Bookmark and Share


สันติ ลอรัชวี

พฤษภาคม 2553
เป็นหมุดปักทางความทรงจำอันใหม่ที่คนไทยส่วนใหญ่จะมีไว้ในหัวใจของตนเอง
อาจแตกต่างกันไปว่าแต่ละคนจะปักหมุดนั้นในมุมไหนและลึกลงไปเท่าใด…

หลังเหตุการณ์ตึงเครียดและสูญเสียคลี่คลายลง (อย่างน้อยก็ในเชิงสถานการณ์)
อาจสังเกตได้ชัดว่าเกิดกระแสความเคลื่อนไหวมากมายจากภาคส่วนต่างๆ
ของสังคมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แตกต่างกันไป แน่นอนว่าในแต่ละ
ความเคลื่อนไหวจะถูกใจและไม่ถูกใจผู้คนไปในขณะเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่
ความรู้สึกของผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั้น ที่มีหลายความเคลื่อนไหว
ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นหรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่แก่นแท้ของปัญหา

ในมุมหนึ่งของสังคม…
กลุ่มนักออกแบบกราฟิกที่เริ่มรวมตัวกันในนามสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
(ThaiGa) มีความคิดที่อยากจะทำอะไรซักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
จึงแสดงตัวออกมาในโครงการอาสาที่ชื่อว่า “GRAFIX” Design Thailand
(www.thaiga.or.th/grafix) ที่รวบรวมนักออกแบบกราฟิกอาสาสมัคร
เตรียมพร้อมสำหรับทำงานออกแบบให้กับภาคส่วนต่างๆ
ที่ต้องการความช่วยเหลือในงานสร้างสรรค์อันเกี่ยวเนื่องมาจากสถานการณ์

หลายคนอาจมองว่างานออกแบบอาจยังไม่จำเป็น…
หลายคนอาจมองว่าโครงการนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จ
ในแง่ของการเข้าถึงปัญหา…
หลายคนอาจมองว่าโครงการนี้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์…
และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีอีกหลายมุมมองต่อความเคลื่อนไหวนี้…

มุมมองข้างต้นน่าจะเป็นจริงได้ทุกข้อ…
ถ้าเรามองแยกว่างานออกแบบไม่ใช่เรื่องเดียวกับ
การใช้ชีวิตประจำวัน ความสำคัญและบทบาทของมันเองก็จะถูกลดทอน
คุณค่าลงจนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถช่วยไปมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาต่างๆ
ที่เป็นเรื่องสำคัญได้ ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างนั้น…
โครงการนี้ก็เห็นจะจริงที่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์วิชาชีพเท่านั้น…

แต่สำหรับนักออกแบบกราฟิกหลายคนไม่ได้มองความเคลื่อนไหวนี้ในแง่ของ
ความสำเร็จเชิงโครงการเท่านั้น นักออกแบบกราฟิกเป็นวิชาชีพที่มักได้รับ
โจทย์เชิงพาณิชย์ที่เคร่งครัดในการทำงานเสมอ จนคนส่วนใหญ่ว่านั่นคือ
บทบาทหน้าที่ของเขา นักออกแบบกราฟิกไม่จะเป็นต้องมีเสียงของตนเอง
เราลิปซิงค์ด้วยลีลาที่สวยงามและสอดคล้องกับเพลงก็พอ
ทั้งๆ ที่ในความคิดของนักออกแบบกราฟิกแต่ละคนย่อมจะมีสิ่งที่พวกเขารู้สึก
มีความเห็น มีเนื้อหาเฉพาะตน ที่อยากแสดงออกและนำเสนอสู่สังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่บ้านเมืองของพวกเขาประสบกับปัญหา…

จากโครงการ GRAFIX ทำให้เปิดโอกาสสู่พื้นที่หนึ่ง…
ที่นักออกแบบกราฟิก 7 คน เดินทางเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นหรือ
ความรู้สึกผ่านผลงานของพวกเขา หลายคนในนั้นไม่คุ้นชินกับบรรยากาศ
แต่พวกเขาเป็นเหมือนตัวแทนของนักออกแบบกราฟิกส่วนหนึ่งที่นำเสนอ
เนื้อหาส่วนตัวที่มีต่อเรื่องราวทางสังคม
ร่วมกับศิลปินทัศนศิลป์ นักเขียน และนักสร้างสรรค์ในแขนงอื่นๆ
ในการแสดงผลงานของตนผ่านนิทรรศการที่ชื่อ “ฝันถึงสันติภาพ”
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม

ภาพรวมของนิทรรศการในมุมมองผู้เขียนนั้นรู้สึกคล้ายๆ “มหกรรม”
ที่รวบรวมผลงานจากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จ
และมีชื่อเสียง ศิลปินระดับนานาชาติ นักออกแบบกราฟิก นักเขียน นักดนตรี
สถาปนิก รวมกว่า 100 คน โดยโครงการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า
เป็นการนำเสนองานเพื่อให้เป็นเสมือน “ยา” ช่วยรักษาแผลใจแก่คนไทยที่ต้อง
เผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบกลางกรุง อันเกิดจากความคิดต่างและลุกลาม
กลายเป็นความแตกแยกจนต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตเมื่อไม่นานมานี้…

บทความนี้จึงไม่ขอกล่าวถึงที่มาและภาพรวมของนิทรรศการที่อาจจะ
เกินความเข้าใจของผู้เขียน หากจะขอกล่าวถึงผลงานทั้ง 7 ผลงานของ
นักออกแบบกราฟิกทั้ง 7 คน ที่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับผลงาน
ของพวกเขามาก่อนหน้านี้…

We are “The Zip”
ชัชวาลย์ ขนขจี นำเสนอผลงานผ่านธงชาติไทยผืนใหญ่ที่ผ่ากลาง
แล้วนำมาต่อกันใหม่ด้วยซิปซึ่งรูดขึ้นไปเพียงแค่แถบสีขาวของธงชาติ
แล้วพับลงมาเป็นปกเสื้อ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าผลงานชิ้นนี้มีความเป็น
โปสเตอร์สูงมาก เพียงแต่มานำเสนอผ่านวัสดุและบริบทที่แตกต่างออกไป
เนื้อหามีความชัดเจนมากจนเราอาจจะไม่ค่อยเห็นงานศิลปะที่แสดงใน
หอศิลปมีความชัดเจนขนาดนี้ แต่สำหรับในงานกราฟิกแล้วอาจจะคุ้นเคยกันดี
งานชิ้นนี้เป็นอีกงาน(ในหลายต่อหลายงาน)ที่เห็นถึงไหวพริบของผู้ออกแบบที่มี
ในการนำเสนอภาพ (visual) และแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่างานออกแบบ
ที่มีเจตจำนงในการสื่อสารที่ดีนั้นเข้าใจง่ายเพียงใด เพียงแต่การติดตั้งใน
นิทรรศการนั้นอาจจะตีความเป็นอื่นได้ถ้าดูงานของคุณชัชวาลย์สัมพันธ์ไปกับ
งานชิ้นด้านข้างไปด้วย ซึ่งนั่นน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็น “มหกรรม”
มากกว่า “นิทรรศการ” ของนิทรรศการนี้

สันติภาพ คือ:
เคลวิน หว่อง
กระดาษ A4 พิมพ์ข้อความ 100 แผ่น จัดวางบนผนังในรูปแบบ 10 x 10
คืองานของเคลวินในนิทรรศการนี้ ข้อความที่ถูกจัดอย่างเรียบง่ายด้วยตัวอักษร
Heveltica ในกระดาษแต่ละใบ เป็นสิ่งที่เคลวินรวบรวมความหมายของ
“สันติภาพ” ของผู้คนรอบตัวเขา 100 คน (รวมถึงลูกสาวที่น่ารักของเขาด้วย)
สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากที่กระดาษแต่ละแผ่นให้ความหมายถึงสันติภาพ
อย่างไรกันบ้างนั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องการเลือกใช้กระดาษถ่ายเอกสาร A4
ติดเข้ากับผนังเฉพาะด้านบนของกระดาษและปล่อยชายกระดาษด้ายล่าง
ให้พริ้วเมื่อมีลมโชยโดนงาน (ซึ่งผนังที่ติดงานชิ้นมีลมโชยเอื่อยๆ
มาตลอด) ทำให้บางสิ่งที่เป็นเนื้อหาของนักออกแบบลอยออกมาด้วย
และเริ่มเห็นว่าเคลวินไม่ได้เพียงแค่เป็นผู้รวบรวมข้อความเท่านั้น
แต่เป็นผู้ใช้ข้อความเหล่านั้นเพื่อนำเสนอความคิดบางอย่างของเขา
ความเรียบง่ายของการจัดหน้าและการติดที่ไม่ถาวรทำให้ผนังนั้นเป็นเพียง
ผนังทางความคิดที่หลากหลายและอ่อนไหว
เมื่อยืนดูงานนี้ซักพักทำให้คิดว่าสันติภาพที่อยู่บนผนังนี้มันจะเป็นจริงได้มั้ย…
หรือมันจะเป็นได้แค่ความคิดที่เบาหวิวและพริ้วไหวเท่านั้น…

สันติ
รักกิจ ควรหาเวช
“Blend The Differences”
ข้อความที่ติดซ้อนทับลงบนกรอบภาพนกพิราบหลากสีของรักกิจ
น่าจะเป็นแนวคิดรวบยอดของงานชิ้นนี้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม
เขาได้ให้ความหมายของคำว่า “สันติ” ของเขาไว้แล้วในงานของเขา
งานของรักกิจทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่านกพิราบสีขาวที่เราเคยใช้กัน
ในเชิงสัญลักษณ์กันนั้น กำลังถูกตั้งคำถามถึงความหมายของมันว่า…
สันติภาพนั้นสีอะไร…

ระคายเคืองตา อย่าระคายเคืองใจ
กนกนุช ศิลปวิศวกุล
“หลังการร้องไห้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น” คำอธิบายสั้นๆ ต่องานของเธอ
ทำให้คิดว่าในประโยคดังกล่าวมีโครงสร้างทางเวลาอยู่ 3 ส่วน คือ
ก่อนการร้องไห้ ซึ่งอาจหมายถึงเหตุที่ทำให้ร้องไห้
ขณะร้องไห้หรือความเสียใจที่มีต่อเหตุนั้นๆ
และสุดท้ายคือหลังการร้องไห้ที่เจ้าของผลงานเชื่อว่าจะรู้สึกดีขึ้น
กนกนุชเลือกนำเสนอห้วงเวลาขณะเสียใจต่อสถานการณ์ที่ผ่านมา
และเลือกที่จะไม่พูดถึงเหตุและผลของมัน
ผ่านผลงานที่เป็นการเขียนภาพดวงตาที่มีน้ำตาจำนวนมากและต่างกันออกไป
ติดตั้งปะทะกับผู้ชมอยู่บนผนังนั้น
ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองขณะยืนชมงานชิ้นนี้ว่า…
ที่ผ่านมา…เราร้องไห้ให้กับเรื่องต่างๆ แบบไหนกันนะ?

Disease
เศรษฐพงศ์ โพวาทอง
งานคอลลาจของเศรษฐพงศ์น่าจะกลายเป็นภาษาประจำตัวของเขาไปแล้ว
สำหรับใครหลายๆ คน แต่สิ่งที่เฉพาะอีกอย่างของเขาคือการเลือกชิ้นส่วน
ที่จะนำมาปะติดปะต่อด้วยกันของเขา
ที่ทำให้ผลงานสุดท้ายสามารถเล่าความคิดอะไรบางอย่างที่เป็นตัวเขาได้ดี
ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในหลายผลงาน(ที่ไม่มากนัก)ที่เน้นไปที่ผู้รับผิดชอบ
ต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมา เศรษฐพงศ์เลือกที่จะกล่าวโทษทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
ผ่านการเลือกชิ้นส่วนที่เป็นตัวแทนทางความหมายของต้นเหตุต่างๆ ที่เขาเชื่อว่า
มีส่วนในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
งานชิ้นนี้ขนาดไม่ใหญ่นัก หากต้องใช้เวลาในการถอดรหัสที่เขาสร้างไว้
บ้างชัดเจน บ้างต้องใช้เวลา…
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเขาดังที่กล่าวมาข้างต้น

ภาพสันติ
พงศ์ธร พิรัญพฤกษ์
ถ้าเปรียบเป็นภาพหนึ่งภาพที่เป็นภาพมีวงกลมสีดำบนพื้นหลังสีขาว
คนจำนวนไม่น้อยจะเลือกที่จะจดจำภาพวงกลมสีดำด้านหน้า
แต่พงศ์ธรน่าจะเป็นคนอีกกลุ่มที่เลือกที่จะจดจำพื้นที่สีขาวด้านหลัง
ผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นหนึ่งที่แสดงธรรมชาติของงานออกแบบกราฟิกได้ชัดเจน
ข้อความสีขาว 3 ข้อความติดตั้งกลืนกับผนังโค้งระหว่างทางเชื่อมของ
ห้องแสดงงาน บ่งเวลาของสันติภาพโลก 3 ครั้ง
เป็นมุมมองแบบสองมิติที่นักออกแบบกราฟิกคุ้นเคย
ในการตัดทอนสิ่งต่างๆ ให้เรียบง่ายจนมักจะเหลือแค่ positive และ negative
ถูกพงศ์ธรปรับมาใช้ในการมองห้วงเวลา การหยิบห้วงเวลาที่ผู้คน
หรือประวัติศาสตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการจดบันทึก
กลับเป็นสิ่งที่ชี้ชวนให้เกิดมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในอีกด้านของความสัมพันธ์
ที่เราเห็นแต่ไม่เคยมอง… หรือที่เคยมองแต่ไม่เคยเห็น…

กอด
Slow Motion
เป็นผลงานลักษณะแบบ Performance ที่เกิดขึ้นในวันเปิดนิทรรศการเท่านั้น
ฐานสีขาวที่มีชายหนุ่ม 2 คนยืนกอดกันในอิริยาบทต่างกันร่วม 2 ชั่วโมง
คนหนึ่งใส่เสื้อแดง อีกคนสวมเสื้อเหลือง แสดงถึงภาพเชิงสัญลักษณ์แห่ง
ความปรองดองที่นักออกแบบกำกับให้เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่ง
หากแต่ใครไปชมนิทรรศการในวันอื่นๆ หลังจากนั้น จะเห็นเพียงฐานไม้สีขาว
ที่คงไว้แต่เพียงรอยเท้าของชายหนุ่มทั้งสองที่เคยยืนกอดกันอยู่ตรงนั้น
กับป้ายกำกับชื่อนักออกแบบและชื่อผลงานติดอยู่บนนั้น
เวลาและการแสดงออกดูเหมือนจะกลายเป็นสาระสำคัญของงานชิ้นนี้
ผู้ชมงานชิ้นนี้ในวันที่มีพิธีการกับวันอื่นๆ ดูจะได้รับเนื้อหาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่ผู้ที่มีโอกาสได้เห็นงานชิ้นนี้ในทั้ง 2 แบบ
อาจตั้งคำถามแบบผู้เขียนว่าความปรองดองที่หลายๆ คนกำลังแสวงหานั้น
เป็นเพียงการแสดงในวาระสำคัญแบบพิธีกรรมเท่านั้นหรือไม่
ฐานไม้สีขาวเปื้อนรอยเท้าของพิธีกรรมการกอดกำลังบอกอะไร…
เราอาจต้องตอบตัวเอง

ระหว่างชมนิทรรศการนี้…
รู้สึกได้ถึงการอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของความคิดต่าง
สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมยากต่อการจะทำอะไรซักอย่างที่จะได้รับความเห็นชอบ
หรือชื่นชมอย่างเอกฉันท์ เช่นเดียวกันกับผลงานทั้งหลายที่นำเสนอในนิทรรศการนี้
การเขียนถึงผลงานทั้ง 7 ชิ้นนี้ย่อมไม่ใช่การตัดสินว่าผลงานชิ้นอื่นๆ
อีกกว่า 100 ชิ้นไม่น่ากล่าวถึง
หากเพียงแต่นักออกแบบกราฟิกจำนวนไม่น้อย
ก็อยากเห็นนักออกแบบกราฟิกด้วยกันฝันถึงสันติภาพ
และข้อเขียนนี้ก็เป็นแค่การเขียนถึงความฝันของนักออกแบบกราฟิกเท่านั้น…

One thought on “ เมื่อนักออกแบบกราฟิกฝันถึงสันติภาพ ”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s