานภาพพลาสเตอร์ยาขนาดใหญ่เต็มพื้นที่งานติดตั้งบนแผงกั้นการก่อสร้าง ดูโดดเด่นเป็นที่น่าสังเกตและสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้ที่พบเห็นจากความคิดในการนำเสนอผลงานชิ้นนี้
แต่นักออกแบบเองก็คงรอเวลาแกะพลาสเตอร์ยาแผ่นนี้ และหวังว่าบาดแผลนั้นก็จะหายดีขึ้น แม้ว่าทุกครั้งมันจะทิ้งแผลเป็นไว้ก็ตาม
ความหวังทั้ง 19 ชิ้น แตกต่างรูปแบบกันออกไป และน่าจะส่งสารเสนอสู่ผู้คนที่ผ่านไปมาแตกต่างกันออกไปเช่นกัน…
แตกต่างกันอย่างไรนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับเครื่องรับสารของแต่ละคนว่า… จะเห็นผลงานที่ติดเรียงรายอยู่นั้นเป็นอย่างไร
หลายท่านอาจรู้สึกว่าการมีผลงานเหล่านี้ติดอยู่บนแผงกั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร…
นักออกแบบฉวยโอกาสมาดัดจริตแสดงผลงานของตนเอง…
ทำไมต้องมาทำกันตรงแยกราชประสงค์เท่านั้น…
ผู้เขียนอาจไม่มีคำตอบอันเป็นที่พอใจของท่านได้
การเดินทางไปยังจุดหมายหนึ่ง เราอาจเลือกวิธีเดินทางที่แตกต่างกันได้ เราเลือกวิธีที่จะไปให้ถึงเร็วที่สุดด้วย ประหยัดเวลาที่สุด หรือเราจะเลือกเส้นทางที่ร่มรื่น ชมทัศนียภาพระหว่างทางไปเรื่อยๆ แม้มันจะอ้อม เสียเวลา และต้องผ่านในที่ที่ไม่อยากไป…
หากกล่าวถึงเหตุผลในการมีส่วนร่วมในพื้นที่แยกราชประสงค์ของโครงการ GRAFIX อาจกล่าวเพียงสั้นๆ ได้ว่า…
แยกราชประสงค์เป็นพื้นที่ที่เราให้ความสำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญไปกว่าพื้นที่อื่นๆ…
สำหรับพื้นที่อื่นๆ เราก็อยากมีส่วนร่วมเช่นกัน และนักออกแบบกราฟิกกลุ่มหนึ่งจะร่วมมือแน่… ถ้าให้โอกาสและความหวังแก่เรา
***นิทรรศการ heART to Heart จะจัดเป็น 3 รอบภายใต้หัวเรื่อง ‘ความหวัง’ ‘ความสุข’ และ ‘ความรัก’
โดยจัดแสดงรอบละ 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2554